fbpx
เมืองมหาวิทยาลัย

เมืองมหาวิทยาลัย

อภิวัฒน์ รัตนวราหะ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

 

มหาวิทยาลัยเป็นหนึ่งในสถาบันสำคัญของสังคมปัจจุบัน ทั้งในฐานะแหล่งค้นคว้าและเผยแพร่ความรู้ แหล่งโต้แย้งและถกเถียงแนวคิดเก่า-ใหม่ที่หลากหลาย แหล่งบ่มเพาะนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและธุรกิจ แหล่งสร้างสรรค์ศิลปะวัฒนธรรม รวมไปถึงแหล่งขับเคลื่อนและผลักดันทางสังคมและการเมือง

บทบาทของมหาวิทยาลัยไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่การเป็นแหล่งความรู้เท่านั้น ด้วยจำนวนนักศึกษาและบุคลากรที่มีอยู่มาก และงบประมาณที่มีอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยจึงมีผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น สังเกตได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยไหน พื้นที่รอบมหาวิทยาลัยก็มักมีหอพัก ร้านค้า และร้านกินดื่มรูปแบบต่างๆ มีนักศึกษาเดินขวักไขว่ไปมาอยู่ทั่วไป จึงคึกคักและมีชีวิตชีวาอยู่เสมอ

มหาวิทยาลัยยังส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเมืองโดยรวม ทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการใช้ประโยชน์ที่ดินในบริเวณใกล้มหาวิทยาลัยและพื้นที่เมืองอื่นๆ ผลกระทบเหล่านี้ยิ่งปรากฏชัดเจนในเมืองหลักและเมืองรองในภูมิภาค ซึ่งมักมีสถาบันอุดมศึกษาตั้งอยู่หลายแห่ง จำนวนนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยคิดเป็นสัดส่วนสำคัญของประชากรเมือง นับตั้งแต่เมืองโคราช (13%) สงขลา-หาดใหญ่ (15%) เชียงใหม่ (16%) และขอนแก่น (20%)  ไปจนถึงเมืองมหาสารคามที่ได้ชื่อว่าเป็นตักศิลานคร (45%)

 

สัดส่วนประชากรมหาวิทยาลัยในจังหวัดนครราชสีมา
สัดส่วนประชากรมหาวิทยาลัยในจังหวัดนครราชสีมา

 

สัดส่วนประชากรมหาวิทยาลัยในจังหวัดสงขลา
สัดส่วนประชากรมหาวิทยาลัยในจังหวัดสงขลา

 

สัดส่วนประชากรมหาวิทยาลัยในจังหวัดเชียงใหม่
สัดส่วนประชากรมหาวิทยาลัยในจังหวัดเชียงใหม่

 

สัดส่วนประชากรมหาวิทยาลัยในจังหวัดขอนแก่น
สัดส่วนประชากรมหาวิทยาลัยในจังหวัดขอนแก่น

 

สัดส่วนประชากรมหาวิทยาลัยในจังหวัดมหาสารคาม
สัดส่วนประชากรมหาวิทยาลัยในจังหวัดมหาสารคาม

 

มหาวิทยาลัยนกเอี้ยง เลี้ยงเมืองเฒ่า

 

หลายเมืองในประเทศไทยในปัจจุบันได้เข้าสู่ยุคหลังอุตสาหกรรมแล้ว โดยโรงงานและกิจกรรมการผลิตจำนวนมากได้ย้ายที่ตั้งออกจากพื้นที่เมืองเดิม ทำให้ฐานเศรษฐกิจด้านการผลิตที่เคยขับเคลื่อนเมืองลดหายไป พร้อมกันนี้ แหล่งที่อยู่อาศัยได้ขยับขยายไปยังบริเวณชานเมือง ในขณะที่ห้างสรรพสินค้าและโมเดิร์นเทรดก็เกิดขึ้นในพื้นที่พัฒนาใหม่ ย่านเก่าในเมืองเดิมจึงซบเซาลง ในบางเมือง การท่องเที่ยวได้เข้ามาแทนที่บ้าง ก็ทำให้ย่านเมืองเก่าอาจยังพออยู่ต่อไปได้ แต่ก็มีเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น ในภาพรวม พื้นที่เมืองเดิมในเมืองหลักเมืองรองทั่วประเทศไทยจึงอยู่ในสภาพถดถอยลงอย่างชัดเจน

ท่ามกลางกระแสการย้ายธุรกิจน้อยใหญ่และที่อยู่อาศัยออกจากเมืองเดิม แทบไม่มีมหาวิทยาลัยใดย้ายตำแหน่งที่ตั้งจากตำแหน่งเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัยของรัฐ จะมีก็เพียงแค่เป็นการขยายพื้นที่และเพิ่มวิทยาเขตออกไปนอกเมืองเท่านั้น มหาวิทยาลัยจึงยังคงเป็นแรงดึงดูดผู้คนให้มาพื้นที่เมืองส่วนนั้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าส่วนอื่นๆ ของเมืองได้ซบเซาลงไปแล้วก็ตาม

นอกจากการจ้างงานแล้ว มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ยังมีรายได้และงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล คิดรวมกันต่อปีแล้วก็มีงบประมาณเป็นหลักหมื่นล้านสำหรับแต่ละเมือง เงินส่วนนี้จึงถือเป็นรายได้ที่หล่อเลี้ยงเมืองอย่างสม่ำเสมอเรื่อยมา

ด้วยเหตุนี้ มหาวิทยาลัยจึงเป็นเหมือนฐานเศรษฐกิจที่สร้างความมั่นคงและเสถียรภาพให้กับเมือง โดยเฉพาะสำหรับเมืองในภูมิภาคที่ฐานเศรษฐกิจเก่าเริ่มหมดไป แต่ฐานเศรษฐกิจใหม่ยังไม่เข้ามาทดแทน

 

เมืองน่าอยู่ มหาวิทยาลัยน่าเรียน

 

ในทางกลับกัน ความน่าอยู่และความสะดวกสบายของเมืองก็มีผลต่อมหาวิทยาลัยเช่นกัน การตัดสินใจเลือกสถานที่เรียนของนักศึกษาและการตัดสินใจเลือกที่ทำงานของอาจารย์และนักวิจัยไม่ได้มาจากเพียงสาเหตุด้านคุณภาพและชื่อเสียงทางวิชาการเท่านั้น แต่รวมไปถึงภาพลักษณ์ สภาพจริงและความน่าอยู่ของเมืองนั้นอีกด้วย นักศึกษาจำนวนหนึ่งอาจเลือกเรียนที่มหาวิทยาลัยในเชียงใหม่ เพราะอดีตเคยมีอากาศหนาวเย็นและคุณภาพอากาศดี อีกทั้งยังมีกิจกรรมและสิ่งอำนวยความสะดวกในเมืองสำหรับการใช้ชีวิต ส่วนนักวิชาการและนักวิจัยที่มีความสามารถย่อมมีทางเลือกที่จะไปทำงานและอยู่อาศัยในเมืองที่มีความสะดวกและมีสภาพแวดล้อมที่ดีได้

แต่ความน่าอยู่ของเมืองอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ นักศึกษาที่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยในภูมิภาคมักย้ายกลับภูมิลำเนาหรือไปหางานในมหานครกรุงเทพและภาคตะวันออก สาเหตุสำคัญคือ เมืองมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ไม่มีฐานเศรษฐกิจและการจ้างงานรองรับบัณฑิตเหล่านี้ ข้อจำกัดของเมืองในการเป็นฐานเศรษฐกิจ จึงกลายเป็นข้อจำกัดของมหาวิทยาลัยเองที่จะพัฒนาระบบนิเวศของการพัฒนาธุรกิจและนวัตกรรมซึ่งต่อยอดจากกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัย รวมถึงการพัฒนาเมืองในด้านอื่นๆ ตามมา

น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่าฉันใด มหาวิทยาลัยกับเมืองก็พึ่งกันและกันฉันนั้น ดังนั้น ความคาดหวังในการพัฒนาสังคมความรู้และระบบนวัตกรรมที่มีมหาวิทยาลัยเป็นศูนย์กลางจะไม่บรรลุผลสำเร็จได้ ถ้าเมืองมหาวิทยาลัยไม่น่าอยู่และมีการพัฒนาฐานเศรษฐกิจรองรับ

 

ต่อจากนี้ไป ไม่เหมือนเดิม

 

ในยุคสมัยที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยไทยโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยรัฐ ถือว่ามีความมั่นคงด้านการเงินในระดับหนึ่ง เพราะจำนวนนักศึกษาได้เพิ่มขึ้นเรื่อยมาตามแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของประชากรและการให้ความสำคัญกับการศึกษาของคนไทย มหาวิทยาลัยทุกแห่งได้ขยับขยายเปิดหลักสูตรและสาขา มหาวิทยาลัยรัฐก็ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลเรื่อยมา

หากมองว่ามหาวิทยาลัยเป็นกิจการแบบหนึ่ง ก็ต้องยอมรับว่าเป็นกิจการที่มีความมั่นคง มีเสถียรภาพ และมีความเสี่ยงต่ำที่สุดประเภทหนึ่ง ความมั่นคงด้านการจ้างงานและด้านการเงินของมหาวิทยาลัยจึงกลายเป็นพื้นฐานหนึ่งที่สร้างเสถียรภาพด้านเศรษฐกิจของเมืองมหาวิทยาลัย

แต่ในปัจจุบัน หลายสถาบันต่างเริ่มตระหนักถึงความไม่แน่นอนทางการเงินที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ด้วยจำนวนเด็กไทยที่ลดน้อยลงตามโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป อีกทั้งรัฐบาลส่วนกลางก็มีแนวโน้มที่จะลดเงินสนับสนุนโดยตรงลงไปอีก นอกจากนี้ การเปิดเสรีด้านการศึกษาในระดับโลก รวมถึงความง่ายในการเข้าถึงแหล่งความรู้ผ่านช่องทางออนไลน์และการเรียนรู้รูปแบบอื่นนอกรั้วมหาวิทยาลัย ทำให้การแข่งขันเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรง อำนาจผูกขาดในตลาดความรู้ของมหาวิทยาลัยไทยจึงลดน้อยถอยลง

มหาวิทยาลัยหลายแห่งได้ปรับยุทธศาสตร์เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ โดยการเปิดรับนักศึกษาต่างชาติ โดยเฉพาะนักศึกษาจีน การสอนหลักสูตรออนไลน์ การสร้างแหล่งรายได้จากงานวิจัย และการบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยบางแห่งตั้งความหวังไว้กับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อขายเป็นแหล่งรายได้สำคัญ แต่ในความเป็นจริง น่าจะยังต้องใช้เวลาอีกนานมาก เพราะระดับการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยไทยยังไม่สูงเท่าใดนัก อีกทั้งหากเทคโนโลยีที่พัฒนามาไม่ได้มีความก้าวล้ำจนกลายเป็นสินค้าที่ขายได้ทั่วโลก รายได้ที่เกิดจากการขายสิทธิบัตรก็ไม่น่าจะสร้างกำไรได้มากพอที่จะจุนเจือค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการบริหารจัดการมหาวิทยาลัย

 

พัฒนาเมืองเพื่อมหาวิทยาลัย พัฒนามหาวิทยาลัยเพื่อเมือง

 

ยุทธศาสตร์ที่เป็นทางเลือกสำคัญของมหาวิทยาลัยในการสร้างความมั่นคงทางการเงิน คือการสร้างเงินกองทุน (endowment) เพื่อพัฒนาพื้นที่รอบมหาวิทยาลัยหรือพื้นที่อื่นในเมือง มหาวิทยาลัยชั้นนำในระดับโลกต่างใช้การพัฒนาพื้นที่เมืองเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นคงด้านการเงินในระยะยาว ไปพร้อมกับการพัฒนาชุมชนวิชาการและย่านนวัตกรรมรอบมหาวิทยาลัย

นอกเหนือจากการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทั่วไป องค์ประกอบสำคัญของแนวทางนี้คือ การสร้างและจัดหาที่อยู่อาศัยสำหรับนักศึกษาและบุคลากร วิธีการดั้งเดิมคือการสร้างหอพักและบ้านพักภายในรั้วมหาวิทยาลัย แต่อาจไม่เป็นที่นิยมนักในปัจจุบัน โดยเฉพาะในกลุ่มบุคลากรที่ต้องการที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในระยะยาว ทางออกหนึ่งที่ใช้โดยมหาวิทยาลัยบางแห่งในสหรัฐอเมริกาคือ การลงทุนซื้อที่อยู่อาศัยร่วมกันระหว่างบุคลากรกับมหาวิทยาลัยในบริเวณรอบมหาวิทยาลัยหรือพื้นที่เป้าหมายในเมือง หากบุคลากรคนไหนต้องการขายที่อยู่อาศัยนั้นในอนาคต มหาวิทยาลัยก็มีสิทธิที่จะซื้อต่อก่อนผู้อื่น หรือถ้ามีการขายในตลาด ก็จะแบ่งรายได้กันตามสัดส่วนที่ได้ลงทุนไป

อย่างไรก็ตาม ไม่ควรวัดความประสบความสำเร็จในการพัฒนาพื้นที่เมืองรอบมหาวิทยาลัยเพียงเฉพาะจากรายได้และความเป็นชุมชนวิชาการเท่านั้น แต่รวมถึงการสร้างชุมชนในบริเวณรอบข้างที่เป็นส่วนหนึ่งของเมืองอย่างแท้จริง การพัฒนาพื้นที่รอบมหาวิทยาลัยมักทำให้ที่ดินมีราคาแพงขึ้นและกลายเป็นพื้นที่ของคนมีฐานะ (gentrification) ดังที่มักเกิดกับโครงการฟื้นฟูและพัฒนาเมืองทั่วไป ผู้มีรายได้น้อยจำนวนมากที่เคยอยู่อาศัยและดำรงชีวิตในพื้นที่รอบมหาวิทยาลัยต้องย้ายออกไปอยู่ที่อื่น เนื่องจากไม่สามารถจ่ายค่าเช่าที่อยู่อาศัยและพื้นที่ประกอบอาชีพตามแต่เดิมได้

มหาวิทยาลัยอาจอ้างหลักการหารายได้เข้าองค์กรเป็นพื้นฐานของนโยบายการพัฒนาที่ดิน หลักการดังกล่าวอาจดูเป็นธรรม หากใช้เกณฑ์ทางกฎหมายว่าด้วยสิทธิในที่ดินและเกณฑ์ความเป็นธรรมเชิงกลไกตลาด แต่เนื่องจากมหาวิทยาลัยเป็นสถาบันทางสังคมที่มีบทบาทและความคาดหวังจากสังคมมากกว่าองค์กรเอกชนทั่วไป เกณฑ์ที่ใช้ประเมินความสำเร็จของมหาวิทยาลัยในการพัฒนาพื้นที่จึงย่อมกว้างกว่าผลตอบแทนทางการเงินเพียงอย่างเดียว

หนึ่งเกณฑ์ในนั้นคือความเป็นธรรมเชิงกระบวนการ (procedural justice) ที่ให้ความสำคัญกับความโปร่งใสและความเที่ยงธรรมในกระบวนการตัดสินใจในการพัฒนาพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ได้รับผลประโยชน์และผลกระทบจากการพัฒนา ความท้าทายของมหาวิทยาลัยในฐานะสถาบันสำคัญของสังคมและของเมือง จึงอยู่ที่การสร้างความสมดุลระหว่างการสร้างความมั่นคงทางการเงินกับการแสดงบทบาทอื่นๆ ในการพัฒนาเมือง

แนวทางเชิงรูปธรรมในการนี้ คือการเปิดให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเมืองเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการวางแผนพัฒนามหาวิทยาลัย โดยเฉพาะในโครงการพัฒนาเมืองที่มหาวิทยาลัยจะดำเนินการในอนาคต ที่ผ่านมา เราแทบไม่ค่อยได้ยินข่าวว่า มหาวิทยาลัยกับองค์กรท้องถิ่นในแต่ละเมืองมีการวางแผนและทำงานร่วมกันอย่างเป็นกิจจะลักษณะ นับตั้งแต่การวางภาพอนาคตระยะยาวร่วมกันของเมืองและมหาวิทยาลัย ไปจนถึงโครงการพัฒนาและออกแบบพื้นที่เมือง ทั้งบริเวณรอบมหาวิทยาลัยและพื้นที่ส่วนอื่นๆ ของเมือง

ทั้งนี้ การพัฒนาเมืองของมหาวิทยาลัยจึงไม่ควรจบอยู่เพียงแค่พันธกิจมหาวิทยาลัยกับสังคม (university social engagement) ซึ่งมักมีแนวโน้มเป็นกิจกรรมสังคมสงเคราะห์ตามแนวคิดความรับผิดชอบต่อสังคม แต่มหาวิทยาลัยต้องมองว่าชุมชนและเมืองเป็นหุ้นส่วนสำคัญในการพัฒนาของมหาวิทยาลัยในระยะยาว มูลค่าที่ดินที่เพิ่มขึ้นจากการพัฒนาพื้นที่ของมหาวิทยาลัยต้องเกิดประโยชน์ทั้งในด้านความมั่นคงทางการเงินขององค์กรและในด้านประโยชน์ต่อเมืองและสังคมไปพร้อมกัน

ในบริบทโลกาภิวัตน์แห่งการเรียนรู้ ความแพร่หลายของช่องทางการเรียนรู้แบบใหม่ และเงื่อนไขด้านนโยบายต่างๆ จะทำให้มหาวิทยาลัยประสบกับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นและต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วมากขึ้นในอนาคต ในเมืองมหาวิทยาลัย ความเสี่ยงของมหาวิทยาลัยเป็นความเสี่ยงของเมือง ในขณะที่ความเสี่ยงของเมืองก็เป็นความเสี่ยงของมหาวิทยาลัยเช่นกัน

คงถึงเวลาแล้วที่ผู้บริหารของเมืองและมหาวิทยาลัยจะมาจับมือกันเพื่อหารือและวางแผนพัฒนาร่วมกันต่อไป

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save