เมืองที่ดีต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง

เมืองที่ดีต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง

[et_pb_section bb_built=”1″][et_pb_row][et_pb_column type=”4_4″][et_pb_text _builder_version=”3.0.106″ background_layout=”light”]

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

 

ถ้าใครเคยเล่นเกมสร้างเมืองอย่าง Sim City จะรู้ทันทีเลยว่า วิธีสร้างเมืองแบบ Sim ให้ประสบความสำเร็จนั้น ต้องทำสิ่งที่เรียกว่า ‘โซนนิ่ง’ นั่นคือแบ่งเป็นย่านต่างๆ เช่น ย่านการค้า ย่านที่อยู่อาศัย หรือย่านอุตสาหกรรม แล้วก็ใช้การขนส่งมวลชนเป็นตัวเชื่อมย่านต่างๆ เข้าด้วยกัน เพื่อไม่ให้เกิดอาการ ‘รถติด’ ซึ่งเมื่อทำได้ดีแล้ว เมืองก็จะมีคนอพยพเข้ามาอยู่มากขึ้นจนประสบความสำเร็จในเกมได้

ว่าแต่ว่า-นั่นคือตัวอย่างของ ‘เมือง’ ที่ดีหรือเปล่า?

 

จริงๆ แล้ว เมืองอย่างนั้น คือเมืองที่นำเค้าโครงการพัฒนาขึ้นสู่จุดสุดยอด – มาจากการพัฒนาเมืองแบบตะวันตก, โดยเฉพาะอเมริกาทางฝั่งตะวันตกในยุคศตวรรษที่ 20

เดิมทีเดียว ในช่วงต้นของศตวรรษที่ 20 เมืองต่างๆ ในอเมริกาพัฒนาโดยมีรูปแบบของการผสมผสานย่านต่างๆ เข้าด้วยกัน คือแต่ละย่านไม่จำเป็นต้องมีเฉพาะที่อยู่อาศัย ย่านการค้า หรืออุตสาหกรรมเท่านั้น แต่สามสิ่งนี้ปนเปอยู่ร่วมกันในย่านเดียว แต่แล้วเมื่อระบบการพัฒนาแบบใหม่ก้าวเข้ามาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ก็เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘ชานเมือง’ หรือ Suburban ขึ้น เมืองขยายตัวออกไปทุกทิศทุกอย่าง โดยมีย่านการค้าและย่านอุตสาหกรรมให้ขับรถไปทำงานอยู่เป็นหย่อมๆ แล้วทุกคนก็คิดว่า นั่นแหละคือขั้นสุดยอดของเมือง เมืองที่ดีควรจะเป็นอย่างนั้น แล้วเมืองแบบนี้ ก็กลายเป็นต้นแบบของเมืองแบบตะวันตกไป

หลายคนคิดว่า เมืองแบบตะวันตก ก็คือเมืองที่มีการแบ่งแยกชัดเจนว่าพื้นที่ต่างๆ ในเมืองควรจะใช้ทำอะไรบ้าง ส่วนเมืองของตะวันออกมักเป็นเมืองที่ ‘มั่ว’ คือแต่ละย่านมีการใช้งานกันผสมปนเปไปหมดจนไม่น่าอยู่ (ลองนึกภาพกัลกัตตา, ฮานอย หรือกรุงเทพฯ ดู)

แต่คุณรู้หรือไม่ว่า ณ นาทีนี้ เมืองแบบตะวันตกที่เราคิดว่าพัฒนาไปถึงขั้นสุดยอดหลายแห่งกำลัง ‘รื้อ’ วิธีคิดในการพัฒนาเมืองของตัวเองลง แล้วหันกลับมาหาวิธีคิดแบบ ‘มั่ว’ (แต่เป็นระเบียบ) ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เป็นลักษณะของเมืองแบบตะวันออก

ลองมาดูกันหน่อยดีไหม ว่าคุณสมบัติแบบไหนที่เมืองแบบตะวันตกกำลังหวนกลับมาให้ความสำคัญบ้าง

 

Mixed-use development

 

คำว่า Mixed-use development หมายถึงการอนุญาตให้มีการใช้พื้นที่หนึ่งในกิจกรรมหลายอย่างได้ จริงๆ แล้วไม่ใช่แค่พื้นที่ที่เป็นย่านเท่านั้น แต่อาจย่อยลงไปถึงระดับตึกหนึ่งตึกหรือกลุ่มอาคารเลยก็ได้ เช่นว่า ในตึกหนึ่งตึก อาจเป็นได้ทั้งที่อยู่อาศัย ทำการค้า อุตสาหกรรม เป็นออฟฟิศ เป็นองค์กรสถาบัน หรือใช้ประโยชน์อื่นๆ ได้อีก

ถ้ามองย้อนไปในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ ส่วนใหญ่แล้วเราสร้างเมืองในแบบ mixed-use หรือเรียกง่ายได้ว่า ‘มั่วๆ’ มาตลอด แม้จะมีบางย่านที่ทำหน้าที่บางอย่าง เช่น ย่านร้านอาหาร ย่านตีเหล็ก ย่านขายผ้า แต่โดยทั่วไป (โดยเฉพาะเมืองแบบตะวันออก) แม้จะแบ่งเป็นย่านๆ แต่เอาเข้าจริง อาคารในแต่ละย่านก็อาจมีการใช้งานแบบผสมผสาน เช่น ด้านล่างเป็นร้านค้า แต่ด้านบนเป็นที่อยู่อาศัย เป็นต้น ทำให้ผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองไม่จำเป็นต้องเดินทางมากนัก เพราะทุกสิ่งที่จำเป็นในชีวิตล้วนอยู่ใกล้ๆ ในระยะเดินเท้าถึง เรียกว่าเป็นเมืองที่มี ‘ขนาด’ แบบ Human Scale

แต่เมื่อถึงยุคอุตสาหกรรม การใช้เมืองแบบ mixed-use ลดความสำคัญลงไป มิติแบบ Human Scale ลดลง เพราะอุตสาหกรรมต้องใช้พื้นที่กว้าง และก่อมลพิษ จึงต้องมีการจัดการเป็นพิเศษ ส่งผลให้เกิดการจัดเมืองเป็นย่านๆ เวลาจะเคลื่อนย้ายตัวเองจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง แทนที่จะใช้วิธีเดินเท้าเหมือนเก่า ก็ต้องหันมาใช้รถยนต์หรือระบบขนส่งมวลชนแทน เกิดความขัดแย้งในเรื่องการใช้ที่ดิน เช่น โรงงานอุตสาหกรรมก่อมลพิษ ทำให้ต้องมีการแบ่งโซนหรือโซนนิ่งเกิดขึ้น อย่างในนิวยอร์ก เริ่มมีกฎหมายโซนนิ่งในปี 1916

แต่แล้วในช่วงหลังของศตวรรษที่ 20 ก็เริ่มมีแนวคิดใหม่ในการผสมผสานการใช้งานพื้นที่เกิดขึ้น เพราะการแบ่งโซนอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดนั้น มักจะทำให้เกิด ‘เกาะ’ ของกิจกรรมอันโดดเดี่ยว เช่นว่าเป็นย่านการค้าที่คึกคักเฉพาะวันทำงาน แต่เสาร์อาทิตย์ก็ร้าง แนวคิดนี้ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากหนังสือ The Death and Life of Great American Cities ของ เจน จาค็อบ (ในปี 1961) ที่เสนอว่า การผสมผสานการใช้งานพื้นที่นั้นถือเป็นเรื่องจำเป็น ถ้าจะทำให้พื้นที่เมืองมีคุณภาพ

ปัจจุบันนี้ แนวคิดเรื่อง mixed-use เริ่มได้รับการยอมรับกว้างขวางมากขึ้นเรื่อยๆ มีการนำมาใช้มากขึ้นในหลายเมือง แม้กระทั่งในนิวยอร์กเอง แต่ถ้ามองย้อนกลับมาถึงเมืองแบบตะวันออก เราจะเห็นว่าวิธีคิดแบบ mixed-use นั้น ปรากฏอยู่ในเมืองแบบตะวันออกมานานแล้ว เพียงแต่ว่า mixed-use แบบโบราณ เกิดขึ้นแบบสะเปะสะปะไม่มีทิศทาง และไม่มีการกำกับดูแล จึงอาจก่อปัญหาบางอย่างได้ เช่น การปล่อยไขมันในท่อน้ำทิ้ง การปล่อยมลพิษในด้านต่างๆ เช่น มลพิษทางเสียง ฯลฯ mixed-use แบบใหม่ จึงเป็น mixed-use ที่มีการกำกับดูแลและมีการ ‘เลือก’ โดยผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ ว่าจะให้พื้นที่ของตนมีอะไรอยู่ในนั้นบ้าง ซึ่งเป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยสมัยใหม่นั่นเอง

 

Shared Space

 

เมื่อมี mixed-use แล้ว ก็ต้องมีการ ‘แบ่งปัน’ กัน

ที่จริงแล้ว คำว่า Shared Space มีทั้งความหมายกว้างและความหมายลึกนะครับ ความหมายกว้างก็หมายถึงการจัดการให้มีการแบ่งปันพื้นที่ต่างๆ มากขึ้น ไม่ได้ถูกครอบครองโดยอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งมากกว่ากัน เช่น พื้นที่ถนนที่ทางเท้าไม่ได้ถูก ‘เบียดขับ’ จนเหลือเล็กนิดเดียวเพราะเอาพื้นที่ไปให้รถยนต์หมด

Shared Space ในด้านที่เกี่ยวกับการจราจรในเมือง จึงคือการ ‘เบลอ’ หรือลดความแตกต่างระหว่างพื้นที่สำหรับรถยนต์กับคนเดินเท้าและจักรยาน พูดง่ายๆ ก็คือ ทำให้ถนนเกิดอาการ ‘มั่ว’ นั่นเอง

ฟังแค่นี้ คุณอาจคิดถึงเมืองในอินเดียหรือเมืองเล็กตามต่างจังหวัด ที่บนถนนอาจมีได้ทั้งรถยนต์ รถสามล้อ จักรยาน คนเดิน ไปจนถึงวัวหรือสัตว์เลี้ยง ซึ่งส่วนใหญ่ในจินตนาการ ล้วนแต่เป็นเมืองแบบตะวันออก แต่รูปแบบการจราจรแบบนี้ กลับกลายมาเป็นแนวโน้มใหม่ในการจัดการพื้นที่ในเมืองแบบตะวันตก ด้วยปรัชญาที่ว่า

ถ้าเราเอาป้ายสัญญาณทั้งหลายออกไปจากท้องถนน ไม่ต้องให้พื้นที่บนถนนถูกกีดกั้นว่าตรงไหนสำหรับรถยนต์ ตรงไหนสำหรับคน ตรงไหนเป็นเลนจักรยาน ตรงไหนเป็นทางเท้า สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ผู้ใช้พื้นที่ถนนตรงนั้น ก็จะถูกควบคุมให้มีระเบียบไปได้เอง ด้วยปฏิสัมพันธ์ของความเป็นมนุษย์อย่างเป็นธรรมชาติ

ตัวอย่างของ Shared Space ที่เห็นได้ชัดที่สุด ก็คือเมืองอัมสเตอร์ดัม ที่ในบางจุดมีการกำจัดไฟเขียวไฟแดงทิ้งไปด้วยความเชื่อที่ว่า เมื่อปลอดจากป้ายสัญญาณทั้งหลายแล้ว มนุษย์ก็จะเกิดความรับผิดชอบต่อสังคมขึ้นมาได้เอง โดยสร้างความ ‘เท่าเทียม’ กันให้บังเกิดขึ้นกับยานพาหนะทุกชนิด

แต่แน่นอน เรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นได้จริง ผู้คนในเมืองก็ต้องมีฉันทามติร่วมกัน และผ่านการเรียนรู้ในเรื่องสิทธิที่เข้มข้นยาวนานพอสมควร จึงจะเข้าใจได้ว่า รถยนต์ไม่ได้มีสิทธิมากกว่าคนหรือจักรยาน (เหมือนที่ในบางเมืองเป็น เพราะคิดว่ารถยนต์คือเครื่องแสดง ‘สถานะ’ หรือ ‘ฐานันดร’ ของคนในสังคม) และคนก็ไม่ได้มีสิทธิมากกว่ารถยนต์ ที่จะอ้อยสร้อยใช้พื้นที่บนถนนโดยไม่เกรงใจรถ

ฟังดูแล้ว หลายคนอาจคิดว่า Shared Space น่าจะเป็นสภาพการณ์ในอุดมคติที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นจริง หรือถ้าเกิดขึ้นจริงก็คงสร้างภาวะ ‘อนาธิปไตย’ บนถนนให้เปล่าๆ แต่จริงๆ แล้วเมืองแบบตะวันตกหลายแห่งได้สร้าง Shared Space ขึ้นมาอย่างเช่นในเมืองไบรท์ตันของอังกฤษ กับถนนชื่อ New Road ทั้งเส้น ซึ่งหลังจากการเปลี่ยนแปลงแล้ว ก็ทำให้รถแล่นผ่านถนนเส้นนี้น้อยลง 93% แต่มีจักรยานและคนเดินถนนเพิ่มขึ้น 93% และ 162% ตามลำดับ

ในอเมริกาก็มีเมืองที่ใช้ระบบ Shared Space เช่นกัน อย่างที่เวสต์ปาล์มบีช ในฟลอริดา มีการรื้อป้ายจราจรและป้ายถนนออกทั้งหมด เพื่อให้คนเดินถนนได้ ‘ชิดใกล้’ กับรถยนต์มากขึ้น บางคนอาจคิดว่าทำแบบนี้จะทำให้เกิดอุบัติเหตุ แต่ผลกลับปรากฏว่า ทำให้รถยนต์แล่นช้าลง และเกิดอุบัติเหตุน้อยลง ที่สำคัญก็คือ ทำให้ ‘เวลา’ ที่ใช้ในการเดินทางเฉลี่ยแล้วลดลงด้วย

Shared Space ยังเกิดขึ้นในอีกหลายที่ เช่น เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ สวีเดน และออสเตรเลีย ซึ่งล้วนแล้วแต่ให้ผลดีแก่ส่วนรวมทั้งสิ้น

 

Walkability

 

คำนี้ก็คือ ‘ความสามารถในการเดิน’ หรือเป็น ‘เมืองเดินได้’ เป็นดัชนีบ่งชี้ว่า เมืองนั้นเปิดโอกาสให้คนสามารถ ‘เดิน’ ได้อย่างสะดวกมากน้อยแค่ไหนด้วยการสร้างสาธารณูปโภคที่เหมาะสมกับการเดิน เช่น มีทางเท้ากว้าง มีต้นไม้ใหญ่ ทางเดินไม่ขรุขระกระเดิดหรือมีน้ำกระเซ็นไหลเปื้อนเปรอะ

Walkability กลายเป็นดัชนีชี้วัด ‘ความสมัยใหม่’ ของเมือง เป็นการบอกว่า มนุษย์ควรหันกลับมาให้ความสำคัญกับการ ‘เดิน’ ซึ่งเป็นกิจกรรมธรรมดาๆ ของมนุษย์แบบดั้งเดิมที่สุด โดยเมืองที่ส่งเสริมให้คนเดินได้ แปลว่าจะต้องเป็นเมืองที่มีรูปแบบของ mixed-use Development มี Human Scale รวมถึงมี Shared Space มากในระดับหนึ่ง

ปัจจุบันนี้ Walkability เป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งที่ใช้ประเมินคุณภาพของเมือง การวางผังเมืองและชุมชนต้องให้ความสำคัญกับการสัญจรด้วยการเดิน และแม้กระทั่งการ ‘เดินเล่น’ ซึ่งเป็นเครื่องบ่งบอกถึงสุขภาวะของคนที่อยู่ในเมืองนั้นๆ

 

Slow City

 

ถ้าดูสิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองแบบตะวันตก เราจะเห็นว่า แนวโน้มสำคัญไม่ว่าจะเป็นการผสมผสานพื้นที่ การเบลอพื้นที่จราจร หรือการให้ความสำคัญกับการเดินนั้น ล้วนเป็นองค์ประกอบของเมืองแบบหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า Slow City หรือเมืองเชื่องช้า

จริงๆ แล้ว เมืองเชื่องช้ามีต้นกำเนิดจากอิตาลี มีชื่อเรียกเป็นภาษาอิตาเลียนว่า Cittaslow ซึ่งก็เริ่มมาจากขบวนการ Slow Food นั่นเอง เมืองเชื่องช้ามีเป้าหมายในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตในเมือง และส่งเสริมความแตกต่างหลากหลาย ไม่จำเป็นต้องมีอะไรที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด แต่วัฒนธรรมที่แตกต่างสามารถอยู่ร่วมกันได้ในเมือง

จริงๆ แล้วโดยนิยาม เมืองเชื่องช้าไม่ควรมีประชากรมากเกินกว่า 50,000 คน แต่ก็มีการประยุกต์หลักการของเมืองเชื่องช้าไปใช้ในเมืองใหญ่หลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นบูดาเปสต์, เซนต์หลุยส์, นิวออร์ลีนส์, ดีทรอยต์ หรือแม้แต่เมืองบิ๊กเบิ้มอย่างลอนดอนก็ยังมีขบวนการ Slowlondon ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว เมืองช้าจะไม่มีวัตถุประสงค์เป็นรูปธรรมแน่ชัด แต่เปิดโอกาสให้คนที่แตกต่างหลากหลายได้วิสาสะสนทนา เปิดพื้นที่คนได้ค่อยๆ ครุ่นคิด และลงมือทำบางสิ่งที่ตัวเองเชื่อ และทำสิ่งต่างๆ ให้ช้าลง

ส่วนใหญ่แล้ว ‘เมืองเชื่องช้า’ จะเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับ ‘เมืองเงียบ’ ด้วย เพราะความแช่มช้าก็ทำให้เกิดความนิ่งเงียบ ไม่รีบร้อนเร็วรี่แออัด

 

ที่ว่ามาทั้งหมด เป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของแนวโน้มการพัฒนาเมือง ที่จะพาเราไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า

คำถามก็คือ – คุณว่าเมืองแบบที่ว่ามานี้จะเกิดขึ้นได้ไหม, กับดินแดนแห่งนี้

 

[/et_pb_text][et_pb_text _builder_version=”3.0.106″ background_layout=”light” background_color=”#eaeaea”]

ในไทย ก็มีโครงการส่งเสริมการเดินที่เรียกว่า GoodWalk Thailand อยู่ (ดูได้ที่ goodwalk.org) เป็นโครงการของศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UddC) ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดำเนินการศึกษาตั้งแต่กลางปี 2557 โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้เกิดการเดินของผู้คนในพื้นที่เมืองในชีวิตประจำวัน

GoodWalk เป็นการศึกษา ‘การเดินได้’ ของพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อคัดเลือกพื้นที่ตัวอย่างสำหรับการศึกษาเชิงลึก เพื่อพัฒนาดัชนีศักยภาพการเดินเท้า รวมไปถึงเสนอแนวทางการออกแบบและปรับปรุงพื้นที่ตัวอย่าง เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

[/et_pb_text][/et_pb_column][/et_pb_row][/et_pb_section]

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save