fbpx

ใครควบคุม ‘สิทธิทำแท้ง’ สิทธิในตัวเองของสตรี

วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน เหมือนสายฟ้าฟาดลงมายังสตรีอเมริกันด้วยประกาศิตของคำพิพากษาศาลสูงสุดที่เสียงส่วนใหญ่เห็นชอบให้คว่ำคำพิพากษาในคดีปัญหาการทำแท้งประวัติศาสตร์ที่รู้จักโด่งดังในชื่อว่า ‘คดีโรกับเวด’ (Roe v. Wade) ด้วยการตัดสินในคดี Dobbs v. Jackson Women’s Health Organization

เหตุการณ์นี้สืบเนื่องจากการที่ในปี 2018 สภานิติบัญญัติรัฐมิสซิสซิปปีออกกฎหมายต่อต้านการทำแท้งอย่างหนักเกินความเป็นจริง เช่นการทำแท้งหลังจากท้องได้ 15 สัปดาห์ถือว่าเป็นความผิดอาชญากรรมคือทำลายชีวิตคน เหตุที่ฝ่ายต่อต้านสิทธิทำแท้งเลือกเสนอกฎหมายที่สุดขั้วเช่นนี้เพราะหวังว่าเรื่องนี้จะต้องไปถึงศาลสูงสุด เมื่อศาลชั้นต้นในมิสซิสซิปปีพิพากษาไม่รับรองกฎหมายดังกล่าวนี้ ข้อขัดแย้งที่ไม่อาจยุติได้ก็เข้าสู่ศาลสูงสุดในเวลาต่อมา

น่าสนใจว่าเมื่อเดือนพฤษภาคมนี้ มีข่าวรั่วออกมาจากสำนักศาลสูงสุดว่าผู้พิพากษาแซม อลิโตร่างความเห็นเสียงข้างมากแล้วว่าจะคว่ำฝ่ายสิทธิทำแท้งทั้งหมดในคราวนี้ นั่นคือกลับไปยังต้นตอของการให้สิทธิในการทำแท้งในปี 1973 นั่นเอง

เมื่อห้าสิบปีหรือครึ่งศตวรรษมาแล้วใน ค.ศ. 1973 (พ.ศ. 2516) มีการตัดสินว่า การที่มลรัฐจำกัดเรื่องการทำแท้งของผู้หญิงมากเกินควรนั้นเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ ในคำพิพากษาเสียงข้างมาก (7-2) ที่เขียนโดยผู้พิพากษาแฮร์รี แบล็กมุนกล่าวว่า การที่กฎหมายหลายข้อของมลรัฐเท็กซัสลงโทษพฤติกรรมเกือบทุกอย่างในการทำแท้งของสตรีว่าเป็นความผิดอาญานั้นเท่ากับเป็นการละเมิดสิทธิส่วนตัวของสตรีที่รับรองโดยนัย (เพราะไม่มีการระบุตรงๆ) ในบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 14 ที่ระบุว่า “รัฐใดๆ จะทำลายสิทธิในชีวิต เสรีภาพ หรือทรัพย์สินของผู้หนึ่งผู้ใดโดยปราศจากวิถีทางที่ถูกต้องแห่งกฎหมายมิได้”  (…nor shall any state deprive any person of life, liberty, or property, without due process of law)

การตัดสินเรื่องสิทธิทำแท้งล่าสุดสร้างแรงสะเทือนทางการเมืองไปทั่วประเทศและแทบทุกเมืองน้อยใหญ่ ผู้หญิงอเมริกันนับแสนที่เรียกว่ากลุ่ม ‘เพื่อทางเลือก’ (pro-choice) ออกมาประท้วง ในขณะที่กลุ่ม ‘เพื่อชีวิต’ (pro-life) ที่ต่อต้านสิทธิทำแท้งก็ออกมาดีใจ ชโยโห่ร้องในชัยชนะครั้งสำคัญนี้เป็นการใหญ่ สงครามระหว่างคนสองอุดมการณ์ สองปรัชญาและสองศรัทธากำลังก่อตัวขึ้นในภูมิทัศน์ของการเมืองอเมริกันอีกวาระหนึ่ง

ก่อนไปถึงการต่อสู้อันยืดเยื้อยาวนานของปัญหาความขัดแย้งในเรื่องการทำแท้งนี้ น่าสนใจว่าในคำพิพากษาคดีประวัติศาสตร์นี้ ศาลสูงสุดซึ่งส่วนมากก็เป็นอนุรักษนิยมตามธรรมเนียมของศาลทั่วโลก ในปี 1973 ก็ไม่เห็นด้วยกับการต่อสู้และอ้างถึงสิทธิอันสัมบูรณ์ (absolute rights) ของสตรีในการตัดสินใจทำแท้งเมื่อใดที่ใดก็ได้ ซึ่งให้เหตุผลว่ามันเป็นสิทธิในเรื่องส่วนตัวของสตรีไม่เกี่ยวกับคนอื่น

สังเกตให้ดีการอ้างสิทธิของสตรีในเรื่องทำแท้งหรือครรภ์ในท้องว่าควรเป็นสิทธิอันไม่อาจละเมิดได้โดยผู้อื่นไม่ว่าในทางใดๆ ก็ตาม จุดยืนนี้ในระยะยาวจะเรียกว่าแบบสุดขั้ว คือตีความและมองการปฏิบัติที่เกี่ยวถึงรัฐว่าไม่สามารถเข้ามาแทรกแซงในร่างกายของปัจเจกได้ เรื่องนี้ถามว่าทำไมนักสู้เรื่องสิทธิทำแท้งถึงเลือกจุดยืนที่สุดขั้วเช่นนี้ ผมเข้าใจว่าต้องดูความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของสถานะและที่ยืนของสตรีว่าเป็นมาและดำรงอยู่อย่างไร การมีลัทธิชายเป็นใหญ่ (patriarchy) หรือปิตาธิปไตยในทุกสังคมโบราณและก่อนสมัยใหม่ในทุกที่ทั่วโลก หมายความว่าผู้หญิงถูกทำให้เป็นเบี้ยล่าง เป็นวัตถุ เป็นอะไรที่ผู้ชายต้องการได้แทบทุกอย่างมาอย่างยาวนาน ดังนั้นการต่อสู้เมื่อมีโอกาสและกฎหมายเปิดช่องให้ ผู้หญิงก็ต้องเรียกร้องแบบสุดขั้วเพื่อไม่ให้ผู้ชายหาทางเล่นงานกลับอีก ดังที่เกิดมาในอดีตตลอดเวลา

ก่อนถึงวันตัดสินครั้งล่าสุด การเคลื่อนไหวต่อสู้เกิดขึ้นระหว่างฝ่าย ‘เพื่อทางเลือก’ (pro-choice) คือฝ่ายสนับสนุนสิทธิในการทำแท้ง (abortion-right) กับฝ่าย ‘เพื่อชีวิต’ (pro-life) ที่คัดค้านต่อต้านปฏิเสธการทำแท้งเสรี โดยอ้างว่าเป็นการทำลายชีวิตของตัวอ่อนที่จะโตมาเป็นเด็ก สั้นๆ คือฝ่าย ‘เพื่อชีวิต’ ก็พยายามไปให้สุดขั้ว ด้วยการอ้างว่าสิ่งมีชีวิตที่ปฏิสนธิในครรภ์หญิงนั้นให้ถือว่ามีชีวิตนับแต่วินาทีแรกที่ปฏิสนธิ ทั้งๆ ที่ในทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์เห็นว่าสิ่งปฏิสนธินั้นยังไม่เป็นคนจนกว่าจะผ่านไตรมาสแรกหรือสามเดือนก่อนจึงจะพูดได้เต็มปาก ทั้งสองค่ายและคณะต่างระดมหาพรรคพวกและผู้สนับสนุนฝ่ายตนมาตลอด

น่าสนใจว่าในช่วงแรกของการต่อสู้ การอ้างอิงว่าการทำแท้งเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญนั้นยังไม่มีน้ำหนักและความสำคัญต่อขบวนการและการปลุกระดมคน อาจเพราะว่ามันฟังเป็นเรื่องนามธรรมและเป็นการเมืองระดับสูงเกินไป การเคลื่อนไหวจึงมุ่งไปที่เรื่องค่าใช้จ่ายและผลประโยชน์ของการมีสิทธิทำแท้งหรือไม่ควรทำแท้ง กล่าวคือเป็นการโต้แย้งในเรื่องที่เป็นรูปธรรมและไม่การเมืองมากนัก ทำให้เป็นเรื่องใกล้ตัวและเกี่ยวข้องกับชีวิตทรัพย์สินของคนที่ไม่ใช่แต่สตรีเท่านั้น หากยังรวมไปถึงคนอื่นในชุมชนด้วย เช่น ค่าพยาบาลรักษา รวมถึงผลเสียจากสภาวะทางจิตและร่างกายของสตรี

ประเด็นในการโต้แย้งจึงมุ่งไปยังผลของการกระทำ เช่น ค่าใช้จ่ายและผลที่ได้รับจากการทำหรือไม่ทำแท้ง ทั้งสองฝ่ายยังไม่ตั้งประเด็นไปยังบทบาทของรัฐธรรมนูญว่าอนุญาตให้ทำได้หรือไม่ หากยังพยายามนำเสนอและแสดงให้เห็นถึงความถูกต้องชอบธรรมของการทำแท้งและไม่ทำแท้งว่าถูกและยุติธรรมในทางสังคม ในทางวัฒนธรรมและทางการแพทย์ เป็นการให้น้ำหนักแก่เหตุผลว่าปัจเจกควรเลือกหรือต่อต้านการทำแท้ง มากกว่าการโต้ว่าเป็นเสรีภาพของปัจเจกจากอำนาจควบคุมของรัฐ

ในความเป็นจริง การที่ปัญหาขัดแย้งนี้ไม่มีบทสรุปที่แน่นอน ทำให้การปฏิบัติของคนทั้งหลายไม่อาจดำเนินไปได้อย่างปกติ เพราะต่างฝ่ายก็ไม่อาจรู้ได้ว่าในอนาคต การปฏิบัติของใครจะทำต่อไปได้อย่างได้ผลตามที่ต้องการ มันเหมือนสงครามที่ไม่ยุติ แม้จะไม่รุนแรงถึงขั้นทำลายอีกฝ่ายลงไปได้ก็ตาม หมายความว่าในระยะยาวจะยกระดับเป็นความขัดแย้งที่รุนแรงหนักหน่วงกว่าเดิมก็ได้ จากสภาพดังกล่าว ทำให้แต่ละฝ่ายก็ต้องพยายามหายุทธวิธีและวิธีการใหม่ๆ ที่จะสนับสนุนจุดยืนและแนวทางของฝ่ายตนให้ประสบผลสำเร็จได้มากที่สุด

น่าสนใจว่าในเรื่องนี้ ฝ่าย ‘เพื่อชีวิต’ กลับมีการปรับปรุงและยกระดับการเคลื่อนไหวต่อต้านของตนได้ดีกว่าฝ่าย ‘เพื่อทางเลือก’ นั่นคือการค่อยๆ สะสมคะแนนและกลยุทธ์ในการสร้างข้อจำกัดในการทำแท้งให้เพิ่มมากขึ้นทีละเรื่องทีละอย่างและไปเคลื่อนไหวหาทางออกเป็นกฎหมายในแต่ละมลรัฐ เพราะพวกนี้รู้ว่าเป็นการยากที่จะทำให้ศาลสูงสุดเข้ามาตัดสินว่าการทำแท้งนั้นผิดกฎหมายหรือศีลธรรมหรือให้รัฐสภาคองเกรสออกกฎหมายตามที่ฝ่ายตนต้องการ อันเป็นเรื่องที่ทำได้ยากเพราะนักการเมืองไม่ต้องการไปแตะต้องในประเด็นอ่อนไหวและสร้างอารมณ์ความรู้สึกให้กับคนหมู่มากได้ง่าย นี่เองที่การต่อสู้จัดการความขัดแย้งในเรื่องสิทธิทำแท้งใช้เวลาไม่น้อย ก่อนค่อยๆ เดินเข้าหาการเมืองทีละก้าว จนในที่สุดทำให้เรื่องการทำแท้งเป็นนโยบายที่พรรคการเมืองสามารถใช้ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งได้อย่างมีพลัง เมื่อนั้นการเมืองก็ถูกดึงเข้าไปเกี่ยวข้องและกระทั่งกำหนดในการดำเนินชีวิตของปัจเจกอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะคนที่เป็นนักการเมือง ไม่ว่าในระดับท้องถิ่นหรือระดับชาติ ต้องมาจากการเลือกตั้งของราษฎร ไม่ใช่มาจากการแต่งตั้งโดยอำนาจพิเศษหรือเหนือมนุษย์ ทำให้การเมืองต้องเป็นเรื่องของราษฎรเป็นประการแรกและประการสุดท้าย

ทศวรรษแรกหลังคำพิพากษาคดีโรกับเวด การต่อสู้ยังไม่เข้าสู่เวทีการเมืองอย่างจริงจัง กระทั่งถึงสมัยโรนัลด์ เรแกนเป็นประธานาธิบดี เขาประกาศสนับสนุนจุดยืนของฝ่าย ‘เพื่อชีวิต’ อย่างไม่ลังเล เรแกนเป็นประธานาธิบดียุคหลังสงครามเวียดนามที่เป็นอนุรักษนิยมที่สุดและเปลี่ยนพื้นที่การเมืองอเมริกันให้เป็นอนุรักษนิยมมากที่สุดเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อฝ่าย ‘เพื่อชีวิต’ ที่มีนักวิชาการ ปัญญาชน นักกฎหมายและที่สำคัญคือผู้นำทางศาสนาตั้งแต่นิกายคาทอลิกไปถึงโปรเตสแตนต์เอียงขวาอย่างอีแวนเจลิคัลเข้ามารณรงค์ในเรื่องทำแท้งอย่างมากหน้าหลายตา จึงไม่แปลกใจที่ปัจจุบันนี้พื้นที่อันสำคัญและแข็งแกร่งยิ่งของฝ่ายต่อต้านการทำแท้งนั้นได้แก่พื้นที่และเวทีในมลรัฐทางใต้และตะวันตกตอนกลาง (มิดเวสต์) ในขณะที่รัฐทางเหนือและตะวันตกหันเข้าสนับสนุนเป็นฝ่ายเพื่อทางเลือกหรือสนับสนุนสิทธิทำแท้งอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ในทางประวัติศาสตร์ การแบ่งแยกอุดมการณ์ทางการเมืองและสังคมออกตามภูมิรัฐศาสตร์เคยเกิดมาก่อนแล้วในปัญหาความขัดแย้งเรื่องระบบทาสผิวดำ นั่นคือภาคเหนือต่อต้านระบบทาสและต้องการเลิกทาส ส่วนภาคใต้ต้องการรักษาและส่งเสริมระบบทาสให้แข็งแกร่งและเติบใหญ่ต่อไป ตอนนั้นภาคตะวันตกและมิดเวสต์ยังไม่มีฐานะและบทบาททางการเมืองอย่างเต็มที่เพราะเพิ่งเข้ามาเป็นสมาชิกรัฐใหม่ของสหรัฐฯ

เมื่อมองกลับไปยังประวัติศาสตร์อเมริกา คำพิพากษาเอียงขวาอนุรักษนิยมสุดขั้วนี้ก็ไม่ใช่อะไรที่ใหม่และแปลกประหลาดนัก มันเคยเกิดมาก่อนแล้ว กระทั่งเป็นชนวนเหตุหนึ่งที่นำไปสู่การเกิดสงครามกลางเมือง นั่นคือคดีเดรด สก็อตต์ ทาสผิวดำที่หนีจากการควบคุมของนายระหว่างถูกพาไปภาคเหนือ คดีขึ้นถึงศาลสูงสุด ในที่สุดประธานศาลสูงสุดซึ่งเป็นคนจากภาคใต้ก็รักษาผลประโยชน์ของชนชั้นตนด้วยการประกาศว่าเดรด สก็อตต์ไม่อาจเป็นเสรีได้ เพราะเขาไม่ใช่พลเมืองจึงไม่อาจฟ้องร้องได้ ศาลยังตีความยาวไปถึงการ ‘ประนีประนอมมิสซูรี’ (1820) ว่าเข้าข่ายผิดรัฐธรรมนูญเพราะเป็นการทำลายกรรมสิทธิ์ในตัวทาสอันเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของนายทาสลงไป วุฒิสมาชิกจากนิวยอร์ก วิลเลียม ซีวาร์ด แกนนำพรรครีพับลิกันและรัฐมนตรีในรัฐบาลลิงคอล์น กล่าวอย่างเศร้าใจว่าเขามองเห็น “ความขัดแย้งที่ไม่อาจควบคุมได้” (irrepressible conflict) รออยู่เบื้องหน้าและนั่นคือ 3 ปีก่อนเกิดสงคราม ‘เสียงปืนแตก’ จากภาคใต้

แต่ความขัดแย้งในเรื่องสิทธิทำแท้ง ผมคิดว่าคงไม่นำไปสู่สงครามกลางเมืองเหมือนเรื่องระบบทาส เพราะการมีครรภ์เป็นสิ่งที่เกิดกับผู้หญิงทุกผิวสีและชนชั้นเชื้อชาติ แม้ว่าโอกาสในการแก้ปัญหาการทำแท้งสำหรับสตรีที่มีฐานะดีอาจสะดวกง่ายดายกว่าสตรีที่มีฐานะยากจนและถูกเหยียดหยาม แต่ในชีวิตจริงโอกาสที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะเกิดอุบัติเหตุตั้งครรภ์นั้นเป็นได้เสมอด้วยเหตุทางธรรมชาติ ดังนั้นการทำให้เรื่องนี้เป็นของสตรีผิวขาวหรือผิวสี ของสตรีรวยหรือยากจน จึงไม่สมเหตุสมผลและไม่สะท้อนความจริงเลย เพราะมันเป็นเรื่องและปัญหาของผู้หญิงทั้งหมด กระทั่งเร็วๆ นี้เมื่อฝ่าย ‘เพื่อชีวิต’ และแนวร่วมต่อต้านสิทธิการทำแท้งขยายใหญ่และยึดกุมอำนาจได้ทั้งรัฐสภา ทำเนียบขาว และในที่สุดคือศาลสูงสุด นั่นเองที่ฝ่าย ‘เพื่อทางเลือก’ หรือสนับสนุนสิทธิทำแท้งจึงเริ่มรณรงค์ด้วยการชูคำขวัญว่า การต่อต้านสิทธิทำแท้งที่ดำเนินมาถึงขณะนี้นั้นเป็นการแสดงถึงการเกิดของสิ่งที่เรียกว่า ‘การเกลียดชังผู้หญิง’ (misogynist) นั่นคือทำให้การต่อสู้นี้ ไม่ใช่เพื่อเฉพาะผู้หญิงที่มีท้อง หากแต่เป็นปัญหาของผู้หญิงทั้งหมด ซึ่งเป็นจุดยืนที่แรงมากและเป็นการประกาศว่าความขัดแย้งครั้งนี้ไม่อาจประนีประนอมได้อีกต่อไป มันเป็นความขัดแย้งที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกันระหว่างสองฝ่ายโดยสิ้นเชิง

เมื่อฝ่าย ‘เพื่อชีวิต’ มีพรรครีพับลิกันและนักการเมืองอนุรักษนิยมหนุนหลัง ฝ่าย ‘เพื่อทางเลือก’ ก็มีพรรคเดโมแครตและนักการเมืองฝ่ายเสรีนิยมและก้าวหน้าสนับสนุนด้วยเช่นกัน เริ่มแต่สมัยประธานาธิบดีบิล คลินตันและต่อมาสมัยประธานาธิบดีบารัก โอบามา ซึ่งฝ่ายเพื่อทางเลือกได้รับการหนุนช่วยในหลายด้าน ยุทธวิธีที่ใช้คือการยึดหลักเรื่องการเจริญพันธุ์สำหรับผู้หญิง โดยให้อำนาจแก่สตรีและทรัพยากรในการมีลูกหรือไม่มีลูกหรือการเลี้ยงดูลูกๆ ที่มีก่อนแล้ว เฟมินิสต์ที่ไม่ใช่ผิวขาวออกมาเรียกร้องแนวทางที่แตกต่างในความสัมพันธ์ระหว่างการทำแท้งกับการประกันสุขภาพให้มีความยุติธรรมในการเจริญพันธุ์ (reproductive justice) มากกว่าการเรียกร้องแค่การมีสิทธิในการเลือกมีลูกเท่านั้น เหล่านี้แสดงถึงการขยายการเรียกร้องในการจัดการร่างกายตัวตนของผู้หญิงที่ลงลึกและกินขอบเขตกว้างและไกลกว่าเพียงแค่การทำแท้งหรือไม่ทำแท้งเท่านั้น

พิจารณาจากเนื้อหาและจุดหมายของการเคลื่อนไหวของกลุ่มสตรี ‘เพื่อทางเลือก’ เห็นถึงแนวโน้มและแนวคิดในการดูแล จัดการและตัดสินใจในกระบวนการมีครรรภ์ว่ามีความสลับซับซ้อนกว่าแต่ก่อนอย่างมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขเพื่อมวลชนที่สามารถปฏิบัติได้หากรัฐและระบบบริหารมีความคิดเชิงบวกต่อเรื่องการมีครรภ์และการจัดการเกี่ยวกับการมีเด็กไปถึงการเลี้ยงดูพวกเขาด้วย

ก่อนนี้เรื่องต่างๆ เหล่านี้ของผู้หญิงถูกทำให้เป็น ‘เรื่องในบ้าน’ ที่ผู้ชายไม่ต้องรับผิดชอบ ไม่ต้องมีภาระในการคิดตัดสินและร่วมกระทำการด้วย หากแต่โยนไปให้เป็นภาระและความรับผิดชอบของฝ่ายหญิงแต่ฝ่ายเดียวเท่านั้น จึงทำให้ดูเหมือนว่าปัญหาสตรีนั้นไม่เคยมีมาก่อนเลย จนกระทั่งถึงยุคสมัยใหม่และมีการตื่นตัวในเรื่องสังคมของพวกผู้หญิงหัวก้าวหน้า ทำให้บ้านเมืองเกิดความวุ่นวายและโต้แย้งกันไปมาระหว่างกลุ่มและคณะที่เห็นแตกต่างกัน ทั้งๆ ที่เรื่องและปัญหาทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องเดิมที่มีมานานแล้ว เพียงแต่ไม่ถูกทำให้เป็นปัญหาของสังคม ดังได้กล่าวแต่แรกแล้วว่ามันถูกทำให้เป็นแค่ ‘เรื่องส่วนตัวของผู้หญิง’ เหมือนผ้าถุงและผ้าอนามัยที่ต้องเอาออกห่างจากผู้ชาย จะได้ไม่เสียความขลังของผู้ชาย

ยุคประธานาธิบดีโอบามา ตามรูปการและนโยบายของรัฐบาลที่เป็นฝ่ายก้าวหน้าแล้ว ใครๆ ก็คิดว่ายุคนี้น่าจะตีกลับกระแสเอียงขวาอนุรักษนิยมที่ครอบครองทำเนียบขาวมานานลงไปเสียที แต่ผลกลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม ยุคก้าวหน้าของโอบามากลับนำไปสู่การรวมกลุ่มและผนึกกำลังทางอุดมการณ์และยุทธวิธีของฝ่ายขวาทั้งหลายอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน นำไปสู่การก่อตัวของปีกขวาในพรรครีพับลิกันเรียกขบวนการของพวกเขาว่า ‘กลุ่มงานเลี้ยงน้ำชา’ หรือ Tea Party ซึ่งเป็นชื่อของกลุ่มหัวรุนแรงที่ต่อต้านกษัตริย์อังกฤษสมัยปฏิวัติด้วยการยกขบวนขึ้นไปยังเรือสินค้าอังกฤษที่จอดในท่าเรือแล้วเผาและโยนห่อใบชาลงน้ำเสียสิ้น นี่ก็ย้อนแย้งสิ้นดี กลุ่มเอียงขวาแต่กลับไปใช้สัญลักษณ์ของฝ่ายปฏิวัติ กลุ่มน้ำชาสามารถส่งคนเข้ารับเลือกตั้งจนชนะได้ตำแหน่งในคองเกรสหลายคน ทำให้สามารถเข้าไปยึดแกนนำข้างในพรรครีพับลิกันได้ในที่สุด จากจุดนี้ไปที่การเมืองเรื่องสิทธิทำแท้งเริ่มหันมาให้น้ำหนักและวางแผนในการอาศัยพรรคการเมืองและรัฐสภารวมถึงทำเนียบขาวเพื่อไปสู่จุดหมายของการโค่นล้มคำพิพากษาคดีโรกับเวดในที่สุด

ความฝันที่ไม่คิดว่าจะเป็นจริงของฝ่ายเอียงขวา ‘เพื่อชีวิต’ ของสิ่งมีชีวิตในท้องสตรี คือการอาศัยการเมืองเพื่อไปล้มคำพิพากษาประวัติศาสตร์ที่ให้ชีวิตแก่สตรีที่ต้องการทำแท้งอย่างเสรีถูกต้องตามกฎหมายลงไป ก็ค่อยๆ ปรากฏเป็นจริงออกมาทีละก้าวทีละขั้น จนเมื่อพรรครีพับลิกันยึดเสียงข้างมากในรัฐสภาทั้งสภาผู้แทนและวุฒิสภาได้ แกนนำของพรรคก็วางแผนในการสรรหาและแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงสุดที่เป็นฝ่ายอนุรักษ์และต่อต้านสิทธิทำแท้งด้วย เหตุการณ์ต่างๆ ที่ทยอยเกิดขึ้นตั้งแต่ปลายสมัยประธานาธิบดีโอบามา มันเหมือนเป็นอุบัติเหตุหรือโชคช่วยฝ่ายรีพับลิกันและอนุรักษนิยม เริ่มด้วยผู้พิพากษาแอนโทนิน สกาเลียเสียชีวิตอย่างกะทันหันระหว่างการล่าสัตว์กับพวกชนชั้นนำด้วยกันในเท็กซัส โอบามาแถลงว่าจะรีบดำเนินการสรรหาเสนอชื่อผู้พิพากษาศาลสูงคนใหม่ให้วุฒิสภาพิจารณาโดยเร็ว แต่หัวหน้าเสียงข้างมากในวุมิสภาแมคคอนเนลแถลงกลับทันทีว่า ช้าก่อนท่านประธานาธิบดี เพราะผู้พิพากษาศาลสูงสุดสำคัญยิ่งควรให้คนที่ประชาชนเลือกเป็นผู้เสนอชื่อจะเหมาะสมกว่า เนื่องจากขณะนั้นกำลังจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่สืบต่อจากโอบามาที่ครบวาระสองสมัยแล้ว เหตุการณ์ต่อจากนี้ก็เป็นที่รับรู้กันดีแล้วในขณะนี้ ไม่ต้องเสียเวลามาเล่าซ้ำอีกว่าโดนัลด์ ทรัมป์ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอย่างพลิกล็อก เขาไม่เสียเวลาในการเสนอชื่อผู้พิพากษาศาลสูงสุดคนใหม่ที่บรรดากลุ่มและคณะกฎหมายอนุรักษนิยมได้เตรียมตั้งรอไว้ก่อนแล้ว

ถ้าไม่ใช่โชคช่วยก็ไม่รู้จะเรียกว่าอะไรดี หลังจากแต่งตั้งนีล กอร์ซุช (Neil Gorsuch) แอนโธนี เคนเนดีผู้พิพากษาศาลสูงอีกคนก็ประกาศลาออก พร้อมกับฝากลูกน้องที่ทำงานกับเขาคือเบรต แคฟแวนนอห์ให้รับตำแหน่งนี้ต่อไป กระทั่งในช่วงปลายสมัยของทรัมป์ ผู้พิพากษาสตรีก้าวหน้าของศาลสูงสุด RBG (Ruth Bader-Ginsberg) ก็มาถึงแก่อสัญกรรมอย่างไม่คาดคิดอีกเหมือนกัน แม้พรรคเดโมแครตอ้างว่า ควรทำเหมือนสมัยเสนอชื่อนีล กอร์ซุช คือรอให้การเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่เรียบร้อยก่อนแล้วค่อยเสนอชื่อ แต่รีพับลิกันและทำเนียบขาวบอกว่าไม่ต้องรออะไรทั้งนั้น รีบแต่งตั้งและผ่านวุฒิสภาของรีพับลิกันไปอย่างรวดเร็วไม่เกินเดือน สรุปคือโชคช่วยรีพับลิกันและอนุรักษนิยมที่ทำให้ได้ผู้พิพากษาในดวงใจถึง 3 คนในสมัยเดียวอย่างที่ไม่เคยทำได้มาก่อน และนี่คือสามทหารเสือของฝ่ายต่อต้านการทำแท้งและปัญหาการแต่งงานของเพศเดียวกันไปถึงการใช้ยาคุมกำเนิด ที่อาจจะต้องถูกโค่นล้มในเวลาอันไม่นานต่อไป

ถึงจุดนี้ทุกคนในฝ่าย ‘เพื่อทางเลือก’ และสิทธิทำแท้งและอื่นๆของคนเพศเดียวกัน ต่างพุ่งไปยังพรรคเดโมแครตอย่างพร้อมเพรียงกันว่าไม่มีหนทางอื่นอีกแล้วในการต่อสู้กับฝ่ายต่อต้านสิทธิทำแท้งและสิทธิก้าวหน้าอื่นๆ นอกจากต้องอาศัยอำนาจของฝ่ายบริหารในการเข้ามาถ่วงดุลและกำกับควบคุมฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการอย่างเอาจริงเอาจัง ด้วยการออกเป็นกฎหมายของสหพันธ์ คือผ่านรัฐสภาทั้งสอง ในการรับรองและให้หลักประกันในสิทธิส่วนตัวในการเลือกทำแท้งหรือไม่อย่างถูกต้องตามกฎหมายและอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งก็เป็นมรรควิธีที่ยากเย็นในขณะนี้ที่เดโมแครตมีเสียงเท่ากับรีพับลิกันในวุฒิสภา เงื่อนไขใหญ่ในการผ่านกฎหมายสำคัญคือต้องมีคะแนน 60 เสียงเพื่อป้องกันอีกฝ่ายบอยคอตด้วยการอภิปรายมาราธอน (filibuster) จนไม่อาจลงมติในร่างกฎหมายนั้นๆ ได้

นี่เองที่ทำให้การประลองกำลังที่จะเกิดขึ้นในการเลือกตั้งกลางสมัยในเดือนพฤศจิกายนปีนี้เป็นเรื่องคอขาดบาดตายยิ่ง ว่าพรรคใดจะได้รับการเลือกตั้งเข้ามามากที่สุด นั่นเป็นการตัดสินใจของประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยว่าพวกเขาต้องการอยู่ภายใต้กฎหมายแบบใด หากสมาชิกพรรครีพับลิกันได้รับเลือกมาเป็นเสียงข้างมาก ก็หมายความว่าเราจะได้เห็นการโค่นล้มกฎหมายที่ก้าวหน้าอีกหลายอย่างในอเมริกาที่จะถูกถอดทิ้งไป เหมือนกับที่ได้กระทำไปแล้วกับคำพิพากษาคดีโรกับเวด แต่ถ้าหากพรรคเดโมแครตได้รับเลือกเข้ามาเป็นเสียงข้างมาก การออกกฎหมายที่รับรองและประกันสิทธิส่วนตัวของทุกคนก็จะได้รับการปกป้องรักษาและขยายเนื้อหาและการปฏิบัติต่อไปในสังคมอเมริกัน

นี่คือทางสองแพร่งในสังคมและการเมืองอเมริกันในช่วงแรกของศตวรรษที่ 21

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save