fbpx
นโยบายในการจัดการกับปัญหาความรุนแรงในเขตเมือง: บทเรียนจากลาตินอเมริกา

นโยบายในการจัดการกับปัญหาความรุนแรงในเขตเมือง: บทเรียนจากลาตินอเมริกา

นับตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา ในการศึกษาด้านความมั่นคงสาธารณะ เป็นที่ยอมรับกันว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบันเป็น ‘ความรุนแรงในเขตเมือง’ เสียเป็นส่วนใหญ่ หาใช่ความรุนแรงที่เกิดจากสงครามไม่ เป็นเรื่องที่หน่วยงานที่ดูแลทางด้านความมั่นคงจะต้องให้ความสนใจในประเด็นดังกล่าวอย่างจริงจัง [1] และ ‘ลาตินอเมริกา’ ก็นับเป็นภูมิภาคหนึ่งที่ได้รับความสนใจ ด้วยความที่เป็นภูมิภาคที่มี ‘ความเป็นเมือง’ (urbanization) สูงที่สุดในโลก และพบการใช้ความรุนแรงหลายรูปแบบ จึงมีปัญหาสำคัญเป็นเรื่องการจัดการความรุนแรงในเขตเมือง เราสามารถเรียนรู้บทเรียนจากงานศึกษาในภูมิภาคนี้ได้

ปัญหาความรุนแรงในเขตเมืองถือเป็นปัญหาสำคัญของการพัฒนา [2] ไม่ว่าจะเป็นความสูญเสียในทรัพยากรมนุษย์ของสังคมหรือค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ด้วยเหตุนี้นโยบายต่างๆ ที่มีเป้าหมายในการลดความรุนแรงต่างถูกนำเสนอต่อสาธารณะเป็นจำนวนมาก อาทิ นโยบายเพิ่มประสิทธิภาพของรัฐในการรักษาความสงบสุข และการส่งเสริมการจ้างงาน โดยนโยบายเหล่านี้ต่างต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ หรือแม้กระทั่งระดับสากล

การวางผังเมืองหรือการวางแผนในการพัฒนาเมืองในปัจจุบันจะต้องคำนึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ความรุนแรงกลายเป็นรอยด่างของระบบเมืองสมัยใหม่ ที่ทุกฝ่ายพยายามค้นหาถึงสาเหตุเพื่อนำไปสู่แนวทางการแก้ไขที่มีประสิทธิภาพ

เมืองกลายเป็นพื้นที่ที่กองทัพต้องเข้ามามีบทบาทในการรักษาความมั่นคง เป็นการสะท้อนภาพของสงครามในยุคที่ 4 (The Fourth Generation Warfare) ที่ภูมิรัฐศาสตร์ของความขัดแย้งย้ายจากสนามรบมาเป็นบ้านเรือนประชาชนในเมือง [3] ไมาว่าจะเป็นรูปแบบการก่อการร้าย หรือสงครามยาเสพติด เมืองกลายเป็นเป้าหมายของการโจมตีนับครั้งไม่ถ้วนไม่ว่าจะเป็นในประเทศกำลังพัฒนา อาทิ กรุงเทพฯ จาการ์ตา และบาหลี หรือแม้กระทั่งในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่นลอนดอน ปารีส และบรัสเซลส์ เป็นต้น การแทรกแซงดังกล่าวของกองทัพได้รับการเผยแพร่ว่าเป็นการนำความสงบสุขสันติ ความมีเสถียรภาพ หรือความสมัครสมานสามัคคีกลับคืนสู่สังคม [4]

การเข้ามามีบทบาทของกองทัพในการจัดการกับความรุนแรงในเขตเมืองสอดคล้องกับแนวความคิดเรื่องความมั่นคงแห่งชาติ ถ้ารัฐไม่สามารถผูกขาดการใช้อำนาจในการดูแลรักษาความปลอดภัยให้กับประชาชนของตนได้ รัฐนั้นมีความสุ่มเสี่ยงในการเป็นรัฐที่ล้มเหลว (A Failed State) แนวความคิดเช่นนี้ครอบคลุมถึงความปลอดภัยในเขตเมืองด้วย การแทรกแซงของกองทัพในครั้งนี้ดำเนินไปพร้อมๆ กับปรับเปลี่ยนทิศทางการดำเนินนโยบายให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม อาทิ องค์กรกาชาดสากลได้ขยายขอบเขตการปฏิบัติงานเข้ามามีบทบาทในประเทศที่ประสบปัญหาความรุนแรงในเขตเมืองอยู่ในขั้นวิกฤตแทนที่จะจำกัดอยู่ในแต่พื้นที่สงครามเท่านั้น [5] และการแทรกแซงทางการทหารนี้ยังอาจรวมถึงการสร้างความเข้มแข็งเชิงสถาบันให้กับหน่วยงานต่างๆ และจัดการกับปัญหาโครงสร้างทางสังคมที่เป็นสาเหตุของความรุนแรง

อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานของกองทัพอาจถูกมองว่าเป็นการเพิ่มอำนาจให้กับชนชั้นนำ ปราบปรามผู้เห็นต่าง สร้างความสับสนให้กับสังคมในเรื่องขอบเขตของการใช้อำนาจ ยิ่งไปกว่านั้นยังเกิดข้อสงสัยว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นการกระทำของกองทัพเอง เพื่อขยายบทบาทของตนรวมถึงเป็นข้ออ้างในการเพิ่มงบประมาณกลาโหม [6]

สภาพแวดล้อมของเมืองย่อมมีความสัมพันธ์กับความรุนแรง โดยความรุนแรงย่อมส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของเมือง แต่ในทางกลับกัน การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของเมืองก็มีผลกระทบต่อปัญหาการใช้ความรุนแรงด้วย

Newman [7] พบว่าตึกที่ทรุดโทรมไม่ได้รับการดูแล หน้าต่างถูกทุบทำลาย อาจไม่เป็นเพียงผลกระทบของเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น แต่ยังอาจเป็นสาเหตุให้เกิดความรุนแรงได้ด้วยเช่นเดียวกัน เฉกเช่นเดียวกับปัญหาความรุนแรงเชิงโครงสร้างอันเนื่องมาจากความเหลื่อมล้ำ อาจมีที่มาจากปัญหาโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาในบางพื้นที่ นอกจากนั้น ระดับความรุนแรงที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ยังส่งผลให้รัฐใช้มาตรการที่แตกต่างกัน อาทิ ในสลัม ที่รัฐมักติดกล้องวงจรปิดจำนวนมากเพราะมองว่าเป็นแหล่งซ่องสุมความรุนแรง ขณะที่ในเขตที่อยู่อาศัยของคนร่ำรวย อาจไม่ค่อยมีกล้องวงจรปิดของรัฐคอยสอดส่อง จึงมีความเป็นส่วนตัวมากกว่า [8]

เห็นได้ว่าคนจนถูกจับจ้องโดยรัฐอยู่ตลอดเวลา ด้วยข้ออ้างเรื่องความปลอดภัยสาธารณะ จริงอยู่ที่ว่ามาตรการดังกล่าวอาจจะช่วยบรรเทาปัญหาความรุนแรงได้ในระดับหนึ่ง แต่ขณะเดียวกันก็สะท้อนมุมมองของรัฐที่ไม่ไว้วางใจประชาชนของตนเอง และการเลือกปฏิบัติเช่นนี้ในทางกลับกันอาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงก็เป็นได้

นโยบายการสร้างงานและการพัฒนาเศรษฐกิจโดยอาศัยกลไกตลาดเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ถูกนำมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาความรุนแรงในเขตเมือง แนวทางนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากธนาคารโลกที่นำข้อมูลจากการสำรวจพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาความรุนแรงและได้ข้อสรุปว่า ‘การว่างงาน’ เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดปัญหาดังกล่าว ดังนั้น การลงทุนในโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานในพื้นที่ยากจนจะช่วยส่งเสริมให้ภาคธุรกิจขยายกิจการเข้าไปในพื้นที่ ส่งเสริมให้มีการจ้างงาน เพิ่มรายได้ให้กับคนยากจน ลดความสุ่มเสี่ยงในกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย เช่นการค้ายาเสพติด เป็นต้น [9]

ขณะเดียวกัน ภาคประชาสังคมก็มีบทบาทสำคัญในการจัดการกับปัญหาความรุนแรง ความร่วมมือของคนในชุมชนในการจัดตั้งกลุ่มอาชีพต่างๆ นอกจากเป็นการเพิ่มรายได้แล้ว ยังส่งเสริมให้คนในชุมชนได้มีโอกาสปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน หลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเยาวชนที่มีความสุ่มเสี่ยงในการเป็นทั้งผู้กระทำและเหยื่อของความรุนแรง การจัดให้มีการซ้อมดนตรี เล่นกีฬา หรือจัดสร้างห้องสมุดชุมชน เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ภาคประชาสังคมสามารถดำเนินการได้โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพางบประมาณจากรัฐ [10]

จากนโยบายต่างๆ ตั้งแต่ระดับสากลเรื่อยมาจนถึงภาคประชาสังคมที่ได้กล่าวมาข้างต้น สะท้อนให้เห็นความสำคัญของภูมิทัศน์ของเมือง (urban landscape) ในการจัดการกับปัญหาความรุนแรง หน่วยงานสำคัญทางด้านการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานมนุษย์ของสหประชาชาติ (UN Habitat) ย้ำให้เห็นความสัมพันธ์ของรูปแบบผังเมือง ปัญหาอาชญากรรม และความรุนแรง โดยระบุว่า การขาดการวางผังเมืองและการจัดการที่ดีมีส่วนสำคัญในการเพิ่มความสุ่มเสี่ยงทั้งในชีวิตและทรัพย์สินของผู้อยู่อาศัย [11]

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะดังกล่าวของ UN Habitat ในการส่งเสริมการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มักลงเอยด้วยโครงการก่อสร้างทั้งที่เป็นการปรับปรุงให้ทันสมัยหรือสร้างขึ้นมาใหม่ตามแนวทางตะวันตก โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างของปัญหาความรุนแรงในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งกระบวนการต่อรองทางการเมืองและบริบททางประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกันออกไป

ภูมิสถาปัตย์รวมถึงสิ่งปลูกสร้างสาธารณะต่างๆ ในเมืองตั้งแต่อาคาร บ้านเรือน หรือแม้กระทั่งม้านั่งในสวนสามารถสะท้อนรูปแบบการจัดการของรัฐที่มีต่อประชาชนในพื้นที่นั้นๆ [12] อย่าง Haussman’s Boulevards ในกรุงปารีสคือตัวอย่างของการวางผังเมืองของรัฐที่ต้องการอำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่ในการควบคุมการชุมนุมประท้วงของประชาชน [13] ส่วนในเมืองคาร์ดิฟฟ์ ประเทศอังกฤษมีการใช้หลอดไฟสีชมพูเพื่อเป็นการประจานวัยรุ่นที่เกเรไม่เคารพในกฎระเบียบ [14] นอกจากนี้ การขยายโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานไปสู่พื้นที่ขาดแคลน เปรียบเสมือนการขยายอำนาจของรัฐและชนชั้นนำในการควบคุมพื้นที่เหล่านั้น

ภาพที่ 1: ภาพเขียนสีน้ำมันของ Haussman’s Boulevards ในปี ค.ศ. 1878
ที่มา: www.1st-art-gallery.com

ขณะเดียวกัน รูปแบบของเมืองก็ถูกกำหนดโดยชนชั้นนำและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าการสร้างปราสาทหรือป้อมปราการของผู้ปกครอง ประตูเมืองเพื่อป้องกันข้าศึก หรือแม้กระทั่งการสร้างห้องแถวชั้นเดียวเป็นจำนวนมากที่มหาชัย สมุทรสาคร ให้เป็นที่อยู่ของแรงงานพม่า การเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ในเมืองสะท้อนแนวนโยบายของรัฐผสานกับผลประโยชน์และความปรารถนาของเอกชน ขณะที่ความสวยงามของสถาปัตยกรรมต่างแสดงให้เห็นถึงรสนิยมของชนชั้นนำที่มีบทบาทในการกำหนดหรือวางแผนในการพัฒนาเมือง ในทางกลับกันมีเมืองจำนวนไม่น้อยที่ผังเมืองหรือสถาปัตยกรรมต่างๆ สะท้อนถึงแรงต่อต้านต่ออิทธิพลของชนชั้นนำและทุนตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น [15]

ความเข้าใจต่อพื้นที่ต่างๆ ในเมืองที่สะท้อนให้เห็นถึงการช่วงชิงทางอำนาจของกลุ่มต่างๆ กอปรกับการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการจัดการและความรุนแรง ได้เปลี่ยนมุมมองในการศึกษาเมือง จากการสนใจแต่เพียงรูปแบบโครงสร้างสถาปัตยกรรม ไปให้ความสำคัญกับกระบวนการต่อรองทางการเมืองในการกำหนดทิศทางการวางแผน [16] และพิจารณาว่าใครที่จะมี “สิทธิ์” หรือเป็นผู้กุมชะตากรรมของเมืองแทน[17]

ดังที่กล่าวไปก่อนหน้านั้นแล้วว่าภาคประชาสังคมมีส่วนสำคัญในการจัดการกับปัญหาความรุนแรงในเขตเมือง แต่จากมุมมองที่ว่าการออกแบบเมืองเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความชำนาญเฉพาะด้าน ดังนั้นเสียงของภาคประชาสังคมแทบไม่มีความหมายหรือได้รับความสนใจจากผู้กำหนดนโยบาย การเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในการวางแผน สามารถสะท้อนความต้องการของแต่ละพื้นที่ได้อย่างชัดเจน แต่ผู้มีอำนาจมักมองว่าความคิดเห็นของภาคประชาสังคมนั้นเป็นเหมือนข้อเรียกร้องที่ไม่รู้จักพอ เป็นข้อเสนอที่สร้างความรำคาญใจให้กับพวกเขา [18]

ในปัจจุบันถึงแม้ว่าจะมีข้อกำหนดให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นหรือทำประชาพิจารณ์ในนโยบายต่างๆ ที่มีผลกระทบไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมต่อพวกเขา แต่ในความเป็นจริง รัฐแค่จัดฉากในกระบวนการเหล่านั้น อำนาจในการตัดสินใจสูงสุดยังตกอยู่ภายในมือคนเพียงไม่กี่คน [19]


[1] Robert Muggah, ed. Stabilization operations, security and development: States of fragility.

[2] Caroline O. Moser and Cathy McIlwaine, “Latin American urban violence as a development concern: Towards a framework for violence reduction,”.

[3] Stephan Graham, Cities under siege: The new military urbanism.

[4] Robert Muggah, ed. Stabilization operations, security and development: States of fragility.

[5] Liliana Bernal Franco and Claudia Navas Caputo, Urban violence and humanitarian action in Medellín. Humanitarian Actions in Situations Other than War (HASOW). Discussion Paper 5 (2013), accessed March 5, 2016, http://www.cerac.org.co/assets/pdf/Other%20publications/Hasow_5_Urban%20violence%20and%20

humanitarian%20action%20in%20Medellin_(5mar)_CN.pdf และ Robert Muggah and Kevin Savage, “Urban violence and humanitarian action: Engaging the fragile city,”.

[6] Stephan Graham, Cities under siege: The new military urbanism.

[7] Oscar Newman, Defensible space: Crime prevention through urban design. (New York: Collier Books, 1973).

[8] Rowland Atkinson, “Padding the bunker: Strategies of middle-class disaffiliation and colonisation in the city,”.

[9] World Bank, Violence in the city: Understanding and supporting community responses to urban violence.

[10] Caroline O.N. Moser and Cathy McIlwaine, Encounter with violence in Latin America: Urban poor perceptions from Colombia and Guatemala.

[11] UN Human Settlements Programme, Enhancing urban safety and security: Global report on human settlements 2007 (2007), accessed March 25, 2016, http://mirror.unhabitat.org/pmss/listItemDetails.aspx?

publicationID=2432.

[12] Angela Stienen, “Urban technology, conflict education, and disputed space,” Journal of Urban Technology 16, no. 2-3 (2009): 109-142.

[13] Carl Douglas, “Barricades and boulevards: Material transformations of Paris, 1795-1871,” Interstice 8: 31-42.

[14] BBC, “Pink Cardiff street lights plan ‘to deter ASBO yobs,” (2012) accessed March 22, 2016, http://www.bbc.co.uk/news/uk-wales-17260959.

[15] Angela Stienen, “Urban technology, conflict education, and disputed space,”.

[16] Eugene J. McCann, “Space, citizenship, and the right to the city: A brief overview,” GeoJournal 58, no. 2-3 (2002): 77-79.

[17] Mark Purcell, “Excavating Lefebvre: The right to the city and its urban politics of the inhabitant,” GeoJournal 58, no. 2-3 (2002): 99-108 และ Eugene J. McCann, “Space, citizenship, and the right to the city: A brief overview,”.

[18] Mike Raco, Stateled privatisation and the demise of the democratic state: Welfare reform and localism in an era of regulatory capitalism (London, UK: Ashgate Publishing, 2013).

[19] Eugene J. McCann, “Space, citizenship, and the right to the city: A brief overview,”: 78.

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save