fbpx

มหาวิทยาลัยในเงามืด

ความมืดมิดได้แผ่ปกคลุมมหาวิทยาลัยในสังคมไทยอย่างกว้างขวางและทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

มหาวิทยาลัยของไทยเลือกเส้นทางในการปฏิเสธระบอบประชาธิปไตยและสนับสนุนระบอบอำนาจนิยมมาตั้งแต่ก่อนการรัฐประหารเมื่อ พ.ศ. 2557 ภายหลังการรัฐประหาร ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยสำคัญก็ล้วนแล้วแต่เลือกเข้าไปส่วนหนึ่งในการค้ำยันระบอบรัฐประหาร บทบาทโดยตรงที่ปรากฏอย่างเด่นชัดก็คือ การดำรงตำแหน่งในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ของอธิการบดีหลายคนโดยปราศจากซึ่งความละอายแก่ใจว่าองค์กรแห่งนี้เป็นผลผลิตโดยตรงจากการยึดอำนาจ

ทั้งในการปฏิบัติหน้าที่ สนช. ก็เป็นที่ประจักษ์ว่าได้มีการผ่านกฎหมายจำนวนมากที่กลายเป็นเครื่องมือในการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนสืบเนื่องต่อมากระทั่งในห้วงเวลาปัจจุบัน (พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 คือตัวอย่างหนึ่งในท่ามกลางอุตสาหกรรมการผลิตกฎหมายของสภาแห่งนี้)

ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยก็แสดงความไม่ไยดีต่อการคุกคามสิทธิเสรีภาพที่เกิดขึ้น เฉพาะอย่างยิ่งกับบุคลากรหรือนักศึกษาในสังกัดที่ต้องเผชิญหน้ากับการคุกคาม การดำเนินคดี การใช้อำนาจกดปราบทั้งในที่ลับและที่แจ้งจากฝ่ายผู้มีอำนาจ อันมีจุดมุ่งหมายเพื่อยุติการวิพากษ์วิจารณ์หรือการเคลื่อนไหวของฝ่ายที่อยู่ตรงกันข้ามกับคณะรัฐประหาร ไม่มีผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยแห่งใดแสดงความเป็นเดือดเป็นร้อนกับการที่คณาจารย์หรือนักศึกษาต้องเผชิญกับการดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรมจากผู้มีอำนาจเกิดขึ้น

เรื่องราวดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างซ้ำซากแม้จนกระทั่งในห้วงเวลาปัจจุบัน นักศึกษาจำนวนมากถูกกล่าวหาและถูกปฏิบัติอย่างฉ้อฉลจากเจ้าหน้าที่รัฐและกระบวนการยุติธรรม ไม่มีการแสดงความเห็นหรือการปกป้องเสรีภาพในการแสดงความเห็นเกิดขึ้น อาจมีการแสดงบทบาทของคณาจารย์จำนวนหนึ่งก็ล้วนแต่เป็นเรื่องที่กระทำโดยส่วนตัวทั้งสิ้น    

ย่อมเป็นที่ชัดเจนว่าเสรีภาพในการแสดงออกหรือเสรีภาพในการแสดงความเห็นอันเป็นที่ยอมรับได้ก็คือ เสรีภาพในการแสดงความเห็นที่ต้องตรงกันกับจุดยืนของผู้บริหารมหาวิทยาลัย อันหมายถึงการสนับสนุนต่อผู้มีอำนาจหรือสถาบันดั้งเดิมเป็นสำคัญ หากเป็นสิ่งที่แตกต่างอันนั้นเป็นเรื่องที่แต่ละคนต้องไปเผชิญชะตากรรมกันเอาเอง

แนวโน้มต่อการคุกคามเสรีภาพในแวดวงของมหาวิทยาลัยดูราวจะต้องประสบกับความเลวร้ายมากยิ่งขึ้น กรณีตัวอย่างที่ปรากฏออกสู่สาธารณะด้วยการใช้มาตรการทางกฎหมายดำเนินการกับผู้เขียน ผู้พิมพ์ และอาจารย์ที่ปรึกษาในงานดุษฎีนิพนธ์ ถือเป็นกระบวนการโต้ตอบกับงานทางวิชาการในรูปแบบที่ ‘ทำลาย’ จารีตแห่งการวิพากษ์วิจารณ์ทางวิชาการ แน่นอนว่าไม่มีงานวิชาการชิ้นใดที่ได้รับการยกเว้นต่อการติติงหรือการแสดงความเห็น แต่การใช้ข้อมูลและเหตุผลแลกเปลี่ยนถือเป็นสิ่งสำคัญต่อการทำให้เกิดความงอกงามทางปัญญาที่เพิ่มมากขึ้น

แม้ในอดีตอาจมีการใช้มาตรการทางกฎหมายด้วยการฟ้องร้องต่อผู้เขียนเกิดขึ้น แต่ในกรณีดังกล่าวนั้นเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าเป็นการมุ่งใส่ร้ายต่อบุคคลให้เกิดความเสียหาย อีกทั้งเมื่อมีการเรียกร้องให้มีการแก้ไขเกิดขึ้น ทางฝ่ายผู้เขียนก็มิได้มีการปรับแก้เกิดขึ้น กระบวนการทางกฎหมายจึงกลายเป็นเครื่องมืออันหลีกเลี่ยงมิได้ อันเป็นความแตกต่างอย่างสำคัญต่องานเรื่องขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี

น่าเสียใจที่มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นผู้อนุมัติปริญญาให้แก่ผู้เขียน กลับไม่ได้มีท่าทีหรือการแสดงความเห็นอันใดในการปกป้องเสรีภาพในงานวิชาการที่ควรจะต้องเกิดขึ้นได้ ตราบเท่าที่ยังไม่ได้ละเมิดไปสู่การบิดเบือนหรือใส่ร้ายต่อบุคคลใดอย่างชัดเจน

การคุกคามต่อเสรีภาพในการแสดงออกของคณาจารย์และนักศึกษาได้เกิดขึ้นในหลายครั้งหลายคราวและในหลายแห่ง ความพยายาม ‘เซนเซอร์’ งานนำเสนองานศิลปะของมหาวิทยาลัยบางแห่งด้วยวิธีการต่างๆ ของผู้บริหาร จนทำให้กลายเป็นความขัดแย้งให้เกิดขึ้น ผู้บริหารมหาวิทยาลัยก็เลือกจะใช้อำนาจหรือคำสั่งเพื่อจัดการกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้น

จะมีอะไรน่าหดหู่ใจมากไปกว่าสถาบันการศึกษาที่มุ่งใช้อำนาจเพื่อปิดปากของคนที่มีความเห็นต่าง กระบวนการทางกฎหมายก็เป็นเรื่องหนึ่งที่คงต้องต่อสู้กันต่อไป ไม่น่าเชื่อว่านี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยที่กล่าวอ้างอยู่เสมอว่าเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำระดับประเทศ เพียงแค่การเปิดกว้างให้มีการถกเถียงและการใช้เหตุผลกับนักศึกษาก็กลับไม่ได้เป็นสิ่งที่ถูกคิดถึงแม้แต่น้อยนิด  

แล้วจะเชื่อได้หรือว่านี่คือแหล่งศึกษาที่สามารถสร้างให้ผู้คนมีเหตุผลและแลกเปลี่ยนกันได้อย่างสันติ การใช้อำนาจแบบที่กระทำกันอยู่ก็ไม่ต่างอะไรไปจากที่รัฐบาลกระทำกับคนที่เห็นต่างในห้วงเวลานี้แม้แต่น้อย

ไม่ใช่เพียงการปฏิเสธเสรีภาพในการแสดงความเห็นเท่านั้น ความเปลี่ยนแปลงประการหนึ่งที่จะมาสู่ความอับจนทางปัญญาของมหาวิทยาลัยในเร็ววันก็คือ การปรับเปลี่ยนระบบการจ้างงานที่ทำให้อาจารย์มหาวิทยาลัยมีความมั่นคงน้อยลง   

ภายหลังจากที่มหาวิทยาลัยได้ปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นมหาวิทยาลัยนอกระบบ (หรือมหาวิทยาลัยในกำกับ) สถานะของบุคลากรก็จะไม่ใช่ข้าราชการอีกต่อไปหากกลายสภาพเป็น ‘พนักงานมหาวิทยาลัย’ ระบบการจ้างงานในแต่ละแห่งก็จะมีความแตกต่างกันไป บุคลากรจะมีความมั่นคงก็ต่อเมื่อสามารถมีคุณสมบัติบางประการตามที่ได้มีการกำหนดไว้ เช่น จบการศึกษาระดับปริญญาเอก หรือดำรงตำแหน่งทางวิชาการบางระดับ เป็นต้น มิเช่นนั้น การจ้างงานก็จะคงเป็นแบบมีระยะเวลาจำกัดซึ่งอาจเป็น 3 ปี หรือ 5 ปี แม้จะมีความยุ่งยากอยู่บ้างแต่เมื่อสามารถผ่านเงื่อนไขดังกล่าวก็จะสามารถได้รับสัญญาแบบระยะยาวไปจนถึงเกษียณอายุ

แต่ในห้วงเวลาปัจจุบัน ในมหาวิทยาลัยหลายแห่งได้มีการปรับเปลี่ยนการจ้างงานให้มีลักษณะที่เป็นระยะสั้น เช่น สัญญาระยะเวลา 5 ปี ภายใต้นโยบายที่ดูสวยหรูว่าเป็น ‘การจ้างตามยุทธศาสตร์’ หรืออาจเป็นชื่ออื่นๆ แล้วแต่จะประดิษฐ์ถ้อยคำให้งดงาม ด้วยเหตุผลว่าโลกปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การจ้างงานแบบระยะยาวจะสร้างภาระทางงบประมาณแก่สถาบัน จึงจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้มหาวิทยาลัยมีความ ‘ยืดหยุ่น’ ต่อสถานการณ์ที่พลิกผันอย่างรวดเร็ว

สัญญาในรูปแบบเช่นนี้กำลังจะกลายเป็นรูปแบบหลักของการจ้างงาน ในมหาวิทยาลัยหลายแห่งที่ถูกจัดว่าเป็นเสาหลักสำคัญก็ได้เดินหน้านโยบายนี้แล้ว

ภายใต้การจ้างงานในลักษณะนี้ อาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัยย่อมเปรียบเสมือนการแขวนอยู่บนเส้นด้ายที่พร้อมจะขาดลงได้ทุกเวลา มหาวิทยาลัยนอกระบบที่กลายสภาพไปเป็นพื้นที่ของเครือข่ายชนชั้นนำภายในสถาบันก็ย่อมไม่ประสงค์ที่จะเห็นบุคลากรมาแสดงความคิดเห็นทั้งต่อกลุ่มของตนและผู้มีอำนาจทางการเมืองที่ตนสนับสนุนอย่างแน่นอน ขณะที่ผู้ถูกจ้างหากไม่สงบปากสงบคำต่อผู้มีอำนาจก็อาจจะกลายเป็นคนตกงานได้เมื่อครบสัญญาจ้างระยะสั้น

นี่ไม่ใช่การเลิกจ้าง แต่จะจ้างต่อไปก็ต่อเมื่อพวกเจ้าต้องรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ควรพูด ควรกระทำ

ดังนั้น คงยากที่จะคาดหวังความกล้าหาญทางความรู้ในการแสดงความเห็นคัดค้านต่อปรากฏการณ์ต่างๆ ซึ่งอาจไม่ถูกต้องทั้งในด้านวิชาการหรือจริยธรรม บุคลากรในมหาวิทยาลัยในอนาคตอันใกล้ก็จะกลายเป็นเหมือนลูกจ้างที่ต้องคอยกุมเป้าโค้งคำนับและพร่ำสรรเสริญบรรดาผู้บริหาร ไม่ว่าบุคคลดังกล่าวจะมีประวัติแปดเปื้อนในความอยุติธรรมมากเท่าใดก็ตาม

มหาวิทยาลัยจะไม่ใช่สถาบันแห่งภูมิปัญญา แต่จะกลายเป็นเพียงหน่วยงานเซื่องๆ ที่ทำหน้าปกป้องอำนาจนำดั้งเดิมของสังคมซึ่งกำลังผุกร่อนอย่างรุนแรง

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save