fbpx
การเมืองอเมริกาบนทางสองแพร่ง

การเมืองอเมริกาบนทางสองแพร่ง

สถานการณ์การเมืองอเมริกันขณะนี้เป็นอย่างไร ที่ต้องถามด้วยคำถามนี้เพราะถ้าดูและติดตามจากข่าวประจำวันในสหรัฐฯ จะพบว่ารายงานข่าวความขัดแย้ง ความคิดเห็นแตกต่างและตรงข้ามกันในประเด็นหลากหลาย ตั้งแต่การแก้ปัญหาโควิด การกระตุ้นเศรษฐกิจ ความรุนแรงของตำรวจ ปัญหาการทำแท้ง ไปถึงการแก้กฎหมายการเลือกตั้ง ฯลฯ

เหนือปัญหาต่างๆ เหล่านี้ยังมีภูเขาไฟที่กำลังคุกรุ่นรอเวลาที่ไม่รู้จะระเบิดเมื่อไร นั่นคือในรัฐสภาคองเกรสที่ครอบครองโดยสองพรรคการเมืองใหญ่ คือ เดโมแครตกับรีพับลิกัน ที่ต่างได้เปรียบและเสียเปรียบกันคนละเรื่องสองเรื่องแล้วแต่สถานการณ์ แต่ภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปลายปีที่แล้ว ทำให้พรรคเดโมแครตได้ครองทำเนียบขาว ด้วยการเอาชนะอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ไปอย่างลำบากยากเย็นและเป็นประสบการณ์ที่จะจารึกในประวัติศาสตร์อเมริกาในข้อที่ว่ามีการใช้พละกำลังทั้งถูกและผิดกฎหมายอย่างมากมายมหาศาลเพื่อเอาชนะในการเลือกตั้ง เมื่อผลการนับคะแนนออกมา ฝ่ายผู้แพ้บนเวที ประกาศไม่ยอมแพ้หลังลงจากเวที จากนั้นก็ปลุกระดมมวลชนของฝ่ายตนให้ออกมาใช้กฎหมู่ในการล้อมกรอบและจะบีบบังคับให้ที่ประชุมคองเกรสเปลี่ยนคำตัดสินในการรับรองผู้ชนะจากโจ ไบเดนไปเป็นโดนัลด์ ทรัมป์ จากนั้นมาบรรยากาศของการเมืองอเมริกันก็ยิ่งหนักไปในทางที่ไม่สงบ ไม่สันติและไม่ศิวิไลซ์ (อารยธรรม) อีกต่อไป

จึงต้องกล่าวว่า สถานการณ์ทางการเมืองอเมริกาในขณะนี้อยู่ท่ามกลางหนทางสองแพร่ง แพร่งหนึ่งคือภาวะกึ่งสงครามที่ยังไม่ประกาศระหว่างสองฝ่ายที่เห็นไม่ตรงกันในแทบทุกเรื่องทางการเมือง กับอีกแพร่งที่พยายามรักษามาตรฐานและความชอบธรรมในทุกด้านของระบบประชาธิปไตยเสรีเอาไว้ อาจเป็นครั้งแรกๆ ก็ได้ที่ฝ่ายประชาธิปไตยเริ่มมองเห็นความเสียเปรียบและจุดอ่อนของความเป็นประชาธิปไตยในอเมริกาว่าในที่สุดแล้วมันไม่ได้มีพลังหรือความเก่งกาจอะไรของคนส่วนมากที่ทำให้ระบบประชาธิปไตยในอเมริกาดำรงสืบทอดต่อมาเป็นศตวรรษได้ หากแต่ยังต้องอาศัยความเห็นชอบและรอมชอมไปถึงประนีประนอมของฝ่ายไม่ชอบประชาธิปไตยเสรีด้วย นั่นเองคือที่มาของหลักคิดที่รองรับการเมืองอเมริกันมาโดยตลอด – ความเห็นพ้องต้องกัน (consensus) หรือ ‘ทวิพรรค’ – การทำงานร่วมกันระหว่างสองพรรค (bipartisan)

แต่ใครจะเป็นผู้สร้างความเห็นพ้องต้องกันหรือรอมชอมกันขึ้นมา แน่นอนในทางการเมืองก็ต้องเป็นภารกิจของผู้มีอำนาจหรือกำลังจะมีอำนาจ ไม่ใช่ประธานาธิบดีคนเดียว หรือกองทัพที่มีแสนยานุภาพก้องโลก หากแต่คือรัฐสภาคองเกรส (อำนาจนิติบัญญัติ) และทำเนียบขาว (อำนาจบริหาร)

ข้อได้เปรียบของอเมริกาคือเนื่องจากมีประวัติศาสตร์อันยาวนานที่ไม่ถูกตัดตอนของระบบการเมืองสองพรรคใหญ่มานับศตวรรษ (ในกลางศตวรรษที่ 19 ความขัดแย้งในเรื่องระบบทาสผิวดำทำให้พรรคการเมืองสองพรรคต้องแตกสลายไปก่อนสงครามกลางเมือง นั่นคือพรรควิกที่นำไปสู่การเกิดพรรครีพับลิกัน) ทำให้ภาวะขัดแย้งทางสังคมดังกล่าวสะท้อนออกในบทบาทของสมาชิกสองพรรคใหญ่และในการรณรงค์เคลื่อนไหวในการออกกฎหมายปกครองบ้านเมืองและในการบังคับใช้กฎหมาย เมื่อไรที่การขับเคี่ยวและสู้กันทางกฎหมายในคองเกรสเสื่อมทรามและถูกครอบงำโดยนักการเมืองปลุกระดม รัฐสภาก็ไม่สามารถแสดงบทบาทหลักในการคลี่คลายปัญหาและความขัดแย้งทั้งระยะสั้นและยาวได้ ในที่สุดก็เปิดโอกาสให้การเมืองนอกสภาหรือม็อบต่อต้านระบบทาสเข้ามาแย่งชิงบทบาทและการนำไป ดังที่เคยเกิดขึ้นในทศวรรษสุดท้ายก่อนเกิดสงครามกลางเมือง

ผมจึงสังเกตการเคลื่อนไหวของประธานาธิบดีโจ ไบเดนว่าเขาจะสามารถรื้อฟื้นบทบาทและฐานะนำของรัฐสภาและรัฐบาลในการแก้ไขความแตกแยกในอเมริกาได้ไหม ท่ามกลางสถานการณ์ที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศก้องว่าจะกลับมาอีกครั้งโดยมีเสียงตอบรับจากมวลชนเอียงขวาสุดอย่างคับคั่งเหมือนเดิม

ที่ทำให้สถานการณ์ตึงเครียดต่อไปคือการที่พรรครีพับลิกันและแกนนำในพรรค ทั้งมิตช์ แมกคอนเนลล์ หัวหน้าเสียงข้างน้อยในวุฒิสภา และเควิน แมกคาร์ธี หัวหน้าเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนฯ ออกมาปกป้องการกระทำของทรัมป์ไม่ว่าในการนำการจลาจลเมื่อวันที่ 6 มกราคมก็ดี หรือการพยายามสืบทอดอำนาจการนำในพรรครีพับลิกันต่อไป จนทำให้มิตช์ แมกคอนเนลล์ประกาศว่า เขาและวุฒิสมาชิกจะไม่สนับสนุนนโยบายและกฎหมายหลักๆ ของโจ ไบเดนเลยสักฉบับ หมายความว่าจะไม่มีความร่วมมือกันระหว่างสองพรรคในรัฐสภาในปัญหาใดๆทั้งสิ้น

นี่คือภารกิจอันหนักหน่วงที่โจ ไบเดนจะต้องหาทางคลี่คลายและแก้ไขไม่ให้สถานการณ์โดยรวมถลำลึกลงไปยังหลุมดำที่อเมริกาเคยผ่านมาก่อนแล้ว

แนวทางยุทธศาสตร์ของโจ ไบเดนในการนำรัฐบาลใหม่จึงไม่มีอะไรแปลกประหลาดและซับซ้อนเกินกว่าคาดคะเนได้ หลักใหญ่คือการฟื้นฟูประเทศและคนอเมริกันจากโรคระบาดโควิด-19 แล้วระดมทุนไปลงในการสร้างงานและเงินรายได้แก่คนใช้แรงงานที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ

นโยบายแรกจึงประกาศออกมาอย่างรวดเร็วในวันที่ 14 มกราคมก่อนวันสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการเสียอีก โดยเรียกว่า American Rescue Plan Act of 2021 หรือที่เรียกง่ายๆ ในสื่อมวลชนทั่วไปว่า Covid-19 Stimulus Package โดยตั้งงบประมาณไว้ที่ 1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ นับว่าเป็นงบประมาณที่ไม่ใช่รายจ่ายประจำปีที่สูงมากเป็นประวัติการณ์ แต่ไบเดนเคยผ่านการทำหน้าที่รองประธานาธิบดีสมัยประธานาธิบดีโอบามา ที่เจอปัญหาเศรษฐกิจวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ รัฐบาลโอบามาต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างเร็ว โครงการที่ออกมาต้องใหญ่โตและใช้งบประมาณมหาศาล ตรงนี้เป็นประสบการณ์ที่ไบเดนเคยเรียนรู้และหัดทำมาก่อน คราวนี้เขาจึงไม่ลังเลที่จะออกนโยบายใหญ่โตที่มุ่งประคองฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศจากปัญหาโควิดระบาด

ขอแทรกความเห็นเล็กน้อยตรงนี้ วันก่อนได้ยินคนคุยกันทางวิทยุว่า ถ้าไม่ให้ประยุทธ์ทำต่อ แล้วจะให้ใครที่มีฝีมือมาทำแทน ลองเสนอชื่อมาว่ามีใครไหม คนดีและเก่งก็ไม่อยากมาเปลืองตัว ด้วยรัฐธรรมนูญวิปริตแบบนี้ก็จะได้คนประเภทแบบเดียวกับประยุทธ์อีก ดังนั้นอย่า ‘เปลี่ยนม้ากลางศึก’ เลย เพราะจะไม่ได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ลองหันหน้าไปดูพรรคการเมืองและนักการเมืองอเมริกันเขาเล่นการเมืองกันว่าเราเห็นอะไร

โจ ไบเดนไม่ต้องไปทดสอบฝีมือว่าจะบริหารโควิดได้ไหม เพราะเขาเคยบริหารแก้วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์มาก่อนแล้ว รวมทั้งบรรดาที่ปรึกษา รัฐมนตรี ไปจนถึงหัวหน้าสำนักงานต่างๆ แทบทั้งหมดล้วนเคยงานผ่านการตัดสินใจและปฏิบัตินโยบายสาธารณะกันมาทั้งสิ้น พวกนั้นมาได้อย่างไร ซื้อเสียง ซื้อตำแหน่ง ขายตัวขายวิญญาณกันหรืออย่างไร คำตอบที่ง่ายและธรรมดาที่สุดคือ ไบเดนและพรรคพวกทีมทำงานนั้นมาเพราะระบบประชาธิปไตย ระบบรัฐสภาทำงานตามปกติโดยไม่ถูกโค่นล้มด้วยกำลังอาวุธของกองทัพหรือจากม็อบรักหลงชาติทั้งหลายทั้งปวง คนที่จะมาบริหารและแก้ปัญหาบ้านเมืองจึงมาจากคนธรรมดาสามัญ ที่มีจิตใจสาธารณะและมีอุดมคติอะไรบางอย่างไม่ต้องสูงส่งจนล้นเหลือเกินไปนัก ที่เปิดโอกาสให้พวกเขาได้มาทำงานอย่างโปร่งใส มาแสดงฝีมือและความคิดความเข้าใจว่ามันถูกหรือผิดในด้านไหนอย่างไร แล้วก็ให้คนอื่นๆ มาวิจารณ์และเสนอทางออกอื่นๆ ที่น่าจะดีกว่า

โจ ไบเดนประสบความสำเร็จในการขับเคลื่อนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจโควิดแรก เมื่อเขาสามารถเจรจาต่อรองกับวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรยอมรับและเห็นด้วยในหลักการใหญ่ๆ มีการปรับแก้เพิ่มลดตามแต่ข้อเสนอของบางคน แต่ในที่สุดกฎหมายนี้ก็ผ่านสองสภาและไบเดนลงนามเป็นกฎหมายในวันที่ 11 มีนาคม เป็นชัยชนะในทางรัฐสภาอันแรกของไบเดนและพรรคเดโมแครต เป็นก้าวแรกของไบเดนในเวทีการเมืองอเมริกันที่กำลังชุลมุนและตั้งป้อมเผชิญหน้ากันอยู่

การที่ทำเนียบขาวสามารถผลักดันให้คองเกรสยอมรับและดำเนินการทางนิติบัญญัติจนสำเร็จลุล่วงไปได้ มูลเหตุสำคัญอยู่ที่เนื้อหาและจุดหมายของกฎหมายกระตุ้นเศรษฐกิจนี้ ไม่เปิดช่องและเหตุผลที่จะให้พรรครีพับลิกันออกมาโต้แย้งและคัดค้านจนตีตกลงไปได้ หากรีพับลิกันไม่สนับสนุน ก็จะมีแต่โดนคนอเมริกันที่กำลังตกทุกข์ได้ยากขณะนี้ออกมาก่นด่าและถล่มจนไม่เหลือพรรครีพับลิกันไว้ในรัฐสภาอีกต่อไป

กฎหมายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ว่านี้ช่วยคนอเมริกันอย่างไรบ้าง อันแรกคือการจ่ายเช็คเงินสดให้ทุกคน คนละ 1,400 เหรียญ คราวนี้นับเป็นครั้งที่สามที่คนอเมริกันได้รับเช็คเงินสดจากสำนักงานสรรพากรหรือ Internal Revenue System (IRS) รวมทั้งหมดเป็น 3,200 เหรียญ มาตรการต่อไปคือการให้ความช่วยเหลือแก่คนตกงานหรือว่างงาน ต่อไปคือลดค่าเช่าและช่วยเจรจากับเจ้าของบ้านเช่าไม่ให้ไล่ออก สุดท้ายคือช่วยคนหิวโหยด้วยการเพิ่มแสตมป์อาหารอีกร้อยละ 15

สังเกตว่าปัญหาเฉพาะหน้าของคนงานอเมริกันคืออาหารกับบ้านเช่า ซึ่งเป็นรายจ่ายที่สำคัญและมากที่สุดในการดำรงชีวิตในอเมริกา ตอนนั้นมีวุฒิสมาชิกรวม 21 คนจากพรรคเดโมแครตเสนอว่า ให้รัฐบาลจ่ายเงินช่วยเหลือนี้เป็นรายเดือนไปทุกเดือนเลย จนกว่าปัญหาโควิดจะบรรเทาหรือควบคุมสถานการณ์กลับมาเป็นปกติได้แล้ว ไม่เช่นนั้นคนทำงานเหล่านี้ก็จะตกในวังวนของความหิวและไร้ที่พักอีกต่อไปเพราะไม่มีรายได้ประจำวัน

กฎหมายใหญ่ที่โจ ไบเดนและคณะรัฐบาลคิดการณ์ต่อไปคือการปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ (infrastructure) ซึ่งทั่วไปรวมถึงการซ่อมสร้างถนนสะพานและสาธารณูปโภคทั้งหลาย แต่คราวนี้เดโมแครตคิดไปไกลกว่าแบบเก่าๆ โดยให้กินความรวมไปถึง ‘โครงสร้างพื้นฐานทางสังคม’ ที่ไม่ใช่เป็นแบบเก่าๆ แต่ให้รวมถึงการสร้างคน สร้างระบบผลิต และสร้างความรู้ รวมๆ แล้วมีความหมายนัยถึงการปฏิวัติสังคมเสียเป็นส่วนใหญ่

แน่นอนว่าสมาชิกพรรคเดโมแครตฝ่ายที่ผลักดันนโยบายโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมที่ก้าวหน้านี้ มาจากกลุ่มฝ่ายก้าวหน้าหรือเอียงซ้ายในพรรค ซึ่งมี ส.ว.เบอร์นี แซนเดอร์ส อดีตผู้สมัครประธานาธิบดีคนดังร่วมด้วย รวมถึงแกนนำคนรุ่นใหม่ไฟแรง ‘เอโอซี’ อเล็กซานเดรีย โอคาซิโอ-คอร์เตซ ส.ส.หน้าใหม่ผู้มีฝีปากคมคายยิ่ง กับพรรคพวกในกลุ่มขับเคลื่อนอยู่

ทั้งหมดนี้เป็นการเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าตามแนวทางของฝ่ายเดโมแครต โดยอาศัยการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นวิถีทาง โดยมีจุดมุ่งหมายระยะยาวที่ให้อำนาจในการปกครองแก่ประชาชนมากขึ้น ทั้งหมดนี้จะมาจากการตัดสินว่าใครจะได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนมากกว่ากันในการเลือกตั้งกลางปีครั้งต่อไป ก่อนจะถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีในอีก 3 ปี

ความขัดแย้งทางการเมืองในอเมริกาจึงรวมศูนย์ไปแสดงออกในเวทีรัฐสภาคองเกรสที่มีสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา มากกว่าไปแสดงออกบนท้องถนนหรือพื้นที่อื่นๆ สภาพการณ์ตอนนี้ด้านหนึ่งจึงเห็นประธานาธิบดีโจ ไบเดนกำลังพยายามเดินสายติดต่อพูดคุยกับสมาชิกทั้งพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกันให้มาร่วมมือกัน รอมชอมกันก่อน ผลักดันให้ร่างกฎหมายปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานนี้ให้ผ่านไปได้ในที่สุด

คาถาหนึ่งที่โจ ไบเดนพูดบ่อยระหว่างรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีและหลังจากเข้ารับตำแหน่ง เขายืนยันว่าจะดำเนินวิธีการออกกฎหมายโดยผ่านกระบวนการที่เรียกว่า ‘ทวิพรรค’ (bi-partisan) คืออาศัยความร่วมมือกันของสองพรรคในการผ่านกฎหมาย ไม่ใช่ผ่านโดยพรรคเดียว ในกรณีนี้พรรคเดโมแครตมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรและมีคะแนนเสียงเท่ากับรีพับลิกันในวุฒิสภา ในทางปฏิบัติประธานวุฒิสภา ซึ่งโดยตำแหน่งคือรองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส ก็จะเป็นคนโหวตตัดสิน แน่นอนว่าฝ่ายเดโมแครตย่อมชนะเพราะเธอมาจากพรรคเดียวกัน

หมายความว่า ณ บัดนี้เดโมแครตสามารถผ่านกฎหมายได้โดยพรรคเดียว หากรีพับลิกันไม่ยอมประนีประนอมด้วย ยกเว้นกฎหมายสำคัญที่ต้องใช้เสียงข้างมากพิเศษในวุฒิสภาคือ 60 เสียง ไม่ใช่เสียงข้างมากธรรมดา หรือไม่ก็ใช้กลยุทธ์ที่เรียกว่า filibuster คือฝ่ายค้านลุกขึ้น ‘ปราศรัยแบบโต้รุ่ง’ โดยไม่หยุดให้มีการลงมติ จะเป็นวันเป็นสัปดาห์ก็ได้ และรีพับลิกันก็ประกาศแล้วว่าจะฟิลิบัสเตอร์แน่ๆ ในกฎหมายที่พวกเขาไม่เห็นด้วย นี่คือกลยุทธ์เก่าแก่ที่ฝ่ายค้านใช้มาหลายทศวรรษ และบัดนี้หลายคนในพรรคเดโมแครตเสนอว่า ให้ลงมติยกเลิกไปเลย แต่ก็มีเสียงจากสมาชิกเดโมแครตในวุฒิสภาที่ไม่เห็นด้วย หนึ่งในนั้นคือวุฒิสมาชิกโจ แมนชิน (Joe Manchin III) จากรัฐเวสต์เวอร์จิเนีย อยู่ทางใต้ตอนบนแต่มีประวัติศาสตร์ของการเป็นอิสรชนสูงมากจนแยกออกจากมลรัฐเวอร์จิเนียในระหว่างสงครามกลางเมืองเพื่อไปร่วมกับรัฐทางเหนือต่อต้านระบบทาสภาคใต้ ในชั่วโมงหน้าสิ่วหน้าขวาน คนที่ออกมาขวางลำ ไม่ใช่แต่เพียงรีพับลิกัน หากยังมีโจ แมนชิน ส.ว.จากเวสต์เวอร์เนียผู้ประกาศว่ากฎหมายที่ดีต้องออกโดยสองพรรค ไม่ใช่พรรคเดียว

โจ แมนชินเป็นวุฒิสมาชิกมาได้ 10 ปี ก่อนหน้านั้นเขาเป็นผู้ว่าการมลรัฐ หลังจากไต่เต้าจากการเป็นสมาชิกรัฐสภามลรัฐมาระยะหนึ่ง ในอดีตเวสต์เวอร์จิเนียเป็นของพรรคเดโมแครตมายาวนาน แต่เมื่อถึงสมัยโจ แมนชินพรรครีพับลิกันเข้ามากวาดตำแหน่งเลือกตั้งไปเกือบหมด เขาจึงเป็นวุฒิสมาชิกเดโมแครตคนเดียวท่ามกลางนักการเมืองรีพับลิกันส่วนใหญ่ในรัฐนั้น แล้วทำไมแมนชินถึงยังรักษาตำแหน่งไว้ได้ในขณะที่เดโมแครตคนอื่นๆ แพ้หมด คำตอบคือโจ แมนชินเป็นนักการเมืองที่ติดดินอย่างมาก ครอบครัวเชื้อสายอิตาเลียน ที่ก่อร่างสร้างตัวมาจากคนธรรมดา จนมีกิจการค้าและฐานะดี ลุงเลยสมัครเป็นนักการเมืองท้องถิ่นหลายสมัย โจ แมนชินมักตอบว่าอะไรทำให้เขาเป็นอย่างที่เป็นก็ให้ไปดูเมืองที่เขาเกิดและโตมา ฟาร์มิงตัน (Farmington) ในเวสต์เวอร์จิเนีย ประชากร 325 คน เขารู้จักทุกคนในเมืองและทุกคนก็รู้จักพูดคุยกับเขาอย่างเป็นกันเอง นโยบายเขาจึงสะท้อนความต้องการและประโยชน์ของคนในเมืองเล็กๆ เช่นนี้ จึงไม่แปลกที่ความคิดอุดมการณ์ของเขาเป็นอนุรักษนิยม

ความที่มาจากเมืองเล็ก เขาเลยคุ้นเคยกับวิธีการหาเสียงสมัยลุงว่าต้องอาศัยเสียงของทุกคน ไม่ว่าเขาจะโกรธเกลียดเราก็ต้องไปพูดคุยกับพวกนั้น และหาทางทำให้พวกนั้นทำงานกับเราให้ได้ พฤติการณ์ทางการเมืองของโจ แมนชินนั้น ริชาร์ด เฟนโน นักรัฐศาสตร์อเมริกันให้คำอธิบายว่า นั่นคือสิ่งที่ทำให้พวกสมาชิกสภาคองเกรส (แม้ชาวบ้านจะไม่ชอบสภาคองเกรส แต่ก็เลือกสมาชิกสภาคนเดิมนั้นกลับมาอีกอย่างไม่ขาดสาย) เรียกว่า ‘สไตล์บ้านๆ’ (home-style) ในกรณีของโจ แมนชินกับเมืองของเขา ทำให้มีคำพูดเปรียบเปรยว่า “ทุกอย่างในฟาร์มิงตันล้วนเป็นการเมืองทั้งสิ้น ยกเว้นการเมือง” (Everything in Farmington is political, except politics)

ตอนช่วงสุดท้ายของการอภิปรายก่อนลงมติว่าจะผ่านกฎหมายกระตุ้นเศรษฐกิจโควิด พรรครีพับลิกันซึ่งประกาศก่อนแล้วว่าจะค้านทุกเรื่องและปิดสวิตช์ไบเดนเหมือนกับที่ได้เคยทำกับประธานาธิบดีโอบามามาก่อนแล้ว แต่เนื่องจากอภิปรายโต้รุ่งหรือฟิลิบัสเตอร์ไม่ได้ เพราะคราวนี้ได้อานิสงส์ของวิธีการ ‘สมานฉันท์’ (reconciliation) อันเป็นวาระการพิจารณากฎหมายงบการเงินสำคัญที่ได้รับอนุมัติจากผู้พิจารณาภายนอกรัฐสภาว่าให้ทำได้ ที่สำคัญคือวาระนี้อาศัยเพียงเสียงข้างมากปกติก็ผ่านได้ ที่สำคัญคือทำให้หลีกเลี่ยงกลยุทธ์ของฝ่ายค้านเสียงข้างน้อยที่จะอาศัยการ ‘อภิปรายโต้รุ่งฟิลิบัสเตอร์’ ก็จะไม่มีความหมาย ไม่มีหนทางใดที่จะมาหยุดการลงมติได้อีกต่อไป โชคดีที่โจ ไบเดนได้รับอนุมัติการใช้วาระสมานฉันท์ในการพิจารณากฎหมายสำคัญตั้งแต่ฉบับแรกคือการกระตุ้นเศรษฐกิจโควิดและยังได้อีกครั้งในกฎหมายโครงสร้างพื้นฐาน

แต่รีพับลิกันก็อาศัยเล่ห์ด้วยการถ่วงเวลาการลงมติให้ช้าไปอีก ด้วยการบังคับให้เจ้าหน้าที่รัฐสภาอ่านร่างกฎหมายที่ยาวกว่า 600 หน้าทีละหน้า จนทุกคนหมดแรง แทนที่เหตุการณ์จะกลับสู่วาระสุดท้าย ในที่สุดโจ แมนชินลุกขึ้นอภิปรายว่าเขาขอปรับแก้บางมาตราที่ไม่เห็นด้วย เช่น การให้ความช่วยเหลือคนว่างงานที่มากเกินไป ตัดเรื่องการลดภาษีให้ครอบครัวได้ไม่เกิน 150,000 เหรียญ สถานการณ์ทำท่าจะไม่เรียบร้อย ทั้งชัค ชูเมอร์ หัวหน้าเสียงข้างมากในวุฒิสภา และรอน เคลน หัวหน้าทำเนียบขาวพากันมาขอร้องให้โจ แมนชินยุติการเสนอคัดค้านร่างของพรรคเสีย ก่อนที่จะคว่ำไปทั้งหมดเสียก่อน แต่โจ แมนชินไม่ฟังเสียงใครทั้งสิ้น

จนในที่สุดแกนนำเดโมแครตต้องโทรไปหาประธานาธิบดีโจ ไบเดน ให้เขามาแก้สถานการณ์ที่กำลังถลำไปเหนือการควบคุม ไม่รอช้า โจ ไบเดนรีบโทรหาโจ แมนชิน ซึ่งเขาเคยเรียกอย่างกันเองว่า “โจ โจ” ขอให้ระงับการคัดค้านดังกล่าวและหาทางลงมติและเขายินดีจะรับฟังข้อท้วงติงเพื่อบรรจุในกฎหมายต่อไป ได้ผลตามคาด โจ แมนชินรีบตอบกลับทันทีว่า “ครับ ในฐานะที่เป็นเพื่อนและประธานาธิบดีของผม ถ้าท่านร้องขอให้ข้าพเจ้าทำ ข้าพเจ้าก็จะทำตามคำขอนั้นแม้จะขัดต่อวิจารณญานที่ดีของข้าพเจ้าก็ตาม”  (Sir, as your friend and my President, if you’re asking me to do it, I’ll do it, against my better judgment.) แต่เขาก็เตือนประธานาธิบดีไปว่า เขาจะไม่ยอมลงคะแนนให้กับกฎหมายอื่นอีกต่อไปโดยปราศจากเสียงของรีพับลิกันด้วย เพราะมันจะไม่เป็นการดีต่อประเทศ ในที่สุดเขายินยอมผ่านกฎหมายนี้ไปได้ ก่อนหน้านี้ทั้งสองโจ ต่างเคยทำงานร่วมกันในวุฒิสภามาก่อนแล้ว แมนชินบอกว่าตั้งแต่ได้รับตำแหน่งประธานาธิบดี โจ ไบเดนได้โทรหาเขาราวหกครั้งแล้ว ในขณะที่ตลอดสมัยประธานาธิบดีโอบามาแปดปี เคยโทรหาเขาไม่เกินสามครั้ง

ศึกยกต่อไปที่จะหนักหน่วงกว่าอันแรกกำลังเดินหน้าสู่ช่วงสุดท้ายก่อนเข้ารัฐสภา การต่อรองและดำเนินการผลักดันให้คองเกรสโดยเฉพาะวุฒิสภาผ่านกฎหมายโครงสร้างพื้นฐานกำลังเข้าสู่วาระการพิจารณาสุดท้ายเพื่อการลงมติ เนื้อหาในกฎหมายนี้ครอบคลุมหลายเรื่องหลายประเด็นที่มีช่องให้รีพับลิกันออกมาต่อต้านและคัดค้าน โดยเฉพาะเรื่องจะหารายได้จากแหล่งไหน รีพับลิกันห้ามแตะต้องกฎหมายลดหย่อนภาษีที่โดนัลด์ ทรัมป์เคยให้แก่บริษัทเอกชนทั้งหลาย โดยเสนอให้ตัดงบประมาณสำหรับโครงสร้างพื้นฐานลงไปอีก คัดค้านการช่วยเหลือคนทำงานและคนกลุ่มน้อยทั้งหลาย เพราะล้วนไม่ใช่ผลประโยชน์ของฐานคะแนนเสียงของรีพับลิกันที่เป็นคนผิวขาว คนในชนบท ทำอาชีพอุตสาหกรรมแบบเก่า แต่ฝ่ายก้าวหน้าของเดโมแครตก็สู้ตายเหมือนกันในประเด็นทางสังคมเหล่านี้ เพราะทั้งหมดนั้นในที่สุดจะแปรไปเป็นการเมืองในการเลือกตั้งได้หมดเลย

หลังจากการเจรจาต่อรองรอมชอมกันมาหลายวัน กระทั่งประธานาธิบดีโจ ไบเดนต้องออกปากเชิญวุฒิสมาชิกพรรครีพับลิกันจำนวนห้าคนร่วมกับเดโมแครตอีกห้าคนให้มานั่งคุยกันในทำเนียบขาวแบบเปิดอกว่า การปฏิรูปครั้งนี้จะมีความหมายสำคัญอย่างไรต่อสหรัฐอเมริกา ในการเมืองและเศรษฐกิจโลก ไม่ใช่แต่เพียงเรื่องการเมืองในประเทศหรือในมลรัฐต่างๆ เท่านั้น กลยุทธ์ดังกล่าวได้ผล ในที่สุดเขาได้แนวร่วมจากสมาชิกรีพับลิกันอย่างน้อย 5 คน ที่ยอมร่วมผ่านกฎหมายโครงสร้างพื้นฐาน

นั่นหมายความว่าการอภิปรายกฎหมายนี้ภายใต้กฎ ‘สมานฉันท์’ ที่ผ่านมาการเจรจาทำให้ฝ่ายรีพับลิกันเสนอร่างที่แก้ไขหลายอย่าง รวมๆ แล้วกลายเป็นการทำให้เกิดเป็นสองร่าง ร่างแรกคือปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานแบบทั่วไปคือสร้างสะพานถนนและอื่นๆ ที่เป็นสาธารณูปโภค อีกด้านคือโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมนุษย์ (human infrastructure) ที่เดโมแครตหัวก้าวหน้าต้องการมาก คือ ศูนย์เลี้ยงดูเด็ก การศึกษา คนอพยพ และโลกร้อน เป็นต้น จนกลายเป็นว่าร่างกฎหมายโครงสร้างฯ นี้ อาจถูกอภิปรายจนกลายเป็นสองร่างไปได้ ทางฝ่ายรีพับลิกันอาจหาทางยอมให้ผ่านแต่ร่างแรกนี้ และไม่สนับสนุนในร่างที่สอง อันเป็นแนวทางที่แกนนำอย่างเบอร์นี แซนเดอร์สและคณะไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง จนนำไปสู่ความเข้าใจผิดกัน

เมื่อวันหยุดสุดสัปดาห์โจ ไบเดนกลับหลุดปากออกมาว่า ถ้าร่างกฎหมายที่เขาเสนอไปไม่ผ่านคองเกรสแบบที่เขาต้องการ เขาจะวีโต้ด้วยการไม่ลงนามในกฎหมายโครงสร้างพื้นฐานที่ว่านี้ ทำให้สมาชิกรีพับลิกันเช่น มิตต์ รอมนีย์ ที่มาเจรจาต่อรองกันแล้ว ถึงกับผรุสวาทออกมาด้วยความไม่พอใจ แต่ไม่ถึงวันโจ ไบเดนก็แถลงแก้ข่าวใหม่ว่า เขายังยืนยันในประเด็นการเจรจาตกลงกันกับฝ่ายรีพับลิกัน เขาจะลงนามในกฎหมายตามที่ได้ตกลงกัน

เบื้องหน้าสถานการณ์การเมืองที่ยังไม่สงบและสันติถ้วนหน้า การวางหมากและเคลื่อนไหวเสนอนโยบายหลักๆ ทางเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโจ ไบเดนกำลังท้าทายว่า อนาคตประชาธิปไตยในอเมริกายังจะมีน้ำยาและสมรรถภาพมากพอที่จะรักษาและดึงดูดพลเมืองส่วนข้างมากของประเทศให้หันมาประคับประคองระบอบการเมืองที่อ่อนไหวนี้ต่อไปหรือไม่

ข้อคิดคือระบบประชาธิปไตยที่ทำให้ระบบรัฐสภาทำงานได้อย่างมีสมรรถภาพและคุณภาพตามหลักการนั้น ต้องอาศัยเวลาและประสบการณ์ร่วมกันของทุกฝ่าย ทั้งประชาชนผู้เลือกตั้ง สมาชิกพรรคการเมืองทุกพรรค และศาลสูงสุดที่ต้องเป็นหลักไม่หักงอ ปล่อยให้สามัญสำนึกของความเป็นคนธรรมดาสามัญตัดสิน ไม่ใช่ความชำนาญการของนักกฎหมายและทหารผู้ถืออาวุธในมือ

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save