fbpx

เอาศอก ไม่เอาคืบ: โควิดยังไม่ไป มหาวิทยาลัยต้องคืนค่าเทอม(ให้มากกว่านี้)!

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยาวนานนับปีส่งผลกระทบต่อระบบการศึกษาเป็นวงกว้าง เมื่อการเรียนในห้องเรียนถูกแทนที่ด้วยการสอนออนไลน์ ผู้เรียนจำนวนหนึ่งจึงต้องแบกรับภาระทางเศรษฐกิจอยู่หลังหน้าจอ และภาระดังกล่าวอาจหนักอึ้งขึ้นไปอีกเมื่อมีค่าเทอมเต็มจำนวนทับถมลงไป ดังนั้นที่ผ่านมา นักศึกษาในหลายมหาวิทยาลัยจึงออกมาเรียกร้องให้เกิดการลดค่าเทอมเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายที่พวกเขามองว่าไม่สมเหตุสมผล

แต่การรณรงค์ลดค่าเทอมไม่ใช่เรื่องง่าย แม้จะมีการล่ารายชื่อนักศึกษาและผู้เห็นด้วยจำนวนมาก แต่หลายมหาวิทยาลัยยังยืนกรานไม่ลดหรือลดค่าเทอมไม่เกินจำนวนที่กำหนด ในบทความนี้ 101 จะพาผู้อ่านไปฟังเสียงนักศึกษาผู้เคยเรียกร้องการคืนค่าเทอมจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และอาจารย์ปรัชญาการศึกษา ผู้สนับสนุนการเรียกร้องการคืนค่าเทอม ว่าเหตุใดประเด็นดังกล่าวจึงสำคัญต่อผู้เรียนและสะท้อนให้เห็นปัญหาในระบบการศึกษาอย่างไร


การเรียนออนไลน์มีปัญหาอะไรบ้าง:
บรรยากาศการเรียน ค่าครองชีพ ครอบครัว หอพัก


การเรียนออนไลน์ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ นักศึกษาหลายคนต้องแบกรับความเครียดที่ใหญ่เกินกว่าตัว ตาล กิตติธร จันทร์โสภา นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะสังคมสงเคราะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าให้ฟังว่าครอบครัวของเพื่อนๆ เขาได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจค่อนข้างสาหัส “ผลกระทบจากสถานการณ์โควิดทำให้ผู้ปกครองเสียรายได้ พ่อแม่ของเพื่อนเราบางคนที่ทำอาชีพค้าขายก็ขายไม่ได้เหมือนแต่ก่อน การที่ต้องจ่ายค่าเทอมจำนวนเท่าเดิม ทำให้เขาต้องหาเงิน แต่ปัญหาก็คือเขาจะหาเงินจากไหน”

นอกจากการเงินของครอบครัวแล้ว นักศึกษาเองที่หารายได้ด้วยตนเองก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน “นักศึกษาหลายคนทำพาร์ตไทม์เป็นการหารายได้หลัก ธุรกิจที่นักศึกษาไปทำจำนวนมากเพราะได้ค่าตอบแทนดีอย่างร้านเหล้าก็ปิดช่วงโควิด ส่วนร้านอาหาร บางร้านที่ยังเปิดกิจการต่อก็ลดจำนวนพนักงานลงหรือจ้างผลัดวันกัน ถ้าโชคร้ายบางร้านก็เจ๊งหรือปิดชั่วคราว ซึ่งก็ทำให้นักศึกษาขาดรายได้”

ถัดมาคือปัญหาเรื่องการเรียนออนไลน์ซึ่งเป็นปัญหาที่หลายคนเจอร่วมกันอย่างเลี่ยงไม่ได้ “คุณภาพและบรรยากาศการเรียนเป็นปัญหาหนักของการเรียนออนไลน์ เพราะในช่วงโควิดมา ทั้งห้องเรียนและห้องสมุดก็ปิด เพื่อนก็ไม่ได้เจอ การเรียนลำบากขึ้นกว่าในห้องเรียน ทำให้นักศึกษาหลายคนเกรดตก”

ฝั่ง ขนุน สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรจน์ ก็เผยว่าเพื่อนๆ ของเขาหลายคนประสบปัญหาเรื่องการเรียนออนไลน์เช่นกัน “หนึ่งในปัญหาการเรียนออนไลน์ของเพื่อนเราคืออินเทอร์เน็ต แต่ก่อนเขาใช้อินเทอร์เน็ตแค่ในชีวิตส่วนตัว ซึ่งเพียงพอสำหรับชีวิตหนึ่งเดือน แต่พอเรียนออนไลน์พวกเขาต้องใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้น บางวิชาต้องเปิดกล้อง หากมีคนเรียนเยอะจะต้องใช้เน็ตมากขึ้น

“นอกจากนี้ยังมีปัญหายังมีปัญหาเรื่องอุปกรณ์ อาจารย์บางคนให้ใช้เครื่องหนึ่งเขียน เครื่องหนึ่งพิมพ์ อีกเครื่องหนึ่งต้องให้เห็นหน้าเรา ถ้าใครไม่มีอุปกรณ์สองเครื่องก็มีภาระเพิ่ม” ขนุนกล่าว “ปัญหาข้างต้นทำให้การเรียนออนไลน์นำไปสู่การเรียนรู้ที่ไม่สัมฤทธิ์ผล งานวิจัยด้านจิตวิทยาชิ้นหนึ่งบอกว่าเราไม่สามารถทำงานหรือเรียนในห้องนอนเรียนได้ เพราะสมองมันเซ็ตไว้แล้วว่าบ้านก็คือบ้าน ไม่ใช่ห้องเรียน อย่างบ้านเพื่อนเป็นร้านอาหารก็ไม่สามารถเปิดไมค์พูดคุยกับอาจารย์ได้เพราะทำกับข้าวเสียงดัง”

พ้นไปจากเรื่องการเรียนแล้ว ขนุนเล่าว่า “บางคนยังมีปัญหาเรื่องหอพัก เพราะมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒไม่มีหอของมหาวิทยาลัย มีแต่หอนอกของเอกชน ทำให้การต่อรองให้ลดราคาเป็นไปได้ยาก ค่าหอประมาณ 10,000-12,000 บาท แล้วนิสิตต้องแบกรับเอง หลายคนที่มาจากต่างจังหวัดก็ต้องทิ้งหอกลับบ้าน”

แม้จะไม่ใช่ผู้ประสบปัญหาโดยตรง แต่ทั้งตาลและขนุนต่างก็รู้สึกได้ถึงความลำบากของเพื่อนๆ จากผลกระทบของสภาวะโรคระบาด จึงตัดสินใจออกมาเรียกร้องให้เกิดการลดค่าเทอม “เราเห็นเพื่อนบ่นทั้งในไอจีและเฟซบุ๊กถึงปัญหาที่เจอช่วงโควิด และบ่นว่าทำไมมหาวิทยาลัยถึงไม่ลดค่าเทอมให้มากกว่านี้ เราจึงรวมตัวกับเพื่อนๆออกมาเรียกร้องการลดค่าเทอม” ตาลบอก


มหาวิทยาลัยต้องไม่หากำไรจากนักศึกษา


จาก ​FB: ขนุน – สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ Siraphob Phumphengphut


จากตารางเปรียบเทียบมาตรการเยียวยานักศึกษาภายใต้สถานการณ์โควิด-19 จะเห็นได้ว่ามหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ลดค่าเทอมเพียง 10-20% และเลือกช่วยเหลือเป็นทุนการศึกษาหรืออุปกรณ์การเรียนเฉพาะสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยของตาล คืนค่าเทอม 1,500 บาท (ซึ่งบางคณะอาจคืนค่าเทอมเพิ่มเติมจากที่มหาวิทยาลัยคืนให้) และมอบทุนการศึกษาสำหรับนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบจำนวน 5,000 บาท รวมถึงลดค่าหอพักในสังกัดมหาวิทยาลัยและเจรจากับหอนอก นอกจากนี้ห้องสมุดยังมีบริการจัดส่งหนังสือให้นักศึกษาใช้ทำรายงานได้ฟรี

ส่วนทางมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒของขนุน การช่วยเหลือไม่ได้มีหลักเกณฑ์เหมือนกันทุกคณะ เพราะอธิการบดีมีคำสั่งให้คณะประเมินเองว่าจะคืนค่าเทอมเท่าไหร่ แต่ละคณะจึงช่วยเหลือไม่เท่ากัน หรือบางคณะก็ไม่ช่วยเหลือเลย เท่าที่ขนุนสังเกตมีเพียงตั้งทุนการศึกษาและการให้/ยืมอุปกรณ์จากมหาวิทยาลัยเท่านั้นที่ทำคล้ายคลึงกัน “ตอนที่ผมไปคุยกับอธิการบดี เขาก็บอกว่ามหาวิทยาลัยให้อุปกรณ์การเรียนเลยนะ ก็นับเป็นการช่วยเหลือแล้ว” ขนุนกล่าว

ทั้งคู่ล้วนมีความเห็นตรงกันว่า สัดส่วนร้อยละของค่าเทอมที่มหาวิทยาลัยคืนให้แก่นักศึกษานั้นยังไม่เพียงพอที่จะกล่าวได้ว่าเป็นการ ‘ช่วยเหลือ’ นักศึกษาอย่างแท้จริง นำไปสู่ข้อเรียกร้องให้คืนค่าเทอมเพิ่มขึ้น โดยตาลเสนอว่าเขามองแยกออกเป็นสองฐานคิด

“ฐานคิดแรกคือการคืนงบประมาณของมหาวิทยาลัยในส่วนที่ไม่ได้ใช้ให้แก่นักศึกษา”

ฝ่ายขนุนเสริมขึ้นมาว่า “ในแต่ละมหาวิทยาลัยจะได้งบจากกระทรวงมา ถ้ามหาวิทยาลัยไม่ได้เปิดไฟ สำนักงานต่างๆ ของมหาวิทยาลัยไม่ได้เปิด ทั้งหมดนี้มันสามารถลดรายจ่ายได้ แล้วนำเงินที่เหลือเหล่านั้นเอาไปแจกจ่ายให้นิสิต มหาวิทยาลัยสามารถทำได้แต่เขาเลือกที่จะไม่ทำ”

อย่างไรก็ตาม ตาลก็มองว่าฐานคิดนี้ปัญหาตรงที่จำนวนเงินสุดท้ายที่นักศึกษาได้รับอาจไม่เพียงพอเหมือนเดิม “เพราะค่าใช้จ่ายดังกล่าวหากคำนวนแล้วจะตกเฉลี่ยคนละไม่ถึงพันบาท ซึ่งอาจเปรียบได้กับว่ามหาวิทยาลัยไม่ได้มอบความช่วยเหลืออะไรกับนักศึกษาเลย

“ดังนั้นเราจึงใช้ฐานคิดที่สอง คือ มหาวิทยาลัยมีพันธะต่อนักศึกษาและประชาชน แม้ว่ามหาวิทยาลัยอาจจะมีเป้าหมายเพื่อทำงานวิชาการและผลิตนักวิจัยออกมาพัฒนาประเทศ แต่มหาวิทยาลัยก็มีเป้าหมายเพื่อดูแลคนในประเทศด้วยกันเอง อย่างน้อยที่สุดก็คือตัวนักศึกษาเช่นกัน

“เพื่อนหลายคนคิดว่ามหาวิทยาลัยไม่ลดค่าเทอมเพราะพวกเขาจำเป็นต้องหากำไร แต่สำหรับผมแล้ว เป้าหมายของมหาวิทยาลัยและการศึกษาไม่ใช่การหากำไร แต่ต้องบรรลุเป้าหมายทางการศึกษาคือกระจายการศึกษาให้ได้มากที่สุด ในสถานการณ์ตอนนี้หรือแม้แต่ที่ผ่านมา คนสูญเสียโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาเพราะไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม คุณก็ควรแก้ปัญหาหากเขาเข้าถึงการศึกษาไม่ได้”

ตาลยังเสริมอีกว่า “มหาวิทยาลัยรัฐได้งบประมาณจากรัฐไปบริหาร ซึ่งนั่นแปลว่าเป้าหมายของคุณไม่ใช่การหากำไร หากคุณต้องการหากำไร คุณก็ไม่ต้องรับเงินจากรัฐ และขายคอร์สให้นักศึกษาอย่างเดียวพอ” 

ขนุนเองก็เห็นด้วยกับตาล “มหาวิทยาลัยควรเป็นพื้นที่ให้การศึกษาและแสวงหาความรู้ ไม่ใช่พื้นที่หากำไรจากนิสิต หากมหาวิทยาลัยเลือกแสวงหากำไร ปล่อยให้ทุนนิยมเข้ามาในมหาวิทยาลัย พอมันมากเกินไปจะเกิดปัญหาตามมา เช่นความเหลื่อมล้ำ การขาดโอกาสเข้าถึงการศึกษาระดับปริญญาตรี เราไม่ได้บอกว่าทุกคนต้องศึกษาป.ตรี แต่ทุกคนควรมีสิทธิได้เรียน”

ฝ่ายบุคลากรของมหาวิทยาลัยเช่นอาจารย์ ธีรภัทร รื่นศิริ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ ปรัชญา และวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เสนอข้อถกเถียงต่อเป้าหมายในการหากำไรของมหาวิทยาลัย ว่ามหาวิทยาลัยนั้นเป็นของประชาชน ทั้งในทางกฎหมายและอุดมคติ โดยยกกรณีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาประกอบ “ในความเป็นจริง มหาวิทยาลัยสามารถแสวงหากำไรได้ แต่มหาวิทยาลัยที่ชื่อธรรมศาสตร์ต้องไม่แสวงหากำไร การแสวงหากำไรนั้นทำเพื่อเจ้าของ แต่ธรรมศาสตร์เป็นของประชาชนคนไทยตามกฎหมาย เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ (Public University) ดังนั้นมันก็ต้องทำตามความต้องการประชาชนในประเทศ

“ผมคิดว่า เจ้าของมหาวิทยาลัยหรือประชาชนไม่ต้องการให้มหาวิทยาลัยแสวงหากำไร แต่ต้องการให้พัฒนาบุคคลและวิจัย หากมหาวิทยาลัยมุ่งแสวงหากำไรมากกว่าพัฒนาการศึกษา คนส่วนใหญ่คงรู้สึกไม่พอใจเพราะเขาไม่ทำหน้าที่ที่ประชาชนคาดหวัง”

ธีรภัทรวิพากษ์เพิ่มเติมว่า “บางคนอาจจะแย้งว่า รัฐบาลกดดันมหาวิทยาลัยให้แสวงหากำไรเพราะต้องเลี้ยงตัวเอง แม้จะเป็นเรื่องจริง แต่ผมคิดว่าการที่รัฐพยายามกดดันให้มหาวิทยาต้องแสวงหากำไรเพื่อเลี้ยงตัวเองนั้นเปรียบเหมือนกับการที่บริษัทตัดหางแผนกพัฒนาบุคคลให้รับผิดชอบตัวเอง ปัญหาคือแทนที่ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยจะยืนหยัดว่าการกระทำดังกล่าวนั้นไม่ถูกต้อง กลับเออออกับแรงกดดันของรัฐ ซึ่งมันส่งผลต่อการไม่คืนค่าเทอมด้วย”

ด้วยเหตุนี้ ธีรภัทรจึงสรุปว่า  “หากเป้าหมายหลักของมหาวิทยาลัยไม่ใช่การแสวงหากำไร มหาวิทยาลัยจะต้องคิดว่าตราบใดที่ทำหน้าที่พัฒนาบุคลากรและวิจัยได้ จะขาดงบดุลเท่าไหร่ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเด็กไม่สามารถเรียนได้ เพราะว่าต้องไปทำงานพิเศษสามงานเพื่อหาเงินมาจ่ายค่าเทอม มหาวิทยาลัยก็ไม่อาจนับว่าสามารถบรรลุวัตถุประสงค์หลักของตัวเองคือพัฒนาบุคลากร”

“เรื่องค่าเทอมเหมือนเป็นเรื่องเล็กๆ แต่มันมีผลกับทุกอย่าง รวมไปถึงอนาคตของพวกเรา” ขนุนกล่าว “เพราะหากเราเรียนออนไลน์แต่เรียนแบบไม่มีคุณภาพ เราก็จบไปเป็นแรงงานที่ไม่มีคุณภาพด้วย ซึ่งถ้ารัฐใส่ใจจะไม่ปล่อยผ่านปัญหานี้”

ถ้าเรานับว่ามหาวิทยาลัย โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยของรัฐมีประชาชนเป็นเจ้าของ นักศึกษาก็อาจถือได้ว่าเป็นหนึ่งในเจ้าของมหาวิทยาลัยไม่ต่างกัน แต่ที่มากไปกว่านั้น คือนักศึกษายังเป็นหนึ่งใน “ผู้สร้างบรรยากาศทางวิชาการให้กับมหาวิทยาลัย” ในทัศนะของตาลด้วย

“อาจารย์หรือนักวิจัยมาใช้ประโยชน์จากการที่นักศึกษามาเรียน เช่น การพูดคุยแลกเปลี่ยนกับนักศึกษาอาจทำให้คิดหัวข้อวิจัยได้ บรรยากาศทางการศึกษามันส่งเสริมให้งานวิชาการไปต่อได้ ดังนั้นเมื่อนักศึกษามีปัญหา เราควรดูแลนักศึกษา” ตาลเสนอ และธีรภัทรก็เห็นด้วย

“มหาวิทยาลัยไม่ใช่แค่เป็นพื้นที่ของอาจารย์ นักวิจัยอย่างเดียว แต่เป็นพื้นที่ที่ทำงานร่วมกันของหลายๆ คน ความกระตือรือร้น ความใส่ใจ พลังงาน และอื่นๆของนักศึกษาเป็นหนึ่งในปัจจัยต่อความสำเร็จของอาจารย์ เป็นปัจจัยความสำเร็จของคนอื่นๆ แน่นอน

“นักศึกษาไม่ใช่แค่คนที่อาจารย์สอน แต่เป็นแรงขับดันอาจารย์ เป็นบรรยากาศ เป็นผู้สร้างวัฒนธรรมให้กับอาจารย์ด้วย มันไม่ใช่การถ่ายทอดทางเดียว มันเป็นการสร้างเสริมบรรยากาศให้กันและกัน และเมื่ออาจารย์มีไอเดียอะไรบางอย่าง คนแรกที่จะได้ยินคือนักศึกษา” ธีรภัทรกล่าว


ทุนการศึกษา: เส้นทางพิสูจน์ความจน
และคนลำบากไม่ได้ทุน


จาก FB: Thammasat Today


แม้มหาวิทยาลัยบางแห่งจะเลือกมอบทุนการศึกษาให้ผู้ได้รับผลกระทบแทนการคืนค่าเทอมเท่ากับที่นักศึกษาเรียกร้อง เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีทุนการศึกษาสำหรับปริญญาตรีให้ทั้งหมด 2,000 ทุน ครึ่งหนึ่งเป็นทุนจำนวน 5,000 บาท และอีกครึ่งนึ่งเป็นทุน 2,500 บาท โดยมีมาตรการลดค่าเทอมเพียง 1,500 บาท จากงบประมาณที่มหาวิทยาลัยไม่ได้ใช้ 700 บาทและบวกเพิ่ม 800 บาท แต่หลายคนกลับมองว่าการมอบทุนการศึกษาเป็นทางออกที่ไปไม่ถึงนักศึกษาที่ลำบากจริงๆ

ตาลวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการขอรับทุนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่า “เราได้ยินปากต่อปากมาว่าในการขอทุนการศึกษาของมหาวิทยาลัย ผู้ขอทุนต้องเขียนรายงานอธิบายความลำบาก ซึ่งเป็นระบบพิสูจน์ความจน หลังจากนั้นมหาวิทยาลัยจะเรียกเข้ามาสัมภาษณ์และให้แต่ละคนอธิบายให้เพื่อนฟังว่าตัวเองจนยังไงจนแค่ไหน เคยได้ยินว่ามีคำถามว่าคนในห้องคิดว่าตัวเองลำบากกว่าคนอื่นหรือไม่ ทำให้นักศึกษาต้องชั่งตวงตัวเอง”

ดังนั้น “การให้ทุนการศึกษามีปัญหาหลายอย่าง เช่นคนลำบากจริงไม่ได้รับ” ตาลกล่าว

ส่วนมหาวิทยาลัยศรีนครรินทรวิโรฒที่ขนุนกำลังศึกษา ทุนการศึกษาเป็นส่วนที่แต่ละคณะดูแล ซึ่งเขารู้สึกว่า “ทุนการศึกษานั้นมีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนนักศึกษา”

ในประเด็นนี้ ธีรภัทรได้ชวนมองเบื้องหลังเหตุผลของมหาวิทยาลัยที่คิดว่าการมอบทุนการศึกษาจะช่วยเหลือนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบจริงๆ ว่า ข้อแรก มหาวิทยาลัยเชื่อว่าตนเองสามารถจำแนกแยกแยะผลกระทบได้อย่างแม่นยำ ทั้งที่เป็นไปได้ว่า “คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดอาจต้องทำงานพิเศษเพิ่มจนไม่มีเวลามาสมัครทุน ไม่มีเวลามาให้สัมภาษณ์อธิบายความเดือดร้อน ไม่มีเวลาพอมานั่งอธิบายในแบบฟอร์มว่าตัวเองเดือดร้อนยังไง”

เหตุผลข้อสอง คือ มหาวิทยาลัยเชื่อว่าตนเองสามารถจำแนกแยกแยะผลกระทบได้อย่างคุ้มค่า ธีรภัทรเผยว่าในการคัดเลือกนักศึกษาผู้รับทุน มหาวิทยาลัยและคณะให้พนักงานและอาจารย์มาทำงานในกระบวนการดังกล่าวฟรีๆ 6-8 ชั่วโมง “ราวกับว่าคนเหล่านี้ไม่ได้เดือดร้อนหรือต้องหารายได้เพิ่ม” ซึ่งในอีกด้านหนึ่ง การที่อาจารย์ต้องสละเวลาไปกับการคัดเลือกทุน ก็ดึงเวลาที่อาจารย์คนหนึ่งจะทำผลงานทางวิชาการไปด้วย ซึ่งต้นทุนค่าเสียโอกาสของคนทำงานนี้ไม่เคยถูกพูดถึงในเรื่องทุนการศึกษา

ส่วนเหตุผลข้อสุดท้าย คือ การไม่คำนึงถึงความเป็นจริงว่าหลังจากช่วยเหลือทุกคนแล้ว จะสงเคราะห์บางคนเพิ่มเติมก็ได้ ประเด็นอาจมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ แต่ถ้าผู้บริหารล้มเหลวในการจัดการช่วยเหลือนักศึกษาด้วยก็ควรแสดงความขอโทษอย่างจริงใจ

“ผู้บริหารต้องยอมรับว่านี่คือความล้มเหลวของตน ไม่ใช่จุดสิ้นสุดของความกรุณาที่ตนมี” ธีรภัทรย้ำ


การต่อสู้ของนักศึกษา: สะท้อนภาพเจ้าของมหาวิทยาลัยที่ไร้อำนาจต่อรอง


จาก FB: Thammasat Today


ในปีที่แล้ว (2563) ตาลและเพื่อนๆ ได้เรียกร้องให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ลดค่าเทอมเพิ่มขึ้นจาก 1,500 บาทเป็น 30% จากค่าเทอม “ตัวเลขนี้ตั้งมาจากกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่เคยเรียกร้อง 30% เพราะทั้งสองมหาวิทยาลัยมีค่าเทอมที่ใกล้เคียงกัน แต่แน่นอนว่าเราก็ต้องการให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เช่น 50-60%

“ก่อนจะตั้งแคมเปญ เราก็เห็นเพื่อนบ่นลงโซเชียลมีเดียว่าจ่ายค่าเทอมคืนแค่ 1,500 เองเหรอ ทั้งที่บางคณะค่าเทอมแพงมาก เสียค่าอุปกรณ์หรือค่าห้องทดลองแต่ก็ไม่ได้ใช้มัน ดังนั้นถ้ามหาวิทยาลัยไม่จ่ายคืนให้ทุกคณะ 30% ก็ควรจ่ายให้คณะที่ค่าเทอมแพงให้ได้มากที่สุด ซึ่งบางคณะก็คืนค่าเทอมให้เป็นพิเศษตามคำขอ แต่บางคณะก็จ่ายเท่าเดิม

แต่จากการเคลื่อนไหวที่ผ่านมา ตาลพบว่า “ในส่วนของกระบวนการเรื่องงบประมาณ เราแทบจะต่อรองอะไรไม่ได้เลย เพราะเราไม่สามารถรับรู้หรือสอบถามงบประมาณได้ มันแปลว่านักศึกษาไม่มีอำนาจอะไรเลย ถ้านักศึกษามีสิทธิเลือกผู้บริหาร พวกเขาจะทำในสิ่งที่นักศึกษาเรียกร้อง แต่ในเมื่อความเป็นจริง ตำแหน่งเหล่านี้แต่งตั้งมาจากสภามหาวิทยาลัย มันก็ไม่มีกลไกตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจที่นักศึกษาจะมีส่วนร่วมได้เลย”

เมื่อเราถามถึงเสียงโต้กลับเหล่านักศึกษาอย่าง “ได้คืบจะเอาศอก” ที่ตาลได้รับ ตาลเลือกตอบกลับว่า “เรามักจะได้รับคำถามบ่อยๆ ว่าข้อเรียกร้องคืนค่าเทอม 30 % มาจากฐานคิดไหน เราเองไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจำนวนเงิน 1,500 บาทที่มหาวิทยาลัยคืนให้มาจากฐานคิดไหนเหมือนกัน จำนวนเงินดังกล่าวเป็นจำนวนที่มหาวิทยาลัยกำหนดขึ้นมาเองโดยปราศจากการมีส่วนรวมของนักศึกษา ซึ่งหากจะกล่าวหาเราว่า ‘ได้คืบจะเอาศอก’ นั้น มันต้องพูดในฐานที่นักศึกษาได้มีส่วนรวมในกระบวนการตัดสินใจเรื่องลดค่าเทอมแล้ว”

ฝ่ายขนุนที่เรียกร้องให้ลดค่าเทอม 55% หรือเปิดเรียนอย่างมีมาตรการรับมือในปีที่แล้ว (เทอม 2 ปีการศึกษา 2562 หรือต้นปี 2563) แม้จะเปลี่ยนข้อเรียกร้องเป็นลดค่าเทอม 35-45% แต่เขาก็ยังยืนยันหนักแน่นว่า “อยากได้ศอกแต่แรกแล้ว ไม่ได้จะเอาคืบ”

สำหรับประเด็นสิทธิในการมีส่วนร่วมรับรู้และตัดสินใจเกี่ยวกับงบประมาณของมหาวิทยาลัย ธีรภัทรให้ความเห็นว่า “ในความเข้าใจของผม นักศึกษามีสิทธิรับรู้งบประมาณของมหาวิทยาลัยอยู่แล้วหากเป็นมหาวิทยาลัยรัฐที่ต้องรายงานกระทรวง มันเป็นเรื่องที่คุณสามารถค้นหาบนอินเทอร์เน็ตได้ แต่ปัญหาคือระหว่างที่ผมหาข้อมูล ผมพบว่าบางลิงก์ขึ้นชื่อคณะหนึ่ง พอคลิกเข้าไปกลายเป็นข้อมูลของอีกคณะหนึ่ง มันคือปัญหาที่ควรแก้ไขอย่างยิ่ง ทุกคนควรจะมีสิทธิเข้าถึงเรื่องพวกนี้ได้” และควรมีสิทธิเข้าไปรับฟังหรือแสดงความคิดเห็นได้ เพราะการมีส่วนร่วมจะนำมาซึ่งการช่วยเหลือและให้ประโยชน์แก่นักศึกษาทุกคน ไม่ใช่การเล่นพรรคเล่นพวกที่ให้ประโยชน์กับคนกลุ่มเดียว

ทำไมเด็กจะไม่มีสิทธิที่จะส่งเสียงของเขา เสนอจากมุมมองของเขา อย่าว่าแต่เด็กควรจะรับรู้กระบวนการจัดการงบประมาณเลย เด็กควรจะรู้ด้วยว่าเรามีงบประมาณเท่าไหร่


ประเพณีการโยน:
เมื่อไม่มีใครรับผิดชอบ นักศึกษาก็ต้องรับผิดชอบตัวเอง


FB: ขนุน – สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ Siraphob Phumphengphut


เมื่อย้อนกลับมาพิจารณาปัญหาของการลดค่าเทอมในมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ ซึ่งมีลักษณะเป็นคำสั่งอธิการบดีส่งถึงแต่ละคณะให้รับผิดชอบและตัดสินใจคืนตามดุลพินิจ ทำให้หลายคณะเลือกคืนค่าเทอมจำนวนน้อยหรือไม่คืนเลย ทำให้ขนุนมองว่าเหตุการณ์นี้เป็นภาพสะท้อนวัฒนธรรม ‘การสั่งการแบบไร้น้ำหนัก’ ‘การปัดความรับผิดชอบ’ ที่เป็นปัญหาระดับรัฐ

“รัฐมนตรีกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม คนเก่า กำหนดนโยบายการลดค่าเทอม 10% ไว้ ซึ่งผมคิดว่าการลดค่าเทอมจำนวนเท่านี้มันไม่พอ พอมาสมัยของ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ก็มีประกาศออกมา ‘ขอความร่วมมือ’ มหาวิทยาลัยในการช่วยเหลือเยียวยานิสิตนักศึกษา ซึ่งคำว่า ‘ขอความร่วมมือ’ เป็นคำที่คลุมเครือมาก มหาวิทยาลัยหลายแห่งจึงลดค่าเทอมแค่ 10% ตามคำประกาศฉบับเก่า”

หลังจากที่ขนุนยื่นจดหมายกับกระทรวงและมหาวิทยาลัย และพบว่าหลายคณะยังไม่ลดค่าเทอม เขาก็เลือกโทรไปสอบถามเรื่องระเบียบการลดค่าเทอม 10% กับกระทรวงอุดมศึกษาโดยตรง “ผมโทรไปหาสำนักที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการนโยบายช่วงโควิด เขาก็บอกว่าทางกระทรวงอุดมศึกษาไม่ได้มีนโยบายเรื่องของการลดค่าเทอม 10% ผมถามกลับไปว่า ทปอ. มีอะไรเกี่ยวข้องไหม เขาก็ตอบกลับมาว่า ทปอ.เป็นแค่ที่ประชุมกลาง สุดท้าอยู่ที่มหาวิทยาลัยว่าจะตกลงกันยังไง มันทำให้เห็นอีกปัญหาหนึ่งคือกระทรวงอุดมศึกษาไม่มีบทบาทหรืออำนาจอะไรในออกนโยบายการกำกับมหาวิทยาลัยในช่วงวิกฤตการณ์แบบนี้

ขนุนตั้งคำถามกับความไม่คืบหน้าของการลดค่าเทอมว่ามีสาเหตุมาจากการปัดความรับผิดชอบจากกระทรวง อธิการบดี คณบดี จนทำให้นักศึกษาต้องรับภาระด้วยตนเอง คล้ายกับเป็นการ “โยนกันไปโยนกันมา สุดท้ายคนที่เรียกร้องก็จะเหนื่อยและเลิกเรียกร้องไปเอง

เขายังตั้งข้อสังเกตอีกว่า “วัฒนธรรมเหล่านี้มันก็เกิดมาจากกระทรวง กระทรวงถ่ายทอดลงมาแล้วมาสู่ผู้บริหารของมหาวิทยาลัย วงจรเหล่านี้มันเวียนเหมือนเทศกาล เพราะผมทำเป็นเทศกาลเลย เปิดเทอมมาก็เรียกร้อง ขอคืนเงิน ขอค่าเทอม ล่ารายชื่อ 5000 รายชื่อ ส่งให้อธิการ ส่งเสร็จ รองอธิการเรียกไปหา แล้วไปคุย คุยเสร็จ เงียบหาย เปิดเทอมมาใหม่ก็เริ่มต้นใหม่ วนใหม่อีกรอบ เป็นแบบนี้มา 3 รอบแล้ว”

ด้านธีรภัทรมีความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า “ผมว่าปัญหาจริงคือการที่เรามองว่าไม่ใช่หน้าที่ เวลาที่มหาวิทยาลัยเห็นว่าอะไรบางอย่างเป็นหน้าที่ แต่รู้ว่าตนเองขาดทรัพยากร มหาวิทยาลัยจะหาทางเพิ่มทรัพยากรทุกทาง เพียงแต่ผมไม่เคยได้ยินว่ามหาวิทยาลัยจะเคยหาทางเพิ่มทรัพยากรกรณีที่มีเงินช่วยเหลือนักศึกษาไม่พอ

ธีรภัทรถือว่ารัฐมีหน้าที่ช่วยมหาวิทยาลัยดำเนินการตามนโยบายโดยให้ทรัพยากรแก่มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยควรทักท้วงภาครัฐเมื่อไม่ให้ความช่วยเหลือ “บางคนอาจจะแย้งว่านี่เป็นหน้าที่ของภาครัฐ ไม่ใช่มหาวิทยาลัย ก็จริง แต่ผู้บริหารต้องเปลี่ยนท่าที จาก ‘ทำขนาดนี้แล้วจะเอาอะไรอีก’ เป็นกดดันภาครัฐว่า ‘คุณมีนโยบายแบบนี้มา คุณให้ทรัพยากรอะไรเราบ้าง ’ มหาวิทยาลัยพูดราวกับว่านักศึกษาไม่สนใจความเป็นจริง ทั้งที่มหาวิทยาลัยควรมองว่า คนที่ไม่เห็นความเป็นจริงคือภาครัฐ”


การล่ารายชื่อ: เสียงสะท้อนที่ไร้เสียงตอบกลับ


จาก FB: Thammasat Today


แม้ที่ผ่านมา กิจกรรมล่ารายชื่อเรียกร้องการลดค่าเทอมของทั้งสองมหาวิทยาลัยจะมีผู้ลงชื่อถึงหลักพัน (มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 5,000 รายชื่อ และธรรมศาสตร์ 8,000 รายชื่อ) แต่ผลที่มหาวิทยาลัยตอบกลับมาคือการยืนยันที่จะคืนค่าเทอมจำนวนเท่าเดิม ในความสิ้นหวัง ผู้เรียกร้องทั้งสองเห็นว่าการล่ารายชื่อและส่งให้มหาวิทยาลัยอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ

ตาลกล่าวว่า “ในช่วงสถานการณ์โควิด มีแค่ 7-8 คนเองที่ทำแคมเปญ 8,000 รายชื่อ มันไม่มีผลลัพธ์อะไรมาก” พร้อมเสริมว่าหากเป็นไปได้ เขาอยากเคลื่อนไหวด้วยการแจกใบปลิวหรือชุมนุมเพื่อให้ได้ภาพข่าวและสร้างแรงกดดันต่อมหาวิทยาลัย แต่ด้วยมาตราการลดการรวมตัวกันเชิงกายภาพ รวมไปถึงปัญหาส่วนตัวที่แต่ละคนต้องเผชิญ ทำให้ภาพการเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นไปได้ยาก

อย่างไรก็ตาม ตาลยังดีใจที่มีนักศึกษามาลงชื่อในแคมเปญคืนค่าเทอมจำนวนมาก “มันแปลว่านักศึกษาก็ใส่ใจเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน ถ้าเกิดว่าเราออกมารวมตัวกันได้ก็อาจจะเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่กว่านี้ มีผลมากกว่านี้” แต่พอถึงวันที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ประกาศคืนค่าเทอมให้กับนักศึกษาเป็นจำนวน 1,500 บาทเท่าเดิม เขาก็อดหวั่นใจไม่ได้ “ตอนแรกเราเสียใจพอสมควร เพราะสุดท้ายเราก็เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้เลย เรากลัวว่าคนที่ลงชื่อกับเราจะรู้บ้างไหมว่าทำไมมันถึงทำไม่สำเร็จ” หลังจากนี้แม้แต่การล่ารายชื่อออนไลน์ก็อาจจะเป็นไปได้ยากกว่าเดิม

ฝ่ายขนุนรู้สึกว่าส่วนหนึ่งที่การรณรงค์ไม่สำเร็จ เพราะขาดเสียงสนับสนุนจจากเพื่อนๆ นักศึกษา “ถึงแม้จะมีคนมาลงชื่อด้วย แต่เวลายื่นเอกสารกับผู้บริหารก็ไปแค่คนเดียว มันไม่มีพลังในการเรียกร้อง” และการที่นักศึกษาส่วนใหญ่ไม่ออกมาเรียกร้องร่วมกัน มีสาเหตุสำคัญคือ “มันคือความกลัวรูปแบบหนึ่งที่ถูกฝังจากวัฒนธรรมองค์กร อย่างเพื่อนที่เข้ามาใหม่หลายคนไฟแรงกันมาก พออยู่ไปเรื่อยๆ ก็ค่อยๆ หมดไฟเพราะเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ จนสุดท้ายเหลือผมคนเดียว ผมยังพูดไว้ตั้งแต่วันแรกที่เข้ามหาวิทยาลัยจนถึงทุกวันนี้ว่าจะเปลี่ยนมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒให้ได้ แต่ผมก็รู้สึกว่าผมทำไม่ได้แล้ว”

ขนุนเสนอว่าการขับเคลื่อนต้องมาจากหลายฝ่าย “ในมุมผมก็คือการรวมกลุ่มกันของหลายๆ มหาวิทยาลัย ทั้งกลุ่มที่เป็นนักเคลื่อนไหวและกลุ่มสภาหรือองค์การนิสิตนักศึกษา ขับเคลื่อนประเด็นอะไรสักอย่างเป็นประเด็นกลาง จะทำให้มีพลังในการไปต่อรองถึงจะบรรลุผลได้

“การเคลื่อนในแต่ละมหาวิทยาลัยมันดี เพราะแต่ละมหาวิทยาลัยมันมีบริบทต่างกัน แต่อย่างน้อยๆ ก็ควรรวมกันในบางหาปัญหาที่หลายมหาวิทยาลัยเจอเหมือนกันแล้วเรียกร้องถึงจะสำเร็จ แล้วอีกอย่างหนึ่งที่จะสำเร็จได้ก็คือ นิสิตนักศึกษาตื่นตัวในการเรียกร้องสิทธิ์ของตนเอง สิทธิในการเรียกร้องค่าเทอม สิทธิในการได้ทุน สิทธิในการศึกษาที่ดี แค่นี้เราสามารถขับเคลื่อนประเด็นนี้สำเร็จได้” ขนุนเน้นย้ำ


หลังจากนี้ผู้บริหารต้องไม่อยู่บนหอคอย


เมื่อถามว่านักศึกษาทั้งสองต้องการสิ่งใดนอกจากการลดค่าเทอมของมหาวิทยาลัยแล้ว ขนุนเสนอว่ารัฐควรยกหนี้กยศ.ช่วง 1 ปี 5เดือนหรือช่วงโควิดที่เกิดขึ้นทั้งหมด โดยยกให้รัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบ ยกเลิกกิจกรรมชั่วโมงจิตอาสา และในระยะยาว ผู้บริหารต้องฟังนักศึกษามากกว่านี้

“มหาวิทยาลัยควรจะรับฟังนักศึกษาว่าเขาต้องการอะไร และหาทางเยียวยาให้เขาให้เร็วที่สุด ใส่ใจเรื่องการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและทำความเข้าใจ ไม่ใช่เอาตัวเองยืนอยู่บนหอคอยแล้วมองลงมา แล้วก็คิดเองว่า ข้างล่างจะเป็นอย่างไร”

เช่นเดียวกับตาลที่เสนอว่า “สิ่งที่อยากให้มหาวิทยาลัยเปลี่ยนคือกลไกการถ่วงดุลอำนาจ นักศึกษาต้องมีสิทธิเลือกตั้งคณบดีและอธิการบดี ยังไงก็ต้องให้นักศึกษามีส่วนร่วมกับการเมืองระดับมหาวิทยาลัยที่เป็นระดับผู้บริหารมากกว่าแค่เลือกตัวแทนให้เขาคอยไปคุยให้ นักศึกษาอาจจะทำสำเร็จหรือเรียกร้องได้มากกว่านี้ถ้ามีอำนาจต่อรองมากขึ้น ถ้าตำแหน่งเขาขึ้นอยู่กับนักศึกษา ไม่ได้อยู่บน ‘หอคอยงาช้าง’ ที่แยกตัวจากนักศึก​ษา”

ด้านธีรภัทรมองว่าปัจจุบันผู้บริหารมีลักษณะแยกตัวออกจากนักศึกษาจริง และการช่วยเหลือนักศึกษาในสถานการณ์นี้ อันที่จริงไม่ได้ซับซ้อนเป็นพิเศษ เพราะแค่คืนค่าเทอมจำนวนมากขึ้นก็ช่วยเหลือนักศึกษาได้มากแล้ว ปัญหาอยู่ที่ผู้บริหารไม่ได้มองว่าการคืนค่าเทอมเป็นโจทย์ที่ตัวเองต้องแก้

แม้มหาวิทยาลัยจะสามารถ ‘คิดแทน’ นักศึกษาได้ แต่นั่นควรเป็นการหาวิธีการช่วยเหลืออย่างหลากหลายและมากที่สุดเท่าที่จะสร้างได้ และขั้นสุดท้าย ควรเลือกวิธีการช่วยเหลือที่มาจากการ ‘ฟัง’ เสียงของนักศึกษา โจทย์ยากของมหาวิทยาลัยในช่วงโควิดข้อนี้จึงจะคลี่คลายได้อย่างลงตัว

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save