fbpx
for my final journey

For My Final Journey : ออกแบบความตายอย่างเข้าใจด้วยเทคโนโลยี

บทความชวนดูงานศิลปะและนวัตกรรมจากโลกที่หนึ่งที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีให้สังคมและชีวิตคนผ่านสายตานักออกแบบมัลติมีเดียจากโลกที่สามในนามกลุ่ม Eyedropper Fill

*บทความนี้มีเนื้อหาพูดถึงเรื่องความตาย ผู้ที่กำลังอยู่ในภาวะเปราะบางหรือซึมเศร้า โปรดหลีกเลี่ยงการอ่านหรืออ่านอย่างระมัดระวังทางความรู้สึก*

จนถึงวันนี้ โควิดไม่ใช่แค่โรคระบาด แต่กลายเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตของใครหลายๆ คน บางคนตกงาน ต้องเปลี่ยนเส้นทางอาชีพ สูญเสียรายได้ ไปจนถึงสูญเสียใครบางคนที่สำคัญในชีวิตไป รอยบากบนปฏิทินในปี 2020 ถึง ปี 2021 ของหลายคนกลายเป็นเครื่องหมายของความเจ็บปวดไม่มากก็น้อย สถานการณ์นี้บังคับให้เราใคร่ครวญความหมายของชีวิต และเผชิญหน้ากับสิ่งที่เรียกว่า ‘ความตาย’ มากขึ้น

แม้บางความตาย เราอาจชะลอหรือป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้ แต่เราทุกคนต่างรู้ดีว่า ความตายคือธรรมชาติของชีวิตที่ต้องเกิดขึ้นกับเราในสักวัน แต่กระนั้นการทำความเข้าใจและเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับความตายก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับทุกคน ส่วนหนึ่งเพราะบทสนทนาเกี่ยวกับความตายไม่เคยถูกนำมาพูดกันตรงๆ สักเท่าไหร่ หากเลี่ยงได้หลายคนก็เลือกที่จะเลี่ยงด้วยเหตุผลร้อยแปด ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อว่าการพูดถึงความตายเป็นเรื่องอัปมงคล หรืออาจยังไม่พร้อมรับมือกับความรู้สึกที่จะเกิดขึ้น ทั้งความกลัว ความเสียใจ ความกังวล เมื่อต้องพูดถึงความตายอย่างจริงจังและตรงไปตรงมา

ในช่วงเวลาแบบนี้ มีงานออกแบบและนวัตกรรมมากมายที่ช่วยให้คนเผชิญหน้ากับ ‘ความตาย’ อย่างปลอดภัย เพื่อรู้จัก เข้าใจ และเตรียมพร้อมรับมือกับกฎธรรมชาติที่ไม่ว่าใครก็หลีกเลี่ยงไม่ได้กันได้ง่ายขึ้น

เข้าใจความตาย

‘Death Anxiety’ หรือภาวะวิตกกังวลเกี่ยวกับความตาย คือภาวะทางใจที่คนสมัยนี้ประสบกันมากขึ้น จากสถานการณ์ที่ต้องรับมือกับโควิดที่ยังไม่มียารักษา หรือการเจ็บป่วยล้มตายที่มีให้เห็นทุกวันตามหน้าข่าว ที่ค่อยๆ กระเถิบวงเข้ามาใกล้ถึงเพื่อนของเพื่อน จนกระทั่งความตายเข้ามาเยี่ยมเยียนคนใกล้ตัวหรือแม้กระทั่งคนในครอบครัวของเรา สิ่งที่ว่าไปนี้ชวนให้เราเกิดความกังวลใจขึ้นมาได้ไม่ยาก ซึ่งความกังวลเกี่ยวกับความตายอาจไม่ได้บั่นทอนสุขภาพกาย แต่มันคือภาวะที่บั่นทอนสุขภาพใจ และหากความกังวลนี้อยู่กับเรานานไปอาจพาลกลายเป็นภาวะซึมเศร้าได้

“ผลสำรวจพบว่า 1 ใน 5 คน ครุ่นคิดเกี่ยวกับความตายมากขึ้นในช่วงการระบาดของโควิด ในขณะที่มี 1 ใน 3 คนคิดเกี่ยวกับความตายอย่างน้อยสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง และกว่า 80% เลือกที่คิดเรื่องนี้อยู่คนเดียว มากกว่าจะพูดคุยเกี่ยวกับมัน”

จากผลสำรวจดังกล่าวทำให้ Amanda Gore ผู้อำนวยการของครีเอฟทีฟเอเจนซี่ อย่าง The Liminal Space จับมือกับ The Academy of Medical Science หน่วยงานวิจัยเพื่อส่งเสริมสุขภาพในประเทศอังกฤษ พัฒนาแพลตฟอร์มช่วยเหลือผู้ที่กำลังประสบภาวะวิตกกังวลเกี่ยวกับความตายให้สามารถเริ่มต้นบทสนทนาเรื่องความตายกับครอบครัว เพื่อน หรือคนใกล้ชิดได้อย่างปลอดภัย ในรูปแบบของเว็บไซต์ที่ชื่อ ‘Life Support’

“เราจะรู้สึกแบบไหนตอนกำลังตาย”
“ถ้าอยากเปิดบทสนทนาเรื่องความตายกับแม่ตัวเองต้องทำยังไง”
“ต้องตอบว่าอะไรเมื่อลูกถามเกี่ยวกับความตาย”
“เราเลือกวิธีการตายได้ไหม”
“ฉันจะรู้ได้ยังไงว่าตัวเองกำลังจะตาย”
“ถ้าฉันตายไปที่บ้านจะเสียใจมั้ย”

เว็บไซต์จั่วหัวด้วยการชวนคุยผ่านชุดคำถามที่คนถามกันบ่อยเกี่ยวกับความตาย โดยแต่ละคำถามจะนำเราไปสู่คำตอบ อันที่จริงเรียกว่า ‘คำตอบ’ อาจจะไม่ถูกนัก เรียกว่าเป็นมุมมองที่หลากหลายที่มีต่อคำถามนั้นๆ อาจจะตรงกว่า – ตั้งแต่ถ้อยคำจากหนังสือ เสียงจากผู้เชี่ยวชาญ อย่าง หมอ นักจิตวิทยา นักฟิสิกส์ ไปจนถึงผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมาย นอกจากนี้ยังมีเทคนิคในการเริ่มบทสนทนากับครอบครัวหรือคนใกล้ชิดว่าด้วยหัวข้อนี้ หรือแม้กระทั่งสิ่งที่เราต้องถามเพื่อคุยกับตัวเองเกี่ยวกับความตาย ทั้งหมดนี้ผู้ใช้สามารถดาวน์โหลดข้อมูลออกไป หรือแชร์กับคนรอบข้างได้ ถ้าเห็นว่าเป็นประโยชน์

ย้อนไปในปี 2019 The Liminal Space และ The Academy of Medical Science เคยพัฒนาโปรเจกต์ที่ช่วยให้คนสามารถเปิดอกคุยเรื่องความตายกันได้ง่ายขึ้นในรูปแบบ Pop-up exhibition มาก่อนในชื่อ The Departure Lounge โดยจัดขึ้น ณ ห้าง South London ประเทศอังกฤษ นิทรรศการรวบรวมเอาคำถามเกี่ยวกับความตาย ทั้งในทางวิทยาศาสตร์การแพทย์และในเชิงอารมณ์ความรู้สึกมานำเสนอผ่านเสียง วิดีโอ และการออกแบบคอนเทนต์ที่สนุกและเข้าใจง่าย

โดยใช้การออกแบบในธีมสนามบิน (ล้อกับคำว่า Departure) เพื่อสื่อสารว่า ความตายก็ไม่ต่างจากการเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางที่ไม่มีใครรู้ สิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดในทริปนี้ คือการเตรียมสัมภาระ (หรือความรู้เกี่ยวกับความตาย) ของเราให้พร้อม นิทรรศการมีทั้งส่วนที่ให้ข้อมูลและให้ผู้คนฝากเรื่องราวของตัวเองทิ้งไว้หลังชมนิทรรศการจบ ด้วยคำถามที่เรียบง่ายอย่าง 

“For my final journey, I would like..”
ในการเดินทางครั้งสุดท้าย เราอยากให้มันเป็นอย่างไร ?

เข้าใกล้ความตาย

ในขณะที่ Life Support ทำให้เรา ‘รู้จัก’ ความตาย แต่ก็ใช่จะทำให้เรา ‘รู้สึก’ เกี่ยวกับมัน เพราะความตายไม่มีรอบซ้อมใหญ่ เส้นตายคือสิ่งที่ยังไม่เคยมีใครไปถึง และเมื่อไปถึงเราก็ไม่อาจหวนกลับ

‘ความไม่รู้’ ทำให้ความตายกลายเป็นเรื่องที่ ‘น่าหวาดกลัว’

นักออกแบบอย่าง Frank Kolkman จึงเกิดคำถามที่ว่า ถ้าคนได้โอกาสสัมผัสประสบการณ์ใกล้เคียงกับความตาย พวกเขาจะรู้สึกกลัวมันน้อยลงหรือไม่ เขาจึงหยิบเรื่องเล่าประสบการณ์ที่ถูกนำมาเล่าต่อบ่อยๆ ของผู้คนที่เคยเฉียดเข้าใกล้ความตายหลายคน อย่างประสบการณ์วิญญาณออกจากร่าง หรือ out-of-body experience มาจำลองขึ้นใหม่ด้วยเทคโนโลยี Virtual Reality ในชื่อ ‘Outrospectre’

ผู้ทดลองจะยืนและสวมแว่น Virtual Reality ไว้ โดยเบื้องหลังคือหัวจำลองที่ติดตั้งกล้อง 360 องศาไว้บริเวณดวงตา หัวจะทำหน้าที่เคลื่อนจากจุดเริ่มต้นคือหลังท้ายทอยของผู้เข้าร่วมออกไปไกลขึ้นเรื่อยๆ และส่งภาพนั้นกลับมายังแว่นที่ผู้ทดลองสวมอยู่ สิ่งที่ผู้ทดลองจะเห็น คือภาพแทนสายตาของเราที่กำลังลอยออกห่างจากร่างกายของตัวเราเอง ผู้เข้าร่วมสามารถมองและได้ยินเสียงรอบๆ ในจุดที่ร่างกายตัวเองไม่ได้ยืนอยู่ ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ Kolkman สร้างขึ้นเพื่อหลอกประสาทสัมผัสและทำให้เรารู้สึกเหมือนเป็นวิญญาณที่ไม่ได้อยู่ในร่างกาย

งานออกแบบนี้เป็นการทดลองสาธารณะหรือ Public experiment เพื่อเก็บข้อมูลผู้เข้าร่วม Kolkman ตั้งสมมติฐานว่า หากเรามีโอกาสเข้าใกล้ความรู้สึกกลัวและประสบการณ์ที่ใกล้เคียงกับความตาย เราก็น่าจะมีความกังวลลดลงและมีมุมมองที่เบาสบายขึ้นเกี่ยวกับมัน คล้ายกับคนที่เคยเล่นรถไฟเหาะ แล้วจดจำได้ว่าความรู้สึกเวลาอยู่ตรงนั้นน่ากลัวประมาณไหน จนทำให้การเล่นครั้งต่อไปง่ายขึ้น Kolkman บอกว่าการทดลอง Outrospectre อาจสามารถต่อยอดกลายเป็นเครื่องมือที่ช่วยแพทย์หรือพยาบาลสื่อสารให้ผู้ป่วยหรือญาติๆ ที่กำลังตกอยู่ในความกังวลสามารถเข้าใจประสบการณ์ของความตายมากขึ้นด้วย

ในปี 2020 พอดิบพอดีกับช่วงเริ่มต้นโควิด ไทยเองก็มีโปรเจกต์ที่ทำให้เราได้เรียนรู้ประสบการณ์ความตายอย่างลึกซึ้งกินใจและถูกพูดถึงมากมายอย่าง Deadline Always Exist เว็บไซต์เชิงปฏิสัมพันธ์ (Interactive website)  ที่สร้าง ‘แบบจำลองความตาย’ เล่าผ่านประสบการณ์วันสุดท้ายของชีวิตที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน 

ต่างจาก Outrospectre ที่พาเราเข้าใกล้ความตายผ่านประสบการณ์ทางภาพและเสียง Deadline Always Exist พาให้เราเข้าใกล้ความตายด้วยชุดคำถามที่เราถามตัวเองก่อนตาย เปิดโอกาสให้เราทบทวนความหมายและคุณค่าของชีวิตในวินาทีสุดท้าย อย่าง “หากไม่ได้กลับมา ยังมีเรื่องไหนที่ติดค้างหรือเสียดาย” หรือ “อะไรที่อยากจะบอกคนใกล้ตัวแล้วยังไม่ได้บอก”

แม้ประสบการณ์ในเว็บไซต์จะไม่ได้ทำให้เราเข้าใจความตายมากขึ้น แต่มันกลับทำให้เราเข้าใจตัวเองว่า สิ่งสำคัญในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ของเราคืออะไร

ชีวิตหลังความตาย

ในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา หลายประเทศทั่วโลกผ่านกฎหมาย ‘การุณยฆาต’ ให้สิทธิคนเลือกที่จะตายแทนการมีชีวิตอยู่อย่างทุกข์ทรมาน ในขณะที่บางประเทศกำลังอยู่ในขั้นพิจารณา พร้อมๆ กันผู้คนก็เริ่มมีมุมมองเกี่ยวกับความตายในแง่บวกมากขึ้น เพราะในเมื่อความตายคือกลไกธรรมชาติที่ต้องเกิดกับทุกคนในสักวัน เราจะทำให้ความตายกลายเป็นสิ่งที่ดีที่สุดกับตัวเอง คนที่ยังอยู่ และโลกใบนี้ได้อย่างไร

แนวคิด Death Positivity ทำให้เกิดงานออกแบบมากมายที่มอบทางเลือกให้ชีวิตหลังความตายของใครคนหนึ่งเกิดประโยชน์ที่สุด อย่าง Capsula Mundi กระเปาะรูปไข่ที่ทำจากวัสดุที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ออกแบบมาเพื่อบรรจุร่างกายของผู้เสียชีวิตแทนการใส่โลงเผาหรือฝังในสุสาน โดยก่อนตายเราและครอบครัวสามารถเลือกชนิดของต้นไม้ที่ชอบ เมื่อเราตายและนำกระเปาะไปฝัง ร่างกายของเราจะกลายเป็นสารอาหารหล่อเลี้ยงกระเปาะให้ต้นไม้ต้นนั้นเติบโตเป็นชีวิตใหม่ให้โลก และเป็นตัวแทนของตัวเราให้ครอบครัวที่ยังอยู่

นักออกแบบจากนิวยอร์กอย่าง Shaina Garfield มองว่า มนุษย์คือสปีชีส์เดียวที่ตัดขาดกับธรรมชาติยามสิ้นชีวิต ด้วยวิธีการจัดการศพในปัจจุบันอย่างการใส่โลงฝังดินหรือเผา ซ้ำยังปล่อยสารเคมีที่เป็นพิษกับธรรมชาติ จากน้ำยาที่ใช้ในการจัดการศพหรือคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาไหม้ ในขณะที่สัตว์ เมื่อตายร่างกายของมันสามารถกลับคืนกลายเป็นประโยชน์ต่อธรรมชาติได้ Garfield จึงออกแบบโลงศพที่ทำให้ร่างกายของเรากลับคืนสู่ธรรมชาติได้ง่ายขึ้น ด้วยวัสดุอย่างผ้าฝ้าย ไม้สน และเชือกถักที่ผสมสปอร์ของเห็ดรา เมื่อนำไปฝังในดิน เห็ดราเหล่านี้จะช่วยให้ร่างกายเราถูกย่อยสลายไวขึ้น ดูดซับสารเคมีที่เป็นพิษ และปล่อยออกไปเฉพาะสารอาหารที่เป็นประโยชน์กับดิน

นอกจากงานออกแบบและนวัตกรรมที่เป็นทางเลือกให้ผู้ตาย ยังมีงานออกแบบที่คิดเพื่อคนที่ยังอยู่ Neri Oxman สร้างงานศิลปะจากหน้ากากที่ได้แรงบันดาลใจมาจาก Death Mask ในวัฒนธรรมโบราณ ที่จะสวมใส่หน้ากากให้ผู้ตายและเก็บหน้ากากนั้นไว้เป็นสิ่งของแทนตัวตน ตัวหน้ากาก Vespers ผลิตขึ้นจากวัสดุพิเศษ เมื่อสวมมันเข้ากับผู้ที่กำลังจะตาย ลมหายใจสุดท้ายของเขาจะถูกบันทึกไว้ในรูปแบบของสีและลวดลายบนหน้ากาก เหมือนกับเราสามารถเก็บลมหายใจสุดท้ายของเขาไว้ได้ตลอดกาล

ปัจจุบันมีเทคโนโลยีมากมายที่ช่วยทำให้ตัวตนของผู้ที่จากไป ถูกบันทึกไว้ในรูปแบบของอะไรบางอย่างเพื่อทดแทนความรู้สึกของคนที่ยังอยู่ โครงการที่เพิ่งเริ่มพัฒนากันไปเมื่อปี 2017 อย่าง Augmented Eternity ที่ตั้งคำถามว่าจะเป็นอย่างไร หากเรานำฐานข้อมูลอย่างรูปภาพ เสียง วิดีโอ ไปจนถึงบุคลิก นิสัย วิธีการพูด ฯลฯ ของคนคนหนึ่งที่เคยถูกบันทึกไว้ยามมีชีวิตมาใช้เป็นฐานข้อมูลเพื่อให้ AI และ Machine Learning เรียนรู้ วิเคราะห์ และสร้างตัวตนจำลองหรือ Digital Identity ของคนๆ นั้นขึ้นมาใหม่ ไม่ว่าจะในรูปแบบเสียงสนทนา แชตบอต หรือโมเดลสามมิติที่ตอบโต้ได้ ไปจนถึงหุ่นยนต์ที่เหมือนคนคนนั้นทั้งรูปร่างหน้าตาและนิสัย 

นึกภาพว่าเราสามารถคุยกับอาม่าที่อยู่ในกรอบรูปได้เหมือนคุยกับอาม่าตัวจริง แชตกับเพื่อนสนิทที่จากไปก่อนได้ราวกับว่ามันยังมีชีวิต หรือหยอกล้อกับหุ่นยนต์ของคนที่เรารักได้เหมือนเขาไม่ได้จากไปไหน ถึงตรงนี้เริ่มไม่แน่ใจว่า ถ้ามีเทคโนโลยีที่ว่าขึ้นมาจริงๆ จะช่วยประคองใจคนที่ยังอยู่ หรือจะทำให้เรายึดติดจนไม่ยอมรับว่าความตายคือธรรมชาติของชีวิตกันแน่ เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องขบคิดกันต่อไป

อ้างอิง :

Life Support
Frank Kolkman
Five designs for a sustainable death
Neri Oxman’s Lazarus death masks visualise the wearer’s last breath

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save