fbpx
อนาคต 'เมือง' หลังโรคระบาด : อภิวัฒน์ รัตนวราหะ

อนาคต ‘เมือง’ หลังโรคระบาด : อภิวัฒน์ รัตนวราหะ

สมคิด พุทธศรี, ธิติ มีแต้ม เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพ

 

‘เมือง’ เป็นศูนย์กลางชีวิตของผู้คนในโลกสมัยใหม่ นับตั้งแต่อดีตไม่มีสังคมไหนที่รุ่งเรืองและมั่งคั่งโดยไม่มีเมือง

‘กระบวนการเป็นเมือง’  (urbanization) คือเทรนด์ที่ทรงพลังที่สุดในการกำหนดชีวิตผู้คนในศตวรรษที่ 21 และมักได้รับการจัดให้อยู่ในลำดับต้นๆ เสมอเมื่อต้องการทำนาย ‘อนาคต’ ผ่านเทรนด์ยักษ์ (Mega-Trends)

เมื่อโควิด-19 เข้ามาเปลี่ยนโลก เมืองยิ่งได้รับกระทบตามไปด้วย ถนนร้าง ห้างร้านปิด ตึกใหญ่ไร้ผู้คน ขนส่งสาธารณะว่างเปล่า คนส่วนใหญ่อยู่แต่ในบ้าน หรือไม่ก็เลือกกลับภูมิลำเนา ไม่ว่าจะมองจากมิติไหน ชีวิตเมืองของผู้คนต้องหยุดชะงักชั่วคราว

‘เมือง’ และ ‘ความเป็นเมือง’ กำลังถูกท้าทายอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

ในห้วงยามอันแหลมคมแบบนี้ 101 จึงถือโอกาสชวน รศ.ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ อาจารย์ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้เชี่ยวชาญด้าน ‘อนาคตศึกษา’ (Futures Studies) สนทนาเรื่องอนาคตเมืองหลังโควิด-19

อันที่จริง ก่อนที่โควิด-19 จะระบาด อภิวัฒน์เพิ่งปิดเล่มงานวิจัยในโครงการ “คนเมือง 4.0: อนาคตชีวิตเมืองในประเทศไทย” ซึ่งเป็นงานที่อภิวัฒน์ในฐานะหัวหน้าโครงการและทีมวิจัยหลายชีวิตทำงานอย่างเข้มข้นมาหลายปี

จากบรรทัดนี้ไป คือ อนาคตเมืองหลังโควิด-19 ในสายตาของนักอนาคตศาสตร์และนักผังเมือง

 

โควิด–19 ท้าทายวิธีคิดว่าด้วยอนาคตศึกษาอย่างไรบ้าง เพราะต้องยอมรับว่าคงน้อยคนนักที่จะคาดการณ์เรื่องการอุบัติของโรคระบาดที่รุนแรงขนาดนี้

อนาคตศึกษามีหลักสำคัญอย่างหนึ่งคือ การวิเคราะห์ ‘การเปลี่ยนแปลงในอนาคต’ ภายใต้ข้อจำกัดที่ว่า เราไม่มีข้อเท็จจริง (fact) เกี่ยวกับอนาคต เพราะมันยังไม่เกิดขึ้น แต่ภายใต้ข้อจำกัดข้างต้น สิ่งที่เราสามารถทำได้ คือการเอาข้อมูลในอดีตและปัจจุบันมาสร้างความรู้ (knowledge) เกี่ยวกับอนาคต

เวลามองอนาคตในระดับทั่วไปคือ การมองว่าความสัมพันธ์ระหว่างโอกาสที่สิ่งนั้นจะเกิดขึ้น (probability) กับผลกระทบ (impact) เป็นอย่างไร เราสามารถสร้างอนาคตจำลองง่ายๆ ได้ว่า อะไรบ้างที่โอกาสเกิดสูงและผลกระทบสูง อะไรบ้างที่โอกาสเกิดสูงแต่ผลกระทบต่ำ เช่น สังคมสูงวัย อันนี้เราหนีไม่พ้นแน่ๆ และผลกระทบสูงด้วย ในมุมอนาคตศึกษาจะเรียกว่าเป็นอนาคตฐาน (baseline future)

ในกรณีของโรคระบาด ถ้ามองจากมุมอนาคตศึกษา เรารู้ว่าโรคระบาดมีโอกาสเกิดขึ้น ข้อมูลในอดีตก็ชี้ว่า โรคระบาดมีวัฏจักรอยู่และเกิดขึ้นเสมอ เช่น 17 ปีที่แล้วมีซาร์ ก่อนหน้านี้ก็มีเมอร์ แต่คำถามที่ยากคือ โรคระบาดจะใหญ่ขนาดนี้หรือเปล่า ซึ่งตอนนี้ก็พูดกันว่าเป็นโรคระบาดระดับ 100 ปี เทียบเท่ากับไข้หวัดสเปน ดังนั้น ในอนาคตจำลองโรคระบาดแบบโควิด–19 คือ เหตุการณ์ที่มีโอกาสที่เกิดขึ้นต่ำ แต่ผลกระทบสูง ซึ่งในเชิงอนาคตศึกษามีการคิดเรื่องนี้ไว้พอสมควร

 

เราควรรับมือกับสถานการณ์ที่ความเป็นไปได้ต่ำ แต่ผลกระทบสูงแบบนี้อย่างไร 

นี่คือโจทย์ความยากของทั้งตัวอนาคตศึกษาเอง และการเตรียมตัวเชิงนโยบาย เวลาพูดถึงความเป็นไปได้ต่ำ ต่อให้ผลกระทบรุนแรงแค่ไหน เรามักมีแนวโน้มที่จะไม่ทำอะไรกับมันเลย แต่เพราะเราไม่ได้เตรียมตัวรับมืออะไรเลยนี่แหละ ถ้าดูข่าวจะเห็นว่า องค์การอนามัยโลกก็เคยเตือน บิล เกตต์ก็เคยออกมาพูดโรคระบาด แต่ไม่มีใครสนใจ เพราะคนไม่คิดว่าจะเกิด ปัญหาคือเวลาที่ปัญหาเกิดขึ้นจริง เราจะสวิงไปอีกข้างหนึ่ง กลายเป็นว่าตอนนี้เราระแวงไปหมดทุกอย่าง นอกจากเกิด ‘pandemic’ ยัง ‘panic’ ด้วย

ในแง่ผลกระทบที่เกิดขึ้นในเชิงอนาคตศึกษา เช่น งานวิจัยเกี่ยวกับเมือง คงต้องให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ที่ความเป็นไปได้ต่ำ แต่ผลกระทบสูงมากขึ้น รวมถึงต้องคำนึงถึงมิติเรื่องเวลาด้วย ที่ผ่านมา เวลาพูดเรื่องเมืองในมุมอนาคตศึกษามักมองแต่เรื่องระยะยาว อย่างรถไฟฟ้า เพราะเราต้องอยู่กับมันอีก 50–100 ปี แต่โรคระบาดทำให้ต้องคิดถึง เหตุการณ์แบบระยะสั้นแต่ผลกระทบสูงด้วย ต้องกลับมาดูเรื่องสมดุลระยะสั้นกับระยะยาว ระหว่างการเตรียมตัวกับการหวาดระแวงเกินไป อันนี้เป็นเชิงทฤษฎีใหญ่ๆ ที่ทำให้ตอนนี้ต้องคิดเยอะว่าจะไปอย่างไรต่อ ปีหน้าจะทำอย่างไรต่อ เราจะสอนเรื่องอนาคตศึกษาอย่างไร

 

แล้วถ้าเป็นโจทย์เรื่องเมือง อาจารย์มองเห็นอะไร มีอนาคตจำลองแบบไหนที่น่าสนใจบ้าง

ในงานวิจัยเรื่อง ‘คนเมือง 4.0’ เราทำแผนการ (scenario) ระยะยาวต่างๆ ไว้พอสมควร ต้องยอมรับว่า เวลาทำแผนการ โดยทั่วไปผู้กำหนดนโยบายจะให้น้ำหนักกับอนาคตฐานค่อนข้างมาก เช่น สังคมสูงวัย อันนี้แทบจะเป็นนโยบายศึกษาปกติไปแล้ว แต่โจทย์ที่ผมพยายามทำคือ มองหาความเป็นได้อื่นที่มีความน่าจะเป็นสูงและ ผลกระทบสูง แต่ตอนนี้อาจจะยังเห็นไม่ชัด

เวลาพูดถึง ‘เมือง’ เรามองได้หลายแบบ มิติหนึ่งที่สำคัญของเมืองสมัยใหม่คือ การอยู่บนฐานของความเชื่อมโยง (connectivity) ปัญหาเฉพาะหน้าที่เราเจอคือ โรคระบาดตัดสิ่งที่เป็นการเชื่อมโยงทางกายภาพ (physical connectivity) และทำให้เครือข่ายความเชื่อมโยงลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ในขณะเดียวกัน เทคโนโลยีก็ดีมากพอที่จะทำให้การเชื่อมโยงทางดิจิทัล (digital connectivity) มีความสำคัญมากขึ้น จุดนี้เป็นจุดที่นักผังเมืองต่อจากนี้ต้องคิดให้ดีๆ

องค์ประกอบอีกเรื่องหนึ่งของความเป็นเมืองที่มาพร้อมกับความเชื่อมโยง คือ ความหนาแน่น (density) ซึ่งวัดได้หลายแบบ เช่น ความหนาแน่นของประชากร ความหนาแน่นของอาคาร สิ่งแวดล้อม อะไรต่างๆ ที่เราเห็นในเชิงกายภาพ สิ่งเหล่านี้เป็นคนละเรื่องกับความหนาแน่นทางสังคม (social density) มนุษย์ที่เดินกันอยู่แถวสยาม สีลม ที่เดินกันเยอะๆ ความหนาแน่นของประชากรสูงมาก แต่จริงๆ ก็ไม่รู้จักกันหรอก ไม่รู้จักกันเลย ดังนั้น ความแน่นหนาสังคมอาจจะต่ำมาก  ว่านัยหนึ่ง เมือง คือ การที่มนุษย์มาเชื่อมโยงกันโดยหน้าที่ แต่ไม่ได้มีการเชื่อมกันในเชิงสังคม

พูดแบบนี้ ไม่ได้หมายความว่า การเชื่อมต่อและความหนาแน่นทางกายภาพไม่มีส่วนในการสร้างการเชื่อมต่อและความหนาแน่นทางสังคม แต่โรคระบาดทำให้สิ่งนี้ชัดขึ้น ผมไม่คิดว่าความต้องการเชื่อมโยงทางสังคมของมนุษย์จะลดลง ตรงกันข้าม เรากลับเชื่อมต่อกันทางสังคมเข้มข้นขึ้นด้วยซ้ำผ่านโลกออนไลน์ แม้ในวันที่การเชื่อมต่อทางกายภาพทำได้น้อยลงก็ตาม

ประเด็นคือ นักผังเมืองในอนาคตอาจต้องคิดเรื่อง ‘การเชื่อมต่อดิจิทัล’ และ ‘ความสัมพันธ์ทางสังคม’ เพิ่มมากขึ้นเวลาคิดเรื่องเมือง เมืองใหญ่หลายเมืองโครงสร้างพื้นฐานเชิงกายภาพไม่ใช่ประเด็นแล้ว เพราะมีพร้อมระดับหนึ่ง ตอนนี้น่าสนใจว่าเมืองจะมีส่วนในการสร้างความเชื่อมโยงทางดิจิทัลได้อย่างไร หลังจากนี้คงต้องมีการมาคุยกันว่าโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล (digital infrastructure) ควรเป็นแบบไหน ให้คนยังสามารถทำงานได้ หรือยังมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมบ้างในระดับหนึ่ง

เรื่องนี้เป็นประเด็นที่เริ่มคิดกันมาสักระยะหนึ่งแล้ว ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่คนรุ่น digital native กำลังเติบโตขึ้น และความเชื่อมโยงของพวกเขาอยู่บนฐานดิจิทัลอยู่แล้ว ในแง่นี้ โรคระบาดเองก็สร้างจุดเปลี่ยน (shift) ของคนแต่ละวัยก็ไม่เหมือนกันด้วย สำหรับ digital native ผลกระทบต่อการเรียนรู้เป็นเรื่องใหญ่ แต่อาจไม่ได้กระทบความสัมพันธ์ทางสังคมมากนัก ในขณะที่กลุ่ม baby boomer อาจจะต้องมานั่งเรียนรู้ใหม่ทั้งวิธีการทำงานและความสัมพันธ์ทางสังคม

 

แต่ความหนาแน่นเชิงกายภาพก็เป็นจุดแข็งที่สุดอย่างหนึ่งของเมือง เพราะการอยู่รวมกันไม่ใช่แค่ทำให้เราเชื่อมต่อกันเท่านั้น ยังมีเรื่องการประหยัดจากขนาด (economy of scale) เช่น ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทีเดียวใช้กันได้หลายคน เป็นต้น หรือถ้าจะพูดแรงกว่านั้น คือ การที่เมืองเชื่อมมนุษย์โดยหน้าที่ ไม่ได้เชื่อมโยงกันทางสังคม ก็พอแล้วหรือเปล่า เพราะการเชื่อมโยงทางสังคมเราไปหาที่อื่นได้

ผมก็ไม่ได้เป็นมนุษย์โรแมนติกอะไรนะ (หัวเราะ) แต่คำถามคือ ‘เมืองที่ดี’ ควรมีสิ่งเหล่านี้หรือเปล่า ซึ่งก็ถกเถียงกันต่อได้ ประเด็นสำคัญคือ โรคระบาดกำลังท้าทายความคิดเรื่อง ‘การเชื่อมต่อ’  และ ‘ความหนาแน่น’ ซึ่งเป็นเรื่องระดับแนวคิดและทฤษฎีเลยด้วยซ้ำ

ประเด็นที่ถกเถียงกันมากคือ ความหนาแน่นของประชากร ความหนาแน่นของเมือง ยังเป็นเรื่องที่โอเคไหม เดิมเชื่อกันว่า การประหยัดจากขนาดคือหัวใจสำคัญ ของเมือง ยิ่งคนหนาแน่น การใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานยิ่งคุ้มค่า ซึ่งประเด็นนี้อย่างไรเสียก็ยังเป็นโจทย์สำคัญ ประเด็นจึงคงไม่ใช่การถกเถียงแค่ว่า ความหนาแน่นดีหรือไม่ดี แต่เป็นการตั้งคำถามว่า ‘ความหนาแน่นแบบไหนที่ดี’  หรือ ‘ความหนาแน่นแบบไหนที่เสี่ยง’ เป็นต้น

เมืองอย่างกรุงเทพฯ ก็ยังคงหนาแน่นแบบนี้โดยเฉพาะในใจกลางเมือง เพราะพลังของเศรษฐกิจและพลังของความเชื่อมโยงยังคงสูงอยู่ ตัวตึกต่างๆ ไม่ได้หายไปไหน คนไม่ได้หายไป แต่ความท้าทายภายใต้โรคระบาดคือ ภายใต้โครงสร้างทางกายภาพแบบนี้ เราจะคิดเรื่องผังเมืองอย่างไรให้ความหนาแน่นไม่มีความเสี่ยงสูงแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน อันนี้เป็นโจทย์ใหญ่ ซึ่งผมก็ยังไม่มีคำตอบตรงนั้น

 

ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา โรคระบาดเปลี่ยนเมืองไปมากน้อยแค่ไหน

คนมักมองว่า โรคระบาดเป็นเรื่องทางการแพทย์ แต่อันที่จริงเมืองมีส่วนเกี่ยวข้องกับโรคระบาดสูงมาก จริงๆ พื้นฐานของผังเมืองคือ โรคระบาด เพราะการจัดการเมืองเกิดขึ้นมาเพื่อรับมือกับโรคระบาด

ไม่ใช่แค่โรคระบาดเท่านั้น ทุกครั้งที่เกิดวิกฤตใหญ่ เช่น เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ สงครามโลก ผังเมืองจะเปลี่ยนเสมอ เพราะวิกฤตมักเข้ามาพร้อมกับมาตรการขนาดใหญ่ของรัฐ หรือรัฐสวัสดิการ ในแง่นี้ ผังเมืองยุคหลังวิกฤตจึงเป็นผังเมืองที่มาพร้อมกับรัฐ ซึ่งจะทำผ่านการลงทุนขนาดใหญ่ด้านโครงสร้างพื้นฐาน วิกฤตโควิด-19 ก็เป็นไปในแนวทางนี้

ตอนนี้รัฐบาลทั่วโลกใช้งบประมาณมหาศาลเพื่อรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจ และส่วนหนึ่งของมาลงที่โครงสร้างพื้นฐานด้วย โจทย์ที่น่าคิดสำหรับเมืองคือ แล้วโครงสร้างพื้นฐานแบบไหนที่รัฐควรลงทุน ซึ่งอาจจะไม่ใช่โครงสร้างพื้นฐานเชิงกายภาพแล้ว เพราะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพก็ดำเนินไปทางช่องทางปกติอยู่แล้ว

 

เวลาบอกว่ารัฐต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เราจะนึกภาพไม่ออกว่า คำถามหลักในเชิงนโยบายคืออะไร โดยเฉพาะถ้ามองจากมิติของเมือง

ประเด็นที่มีการตั้งคำถามกันมากคือ โครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่มีอยู่ตอนนี้พร้อมรับมือกับวิกฤตมากน้อยแค่ไหน โครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลต้องเป็นสวัสดิการ (welfare) ไหม เพราะประชากรส่วนใหญ่ของเมือง หรืออันที่จริงของประเทศด้วยซ้ำ มีศักยภาพในการเข้าถึงความเชื่อมโยงทางดิจิทัลต่ำ โครงสร้างพื้นฐานเดิมที่มีอยู่ค่อนข้างชัดว่าไม่สามารถรองรับวิกฤตได้และไม่เป็นธรรม

ที่พูดข้างต้นเป็นแค่ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ประเด็นคือตอนนี้ความรู้ด้านผังเมืองไม่ใช่แค่การระบายสีแล้วว่า เมืองตรงส่วนไหนเป็นอย่างไร อันนั้นคือความรู้ยุคสงครามโลกครั้งที่สอง ต่อไปทั้งคนสอนและคนทำนโยบายด้านผังเมืองต้องไปไกลถึงขั้นความสัมพันธ์ระหว่างความเชื่อมโยงทางกายภาพกับความเชื่อมโยงทางดิจิทัล ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความหนาแน่นของประชากร อาคารตึกรามบ้านช่อง ไปจนถึงความแน่นหนาทางสังคม

พูดให้ถึงที่สุด ในเชิงผังเมืองมันไม่ใช่แค่โครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพและพื้นที่แล้ว พื้นฐานของเมืองและผู้คนไปกว่าเชิงพื้นที่ ดิจิทัลกับกายภาพแยกกันไม่ได้แล้ว ต้องวางแผนไปพร้อมกัน

 

บางคนมองว่า การเข้ามาจัดการเมืองของรัฐหลังวิกฤตคือ ปีศาจร้ายที่จำเป็นเรามีทางเลือกอื่นไหม

คำถามนี้น่าสนใจ ในวิกฤตที่ใหญ่ขนาดนี้ ทางเลือกอาจจะมีไม่มากนัก เพราะรัฐเป็นสถาบันเดียวที่สามารถระดมทรัพยากรมหาศาลและกำหนดได้ว่าจะใช้ทำอะไร แต่ผมพูดไปบ้างแล้วว่า เมืองเป็นพื้นที่ที่คนแปลกหน้าต้องมาเจอกัน หรือ ‘place of strangers’ เมื่อคนแปลกหน้ามาอยู่ด้วยกัน เราก็สร้างสถาบันบางอย่างเพื่อทำให้เราอยู่ด้วยกันได้ทั้งในยามปกติและในยามวิกฤต

โดยพื้นฐานที่สุดเราเชื่อว่า ‘รัฐ’ หรือ ‘ตลาด’ คือคำตอบ ถ้ารัฐเวิร์ก ทุกคนเชื่อใจ ทุกอย่างก็ง่าย ถ้าตลาดทำงานได้ดี มีประสิทธิภาพและเป็นธรรมทุกอย่างก็จบ แต่ปัญหาคือ รัฐและตลาดในโลกความจริงไม่ได้เวิร์กเหมือนที่หวังไว้ เลยต้องหาสถาบันแบบอื่นมาแทน เช่น ชุมชน หรือสถาบันทางสังคมอื่นๆ สมัยน้ำท่วม หมู่บ้านไหนที่นิติบุคคลเวิร์ก หมู่บ้านไหนที่ชุมชนคุยกันได้ จะไม่ทะเลาะกัน หรือพออยู่กันได้ ที่ไหนสถาบันเหล่านี้ไม่แข็งแรงก็มักจะทะเลาะกัน

เมืองอย่างกรุงเทพฯ เอาคนมารวมกันเยอะๆ ในเชิงประชากรเท่านั้น แต่ไม่ได้สร้างสถาบันทางสังคมแบบอื่นๆ มารองรับเลย เมื่อวิกฤตเกิดขึ้น เราต้องรับมือผ่านรัฐหรือตลาดเท่านั้น สถานการณ์เลยค่อนข้างแย่ คนไม่รู้จะไปพึ่งใคร นึกออกไหมว่า คนข้างห้องเรายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขาเป็นใคร  เพราะฉะนั้น ความท้าทายหนึ่งทางด้านผังเมืองคือ การสร้างสถาบันในระดับชุมชน ทุกวันนี้คนที่ทำอยู่ก็พอมีบ้าง แต่เป็นชุมชนที่เป็นโจทย์เฉพาะ เช่น คนที่ทำเรื่องชุมชนแออัด ชุมชนบ้านมั่นคง แต่พอเป็นมนุษย์ชนชั้นกลางกลับไม่มีอะไรเลย ตรงนี้เป็นช่องว่างใหญ่ ถ้าเป็นเมืองที่มีพัฒนาการในระดับหนึ่งอย่างในยุโรปหรืออเมริกามันมีตรงนั้นอยู่  หรือเมืองใหญ่บางประเทศก็มีการรวมตัวกันเป็น ‘ย่าน’ ที่มีการช่วยเหลือต่อรองทั้งภายในชุมชนกันเองและกับนอกชุมชน

 

ในแง่หนึ่ง สถาบันทางสังคมผูกกับพื้นที่ทางกายภาพค่อนข้างมาก เช่น บ้านจัดสรร หรือย่าน แต่ความสัมพันธ์ทางสังคมกลับไปอยู่บนโลกออนไลน์มากกว่า สองโลกนี้จะผสานเข้าหากันได้อย่างไร

ตอนนี้ในนิวยอร์กมีการพัฒนาแอปพลิเคชันชื่อ ‘Nextdoor’ ซึ่งเชื่อมคนในละแวกเดียวกันเข้าด้วยกัน จริงๆ แอปแบบนี้มีเยอะและมีมาสักพักแล้ว เมื่อ 6 ปีก่อนผมเองก็เคยพยายามทำแอปฯ คล้ายแบบนี้ แต่ว่าไม่มีคนสนใจเท่าไรเลยไม่ได้ทำต่อ

ผมอยู่บ้านจัดสรร แล้วคุณแม่อยู่ด้วย แม่ผมกับคนแก่ในหมู่บ้านรู้จักกันหมดเลย ขอยืมอะไรก็ได้ เกลือ น้ำตาล เครื่องมือช่าง คือเขายังพยายามสร้าง neighborhood unit ตรงนี้ขึ้นมา และตัวความเชื่อมโยงทางดิจิทัลก็ยังมีอยู่ คือไลน์กรุ๊ปของคนแก่ในหมู่บ้าน

คนหนุ่มสาวอาจจะไม่พยายามผสานความเชื่อมโยงทางกายภาพกับดิจิทัลไว้ด้วยกัน ผมว่าโจทย์นี้เป็นโจทย์ที่สำคัญ เพราะว่าเมื่อเกิดวิกฤต เพื่อนออนไลน์ช่วยอะไรเราไม่ได้เลย ได้แต่กดไลก์หรือให้กำลังใจเราเฉยๆ

 

การผสานโลกออนไลน์กับโลกกายภาพเป็นทางเลือกส่วนตัว หรือว่าเป็นงานของคนออกแบบผังเมือง เพราะในขณะที่คุณแม่อาจารย์สามารถทำได้ แต่คนอื่นในครัวเรือนกลับทำไม่ได้ หรืออาจจะไม่ได้เลือกทำแบบนั้น 

มนุษย์ปัจจุบันถูกทำให้มีความ ‘เฉพาะตัว’ (personalization)  สูงมาก ทุกอย่างถูกแยกย่อยหมด ในรายงานที่ผมเพิ่งเขียนไปใช้คำว่า ‘ชนเผ่าเมือง’ (urban tribe) นั่นคือ เราแยกชัดเจนว่าจะมีปฏิสัมพันธ์เรื่องนี้กับใคร เรื่องอะไร บนแพลตฟอร์มแบบไหน และเราสามารถปรับทุกอย่างให้เป็นไปตามที่เราต้องการได้ง่าย เช่น พอไม่ชอบใครก็บล็อกและอันเฟรนด์ โดยไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ

ในขณะที่ชุมชนกายภาพ (physical community) ไม่ได้เป็นแบบนั้น เราเลือกเพื่อนบ้านไม่ได้ และต้องอยู่กันไปจนกว่าจะมีใครย้ายออก มีความหยวนกันสูง ในเชิงทฤษฎีเกมเรียกกันว่า ‘repeated game’ เพราะเกิดขึ้นซ้ำตลอดเวลา ถ้าหากมองวิกฤตเป็นตัวตั้ง ผมคิดว่าเป็นความท้าทายเชิงทฤษฎีเหมือนกันว่า เราจะออกแบบเมืองอย่างไร ออกแบบสถาบันทางสังคมอย่างไร ให้คนสามารถอยู่ด้วยกันได้แบบยืดหยุ่น หยวนกัน ทนกันได้ และยอมให้ความช่วยเหลือกันเมื่อวิกฤตมา

 

มีอะไรที่ต้องระวังถ้ารัฐกำลังจะเข้ามาบทบาทในโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลมากขึ้น

คำถามเดียวกับคำถามนางงามเมื่อปลายปีที่แล้วเลย คือ ระหว่าง ‘security’ กับ ‘privacy’ จะเลือกอะไร ตอนนี้รัฐมีเหตุผลในการเข้ามาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ซึ่งเปิดโอกาสให้รัฐเข้าถึงปริมณฑลส่วนบุคคล (personal realm) ได้ละเอียดมาก ผู้เชี่ยวชาญในประเด็นนี้บอกว่า การควบคุมจะไปถึงระดับสมองเลย เพราะเป็นการควบคุมด้านข้อมูล

อีกเรื่องที่มีการพูดคุยกันมากคือ การกำกับดูแลแพลตฟอร์ม ชีวิตคนเมืองทุกวันนี้พึ่งแพลตฟอร์มสูงมาก เช่น Grab, Zoom, Line Man ฯลฯ ในอนาคตต้องถามว่า รัฐหรือองค์กรกำกับดูแลจะมีบทบาทอย่างไรได้บ้าง ทำอย่างไรให้เป็นธรรม ทำอย่างไรให้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไปไกลกว่าการเป็นผลิตภัณฑ์ที่ชนชั้นกลางใช้ พูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่า รัฐต้องเข้าไปสร้างแพลตฟอร์มแข่ง แต่เป็นเรื่องการออกแบบกฎและกติกา

ผมไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญในประเด็นนี้โดยตรง แต่มั่นใจว่าประเด็นเหล่านี้จะเป็นประเด็นสำคัญในอนาคตแน่นอน

 

รายงาน ‘Mega Trends’ ในรอบหลายปีที่ผ่านมา แทบทุกฉบับล้วนพูดถึงเทรนด์การเป็นเมือง (Urbanization) ว่าเป็นเทรนด์ที่ทรงพลังที่สุดในการกำหนดชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ โควิด-19 ส่งผลอย่างไรกับเทรนด์นี้ เราจะเห็นกระแส ‘de-urbanization’ ไหม

เมื่อไม่นานมานี้ ผมเพิ่งเขียนบทความเรื่อง ‘คนไทยในอนาคตล้วนเป็นคนเมือง’ ที่จริงผมเขียนเบาไป ลึกๆ สิ่งที่ซ่อนอยู่ในใจผม คือโลกนี้กำลังกลายเป็นเมืองทั้งหมดแล้ว และแทบจะไม่มีที่ไหนที่มีความเป็นชนบท ในเชิงกายภาพอาจจะห่างไกล แต่ในเชิงเนื้อหากลายเป็นเมืองไปหมดแล้ว โอเค! คงจะหลายที่ที่อยู่ห่างไกล เช่น ซ่อนอยู่ในแอมะซอนบ้าง แต่ในภาพใหญ่แล้ว ผมคิดว่าเราพูดได้

แนวคิดหนึ่งที่ใช้อธิบายเรื่องนี้ในวงวิชาเมืองศึกษาคือ ความเป็นเมืองระดับโลก (planetary urbanization) เมื่อสักครู่คุยกันไปแล้วว่า ถ้ามอง ‘การเชื่อมต่อ’ เป็นพื้นฐานของความเป็นเมือง ความเป็นเมืองระดับโลก คือ ภาวะที่โลกเชื่อมกันหมด โดยที่ความหนาแน่นของประชากรโดยไม่จำเป็นต้องสูงก็ได้

ผมไม่คิดว่าความเป็นเมืองจะกลับไปน้อยกว่าเดิม เพราะความเป็นเมืองไม่ได้นิยามด้วยความแน่นหนาอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว ในบทความผมเสนอว่า ในชุมชนที่ห่างไกล ถ้ามีเซเว่นก็ถือว่าเป็นเมืองแล้ว ลักษณะการใช้ชีวิตของมนุษย์เป็นเมืองแล้ว มีความเชื่อมโยงแล้ว แม้ว่าความแน่นหนาจะต่ำก็ตาม ดังนั้น ถ้าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงสิ่งนั้นคือ การกระจายตัว (distribution) ของความแน่นหนา

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ รูปแบบของความเป็นเมืองที่อาจจะเปลี่ยน มีการถกเถียงอยู่ว่า เมืองในอนาคตจะยังเป็นเมืองที่อยู่บนฐานแนวคิดพลเมืองโลก (cosmopolitan urbanism) แบบเดิมอยู่ไหม หรือจะเปลี่ยนไปเป็นเมืองที่อยู่บนฐานชุมชน (communitarian urbanism) ที่ชุมชนในเมืองจะมีความสำคัญมากขึ้น อันนี้เป็นทางสองแพร่งใหญ่ที่มีการพูดถึงกันมาก

 

หากนิยาม urbanization ผ่านการเชื่อมต่อ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความเข้มข้นในการเชื่อมต่อของคนแต่ละคนไม่เท่ากัน บางคนดูสารคดีระดับโลก เรียนรู้จากมหาลัยชั้นนำ บางคนเชื่อมต่อเพื่อความบันเทิง บางคนเชื่อมต่อเพื่อคุยกับสมาชิกในครัวเรือนเท่านั้น ในแง่นี้ทุกคนไม่ได้เป็นคนเมืองหมด เท่ากับว่าเรากำลังมี เมืองกับ ชนบทแบบใหม่หรือเปล่า

การเชื่อมต่อไม่มีทางที่จะเท่ากันอยู่แล้ว ความแตกต่างของความเชื่อมโยงเป็นเรื่องปกติ  ไม่ว่าจะเป็นเมืองแบบสมัยก่อน ในปัจจุบัน หรือในอนาคต การเชื่อมต่อไม่เคยเท่ากัน ดีเบตไม่ได้อยู่ตรงนั้น เท่ากับว่า ชนบทแบบเดิมที่ความเชื่อมโยงต่ำจะไม่มีอีกแล้ว เพราะมนุษย์เมืองที่ความเชื่อมโยงสูงจะอยู่ทุกที่ ลองนึกถึงหัวหินหรือเขาใหญ่วันเสาร์-อาทิตย์ มนุษย์ที่มีความเชื่อมโยงสูงมากไปอยู่ตรงนั้น พวกเขาอยู่ท่ามกลางป่าเขาในเชิงกายภาพ แต่การเชื่อมต่อดิจิทัลทำให้ความเป็นมนุษย์เมืองยังคงอยู่ ในเชิงวิชาการเรียกปรากฎการณ์นี้ว่า ‘de-spatialization’ ซึ่งเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาและยุโรปมาสักระยะหนึ่งแล้ว

ผมมีบ้านอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ถ้าเป็นสมัยก่อนจะบอกกันว่า ‘บ้านนอกมาก’ ติดทะเลสาบ รอบข้างเป็นป่าเขาลำเนาไพร แต่ความเชื่อมโยงสูงมาก ผมสอนผ่านทางออนไลน์และทำทุกอย่างเหมือนอยู่ในเมืองใหญ่ ส่วนความเชื่อมโยงทางกายภาพอาจจะน้อยลงเพราะต้องขับรถ ไม่มีขนส่งมวลชน สิ่งที่เกิดขึ้นในยุโรปหรืออเมริกาคือ มนุษย์เมืองย้ายไปอยู่ตามชุมชนเล็กๆ ที่อยู่ประมาณ 1-2 ชั่วโมงที่ไม่ไกลจากศูนย์กลางความรู้ ศูนย์กลางความมั่งคั่ง ที่เป็นเมืองซูเปอร์สตาร์ ในเมืองไทยเริ่มเกิดขึ้นแต่ยังไม่เยอะ แต่จะเกิดขึ้นแน่นอน

 

เราพอเห็นอยู่บ้างว่า คนจำนวนหนึ่งกลับไปทำงานอยู่เชียงใหม่ อุดรธานี เช่น สถาปนิก นักออกแบบ นักเขียน แล้วส่งงานกลับเข้ามาในกรุงเทพฯ

งานวิจัยที่ทำอยู่เรียกคนกลุ่มนี้ว่าเป็น กลุ่มคนล้ำสมัย (maverick) เรายังสามารถแบ่งกลุ่มคนเป็นอีกสองกลุ่มคือ คนชายขอบ (the marginal) และคนมวลชน (the mass) พวกล้ำสมัยเราเห็นอยู่แล้วล่ะ แต่โรคระบาดอาจเป็นตัวเร่งให้กลุ่มมวลชนเข้าสู่กระบวนการนี้มากขึ้น เพราะบริษัทเริ่มเห็นแล้วว่า การทำงานจากบ้านสามารถทำได้ คนก็ปรับตัวและเริ่มเคยชิน สิ่งที่น่าสนใจคือ การทำงานจากบ้านทำให้บริษัทสามารถตรวจสอบได้ดีขึ้นด้วยว่าใครทำอะไร แค่ไหน อย่างไร เพราะแพลตฟอร์มดิจิทัลมีเครื่องมือให้ใช้หลากหลายมาก

อย่างไรก็ตาม ปฏิทรรศน์ (paradox) จะเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน ถ้าทุกคนเปลี่ยนไปอยู่บนดิจิทัลหมดเมื่อไร ความต้องการทางกายภาพจะกลับมา ฉากทัศน์แบบหนึ่งที่ทีมวิจัยเขียนไปคือ สัมผัสมนุษย์จะกลายเป็นของหรูหราและจะมีคนรวยเท่านั้นที่เข้าถึงพื้นที่และสัมผัสทางกายภาพ แต่มันจะไม่ใช้สัมผัสทางกายภาพแบบเดิม

 

รูปแบบของเมืองเปลี่ยนเองโดยธรรมชาติ หรือว่ารัฐและผู้กำหนดนโยบายทำให้เปลี่ยน

โครงสร้างพื้นฐานเป็นเรื่องสำคัญ รูปแบบเมืองจะเปลี่ยนหรือไม่อยู่ที่รัฐจะทำอะไร ถ้ารัฐหรือนักผังเมืองไม่ทำอะไร ทุกอย่างคงจะกลับไปอีหรอบเดิม เพราะพลังของความประหยัดจากการกระจุกตัวมันสูงมาก คิดง่ายๆ ถ้าเราไม่มีโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ที่พูดไปเมื่อครู่ก็คงไม่เกิด

ทุกวันนี้เวลาพูดถึงเมืองในอนาคต คนจะใช้คำว่า ‘เมืองอัจฉริยะ’ (smart city)  กันค่อนข้างมาก แต่จริงๆ แล้วก่อนที่เมืองจะสมาร์ทได้ รัฐต้องมีสามัญสำนึก (common sense) ก่อน นั่นคือ เข้าใจปัญหาพื้นฐานและมองเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น มองเห็นว่าใครคือคนที่มีแล้ว ใครที่ยังขาดแคลน พูดอีกแบบคือ เมืองอัจฉริยะไม่ใช่เรื่องว่าคุณใช้เทคโนโลยีแบบไหน แต่คือการที่รัฐต้องรู้ว่าตัวเองจะต้องสมาร์ทอย่างไรและกับใครก่อน ถ้าเห็นโจทย์ชัดเทคโนโลยีมาทีหลัง มีให้เลือกเยอะ อยู่ที่เลือกว่าจะใช้ของเจ้าไหนเท่านั้นเอง

 

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save