fbpx
Under That Villain Mask : สอบปากคำ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ในวันที่ยังถูกมองเป็น 'ตัวร้าย’

Under That Villain Mask : สอบปากคำ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ในวันที่ยังถูกมองเป็น ‘ตัวร้าย’

เทพพิทักษ์ มณีพงษ์ เรื่อง

ปภัสรา เทียนพัด ภาพ

บอกตามตรงว่าการหาประเด็นไปคุยกับ แฟรงค์ – เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ไม่ใช่เรื่องง่าย

เพราะตลอดระยะเวลาสี่ปีที่เขาออกมากระตุกให้สังคมไทยเริ่มตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆ ที่คงอยู่มายาวนาน ตั้งแต่เรื่องทรงผมนักเรียนเมื่อสมัยเรียนอยู่มัธยมศึกษาปีที่สี่ (เนติวิทย์บอกกับเราว่านี่คือประเด็นที่ทำให้ชื่อของเขาเริ่มเป็นที่รู้จัก) เสนอให้ยกเลิกการเคารพธงชาติ ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร และอีกหลายต่อหลายประเด็น จนเขาก้าวเข้าสู่วัยอุดมศึกษาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (!) และสวมบทบาทประธานสภานิสิตของมหาวิทยาลัย (!) ให้คนได้อึ้งยกกำลังสอง

ดูเหมือนสื่อหลายต่อหลายเจ้าได้สัมภาษณ์เขาจนพรุนไปหมดแล้ว

แต่ความสงสัยส่วนตัวของเราที่ยังคาใจจนต้องขอไปคุย – แม้จะรู้ว่าหน้าช้ำ – คือคำถามที่ว่า ภายใต้ภาพลักษณ์ ‘ตัวร้าย’ ที่ใครหลายคนมองเนติวิทย์แบบนั้น ยังมีอะไรที่เขายังไม่ได้บอกกับเราไหม

อะไรที่ทำให้เขาดูไม่แข็งกร้าวเหมือนครั้งแรกที่ปรากฏตัวให้เราเห็นในรายการของสรยุทธ์ สุทัศนะจินดา อะไรที่ทำให้เขาเลือกเข้ามาอยู่ในมหาวิทยาลัยที่ดูจะติดภาพอนุรักษนิยม อะไรทำให้เขาเลือกเข้ามาอยู่ในสนามการเมืองที่เคยบอกเอาไว้ว่าไม่ชอบ และอะไรที่อยู่ในใจของตัวร้ายคนนี้เป็นความตั้งใจแบบ ‘ร้ายๆ’ จริงหรือเปล่า

นอกเสียจากในละครน้ำเน่าที่แบ่งการกระทำของตัวละครเป็นขาว-ดำอย่างชัดเจน เราเชื่อว่าคนปกติธรรมดาๆ ต่างมีความ ‘กลม’ อยู่ในคาแร็กเตอร์กันทั้งนั้น

และเด็กผู้ชายคนนี้ที่คุณอาจมองว่าเป็นตัวร้าย เขาก็ไม่ใช่ตัวร้ายแบบที่อยู่ในจอทีวีเสียหน่อย

งานในฐานะประธานสภานิสิตจุฬาฯ ตอนนี้เป็นยังไงบ้าง

ว่างเกินไป คือถามว่ายุ่งไหม ก็ยุ่ง แต่ด้วยระบบที่มันยังไม่เรียบร้อย บางวันงานก็เยอะ บางวันก็น้อย บางวันไม่มีอะไรจะทำก็มี อย่างตอนนี้ที่งานไม่ได้เยอะจนเกินไปก็เริ่มมีเวลาแปลหนังสือ เรื่องแรกชื่อ On Tyranny ของ Timothy Snyder ว่าด้วยเรื่องของทรราช จะป้องกันทรราชอย่างไร เค้าเล่า 20 บทเรียนจากประวัติศาสตร์ของยุโรป ซึ่งผมคิดว่าในตอนนี้ที่เราอยู่ภายใต้ยุคเผด็จการมาสามปีแล้ว เราต้องเรียนรู้

อีกเล่มนึงเป็นงานของ หลิวเสี่ยวโป ที่เพิ่งเสียชีวิตไป กำลังแปลและขอลิขสิทธิ์จากหลายๆ ที่ ซึ่งน่าสนใจมาก เพราะหลิวเสี่ยวโปเคยเป็นคนที่ชื่นชอบตะวันตกสุดๆ แต่สุดท้ายเค้าเองก็ตั้งคำถามว่าตะวันตกขาดอะไรบางอย่างไปหรือเปล่า มันน่าสนใจในมุมมองของเค้า ยิ่งประเทศไทยกับจีนในตอนนี้มีความคล้ายคลึงกันขึ้นทุกวันๆ งานของเขาก็น่าจะค่อนข้างมีความสำคัญขึ้นมา

ไปรับงานนอกมาเหรอ

มันมีเจตจำนงบางอย่างเกิดขึ้น ผมเห็นสถานการณ์บ้านเมืองเป็นแบบนี้แล้วรู้สึกว่าเราอยู่มาตั้งหลายปี ทำไมเราไม่ก้าวไปข้างหน้าซักที มันเป็นเพราะอะไร เลยคิดว่าเป็นเพราะเราขาดองค์ความรู้อะไรบางอย่าง เรายังไม่พัฒนาการเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ จากเพื่อนบ้าน หรือจากประเทศอื่นๆ ที่เพียงพอหรือเปล่า ในฐานะที่เป็นนักกิจกรรมคนหนึ่ง ก็เลยอยากจะทำอะไรบางอย่างขึ้นมา

แล้วเป็นความตั้งใจด้วยรึเปล่าที่เข้ามาอยู่ในจุดที่มีบทบาททางการเมืองของมหาวิทยาลัยขนาดนี้

ความตั้งใจของผมคืออยากให้ประเทศนี้ดีขึ้นนะ เป็นความตั้งใจตลอดมาเลย ผมรู้สึกเสมอว่าเราไม่ได้ใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่ ผมเห็นปัญหาแล้วทนไม่ได้ตั้งแต่สมัยอยู่ในโรงเรียน ทำไมโรงเรียนไม่ทำให้การศึกษาดีขึ้น มันทำได้ทั้งนั้น เราไปกดทับเด็ก ให้ครูเป็นคนที่รู้ดีที่สุดตลอด มันสร้างอะไรหลายอย่างที่สืบทอดกันต่อมาเรื่อยๆ

ผมเห็นความเป็นไปได้ในเชิงบวกของการศึกษาไทยและการเมืองไทยมาตลอด มันมีวิธีพลิกไม่เยอะหรอก เพียงแต่คนไม่กล้าที่จะทำ ไม่กล้าที่จะคิดอะไรที่นอกกรอบจากที่เคยผ่านมา ผมเลยค่อนข้างมีความหวังในเรื่องนี้ เพราะมันก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่ยากเกินไปด้วย

เคยบอกว่าแต่ก่อนไม่ชอบการเมืองเลย อะไรทำให้เป็นแบบนั้น

ผมเป็นคนชอบอ่าน ส่วนใหญ่อยู่แต่กับการอ่านหนังสือ ตอนนั้นก็ค่อนข้างจะอยู่ในกลุ่มที่เกลียดนักการเมืองด้วย ผมเห็นพวกนักการเมืองในสภาพูดจาไม่ค่อยรู้เรื่อง บางทีก็ด่าทอ มีเรื่องผลประโยชน์เต็มไปหมด พอเรามองอย่างนั้นก็เลยไม่ค่อยชอบ ผมอยู่ในโลกวิชาการ วิพากษ์วิจารณ์ เขียนนั่นนี่สนุกกว่าเยอะ รู้สึกว่าเรา ‘บริสุทธิ์’ กว่า แม้กระทั่งจะเป็นประธานสภานักเรียนตอนนั้นผมยังไม่อยากเป็นเลย เคยเป็นอยู่แค่เกือบเจ็ดวันนะ แต่ก็ยังรู้สึกขยาดตัวเอง ถ้าทำอะไรไม่ได้แล้วจะมาเป็นทำไม ความรู้สึกตอนนั้นมันรุนแรงมาก

แต่พอเกิดรัฐประหารขึ้น ก็ต้องมาทบทวนเยอะเหมือนกันว่าในฐานะที่ผมจะเคลื่อนไหวเรื่องการศึกษา ถ้าการเมืองมันไม่มีเสถียรภาพ นักการเมืองเป็นคนเลวในสายตาคนแบบนี้ มันจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นไม่ได้เลย มันยิ่งจะแบ่งแยก แบ่งกลุ่มคนเข้าไปใหญ่ มันจะไม่มีวันจบถ้าเราไม่ทำอะไรซักอย่างนึง มันเลยนำมาสู่การที่ผมจะต้องทำบางอย่างทางการเมือง ทำให้การเมืองมันดีขึ้น ผมได้อิทธิพลทางความคิดนี้มาเยอะจาก Bernie Sanders ซึ่งเค้าพยายามทำ หรือ Jeremy Corbyn หัวหน้าพรรคแรงงานของอังกฤษที่กำลังทำอยู่เหมือนกัน

ผมรู้สึกว่าการเมืองแห่งความหวัง การเมืองที่รวมคนไว้ด้วยกัน มันเป็นไปได้

พอเข้ามาลองทำจริงๆ มันตรงกับที่คิดไว้ไหม

มันเป็นไปได้ครับ ซึ่งก็แล้วแต่มุมมองคน และอันนี้สำคัญนะครับ narrative หรือเรื่องเล่าส่วนตัวจะกำหนดตัวตนของแต่ละคน ดังนั้นสำหรับผม เรื่องเล่าของผม สิ่งที่ผมเห็นคือเรื่องที่มันมีแต่ความหวังทั้งนั้น ผมก็เลยมีความหวังกับชีวิต

เรื่องราวภายในสภานิสิตที่เพิ่งเป็นประเด็นไป ทำให้มุมมองเกี่ยวกับการเมืองของคุณเปลี่ยนรึเปล่า

เคยมีนักปราชญ์คนนึงคือ Leszek Kowalski บอกเอาไว้ว่า In politics, being deceived is no excuse. คือคุณไม่สามารถมากล่าวโทษ ขอโทษขอโพยได้หรอกถ้าคุณ ‘ถูกหลอก’ ทางการเมือง คุณจะเล่นการเมืองคุณต้องรู้ว่าจะเล่นยังไง อันนี้เป็นสิ่งที่คนที่จะเข้ามาในวงการการเมืองทั้งหลายควรจะรู้

ผมไม่ได้บอกว่าการเมืองเป็นสิ่งไม่ดีนะ มันสามารถทำให้ดีได้ แต่คุณต้องรู้ว่ามีอะไรที่ไม่ดีเยอะในระบบ มันไม่ได้ง่าย ยิ่งในระบอบประชาธิปไตย สิ่งสำคัญคือคุณต้องมีวาทศิลป์ด้วย ต้องสามารถโน้มน้าวให้เห็นว่าอันนี้เหตุผลดีกว่า อันนี้เหตุผลแย่กว่า

แน่นอนว่ามันอาจจะมีปัญหาในเรื่องพวกนี้ แต่ขณะเดียวกันมันก็เป็นระบบที่ดีที่สุดเท่าที่มันดำเนินไปได้ เราต้องรู้จักมันก่อน กรณีดราม่าที่เกิดขึ้น เราก็จัดการปัญหาให้รวดเร็วที่สุด แต่มุมมองทางการเมืองของผมก็ไม่ได้เปลี่ยน ผมยังเห็นว่ามันเป็นอะไรที่ดีงามด้วยซ้ำไป ว่านี่แหละ เราได้เห็นเลยว่ามันมี ‘การเมือง’ อยู่จริงๆ

ไม่รู้สึกแปลกๆ เหรอที่ปัญหาภายในองค์กรดันกลายเป็นประเด็นที่คนนอกเอาไปเมาท์กัน

มองในแง่ดีก็ได้ครับ ผมว่าสภาอื่นๆ ก็ควรจะทำแบบนี้รึเปล่า คือถ้ามีปัญหาก็เปิดเผยให้คนได้เห็น จะได้ช่วยกันด้วยว่าสิ่งที่เราเชื่อ สิ่งที่เราตัดสินกัน ถูกต้องหรือเปล่า เราก็ต้องฟังมติมหาชน เราบอกว่ามหาวิทยาลัยเป็นแหล่งความรู้ แหล่งความรู้นี้ก็มาจากภาษีของประชาชนจำนวนหนึ่ง เราสามารถจะเปิดเผยข้อมูลได้มั้ย

ผมว่าการเมืองที่ดีจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อองค์กรต่างๆ เปิดเผย โปร่งใสมากขึ้น รับฟังปัญหาต่างๆ เพราะเดี๋ยวนี้สังคมของเรามันไม่ได้เหมือนเมื่อก่อนแล้ว คนมีความรู้ความเชี่ยวชาญเยอะแยะไปหมด ถ้าเราอยากจะให้องค์กรดีขึ้น เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เราก็ต้องฟัง

ได้ลองสำรวจตัวเองบ้างไหมหลังโดนวิพากษ์การทำงานจากเพื่อนร่วมงานรอบนี้

มันก็มีส่วนจริงครับ ต้องยอมรับ เพียงแต่ว่าคนอื่นเค้าไม่พูดมั้ง แต่คนนี้ [อดีตเลขาธิการสภานิสิตฯ] เค้าดันพูดออกมา บางอย่างก็น่าสนใจ แต่ก็ไม่ได้ตรงร้อยเปอร์เซ็นต์นะครับในความเห็นของผม ที่น่าสนใจเช่นเค้าอาจจะรู้สึกว่าตรงนี้มันดูแรงไปรึเปล่า เราให้งานเค้าเยอะไปรึเปล่า เค้าอาจจะคิดว่าเราเป็นเผด็จการ แต่จริงๆ มันไม่ใช่ปัญหาแค่นี้ มันเป็นสิ่งที่คุยกันได้ คือถ้าคุณรู้สึกว่าสิ่งที่คุณได้รับมอบหมายมันเยอะ เราอยู่ด้วยความเสมอภาค ทุกคนเสมอภาคกัน ไม่ได้มีใครเป็นลูกน้องใครทั้งนั้น เราก็คุยกัน มันก็จบ

ผมก็รู้สึกขอบคุณเค้าเหมือนกันนะที่ให้คำแนะนำที่ดี ทำให้ผมต้องระมัดระวังมากขึ้นเหมือนกันในเวลาทำงาน ผมก็ชมเค้าในการประชุมครั้งนั้น ที่เค้าบอกว่าผมสรรเสริญฯ รัชกาลที่ห้า นั่นก็เรื่องจริง (ยิ้ม)

ที่บอกว่าคนอื่นไม่พูด เป็นเพราะรอบตัวมีแต่คนที่มีความคิดคล้ายๆ กันรึเปล่า

จริงๆ ผมอยู่ในสถานะที่ดีมาก ในแง่ที่ว่าผมถูกคนด่าเยอะกว่าคนชม คนจ้องจะโจมตีผมตลอดแม้กระทั่งคนในจุฬาฯ จะออกแถลงการณ์อะไรก็มีคนคัดค้านตลอด ผมว่าผมก็รับฟังนะ ได้รับคำแนะนำจำนวนหนึ่ง ไม่ใช่ว่าได้รับแต่คำสรรเสริญหรือคนรอบข้างไม่ตักเตือน คนที่เป็นเพื่อนกันเค้าก็เตือนนะครับ เพราะหลายอย่างผมอาจจะไม่ได้รู้เรื่อง เค้าก็บอก แนะนำในสิ่งที่มันดีกว่า

ผมไม่ค่อยเจอคนที่เป็นเพื่อนกันแล้วโอเคกับสิ่งที่ทำโดยที่ไม่เตือนอะไรเลย แบบนั้นเป็นสิ่งที่ผมไม่ชอบด้วยซ้ำไป คนที่ชอบอวย โอ้โห ทำอะไรก็ดี ผมว่าคนพวกนี้ไม่มีประโยชน์เอาเลย ที่โชคดีคือคนรอบข้างผมไม่เป็นแบบนั้น แต่ละคนก็ค่อนข้างเป็นตัวของตัวเองในระดับหนึ่ง เค้าก็กล้าพูดในสิ่งที่คิดออกมา

ถ้าให้ย้อนมองตัวเองหลังเข้ามาอยู่ในการเมืองซักพัก จะวิจารณ์เนติวิทย์ว่าอะไร

ผมอาจจะเป็นคนที่อัธยาศัยไม่ค่อยดีกับคนที่ผมยังไม่ค่อยรู้จักเท่าไหร่ อย่างที่บอกว่าผมอยู่ในโลกทางวิชาการ นั่งอ่านหนังสือซะมากกว่าจะไปคุยกับคน แล้วผมไม่ชอบการที่จะมาเยิ่นเย้อ ความเวิ่นเว้อของสังคมที่เป็นอยู่ อะไรหลายๆ อย่างผมรู้สึกรับไม่ได้ รู้สึกว่ามันไร้สาระ

แต่ผมก็ต้องพยายามอดทนเพื่อที่จะคุยบางอย่างที่มีสาระให้ได้ เพราะถ้าตัดบท ไม่คุย ไม่สนทนา ก็เกิดความเข้าใจกันไม่ได้

บางทีเราก็ต้องอาศัยเวลา หรือเรื่องพิธีการต่างๆ บางอันก็ไม่ได้เป็นเรื่องสำคัญสำหรับผมนะ แต่สำหรับหลายๆ คนมันเป็นพิธีการเพื่อใช้ ‘สื่อสาร’ กันในรูปแบบนึง เราก็ต้องพยายามที่จะเข้าใจเค้าให้ได้ ต้องอดทนอดกลั้นมากขึ้น รวมถึงอาจจะต้องมีอัธยาศัยที่ดีขึ้น

จากเรื่องที่เกิดขึ้น คุณเชื่อว่าเราควรแยก ‘ดราม่า’ ออกจากการ ‘ดีเบต’ ไหม

ดราม่าไม่ได้เลวร้ายตลอดนะครับ อารมณ์มนุษย์ไม่ได้เลวร้ายตลอด เราต้องคิดเสมอว่าทุกอย่างเกิดดราม่าได้ ยิ่งในสังคมไทย สิ่งที่เราคิดว่าดีก็อาจจะเกิดดราม่า แต่พอเกิดดราม่าขึ้นแล้วเราพอจะชักจูงให้มันเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นได้ไหม ให้อารมณ์ของสาธารณะเป็นไปในเชิงบวกมากขึ้นได้ไหม ถ้าทำได้ก็ถือว่าดี

แสดงว่าคุณก็ใช้ดราม่าในการทำกิจกรรมต่างๆ ด้วย

บางครั้งเราก็อยากให้มันมีดราม่านะ แต่ไม่ใช่ทุกครั้ง (หัวเราะ) บางทีเราไม่ได้ตั้งใจแต่ก็ดันดราม่า แต่ผมคงเป็นตัวแสดงที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ในการสร้างดราม่า คนรังเกียจเยอะเหมือนกัน ผมเองคงไม่ได้เป็นผู้ร้ายอันดับหนึ่ง เพราะเค้าก็คงมีที่หนึ่งในใจอยู่แล้ว อย่างทักษิณ ชินวัตร หรือ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อะไรอย่างนี้ ผมอาจจะเป็นผู้ติดตาม เป็นตัวร้ายท้ายแถวหน่อย

อะไรทำให้ท่าทีของคุณดูเปลี่ยนจากสมัยมัธยมที่เราเคยเห็นว่าเป็นคนแข็งกร้าวมากๆ

ไม่แน่ใจนะ มันเปลี่ยนไปเองมากกว่า พอเราเห็นสังคมแบบนี้ เราเริ่มเห็นมากขึ้นว่าวิธีการเปลี่ยนแปลงมันจะต้องมีความเมตตา ความกรุณาให้สูงขึ้น อดทนอดกลั้นมากขึ้นจากเดิม

เราต้องรู้สึกว่าตัวเราไม่ได้ถูกเสมอ และสิ่งที่เค้าคิดก็อาจจะไม่ได้ผิด เราอาจจะต้องรู้จักภูมิหลังของเค้า พอคนมันแตกต่างกัน มันก็ทำให้การสื่อสารของเราเปลี่ยนไป

หรืออาจเป็นเพราะสภาพแวดล้อมที่บีบคั้นเหลือเกินอย่างช่วงตอนมอหก เป็นช่วงที่มันบีบคั้นชีวิตเยอะ เพราะเราก็เรียนกับรุ่นน้อง ในขณะที่เพื่อนรุ่นเดียวกันจบไปหมดแล้วเพราะผมไปอินเดียมาเจ็ดเดือน มันเลยรู้สึกแย่ จะจบจากโรงเรียนที่อุตส่าห์ด่ามาตั้งหลายปี จะไม่ได้ด่าเค้าอย่างตรงไปตรงมาอีกแล้ว ใกล้จะเข้ามหาลัยด้วย ตัวผมเองก็ไม่ได้ฉลาดเท่าไหร่นะครับ ไม่รู้ว่าจะสอบได้ที่ไหน ทุกอย่างมันบีบคั้นไปหมด

จนผมเริ่มมองเห็นความเป็นไป เริ่มเปลี่ยนหลายๆ อย่างขึ้น เราต้องรับฟังรุ่นน้องมากชึ้น เข้าใจเค้า ผมเองก็พยายามสนใจในสิ่งที่เค้าทำ

พูดถึงการที่เราควรเข้าใจกันมากขึ้น คุณว่าเป็นปัญหาของทั้งฝ่ายซ้ายและขวาไหมที่ขาดจุดนี้กันไป

เป็นปัญหาของคนทั้งโลกครับ จะคนดำคนขาว หรือคนเพศต่างๆ เป็นปัญหากันทั้งนั้นในเรื่องนี้ แล้วก็ยากด้วยที่จะแก้ ซึ่งมันซับซ้อนมาก ถามว่าต้องเข้าใจกันไหม บางคนก็บอกว่าไม่ต้องเข้าใจกันก็ได้ แต่จริงๆ ผมว่าสำคัญ ผมคิดเหมือนนักปรัชญาชื่อ Isaiah Berlin ที่เค้าบอกเอาไว้ว่า We are free to criticize the values of other cultures, to condemn them, but we cannot pretend not to understand them at all.

คืออย่างน้อยที่สุด คุณต้องเข้าใจว่าเค้าคิดยังไง ผมว่าอย่างนี้แหละสังคมมันถึงจะอยู่กันได้ เมื่อเราเข้าใจกันในเชิงนี้ แต่แน่นอน เงื่อนไขสำคัญก็คือสังคมนั้นจะต้องไม่ใช่สังคมที่กลุ่มคนกลุ่มหนึ่งมาครอบงำคนอื่นๆ ด้วยเหมือนกัน

ที่บุคลิกคุณดูเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างนี้ เป็นกลยุทธ์ในการเข้าถึงคนเพื่อสื่อสารทางการเมืองอะไรรึเปล่า

ไม่นะ ผมไม่ได้พยายามทำให้ตัวเองป๊อบปูล่าร์ขึ้น เค้าชวนไปทำคลิปตอนนั้นก็ไป คือผมไม่ได้มีปัญหาอะไรที่จะทำแบบนี้ไงครับ ใครชวนอะไรผมก็ทำ มันเป็นประสบการณ์ชีวิต แต่มันก็ดันดังขึ้นมา

YouTube video

หรือที่ไปกดไลก์ฟรัง [นรีกุล เกตุประภากร] ก็เค้าหน้าตาดีผมเลยไปกดไลก์เค้า ก็เท่านั้นเอง ทำไมจะต้องทำให้มันเป็นประเด็น ที่เพิ่งไปเล่นหนัง ปฏิวัติหัวใจยัยตัวร้ายกับนายนักสู้ คือผมเคยคุยเล่นๆ กับคนที่ทำไงว่าถ้ามีหนังอะไรก็ชวนไปบ้างนะ พอชวนให้ไปเล่นจริงก็เลยไป

YouTube video

ผมไม่ได้มีความคิดว่าเออ … ต้องนำเทรนด์สังคม ไม่เคยคิดอย่างนั้นมาก่อน แต่กระแสต่างๆ มันออกไปในเชิงนั้น ซึ่งผมก็ไม่เสียหายอะไร แต่ยังไงหลักการก็ต้องมี ต้องไม่ไขว้เขว

โอเคไหมกับภาพลักษณ์แบบนี้

ดีนะ มองในแง่นึงมันก็ดีกับความเป็นมนุษย์ มีความเป็นเพื่อนกันมากขึ้น ค่อนข้างโอเค ผมเองก็ไม่ได้เสียอะไร แต่ถามว่าที่เป็นแบบเมื่อก่อนมันไม่ดีหรือเปล่า ก็ไม่ได้รู้สึกว่าสิ่งที่ทำมามันไม่ดี มันก็พัฒนาการไปเรื่อยๆ

แล้วการเข้ามาเรียนที่จุฬาฯ ล่ะ เป็นเพราะอยากลองมาทำอะไรบางอย่างที่นี่ใช่ไหม

ไม่ได้คิดขนาดนั้น เราไม่ได้คาดหวังอะไรสูงว่าเข้ามาแล้วจะต้อง… คือผมไม่เคยคิดว่าตัวเองจะเป็นธงนำการปฏิวัติอะไรนะ แต่พอเข้ามา เงื่อนไขหลายๆ อย่างมันก็ทำให้เราต้องมาทำงานตรงนี้

หรือเพราะอยากให้สังคมได้เห็นพลังของคนรุ่นใหม่ในทางการเมืองมากขึ้น

ถ้าอย่างนั้นน่าจะเป็นเป้าหมายของผมมากกว่า ให้คนเห็นว่าเราสามารถทำอะไรได้ ให้เห็นว่าคนที่เป็นที่รังเกียจของสังคมคนหนึ่งก็สามารถทำอะไรบางอย่างได้

ผมว่าตอนนี้เราวิพากษ์วิจารณ์กันมากมายเหลือเกิน ในโซเชี่ยลเน็ตเวิร์กต่างๆ เยอะแยะ แต่เงื่อนไขที่บีบคั้นตอนนี้คือรัฐบาลเผด็จการ ถ้าเราจะเปลี่ยน เราก็ต้องทำอะไรบางอย่างที่เป็นการรวมผู้คนเข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่และยากมาก แต่ผมก็พยายามทำสิ่งนี้ให้เห็นว่ามันมีแนวทาง ผมไม่อยากให้เราเห็นว่าการเมืองแบบรัฐสภา หรือการเมืองแบบทางการมันจะทำอะไรดีๆ ไม่ได้

คือนักกิจกรรมจำนวนหนึ่ง ซึ่งผมเองก็เคยเป็น มักจะเห็นว่าการเมืองกระแสหลักมันเป็นพวกบ้ายศบ้าอย่าง มันเป็นคนไม่ดี แต่กระแสหลักพวกนี้แหละที่มันมีอิทธิพลกับคนจำนวนมาก มันมีอำนาจบางอย่างที่มาพร้อมกับความเป็นทางการที่เราต้องเข้าใจ ดังนั้นผมเลยคิดว่าการที่เราเข้ามาที่นี่ ก็อาจจะทำอะไรได้บ้าง ให้ได้เห็นเป็นประวัติศาสตร์ของความพยายาม ส่วนจะสำเร็จหรือเปล่าก็เป็นอีกเรื่องนึง

เคยกลัวไหมว่าพอเข้ามาอยู่ในตำแหน่งใหญ่แบบนี้แล้วจะเริ่มใช้อำนาจตามใจตัวเอง

ไม่ค่อยกลัว เพราะคนจ้องจะจับผิดผมตลอดเวลามากกว่าที่จะสนับสนุนให้ใช้อำนาจอย่างไร้ขอบเขต

ความรับผิดชอบต่ออำนาจในมุมมองของคุณควรเป็นอย่างไร

พูดถึงอำนาจในตัวสภาตรงนี้ก่อนนะครับ อำนาจนี้มันเป็นอำนาจปลอมๆ นิสิตเป็นแค่หมากตัวหนึ่ง เป็นแค่การสร้างความชอบธรรมเท่านั้นเองว่า ‘นี่ไง เราเป็นประชาธิปไตยแล้ว เรามีส่วนร่วมแล้ว’ แล้วก็โยนชุดเท่ๆ อำนาจปลอมๆ ห้องแคบๆ ให้ เค้าไม่ได้แคร์ ดังนั้นอำนาจจริงๆ ตอนนี้สำหรับตัวสภามันไม่มี

สภานิสิตไม่ได้ฝึกให้คุณเป็นคนที่มีความรับผิดชอบต่ออำนาจเท่าไหร่ เพราะคุณไม่สามารถ influence อะไรได้จริงๆ ทุกอย่างต้องผ่านอาจารย์ อาจารย์ต้องเซ็นรับรองตลอด มันไม่ได้เหมือนรัฐสภาที่ผมคิดไว้ตอนแรก ผมคิดไว้เลยนะว่าทุกๆ การโหวตของคุณที่จะให้ผ่านกับวาระอะไรก็ตาม คนที่โหวตต้องมีความรับผิดชอบส่วนตัวสูง เพราะสิ่งที่คุณโหวตไปมันกระทบกับชีวิตของคนอื่น แต่มหาลัยนี้ไม่ได้ทำอย่างนั้น มหาลัยนี้ก็ยังต้องให้ผู้ใหญ่กลั่นกรองอยู่ มันเลยไม่ได้เป็นที่ที่ฝึกให้มีความรับผิดชอบ

ก่อนที่จะเข้ามาทำก็พอรู้บ้าง แต่ไม่เคยรู้ว่าเงื่อนไขมันจะจำกัดขนาดนี้ แต่ยังไงผมว่าโดยส่วนตัวของคนที่มีอำนาจ ก็ต้องมีความรับผิดชอบกับอำนาจนั้นของตัวเอง ซึ่งถ้าพูดในแง่ทั่วไป คนที่มีอำนาจก็ต้องมีความรับผิดชอบในการใช้ แต่หลายๆ คนอาจจะไม่มี และผมว่าประชาธิปไตยจริงๆ จะมีในเรื่องนี้ คือต้องมีระบบถ่วงดุลตรวจสอบ นี่คือการป้องกันการใช้อำนาจที่ดี มันเป็นมรดกของนักคิดที่ต่อสู้กันมาตลอด อย่างตอนนี้เราก็ขาดตรงนี้มาก

คุณยอมจำนนกับระบบที่ว่าหรือเปล่า

ไม่ยอม (ตอบทันที) ก็ยังด่าเค้าให้ได้ยินอยู่ตลอด ตื่นรู้ตลอดในเรื่องนี้ แต่สิ่งเราที่ทำมัน… คือผมไม่ได้สู้ในเชิงว่าจะล้มล้างเค้านะ แต่เราเห็นว่ามันมีอะไรที่มันดีกว่า ให้จุฬาฯ ดีกว่านี้ ให้ประเทศไทยดีกว่านี้ได้บ้าง อีกอย่างหนึ่งมันเป็นการแสดงถึงความเป็นมนุษย์ด้วย

สิ่งที่ผมสู้มาตลอดเวลาเลยส่วนหนึ่งก็คือความเป็นมนุษย์ ความเป็นมนุษย์เกิดมาพร้อมกับความรับผิดชอบ คือถ้าเราหลุดพ้นออกมาจากพ่อแม่ของเรา หลุดพ้นออกมาจากพระเจ้าที่นับถือ ความรับผิดชอบส่วนตัวทางศีลธรรมเป็นสิ่งที่ต้องมี ไม่งั้นคุณก็ไม่ใช่มนุษย์ที่ดีถ้าคุณโยนทุกอย่างให้กรรมเก่า โยนให้เทวดา ทุกอย่างคุณไม่ผิดเลย

เราเป็นมนุษย์เพราะเราทำผิดได้ ทำถูกได้ ดังนั้นเราเลยต้องมีความรับผิดชอบส่วนตัว

แต่สิ่งที่มหาวิทยาลัย หรือรัฐบาลทำในบางครั้ง คือการทำลายความรับผิดชอบของปัจเจกบุคคล ให้ปัจเจกบุคคลไม่ต้องมีอะไร คุณเป็นแค่ฝุ่นผงที่ไม่ต้องมีความรับผิดชอบ พวกเราจัดการให้คุณหมดเลย คุณไม่ต้องไปเลือกตั้งหรอก ถ้าเลือกตั้งคุณต้องมีความรับผิดชอบกับสิ่งที่จะเกิด เค้าไม่อยากให้คุณมีความรับผิดชอบใดๆ ทั้งนั้น

นี่คือสิ่งที่ทำลายความเป็นมนุษย์ และนี่คือสาเหตุว่าทำไมผมถึงต้องทำนั่นทำนี่อยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่อะไร ส่วนหนึ่งก็เพราะต้องการดิ้นรนรักษาความเป็นมนุษย์ของตัวเองด้วย

อึดอัดไหมกับการที่จะทำอะไรก็โดนจ้องจับผิด โดนจับตาทุกที

มันก็มีทั้งข้อดีข้อเสียนะครับ ข้อเสียคือก็โดนจับตามองตลอด แต่ข้อดี… ไม่รู้เหมือนกันว่าคืออะไรกับการที่มีชื่อตราเอาไว้ ไม่รู้สิ ผมอาจจะอยู่ตรงนี้จนชินแล้วมั้ง

คือผมก็พยายามนะ การที่มีชื่อมีเสียงขึ้นมาผมก็คิดไว้ตั้งแต่ต้นแล้วล่ะ ผมรู้สึกว่าสิ่งที่เรามีคนจับตา มันก็คือการที่เรามีอภิสิทธิ์มากกว่าคนอื่นในแง่ของความดัง ในแง่การสื่อสารกับคน แล้วเราจะทำยังไงให้ตรงนี้มันเป็นการสื่อสารเพื่อประโยชน์ของคนให้มากที่สุด

คิดหรือยังว่าจะทำอะไรต่อหลังจากจบจากระบบการศึกษาไทยที่พยายามเปลี่ยนแปลงมาตลอด

มีหลายเรื่องครับ คงต้องดูก่อนว่าจะมีอนาคตในประเทศนี้หรือเปล่า

คงจะเป็นการสร้างอาชีพด้วยตัวเอง อยากทำสารคดี เขียนนิยาย เดินทาง แปลหนังสือ เขียนหนังสือ ซึ่งสำคัญมากสำหรับผม เรื่องอื่นๆ ยังไม่รู้ อาจจะไปทำเว็บไซต์หรืออะไรก็ได้ คือผมก็อยากเรียนรู้อะไรใหม่ๆ นะ ไม่เคยอยากจะให้ตัวเองวางอยู่ในโพสิชั่นอะไรอย่างหนึ่งเกินไป

อย่างตอนแรกก็ไม่ได้อยากจะเข้ารัฐศาสตร์ เพราะคนชอบบอกว่าผมน่าจะเข้าคณะนี้เหลือเกิน ผมก็รู้สึกว่ามันบีบคั้นเราให้มาอยู่ในความเป็นอะไรบางอย่างที่ผมอาจจะไม่ได้ต้องการ แต่ตอนนั้นมันไม่มีทางเลือก ผมไปเอาดีทางด้านอื่นไม่ได้เลย แต่ในครั้งนี้ผมรู้สึกว่าถ้าบ้านเมืองมันยังไม่ปกติ ผมก็ต้องต่อสู้ต่อไป หรือถ้ามันบีบคั้นเหลือเกินจนมันอยู่ไม่ได้ ผมก็ไป ไปอยู่ประเทศที่มันดีๆ ถ้ามีโอกาส แต่ผมก็อยากจะ… เนี่ย ผมก็ตอบแทนบ้านเมืองด้วยการทำทุกวันนี้

นี่คือสิ่งที่ผมพยายามตอบแทนประเทศไทยอยู่

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save