fbpx
ทำไมยืมหนังสือแล้วถึงไม่คืน? ปัญหาว่าด้วยวัฒนธรรมและความเคารพ

ทำไมยืมหนังสือแล้วถึงไม่คืน? ปัญหาว่าด้วยวัฒนธรรมและความเคารพ

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

 

สมัยเด็กๆ เวลาอ่านหนังสือ ผมจะพับมุมหนังสือคั่นหน้าที่อ่านถึง หนังสือที่ผมอ่านจึงมักมีรอย ซึ่งนานไป รอยเหล่านั้นก็สร้างความชำรุดให้หนังสือ จนบางรอยก็ถึงขั้นฉีกขาด

แม่ไม่เคยว่าเรื่องอ่านหนังสือแล้วทำให้หนังสือชำรุด แต่แม่เพียงแต่เล่าให้ผมฟังในวันหนึ่งว่า บางคนเวลาอ่านหนังสือแล้วเขาจะไม่พับมุม ไม่ขีดเขียนลงไปในหนังสือ ทำให้หนังสือแทบไม่มีริ้วรอยอะไรเลย

คำพูดของแม่ทำให้วิธีอ่านหนังสือของผมค่อยๆ เปลี่ยนไปโดยไม่มีใครบังคับ ผมหันมามองหนังสือในฐานะที่เป็นทั้งเครื่องมือบรรจุความคิดและตัวอักษร พร้อมกับมองมันในฐานะ ‘วัตถุ’ อย่างหนึ่งที่ควรค่าแก่การทะนุถนอม

เราทะนุถนอมแผ่นเสียง แผ่นซีดี จักรยาน หรือรถยนต์อย่างไร เราก็ควรทะนุถนอมหนังสือเช่นนั้นด้วยเหมือนกัน เราคงไม่โยนแผ่นเสียง แผ่นซีดี เข้าชั้นแบบหยาบๆ หรือขับรถหรือจักรยานคันที่เรารักด้วยวิธีกระชากกระชั้น หรือกระแทกประตูปิดปังจนรถเกิดความเสียหายขึ้นมา

เหตุใดเราจึงเลือกดูแล ‘วัตถุ’ ที่ให้ความสำราญกับเราเหล่านั้นอย่างพิถีพิถัน แต่กับหนังสือ เรากลับมัก take it for granted ราวกับเราหาซื้อหนังสือเหล่านั้นเมื่อไหร่ก็ได้

หนังสือไม่เป็นเพียงแค่วัตถุให้ความสำราญเท่านั้น ทว่ามันยังให้ความรู้ ความเพลินใจ ความงาม และความเข้าใจชีวิตกับเราอย่างที่สุดอีกด้วย

นั่นทำให้ผมเลิกพับมุมหนังสือ และหันมาอ่านหนังสือโดยพยายามทำให้มันบุบสลายน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตั้งแต่ซื้อมา สูดดมกลิ่นของมันราวกับคนซื้อรถใหม่ชื่นใจกับเบาะหนัง ไล้นิ้วไปตามเท็กซ์เจอร์ของกระดาษไม่ผิดอะไรกับคนที่ชื่นชมสติทช์หรือรอยเย็บของกระเป๋าแบรนด์เนม

หนังสือมีคุณค่ากับผมอย่างนั้น – ทั้งในแง่นามธรรมของความรู้ และในแง่รูปธรรมของความเป็นวัตถุ

อย่างไรก็ตาม ต้องหมายเหตุไว้ด้วยว่า นี่เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวของผมที่มีต่อหนังสือเท่านั้น คนอื่นอาจจะอ่านแล้วพับมุม ขีดเส้นใต้ ขีดไฮไลต์ เอาหนังสือไปบังแดดฝน เอาไปตั้งเป็นกองรองต้นไม้ในบ้านที่ราคาสูงลิบลิ่วกว่าหนังสือตามแฟชั่นที่ดาราเป็นผู้นำทาง หรือทำอะไรก็แล้วแต่ ผมไม่ได้มีปัญหาเลย ถ้าหากหนังสือเหล่านั้นเป็นของคนคนนั้น

เพราะไม่ว่าเราจะอ่านหนังสือด้วยวิธีไหน ทำกับมันอย่างไร ถ้าหากมันคือหนังสือของเรา นี่ก็คือกระบวนการ privatize หรือทำให้หนังสือนั้นๆ เป็น ‘ของของเรา’ อย่างแท้จริง

แต่ถ้าเป็นหนังสือที่เรายืมของคนอื่นมาเล่า เรามีสิทธิใช้ ‘วิธีอ่าน’ หนังสือนั้นๆ ตามแบบและเบ้าที่เราคุ้นเคยได้มากแค่ไหนกัน?

ที่จริงแล้ว ผมเป็นคนชอบแนะนำหนังสือให้คนอื่นอ่าน เล่มไหนที่ผมรักมากๆ บ่อยครั้งแทบจะยัดเยียดให้เพื่อนหรือคนที่ผมคิดว่าเขาน่าจะสนใจหนังสือเหล่านั้นอ่านเสียด้วยซ้ำ ดังนั้น เวลามีคนมาที่บ้านแล้วเห็นหนังสือบางเล่ม แสดงความสนใจ พร้อมกับเอ่ยปากขอยืม ผมจึงมักกระตือรือร้นให้ยืมเสมอ บางครั้งก็นำเสนอเล่มอื่นๆ ที่เข้าคู่กันแถมให้ไปด้วย ยิ่งเป็นเล่มที่หาซื้อไม่ได้ทั่วไปในตลาดแล้ว ก็ยิ่งอยากให้คนได้อ่าน

แต่เรื่องที่น่าผิดหวังก็คือ – บ่อยครั้งที่หนังสือเหล่านั้นได้หายสูญไปโดยไม่เคยหวนคืนกลับมาอีกเลย

คนจำนวนมากที่ยืมหนังสือไป – ไม่เคยนำมันมาคืน

คนจำนวนมากที่ยืมหนังสือไป – หากนำมาคืน ก็คืนด้วยสภาพบุบสลายของหนังสือมากกว่าที่ควรเป็น

และคนจำนวนมากที่ยืมหนังสือไป – ก็อาจถึงขั้นเคยกล่าวแก่ผู้ให้ยืมด้วยว่า “ต้องคืนด้วยหรือ”

เรื่องทำนองนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับตัวผมคนเดียว แต่ผู้คนมากมายในโลกต้องเผชิญกับปัญหา No Return Syndrome ของการยืมหนังสือ

ในบทความของบล็อกชื่อ Electric Lit ซึ่งผู้เขียนคือ อีริน บาร์ตเน็ต (Erin Bartnett) เขาเล่าว่าเผชิญกับปัญหาเดียวกันกับผม เขาอาศัยอยู่ในนิวยอร์ก เป็นคนรักและสะสมหนังสือ เวลาชวนเพื่อนมาปาร์ตี้ที่บ้าน สิ่งเดียวที่เพื่อนจะเห็นและสะดุดตาที่สุด ก็คือเหล่าหนังสือบนชั้น ดังนั้น เพื่อนๆ จึงมักสำรวจตรวจสอบ มองดู และลงเอยด้วยการขอยืมไปอ่านเสมอ

ผมพบว่าอีรินก็เป็นเหมือนผม คือหากบทสนทนาลัดเลี้ยวมาถึงเรื่องหนังสือเมื่อไหร่ เขาจะมีความสุขมากที่ได้แนะนำหนังสือ แล้วก็ ‘แจกจ่าย’ หนังสือเล่มโน้นเล่มนี้ให้กับคนที่ทำท่าว่าสนใจหนังสือ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เขาให้คนเหล่านั้น ‘ยืม’ หนังสือไป แต่ชะตากรรมของนักให้ยืมหนังสือล้วนเป็นเช่นเดียวกันทั้งโลก เขาเล่าว่า ตัวเขาแทบไม่เคยได้หนังสือกลับคืนมาเลย หรือถ้าหากได้มา ก็ได้มันกลับมาในสภาพชำรุดราวถูกชำเรา บางหน้าอาจถึงขั้นฉีกขาด มีการพับมุม หรืออย่างเบาๆ ก็อาจมีเศษอาหารร่วงหล่นติดอยู่ในบางหน้าของหนังสือจนแห้งกรังน่ารังเกียจ

สำหรับผม นี่คือพฤติกรรมหยาบกระด้างต่ำช้า ที่แสดงให้เห็นว่าคนที่ยืมหนังสือเหล่านี้ไปไม่เพียงไม่มีวัฒนธรรมการอ่านเท่านั้น แต่ยังอาจลามเลยไปถึงภาวะขาดวัฒนธรรรม (uncultured) ในเรื่องการ ‘ขอยืม’ และ ‘คืน’ ของอื่นๆ ด้วย ซึ่งก็สะท้อนให้เห็นภูมิหลัง การเลี้ยงดู ความละเอียดอ่อน และการใส่ใจในอารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่น

อีรินลองสอบถามคนที่เป็นบรรณารักษ์ในห้องสมุดหลายแห่งในอเมริกา ทั้งที่แมรีแลนด์ ซีแอตเติล วอชิงตัน บรรณารักษ์ของห้องสมุดของมหาวิทยาลัยในบรุคลิน บัลติมอร์ และเวอร์จิเนีย หลายคนให้คำตอบแบบเดียวกัน นั่นคือพวกเขาเป็นคนที่ ‘ชอบให้คนอื่นยืมหนังสือ’ (โดยหนังสือพวกนี้คือหนังสือส่วนตัว ไม่เกี่ยวอะไรกับหนังสือในห้องสมุด) ด้วยคิดว่าการแพร่กระจาย ‘สาร’ ที่อยู่ในหนังสือ คือการแพร่กระจายความรู้ ความคิด ความเข้าใจโลกไปให้คนที่ตัวเองนับเป็นเพื่อนนั้น – คือวิธีที่แสนงาม

แต่ในเวลาเดียวกัน พวกเขามักไม่ค่อยได้หนังสือคืนหรอก

บรรณารักษ์คนหนึ่งบอกว่า 97% ของหนังสือที่ให้ยืมไปนั้น คนจะทำมันหายไปเสียเฉยๆ ราวกับหนังสือไม่ใช่ของมีค่าที่ต้องดูแลใส่ใจ พวกเขาไม่เห็นคุณค่าของมันเลย เวลาทวงหนังสือ เขามักพบกับสายตาที่ว่างเปล่า พร้อมบอกว่าจะนำหนังสือมาคืนให้ในภายหลัง แต่ก็แทบไม่มีใครนำมาคืนเลยจริงๆ

คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ ทำไมคนเราจึงยืมหนังสือแล้วไม่คืน

คำตอบแรกที่ทุกคนน่าจะนึกขึ้นมาได้เหมือนๆ กันก็คือ คนเหล่านี้อาจจะ ‘ลืม’ หรือไม่ก็ ‘ขี้เกียจ’ ลงทุนลงแรงเดินทางนำหนังสือมาคืน อันเป็นเรื่องทางกายภาพที่เกิดจากการทำงานของสมอง ส่วนคำตอบที่สองก็น่าจะเป็นการขาด ‘ความรับผิดชอบ’ (ในความหมายของ accountability) อันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับสภาวะทางจิต

คำถามถัดมาก็คือ แล้วถ้าไม่ใช่หนังสือล่ะ ถ้าเป็นการยืมรถยนต์ เครื่องเพชร หรือแม้กระทั่งยืมปากกา ยางลบ ดินสอ เครื่องตัดหญ้า หรือข้าวของอื่นๆ ทำไมเราถึงมี ‘สำนึกร่วม’ กันขึ้นมาได้ในบัดดลว่า ถ้ายืมวัตถุเหล่านี้ไปแล้วต้องนำมาคืน รวมทั้งต้องนำมาคืนในสภาพที่ครบถ้วนสมบูรณ์ด้วย เช่นหากยืมรถยนต์ไปขับแล้วเกิดอุบัติเหตุ ก็ต้องซ่อมต้องทำสีให้กลับคืนมาในสภาพสมบูรณ์ หรือแม้แต่เด็กๆ ที่หยิบยืมยางลบหรือดินสอเพื่อนไปใช้ ก็ต้องมี ‘มารยาทพื้นฐาน’ พอที่จะรู้ว่า ต่อให้เป็นของที่ใช้แล้วหมดไปอย่างยางลบ ก็ต้องไม่นำของเพื่อนไปลบเสียจนยางลบหมดไปครึ่งก้อน

แต่เหตุใดเมื่อเป็นหนังสือ เราจึงมักรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ยืมกันได้โดยไม่ต้องคืน หรือต่อให้คืนมาในสภาพต่ำช้าน่าสังเวชเพียงใด ผู้ให้ยืมก็ต้องยอมรับมันกลับไป

นี่ไม่ใช่การแสดงให้เห็นหรอกหรือว่า เรามีวิธีคิดและการให้คุณค่าความสำคัญต่อสิ่งที่บรรจุความรู้ ความงาม ความจริง อย่างหนังสืออย่างไรบ้าง และวิธีคิดและการสร้างคุณค่าที่ว่านี้ ได้ไปสร้าง ‘ระดับ’ ของ ‘วัฒนธรรมการอ่าน’ ในกมลสันดานของเราอย่างไร วิธีกระทำต่อหนังสือที่ยืมไปจึงสำแดงออกมาเช่นนี้

คำถามถัดมาก็คือ แล้วควรทำอย่างไรดี?

โจนาธาน รัสเซล คลาร์ก (Jonathan Russell Clark) เคยเขียนไว้ในบล็อก Read It Forward เป็นบทความชื่อ Against Borrowing Books หรือ ‘ต่อต้านการยืมหนังสือ’

เขาบอกว่า สำหรับเขา การอ่านหนังสือเป็นเรื่องเฉพาะตัว เป็นกิจกรรมสำคัญถึงขั้นเป็นตาย (vital activity) หรือเป็นกิจกรรมสำคัญของชีวิต

เขาบอกด้วยว่า ถ้าเขากำลังอ่านหนังสือเล่มหนึ่งอยู่ แล้วมีคนหยิบยื่นหนังสืออีกเล่มหนึ่งมาให้ เสือกไสเสนอว่าจะให้เขายืม เขาต้องอ่านหนังสือเล่มนั้นเล่มนี้นะ เพราะมันดีจริงๆ เขาจะรู้สึกว่านั่นคือการทำลายแพทเทิร์นการอ่านของเขา เพราะถ้าเขาสนใจหนังสืออีกเล่มจริงๆ เขาก็ต้องทิ้งหนังสือเล่มที่กำลังอ่านอยู่เพื่อไปอ่านหนังสืออีกเล่มหนึ่ง ถ้าเขายอมรับมา แต่ยังไม่ได้อ่าน (เพราะการเลือกอ่านเล่มใดเล่มหนึ่ง เกิดขึ้นจากอารมณ์เฉพาะตอนนั้น) แล้วพอเจอคนให้ยืมมาคอยถามว่าอ่านหรือยังๆ เขาก็จะรู้สึกผิด และสุดท้ายก็ชิงชังรังเกียจไม่อยากอ่านหนังสือเล่มนั้นไปเลย สุดท้ายเขาอาจไม่อยากพบหน้าเพื่อนคนนั้นอีกก็ได้ ดังนั้น ไม่ว่าใครจะอยากให้เขาอ่านหนังสือเล่มไหนมากแค่ไหน หรือพยายามให้เขายืมหนังสือมากเพียงใด เขาจะไม่มีวันยืมหนังสือของใครเป็นเด็ดขาด

ในอีกด้านหนึ่ง ถ้ามีคนมาขอยืมหนังสือ เขาก็จะไม่ยอมให้ยืมเช่นกันด้วยเหตุผลง่ายๆ คือ เพราะเขารู้เลยว่า อีกฝ่ายจะไม่มีวันคืนหนังสือเล่มนั้นมาให้ หรือต่อให้อีกฝ่ายรับรองแน่นอนว่าจะนำมาคืนให้ เขาก็บอกไม่ได้อีกนั่นแหละว่าอยู่ๆ จะเกิดอยากใช้งานหนังสือเล่มนั้นขึ้นมาเมื่อไหร่ เช่น เขาอาจไปอ่านอะไรบางอย่างที่เตือนให้นึกถึงถ้อยคำในหนังสือที่ให้ยืมไป แล้วอยากหาหนังสือเล่มนั้นมาอ่าน แต่ปรากฏว่าเมื่อเพื่อนยืมไป เขาก็ต้องค้างคาอยู่กับการหาหนังสือเล่มนั้นไม่รู้แล้ว แน่นอน เขารู้ว่าเขามีหนังสือเล่มนั้นอยู่ในครอบครอง รู้ว่ามีคนยืมไป แต่เขาไม่สามารถจะนำมันกลับมาได้ทันทีที่นี่เดี๋ยวนี้ ดังนั้น เมื่อคิดสะระตะแล้ว เขาจึงเลือกไม่ให้คนยืมหนังสือไป

แล้วถ้าเป็นหนังสือที่เขายังไม่ได้อ่านเล่า? ทำไมเขาถึงไม่ยอมให้ยืมด้วย

คลาร์กเล่าว่า เขามี ‘กองดอง’ หนังสืออยู่มากมาย คนจำนวนมากอาจคิดว่า การมี ‘กองดอง’ เป็นบาปผิด ซื้อหนังสือมาแล้วไม่ยอมอ่าน แต่คลาร์กไม่ได้คิดอย่างนั้น

คลาร์กมองว่าการมี ‘กองดอง’ คือความสุขอย่างหนึ่งของเขา เพราะเมื่ออ่านเล่มหนึ่งจบ เขาจะได้สามารถ ‘เลือก’ ได้ทันทีว่าจะอ่านหนังสืออะไรต่อไป โดยดูจากอารมณ์ความรู้สึก ณ ขณะนั้น ไม่ใช่อ่านไปจนหมดบ้านแล้วค่อยรอไปเลือกจากร้านหนังสือ

ยิ่งมีกองดองมากเท่าไหร่ ก็คล้ายเขาได้เลือกจากตัวเลือกที่แทบไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้น กองดองของเขาจึงมีเยอะมาก จึงเป็นไปได้ว่าเขาซื้อหนังสือเมื่อมันออกใหม่มาเก็บไว้ แล้วค่อยอ่านเมื่อหนังสือนั้นเก่าแล้ว แต่เมื่อหนังสือนั้นเก่าแล้ว ณ ขณะเวลานั้น มันอาจไม่มีขายอีกก็ได้ ดังนั้น การซื้อหนังสือมา ‘กอง’ เอาไว้ จึงไม่ใช่บาปผิด แต่คือการสร้าง ‘โอกาส’ แห่งการอ่านอันไพศาล ทั้งในแง่ปริมาณตรงหน้า และเป็นการขยายขอบเขตแห่งการอ่านไปในกาลเวลาอันไร้ที่สิ้นสุดด้วย

และนั่นก็คือความสุขของเขา เป็นสิ่งที่เขาสะสมเอาไว้ และเป็นกิจกรรมสำคัญในชีวิต

ดังนั้น หนังสือใน ‘กองดอง’ ของเขา ถ้ามีเพื่อนมาขอยืมด้วยคำขอร้องประเภท “ขออ่านก่อนน่า นายยังไม่ได้อ่านหรอก” อะไรทำนอง คลาร์กถือว่านั่นเป็นการทำลาย ‘แพทเทิร์น’ การอ่านของเขาหลังอ่านหนังสือจบแล้วและอยากจะท่องไปในจักรวาลแห่งหนังสือกองดอง

เพราะฉะนั้น หัวเด็ดตีนขาด คลาร์กจึงจะไม่มีวันยืมหนังสือใคร และไม่มีวันให้ใครยืมหนังสือเขาแม้แต่เล่มเดียว ไม่ว่าจะเป็นเล่มที่อ่านไปแล้วหรือยังไม่ได้อ่านก็ตามที

บทความของคลาร์กทำให้ผมนึกขึ้นมาได้ว่า โดยแท้จริงแล้ว การอ่านหนังสือเป็นเรื่องโดดเดี่ยว และความโดดเดี่ยวนั้นเองก็ทำให้กิจกรรมการอ่านเป็นกิจกรรมเฉพาะตัว หนังสือแต่ละเล่มที่ผ่านการอ่านจากมือของเราจึงอยู่ในสภาวะเฉพาะด้วย หนังสือหนึ่งเล่มไม่ใช่แค่หนังสือหนึ่งเล่ม แต่มันคือวัตถุนั้นๆ ที่พาเราโลดแล่นผ่านประสบการณ์บางอย่างไปด้วยกัน หนังสือจึงไม่ใช่แค่เครื่องมือบรรจุตัวอักษร แต่มันคือ ‘ประสบการณ์’ ในตัวของมันเองที่เกิดขึ้นผ่านวิธีอ่าน วิธีพลิกหน้ากระดาษ วิธีพับมุมหนังสือ วิธีทะนุถนอมหนังสือ ซึ่งเกิดขึ้นแบบเฉพาะตัวเฉพาะเล่มโดยแท้

คลาร์กทำให้ผมนึกถึงคำบอกเล่าของแม่ที่ว่ามีคนบางคนทะนุถนอมหนังสืออย่างเหลือเกิน ผมพบต่อมาอีกว่า ต่อให้คนบางคน ‘แลดู’ ไม่ทะนุถนอมหนังสือ เช่น อ่านหนังสือพับมุมหรือขีดเส้นใต้ตัวอักษร ก็ไม่ได้แปลว่าเขาไม่รักหนังสือ แต่โดยเนื้อแท้แล้ว ไม่ว่าจะทะนุถนอมหนังสือหรือพับมุมและขีดเส้นใต้ ทั้งมวลล้วนคือกระบวนการเดียวกัน นั่นคือการ personalize หนังสือเล่มนั้นๆ ให้กลายเป็นหนังสือที่เป็นของของคนคนนั้นเอง เป็นของเฉพาะตัว เป็นสมบัติชั่วชีวิตของเขา

หลายคนอาจวิจารณ์ว่า วิธีอ่านหนังสือและทะนุถนอมหนังสือแบบนี้ เป็นเรื่องหรูหราของคนมีเงินสะสมหนังสือ แต่โดยเนื้อแท้แล้วกลับกันเลย เพราะมีคนมากมายที่รุ่มรวยการงานแต่ไม่ร่ำรวยเงินทอง ดังนั้น เขาจึงอยากรักษาหนังสือที่เป็นของของตัวเองเอาไว้ให้นานที่สุด ดังนั้น การหยิบยืมหนังสือไปโดยไม่ใช้วิธีหยิบจับอ่านหนังสือตามใจชอบอย่างสาธารณ์ จึงเป็นการไม่เคารพเจ้าของหนังสืออย่างที่สุด

ยิ่งหากเป็นหนังสือจากห้องสมุดสาธารณะที่ผู้คนต้องใช้งานหนังสือเป็นร้อยเป็นพันคนยิ่งแล้วใหญ่ เพราะการอ่านอย่างทะนุถนอมหนังสือ หมายถึงการส่งผ่านความรู้ ความงาม ความจริง ที่ฝังตัวอยู่ในหนังสือ ให้มีอายุยืนยาวมากขึ้นได้

ผมอาจไม่ถึงขั้นคลาร์ก ที่ไม่อยากให้ใครยืมหนังสือเลย แต่อย่างน้อยที่สุด ผมก็อยากให้คนที่ยืมหนังสือไป รู้จักอ่านมันด้วยความเคารพ ว่านี่คือสมบัติส่วนตัวของเจ้าของ คนเรารักหนังสือไม่เท่ากัน มีวิธีคิดต่อวัฒนธรรมการอ่านไม่เท่ากัน ซึ่งนั่นไม่เป็นไร แต่โดยพื้นฐานแล้ว เราต้องเคารพต่อสิ่งที่เรายืมมาใช้

แน่นอน ไม่มีใครคาดหมายว่าของที่คืนกลับมาจะต้องเหมือนเดิมร้อยเปอร์เซ็นต์ เรายืมรถยนต์ไปใช้ เราย่อมไม่ได้นำกลับมาคืนด้วยเลขไมล์เท่าเดิม เพราะนั่นเท่ากับเราไม่ได้ใช้งานมัน แต่ไม่ได้แปลว่าเราจะนำกลับมาคืนด้วยสภาพกันชนพังไฟท้ายแตก หรือกระทั่งไม่นำมาคืนเลยได้

หากมีวัฒนธรรมและรู้จักเคารพกันและกัน ก็จะรู้ว่าหนังสือควรเป็นเช่นนั้นด้วย

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save