fbpx
การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความรุนแรงกับเมือง: ภาพสะท้อนจากลาตินอเมริกา

การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความรุนแรงกับเมือง: ภาพสะท้อนจากลาตินอเมริกา

ดังที่ได้กล่าวในบทความครั้งที่แล้วว่า เราไม่สามารถจะเข้าใจมิติต่างๆ ของความรุนแรงได้ถ้าปราศจากความรู้ในเรื่องของอำนาจ เพราะอำนาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดความรุนแรง และยังเป็นเครื่องบ่งชี้ในสังคมว่าใครที่สามารถจะใช้ความรุนแรงได้และใช้กับใคร

การต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจระหว่างรัฐ กองกำลังกบฏฝ่ายซ้าย และกองกำลังกึ่งทหารในโคลอมเบียก็คือความขัดแย้งในการช่วงชิงความชอบธรรมในการใช้อำนาจบังคับให้สังคมยอมเชื่อฟังและปฏิบัติตามโดยมีเมืองหรือนคร (city) เป็นขอบเขตที่กำหนดพื้นที่ของการต่อสู้นี้ ภูมิทัศน์ของเมืองซึ่งประกอบไปโดยโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ การออกแบบ และสถาปัตยกรรมสามารถสะท้อนพลังอำนาจของการต่อสู้และเปลี่ยนผ่านของอำนาจ[1] ความรุนแรงเชิงโครงสร้างมีที่มาส่วนหนึ่งจากการที่ความเจริญหรือการพัฒนาไปกระจุกอยู่แต่เพียงบางพื้นที่ หรือแม้กระทั่งในระยะเวลาที่เมืองกำลังพัฒนา การเปลี่ยนผ่านของอำนาจ อัตลักษณ์ หรือบทบาทของผู้คนในเมืองอาจนำไปสู่ความขัดแย้งที่บานปลายจนกลายเป็นการใช้กำลัง

การศึกษาเรื่องความรุนแรงทั้งที่เป็นส่วนบุคคลหรือในเชิงโครงสร้างในยามที่ปราศจากศึกสงคราม ส่วนใหญ่เป็นการมองภาพความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเขตเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ที่เกิดการพัฒนาเมืองอย่างเร่งรีบขณะเดียวกันปัญหาอาชญากรรมต่างๆ ก็เพิ่มตามไปด้วย ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในแต่ละเมืองนั้น ถึงแม้จะมีความหลากหลายทั้งในสาเหตุและรูปแบบ อาทิ ปัญหาอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในเมืองใหญ่ๆ ในสหรัฐอเมริกา มักเกี่ยวเนื่องกับปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ[2] ขณะที่ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเม็กซิโกพัวพันกับแก๊งค้ายาเสพติด แต่ก็มีจุดร่วมบางประการที่สามารถเป็นดัชนีชี้วัดความรุนแรงได้ อาทิ ความเหลื่อมล้ำ การถูกเพิกเฉยไม่ใส่ใจพัฒนา[3] ดังนั้น Robinson[4] เสนอว่าการศึกษาเรื่องความรุนแรงในเมืองควรระมัดระวังในการหยิบยกรูปแบบของความรุนแรงในเมืองใดเมืองหนึ่งเป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาเปรียบเทียบ โดยไม่คำนึงถึงบริบทความแตกต่างของเมืองที่นำมาศึกษา

งานศึกษาเรื่องความรุนแรงในเขตเมืองส่วนใหญ่ใช้แนวทางสัญญาประชาคมเป็นกรอบในการวิเคราะห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงของการเปลี่ยนผ่านที่ความรุนแรงผุดขึ้นเนื่องจากเกิดสุญญากาศของอำนาจ รวมทั้งรัฐไม่สามารถที่จะผูกขาดการใช้กำลังเอาไว้ได้

อย่างไรก็ตาม กรอบการวิเคราะห์ดังกล่าวถูกมองว่าขาดมุมมองทางด้านประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเมือง รวมทั้งในประเด็นที่ว่าความรุนแรงอาจเป็นสิ่งที่ต่อเนื่องของโครงสร้างอำนาจที่มีอยู่มาก่อนการเปลี่ยนผ่านนั้น ดังนั้นการเริ่มต้นศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยต่างๆ ที่อธิบายถึงความแออัดของเมือง อัตราการจ้างงาน รวมทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อาจช่วยอธิบายว่าทำไมความรุนแรงถึงได้กำเนิดขึ้นในเมือง ทั้งๆ ที่ไม่มีสงครามการสู้รบ โดยผ่านการวิเคราะห์ถึงนโยบายและผลลัพธ์ของการพัฒนาเมืองที่อาจฉายภาพให้เห็นการต่อสู้ของอำนาจ โครงสร้างความรุนแรงที่ตามมา ทว่าแนวทางการศึกษาดังกล่าวก็ยังละเลยลักษณะเฉพาะทางสังคมการเมืองในแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะกระบวนการต่อรองทางการเมืองในการริเริ่มและดำเนินนโยบายที่ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ความแตกต่างจนนำไปสู่ความรุนแรงในท้ายที่สุด

การวิเคราะห์ความรุนแรงในเขตเมืองในช่วงการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยผ่านแนวคิดสัญญาประชาคมนั้น เน้นการศึกษาถึงบทบาทของกลุ่มความรุนแรงต่างๆ ที่ขึ้นมามีอำนาจในขณะที่รัฐไม่สามารถผูกขาดความชอบธรรมในการปกครองไว้ได้โดยลำพัง และผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงในช่วงดังกล่าวต่อความรุนแรงเชิงโครงสร้างโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองที่มีความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาเป็นอย่างมาก ทว่ากลุ่มความรุนแรงไม่ว่ากองกำลังทหารนอกกฎหมายหรือแก๊งอาชญากรรมอื่นๆ ซึ่งติดอาวุธและใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือหลักในการได้มาซึ่งอำนาจ กลับไม่สูญสลายไป แม้กระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยจะสิ้นสุดลงแล้วก็ตาม กอปรกับความไร้ประสิทธิภาพของรัฐในการดูแลรักษาความปลอดภัย ส่งผลให้ความชอบธรรมของรัฐเป็นที่กังขาในสายตาของประชาชน[5] นโยบายต่างๆ ของรัฐไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปองค์กรตำรวจ ความพยายามในการสลายกลุ่มติดอาวุธต่างๆ ถูกตั้งข้อสงสัยในความสามารถของรัฐที่จะดำเนินการให้สิ่งเหล่านี้ประสบความสำเร็จ ยิ่งไปกว่านั้นบางครั้งความเคลือบแคลงเหล่านี้ก็แปรสภาพเป็นความรุนแรงเสียเอง

ช่วงของการเปลี่ยนผ่านดังกล่าวได้ก่อให้เกิดความหวาดระแวงในสังคมว่าความรุนแรงจะกลายเป็นสิ่งที่ยอมรับได้โดยอ้างว่าเพื่อใช้ในการป้องกันตัวเองหรือเอาตัวรอด กองกำลังติดอาวุธต่างๆ แม้จะประกาศยอมสลายตัวแล้ว กลับแปรสภาพกลายเป็นแก๊งอาชญากรรมแทน ปืนกลายเป็นสิ่งที่หาซื้อได้ง่ายในตลาดมืด[6] ความเชื่อมโยงระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับกองกำลังติดอาวุธนอกกฎหมายรวมถึงแก๊งพ่อค้ายาเสพติด เร่งให้ความรุนแรงในเขตเมืองขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ตำรวจเองก็ถูกตั้งข้อสงสัยในการปฏิบัติงาน[7] กระบวนการยุติธรรมถูกตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพในการตัดสินลงโทษผู้กระทำผิด รวมทั้งปัญหาการคอร์รัปชัน ในทางกลับกันการเอาจริงเอาจังในการใช้กำลังปราบปรามกลุ่มติดอาวุธนอกกฎหมายโดยรัฐ ก็ถูกมองว่าเป็นการขยายขอบเขตของความรุนแรงให้เพิ่มสูงขึ้น[8]

ความไร้ประสิทธิภาพของรัฐหรือหน่วยงานท้องถิ่นในการบังคับใช้กฎหมายมีส่วนทำให้วัยรุ่นรวมตัวกันเป็นกลุ่มอาชญากรรม (youth gangs)[9] โดยเฉพาะในอเมริกากลาง เช่น ฮอนดูรัส หรือเอลซัลวาดอร์ แก๊งเยาวชนเหล่านี้มีการกำหนดพื้นที่อิทธิพลอย่างชัดเจน การรวมกลุ่มเป็นแก๊งของพวกเขาสร้างจิตสำนึกความมีตัวตน การยอมรับจากสมาชิกของกลุ่ม แตกต่างไปจากการไร้ที่ยืนไม่มีตัวตนในสังคมปกติ สมาชิกส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นชายอายุระหว่าง 18-34 ปี[10] และมักจะลงเอยด้วยการเป็นเหยื่อของการฆาตกรรม ด้วยลักษณะการรวมกลุ่มที่แสดงออกถึงอัตลักษณ์ความเป็นชายอย่างเด่นชัด ผู้หญิงจึงมีสถานภาพเป็นรองหรือมีโอกาสได้รับการยอมรับค่อนข้างต่ำในการเป็นสมาชิกของกลุ่ม

หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ส่งผลต่อความรุนแรงคือขนาดและอัตราการเจริญเติบโตของเมือง โดยปกติเมืองขนาดใหญ่มักมีปัญหาความรุนแรงมากกว่าเมืองขนาดเล็ก อย่างไรก็ตามความรุนแรงไม่ได้เป็นผลโดยตรงจากขนาดของเมือง แต่เพราะการกระจุกตัวของความเจริญและการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียมในแต่ละพื้นที่ของเมืองใหญ่ที่มีมากกว่าที่กลายเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดความรุนแรง[11]

อนึ่งก็ยังมีข้อถกเถียงในที่มาของความสัมพันธ์ดังกล่าวว่าขึ้นอยู่กับความเป็นมาทางสังคม เศรษฐกิจการเมืองของแต่ละพื้นที่ การขยายตัวของเมืองอาจเป็นผลมาจากการอพยพของคนชนบทเข้ามาหางานทำในเมือง การย้ายถิ่นฐานระหว่างภูมิภาคหรือแม้กระทั่งการอพยพเข้ามาของชาวต่างชาติ ถ้าเมืองเติบโตอย่างเร่งรีบ มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดความรุนแรงเชิงโครงสร้างอันเป็นผลมาจากความยากจน ความอดอยาก หรือความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มสูงขึ้น ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ การช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเมืองมีโอกาสเกิดขึ้นต่ำกว่าในชนบท ทุนทางสังคม (social capital) ซึ่งเกิดจากการสั่งสมของความไว้เนื้อเชื่อใจ หลีกเลี่ยงการปะทะของคนที่อาศัยอยู่ในเมืองมีน้อยกว่าคนที่อาศัยอยู่ในชนบท แต่ก็มีงานศึกษาทางด้านมานุษยวิทยาจำนวนไม่น้อยอาทิ Koch[12] ที่พบว่ายังมีบางพื้นที่ที่สามารถผ่องถ่ายรูปแบบความสัมพันธ์ในชนบทให้เคลื่อนตามเมื่อมีการย้ายถิ่นเข้ามาอยู่ในเมือง ดังที่พบในชุมชนของผู้อพยพในกรุงลาปาซ เมืองหลวงของโบลิเวีย

ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นจากการขยายตัวของเมืองอย่างเร่งรีบมักจะเกิดในพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างแออัด ซอมซ่อ และยากในการเข้าถึงบริการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานต่างๆ พื้นที่ลักษณะนี้ถูกเรียกว่า ‘สลัม’ หรือ ‘ชุมชนแออัด’ และมีระดับของความรุนแรงอยู่ในอัตราที่สูงจนน่าวิตก ถ้าความยากจนมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดความรุนแรงขึ้นในเขตเมือง หมายความว่าในเขตที่มีคนรวยอาศัยอยู่ ระดับความรุนแรงจะน้อยกว่าโดยเปรียบเทียบ อันเป็นผลมาจากอิทธิพลและความสามารถของพวกเขาในการได้รับการปฏิบัติหรือเข้าถึงทรัพยากรของรัฐก่อน ประกอบกับความสามารถในการจัดจ้างบริการรักษาความปลอดภัยจากภาคเอกชน ทำให้คนรวยสามารถหลีกเลี่ยงปัญหาความรุนแรงได้ดีว่าคนจนที่ขาดทั้งโอกาสและเงิน ความเหลื่อมล้ำก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว[13]

นอกจากประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำ ความรุนแรงยังเป็นประเด็นศึกษาที่สำคัญในแนวความคิดเรื่องการพัฒนา[14] อย่างไรก็ตามสมมุติฐานที่ว่าความเป็นสมัยใหม่และการพัฒนาเศรษฐกิจมีส่วนช่วยลดปัญหาความรุนแรงนั้นยังเป็นที่ถกเถียงกันในวงวิชาการ แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมที่ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการควบคุมระดับราคาสินค้าไม่ให้พุ่งขึ้นสูงจนเกินไป มีข้อจำกัดในการแก้ไขความเหลื่อมล้ำ และในบางกรณีกลับมีส่วนในการขยายช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนให้เพิ่มมากขึ้น

Moncada[15] เสนอว่าการพัฒนาเมืองตามกระแสของระบบเศรษฐกิจโลกจะต้องคำนึงไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าว ในทางกลับกันรายงานของธนาคารโลกกลับระบุว่าการมีงานทำอันเนื่องมาจากการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจที่ใช้กลไกตลาดเสรี มีส่วนในการช่วยลดการใช้ความรุนแรง[16] ทั้งๆ ที่ในบางพื้นที่ความรุนแรงขยายตัวไปพร้อมๆ กับการพัฒนาตามแนวทางโลกาภิวัตน์ อาทิ ผู้หญิงจำนวนมากที่เป็นเหยื่อของความรุนแรงในเมือง Ciudad Juárez ที่ตั้งอยู่ชายแดนระหว่างเม็กซิโกกับสหรัฐอเมริกา ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่มีนายทุนสัญชาติอเมริกันเป็นเจ้าของ[17] ชี้ให้เห็นว่า ขณะที่ความรุนแรงถือเป็นอุปสรรคที่สำคัญในการพัฒนา กระบวนการพัฒนาเองกลับกลายเป็นเครื่องมือส่งเสริมให้เกิดความรุนแรงรูปแบบใหม่ๆ ในเขตเมืองโดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา

การขยายตัวของปัญหายาเสพติดมีความสัมพันธ์ต่อปัญหาความรุนแรงที่เพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในลาตินอเมริกา[18] แรงจูงใจและผลประโยชน์จากขบวนการค้ายาเสพติดมีส่วนสำคัญในการเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้ความรุนแรงขยายตัว ความขัดแย้งระหว่างแก๊งค้ายาเสพติดส่งผลให้บางพื้นที่ตกอยู่ในสภาวะเสมือนเป็นสมรภูมิรบ ผลตอบแทนที่มหาศาลทำให้แก๊งค้ายาเสพติดสามารถสร้างกองกำลังคุ้มครองผลประโยชน์ของตัวเองซึ่งมีศักยภาพไม่แตกต่างไปจากกองทัพของรัฐบาล[19] ขณะที่ความสูญเสียที่มีต่อบุคคลและสังคมอันเนื่องมาจากปัญหาความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดจะมากมายมหาศาล แต่เราก็ไม่สามารถที่จะปฏิเสธว่ารายได้จากการค้ายาเสพติดมีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ ผ่านการฟอกเงินนำไปสู่การลงทุนในสิ่งปลูกสร้างและสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานทางเศรษฐกิจต่างๆ เป็นจำนวนไม่น้อยที่มีผลต่อรูปแบบของการพัฒนาของเมืองถึงแม้จะเป็นเงินที่ไม่สะอาดก็ตาม[20]

ดังนั้นปัญหาความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดยังเป็นยาขมที่รัฐบาลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประเทศในลาตินอเมริกาที่เป็นผู้ผลิตและส่งออก หรือประเทศในยุโรปตะวันตกและสหรัฐอเมริกาในฐานะผู้บริโภครายใหญ่ยังต้องไปเผชิญไปอีกนาน


[1] Stephan Graham, Cities under siege: The new military urbanism. และ Eyal Weizman, Hollow land: Israels architecture of occupation (New York: Verso, 2012).

[2] Loïc Wacquant, Punishing the poor: The neoliberal government of social insecurity.

[3]Ailsa Winton, “Urban violence: A guide to the literature,” Environment and Urbanization 16, no. 2 (2004): 165-184.

[4] Jennifer Robinson, Ordinary cities: Between modernity and development (London: Routledge, 2006).

[5] Ailsa Winton, “Urban violence: A guide to the literature,”.

[6] Ibid.

[7] Ibid.

[8] Eduardo Moncada, “The politics of urban violence: Challenges for development in the global south,”.

[9] Dennis Rodgers and Robert Muggah, “Gangs as non-state armed groups: The Central American case,” Contemporary Security Policy 30, no. 2 (2009): 304.

[10] Ibid., 302.

[11] Robert Muggah and Kevin Savage, “Urban violence and humanitarian action: Engaging the fragile city,”.

[12] Julie Koch, “Collectivism or isolation? Gender relations in urban La Paz, Bolivia,” Bulletin of Latin American Research 25, no. 1 (2006): 43-62.

[13] Rowland Atkinson, “Padding the bunker: Strategies of middle-class disaffiliation and colonisation in the city,” Urban Studies 43, no. 4 (2006): 819-832.

[14] Caroline O. Moser and Cathy McIlwaine, “Latin American urban violence as a development concern: Towards a framework for violence reduction,” World Development 34, no. 1 (2006): 89-112.

[15] Eduardo Moncada, “The politics of urban violence: Challenges for development in the global south,”.

[16] World Bank. Violence in the city: Understanding and supporting community responses to urban violence.

[17] Melissa W. Wright, “From protest to politics: Sex work, women’s worth, and Ciudad Juárez modernity,” Annals of the Association of American Geographers 94, no. 2 (2004): 369-386. และ Ailsa Winton, “Urban violence: A guide to the literature,”.

[18] Ailsa Winton, “Urban violence: A guide to the literature,”.

[19] Ramiro Ceballos Melguizo and Francine Cronshaw, “The evolution of armed conflict in Medellín: An analysis of the major actors,” Latin American Perspectives 28, no. 1 (2001): 110-131.

[20] Gareth A. Jones and Dennis Rodgers, “The World Bank´s World Development Report 2011 on conflict, security and development: A critique through five vignettes,” Journal of International Development 23, no. 7 (2011): 980-995.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save