วันวานยังหวานอยู่ Uncommon Type: Some Stories (พิมพ์ (ไม่) นิยม)

ผมเขียนต้นฉบับชิ้นนี้ในช่วงที่กำลังมีงาน ‘มหกรรมหนังสือแห่งชาติ’ ทำให้นึกขึ้นมาได้เรื่องหนึ่งว่า ตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา ทุกครั้งเมื่อใกล้จะถึงงาน ‘สัปดาห์หนังสือฯ’ และ ‘มหกรรมหนังสือฯ’ ทีไร ผมมักจะกำหนดจดเอาไว้ในใจว่า จะไปซื้อรวมเรื่องสั้นชื่อ Uncommon Type: Some Stories หรือในชื่อไทย ‘พิมพ์ (ไม่) นิยม’ มาเก็บไว้ในครอบครอง

‘สิ่งที่คิดไว้แล้วไม่ได้ทำ’ นั้น ผมมีเยอะพอๆ กับ ‘สิ่งที่ทำไปโดยไม่ได้คิด’ ดังนั้นเวลาจึงผ่านไป โดยทุกอย่างยังอยู่ในขั้นตอน ‘ว่าจะ’ ที่ไม่เคยสำเร็จเป็นจริง

อย่างไรก็ตาม ตลอดเวลาที่ผ่านมา Uncommon Type ก็เป็นหนังสือเล่มหนึ่งในกลุ่ม ‘อ่านซ้ำปีละครั้ง’ (ผมยืมอ่านจากห้องสมุดนะครับ) เช่นเดียวกับ ‘เงาสีขาว’ ของแดนอรัญ แสงทอง, ‘ช่อประยงค์’ และ ‘แกมเก็จ’ ของอุษณา เพลิงธรรม, ‘เมนูบ้านท้ายวัง’ และ ‘เงาของเวลา’ ของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์, รวมเรื่องสั้นชุดเหมืองแร่ ของอาจินต์ ปัญจพรรค์, ‘หลังอาน’ ของบินหลา สันกาลาคีรี, ‘พรากจากแสงตะวัน’ (Out of Africa) ของไอแซค ไดนีเสน ฯลฯ

หนังสือกลุ่มนี้ ผมอ่านซ้ำด้วยเหตุผล 2 ประการ อย่างแรกคือ เหมือนเป็นการชาร์จแบตเติมไฟ กลับไปเรียนรู้ทบทวนเกี่ยวกับการเขียนที่ดีจากครูเก่งๆ

ถัดมาคือทั้งหมดล้วนเป็นความรื่นรมย์ในการอ่าน ยามเมื่อต้องการผ่อนคลาย เปลี่ยนบรรยากาศจากการคร่ำเคร่งกับหนังสือที่มีเนื้อหาหนักๆ

Uncommon Type เป็นรวมเรื่องสั้นเมื่อปี 2017 (ฉบับแปลภาษาไทย ตีพิมพ์ในอีก 2 ปีถัดมา) เขียนโดย ทอม แฮงค์ส ดาราดังที่นักดูหนังคุ้นเคยกันดี ว่ากันในแง่ความเป็นศิลปะและเนื้อหาสาระ งานเขียนชุดนี้ไม่ได้เฉียดกรายเข้าใกล้ความเป็นวรรณกรรมชั้นเลิศแต่อย่างไร เป็นเพียงแค่ ‘เรื่องอ่านเล่น’ เน้นความบันเทิงเริงรมย์ทั่วไป พูดง่ายๆ คือ เป็นงานเขียนประเภท ‘เบาสมอง’ และมีท่วงทำนองค่อนข้างไปทาง ‘ทีเล่น’ มากกว่าจะเข้มข้นจริงจัง เป็นงานแบบเบสต์ เซลเลอร์เต็มๆ

บวกรวมกับสถานะของผู้เขียน ซึ่งโด่งดังในฐานะนักแสดงฝีมือดี ไม่ใช่นักเขียนอาชีพโดยตรง ก่อนหยิบจับขึ้นมาอ่าน คำปรามาสแบบใจแคบทำนองว่า ‘ดาราริเขียนหนังสือ’ จึงวิ่งวนเข้ามาป้วนเปี้ยนอยู่ในหัวผมอยู่มากพอสมควร

แต่พลันที่อ่านเรื่องแรกจบ ผมต้องรีบขอขมาในใจแทบไม่ทัน จากนั้นก็ตะลุยอ่านเรื่องอื่นๆ ที่เหลือด้วยความเพลิดเพลิน และรื่นรมย์ใจเป็นที่ยิ่ง

ฝีมือการเขียนของทอม แฮงค์ส ดีเกินและอยู่เหนือระดับมือสมัครเล่นนะครับ หากจะมุ่งมั่นจะเอาดีในการเขียนหนังสือต่อไปเรื่อยๆ ก็มีคุณสมบัติครบครันเพียบพร้อมที่จะเป็นนักเขียนขายดีได้สบายๆ

ความโดดเด่นอันดับแรกในงานเขียนของเขา คือทักษะความชำนาญในฐานะ ‘นักเล่าเรื่อง’ ที่เก่ง ผูกเรื่องดำเนินเหตุการณ์ได้สนุกชวนติดตาม มีจังหวะจะโคน ลูกล่อลูกชนในการตรึงความสนใจของผู้อ่าน กล่าวโดยรวมคือ เป็นงานเขียนที่อ่านง่าย อ่านสนุก

ถัดมา คือความเก่งในการคิดพล็อต ในแง่นี้ ควรต้องกล่าวไว้ว่าเรื่องสั้นทั้งหมดจำนวน 17 เรื่องไม่ได้มีเนื้อเรื่องประหลาดพิสดาร แปลกใหม่หรือล้ำยุค ชนิดอ่านแล้วต้องรำพึงรำพันว่า ตั้งแต่เกิดจากท้องพ่อท้องแม่มา ไม่เคยเจอะไม่เคยเจอเรื่องแบบนี้มาก่อน ตรงข้าม พล็อตทั้งหมดล้วนอยู่ในขนบครรลองที่ผู้อ่านคุ้นเคย ทั้งจากผลงานของนักเขียนอื่น หรือในหนังจำนวนมาก

โดยความรู้สึกส่วนตัว ระหว่างการอ่านหลายๆ เรื่อง ผมนึกไปถึงหนังที่ทอม แฮงค์ส เคยแสดง ตัวอย่างเช่น เรื่องสั้นชื่อ ‘คริสต์มาสอีฟ ปี 1953’ (เรื่องของเพื่อนรัก 2 คนที่เคยร่วมรบสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โทรศัพท์คุยกันปีละครั้งในคืนคริสต์มาสอีฟ คนหนึ่งบาดเจ็บและพิการ แต่งงาน มีครอบครัวที่อบอุ่น ใช้ชีวิตอย่างสุขสงบ ขณะที่อีกคนร่อนเร่พเนจรไปเรื่อย และบาดเจ็บมีแผลในใจหนักหนาจนไม่อาจเยียวยา) ทำให้ผมคิดโยงไปสู่หนังเรื่อง Saving Private Ryan

เรื่อง ‘ไปหาคอสตัส’ (ชายหนุ่มชาวบัลแกเรีย 2 คน หนีจากบ้านเกิด เดินทางผจญภัยมายังอเมริกา และเมื่อมาถึงก็ต้องระเหระหน ดั้นด้นสู้ชีวิตเพื่อความอยู่รอด) ชวนให้นึกถึง The Terminal เหตุการณ์และเงื่อนไขหลักๆ อาจแตกต่างกันมาก แต่จุดหนึ่งที่ละม้ายคล้ายคลึงกัน คือ เรื่องของคนพลัดถิ่นต้องมาเผชิญชีวิต เริ่มต้นนับหนึ่งในดินแดนโลกใหม่ เต็มไปด้วยความโดดเดี่ยว เป็นคนแปลกหน้ากับผู้คนรอบข้าง ปราศจากทุนรอนสร้างเนื้อสร้างตัว และมีอุปสรรคเรื่องภาษา

อีกเรื่องหนึ่ง ไม่ข้องเกี่ยวกับหนังที่ทอม แฮงค์ส เคยแสดง คือเรื่องสั้น ‘พักกับเรานะ’ (เรื่องนี้เขียนในรูปแบบของบทภาพยนตร์) ว่าด้วยมหาเศรษฐีชื่ เอฟ.เอ็กซ์.อาร์. เดินทางไปยังเมืองเล็กๆ ห่างไกลความเจริญชื่อไฟรเจีย เพื่อกว้านซื้อที่ดินสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ แล้วเข้าพักในโมเต็ลเล็กๆ ดำเนินกิจการโดยสองตายายฟิลกับบี ซึ่งครั้งหนึ่งในอดีตเคยรุ่งเรืองเฟื่องฟู จนกระทั่งมีการตัดถนนทางหลวงอ้อมเมือง ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไป นับแต่นั่นไฟรเจียก็กลายเป็นเมืองซบเซาและมีลมหายใจร่อแร่รวยรินใกล้ตายดับ

พร้อมๆ กับที่เล่าถึงอดีตอันเคยเรืองรอง ‘พักกับเรานะ’ ก็เล่าถึงความน่ารักใสซื่อร่ำรวยน้ำใจของสองตายาย วันชื่นคืนสุขที่ผ่านพ้นเลยลับ ซึ่งสามารถเอาชนะใจท่านมหาเศรษฐีทีละน้อย จนกระทั่งจบลงเอยอย่างน่าประทับใจ ทั้งเค้าโครงคร่าวๆ และประเด็นเนื้อหาสาระ พ้องพานกับอนิเมชันยอดเยี่ยมของพิกซาร์เรื่อง Cars ชนิดนับพี่นับน้องกันได้สบายๆ

กล่าวโดยสรุปคือ Uncommon Type เป็นรวมเรื่องสั้นที่มีพล็อตและอารมณ์หลากหลาย (มีทั้งที่เป็นไซไฟแฟนตาซี, โรแมนติกคอมเมดี, เรื่องในแนว coming of age ว่าด้วยการเรียนรู้ก้าวข้ามผ่านช่วงวัยหนึ่งเติบโตไปอีกขั้นของตัวละคร) แต่อารมณ์หลักๆ พื้นฐาน ซึ่งมีปรากฏอยู่ในแทบจะทุกเรื่องคืออารมณ์ขันและการมอบความรู้สึกที่ดีสู่ผู้อ่าน

จากเรื่องสั้นจำนวนทั้งหมด 17 เรื่อง พอจะจำแนกแยกออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ กลุ่มแรกคือเรื่องที่จบสมบูรณ์ในตัว แยกเป็นเอกเทศ ไม่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับเรื่องอื่นๆ

กลุ่มนี้ประกอบไปด้วย ‘มหกรรมสัญจรในนาครแห่งแสงไฟ’ (เรื่องของหนุ่มหล่อ ‘ส้มหล่น’ ได้รับเลือกให้เล่นเป็นพระเอกในหนังแฟรนไชส์มหาฮิตร่วมกับนางเอกชื่อดัง และเดินทางไปตระเวนทัวร์โปรโมตหนังที่ยุโรป ท่ามกลางโปรแกรมอัดแน่นด้วยกิจกรรมซ้ำๆ จนแทบโงหัวไม่ขึ้น)

‘ขอต้อนรับสู่ดาวอังคาร’ (เด็กหนุ่มชื่อเคิร์กฉลองวันเกิดอายุครบ 19 ไปเล่นกระดานโต้คลื่นกับพ่อ แล้วได้พบความลับบางอย่างของพ่อ จนนำไปสู่จุดจบสิ้นของชีวิตวัยเยาว์)

‘หนึ่งเดือนที่บ้านบนถนนกรีน’ (สาวสวยลูกติดเพิ่งเลิกรากับสามี และย้ายบ้านมาพบเจอกับเพื่อนบ้านนักดาราศาสตร์ จนนำไปสู่การเริ่มต้นชีวิตใหม่)

‘ใครเป็นใคร’ (สาวสวยจากชนบทเดินทางเข้ามาตามฝันในเมืองใหญ่ หวังจะได้เข้าวงการบันเทิง แต่เมื่อเวลาผ่านไป ฝันนั้นก็เลือนรางไกลตัวมากขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งเกิดเหตุมหัศจรรย์ที่กลายเป็นจุดเปลี่ยน)

‘สุดสัปดาห์แสนพิเศษ’ (เด็กชายที่พ่อแม่หย่าร้างกัน เดินทางไปฉลองวันเกิดกับแม่ และได้ใช้เวลาช่วงสั้นๆ ที่ทุกสิ่งทุกอย่างสวยงามเหมือนฝัน ก่อนจะหวนคืนกลับสู่โลกแห่งความเป็นจริงแสนเศร้าเมื่อเวลาจบลง)

‘เหล่านี้คือความคำนึงจากใจ’ (หญิงสาวกำลังเผชิญมรสุมชีวิต ไปเจอะเจอและซื้อเครื่องพิมพ์ดีดเก่าโดยไม่นึกอยากได้มาก่อน แต่เธอก็ซื้อมาในราคาถูก แล้วมนต์ขลังของเครื่องพิมพ์ดีดนั้น ก็ค่อยๆ นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงสารพัดสารพัน)

‘อดีตสำคัญสำหรับเรา’ (เศรษฐีซื้อบริการเดินทางย้อนเวลาไปเที่ยวงานเวิลด์แฟร์ปี 1939 ในระหว่างเที่ยวชม เขาได้พบหญิงสาวคนหนึ่งและตกหลุมรักเธอ แต่แล้วเวลาก็หมดลง จึงเดินทางซ้ำอีกหลายครั้ง เพื่อทำความรู้จักกับเธอ กระทั่งค่อยๆ ละเมิดกฏของเดินทางย้อนเวลาทีละน้อย จนนำไปสู่อันตรายร้ายแรง)

อีก 3 เรื่องในกลุ่มนี้คือ ‘คริสต์มาสอีฟ ปี 1953’, ‘พักกับเรานะ’ และ ‘ไปหาคอสตัส’ ผมได้กล่าวถึงพล็อตคร่าวๆ ไปแล้ว

กลุ่มถัดมา เป็น 3 เรื่องสั้นที่เหตุการณ์ไม่เกี่ยวเนื่อง แต่มีตัวละครชุดเดียวกันคือ แอนนาสาวสวยไฮเปอร์พลังสูง เอ็มแดชผู้เพิ่งได้รับสัญชาติเป็นอเมริกัน สตีฟ หว่องผู้มีความสามารถพิเศษในการเล่นโบว์ลิ่ง และ ‘ผม’ ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้เล่าเรื่อง ประกอบไปด้วย ‘สามสัปดาห์เหนื่อยสาหัส’, ‘อลัน บีน บวกสี่’ และ ‘คะแนนสูงสุดคือสตีฟ หว่อง’

เรื่องกลุ่มนี้ เน้นอารมณ์ขันค่อนข้างไปทางการ์ตูนอย่างเด่นชัด ให้ความรู้สึกคล้ายๆ การดูซีรีส์ซิตคอมอย่าง The Big Bang Theory อะไรเทือกๆ นั้น

กลุ่มสุดท้าย เป็นคอลัมน์หนังสือพิมพ์ชื่อ ‘บ้านเราวันนี้กับแฮงก์ ฟิเชต’ ประกอบไปด้วย ‘เรื่องนี้เอาใบบัวปิดไม่มิด’, ‘ฉายเดี่ยวเที่ยวบิ๊กแอ๊ปเปิ้ล’, ‘กลับจากย้อนเวลาหาอดีต’ และ ‘เอสเปรันซา ผู้อาสานิพนธ์ ยินดีรับใช้’

ทั้ง 4 เรื่องนี้ เหมือนคอลัมน์ในเชิงรำพึงรำพันโดยคุณลุงชาวต่างจังหวัดอารมณ์ดี มีความสุขกับชีวิตความเป็นอยู่ในวิถีเก่าๆ ท่ามกลางยุคสมัยที่ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนไปหมดสิ้น ไม่หลงเหลือเค้าเดิม รวมทั้งความผูกพันกับท้องถิ่นบ้านเกิด จนมองความเจริญทันสมัยในเมืองใหญ่อย่างนิวยอร์ก ด้วยอารมณ์หยิกแกมหยอกได้อย่างหรรษาครื้นเครง

ในความเป็นเรื่องสั้นต่างพล็อตต่างอารมณ์และต่างประเด็นในการนำเสนอ มี 2 สิ่งที่เป็นเสมือน ‘จุดร่วม’ ร้อยโยงเรื่องสั้นทั้งหมดให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

คอลัมน์ ‘บ้านเราวันนี้กับแฮงก์ ฟิเชต’ เป็นอย่างหนึ่งซึ่งทำหน้าที่ดังกล่าว ด้วยการเล่าเรื่องปลีกย่อย ซึ่งเต็มไปด้วยอารมณ์ในแบบถวิลหาอดีต ถึงคุณค่าความดีงามเก่าๆ ที่สูญหายไปในปัจจุบัน ความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย การเข้ามาแทนที่สิ่งต่างๆ โดยเทคโนโลยีทันสมัย

แง่มุมดังกล่าว แทรกปนอยู่ในหลายๆ เรื่องสั้นกลุ่มอื่น มากบ้างน้อยบ้างสุดแท้แต่พล็อตจะเอื้อให้กล่าวถึง

‘ตัวเชื่อมโยง’ ถัดมาคือ เรื่องสั้นทั้งหมดใน Uncommon Type ล้วนกล่าวถึง ‘เครื่องพิมพ์ดีด’ จนเป็นเสมือน easter egg ให้ผู้อ่านสนุกกับการเฝ้ารอขณะอ่านแต่ละเรื่องว่าเมื่อไรจะปรากฏ และจะเผยมาในรูปแบบวิธีใด บางเรื่องก็มีบทบาทสำคัญกับเหตุการณ์ บางเรื่องก็พาดพิงผ่านๆ เล็กน้อย

‘เครื่องพิมพ์ดีด’ นั้นเป็นความหลงใหลรักชอบเป็นการส่วนตัวของทอม แฮงค์ส ซึ่งเป็นนักสะสมเครื่องพิมพ์ดีดตัวยง (ถึงขั้นมีแอปชื่อ Hanx Writer:Tom Hanks Typewriter ไว้รวบรวมฟอนต์ตัวอักษร จากเครื่องพิมพ์ดีดเก่ารุ่นต่างๆ ของทอม แฮงค์ส)

การปรากฏของเครื่องพิมพ์ดีดในเรื่องสั้นทั้งหมด จะมองเป็นเพียงแค่ลูกเล่นสนุกๆ ก็ย่อมได้ หรือจะเสาะหาความหมายให้ลึกลงไปกว่านั้นก็ได้เช่นกัน ที่แน่ๆ คือมันขานรับขยายความกับแง่มุมประเด็นในคอลัมน์ ‘บ้านเราวันนี้กับแฮงก์ ฟิเชต’ อย่างเหมาะเหม็ง ในความเป็นอุปกรณ์ใช้สอยของโลกอนาล็อกที่พ้นยุคพ้นสมัย

ความน่าสนใจอีกประการหนึ่งของ Uncommon Type คือบุคลิก น้ำเสียง ท่วงทีลีลา อารมณ์ขัน รวมถึงมุมมองทัศนคติที่ปรากฏ มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับ ‘ภาพพจน์’ กว้างๆ ของทอม แฮงค์ส ที่เราท่านคุ้นชินบนจอหนัง นั่นคือความอ่อนโยนนุ่มนวล มองโลกในแง่ดี เปี่ยมด้วยอารมณ์ขัน และเต็มเปี่ยมไปด้วยเสน่ห์

ระหว่างการอ่านหนังสือเล่มนี้ อารมณ์ความรู้สึกจึงคล้ายๆ กำลังดูทอม แฮงค์ส เล่นหนังแนวรื่นรมย์ ต่างเพียงแค่เปลี่ยนจากการจับตาดูภาพบนจอ มาเป็นการไล่เรียงตัวหนังสือบนหน้ากระดาษ

ผมกล่าวไว้ตอนต้นๆ บทความว่า การอ่าน Uncommon Type เป็นเสมือนเข้าชั้นเรียนการเขียนกับครูเก่งๆ ตรงนี้จำต้องอธิบายเพิ่มเติมนะครับว่า ครูที่ผมกล่าวถึง ไม่ใช่ตัวเรื่องเดิมต้นฉบับ แต่เป็นสำนวนการแปลอันยอดเยี่ยมของคุณตะวัน พงษ์บุรุษ

ตามปกติวิสัย ผมไม่กล้าแสดงความเห็นเกี่ยวกับสำนวนแปลของหนังสือเล่มไหนเลย เพราะไม่ได้อ่านต้นฉบับในภาษาเดิมเทียบเคียง รวมทั้งปราศจากความรู้มากพอที่จะหาญกล้าออกความเห็น

แต่สำหรับ ‘พิมพ์ (ไม่) นิยม’ ถือเป็นข้อยกเว้น ประการแรกคือ งานเขียนที่เน้นอารมณ์ขันฝรั่ง แปลเป็นไทยให้ได้รสครึกครื้นเฮฮาได้ยาก แต่ในแง่นี้ ‘พิมพ์ (ไม่) นิยม’ ฉบับภาษาไทยสอบผ่านฉลุย เก็บรายละเอียดความฮาได้ทุกเม็ด ทั้งที่จะแจ้งและหลบลึก ได้อารมณ์ความรู้สึกเดิมๆ อันคุ้นเคย เหมือนสมัยครั้งที่อ่านสำนวนแปลคลาสสิกของเทศภักดิ์ นิยมเหตุ และรวมเรื่องสั้นๆ ของ ‘เจ้าจำปี’

ถัดมา คือการตีความจับ sense ของเรื่อง ว่าพล็อตประมาณนี้ ตัวละครบุคลิกประมาณนี้ ควรใช้สำนวนภาษาและศัพท์แสงระดับไหนเช่นไร ผมไม่ทราบว่าถูกต้องตรงกับภาษาเดิมในต้นฉบับมากน้อยเพียงไร แต่อ่านแล้วก็รู้สึกไปเองว่า ใช่เลย และแม่นฉมังเอามากๆ

ประการสุดท้าย ‘พิมพ์ (ไม่) นิยม’ เป็นขุมคลังในการใช้คำจำพวกศัพท์สแลงที่อุดมมั่งคั่ง และที่เยี่ยมยอดไปกว่านั้นคือ การเลือกใช้ได้อย่างเหมาะเหม็ง ได้ทั้งรสคำรสความและอารมณ์ขัน

นอกจากจะสนุกกับเรื่องราวสุดแสนจะบันเทิงโดยทอม แฮงค์ส แล้ว สำนวนแปลในพากย์ภาษาไทย ก็เป็นอีกเหตุผลสำคัญไม่แพ้กัน ที่ทำให้ผมหยิบหนังสือเล่มนี้มาอ่านซ้ำได้ไม่รู้เบื่อ

ฮ้อแร่ดมากๆ เลยนะครับ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save