fbpx
การเลือกตั้งกลางเทอม : วิกฤตหรือโอกาสของประชาธิปไตยในอเมริกา

การเลือกตั้งกลางเทอม : วิกฤตหรือโอกาสของประชาธิปไตยในอเมริกา

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เรื่อง

 

ไม่น่าเชื่อว่าการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ ในปีนี้จะกลายเป็นข่าวและประเด็นของการวิพากษ์วิจารณ์ที่เข้มข้น และผู้คนให้ความสนใจอย่างสูงไปทั่วโลก เรียกว่าสูสีกับข่าวการเลือกตั้งประธานาธิบดีก็ว่าได้ 

ผมเริ่มเขียนบทความเรื่องนี้ก่อนการเลือกตั้ง 6 วัน แล้วต้องปรับจุดเน้น เพิ่มข้อสังเกต ไปถึงการทำนายผลการเลือกตั้งว่าจะนำไปสู่อะไร แทบทุกวัน จนรู้สึกถึงอารมณ์และความคิดทางการเมืองของคนอเมริกันหลากหลายกลุ่มขณะนี้ ที่มีดีกรีของการเข้าร่วมสูงมากอย่างเป็นประวัติการณ์

ในการเลือกตั้งสหรัฐฯ มีการเลือกข้างและฝ่ายอย่างเด่นชัด กล่าวได้ว่า แทบไม่มีใครที่เป็นกลางหรือไม่เอนเอียงไปกับพรรคหนึ่งพรรคใดได้เลย ซึ่งเมื่อเทียบกับกฎหมายเลือกตั้งของไทย ที่ห้ามไม่ให้ทำโน่นทำนี่ เพราะกลัวจะไปมีอิทธิพลหรือครอบงำพรรคการเมือง จนต้องถูกยุบพรรคนั้น คนอเมริกันคงงุนงงและเข้าใจได้ยากว่า จะไปกลัวการมีอิทธิพลหรือครอบงำของใครทำไม ก็ให้ทุกคนทุกฝ่ายออกมารณรงค์ให้เห็นๆ กันเลย แล้วดูว่าของใครจะมีคนเชื่อถือมากหรือน้อยกว่ากัน

นี่คือความต่างระหว่างสังคมที่มองคนเสมอภาคเท่าเทียมกันหรือไม่ ถ้าเท่ากันก็เปิดเสรีให้ทุกคนคิดและพูดออกมา ไม่ต้องปิดปากด้วยกฎหมายพิเศษและอำนาจนอกระบบ

 

ก่อนจะไปถึงอนาคตของการเมืองสหรัฐอเมริกาหลังการเลือกตั้งกลางเทอม มาทำความเข้าใจสั้นๆ ก่อนว่า การเลือกตั้งกลางเทอมคืออะไร สำคัญอย่างไร ตอบสั้นๆ ก็คือ กลางเทอมที่พูดถึงนี้ คือกลางเทอมของการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี โดยมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาคองเกรส ทั้งสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีวาระ 2 ปี และวุฒิสภาซึ่งมีวาระ 6 ปี (บางส่วน) รวมถึงการเลือกตั้งผู้ว่าการมลรัฐด้วย

ดังนั้นเพื่อเปิดโอกาสให้พลเมืองมีโอกาสในการเปลี่ยนแปลงสภาคองเกรส ทุก 2 ปีจะมีการเลือกตั้ง ส.ส. ทั้งหมดจำนวน 435 คน และหนึ่งในสามของวุฒิสภา ซึ่งมีจำนวนรวม 100 คน (แต่ละรัฐมีวุฒิสมาชิก 2 คนเท่ากัน ไม่ว่ารัฐใหญ่หรือเล็ก) และการเลือกตั้งผู้ว่าการรัฐ การเลือกตั้งครั้งนี้ก็เท่ากับระยะเวลาที่ประธานาธิบดี ซึ่งมีวาระ 4 ปี ดำรงตำแหน่งมาได้สองปี การเลือกตั้งกลางเทอมจึงเป็นโอกาสที่ประชาชนจะได้ลงมติว่าผลการทำงานของประธานาธิบดีเป็นที่พอใจหรือไม่

สรุปคือการเลือกตั้งกลางเทอม เป็นการประลองกำลังและระบายความคับข้องใจของประชาชนกลุ่มต่างๆ ทำให้สมาชิกสภาคองเกรสและประธานาธิบดีต้องทำงานให้ประชาชนเห็นตลอดเวลา เพราะเวลาที่จะนั่งอยู่ในสภาและทำเนียบขาวนั้นมีไม่นานนัก การอยู่ในอำนาจต้องมาจากความยินยอมของประชาชนเท่านั้น ไม่ใช่จากการเขียนกฎเกณฑ์ให้ตัวเองได้เปรียบฝ่ายเดียว

ทั้งหมดนั้นคือการทำงานของระบอบประชาธิปไตยแบบอเมริกัน โดยที่การเลือกตั้งคือเครื่องมือสำคัญของประชาชนในการพิพากษาบรรดาผู้แทน ที่พวกเขาเลือกขึ้นมาทำหน้าที่ในการบริหารปกครองประเทศ การเลือกตั้งจึงไม่ใช่เรื่องความโง่หรือฉลาด หรือคุณวุฒิของผู้เลือกตั้ง หากอยู่ที่น้ำยาและผลงานของผู้ได้รับเลือกตั้ง ว่าจะสามารถดึงดูดให้คนออกมาลงคะแนนเสียงให้เขาได้อีกหรือไม่

 

นโยบายหลักที่มีการพูดถึงมากในการเลือกตั้งครั้งนี้ ได้แก่เรื่องเศรษฐกิจ ผู้อพยพคนเข้าเมือง คนกลุ่มน้อย การรักษาพยาบาล ไปถึงความสุภาพหรือมารยาททางการเมือง (civility) ที่คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกว่าขาดหายไป กระทั่งถูกปู้ยี่ปู้ยำโดยฝ่ายต่างๆ ที่สำคัญคือจากตัวประธานาธิบดีเองและสำนักข่าวหัวสีต่างๆ เรียกได้ว่าสภาพการณ์เลือกตั้งกลางเทอมครั้งนี้ เต็มไปด้วยความขัดแย้ง วิวาทะ และการโต้แย้ง

ในอาทิตย์ก่อนการเลือกตั้ง มีผู้สนับสนุนแนวทางขวาสุดกู่และความยิ่งใหญ่ของคนผิวขาว (white supremacist : alt-right) ซึ่งโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นผู้ปลุกระดมและใช้มันในการรักษาฐานเสียงคนชั้นล่างของเขามาโดยตลอด ได้ส่งระเบิดในพัสดุไปรษณีย์ไปให้บรรดาคนมีชื่อและอิทธิพล ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์และโต้เถียงกับทรัมป์ เช่น อดีตประธานาธิบดี บารัก โอบามา รองประธานาธิบดี โจ ไบเดน รัฐมนตรีต่างประเทศ ฮิลลารี่ คลินตัน มหาเศรษฐีการเงินจอร์จ โซรอส ซึ่งให้เงินสนับสนุนพรรคเดโมแครต รวมถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเดโมแครต แมคซีน วอเตอร์ส ที่ถูกทรัมป์ออกมาประณามทุกวัน

ภาวะเช่นนี้ไม่เคยเกิดมาก่อนในประเทศที่มีอารยธรรมของการเลือกตั้งมาช้านาน ไม่ใช่แบบประเทศโลกที่สาม ซึ่งการเลือกตั้งมาพร้อมกับการฆาตกรรมคู่ต่อสู้

ไม่เพียงเท่านั้น อีกไม่กี่วันต่อมาก็มีชายผิวขาว (ผู้ก่อการร้ายในสหรัฐฯ ทั้งหมดเป็นชายและผิวขาวทั้งนั้น) บุกเข้าไปในสถานที่ซึ่งคนยิวใช้สำหรับศึกษาและทำพิธีกรรมทางศาสนาของพวกเขา ใช้ปืนร้ายแรงยิงกราดใส่ผู้คนในนั้น พร้อมกับประกาศด้วยว่าต้องการ “ฆ่าคนยิวให้หมด” โดยอีตาคนนี้เชื่อว่ามีองค์การประชาสังคมของยิว คอยช่วยเหลือผู้อพยพจากที่ต่างๆ ให้เข้ามาใช้ชีวิตในอเมริกา ซึ่งความคิดที่ต่อต้านผู้อพยพ มองว่าผู้อพยพคืออาชญากร ข่มขืนคนขาว ก็มาจากโดนัลด์ ทรัมป์ อีกนั่นเอง จึงไม่แปลกใจว่าทำไมการเลือกตั้งครั้งนี้ถึงเข้มข้นและดุเดือดที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกัน

หากมองโลกอย่างแง่ร้าย เป็นไปได้ไหมว่าอเมริกากำลังเดินเข้าสู่ ‘สงครามกลางเมือง’ ?

ในช่วงเดือนก่อนถึงวันเลือกตั้ง ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ประกาศเป็นศัตรูกับสื่อมวลชนใหญ่ของสหรัฐฯ ก็ออกมาปลุกระดมมวลชนของเขาว่า ระวังกองทัพ ผู้อพยพ ที่เรียกว่า ‘คาราวาน’ (แคราแวนในสำเนียงอเมริกัน) กำลังจะบุกรุกประเทศเรา (invaders) จากอเมริกากลางผ่านเม็กซิโก สร้างความตื่นกลัวให้แก่คนอเมริกันที่เอียงขวาและอนุรักษ์ชาตินิยมสุดโต่งเป็นการใหญ่

อีกคำขวัญที่เขาใช้เร่งคะแนนก็คือ เศรษฐกิจ ที่กำลังเติบใหญ่และขยายตัวอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน “ถ้าอยากให้เศรษฐกิจพังก็ไปเลือกเดโมแครต” ทรัมป์ตะโกนใส่ฝูงชนในรัฐที่หนุนเขา (ฟลอริดา วิสคอนซิน และเพนซิลเวเนีย)

ประเด็นสำคัญในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้คือเรื่องคนอพยพ ทรัมป์ตอกย้ำปัญหาผู้อพยพและคนที่ต้องการเป็นพลเมืองอเมริกัน ด้วยการประกาศว่าเขาจะออกคำสั่งผู้บริหาร (Executive Order) ให้ยกเลิกการให้สิทธิที่ว่า ใครก็ตามที่เกิดในแผ่นดินสหรัฐฯ จะได้สัญชาติอเมริกันโดยอัตโนมัติ เพื่อสกัดกั้นพวกลูกหลานคนต่างด้าวที่เข้ามาพำนักในอเมริกาไม่ให้เป็นอเมริกันอีกต่อไป เช่นเดียวกับการประกาศห้ามคนมุสลิมบางประเทศเข้าอเมริกา

คำประกาศของทรัมป์เรียกแขกและขึ้นหัวข่าวหน้าหนึ่งทันควัน ซึ่งนี่ก็เป็นยุทธวิธีสร้างชื่อเสียงให้ตัวเขาตลอดมา เสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ไม่เห็นด้วยตามมามากมาย ที่สำคัญคือการออกคำสั่งดังกล่าวจะเป็นการละเมิดบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 14 ซึ่งระบุว่าใครก็ตามที่เกิดในดินแดนนี้ จักได้สัญชาติและสิทธิของพลเมืองอเมริกัน บทแก้ไขนี้เกิดขึ้นหลังจากสงครามกลางเมืองระหว่างเหนือกับใต้ยุติลง พร้อมกับการประกาศเลิกทาส และรัฐบาล (สมัยนั้นคือพรรครีพับลิกันฝ่ายราดิคัล ซึ่งมีความคิดทางการเมืองก้าวหน้า) ต้องการให้ความเป็นธรรมกับคนผิวดำอดีตทาสที่จะได้กลายเป็นพลเมืองอเมริกันเต็มตัว จึงออกบทแก้ไขนี้ออกมา

สิ่งที่ตลกคือ บัดนี้ประธานาธิบดีของพรรคนี้เอง ที่ต้องการจะยกเลิกความไม่ยุติธรรมที่คนผิวขาวได้กระทำต่อคนผิวสีลงไป นักวิจารณ์ของ The Guardian ถึงกับพาดหัวเลยว่า “สงครามกลางเมืองยังไม่ยุติ และทรัมป์เป็นประธานาธิบดีของสหพันธรัฐ (Confederate)” อันหมายถึงรัฐกบฏฝ่ายใต้สมัยโน้น

 

ที่แปลกประหลาดอีกอย่างในการเลือกตั้งคราวนี้ก็คือ ทรัมป์ออกไปเดินสายปลุกระดมและรณรงค์หาเสียงให้แก่ตัวเขาเองอย่างไม่ขาดสาย แต่กลับไม่ได้หาเสียงให้ผู้สมัครอื่นๆ ของพรรครีพับลิกันเลย ทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และผู้ว่าการมลรัฐ ซึ่งกำลังจะเข้าสู่เวทีการเลือกตั้งกลางเทอมหลายร้อยคน ขณะที่ตัวเขานั้นยังไม่ถึงเวลา เหลืออีกตั้ง 2 ปีกว่าจะเลือกตั้งใหม่ แล้วเหตุใดถึงต้องเดือดร้อนออกมาหาเสียงให้ตัวเองตั้งแต่ไก่โห่เล่า

การที่ทรัมป์ต้องออกมาปลุกระดมหาเสียงให้ตัวเองเป็นการใหญ่ สืบเนื่องมาจากการที่เขากำลังตกเป็นเป้าของการสืบสวน กรณีที่อาจมีส่วนพัวพันกับรัสเซียในการแทรกแซงการเลือกตั้งใหญ่ปี 2016 ที่ทำให้ทรัมป์ได้ชัยชนะอย่างพลิกล็อก เมื่อทนเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ไม่ได้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เจฟ เซสชั่น (อดีต ส.ว.แอละบามา รีพับลิกัน) จึงแต่งตั้งโรเบิร์ต มูลเลอร์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองกลาง (เอฟบีไอ) ขึ้นมาเป็นประธานคณะกรรมการพิเศษในการสืบสวนกรณีรัสเซียแทรกแซงนี้ และเพื่อให้การสืบสวนนี้สามารถกระทำได้อย่างอิสระเที่ยงธรรม เซสชั่นจึงประกาศถอนตัว ไม่กำกับควบคุมการทำงานของคณะกรรมการสอบสวนพิเศษนี้ ซึ่งสร้างความเดือดแค้นให้แก่ทรัมป์อย่างยิ่ง และกลายเป็นไม้เบื่อไม้เมากันมาตลอด

นานวันเข้า คณะกรรมการของมูลเลอร์ก็เข้าไปตรวจสอบลึกลงไป จนอาจเจอเบื้องหลังการทำธุรกิจของทรัมป์กับรัสเซียที่ไม่ค่อยถูกต้องตามกฎหมายนัก เมื่อกำจัดเล่นงานคณะกรรมการมูลเลอร์ไม่ได้ เครื่องมือสุดท้ายที่จะช่วยทรัมป์ให้รอดจากการถูกถอดถอนและไต่สวนความผิด (impeachment) ได้ ก็คือต้องทำให้สภาคองเกรสทั้งสองเป็นของรีพับลิกัน อย่าให้เสียงข้างมากเป็นของเดโมแครตได้ นี่เองคือแรงผลักดันให้ทรัมป์ต้องออกไปปลุกระดมฐานมวลชนฝ่ายขวาให้อยู่กับเขาตลอดไปให้ได้

เรื่องของทรัมป์จะเป็นตำนานและเรื่องเล่าในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกันไปอีกนานเท่านาน ด้วยว่าสิ่งที่เขาทำและพูดระหว่างอยู่ในตำแหน่งอันทรงเกียรติและอำนาจนี้ ไม่เคยมีอดีตประธานาธิบดีคนไหนในสองศตวรรษกว่าเคยพูดและทำ หรือคิดจะทำ เพราะมันเป็นการกระทำที่ไม่สง่างาม ไม่ทรงเกียรติ และไม่เคารพในหลักการแห่งรัฐธรรมนูญ ที่สำคัญคือเขาพูดโกหกตลอดเวลา และถูกจับได้ตลอดเวลาเช่นกัน ทำให้การเมืองเป็นเรื่องของเขาเอง ไม่ใช่เรื่องของเราเอง หรือเรื่องของคนอื่น

 

ทั้งหมดนี้ทำให้การติดตามการเมือง และการเคลื่อนไหวทางการเมืองในอเมริกาขณะนี้ เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเหมือนการตามข่าวการเมืองในประเทศทั่วไป เพราะประเด็นของข่าวที่สำคัญและมีผลกระเทือนมาก ทั้งในและนอกประเทศ มีออกมาทุกวันไม่ได้ขาด นับแต่โดนัลด์ ทรัมป์ขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งจะครบสองปีในต้นปีหน้า

เขาเป็นประธานาธิบดีคนแรก (และคงเป็นคนสุดท้าย) ที่ทำงานออกนโยบายและปฏิบัตินโยบาย ไปจนถึงคำสั่งต่างๆ จากห้องรูปไข่ในทำเนียบขาวเป็นหลัก แทบไม่ได้ทำงานร่วมหรือประสานกับฝ่ายนิติบัญญัติในรัฐสภาคองเกรสเลย

ว่าไปแล้ว ไม่เพียงแต่เขาไม่ต้องไปขอความร่วมมือในการผลักดันนโยบายบริหารจากคองเกรสเท่านั้น แม้กับเจ้าหน้าที่ ที่ปรึกษา ไปถึงข้าราชการอาวุโสในกระทรวงและหน่วยงานต่างๆ ก็ไม่ได้รับการปรึกษาหารือและร่วมกำหนดเนื้อหาของนโยบาย ทุกเรื่องทุกมาตรการและทุกวัตถุประสงค์ มาจากทรัมป์คนเดียวทั้งสิ้น ถึงขนาดที่ว่าประกาศเป็นข่าวไปแล้วทั่วโลก บรรดาเจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้องในระดับต่างๆ ถึงค่อยรู้ แล้วจึงพากันวิ่งขาขวิดเพื่อหาทางทำตามคำสั่งและประกาศเหล่านั้นให้ได้ เช่น การประกาศห้ามไม่ให้คนมุสลิมจากบางประเทศเข้าสหรัฐฯ เพราะภัยความมั่นคง เจ้าหน้าที่ปฏิบัติลำบากเพราะสุ่มเสี่ยง กระทั่งอาจละเมิดกฎหมายรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ เอง

นอกเหนือจากกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว เกือบสองปีที่ผ่านมา ทำเนียบขาวได้กลายเป็นดินแดนกระสุนตก โฆษกทำเนียบขาวแทนที่จะทำหน้าที่แถลงข่าวเป็นหลัก กลับต้องมาตอบคำถามและแก้ต่างให้กับประกาศและคำสั่งของประธานาธิบดี กระทั่งกลายเป็นการมีปากเสียงและทะเลาะกับบรรดานักข่าวแทบทุกอาทิตย์  

ทีมงานที่ทรัมป์แต่งตั้งให้มาช่วยทำงานในทำเนียบขาว ตั้งแต่สูงสุดคือประธานที่ปรึกษาความมั่นคง ที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจ ที่ปรึกษาพิเศษฝ่ายกฎหมาย ไปถึงโฆษกทำเนียบขาว ถูกไล่ออกและเปลี่ยนคนเป็นว่าเล่นแทบจะทุกเดือน ไม่เคยมีทำเนียบขาวยุคใดที่โกลาหลเท่านี้

นั่นคือสภาพการณ์ของการเมืองระดับสูงในอเมริกา ท่ามกลางบรรยากาศและความไม่สมานฉันท์ จนถึงการแยกขั้วและฝ่าย ระหว่างประธานาธิบดีซึ่งประกาศว่าอยู่ฝ่าย ‘ชาตินิยมผิวขาว’ รวมถึงพวกเอียงขวาสุดขั้ว ตามคำขวัญปลุกระดมของทรัมป์ว่าจะสร้าง “อเมริกาให้ยิ่งใหญ่” และ “อเมริกามาก่อน” กับอีกฝ่ายคือบรรดาสื่อมวลชนและกลุ่มประชาชนที่เป็นฝ่ายเสรีนิยม

 

เมื่อการเลือกตั้งระดับประเทศใกล้เข้ามา ทุกฝ่ายจึงระดมกำลังเข้าสู่การเลือกตั้งนี้ เพื่อแสดงให้ประจักษ์ว่าฝ่ายใดเป็นเสียงข้างมากหรือข้างน้อย ด้วยวิถีทางของการให้ประชาชนเป็นผู้เลือก และตัดสินใจว่าผู้นำทางการเมืองของเขานั้นควรจะเป็นใคร อย่างสันติและเป็นธรรมที่สุดเท่านั้น ระบบการเมืองจึงจะดำเนินไปได้โดยไม่หันไปสู่การใช้กำลังอาวุธและเล่ห์กลอันฉ้อฉลต่างๆ เพื่อจะรักษาอำนาจนั้นไว้

จากสภาพการณ์ทางการเมืองที่ขัดกันอย่างแรง และประธานาธิบดีเองลงมาเล่นการเมืองมวลชนแบบถึงลูกถึงคน และไม่มีเมตตาธรรมต่อฝ่ายเห็นต่าง ผู้คนมากหน้าหลายตาที่ตกเป็นเป้าการโจมตีของทรัมป์ จึงเข้ารณรงค์ในการเลือกตั้งนี้อย่างดุเดือดและมุ่งมั่นมากกว่าครั้งก่อนๆ

แน่นอนว่าฝ่ายที่คึกคักและเอาจริงเอาจังอย่างมาก ได้แก่พรรคเดโมแครต ซึ่งเป็นพรรคเสียงข้างน้อย ทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ทำให้พรรคตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบในการผลักดันนโยบายต่างๆ เพื่อประชาชนในเขตเลือกตั้งให้ผ่านคองเกรสได้ กระทั่งนโยบายสำคัญ เช่น โอบามาแคร์ หรือการรักษาพยาบาลที่เปิดกว้างให้แก่คนที่มีปัญหามากที่สุด ก็ถูกรีพับลิกันและประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์หาทางยกเลิก แต่ยังทำไม่ได้ทั้งหมด ยังดำเนินการต่อมาได้ แต่ไม่เต็มที่ตามที่เดโมแครตต้องการ

แต่ที่หนักหนาสาหัสที่สุด ได้แก่การที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ออกมาใช้อำนาจของฝ่ายบริหารตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งคืออำนาจอันเป็นอภิสิทธิ์ของประธานาธิบดี ในการดำเนินนโยบายอะไรก็ได้ตามความพอใจ โดยไม่ต้องปรึกษาและผ่านรัฐสภาคองเกรส

นโยบายของทรัมป์กล่าวอย่างรวบรัดคือ นโยบายที่ต่อต้านผู้อพยพจากภายนอก ทั้งถูกและผิดกฎหมาย ต่อต้านผู้ลี้ภัยจากประเทศมุสลิมในตะวันออกกลางและแอฟริกา กีดกันและดูถูกคนกลุ่มน้อย สตรี และคนเพศที่สาม ส่วนทางด้านเศรษฐกิจ ก็หันกลับไปสนับสนุนการผลิตพลังงานจากฟอสซิล เช่นการขุดเจาะน้ำมัน ถ่านหิน อันเป็นที่มาของโลกร้อนและมลพิษ โดดเดี่ยวมิตรประเทศดั้งเดิมของสหรัฐฯ และหันไปเอาใจรัสเซียแทน โดยทั้งหมดนั้น ทรัมป์ประกาศว่าจะทำให้ “อเมริกายิ่งใหญ่” อีกครั้งหนึ่ง

สำนักข่าวต่างๆ พากันออกมาทำนายผลการเลือกตั้งเป็นการใหญ่ ส่วนใหญ่สรุปตรงกันว่า คราวนี้สมาชิกพรรคเดโมแครตมาแรง รวมทั้งคนอเมริกันในเขตเมืองและชานเมือง สตรีที่มีการศึกษาสูง ซึ่งรับไม่ได้กับวิธีการทำงานและความคิดแบบขวาชาตินิยมคับแคบ รวมถึงการต่อต้านผู้อพยพและคนกลุ่มน้อยต่างๆ ของทรัมป์ คาดว่าคนส่วนนี้ซึ่งก่อนนี้เคยลงคะแนนเสียงให้ทรัมป์ จะไม่ออกไปลงคะแนนให้รีพับลิกันอีก จึงมีความเป็นไปได้ที่การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคราวนี้ พรรคเดโมแครตจะได้ชัยชนะ

ถ้าได้ที่นั่งเพิ่มอีก 23 ที่นั่ง ก็จะได้คุมเสียงข้างมากในสภาล่าง นั่นคือเดโมแครตจะกลับมาเป็นเสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ ส่วนวุฒิสภานั้น รัฐที่เคยเป็นฐานเสียงของรีพับลิกัน คาดว่ายังรักษาคะแนนไว้ได้ โอกาสที่ผู้สมัครของพรรคเดโมแครตจะแย่งกลับไปนั้นค่อนข้างยาก

ข้อแตกต่างระหว่างการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภากับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คือฝ่ายแรกเป็นผู้แทนของประชาชนในแต่ละรัฐก็จริง แต่การทำงานทางนโยบายนั้นหนักไปในระดับประเทศและต่างประเทศ ไม่เสียเวลาไปยุ่งกับประเด็นปัญหาร้อยแปดพันประการในมลรัฐและเมืองต่างๆ ในรัฐตัวเองเหมือนกับสมาชิกสภาผู้แทนฯ ทำให้การโจมตีและโค่นล้มสมาชิกวุฒิสภาเป็นเรื่องยาก และต้องใช้เวลานานกว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ด้วยปัจจัยที่ว่ามา จึงเป็นไปได้ว่าการเลือกตั้งกลางเทอมนี้ คงยังไม่สามารถล้มเสียงข้างมากของรีพับลิกันในวุฒิสภาลงไปได้ แต่ถ้าเกิดเหตุอัศจรรย์ที่ทำให้เดโมแครตได้ชัยชนะในวุฒิสภา ไม่ว่าด้วยเหตุอะไรก็ตาม ก็ต้องถือว่าฟ้ามีตา และชะตากรรมของรัฐบาลทรัมป์จะถูกตัดสินในชาตินี้ ไม่ต้องรอไปชาติหน้า

ส่วนการเลือกตั้งผู้ว่าการรัฐนั้น นัยสำคัญคือการขีดเส้นแบ่งเขตเลือกตั้งครั้งต่อไป ซึ่งก็คือการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2020 พรรคที่ครองการบริหารมลรัฐได้มากกว่า จะมีโอกาสในการขีดเส้นแบ่งเขตเลือกตั้งที่จะเป็นคุณต่อพรรคของตนในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้า นี่เองเป็นเหตุผลสำคัญที่ทรัมป์ต้องออกไปปลุกระดม ช่วยหาเสียงให้ผู้ว่าการรัฐที่สนับสนุนเขาด้วย

 

แล้วผลการเลือกตั้งกลางเทอมก็ออกมาว่าพรรคเดโมแครตกลับมาครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้สำเร็จ ส่วนวุฒิสภายังตกเป็นของพรรครีพับลิกัน จากนี้พรรคจะทำอะไรต่อไป

พิจารณาจากผู้สมัครหน้าใหม่ที่สร้างแรงกระเพื่อมตั้งแต่การเลือกตั้งไพรมารี่โหวตของเดโมแครต ที่พวกเขาและเธอได้รับชัยชนะอย่างไม่คาดคิด หลายคนเป็นผู้สมัครที่ไม่มีชื่อเสียงอะไรมาก่อน อ่อนทั้งคุณวุฒิและวัยวุฒิ โดยรวมๆ เป็นคนจากกลุ่มที่สังคมเรียกว่าคนส่วนน้อย คือสตรี คนผิวสี และ LGBT รวมทั้งหมด 410 คน  เป็นสตรีมากถึง 272 เป็นคนผิวดำ ฮิสแปนิค เอเชียน อินเดียนพื้นเมือง หรือพหุเชื้อชาติ รวม 215 คน และมี 26 คนระบุโดยเปิดเผยด้วยว่าเป็นเลสเบียน เกย์ ไบเซ็กชวล แปลงเพศ เรียกว่าเป็นความหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริง

แล้วคนผิวขาวมีเท่าไร คำตอบคือร้อยละ 58 ซึ่งเป็นสถิติที่ต่ำที่สุดในการเลือกตั้งที่มีมา เมื่อเป็นเช่นนี้ แนวโน้มของการเดินนโยบายของพรรคเดโมแครตในสภาคองเกรส จึงมีแนวโน้มในการสนับสนุนความหลากหลาย และคัดค้านการเล่นงานคนกลุ่มน้อยต่างๆ อย่างที่ทรัมป์และรีพับลิกันได้กระทำมา  

ในสถานการณ์เฉพาะหน้า สิ่งแรกที่พรรคเดโมแครตจะดำเนินการ คือการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลทรัมป์อย่างเต็มที่ (oversight) ตั้งแต่การใช้อำนาจของประธานาธิบดีในเรื่องที่ละเมิดรัฐธรรมนูญ ผลประโยชน์ของทรัมป์และครอบครัวที่ทับซ้อนกับของรัฐ การสนับสนุนกลุ่มขวาสุดขั้วและชาตินิยมผิวขาว การละเมิดสิทธิของเด็ก ผู้หญิง และครอบครัวที่ถูกแยกออกจากกัน จากข้อหาที่เป็นผู้อพยพเข้าเมืองผิดกฎหมาย

การตรวจสอบคราวนี้จะใช้อำนาจตามกฎหมาย เรียกดูเอกสารและข้อมูลทุกอย่างจากหน่วยงานรัฐได้ (subpoena) การขัดขืนโยกโย้เป็นความผิดทางอาญา จึงยากที่จะถ่วงหรือบิดเบือนเรื่องให้หยุดชะงักได้ เหมือนดังที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้

ทั้งหมดนี้ ถ้าเหตุการณ์และการเลือกตั้งดำเนินไปด้วยดี วิกฤตและความระส่ำระสายของรัฐบาลทรัมป์ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ก็จะถูกตรวจสอบ กำกับ และควบคุม ทำให้การเมืองเข้าร่องเข้ารอย และจะเป็นบททดสอบใหญ่ว่า ระบบประชาธิปไตยในอเมริกายังมีพลังและอานุภาพอันละเมิดมิได้ของประชามหาชน เหมือนกับเมื่อตอนประกาศเอกราชจากอังกฤษอยู่อีกหรือไม่

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

17 Jul 2020

ร่วมรากแต่ขัดแย้ง ความบาดหมางระหว่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย

อรอนงค์ ทิพย์พิมล เขียนถึงความขัดแย้งระหว่างประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย ที่ทั้งสองประเทศมีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมร่วมกันหลายอย่าง จนนำไปสู่ความขัดแย้งในการช่วงชิงความเป็นเจ้าของภาษาและวัฒนธรรมมลายู

อรอนงค์ ทิพย์พิมล

17 Jul 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save