fbpx
Urban Forest ในเมืองมีป่า ในป่ามีเมือง

Urban Forest ในเมืองมีป่า ในป่ามีเมือง

อะไรคือป่าในเมืองหรือเมืองในป่า?

คำถามนี้ดูเผินๆ เหมือนจะตอบง่าย ก็แค่เอาพื้นที่ในเมืองไปปลูกต้นไม้เสียก็สิ้นเรื่อง เท่านี้ก็มีป่าแทรกปนอยู่ในเมือง หรือมีเมืองแทรกปนอยู่ในป่าแล้ว

แต่ ‘ป่า’ ไม่ใช่ ‘สวน’ นะครับ คำว่าป่าหรือ Forest นั้น มีนัยของคำว่า Wild ในภาษาอังกฤษอยู่ด้วย

คำว่า Wild ที่ว่า ไม่ได้แปลว่าป่าเถื่อนดุร้ายแต่เพียงอย่างเดียว ทว่ามีความหมายอื่นๆ บรรจุอยู่ในคำคำนี้มากมาย เช่น ความเป็นอิสระเสรี ไม่มีอำนาจใดๆ ไปกดขี่บังคับ (ยกเว้นแต่อำนาจของความเป็นไปในธรรมชาติเท่านั้น) และอีกความหมายหนึ่ง Wildness ของป่า ยังมีนัยทางวัฒนธรรมที่ลึกซึ้งเกี่ยวข้องอยู่ด้วย

มนุษย์ผูกพันอยู่กับป่ามาเนิ่นนาน ป่าไม่ได้เป็นแค่ที่หากินเท่านั้น แต่ความ Wild ของป่า ยังทำให้ป่ามีอำนาจพิเศษบางอย่างเหนือมนุษย์ด้วย ‘ป่า’ จึงไม่เหมือน ‘สวน’ แต่ป่ามีลักษณะเป็น ‘มหาวิหาร’ (Cathedral) อยู่ในตัวด้วย ดังนั้น การนำป่าเข้ามาอยู่ในเมือง (หรือนำเมืองเข้าไปตั้งในป่า) จึงเป็นเรื่องที่ซับซ้อนอย่างมาก

เราอาจเคยเห็นตึกที่แลดูเหมือนป่า ตามแนวคิดที่เรียกว่า Vertical Forest หรือ ‘ป่าแนวตั้ง’ ซึ่งบริษัทหนึ่งที่เป็นหัวหอกนำทางในเรื่องนี้ ก็คือ Stefano Boeri Architetti แห่งอิตาลี ซึ่งได้สร้าง Vertical Forest แห่งแรกขึ้นในมิลาน เรียกว่า Bosco Verticale ซึ่งหลายคนถือว่าเป็นต้นแบบของตึกระฟ้าแห่งอนาคต

ตึกของ Stefano Boeri ในมิลาน
ตึกของ Stefano Boeri ในมิลาน

ถ้าขยับเข้ามาใกล้บ้านเราหน่อย ก็จะมีคุณ เคน แยง (Ken Yeang) แห่งมาเลเซีย ที่เป็นสถาปนิกผู้ออกแบบตึกหลายตึกในสิงคโปร์ เชน National Library หรือตึกที่หลายคนน่าจะคุ้นตา คือตึก Solaris (ที่มีชื่อจริงว่า Fusionopolis) ให้มีลักษณะเป็น ‘สวนแนวตั้ง’ ซึ่งถ้าใครผ่านไปผ่านมา ก็น่าจะสะดุดตากับตึกที่มีต้นไม้สีเขียวจากชั้นล่างสุดขึ้นไปถึงชั้นบนสุด

Fusionopolis – Solaris (Photo by Albert Lim)
Fusionopolis – Solaris (Photo by Albert Lim)

แนวคิดเรื่องป่าหรือสวนแนวตั้งนี้ไม่ได้มีที่เดียว แต่ปัจจุบันกำลังเป็นเทรนด์สำคัญที่แพร่ไปทั่วโลก ปารีสกำลังมีตึก Lina Ghotmeh ในขณะที่โตรอนโตก็มีตึก Penda ที่ถือว่าเป็น Toronto Tree Tower ส่วนในจีนก็กำลังจะมีตึก World Economic Forum ที่เป็นตึกแบบ Vertical Forest แห่งแรกของจีน

ตึก Penda Toronto Tree Tower
ตึก Penda Toronto Tree Tower
ตึก World Economic Forum สวนแนวตั้งแห่งแรกในจีน | Stefano Boeri Architects
ตึก World Economic Forum สวนแนวตั้งแห่งแรกในจีน | Stefano Boeri Architects

คำว่า Vertical Forest นั้น มีเป้าหมายเพื่อทำให้ตึกเป็นตึกที่ ‘ยั่งยืน’ คืออยู่ได้ด้วยตัวเอง อย่างตึกของ Stefano Boeri ในมิลานนั้น จะมีต้นไม้มากถึง 800 ต้น ที่มีความสูง 3, 6 หรือ 9 เมตร มีไม้พุ่ม 4,500 ต้น และพืชพรรณอื่นๆ อีกราว 15,000 ต้น ซึ่งถ้าดูเผินๆ ก็นับว่ามีความหลากหลายมากพอสมควร

อย่างไรก็ตาม ทิม เดอชานต์ (Tim DeChant) ซึ่งเป็นทั้งนักเขียน นักออกแบบ นักวิจัย นักพูด ในเรื่องที่เกี่ยวกับเมือง ก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ‘ป่าแนวตั้ง’ พวกนี้เอาไว้ในบทความเรื่อง Can We Please Stop Drawing Trees on Top of Skyscrapers? (ดูบทความเต็มได้ที่นี่) โดยเขาตั้งคำถามน่าสนใจเอาไว้ว่า การที่สถาปนิกพยายามยก ‘ป่า’ ข้ึนไปไว้บนตึกนั้น มันเป็นความพยายามที่คุ้มค่าจริงหรือ เพราะว่ามันคือการสร้าง ‘ระบบนิเวศ’ ใหม่ขึ้นมาทั้งหมด ซึ่งผลลัพธ์ก็คือ ต้องเสียค่าใช้จ่ายมหาศาลในการคิดคำนวณและทดลอง แถมต้นไม้ยังไม่ได้เติบโตอย่างเป็นธรรมชาติจริงๆ ด้วย เพราะการอยู่บนตึกสูงแปลว่าไม่ได้มีเนื้อดินจริงๆ ต้องมีแรงงานหรือระบบในการหมุนเวียนซากอินทรีย์ของใบไม้ รวมทั้งต้องมีการคิดเรื่องน้ำและอื่นๆ อีกมาก แม้ทำให้เกิดความยั่งยืนได้ (ในระยะยาว) แต่ก็เป็นเรื่องยากที่จะออกแบบ และยังห่างไกลนักกับการสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็น ‘ป่า’ จริงๆ ซึ่งหมายความว่า ‘ป่า’ จะต้องมีความ Wild หรือมีเจตจำนงเสรีที่จะอยู่ เติบโต และควบคุมกันเองได้โดยไม่ต้องให้มือของมนุษย์เข้าไปยุ่งเกี่ยว พูดภาษาสถาปนิกก็คือ จะเป็น ‘ป่า’ ได้จริงๆ ก็ต้องเกิดสิ่งแวดล้อมแบบที่เรียกว่า Self-Regulating Environment ขึ้นมา

ซึ่งในตอนนี้ยังไม่มีใครทำได้

ดังนั้น ตอนนี้นักออกแบบเมืองหลายคนจึงหันกลับมาหา ‘ป่า’ ในแบบที่เป็นป่าจริงๆ คือใช้พื้นที่ที่อยู่บนพื้นดินให้เป็นประโยชน์มากที่สุด โดยนำแนวคิดทางวัฒนธรรมแบบหนึ่งเข้ามาประยุกต์ใช้ นั่นคือแนวคิดที่เรียกว่า Permaculture หรือ ‘วัฒนธรรมที่ถาวร’ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือการมี ‘วิถีชีวิต’ ที่ ‘คิด’ แล้วว่าจะดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน ไม่ทำร้ายทั้งธรรมชาติ ระบบนิเวศ เพื่อนมนุษย์ รวมไปถึงตัวของเราเอง

คำว่า Permaculture นั้น ตั้งขึ้นโดยบิล มอลลิสัน และเดวิด โฮล์มเกรน ซึ่งในตอนแรกหมายถึง Permanent Agriculture หรือการทำเกษตรอย่างยั่งยืน แต่ต่อมา คำนี้ได้ ‘ขยายความ’ กว้างขวางออกไป กระทั่งกลายเป็น Permaculture ซึ่งก็คือวิถีชีวิตหรือวัฒนธรรมที่ถาวรยั่งยืนนั่นเอง

บิล มอลลิสัน เคยบอกไว้ว่า

เพอร์มาคัลเจอร์ คือปรัชญาของการทำงานร่วมกับธรรมชาติ ไม่ใช่การต่อต้านธรรมชาติ เป็นการสังเกตอย่างละเอียดอ่อนและช่างคิด แทนที่จะใช้แรงงานไปเปล่าๆ โดยไม่ได้คิด และเป็นการพิจารณาถึงทั้งสัตว์และพืชจากหน้าที่โดยรวมของพวกมันทั้งหมด แทนที่จะปฏิบัติต่อพื้นที่ใดๆ เหมือนว่ามันเป็นระบบการผลิตเชิงเดี่ยวเท่านั้น

เพอร์มาคัลเจอร์กลายเป็นหลักคิดของการออกแบบพื้นที่เมืองสมัยใหม่ให้มี ‘ป่าในเมือง’ (Urban Forest) ที่ไม่ใช่แค่ ‘สวน’ คือเป็นป่าที่มีระบบนิเวศของตัวเอง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะป่ามีความซับซ้อนของมัน วิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้เกิดป่า ก็คือการปล่อยให้ธรรมชาติทำงาน แต่ในความเป็นจริงเป็นแบบนั้นไม่ได้ เนื่องจากต้องใช้เวลานับสิบนับร้อยปี และธรรมชาติก็อาจเข้ามาทำงานในพื้นที่ที่มนุษย์ไม่ต้องการด้วย

ถ้ามองดู ‘ป่า’ ที่อุดมสมบูรณ์อย่างแท้จริง จะเห็นได้เลยว่าป่านั้นมีกลไกของตัวเองที่สลับซับซ้อน เต็มไปด้วยการเกื้อกูลและหล่อเลี้ยงซึ่งกันและกัน มีการควบคุมกันและกันอย่างเป็นระบบ ผ่านห่วงโซ่อาหาร มีการสืบพันธุ์ด้วยวิธีต่างๆ ทั้งที่ตรงไปตรงมาและที่ต้องอาศัยการพึ่งพิงสิ่งมีชีวิตอื่นอย่างละเอียดอ่อนและเปราะบาง

เพราะฉะนั้น ถ้า ‘ป่า’ ได้เป็น ‘ป่า’ อย่างที่ป่าเป็นจริงๆ เราจะเห็นได้เลยนะครับ ว่าป่าเต็มไปด้วยความ ‘ประณีต’ ที่ถักทอร้อยรัดขึ้นมาเป็นผืนผ้าลวดลายละเอียดยิบโดยสรรพชีวิตในป่าอย่างไร

นานมาแล้ว โรเบิร์ต ฮาร์ต นักปลูกต้นไม้ชาวอังกฤษ ผู้มีอายุขัยอยู่ในช่วงปี 1913 จนถึงปี 2000 เคยบุกเบิกการทำ ‘สวนป่า’ ที่แสนประณีตขึ้นในเขตอบอุ่น เขาสร้างสวนป่าต้นแบบขึ้นโดยใช้พื้นเล็กๆ ที่เพียง 500 ตารางเมตร ที่เวนล็อค เอดจ์ (Wenlock Edge) ในแคว้น Shropshire ของอังกฤษ

‘สวนป่า’ หรือ Forest Garden คือสวนแบบ ‘ยั่งยืน’ ที่ไม่ต้องดูแลรักษาอะไรมากมายนัก เป็นสวนที่พึ่งตัวเอง ปล่อยให้ป่าได้เป็นป่า แม้มีการควบคุมบ้างก็เป็นไปเพื่อให้เกิดผลที่ ‘คล้าย’ กับธรรมชาติ โรเบิร์ต ฮาร์ต บอกว่า เขาได้รับแรงบันดาลใจในการทำสวนป่าจากการอ่านงานเขียนของ James Sholto Douglas ผู้เขียนเรื่อง Alternative Food ในสมัยศตวรรษที่ 18 ซึ่ง James Sholto Douglas ก็ได้รับอิทธิพลมาจากงานเขียนของโตโยฮิโกะ คางาวะ ซึ่งเป็นชาวญี่ปุ่นอีกต่อหนึ่ง

เวนล็อคเอดจ์ เป็นพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นภูเขาหินปูนพังทลายลงมาจนดูคล้ายหน้าผา แต่มีความยาวนับสิบๆ กิโลเมตร เรียกว่า Escarpment ในกรณีของเวนล็อคเอดจ์นั้นยาว 31 กิโลเมตร แล่นจากตะวันตกเฉียงใต้ขึ้นไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ มีความสูงราว 1,083 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ถือเป็นบริเวณที่มีความงดงามของภูมิประเทศอย่างยิ่ง ป่าไม้ก็เขียวชอุ่ม และได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี ถึงขั้นที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในพื้นที่มหัศจรรย์ของอังกฤษ

โรเบิร์ต ฮาร์ต ได้รับอิทธิพลจากนักปราชญ์โบราณหลายคน คนหนึ่งคือนักปราชญ์กรีกอย่างฮิปโปคราเตส ที่บอกว่าให้ใช้อาหารเป็นยาและให้ใช้ยาเป็นอาหาร เขาจึงหันมากินมังสวิรัติ และอาหาร 90% ของเขา เป็นอาหารดิบ หรือ Raw Food อย่างที่เรานิยมกันในปัจจุบัน

สิ่งสำคัญที่เขาสังเกตพบ ก็คือความสัมพันธ์ของพืชชนิดต่างๆ กับระบบทางธรรมชาติ ในที่สุดเขาก็พัฒนาการสร้าง ‘สวนป่า’ ขึ้น โดยใช้ฐานจากการสังเกตเหล่านั้น พัฒนามาเป็นสวนเจ็ดชั้น ซึ่งได้แก่ ชั้นบนสุด เป็นไม้ขนาดใหญ่ที่ปกคลุมพื้นที่ ตามด้วยต้นไม้เตี้ยกว่าเป็นชั้นที่สอง และมีไม้พุ่มเป็นชั้นที่สาม ถัดมาเป็นสมุนไพรเป็นชั้นที่สี่ ต่อด้วยพืชคลุมดินเป็นชั้นที่ห้า และมีพืชหัวทั้งหลายที่ฝังอยู่ใต้ดินเป็นชั้นที่หก และมีชั้นที่เจ็ดเป็นไม้เลื้อยต่างๆ

ผลที่ได้ก็คือ เขาสามารถสร้างสวนป่าขึ้นมาได้ในดินแดนอย่างเกาะอังกฤษ ซึ่งภูมิอากาศไม่ได้เหมาะสมกับการสร้างสวนป่าที่มีความหลากหลายเช่นนี้เลย

ในปัจจุบัน มีการทำวิจัยในหลายที่ เพื่อดูว่าถ้าจะสร้าง ‘ป่า’ ขึ้นมาในเมืองเป็น Urban Forest ให้ได้จริงๆ คือไม่ได้เป็นแค่ Vertical Forest อย่างที่กำลังนิยมทำกันนั้น ต้องคำนึงถึงปัจจัยอะไรบ้าง (ลองดูบทความนี้) ที่น่าสนใจมากก็คือ ประเทศที่ก้าวหน้าในเรื่องนี้ที่สุด น่าจะเป็นแคนาดา ซึ่งมีการประชุม Urban Forest Conference กันมาตั้งแต่ก่อนปี 2000 โน่นแล้ว เพื่อหาวิธีสร้างป่าในเมือง ซึ่งก็คือการ ‘ช่วย’ ธรรมชาติสร้าง ‘ระบบนิเวศ’ ขึ้นมา

ในอนาคต เมืองกับป่าจึงน่าจะเกลี่ยกลืนเข้าหากันมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมืองในเขตอบอุ่นที่มีการคิดเรื่องพวกนี้มาตลอด ไม่ว่าจะเป็นซีแอตเทิล, ออสติน, นิวยอร์ก, ลอนดอน หรือกระทั่งในจีน

อย่างไรก็ตาม ในประเทศเขตร้อนนั้น เว้นแต่สิงคโปร์แล้ว ดูเหมือนจะยังไม่ค่อยเห็นเทรนด์นี้ย่างกรายเข้ามาสักเท่าไหร่ ซึ่งก็อาจเป็นได้ว่า ระบบนิเวศของเขตร้อนนั้นสลับซับซ้อนกว่าป่าของเขตอบอุ่นมาก ดังนั้นในแง่หนึ่งจึงเป็นอุปสรรคสำคัญ แต่ในอีกแง่หนึ่งก็เป็นความท้าทาย และถ้ามีการทดลองสร้างป่าในเมืองจริงๆ ก็น่าจะทำให้ได้องค์ความรู้ใหม่ๆ เพิ่มเติมขึ้นอีกมาก

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save