fbpx
ความล้มเหลวของการบังคับใช้กฎหมาย: มหันตภัยร้ายแรงต่อประชาธิปไตยในลาตินอเมริกา

ความล้มเหลวของการบังคับใช้กฎหมาย: มหันตภัยร้ายแรงต่อประชาธิปไตยในลาตินอเมริกา

ประชาธิปไตยย่อมเข้มแข็งและฝังรากลึกลงในสังคมได้ หากสังคมนั้นๆ ยึดถือการเคารพกฎกติกา (lawfulness) เป็นสำคัญ กฎหมายต้องได้รับการบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั่วถึง และเป็นธรรม สามารถปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนได้และสามารถป้องกันคุ้มครองมิให้เกิดการทุจริตภายในสถาบันการเมืองหรือการใช้อำนาจเล่นพรรคเล่นพวกของนักการเมือง

ถ้าหากว่าบ้านเมืองนั้นๆ ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างเป็นธรรมและทั่วถึง หลักนิติธรรมอ่อนแอ สถาบันด้านความยุติธรรมล้มเหลว ไม่สามารถสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ตลอดจนสิทธิขั้นพื้นฐานได้ แนวโน้มที่อาจเกิดขึ้นได้ในสภาพการณ์เช่นนี้คือ ประชาชนอาจหันไปนิยมให้รัฐใช้แนวทางแบบเผด็จการสำหรับการแก้ปัญหาเหล่านี้ หรือไม่ก็คือไม่สนใจหน่วยงานของรัฐอีกต่อไป ลงมือจัดการแก้ปัญหาด้วยตนเองเลยโดยตรง

ปัจจัยต่างๆ ที่มีอิทธิพลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนในหน่วยงานความยุติธรรมของรัฐมีความซับซ้อนมาก ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องคุณภาพและประสิทธิภาพของสถาบันความยุติธรรมเองก็ดี ประสบการณ์ในอดีตที่ผ่านมาก็ดี ตลอดจนทัศนคติของแต่ละตัวบุคคลด้วยเช่นกัน[1] อย่างไรก็ตาม ที่น่าสนใจคือหลักฐานและงานศึกษาวิเคราะห์หลายๆ ชิ้นบ่งชี้ว่าระบอบประชาธิปไตยในลาตินอเมริกาอยู่รอดปลอดภัยมาได้ ทั้งๆ ที่หลักนิติธรรมกระท่อนกระแท่นทำงานได้ไม่เต็มที่ ซ้ำแล้วปัญหาอาชญากรรม การทุจริต และการละเมิดกฎหมายที่กระทำโดยหน่วยงานของรัฐจากการขาดหลักนิติธรรม ประกอบกับการที่ประชาชนไม่มีโอกาสเข้าถึงทนายความและศาลอย่างเท่าเทียมกัน ก็ยิ่งทำให้ทัศนคติต่อสถาบันความยุติธรรมส่อไปในทางแง่ลบมากขึ้น การขาดความเคารพสิทธิในชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่นที่มีสภาพย่ำแย่อยู่แล้วก็ยิ่งแย่ลงไปอีก

รายงานดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรมของ World Justice Project (WJP) ประจำปี 2015 ทำการศึกษาวิเคราะห์หลักนิติธรรมของประเทศในโลกทั้งหมด 102 แห่งโดยใช้ปัจจัยประกอบการศึกษาราว 8 ประการ ในรายงานดังกล่าวมีการให้คะแนนและจัดลำดับว่าหลักนิติธรรมของแต่ละประเทศอยู่ลำดับใด สำหรับลาตินอเมริกา รายงานนี้พบว่า 6 ประเทศ (เม็กซิโก กัวเตมาลา นิการากัว ฮอนดูรัส โบลิเวีย และเวเนซุเอลา) ห้อยอยู่ในกลุ่ม 25 ประเทศท้ายตาราง ซ้ำแล้วเวเนซุเอลายังอยู่ในลำดับที่ 102 ท้ายสุดด้วย[2]

อาชญากรรมและความไม่ปลอดภัย

ปัญหาอัตราการเกิดอาชญากรรมที่มีสูงมาก รวมถึงประเด็นปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ล้วนแล้วแต่เป็นบ่อนทำลายประชาธิปไตยในลาตินอเมริกา บางครั้งไม่เพียงแต่ทำให้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยสั่นคลอนเท่านั้น แต่อาจถึงกับทำให้รัฐบางรัฐเกือบล่มสลายก็มี

โดยรวมแล้วลาตินอเมริกาแทบทุกประเทศมีอัตราการเกิดอาชญากรรมต่อวันอยู่ในระดับที่สูงมาก กระทั่งว่าในปี 2008 รายงานของ Latinobarómetro ระบุว่า ประชาชนส่วนมากเปลี่ยนมาลงความเห็นว่าปัญหาเร่งด่วนลำดับแรกในสายตาของตนคือปัญหาอาชญากรรม จากที่แต่เดิมตั้งแต่ปี 1995 เป็นต้นมาปัญหาหลักในสายตาพวกเขาคือเรื่องการว่างงานมาโดยตลอด[3] ส่วนในรายงานของ Latinobarómetro ฉบับปี 2015 พบว่าประชาชนในลาตินอเมริกาที่ตอบแบบสำรวจร้อยละ 10 ระบุว่าในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ตนเคยตกเป็นเหยื่อในอาชญากรรมมาก่อน ส่วนประชาชนอีกร้อยละ 25 ระบุว่าญาติของตนเคยตกเป็นเหยื่อเช่นกัน[4]

แม้ว่าอาชญากรรมในปัจจุบันจะมีแนวโน้มลดลงอย่างช้าๆ แต่กระนั้นก็ดี จำนวนตัวเลขของคดีความอาชญากรรมที่ทางการลงบันทึกไว้ กับจำนวนตัวเลขสัดส่วนของผู้ที่ไปแจ้งความจริงๆ ว่าตนเป็นผู้เสียหายมีความแตกต่างกันเป็นอย่างมาก ขึ้นอยู่กับว่าในแต่ละช่วงเวลา บริบทสังคม การเมืองและเศรษฐกิจเป็นเช่นไร สิ่งนี้จึงบ่งชี้ว่าถึงแม้อัตราการเกิดอาชญากรรมจะไม่ได้มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างฉับพลันหรือน้อยลงอย่างช้าๆ แต่การรับรู้ของประชาชนต่อเรื่องความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินสามารถเปลี่ยนแปลงได้อยู่เสมอ โดยเฉพาะถ้าหากเศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาลง อิทธิพลของความรับรู้เรื่องอาชญากรรมอาจมีผลต่อความรู้สึกนึกคิดของประชาชนต่อระบอบประชาธิปไตยด้วย

ยกตัวอย่างเช่นประเทศเม็กซิโกในปี 2001 สภาพเศรษฐกิจของประเทศไม่สู้ดีนัก ประชาชนชาวเม็กซิโกร้อยละ 79 บอกกับ Latinobarómetro ว่าตนเคยตกเป็นเหยื่อในอาชญากรรม แต่มีเพียงร้อยละ 18 เท่านั้นที่บอกว่าอาชญากรรมเป็นปัญหาหลักของประเทศ[5] ส่วนในเวเนซุเอลา ข้อวิตกกังวลใจในหมู่ประชาชนต่อปัญหาอาชญากรรมยังคงอยู่ในระดับสูง (ร้อยละ 47 ในปี 2013) ซ้ำแล้วผู้คนจำนวนมากยังระบุว่า ตนหรือญาติของตนเคยตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมในช่วง 12 เดือนก่อนหน้าด้วย[6] แต่ถึงเวเนซุเอลาจะอยู่รั้งท้ายในรายงานดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรมของ World Justice Project ปี 2015 ในรายงานฉบับเดียวกันกลับระบุว่าเม็กซิโกประสบปัญหาอาชญากรรมรุนแรงมากกว่า[7]

ทั้งนี้ข้อมูลเกี่ยวกับอัตราการฆาตกรรม (homicide rate) ชุดใหม่ที่เพิ่งจัดทำในไม่กี่ปีมานี้โดย InSight ชี้ว่าในปี 2015 ประเทศเอล ซัลวาดอร์มีอัตราการฆาตกรรมสูงที่สุดในภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียน โดยในช่วงปี 2008-2012 มีสัดส่วนเหยื่อต่อประชากรอยู่ที่ 103 ต่อ 100,000 คน[8] ส่วนในรายงานดัชนีสันติภาพโลก (Global Peace Index) ประจำปี 2015 ระบุว่าในภูมิภาคอเมริกากลางช่วงปี 2008 – 2015 ความรับรู้ของประชาชนต่อระดับอาชญากรรมในสังคมมีสภาพย่ำแย่ลง อีกทั้งปัญหาอาชญากรรมและความรุนแรงที่เกี่ยวเนื่องกับยาเสพติดก็ยิ่งเสริมให้อัตราฆาตกรรมในภูมิภาคดังกล่าวพุ่งสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย[9]

การที่ปัญหาอาชญากรรมอยู่ในขีดสูงไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนเท่านั้น หากแต่ยังอาจส่งผลไปถึงทัศนคติและพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐต่อเรื่องความชอบด้วยกฎหมาย (legality) ด้วย ปัญหาเรื่องการไร้ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินส่งผลให้ประชาชนในลาตินอเมริกาจำนวนมากมองว่า การเคารพกฎหมายไม่ใช่สิ่งที่ต้องทำเสมอไป กลายเป็นว่าจะเคารพกฎหมายหรือไม่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของแต่ละคนมากกว่า สิ่งนี้เองที่ทำให้ปัญหาความรุนแรงและอาชญากรรมยิ่งพุ่งสูงขึ้นเป็นทวีคูณ

ตัวอย่างเช่นในประเทศบราซิล แค่ในปี 2002 เพียงปีเดียวเกิดเหตุฆาตกรรมสูงถึง 50,000 คดี[10] ต่อมามีความพยายามออกกฎหมายห้ามการซื้อขายอาวุธปืน แต่ในเดือนตุลาคม 2005 ก็ถูกปัดตกไปในขั้นตอนการลงประชามติ ประชาชนไม่ให้การรับรอง นอกจากนี้ แทบทุกประเทศในลาตินอเมริกาก็ประสบปัญหาอาชญากรรมและความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับการเมืองไปทั่วเช่นกัน ตัวอย่างเช่นในเม็กซิโก มีการลอบฆ่าอะกุสติน ปาเวีย ปาเวีย (Agustín Pavia Pavia) ช่วงเดือนกันยายน 2016 ที่เมืองวาฆัวปัน เด เลออน (Huajuapan de León) รัฐวาฆากา (Oaxaca) ปาเวียเป็นสมาชิกคนที่ 5 ของกลุ่มเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายที่ชื่อว่า Movimiento Regeneración Nacional (National Regeneration Movement หรือเรียกโดยย่อว่า MORENA) ที่ถูกฆ่าตายในปีเดียวกัน

นอกจากนี้ ในบางกรณีเราพบเช่นกันว่าอาชญากรรมมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นมาพร้อมๆ กับกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย สิ่งนี้เป็นปัญหาที่เร่งด่วนอย่างยิ่งต่อรัฐเพราะอาจทำให้ประชาชนตั้งแง่กับการปกครองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยได้ อาจเกิดคำถามว่า จริงๆ แล้วประชาธิปไตยตอบโจทย์เรื่องความปลอดภัยให้กับพวกเขาหรือไม่นั่นเอง ปัญหาการค้ายาเสพติดถือเป็นต้นตอสำคัญของปัญหาความรุนแรงในลาตินอเมริกา และในบางประเทศอย่างเช่นเม็กซิโกและโคลอมเบียถือว่าเป็นสาเหตุหลักที่นำมาซึ่งการละเมิดกฎหมายด้วยวิธีการที่โหดร้ายทารุณอย่างยิ่ง รวมถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย

สภาพสังคมที่ปัญหาอาชญากรรมอยู่ในระดับสูงและหน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมายไร้ประสิทธิภาพเอื้ออำนวยให้องค์กรหรือบุคคลนอกกฎหมายทั้งหลายได้ถือกำเนิดและแผ่ขยายอิทธิพล ไม่ว่าจะเป็นเจ้าพ่อค้ายาเสพติดก็ดี แก๊งอาชญากรก็ดี รวมทั้งกลุ่มกองโจร (guerrilla) ด้วย มีหลายต่อหลายครั้งมากที่แก๊งค้ายา (cartel) ในประเทศ อย่างเช่นเม็กซิโกและโคลอมเบียสามารถควบคุมเหนือพื้นที่ขนาดมหึมาในประเทศได้ ซ้ำยังอาจมีอิทธิพลมากถึงขนาดสามารถชักใยอยู่เหนือการเมืองระดับชาติได้อีกด้วย เงินที่ได้มาจากการค้ายาเสพติดจำนวนไม่น้อยมักไปตกอยู่กับเจ้าหน้าที่รัฐในรูปแบบเงินใต้โต๊ะที่ให้เป็น ‘ค่าตอบแทน’ ในการช่วยแก๊งค้ายากระทำการต่างๆ[11]

ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือประเทศฮอนดูรัส ในเดือนเมษายน 2016 คณะปฏิบัติการสืบสวนสอบสวนพิเศษที่ประกอบด้วยทหารและตำรวจบุกเข้าค้นศูนย์บัญชาการตำรวจแห่งชาติเพื่อหาหลักฐานมาสนับสนุนข้อกล่าวหาที่ว่ามีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่หลายคนอยู่เบื้องหลังการสังหารหัวหน้าสำนักงานปราบปรามยาเสพติดและผู้ช่วย ทั้งนี้เพราะเจ้าหน้าที่ทั้งสองเป็นคนที่มักออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของตำรวจว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับแก๊งอันธพาลและพวกค้ายาเสพติดนั่นเอง[12] การที่กลุ่มนอกกฎหมายมีอำนาจสามารถควบคุมสถาบันต่าง ๆ ระดับชาติได้เช่นนี้ทำให้เราต้องหวนกลับมาคิดว่าแท้จริงแล้วธรรมชาติของอำนาจรัฐในลาตินอเมริกาเป็นเช่นไร รัฐมีอำนาจควบคุมและปกป้องสิทธิทางการเมืองและสังคมของประชาชนภายใต้ระบอบประชาธิปไตยได้มากน้อยเพียงใด

การทุจริต

เมื่อหลักนิติธรรมอ่อนแอ สิ่งแรกๆ ที่จะเกิดขึ้นคือมีการทุจริตทางการเมือง ซึ่งเป็นสิ่งที่ส่งผลร้ายต่อประชาธิปไตยเป็นอย่างยิ่ง[13] Philip ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าประชาธิปไตยย่อมไม่มีทางแข็งแรงฝังรากลึกได้ ถ้าหากบุคคลหรือกลุ่มคนในสังคมยังเชื่อว่าตนจะได้มาหรือรักษาไว้ซึ่งเสียงสนับสนุนของประชาชนโดยที่ไม่จำเป็นต้องเคารพกฎเกณฑ์กติกาใดๆ[14] ซึ่งลักษณะและพฤติการณ์แหกกฎเกณฑ์ของผู้นำทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจในลาตินอเมริกาเช่นนี้ก็ยังคงธำรงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน

ตัวอย่างเช่นเวเนซุเอลาในสมัยประธานาธิบดีคาร์โลส อันเดรส เปเรซ (Carlos Andrés Pérez) ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งอยู่สองสมัย (19740-1979 และ 1989-1993) เขาถูกกล่าวหาว่ากระทำการทุจริตในสมัยที่ดำรงตำแหน่งเป็นครั้งแรก แต่ก็ได้รับเลือกให้เข้ามาทำหน้าที่เดิมอีกครั้งในปี 1989 กระนั้นก็ดีในปี 1993 ประธานาธิบดีคาร์โลส อันเดรส เปเรซถูกฟ้องขับออกจากตำแหน่งเพราะเรื่องการทุจริตเช่นเดิมและโดนไล่ออกในที่สุด อันที่จริงแล้ว การกล่าวหาว่าประธานาธิบดีกระทำการทุจริตและประพฤติผิดในหน้าที่ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของภูมิทัศน์การเมืองลาตินอเมริกามาโดยตลอด ประธานาธิบดีหลายคนในหลายประเทศต้องเจอกับข้อกล่าวหานี้ไม่มากก็น้อยอยู่เสมอ

แต่การทุจริตที่ส่งผลเสียต่อประชาธิปไตยไม่ได้จำกัดอยู่แค่กับเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงเท่านั้น การทุจริตในหมู่ข้าราชการระดับปฏิบัติการหรือในหน่วยงานระดับท้องถิ่นก็ส่งผลเสียต่อวิถีประชาธิปไตยพอๆ กัน โดยงานของ Ruhl ทำการศึกษาเปรียบเทียบกรณีการทุจริตโดยเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงกับการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ-ข้าราชการระดับปฏิบัติการ[15] Ruhl พยายามหาทางตอบของคำถามที่ว่า เพราะเหตุใดประเทศต่างๆ อาจเจ็บตัวกับปัญหาการทุจริตในระดับใดระดับหนึ่งเป็นหลักมากเป็นพิเศษ ไม่ใช่กับทั้งสองระดับในปริมาณที่พอๆ กัน ส่วนในงานของ Morris และ Blake ก็ชี้ให้เห็นว่าปัญหาการทุจริตในลาตินอเมริกาทั้งภูมิภาคมีปัจจัยและได้รับอิทธิพลมาจากหลายทางมาก[16] ดังนั้น ข้อสังเกตอย่างง่ายที่มักพูดกันว่าปัญหาการทุจริตเป็นส่วนหนึ่งของ ‘วัฒนธรรม’ แบบลาตินอเมริกาซึ่งฝังรากลึกมาเป็นเวลานานอาจเป็นการกล่าวที่เกินจริงและขาดหลักฐานที่น่าเชื่อถือไปเสียหน่อย

ในหลายๆ กรณี คดีการทุจริตมักเกี่ยวเนื่องกับการที่รัฐรับสินบนกับเอกชนเพื่อแลกกับสัมปทานในการดำเนินงานต่างๆ กรณีในเปรูคือตัวอย่างหนึ่ง ในเดือนตุลาคม 2008 คณะรัฐมนตรีทั้งคณะประกาศลาออกเพราะมีการกล่าวหาว่าสมาชิกพรรค Alianza Popular Revolucionaria Americana (American Revolutionary Popular Alliance หรือเรียกโดยย่อว่า APRA) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล ณ ขณะนั้น ไปรับสินบนจากบริษัทเอกชนเพื่อแลกกับสัมปทานการขุดเจาะน้ำมัน

นอกจากเรื่องการติดสินบนแล้ว ปัญหาการทุจริตอีกข้อหนึ่งก็มักจะมาจากเรื่องเงินทุนสนับสนุนพรรค เพราะต้องยอมรับว่าอุปสรรคข้อหนึ่งที่นักการเมืองและพรรคการเมืองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยเลี่ยงไม่ได้เลยคือเรื่องเงินทุน พวกเขาต้องมีทุนมากพอในการหาเสียงและเข้าถึงประชาชน การแข่งขันกับผู้สมัครคนอื่นๆ จึงจะได้เป็นไปอย่างโดดเด่นและสมน้ำสมเนื้อพอ ด้วยเหตุนี้ การสร้างข้อกำหนดกฎเกณฑ์เรื่องการระดมทุนและจัดการเงินทุนในช่วงหาเสียงของแต่ละพรรค จึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้หากต้องการสร้างระบอบประชาธิปไตยที่แข็งแรง การหมุนเวียนของเงินทุนสนับสนุนพรรคต้องตรวจสอบได้และมีความโปร่งใส ในการนี้องค์กรต่อต้านการทุจริตระดับโลก Transparency International และ Carter Center ร่วมมือกันพัฒนาดัชนีชี้วัดความโปร่งใสของเงินทุนสนับสนุนพรรคการเมือง จากนั้นก็นำมาปรับใช้ในการศึกษาประเทศในลาตินอเมริกาจำนวน 8 แห่ง ได้แก่ อาร์เจนตินา โคลอมเบีย คอสตาริกา กัวเตมาลา นิการากัว ปานามา ปารากวัย และเปรู[17] (Crinis Project, 2007) ผลการศึกษาพบว่าทั้ง 8 ประเทศมีจุดบกพร่องขนาดมหึมาในประเด็นเรื่องระบบการตรวจสอบความโปร่งใสของแหล่งเงินทุนสนับสนุนพรรคการเมืองและการหาเสียงจริง ทั้งในแง่ตัวมาตรฐานการตรวจสอบเองและวิธีการจัดการ และแน่นอนว่าไม่ใช่แค่นักการเมืองเท่านั้นที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริต ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐก็ถูกกล่าวหาเช่นกัน

ทุกๆ ปี Transparency International จะจัดทำรายงาน ‘ดัชนีภาพลักษณ์การทุจริต’ (Corruption Perceptions Index) ซึ่งแสดงผลชี้วัดว่าใน 168 ประเทศ ระดับการรับรู้ถึงปัญหาการทุจริตภายในภาครัฐของประเทศนั้นๆ อยู่ในระดับใด[18] ประเทศในลาตินอเมริกาทำคะแนนได้ไม่ดีนัก มีเพียงสองประเทศเท่านั้น (อุรุกวัยและชิลี) ที่ได้รับการจัดลำดับให้อยู่ใน 25 ประเทศที่มีภาพลักษณ์ปัญหาการทุจริตน้อยที่สุด อีก 13 ประเทศหล่นไปอยู่ในครึ่งหลังของตาราง ที่มากไปกว่านั้นคือประเทศเฮติกับเวเนซุเอลาติดโผเข้าไปอยู่ใน 10 อันดับประเทศที่มีภาพลักษณ์การทุจริตมากที่สุดในโลกด้วย

‘เครื่องชี้วัดการทุจริตทั่วโลก’ (Global Corruption Barometer) เป็นรายงานผลการสำรวจอีกอันหนึ่งที่จัดทำโดยองค์กร Transparency International ลักษณะคือใช้ข้อมูลจากผลสำรวจมาจัดลำดับภาพลักษณ์การทุจริตในระดับสถาบัน[19] ผลการสำรวจพบว่าในภาพลักษณ์และการรับรู้ถึงการทุจริตในหมู่พรรคการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐและเจ้าหน้าที่ตำรวจในลาตินอเมริกาอยู่ในระดับสูงมาก จริงอยู่ที่ปัญหาการทุจริตอาจก่อให้เกิดความเสียหายราคาแพงต่อประเทศ แต่ในบางกรณีวงเวียนการทุจริตก็อาจเป็นฟันเฟืองสำคัญในระบบเศรษฐกิจของประเทศด้วย กรณีนี้ที่น่าสนใจคือเม็กซิโก นักเศรษฐศาสตร์ประมาณการณ์ไว้ว่า เม็ดเงินที่สะพัดจากการกระทำการทุจริตอาจถือเป็นร้อยละ 2-10 ของ GDP ประเทศเลยทีเดียว[20]

จนถึงที่สุดแล้ว การต่อสู้กับปัญหาการทุจริตในลาตินอเมริกา ณ ปัจจุบันอาจกำลังเดินมาถึงช่วงที่ผู้กระทำผิดถูกจับมารับผิดเสียที Transparency International ระบุไว้ว่าทั่วทั้งทวีปอเมริกาช่วงปี 2015 เกิดกระแสการต่อสู้กับการทุจริตขึ้นมา 2 กระแสเป็นวงกว้าง อย่างแรกคือการเปิดโปงเครือข่ายการทุจริตขนาดมหึมา และอย่างที่สองคือการที่ประชาชนจำนวนมากออกมาเดินขบวนประท้วงต่อต้านนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐที่ทุจริต ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือประเทศบราซิล โดยงานของ Praça และ Taylor (2014) ทำการวิเคราะห์พัฒนาการของสถาบันระดับชาติที่ทำหน้าที่เป็นกลไกจัดการความรับผิด (Federal Accountability Institutions) ในบราซิลตั้งแต่ช่วงที่ประเทศเปลี่ยนผ่านกลับมาสู่ระบอบประชาธิปไตยจนถึงปี 2010 ผลการศึกษาพบว่าสถาบันประเภทดังกล่าวค่อยๆ พัฒนาดีขึ้นมากตามลำดับ[21]

ความไร้ประสิทธิภาพของหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายและการไม่ต้องรับผิด

การที่เจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐเพิกเฉยไม่บังคับใช้กฎหมายให้ทั่วถึงและเป็นธรรม ส่งผลให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงกระบวนการทางกฎหมายในลาตินอเมริกามีสภาพย่ำแย่มากขึ้น ทั้งยังเอื้ออำนวยให้กลุ่มผู้ทรงอิทธิพล กลุ่มคนมีเงิน ตลอดจนเจ้าหน้าที่รัฐลอยนวลไม่ต้องรับผิด เราอาจกล่าวได้ว่าการที่รัฐมีลักษณะเป็นเผด็จการอำนาจนิยมถือเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดวัฒนธรรมไม่ต้องรับผิด (impunity) ซึ่งฝังรากลึกไปทั่วในลาตินอเมริกา และปัญหาการบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรมก็ทำให้การไม่ไว้เนื้อเชื่อใจในระบบความยุติธรรมของประเทศฝังรากลึกเป็นวัฒนธรรมเช่นกัน[22]

แน่นอนว่าอัตราอาชญากรรมและความรุนแรงที่อยู่ในขีดสูง เมื่อประกอบกับปัญหาเชิงสถาบันและการปกครองด้วยแล้ว ย่อมทำให้ความเชื่อมั่นในประชาธิปไตยผุกร่อนลง ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศที่ประชาธิปไตยอ่อนแอ รัฐด้อยประสิทธิภาพ ระบบพรรคการเมืองไร้เสถียรภาพ มีปัญหาการทุจริตอย่างกว้างขวาง เช่น กัวเตมาลา เอล ซัลวาดอร์ และฮอนดูรัส ในกรณีเอล ซัลวาดอร์ ถือว่ามีปัญหาอาชญากรรมหนักมาก โดยเอล ซัลวาดอร์เป็นประเทศที่มีอัตราการฆาตกรรมโดยเจตนา (intentional homicides) ต่อปีสูงที่สุดในโลก (104 ต่อประชากร 100,000 คน) ที่มากไปกว่านั้นคือก่อนหน้านี้ตำแหน่งดังกล่าวเคยเป็นของฮอนดูรัสมาก่อนเสียด้วย[23]

ทางด้านปัญหาความรุนแรงภายในครัวเรือน (domestic violence) ในประเทศต่างๆ ข้างต้น ก็มักพบว่าอยู่ในระดับสูงเช่นกัน ในประเทศอย่างกัวเตมาลา ฮอนดูรัส และบราซิล บ่อยครั้งเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมไม่ค่อยจะให้ความสนใจกับคดีการฆ่าเด็กเร่ร่อนเสียด้วยซ้ำ

นอกจากนี้ ปัญหาความรุนแรงอาจมีต้นตอมาจากประเด็นข้อขัดแย้งเรื่องที่ดินทำกินในชนบทด้วย เช่นในบราซิล ผู้นำชุมชนที่เป็นหัวหอกในการประท้วงเรียกร้องที่ดินทำกินให้กับชาวบ้าน ถูกฆ่าตายอยู่เสมอๆ ที่สำคัญคือหลายครั้งมีการตรวจสอบพบว่าตัวเจ้าหน้าที่รัฐอย่างทหารหรือตำรวจเองก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฆ่าผู้นำชาวบ้านด้วย โดย Amnesty International ระบุไว้ในรายงานที่ตีพิมพ์ในปี 2016 ว่าปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในบราซิลเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงปี 2015-2016 ไม่ว่าจะเป็นการที่ประชาชนถูกตำรวจฆ่าตายโดยมิชอบก็ดี ถูกจับซ้อม-ทรมานก็ดี และกลุ่มประชาชนที่ตกเป็นเหยื่ออยู่บ่อยครั้งคือชาวบราซิลเพศชายผิวสีเชื้อสายแอฟริกันที่อาศัยอยู่ในสลัม (ภาษาโปรตุเกสแบบบราซิลเรียกสลัมว่า ‘Favela’) ในรายงานของ Amnesty International มีการระบุไว้อีกด้วยว่าปัญหาข้อขัดแย้งที่เกี่ยวกับที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติในบราซิลมักลงเอยด้วยการฆ่ากันตายอยู่เสมอ ที่หนักมากเป็นพิเศษคือบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ฝ่ายชุมชนและผู้นำชาวบ้านถูกพวกเจ้าของที่ดินและกลุ่มผู้มีอิทธิพลข่มขู่และลอบฆ่าอย่างไม่หยุดหย่อน[24]

ความไร้ประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายเป็นปัจจัยสำคัญข้อหนึ่งที่ทำให้หลายประเทศในลาตินอเมริกายังไปไม่ถึงการมีประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง ในบางประเทศอัตราการดำเนินการสะสางคดีความอยู่ระดับต่ำมากอย่างน่าใจหาย ดังนั้นปัญหาคือถ้าหากประชาชนไม่รู้สึกว่าตนสามารถหาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของตนได้ ความเชื่อมั่นในตัวนักการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาทำงานภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอาจสั่นคลอนได้อย่างง่ายดาย ตัวอย่างเช่นรัฐบาลประเทศเม็กซิโกสมัยประธานาธิบดีเอ็นริเก เป็ญญา เนียโต (Enrique Peña Nieto) ช่วงปี 2012-2018 รัฐบาลของเป็ญญา เนียโต ถึงแม้จะมีการดำเนินการปฏิรูปประเทศรอบด้าน แต่ตัวรัฐบาลเองกลับอ่อนแอ เพราะอัตราความรุนแรงและอาชญากรรมอยู่ในระดับสูง[25]

ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่ว่าหน่วยงานความยุติธรรมและความมั่นคงไร้ประสิทธิภาพแค่นั้น ที่เลวร้ายไปกว่าคือเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานดังกล่าวมักมองว่ากฎหมายเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน จึงไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องใส่ใจ การแหกกฎโดยเจ้าหน้าที่รัฐจึงออกมาในรูปแบบการทุจริตติดสินบน การจับผู้ต้องสงสัยไปซ้อม-ทรมาน ตลอดจนการฆ่าประชาชนนอกกระบวนการยุติธรรม (extra-judicial killing)

ในรายงานของ Amnesty International ระบุว่าปัญหาการลอยนวลไม่ต้องรับผิดหลายในประเทศเม็กซิโกช่วงปี 2015-2016 อยู่ในสถานะที่น่ากังวลใจเป็นอย่างยิ่ง ผู้ที่กระทำความผิดร้ายแรงอย่างเช่นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ลักพาตัวชาวบ้าน ฆ่าประชาชนนอกกระบวนการยุติธรรม ยังคงลอยนวลอยู่ ยังจับใครมาลงโทษไม่ได้ คนจำนวนกว่า 27,000 รายก็ยังคงมีสถานะสูญหาย หรือไม่ก็ ‘ถูกทำให้หายสาบสูญไป’ เพราะตกอยู่ท่ามกลางปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐกับแก๊งอาชญากรรม โดยส่วนหนึ่งของรายงานกล่าวว่า “ผู้ที่กระทำการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรมปัจจุบันยังคงลอยนวล ไม่ได้ถูกนำตัวมาดำเนินคดีแต่อย่างใดทั้งสิ้น” [26] 

ปัญหาการทุจริตในหมู่เจ้าที่หน่วยงานความมั่นคงและความยุติธรรมของเม็กซิโกเกิดขึ้นเป็นวงกว้างและฝังลึกเป็นอย่างยิ่ง โดยกลับกลายเป็นว่าการที่ตำรวจไป ‘ขอเงินสนับสนุน’ ในการทำคดีจากฝ่ายผู้เสียหายเป็นเรื่องปกติไปโดยปริยาย

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจในลาตินเมริกาหลายประเทศ โดยเฉพาะบราซิลและเม็กซิโก มีทัศนคติว่าการจับผู้ต้องสงสัยมาซ้อมทรมานเพื่อรีดเอาข้อมูลเป็นวิธีการดำเนินงานที่ถูกต้องเหมาะสมเสียอย่างนั้น ประเด็นนี้ Amnesty International กล่าวไว้ในรายงานประจำปี 2016 เช่นกัน ในรายงานระบุว่าปัจจุบันเจ้าหน้าที่รัฐของเม็กซิโกยังคงเลือกการใช้การทรมานและการทารุณผู้ต้องหาในกระบวนการสืบสวนอยู่อย่างกว้างขวางเช่นเดิม ซ้ำแล้วรัฐก็ไม่ได้รู้สึกว่าต้องแก้ปัญหานี้แต่อย่างใดด้วย

ทั้งนี้ ในเดือนกันยายน 2015 ที่ประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทรมานแห่งสหประชาชาติ (The United Nations Committee against Torture) มีมติประณามการทรมานผู้ต้องหาที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่ประจำกองทัพเม็กซิโก การประณามนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ที่ประชุมคณะกรรมการดังกล่าวแสดงท่าทีต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในเม็กซิโกเป็นครั้งแรกเลยทีเดียว

ส่วนในกรณีบราซิลรายงานฉบับปี 2009 ของ Amnesty International เคยระบุไว้ว่าการที่รัฐบราซิลจัดการส่งกองกำลังตำรวจ (ซึ่งคล้ายทหาร) เข้าไปจัดการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ที่เป็นชุมชนแออัด-ยากจนในเมือง มักตามมาด้วยปัญหาหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม การจับผู้ต้องหาไปทรมาน และการข่มขู่ชาวบ้านในชุมชน[27]

นอกจากนี้ สภาพสังคมที่หน่วยงานรัฐไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพได้ย่อมจะส่งผลให้ประชาชนไม่สนใจขื่อแปบ้านเมือง หรือไม่ก็ทำให้ประชาชนลุกขึ้นมาจัดการตั้งตนเป็นศาลเตี้ยสร้างความยุติธรรมด้วยตนเองเสียเลย ที่แย่คือรัฐอาจเลือกปิดตาข้างหนึ่งต่อเหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆ ในสังคม ถ้าหากว่าเหตุการณ์นั้นๆ กระทำโดยกลุ่มเอกชนที่ทรงอิทธิพลในประเทศ หรือถ้าไม่เป็นเช่นนั้นก็คือรัฐอ่อนแอด้อยสมรรถภาพเกินกว่าจะที่จัดการปัญหาดังกล่าวด้วยตนเองได้ โดยเหล่านักการเมืองที่มีอิทธิพลมากๆ และกลุ่มคนรวยในสังคมบ่อยครั้งแล้วมักมีเส้นสายความสัมพันธ์กับหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจด้านความมั่นคงสูงๆ อย่างเช่นหน่วยข่าวกรอง จากนั้นคนพวกนี้ก็ใช้ประโยชน์จากเส้นสายดังกล่าวในการหาความปลอดภัยให้กับชีวิตและทรัพย์สินของตน ส่วนทางเลือกของคนชนชั้นกลางหรือนักธุรกิจที่ไม่ได้มีเส้นสายอะไรโดยมากมักอยู่ในรูปแบบการจ้างคนมาช่วยคุ้มกัน

ถึงแม้ประเด็นเรื่องการลอยนวลพ้นผิดจะยังคงเป็นสิ่งที่น่ากังวลใจ แต่ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันรัฐบาลของหลายๆ ประเทศในลาตินอเมริกาประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่งในการนำเอาอดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองทัพที่เคยมีส่วนในกระบวนการละเมิดสิทธิมนุษยชนช่วงรัฐบาลทหารทศวรรษก่อนหน้ามาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ในบางประเทศก็ประสบความสำเร็จเช่นกันในการนำเอาอดีตประธานาธิบดีและพวกพ้องที่ถูกฟ้องข้อหาทุจริต-ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบมาขึ้นศาลได้

แต่ถึงรัฐบาลจะมีท่าทีที่แข็งแกร่งยึดมั่นในการต่อต้านทุจริตและการปกป้องสิทธิมนุษยชนมากแค่ไหน ในความเป็นจริง หน่วยงานรัฐอื่นๆ ก็อาจจะยังไม่ได้แข็งแกร่งเท่าจุดยืนของรัฐก็เป็นได้ หลายครั้งศาลไม่สามารถรักษาและปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนหมู่มากเสียด้วยซ้ำ อีกทั้งปัญหาการทุจริตในวงเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่ได้หายไปไหนแต่อย่างใด รายงานขององค์กรอิสระหลายๆ แห่งที่ทำหน้าที่สนับสนุนและปกป้องสิทธิมนุษยชนพบว่าการละเมิดสิทธิประชาชนในลาตินอเมริกายังคงธำรงอยู่เช่นเดิมทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการอุ้มหาย ฆาตกรรม ทรมาน จับคนเห็นต่างทางการเมืองขังคุก-เนรเทศ ตลอดจนการจำกัดเสรีภาพสื่อมวลชนและเสรีภาพในการชุมนุม[28]

ในรายงานของ IDEA (2016) มีการจัดลำดับประเทศว่าประเทศใดปฏิบัติตามหลัก ‘หลักอนิติธรรม’ (un-rule of law) มากที่สุด นั่นคือเคารพหลักนิติธรรมน้อยที่สุดนั่นเอง ปัจจัยที่ใช้ประกอบการจัดอันดับก็เช่น ความเป็นอิสระของฝ่ายความยุติธรรม ปัญหาการทุจริต และการเปิดรับอิทธิพลที่หน่วยงานความมั่นคงมีต่อชีวิตประจำวันและเวทีการเมือง โดยผลการจัดลำดับชี้ว่านิการากัว เวเนซุเอลาและปารากวัย ทำคะแนนได้แย่ในหลายๆ หมวด[29]


[1] Ryan Salzman, and Adam Ramsey, “Judging the Judiciary: Understanding Public Confidence in Latin American Courts,” Latin American Politics and Society 55, no. 1 (2013): 73–95.

[2] WJP, Rule of Law Index 2015 (Washington: World Justice Project, 2015).

[3] Latinobarómetro, Informe 2008 (Santiago: Corporación Latinobarómetro, 2008).

[4] Latinobarómetro, “Análisis Online,” database, 2015, online: www.latinobarometro.org/latOnline.jsp [accessed February 3, 2022].

[5] Latinobarómetro, Informe 2008 (Santiago: Corporación Latinobarómetro, 2008).

[6] Latinobarómetro, “Análisis Online,” database, 2015, online: www.latinobarometro.org/latOnline.jsp [accessed February 3, 2022].

[7] WJP, Rule of Law Index 2015 (Washington: World Justice Project, 2015).

[8] InSight Crime, online: www.insightcrime.org/news-analysis/insight-crime-homicide-round-up-2015-latin-america-caribbean [accessed February 3, 2022]

[9] IEP, Global Peace Index 2015 (Sydney: Institute for Economics and Peace (IEP), 2015).

[10] Amnesty International, “Brazil: ‘They Come In Shooting’. Policing Socially Excluded Communities,” (London: Amnesty International, 2005).

[11] Sonja Wolf, “Drugs, Violence, and Corruption: Perspectives from Mexico and Central America,” Latin American Politics and Society 58, no. 1 (2016): 146–155.

[12] Dan Alder, “Honduras Ex-Police Command Implicated in Drug Czar’s Murder,” InSight Crime, online: www.insightcrime.org/news-analysis/honduras-ex-police-command-implicated-in-drug-czar-murder [accessed February 3, 2022]

[13] Charles H. Blake, and Stephen D. Morris (eds.), Corruption and Democracy in Latin America (Pittsburgh: University of Pittsburgh Press, 2009).

[14] George Philip, Democracy in Latin America (Cambridge: Polity Press, 2003).

[15] Mark J. Ruhl, “Political Corruption in Central America: Assessment and Explanation,” Latin American Politics and Society 53, no. 1 (2011): 33–58.

[16] Stephen D. Morris, and Charles H. Blake (eds.), Corruption and Politics in Latin America: National and Regional Dynamics (Boulder: Lynne Rienner, 2010).

[17] Crinis Project, The Crinis Project: Money in Politics – Everyone’s Concern (Berlin: Transparency International/The Carter Center, 2007).

[18] Transparency International, Corruption Perceptions Index 2015. Transparency International, online: www.transparency.org/whatwedo/publication/cpi_2015 [accessed February 3, 2022].

[19] Transparency International, Global Corruption Barometer 2013 (Berlin: Transparency International, 2013), online: http://issuu.com/transparencyinternational/docs/2013_globalcorruptionbarometer_en/35?e=2496456/3903358 [accessed February 3, 2022].

[20] María Amparo Casar, México: Anatomía de la Corrupción (Mexico City: CIDE/IMCO, 2015).

[21] Sérgio Praça, and Matthew M. Taylor, “Inching Toward Accountability: The Evolution of Brazil’s Anticorruption Institutions, 1985–2010,” Latin American Politics and Society 56, no. 2 (2014): 27–48.

[22] Nils Uildriks, Policing Insecurity: Police Reform, Security, and Human Rights in Latin America (Lanham: Lexington Books, 2009).

[23] Forrest D. Colburn, and Arturo Cruz S., “Personalism and Populism in Nicaragua,” Journal of Democracy 23, no. 2, (2012): 104–118.

[24] Amnesty International, Amnesty International Report 2015/16: The State of the World’s Human Rights (London: Amnesty International, 2016).

[25] Gustavo Flores-Macías, “Mexico’s 2012 Elections: The Return of the PRI,” Journal of Democracy 24, no. 1 (2013): 128–141.

[26] Amnesty International, Amnesty International Report 2015/16: The State of the World’s Human Rights (London: Amnesty International, 2016).

[27] Amnesty International, Amnesty International Report 2009: The State of the World’s Human Rights (London: Amnesty International, 2009).

[28] Amnesty International, Amnesty International Report 2015/16: The State of the World’s Human Rights (London: Amnesty International, 2016).

[29] IDEA, The Quality of Democracies on Latin America (Stockholm: IDEA, 2016).

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save