fbpx

โรงหนัง-สายหนัง และชะตากรรมหนังไทยปัจจุบัน กับ อุณาโลม จันทร์รุ่งมณีกุล

“ในฐานะครู อยากเห็นศิษย์เติบโตในระบบการฉายหนังที่เปิดกว้างและเป็นธรรม

ในฐานะพลเมืองไทย อยากเห็นสังคมมีพื้นที่บ่มเพาะปัญญาด้วยหนังอันหลากหลาย”

ข้างต้นนี้คือประโยคเปิดของหนังสือ ‘โรงหนัง สายหนัง ความ(ไร้)อำนาจของคนดูและศิลปิน ธุรกิจการฉายภาพยนตร์และสังคมไทย พ.ศ. 2440-2561’  หนังสือเล่มนี้ถูกพัฒนาจากงานวิจัยเรื่อง ‘ธุรกิจการฉายภาพยนตร์และสังคมไทย พ.ศ. 2440-2561’  ของ รศ.ดร.อุณาโลม จันทร์รุ่งมณีกุล อาจารย์ประจำสาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ที่ศึกษาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ และกลุ่มทุนภายใต้ระบบการจัดจำหน่ายและฉายภาพยนตร์ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์

‘หนังไทยเจ๊ง’ หรือ ‘หนังไทยรอบฉายน้อย’ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาที่ภาพยนตร์ไทยกำลังประสบ ท่ามกลางระบบนิเวศของโครงสร้างธุรกิจการจัดจำหน่ายและฉายภาพยนตร์ของสังคมไทย ในวันที่โรงภาพยนตร์สองเครือใหญ่เป็นผู้ขายน้อยราย และสายหนัง (พ่อค้าคนกลางที่เป็นผู้จัดจำหน่ายหนังภายในประเทศ) ผูกขาด ลักษณะโครงสร้างธุรกิจดังกล่าวส่งผลต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์ไม่มากก็น้อย อีกทั้งยังกระทบทั้งผู้สร้างภาพยนตร์ ศิลปินอิสระ จนไปถึงผู้ชม จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ประเด็นดังกล่าวจะถูกนำมาสร้างข้อถกเถียงในสังคมอยู่บ่อยครั้ง ดังเช่นที่ผู้สร้างภาพยนตร์ ‘วัยอลวน 5’ ออกมาวอนผู้ชมให้ไปดูก่อนที่จะถูกถอดรอบทั้งหมดในช่วงที่ผ่านมา

ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องแรกที่เจอ ไม่ใช่เรื่องเดียว และคงไม่เป็นเรื่องสุดท้าย

การทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในมิติการจัดจำหน่ายและจัดฉายภาพยนตร์จึงจำเป็นอย่างยิ่ง สำหรับหาทางออกร่วมกันสำหรับทุกฝ่าย 101 ชวน รศ.ดร.อุณาโลม จันทร์รุ่งมณีกุล ผู้วิจัยและเขียนหนังสือเล่มดังกล่าว ในฐานะอาจารย์ภาพยนตร์ที่พบเจอศิลปินหน้าใหม่ผู้เต็มเปี่ยมด้วยความหวังต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์ และฐานะนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านประวัติศาสตร์เศรษฐกิจภาพยนตร์ และด้านการขับเคลื่อนสังคมด้วยสื่อภาพยนตร์ มาพูดคุยเพื่ออธิบายสถานการณ์ หาทางออกเกี่ยวกับระบบโครงสร้างธุรกิจภายใต้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ในปัจจุบัน และในวันที่สตรีมมิงเข้ามา โครงสร้างธุรกิจจะเดินต่อไปได้ไหม หรือนี่จะเป็นจุดจบของโครงสร้างอันไม่เป็นธรรมในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของประเทศไทย

ภาพโดย สุเมธ สุวรรณเนตร



เมื่อพูดถึงงานวิชาการในโลกภาพยนตร์ หลายคนคงนึกถึงการวิเคราะห์เนื้อเรื่องของภาพยนตร์ในมุมต่างๆ หรือวิเคราะห์ตัวบท แต่ทำไมงานวิจัยเรื่อง ‘ธุรกิจการฉายภาพยนตร์และสังคมไทย พ.ศ. 2440-2561’ ถึงสนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ธุรกิจการฉายโดยเฉพาะ

งานวิจัยนี้เป็นงานต่อเนื่องจากการศึกษาระยะแรก คือ ‘120 ปี ธุรกิจภาพยนตร์ไทย ในมิติประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและสังคมไทย’ งานชิ้นแรกมีจุดประสงค์เพื่อเห็นภาพรวมทั้งระบบของอุตสาหกรรมตั้งแต่ production distribution exhibition และ promotion และมุ่งเน้นทำความเข้าใจในมิติของกลุ่มทุนว่า ตลอด 120 ปี ที่ผ่านมาของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ใครบ้างที่เป็นกลุ่มทุนภายใต้ระบบเศรษฐกิจ การเมืองวัฒนธรรมเช่นนี้

เมื่อศึกษาพบว่าปัญหาของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไม่ใช่กลุ่มทุนการผลิตภาพยนตร์ แต่เป็นส่วนการจัดจำหน่ายและเผยแพร่ภาพยนตร์ต่างหาก เพราะส่วนดังกล่าวเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ภาพยนตร์ไทย อุตสาหกรรมภาพยนตร์ รวมถึงผู้ชมภาพยนตร์ ตกอยู่ในสภาวะย่ำแย่ทั้งสองฝ่าย กล่าวคือศิลปินก็ไปไม่รอด คนดูก็ไม่ได้รับชมภาพยนตร์ที่ดี งานวิจัยชิ้นต่อมาจึงหันมาสนใจในส่วนของการจัดจำหน่ายและการฉายภาพยนตร์อย่างเต็มตัว

ก่อนหน้านี้เคยไปร่างหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยบูรพามาก่อน เราได้เห็นลูกศิษย์หลายรุ่นที่จบไปล้วนมีศักยภาพทั้งนั้น และพวกเขามักจะสะท้อนว่าการที่จะเข้าไปในวงการภาพยนตร์ได้อย่างสมศักดิ์ศรีนั้นเป็นเรื่องที่ยาก เต็มไปด้วยอุปสรรคมากมาย การที่เขาจะได้ใช้ความสามารถทางด้านศิลปะของเขามาเลี้ยงตัวเอง หรือแม้เพียงให้สังคมเห็นยังทำไม่ได้เลย ทั้งหมดนี้เป็นแรงบันดาลใจที่อยากให้วงการภาพยนตร์ไทยมีศิลปินหน้าใหม่มีฝีมือสามารถอยู่รอดได้ทั้งระบบ

งานวิจัยที่นับเป็นงานชิ้นใหญ่เนี่ย ล้วนแล้วแต่เกิดจากความคับข้องใจทั้งนั้น ที่ผ่านมาตัวเองก็ไม่ได้เข้าไปในธุรกิจภาพยนตร์อย่างเต็มตัว แต่มีคนที่เราผูกพัน ทั้งเพื่อนฝูงที่เป็นผู้กำกับภาพยนตร์ และลูกศิษย์ที่อยู่ในอุตสาหกรรม

งานวิจัยนี้ตัดสินใจสิ้นสุดการศึกษาและมองสังคมช่วงปี 2561 ผ่านมา 5 ปี อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยมีอะไรเปลี่ยนไป หรือตั้งข้อสังเกตอะไรได้บ้าง

ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาทั้งหมด 6 ประเด็นที่ชวนตั้งข้อสังเกต คือ

1. ภาพยนตร์ไทยยังไม่มีความหลากหลาย และเกิดปรากฏการณ์ที่คนไทยไม่ดูภาพยนตร์ไทยมากขึ้น กล่าวคือภาพยนตร์ไทยที่ประสบความสำเร็จในตลาดมีเพียงไม่กี่ค่าย และภาพยนตร์จำนวนมากไม่ประสบความสำเร็จ มีรายได้ต่ำ เราเรียกภาพยนตร์เหล่านี้ว่า ‘คนสร้างภาพยนตร์อิสระ’ ซึ่งเกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น

อีกทั้งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ท่ามกลางภาวะโรคระบาดยิ่งทำให้ภาพยนตร์ประสบความสำเร็จได้ยากขึ้น เพราะสถานการณ์โควิดส่งผลให้ผู้ชมไม่เข้าโรงภาพยนตร์ หรือเข้าน้อยมาก

ดังนั้นภาพยนตร์ไทยจึงตกอยู่ในสภาวะ ‘เหมือนเดิม’ กล่าวคือผู้ชมไม่เลือกดู อีกทั้งโรงภาพยนตร์ก็ไม่เลือกให้โรงและรอบฉาย ทั้งหมดนี้วนกลับไปสู่ปัญหาเดิม ผู้สร้างภาพยนตร์ก็อยู่ไม่ได้ และส่งผลให้สังคมโทษกันเอง 

2. ภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา คือ ‘หนังผี’ โดยเฉพาะตระกูลแม่นาค เพราะผลิตถึง 3 เรื่อง คือ ‘พี่นาค 2’, ‘พี่นาค 3’ และ ‘แดงพระโขนง’ และรายได้ของภาพยนตร์อยู่อันดับที่สองและสาม

3. เกิดค่ายภาพยนตร์ใหม่ อย่างค่าย ‘เนรมิตรหนัง ฟิล์ม’ (ผู้สร้างภาพยนตร์ ‘4 Kings’) ทั้งที่สภาวะวงการภาพยนตร์ไทยดูไม่สู้ดีเท่าไหร่ นับว่าเป็นการตัดสินใจที่น่าสนใจของคนรักหนัง และคงจะผลักดันสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น

4. ภาพยนตร์ Hollywood ยังคงครองใจคนไทย เห็นจากรายได้มีมากกว่าภาพยนตร์ไทย 2-3 เท่าทุกปี ขณะเดียวกันภาพยนตร์ไทยมีลักษณะเป็น ‘ภาพยนตร์ร่วมทุนข้ามชาติ’ ที่เป็นการร่วมมือด้านการผลิตภาพยนตร์กับต่างประเทศสำหรับค่ายใหญ่มีมากขึ้น นับเป็นความต่อเนื่องจากช่วงยุคทศวรรษ 2540-2550 แต่มีความเด่นชัดมากกว่าในแง่ global distribution ที่ขยายตัวมากกว่าทศวรรษที่แล้ว จากหนังไทยได้ไปฉายในหลายประเทศมากขึ้น

5. ความสำเร็จของภาพยนตร์ไทยในระดับนานาชาติมีน้อยลง ไม่เหมือนช่วงทศวรรษ 2540 และ 2550 แนวโน้มดังกล่าวนั้นน่าเป็นห่วงสำหรับศิลปินหน้าใหม่และสำหรับการสร้างแรงบันดาลใจให้ศิลปินหน้าใหม่ในอนาคต

6. เกิดการศึกษาเรื่องค่าตอบแทนของทีมงานกองถ่ายทำภาพยนตร์ที่ไม่เป็นธรรม เกิดกระแสการเรียกร้องให้ดูแลค่าแรงที่ไม่ใช่ดารา เพราะส่วนหนึ่งที่ทำให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยพัฒนาได้ยาก ก็เพราะค่าแรงทีมงานต่ำ เรียกร้องเวลาทำงานสูง และทำงานในภาวะเสี่ยงต่อสุขภาพ ความปลอดภัย

แปลว่าในระบบโครงสร้างอุตสาหกรรมภาพยนตร์เช่นนี้ ศิลปินหน้าใหม่เกิดขึ้นค่อนข้างยาก

เกิดได้ยากมากและน้อยมาก หลายคนอาจจะตายตั้งแต่ก่อนฉายหนังแล้ว สังเกตว่าคนรุ่นใหม่จำนวนมากทำหนังสั้นได้เจ๋งสุดๆ แต่เมื่อเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมหนังแล้ว หนังจะลดพลังลงไปมาก หรือไม่ก็หายไปแล้วทำอาชีพอื่น เพราะเริ่มต้นทำบท คุณก็ถูกจำกัดเสรีภาพแล้ว

ในสังคมไทยมีหลายประเด็นมากๆ ที่พูดถึงไม่ได้ นำเสนอในฐานะสื่อยิ่งไม่ได้เลย ทั้งที่ชีวิตจริงเราอยู่กับมันตลอดเวลา เช่น การคอร์รัปชัน ตำรวจ ทหาร ระบบอุปถัมภ์ หรือการเมือง ต้องอวยกันอย่างเดียวเลย ทั้งที่สื่อภาพยนตร์โดยธรรมชาตินั้นต้องอาศัยเนื้อหาที่แปลกใหม่ ชวนคิดชวนตั้งคำถาม จุดประกายทางความคิด เปิดเผยความจริงระดับวิพากษ์ระบบและสังคมได้ ภาพยนตร์จึงจะก้าวไปสู่โลกกว้างได้ 

การสร้างซอฟต์พาวเวอร์ต้องอาศัยตรงนี้อย่างมาก ดูได้จากหนังที่ได้รับการยอมรับระดับสากล ทุกเรื่องวิพากษ์ถึงรากเหง้าและศึกษาข้อมูลอย่างดี แต่ในสังคมเราเสรีภาพการแสดงความเห็นถูกตีกรอบ เป็นแบบนี้มาร้อยกว่าปี คนดูก็เบื่อ ยิ่งคนดูระดับสากลยิ่งไม่ให้ความสนใจเลย หากเนื้อหาตื้นมาก ไม่เจาะลึกมากพอ ทั้งหมดก็ไม่สร้าง ‘ความอิ่มทางปัญญา’

ไม่ใช่เพราะคนไทยไม่เก่ง… คนไทยเก่งแต่ไม่มีที่ทาง ไม่มีเงินลงทุนสูงๆ และไม่สามารถจ่ายค่าแรงทีมงานให้สามารถเลี้ยงชีพได้ในสภาพที่เรียกร้องเวลาการทำงานสูงมาก การจำกัดเสรีภาพการแสดงออกทางความคิดเป็นการฆ่าอุตสาหกรรมหนัง และสติปัญญาของสังคม

ศิลปินหน้าใหม่ที่น้อยลง มีความเกี่ยวข้องกับโครงสร้างธุรกิจของการฉายภาพยนตร์ไหม

เมื่อพูดถึงปัญหาในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย หลายคนมักจะบอกว่า คนดูไม่ชอบภาพยนตร์ไทยเพราะคุณภาพแย่ แล้วจะมาเรียกร้องอะไรนักหนา ไม่เหมือนกับภาพยนตร์ต่างประเทศที่เม็ดเงินลงทุนมหาศาล

ทั้งนี้เวลาพูดถึงอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยต้องคิดเป็นระบบที่เชื่อมโยงกัน เราไม่สามารถคิดแยกส่วนได้ ต้องคิดว่าระบบทุกอย่างเป็นห่วงโซ่ โดยมองว่าเพราะเกิดสิ่งนี้เลยเกิดอีกสิ่ง นับว่ามีความซับซ้อนอย่างยิ่ง

หากสนใจไปในประเด็น ‘ระบบธุรกิจการฉายภาพยนตร์’ มีสองกลุ่มที่เชื่อมโยงกันคือ ‘ธุรกิจโรงภาพยนตร์’ และ ‘สายหนัง’ เมื่อเข้าใจตัวละครเหล่านี้ เราก็จะเริ่มเข้าใจว่าเหตุใดอุตสาหกรรมนี้จึงไม่เกิดศิลปินหน้าใหม่ และคนดูไม่ได้รับชมภาพยนตร์ไทยที่ดีเพราะอะไร

ก่อนอื่นเลย เราไม่ได้โทษว่าใครเป็นผู้ร้าย อาจจะกล่าวเช่นนั้นไม่ได้ เพราะหากวันนี้เราแก้ปัญหาโดยไม่ได้ศึกษาระบบของมัน แล้วประเทศไทยไม่ได้มีนโยบายด้านภาพยนตร์ กฎหมาย ข้อมูลพื้นฐานรองรับ เป็นสามข้อที่เมื่อไม่มีในการแก้ปัญหาจะอันตรายมาก มันอาจจะไปทำลายธุรกิจท้องถิ่นด้วย เพราะสายหนังเองก็เป็นธุรกิจท้องถิ่นหนึ่งที่ทำงานกับคนท้องถิ่นจำนวนมากเหมือนกัน นอกจากบทบาทในการรับซื้อหนังแล้ว เขายังมีบทบาทอื่นๆ เช่น เป็นนายทุนให้กับศิลปินหน้าใหม่ที่ไม่มีทุนด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายหนังอีสานและใต้ เช่น ตระกูลภาพยนตร์กลุ่มไทบ้าน ก็ขอทุนจากสายหนัง 

ดังนั้นสายหนังจึงมีบทบาทด้านนี้ ถึงไม่ได้มีเยอะมาก และสายหนังเองก็โอบอุ้มธุรกิจท้องถิ่นจำนวนมาก เช่นหนังกลางแปลง ถึงแม้จะลดลงแต่วัฒนธรรมการฉายหนังกลางแปลงภาคกลางยังมีอยู่เยอะ

ที่ผ่านมา ภาพยนตร์ไทยจากค่ายใหญ่มักเป็นที่ต้องการสำหรับสายหนังและโรงภาพยนตร์ ดังนั้นหากคุณไม่ได้อยู่ในสังกัดค่ายใหญ่ สายหนังก็อาจจะปฏิเสธการซื้อสิทธิ์หรือมีข้อตกลงทางการค้าที่แตกต่างออกไป เพื่อไม่ให้เขาเจ็บตัว

ศิลปินในไทยต้องพิสูจน์ตนเอง ทั้งนี้ การพิสูจน์ตนเองในระบบอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย คือการพิสูจน์ด้วยการสร้างยอดรายได้จากภาพยนตร์ แต่กว่าจะถึงตรงนั้นเส้นทางตีบตันมาก ดังนั้นอุตสาหกรรมไทยจึงเกิดศิลปินหน้าใหม่น้อยมาก

ศิลปินหน้าใหม่ต่อให้จะเก่งเพียงใด หากคุณอยู่ภายใต้ระบบเช่นนี้ การเติบโตเป็นไปได้ยากมาก

ภาพโดย สุเมธ สุวรรณเนตร

ในวันที่เราไม่ต้องขนฟิล์มข้ามโรงภาพยนตร์แล้ว โรงภาพยนตร์ทางเลือกเกิดขึ้นมากมาย หรือการเข้ามาของระบบสตรีมมิง ‘สายหนัง’ และ ‘โรงภาพยนตร์’ ยังคงมีอิทธิพลต่ออุตสาหกรรมเหมือนเดิมหรือไม่

การปรับตัวธุรกิจของสายหนังและโรงภาพยนตร์มีโดยตลอด หากถามว่ามีอิทธิพลเหมือนสมัยก่อนไหม คงตอบว่ามีอิทธิพลน้อยลง 

หลังจากนี้คงมีแนวโน้มเกิดได้สองทาง คือเมื่อสตรีมมิงเข้ามา ผู้คนก็หันไปดูสตรีมมิง ส่งผลให้สายหนังมีอิทธิพลลดลง เหมือนช่วงที่วิดีโอเข้ามา ระยะเวลานั้นสายหนังและโรงภาพยนตร์ก็มีอิทธิพลลดลง เพราะธุรกิจรอบด้านของเขา เช่นหนังกลางแปลง โรงหนังท้องถิ่นที่เขาเป็นเจ้าของล่มสลายไป 

ปัจจุบันนับเป็นอีกช่วงหนึ่งที่สายหนังและโรงภาพยนตร์พบเจอวิกฤต ซึ่งหากแนวโน้มไปในทิศทางนี้ อิทธิพลของพวกเขาจะลดลง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอีกหลายๆ ปัจจัยมากกว่าการเข้ามาของสตรีมมิง และจะไม่เร็วมากหรอก

แนวโน้มที่สอง คือเมื่อโลกพ้นสถานการณ์โควิดแล้ว ต่อให้มีสตรีมมิง ผู้คนอาจจะกลับเข้าโรงภาพยนตร์อีกครั้งผ่านการสร้างวัฒนธรรมการบริโภคใหม่ๆ 

จากการศึกษาประวัติศาสตร์ ช่วงที่โรงภาพยนตร์และสายหนังพบเจอวิกฤตมากที่สุด คือ ‘การเข้ามาของวิดีโอและดีวีดี’ ไม่มีคนเข้าโรงหนังเลย ผู้คนไม่จำเป็นต้องเดินทางมาดูสื่อบันเทิงในโรงภาพยนตร์แล้ว แต่โรงภาพยนตร์และสายหนังก็ปรับตัวเองในเชิงวัฒนธรรมตลอดมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงภาพยนตร์ ผ่านการนำธุรกิจตนเองไปผูกกับวัฒนธรรมการบริโภคของห้างสรรพสินค้า เห็นจากโรงภาพยนตร์เริ่มไปเปิดในห้างสรรพสินค้ามากขึ้น เพราะสามารถดึงผู้คนเข้ามาดูภาพยนตร์ได้พร้อมกับวิถีการบริโภคแบบใหม่ได้

แปลว่าการเข้ามาของสตรีมมิง อาจไม่ได้ทำให้ระบบที่มีปัญหาในส่วนของการฉายและสายหนังหายไปหรือเปลี่ยนไป

เมื่อใดก็ตามที่โรงภาพยนตร์ปรับตัวได้ว่า นี่คือวิถีการบริโภคของคนไทยแบบใหม่ๆ ที่สามารถพาผู้คนออกจากบ้านแล้ว เช่น ไปดูหนังในโรงภาพยนตร์เพื่อสัมผัสประสบการณ์แบบใหม่ที่ไม่ใช่บ้าน เมื่อนั้นโรงภาพยนตร์ก็จะกลับมาอีกครั้ง ในต่างประเทศเองก็ลำบากมาก โรงหนังถูกยุบไปเยอะมาก ซึ่งเราไม่ค่อยเชื่อว่าการเข้ามาของสตรีมมิงจะทำให้ระบบของ ‘โรงภาพยนตร์’ และ ‘สายหนัง’ ล่มสลายไป

คำอธิบายว่าสตรีมมิงเป็นคู่แข่งของโรงภาพยนตร์ เพราะคนไม่อยากออกจากบ้าน มีนิสัยติดบ้าน คำถามคือบรรยากาศเช่นนี้จะคงอยู่ตลอดไปเหรอ คนจะอยู่บ้านดูหนังไปอีกสามปี ห้าปีเหรอ มนุษย์เป็นพวกอยู่ไม่สุข และโรงภาพยนตร์ก็จะพัฒนาตัวเองไปอีก ที่ผ่านมาเราเห็นการเกิดขึ้นของโรงภาพยนตร์ e-sport , โรงภาพยนตร์ฉาย 3D ตลอดจนปัจจุบันโรงภาพยนตร์ก็เน้นขายป๊อปคอร์นและเครื่องดื่ม 

ทั้งนี้ แนวโน้มของคนดูภาพยนตร์จะเป็นไปได้ว่าน้อยลงในช่วงสองสามปีนี้ แต่ไม่ได้คงอยู่ตลอดไป ลักษณะนิสัยผู้คนอาจจะเลือกดูหนังบางประเภทในโรง และเลือกที่จะดูหนังบางประเภทในสตรีมมิง ดังนั้นผู้สร้างภาพยนตร์จะต้องเข้าใจระบบการจัดจำหน่าย ว่าผู้คนจะเลือกช่องทางดูที่ต่างกัน เช่น เขาอาจจะอยากดูหนัง Avatar ในโรงภาพยนตร์ แต่หากเป็นหนังโรแมนติกก็อาจจะอยากดูกับคู่รักที่บ้าน

ธุรกิจโรงภาพยนตร์และสายหนังเขาก็คิดอะไรใหม่ๆ เสมอ หากแนวโน้มเป็นเช่นนี้ท่ามกลางสังคมที่ปล่อยให้มีการควบรวมธุรกิจแนวดิ่ง (โรงภาพยนตร์อยู่ในทุกกระบวนการตั้งแต่ผลิตภาพยนตร์ จัดจำหน่ายภาพยนตร์ และฉายภาพยนตร์) วันหนึ่งโรงภาพยนตร์อาจจะลุกขึ้นมาสร้างภาพยนตร์เองมากกว่านี้ เพราะประเทศไทยไม่มีกฎหมายที่จะควบคุมการผูกขาดธุรกิจแนวดิ่ง

‘หนังไทยห่วย’ หรือ ‘ไม่มีใครดูหรอก’ มักเป็นคำที่เราได้ยินเสมอ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากระบบโครงสร้างธุรกิจเช่นนี้ อาจารย์มองปัญหาเหล่านี้อย่างไร และเราจะพบเจอไปอีกนานแค่ไหน

ปัญหาเรื่องระบบการจัดฉายภาพยนตร์เป็นปัญหางูกินหาง กรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นอย่างเรื่อง ‘วัยอลวน 5’  ที่ประสบปัญหาจำนวนรอบฉายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาซ้ำซากมาก และเรียกร้องกันมาทุกรัฐบาล บางทีเราไม่สามารถเนรมิตหนังดีได้ด้วยเพียงตัวของศิลปินและค่ายหนัง เพราะภาพยนตร์เหล่านั้นอยู่ภายใต้ระบบที่คุณต้องสร้างภาพยนตร์ให้ถูกใจตลาด สายหนังถึงจะซื้อ อย่างเรื่องวัยอลวน 5 ก็เป็นอีกหนึ่งกรณีที่เกิดขึ้นในยุคนี้ หากถามว่าในอนาคตจะมีภาพยนตร์ที่พบชะตาเดียวกันอีกไหม คำตอบคือเกิดขึ้นแน่นอน เดี๋ยวปีนี้ก็มีอีก

ภายใต้ระบบเช่นนี้ศิลปินหน้าใหม่ ผู้สร้างอิสระ และค่ายหนังขนาดเล็ก ก็จะประสบปัญหานี้และเติบโตได้ยาก

หนังนอกกระแส’ หรือ ‘หนังทางเลือก’ อยู่อย่างไรในระบบเช่นนี้

ยอมรับว่าอยู่ยากมาก แต่มีโอกาสมากกว่าก่อนหน้านี้จากปัจจัยการเข้ามาของสตรีมมิง ที่ผ่านมาการเรียกร้องเป็นเหมือนปัญหา ‘ไก่กับไข่’ คือเรียกร้องให้มีพื้นที่ฉายหนัง พอมีแล้วฉายแล้วเจ๊ง คุณจะให้โรงหนังเขาทำอย่างไร ปัญหานี้ก็วนไม่สิ้นเป็นงูกินหาง 

เมื่อสตรีมมิงเข้ามา สิ่งหนึ่งที่อยากจะบอกกับคนทำหนังรายเล็กหรือหนังอิสระ คือเขาควรจะเรียนรู้เรื่องกลไกตลาด โดยเฉพาะช่องทางที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายคนดูของเขา เพราะปัจจุบันคนที่จะเดินเข้าโรงหนังคือวัยรุ่นจนถึงวัยทำงาน คนกลุ่มนี้เขาเป็นกลุ่มเป้าหมายของหนังเราหรือไม่ ถ้าไม่ใช่แล้วเอาเข้าโรง แน่นอนมันเสี่ยง

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าพื้นที่การฉายหนังในประเทศเรามันไม่เปิดให้หนังประเภทอย่าง ‘วัยอลวน 5’  คือคุณจะไปบอกให้เขายุติการสร้าง อย่าทำเลย ก็ไม่แฟร์กับคนทำหนังเท่าไหร่ แต่สิ่งที่สังคมหรือรัฐบาลควรจะโอบอุ้มคือ ‘การเห็นคุณค่าของคนทำหนัง’ ถึงแม้จะเป็นหนังจากคนตัวเล็กตัวน้อย หรือเป็นหนังที่ตลาดกระแสหลักไม่ได้ต้องการ แต่อย่างน้อยต้องมีพื้นที่หลากหลายพอที่จะโอบรับ ส่วนสตรีมมิงจะเป็นหนึ่งในพื้นที่แบบนั้นไหม ก็เป็นคำถามสำคัญที่ต้องร่วมกันหาคำตอบ แต่ส่วนตัวคิดว่าได้ แต่ต้องมีปัจจัยอื่นเสริม

แปลว่าต้นทุนในการแบกรับการฉายในโรงภาพยนตร์มันเยอะมากเหรอ

ใช่ ต้นทุนเหล่านี้ส่วนใหญ่จะไปตกกับผู้สร้างภาพยนตร์ ก่อนหน้านี้ผู้สร้างต้องเสียค่า ‘วีพีเอฟ’ หรือค่าการเปลี่ยนเครื่องฉายจากระบบฟิล์มเป็นดิจิทัล ซึ่งเกิดขึ้นในยุคหลัง 2540 เมื่อระบบการถ่ายทำนั้นเปลี่ยนจากฟิล์มเป็นดิจิทัล ส่งผลให้ระบบการฉายของบ้านเราก็ต้องเปลี่ยนตาม จึงมีค่าธรรมเนียมนี้ขึ้นมา

หากเป็นค่ายภาพยนตร์ ค่ายเป็นคนจ่าย หากเป็นคนทำหนังอิสระ คนทำหนังต้องจ่าย ทั้งนี้พื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลจะจ่ายให้โรงภาพยนตร์โดยตรง แต่หากเข้าภูมิภาคอื่นๆ ที่ต้องผ่านสายหนังเท่านั้น คนที่จะจ่ายคือ ‘สายหนัง’ แต่หลายครั้งสายหนังก็มาเก็บกับผู้ผลิตอีกทีหนึ่ง

ที่ผ่านมาก็มีเรียกร้องและทะเลาะกันหลายหนว่าไม่ควรจะเก็บแล้ว เพราะระบบการฉายบ้านเรามันเปลี่ยนมานานแล้ว ดังนั้นข้อเสียเปรียบของคนทำหนังขนาดเล็กก็คือถูกเก็บค่าธรรมเนียม ในขณะที่ค่ายหนังใหญ่ไม่ถูกเรียกเก็บแล้ว นั่นหมายถึงคนทำหนังอิสระหรือศิลปินหน้าใหม่ต้องจ่าย ขณะที่ค่ายหนังใหญ่ที่ได้รายได้สูงไม่ต้องจ่าย

ปัจจุบันเท่าที่ตรวจสอบพบว่า สำหรับหนังไทยอาจจะไม่ถูกเก็บค่าวีพีเอฟแล้ว แต่หากให้โรงหนัง (สองเครือใหญ่) จัดจำหน่ายหนัง หรือนำเข้าโรง ต้องจ่ายค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ไม่เรียกว่าวีพีเอฟ แต่เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดทำสื่อ ส่วนโรงต่างจังหวัดบางแห่งอาจจะยังมีการเก็บค่าวีพีเอฟอยู่

เมื่อนำภาพยนตร์เข้าโรงภาพยนตร์แล้ว ก็จะตามมาด้วยค่าโปรโมตหนัง แม้คุณขายสิทธิ์ให้สายหนังแล้วก็ตาม สายหนังไม่ได้โปรโมตให้คุณต้องโปรโมตเอง ที่ผ่านมาก็มีข้อขัดแย้งระหว่างคนทำหนังและสายหนังคือสายหนังซื้อสิทธิ์มาในราคาที่ไม่สมน้ำสมเนื้อกับสิ่งที่ลงทุน กล่าวคือผู้สร้างขายได้ถูกมาก ต่อให้หลังจากนั้นสายหนังเอาภาพยนตร์ไปแล้วฉายทั่วอีสาน ได้เงินมหาศาลแบ่งสัดส่วนกับโรงหนังแล้ว ผู้ผลิตไม่ได้เพราะผู้ผลิตขายสิทธิ์ไปแล้วจะได้ตามจำนวนที่ตกลงเท่านั้น

และยังมีความไม่เป็นธรรมในด้านของส่วนแบ่งรายได้ของโรงภาพยนตร์และคนทำหนัง สิ่งที่มักจะเรียกร้องเสมอคือ เมื่อภาพยนตร์สร้างรายได้แล้วผู้ผลิตไม่ได้ทั้งหมด คุณต้องแบ่งกับโรงหนังอีก และส่วนแบ่งที่ผ่านมาก็ตั้งข้อสังเกตเรื่องความเป็นธรรม ยกตัวอย่างเช่น ตกลงแบ่งกัน 50:50 ซึ่งคนผลิตหนังไทยได้ 50 เปอร์เซ็นต์ และโรงภาพยนตร์ได้ 50 เปอร์เซ็นต์ แต่สัดส่วนนี้หาได้น้อยมากสำหรับหนังไทย ส่วนใหญ่จะเป็น 45:55 คือโรงหนังได้ 55 เปอร์เซ็นต์ ผู้สร้างได้ 45 เปอร์เซ็นต์ ยิ่งไปกว่านั้นหากเป็นคนทำหนังอิสระ คุณอาจจะเจอ 40:60

ดังนั้น เมื่อหักลบกลบหนี้หมดแล้ว บางทีภาพยนตร์ไทยจึงประสบปัญหาขาดทุนมาก

หากมองว่าโรงหนังมีฐานะเป็นธุรกิจที่มุ่งหาผลกำไร ทำไมถึงต้องร่วมขับเคลื่อนวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ด้วย

โรงภาพยนตร์เองเขาก็ทำธุรกิจ ดังนั้นหลายครั้งจึงเกิดวิวาทะว่า ‘เราทำธุรกิจไม่ใช่การกุศล หากคุณสร้างภาพยนตร์ไม่ดี ก็ต้องเจ๊งเป็นธรรมดาตามกลไกตลาด’ แต่คำว่าภาพยนตร์ดี หรือไม่ดี ขึ้นอยู่กับว่าเป็นมุมมองของใคร เช่น ภาพยนตร์ศิลปะ อินดี้ สารคดี ซึ่งที่ผ่านมาสายหนังเองก็รู้ว่าภาพยนตร์เหล่านี้เป็นภาพยนตร์ดี แต่ไม่กล้าเสี่ยง

ทั้งนี้ สื่อที่ดีนั้นต้องใช้ระยะเวลาและมีโอกาสในการสร้างตลาด และต้องช่วยกันมองไปที่คนรุ่นใหม่ด้วยว่าเขาจะอยู่อย่างไร หากสังคมมีแต่มองศิลปะด้วยเชิงพาณิชย์ล้วนๆ

ถ้าวันนี้โรงจะเปิดฉายหนังฟอร์มใหญ่หรือค่ายใหญ่ก็ทำไป แต่เปิดพื้นที่บางส่วนให้กับหนังดีๆ ที่อาจจะไม่ได้ถูกใจตลาดในระดับแมสมาก การกระทำเช่นนี้ก็จะส่งผลต่อภาพลักษณ์ที่ดีของธุรกิจ อีกทั้งทำให้ห่วงโซ่อุตสาหกรรมภาพยนตร์เดินต่อไปได้โดยไม่เอาเปรียบกัน และทำให้สังคมเกิดวัฒนธรรมการเสพหนังอันหลากหลาย เกิดการพัฒนาต่อยอดทางศิลปะและปัญญา

เราเคยมีโอกาสคุยกับสายหนังและเจ้าของธุรกิจโรงภาพยนตร์ คือพวกเขาก็มองในมุมธุรกิจจริงนะ แต่มีอยู่คำหนึ่งที่ต้องเข้าใจคือ ‘ธุรกิจไม่ใช่สิ่งสุดโต่ง’ ที่จะโกยเงินเพียงฝ่ายเดียว แต่ต้องมีลักษณะน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า ถ้าโรงภาพยนตร์และสายหนังอยากได้ภาพยนตร์ดีๆ คุณก็ควรจะต้องสร้างพื้นที่ให้หนังเล็กๆ ที่น่าสนใจ

หากถามว่าเขาจำเป็นต้องทำไหม มองในเชิงพ่อค้าเขาไม่จำเป็นหรอก เพราะเขาก็อยู่รอดได้ แต่ในระยะยาวจำเป็นมากที่จะต้องร่วมมือกับกลุ่มคนที่กำลังเติบโตเป็นศิลปินในอนาคต และเขามีอะไรดีๆ ในมือ แต่เขาไม่มีพื้นที่แสดงออก และคนดูก็เติบโตขึ้นในทุกวัน

หากในวันนี้โรงภาพยนตร์รู้สึกว่าได้กำไรแล้วไม่เดินไปด้วยกัน อีกหน่อยคนคงไม่เดินเข้าโรงภาพยนตร์จริงๆ แหละ พวกเขาก็คงจะอยู่บ้านจริงๆ เพราะที่ผ่านมาสตรีมมิงพัฒนาเร็วกว่าโรงหนังอย่างมาก

ภาพโดย สุเมธ สุวรรณเนตร

เราจะมีทางออกที่เป็นทางสายกลาง ไม่กระทบทั้งตัวศิลปิน หรือทำลายธุรกิจการจัดจำหน่ายภาพยนตร์บ้างไหม

เราต้องมองทั้งระบบ มองว่าไม่มีใครเอาเปรียบฝ่ายเดียว หรือเป็นผู้ร้าย เพราะทุกฝ่ายต่างก็ขาดทุนมาก อย่างสายหนังเอง ก็มีทั้งสายหนังที่ได้กำไรมหาศาลและขาดทุนมหาศาลเช่นกัน เมื่อเรามองอุตสาหกรรมเป็นระบบได้ ก็จะเห็นหมวดหมู่ของอุตสาหกรรม และจึงค่อยหาทางออกว่าจะเป็นเช่นไรดี สำหรับสิ่งที่ตัวเองเสนอวันนี้ก็ไม่ใช่คัมภีร์อะไร แต่ทางออกนั้นต้องเกิดมาจากการพูดคุยกับหลายฝ่าย

จากงานวิจัย เสนอว่าหน่วยงานที่ต้องเข้ามาเป็นบทบาทและแม่งานสำคัญ คือ ‘รัฐ’ ที่เป็นรัฐเพราะคุณจะให้ใครลุกมาเป็นแม่งานล่ะ หากไม่ใช่รัฐ จะเป็นโรงหนังหรือสายหนังเหรอ หรือการรวมตัวของประชาชนเหรอ ทั้งหมดเป็นอะไรที่ยากลำบากมาก แม่งานควรเป็นรัฐที่มีการเปิดเวทีระดมความคิดอย่างจริงจังถึง ‘นโยบายด้านภาพยนตร์’ (film policy) พิจารณาการสนับสนุนทั้งศิลปินหน้าใหม่ การให้ความรู้ด้านการจัดจำหน่าย สร้างช่องทางการขาย พื้นที่ฉายที่เข้าถึงง่าย หนุนกฎหมายกำหนดสัดส่วนหนังไทย นโยบายส่งออก การเติมเสรีภาพทางความคิด และวิพากษ์สังคมตามจริงได้

เป็นเรื่องที่น่าเสียดายมากที่ประเทศไทยไม่เคยมีนโยบายด้านภาพยนตร์เลย เรามี ‘แผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์’ ที่ทำทุกๆ 5 ปี โดยกระทรวงวัฒนธรรมเป็นเจ้าภาพ แต่แผนดังกล่าวไม่นับว่าเป็นนโยบายด้านภาพยนตร์ เพราะนโยบายนั้นต้องจริงจัง มีรายละเอียดมากกว่านี้ และนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง

แผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์นั้นไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเปิดพื้นที่หรือการศึกษาเกี่ยวกับพื้นที่การฉายภาพยนตร์อย่างเป็นระบบเลย แต่เน้นให้ความสำคัญกับตลาด การพัฒนาการผลิตภาพยนตร์ หรือให้ทุนแก่ภาพยนตร์

ดังนั้นทางออกสำหรับคนทำหนังอิสระ หรือศิลปินหน้าใหม่ คือต้องเรียกร้องให้มีการศึกษาพื้นที่การฉายหนังอันหลากหลาย คล้ายๆ กับ art house กระจายไปตามจังหวัด ไม่กระจุกตัวในกรุงเทพฯ ส่วนเงินลงทุนก็เป็นเรื่องสำคัญว่าจะทำอย่างไรให้พื้นที่เหล่านี้อยู่รอด ทุกวันนี้มีการเกิดขึ้นของกลุ่มฉายหนังอิสระเยอะมาก แต่ปัญหาคือเกิดและดับ เกิดและดับ เกิดและดับ แปลว่าโมเดลธุรกิจนั้นก็เป็นสิ่งสำคัญ 

ในต่างประเทศหลายแห่ง รัฐบาลต้องอุดหนุน (subsidize) art house ช่วงนี้ที่เป็นช่วงใกล้เลือกตั้งได้จังหวะเลย ประชาชนต้องจับตาดูว่าพรรคการเมืองไหนจะหยิบยกนโยบายภาพยนตร์มาเสนอแก่สังคม เพราะการที่พรรคการเมืองให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ก็สะท้อนถึงวิสัยทัศน์และความเข้าใจเกี่ยวกับสื่อและภาพยนตร์ เนื่องจากนโยบายภาพยนตร์​ต้องมีฐานข้อมูล งานวิจัยที่รองรับแนวคิด

ทั้งหมดนี้นอกจากรัฐแล้ว สถาบันการศึกษาด้านภาพยนตร์ต้องออกแบบการสอนอย่างจริงจัง

นอกจากการสนับสนุนของรัฐแล้ว มีโมเดลไหนอีกไหมที่ดูจะเป็นทางออกจากปัญหา

ที่ผ่านมาก็มีข้อเสนอมากมายที่ยังค้างคา หมายถึงไม่ได้มีใครทำวิจัยเพิ่มเติมถึงความเป็นไปได้ และสำรวจปัจจัยแวดล้อม นั่นคือ ‘กฎหมายกำหนดสัดส่วนภาพยนตร์ไทยที่ฉายในโรงภาพยนตร์’ ซึ่งอยู่ภายใต้การ subsidize ของรัฐบาล คือเป็นการกำหนดสัดส่วนว่าต้องมีภาพยนตร์ไทยฉายในโรงอย่างน้อยเท่าใด อาจจะไม่ใช่สัดส่วนที่มาก แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม คุณต้องทำ ในต่างประเทศเองก็มีการหยิบยกแนวคิดนี้ไปปฏิบัติ ไม่เช่นนั้นภาพยนตร์ในชาติของแต่ละประเทศก็พังหมด

นอกจากนี้ ในอนาคตควรมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับกฎหมายควบคุมการควบรวมธุรกิจภาพยนตร์ในแนวดิ่ง เพราะปัญหานี้ส่งผลให้ศิลปินไม่มีโอกาสแทรกตัวเข้าไปในอุตสาหกรรมหนังไทยได้ ถ้าวันนี้โรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่และสายหนังที่มีอิทธิพล ลุกขึ้นมาสร้างหนังเอง จัดจำหน่ายเอง ฉายเอง ได้เงินกันเอง คำถามคือศิลปินที่ไม่มีทุนเขาจะไปฉายหนังที่ไหน เติบโตได้อย่างไร ทั้งนี้กฎหมายควบคุมการควบรวมในแนวดิ่งนั้นต้องผ่านการศึกษาให้ดีก่อน เพราะสหรัฐอเมริกาก็เคยมีแต่ยกเลิกไป

การออกกฎหมายต่างๆ ก็ต้องมีเงื่อนไขที่ไม่ให้โรงภาพยนตร์และสายหนังรับภาระหนักจนเกินไป และไม่ต้องทะเลาะกันมาก แน่นอนล่ะว่าต้องเรียกร้องกับทั้งสองเครือใหญ่ว่า คุณทำเพื่อธุรกิจของคุณ แต่อย่างน้อยต้องเห็นแก่คนรุ่นใหม่ที่เขากำลังเติบโตไปเป็นศิลปินหน้าใหม่ หรือลูกค้าของคุณ

ตัวละครสำคัญที่บอกว่าควรเป็นเจ้าภาพสำหรับการออกแบบนโยบาย กฎหมาย คือ ‘รัฐ’ เอาเข้าจริงเราสามารถไว้ใจรัฐไทยได้ขนาดไหน

ไว้ใจได้น้อยมาก ทุกครั้งที่พูดถึงนโยบายด้านภาพยนตร์ (film policy) เราก็สงสารคนทำงานในกระทรวงวัฒนธรรมนะ มีหลายคนมากที่อยากทำอะไรดีๆ แต่ระบบราชการไทยกำลังผูกตัวเอง และมีทัศนคติบางอย่างที่ทำให้ออกมาไม่ได้

บทบาทรัฐไทยที่ทำกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์มากที่สุด คือ ‘การควบคุมเซนเซอร์’ โดยมีทัศนคติว่า ถ้าพูดถึงภาพยนตร์จะต้องเซนเซอร์อย่างไร หรือพยายามหารายได้เข้าประเทศด้วยการบรรเทากฎเกณฑ์ราชการ ดึงกองถ่ายต่างประเทศเข้ามา หลังๆ มีฮิตเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ ก็นำเอาภาพยนตร์เป็นหนึ่งในสินค้าซอฟต์พาวเวอร์ ทั้งหมดนี้ทำให้บทบาทของรัฐไทยที่ผ่านมามีมิติที่คับแคบมาก

รัฐไทยควรจะมองและเชื่อมโยงว่า ภาพยนตร์เป็นสื่อที่สร้างปัญญาให้สังคมและสร้างศิลปินระดับโลกได้ แต่ก่อนจะสร้างปัญญาของสังคมและศิลปินระดับโลกได้นั้น ต้องมีเสรีภาพในการผลิตและมีพื้นที่ในการแสดงออกก่อน

ต้องคิดนโยบายเป็นระบบ โดยการจะสร้างปัญญาระดับนี้ คุณจะมีหน่วยงานอะไรที่สนับสนุนและมีอิสระมากพอ ไม่เหมือนกับคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ คิดว่าจะรอดไหมล่ะ หน่วยงานนั้นต้องมีบุคคลที่รู้จริงและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าไป

ทัศนคติของรัฐต้องเปลี่ยนแปลงถ้าคุณจะเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ และจงสร้างให้ภาพยนตร์เป็นสื่อที่สร้างปัญญาให้กับสังคมจริงๆ สร้างศิลปิน สร้างรายได้ได้จริง ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้ต้องเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ทั้งมิติของกฎหมายและนโยบายภาพยนตร์ระดับชาติ

จากทั้งหมดที่คุยกันมาได้เห็นทั้งปัญหา และอุปสรรค มีอะไรที่กังวลอีกไหม

คนไทยเองชินกับการเรียนรู้ทางศิลปะกับภาพยนตร์สองประเภท คือหนัง Hollywood ที่เน้นลงทุนเม็ดเงินที่สูง เน้นความสนุก กับหนังไทย ‘ตลก ผี รัก’ ที่ต้องมาจากค่ายหนังที่เขาไว้ใจ 

ปัญหาคือพอมันไม่มีพื้นที่ฉายหนังประเภทอื่นๆ หรือศิลปะภาพยนตร์แบบอื่นๆ คนไทยก็ไม่สามารถเรียนรู้ทางสุนทรียศาสตร์ได้มากนัก ความสำคัญของสุนทรียศาสตร์คือการสร้างปัญญาให้กับสังคม ขอเน้นย้ำว่าถ้าสังคมไหนไม่มีการเรียนรู้ทางสุนทรียศาสตร์หรือความงามศิลปะอันหลากหลาย สังคมนั้นจะกลายเป็นสังคมที่มืดบอดทางปัญญา เพราะเพียงแค่ปัญญาที่คุณจะซึมซับประสบการณ์ศิลปะหลายๆ แบบยังมีไม่ได้ คุณจะเอาปัญญาอะไรไปต่อยอด สร้างภาพยนตร์ที่แปลกแหวกแนวและให้ความบันเทิงตอบสนอง ยกระดับจิตใจของมนุษย์

คนไม่ได้มีแบบเดียว หนังก็เช่นกัน คุณต้องเปิดพื้นที่อันหลากหลาย ตอนแรกคนดูก็อาจจะไม่ชินหรอก หนังก็จะเจ๊งอยู่นั่นแหละ แต่เมื่อเรามีนโยบายภาพยนตร์ที่หนุนเป็นระบบ รัฐช่วยหนุนในระยะแรก ระหว่างนี้ก็วางโมเดลให้แต่ละจังหวัดบริหารจัดการด้วยภาษีท้องถิ่นตนเอง อาจจะลดหย่อนภาษีให้โรงหนังที่เขาร่วมมือเปิดพื้นที่ฉาย ธุรกิจหนังอิสระจะไม่ล้มง่าย ราชการไทยต้องมอง ‘ภาพยนตร์’ แบบใหม่ เมื่อผ่านไประยะหนึ่งภาพยนตร์ก็จะสร้างกลุ่มคนดูโดยตัวมันเอง และหลายที่ก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ

สุดท้ายแล้วหากสถานบันการศึกษาด้านนิเทศศาสตร์ ภาพยนตร์ เอาจริงและเห็นความสำคัญของคนรุ่นต่อไป ก็ต้องปรับตัวออกแบบการเรียนการสอนที่มีเนื้อหาด้านการจัดจำหน่ายภาพยนตร์ วิเคราะห์ตลาด การโปรโมต และช่องทางการฉายทั้งระดับชาติและโลก

ที่สำคัญเลยคือ ช่วยผลักดันนโยบายด้านภาพยนตร์และกฎหมายแรงงานด้านภาพยนตร์ด้วย ก็จะถือว่าไม่ทิ้งภาระ ขายฝันให้คนรุ่นหลังมากเกินไป

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save