fbpx

เติมความเป็นมนุษย์ให้กระบวนการยุติธรรม ด้วย ‘กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์’ กับ อุกฤษฏ์ ศรพรหม

นับเป็นเวลา 20 ปีแล้ว ที่คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (ECOSOC) รับรองเอกสาร ‘หลักการพื้นฐานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาใช้ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา’ (Basic principles on the use of restorative justice programmes in criminal matters) นี่คือหมุดหมายสำคัญที่เปิดช่องให้ทั่วโลกนำ ‘กระบวนการยุติธรรมเชิงสมาฉันท์’ มาพัฒนาและปรับใช้ร่วมกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เพื่อให้ความยุติธรรมได้รับการอำนวยต่อผู้ร้องขออย่างมีประสิทธิภาพ อุด ‘ช่องว่าง’ ที่กระบวนการยุติธรรมทางอาญากระแสหลักไม่สามารถเติมเต็มได้

‘ให้ความสำคัญกับผู้เสียหายในกระบวนการ’ ‘เยียวยาผู้เสียหาย’ ‘สร้างสำนึก’ ‘สร้างการมีส่วนร่วมระหว่างบุคคลที่เกี่ยวข้อง’ คือแนวทางที่กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์พยายามทลายกำแพงระหว่างผู้เสียหายและผู้กระทำผิด สร้างสำนึกผิดเพื่อลดการกระทำผิดซ้ำหลังพ้นโทษ และสมานบาดแผลจากความขัดแย้ง ความเสียหายหรือความสูญเสียที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง ดังที่ อุกฤษฏ์ ศรพรหม กล่าวไว้ว่า

“กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์คือการที่เราใส่ความเป็นมนุษย์ลงไปในกระบวนการยุติธรรมให้มากขึ้น ไม่ได้มองว่ากระบวนการยุติธรรมเป็นแค่กระบวนการ แต่คือสิ่งที่มนุษย์หลายคนร่วมกันหาทางออกร่วม เพราะฉะนั้น มันเยียวยาทั้งร่างกายและจิตใจของผู้เสียหายได้จริงๆ ในขณะที่ฝ่ายผู้กระทำความผิดก็ได้รับรู้ผลกระทบที่ตามจากการกระทำของตนเองและมีโอกาสได้พัฒนาวิธีคิดการสร้างสำนึกได้มากขึ้น”

ไทยคือหนึ่งในประเทศที่รับรองข้อมติแห่งสหประชาชาติว่าด้วยกระบวนการยุติธรรมเชิงสมาฉันท์มาตั้งแต่ต้น และมีการพัฒนากระบวนการยุติธรรมเพื่อให้โอบรับหลักความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาเป็นลำดับในตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในกรณีคดีเยาวชน อย่างไรก็ตาม ความท้าทายต่อไปอยู่ที่การปรับโครงสร้างกฎหมาย เพื่อให้กรอบนโยบาย งบประมาณ และเจ้าหน้าที่มีความพร้อมต่อการใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมาฉันท์อย่างเต็มรูปแบบ และการสร้างความเข้าใจของสังคมต่อกระบวนการยุติธรรมที่วาง ‘มนุษย์’ เป็นศูนย์กลาง

อนาคตของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในไทยควรมีทิศทางอย่างไรต่อ? 101 สนทนากับ อุกฤษฏ์ ศรพรหม ผู้จัดการโครงการและนักวิจัยด้านกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ว่าด้วยหลักคิดของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ เส้นทางของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในไทย และแนวทางการปรับใช้และพัฒนาหลักดังกล่าวให้บรรลุผลอย่างแท้จริง

การใช้กระบวนการยุติธรรมทางอาญากระแสหลักมีผลข้างเคียงหรือนำไปสู่ผลกระทบอย่างไรบ้าง จึงมีความพยายามในการหาเครื่องมือทดแทนหรือส่งเสริมกระบวนการยุติธรรมที่มีอยู่

ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญากระแสหลัก หรือที่เรียกว่า ‘แนวทางแบบแก้แค้นทดแทน’ (retributive justice) อาจมี pain point บางอย่างเกิดขึ้น

แนวทางดังกล่าวถูกพัฒนามาเพื่อจัดการกับความผิดต่อรัฐหรือความผิดที่สังคมไม่ยอมรับเป็นความผิดทางอาญาที่ต้องลงโทษผู้กระทำผิด เพราะฉะนั้น ในกระบวนการพิจารณาคดี ผู้กระทำผิดจะถูกผลักออกไปอยู่คนละฝั่งกับผู้เสียหาย แต่ละฝ่ายต้องเอาพยานหลักฐานที่ยืนยันข้อเท็จจริงที่ตนกล่าวอ้างมาสู้กันในคดี ส่วนการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานของทั้งสองฝั่งจะเป็นหน้าที่ของศาลในการตัดสินว่าใครผิดหรือไม่ผิดอย่างไร

อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่ากระบวนการยุติธรรมที่มุ่งกันผู้กระทำความผิดออกจากผู้เสียหาย ไม่ว่าจะด้วยการขังระหว่างพิจารณา การใช้กำไล EM การควบคุมตัว หรือกระทั่งการพิพากษาจำคุกถือว่าเป็นประโยชน์อย่างหนึ่งของ retributive justice คือ แยกผู้กระทำผิดให้ห่างจากผู้เสียหายหรือออกจากสังคมเพื่อคุ้มครองความปลอดภัย แต่กระบวนการตามแนวทางแบบ retributive justice ทำให้คู่กรณีสองฝ่ายไม่ได้พูดคุยและรับฟังซึ่งกันและกันว่าอะไรคือสิ่งที่แต่ละฝ่ายต้องการอย่างแท้จริง อะไรคือเหตุผลในการกระทำผิด หรืออะไรคือความเสียหายที่ผู้เสียหายได้รับ อีกทั้งยังขาดโอกาสให้มีกระบวนการเยียวยาความเสียหาย ในทางกลับกัน กระบวนการเช่นนี้อาจทำให้เกิดความแตกแยกในกรณีที่คู่กรณีมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาก่อน หรือบางกรณีอาจทำให้เกิดความแตกแยกไปถึงระดับชุมชนและระดับสังคม

ทราบมาว่ามีการผลักดันให้มีการนำ ‘กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์’ (restorative justice) มาใช้ร่วมหรือใช้แทนกระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก แนวคิดดังกล่าวคืออะไร สามารถอุดช่องว่างที่เกิดจากกระบวนการยุติธรรมทางอาญากระแสหลักได้อย่างไร

หัวใจสำคัญของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มี 3 ข้อ คือ หนึ่ง เยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้เสียหาย สอง คือการสร้างสำนึกผิดและชดเชยในสิ่งที่ได้กระทำผิดไป และสามคือ มีการมีส่วนร่วมของบุคคลที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์หรือความเสียหาย 

ทุกวันนี้ กระบวนการยุติธรรมทางอาญาให้ความสำคัญกับขั้นตอนในการพิจารณาความผิด ตำรวจรับแจ้งความ แจ้งความเสร็จทำสำนวน อัยการสั่งฟ้อง ศาลพิจารณาคดี เป็นแพตเทิร์นทั้งหมด แต่บางครั้งเราอาจลืมไปว่า คนที่ต้องผ่านกระบวนการก็คือมนุษย์คนหนึ่ง เพราะฉะนั้น กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์จะให้ความสำคัญกับการให้ผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง (human-centric approach / victim-centric approach) เอาความเป็นมนุษย์ใส่เข้าไปในกระบวนการมากขึ้น การมีส่วนร่วมของผู้เสียหายในการบอกกล่าวสิ่งที่ตัวเองประสบพบเจอค่อนข้างสำคัญ เพราะการลงโทษจำคุก การจ่ายค่าปรับ หรือการเรียกค่าเสียหายจากการฟ้องคดีแพ่งร่วมกับคดีอาญาในกรณีที่มีความเสียหายอาจไม่ได้ช่วยเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตัวผู้เสียหายก็ได้

ในกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ไม่ได้บังคับว่า การไกล่เกลี่ยจะต้องเป็นไปเพื่อเยียวยาชดเชยความเสียหายเป็นเงินอย่างเดียว อาจตกลงเป็นการกระทำบางอย่างหรือการงดเว้นกระทำบางอย่างตามที่ทั้งสองฝ่ายพูดคุยเห็นตรงกัน เช่น ผู้เสียหายให้ผู้กระทำผิดต้องการเลิกเหล้า เลิกบุหรี่ เลิกยาเสพติด ทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ หรือช่วยรับภาระหน้าที่บางอย่างระหว่างที่ผู้เสียหายไม่สามารถทำงานได้ เช่น ในกรณีที่ผู้เสียหายตัวคนเดียว เปิดร้านค้าเลี้ยงชีพในชุมชน ก็อาจจะให้ผู้กระทำความผิดที่ก่อความเสียหายมาเฝ้าร้านแทนก็ได้เพื่อให้มีรายได้

ในส่วนของการสร้างสำนึกผิด ในกระบวนการดำเนินการคดีอาญาตามระบบกล่าวหา (adversarial system) ที่ต่างฝ่ายต่างต้องหาพยานหลักฐานมาพิสูจน์ข้อเท็จจริง การสำนึกผิดจะเกิดขึ้นได้ยาก เพราะต่างฝ่ายต่างสู้คดีเพื่อให้ตนเองพ้นผิด แต่กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์คือกระบวนการที่พยายามสร้างสำนึกต่อการกระทำผิด อย่างในกรณีสังคมใหญ่ที่มีการบังคับใช้กฎหมายอาญา หากผู้ที่ได้รับความเสียหายโดยตรงในคดี เช่น ผู้เสียหาย ครอบครัวของผู้เสียหายและผู้ที่มีความเสียหายโดยอ้อม เช่น ชุมชน เข้าร่วมกระบวนการ ผู้กระทำผิดจะเริ่มสำนึกผิด เพราะเริ่มตระหนักถึงผลกระทบจากการกระทำผิด

หรือหากใช้ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในระดับที่ไม่เป็นทางการ ไม่ผ่านกระบวนการทางอาญา อย่างเช่นการกระทำผิดในโรงเรียน เมื่อเริ่มกระบวนการ มีเพื่อนร่วมชั้นเข้าร่วมกระบวนการแล้ว นักเรียนที่กระทำผิดจะเริ่มได้ฟังจากสังคมในโรงเรียนว่าการกระทำแบบไหนที่ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมในโรงเรียน

ส่วนการสร้างการมีส่วนร่วม โดยปกติกระบวนการยุติธรรมทางอาญากระแสหลักจะผลักทั้งสองฝ่ายออกจากกัน ต่างฝ่ายต่างเอาหลักฐานออกมาสู้คดีเพื่อให้พ้นผิด แต่กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์จะรวมคนที่มีส่วนร่วมเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ผู้เสียหาย ครูประจำชั้นในกรณีการกระทำผิดในโรงเรียน เพื่อนร่วมงานในกรณีการกระทำผิดในสถานที่ทำงาน ครอบครัวก็อาจเข้ามามีส่วนร่วมได้ หรือถ้าเป็นความเสียหายในระดับสังคม เช่น ในบางประเทศ คดียาเสพติดบางกรณีถือว่าชุมชนมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นชุมชนอาจเข้ามาร่วมกำหนดทิศทางว่าต้องการจะให้ผู้กระทำผิดปรับพฤติกรรมอย่างไรถึงจะอยู่ร่วมกับชุมชนต่อไปได้

เพราะฉะนั้น มันมีวิธีการในการอำนวยความยุติธรรมที่หลากหลายไปมากกว่ากระบวนการยุติธรรมกระแสหลักและสามารถนำมาเสริมกระบวนการยุติธรรมกระแสหลักได้ นี่คือภาพที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ องค์การสหประชาชาติเองก็พยายามขับเคลื่อนเรื่องนี้อยู่เช่นกัน

กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ต่างจากการไกล่เกลี่ยอย่างไร

ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีการออก พ.ร.บ.ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 ซึ่งกฎหมายเปิดช่องให้มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญาโดยประชาชน คือประชาชน 5 คนสามารถรวมตัวตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทได้ โดยขึ้นทะเบียนตามหลักการของกรมคุ้มครองสิทธิ ส่วนอีกโมเดลหนึ่งที่ พ.ร.บ.ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทฯ อนุญาตคือการไกล่เกลี่ยในชั้นสอบสวน โดยมีพนักงานสอบสวนเป็นผู้จัดกระบวนการไกล่เกลี่ย ซึ่งการไกล่เกลี่ยตามที่ พ.ร.บ. กำหนดไว้คือการไกล่เกลี่ยเพื่อระงับข้อพิพาท และเพื่อเบี่ยงเบนคดีออกจากกระบวนการกระแสหลัก

แต่ถามว่าการไกล่เกลี่ยเหมือนกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ไหม ผมอยากให้มองว่าทั้งสองอย่างมีแนวคิดที่ซ้อนทับกันบางส่วน แต่ก็ไม่ได้เหมือนกันเสียทีเดียว ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ก็มีแนวคิดส่วนที่ต่างออกไป

การไกล่เกลี่ยอาจเป็นแค่วิธีการหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ แต่ถ้ามองว่าความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เป็นปรัชญาเพื่อการเยียวยาความเสียหาย สร้างสำนึกผิด และการมีส่วนร่วม การไกล่เกลี่ยอาจไปไม่ถึงจุดนั้นทั้งหมด กระบวนการไกล่เกลี่ยอาจแค่มีแค่ผู้ไกล่เกลี่ยที่ช่วยให้ทั้งสองฝ่ายตกลงเงื่อนไขการชดใช้ แต่การไกล่เกลี่ยในกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ที่ใช้กระบวนการสร้างความเข้าอกเข้าใจ (empathizing) ระหว่างผู้กระทำความผิดและผู้เสียหาย ผู้ไกล่เกลี่ยอาจต้องมีทักษะบางอย่าง เช่น anger management และ deep listening เพื่อให้ผู้เสียหายได้แสดงออกถึงความเสียหายและความปรารถนาของตนเองอย่างชัดแจ้ง และให้ผู้กระทำผิดได้ฟัง คิดและค่อยๆ ตกผลึกว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นร้ายแรงแค่ไหน ส่วนผู้กระทำผิดก็มีโอกาสแสดงความรู้สึกของตนให้ผู้เสียหายฟังเหมือนกันว่า คิดอะไรขณะที่กระทำผิด ตัดสินใจกระทำเพราะอะไร และอยากจะช่วยเหลือผู้เสียหายอย่างไร

หนึ่งในหัวใจของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์คือการสร้างสำนึกผิด นั่นหมายความว่ากระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์พยายามจะลดการกระทำผิดซ้ำ ซึ่งถือว่าเป็นความท้าทายที่มีมาตลอดด้วย?

ใช่ครับ กระบวนการยุติธรรมกระแสหลักอาจไม่สามารถมุ่งผลในการป้องกันการกระทำผิดซ้ำได้มากเท่าที่ควร เพราะ จำนวนนักโทษเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้กระบวนฟื้นฟูพฤติกรรมในเรือนจำอาจไม่ได้ผลสำเร็จมากนัก ด้วยความที่นักโทษมีจำนวนมาก หลายครั้งเราจะได้ยินว่าเรือนจำมีปัญหานักโทษล้นคุก สัดส่วนระหว่างผู้คุมกับนักโทษเองก็ไม่ได้สัดส่วนที่เหมาะสม ทุกวันนี้สัดส่วนระหว่างนักโทษต่อเจ้าหน้าที่อยู่ที่ 270,000 คนต่อเจ้าหน้าที่ 12,000 คน โดนประมาณ เพราะฉะนั้น กระบวนการบำบัดพฤติกรรมในเรือนจำหรือกระทั่งในสถานพินิจก็ตาม จึงไม่สามารถจัดโปรแกรมบำบัดที่สอดคล้องกับความต้องการหรือมีความเฉพาะเจาะจง (tailor-made) สำหรับผู้ต้องขังรายคนได้อย่างที่ควรจะเป็น

ยกตัวอย่าง สมมติว่าผู้ต้องขังมีฐานความผิดในคดีความรุนแรงทางเพศ หากจะใช้การออกแบบโปรแกรมบำบัดพฤติกรรมให้เหมาะสมและมีความเฉพาะ จะต้องมีการประเมินขั้นต้น (assessment) ว่า ผู้ต้องขังมีภูมิหลังอย่างไร มีทรอม่าบางอย่าง ถูกกระทำมาก่อนแล้วจึงก่อคดีหรือไม่ หรือมีพฤติกรรมที่กระทำผิดซ้ำมาหลายผิดครั้ง ต้องการพบจิตแพทย์ หรือต้องใช้วิธีการบำบัดด้วยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavior Therapy: CBT) แต่เมื่อเรือนจำมีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ กระบวนการบำบัดเช่นนี้จึงทำได้ยาก ไม่สามารถจัดโปรแกรมให้สอดคล้องได้ขนาดนั้น ซึ่งถ้าต้องการให้การบำบัดฟื้นฟูพฤติกรรมการกระทำผิดอาญาประสบความสำเร็จ จริงๆ ต้องการการดูแลที่เข้มข้นและสอดคล้องกับภูมิหลังของการกระทำผิดในแต่ละรายในระดับหนึ่ง

กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์จะเข้ามาช่วยในส่วนนี้ สมมติว่าผู้กระทำผิดไม่ต้องเข้าสู่เรือนจำหรือสามารถบำบัดนอกเรือนจำได้ ก็ใช้กระบวนการทางสังคมช่วยขัดเกลา ในบางประเทศ เช่นสกอตแลนด์ มีระบบยุติธรรมชุมชนที่ชัดเจน ให้ชุมชนซึ่งถือว่าเป็นหน่วยที่ย่อยที่สุดที่อยู่ใกล้ผู้กระทำผิดมีบทบาทช่วยกำกับ สอดส่องดูแลพฤติกรรมและเงื่อนไขที่ผู้กระทำผิดจะต้องปฏิบัติตาม อาจมีได้ทั้งการงดจำหน่ายแอลกอฮอล์ให้บุคคลบางคน กำหนดให้ทำงานประจำ ทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ หรือช่วยเหลืองานตามศูนย์ต่างๆ ในชุมชน กระบวนการแบบนี้จะช่วยผ่อนภาระของเรือนจำไปได้เยอะมาก รวมทั้งช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมในระยะยาวได้ด้วย

ปัญหาหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมที่เรามักจะได้ยินอยู่บ่อยๆ คือ ‘นักโทษล้นคุก’ การนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เป็นไปเพื่อจัดการปัญหาดังกล่าวด้วยไหม

ผมอยากให้มองว่าการที่จำนวนผู้ต้องขังลดเป็นผลพลอยได้จากกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มากกว่า เจตนารมณ์ของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์คือการเยียวยาความเสียหาย การสร้างสำนึกผิด และการสร้างการมีส่วนร่วมในกระบวนการอย่างที่เล่าไป แต่เมื่อจัดกระบวนการแล้ว ผลที่เกิดขึ้นคือทำให้คดีจบโดยที่ไม่ต้องขึ้นสู่ศาลก็ได้ ปริมาณคดีที่จะขึ้นสู่ศาลก็ลดลงได้ หรือกระทั่งเมื่อคดีขึ้นสู่ศาลแล้ว ศาลมีดุลพินิจให้เลือกใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ได้โดยไม่สั่งให้ลงโทษ ก็ช่วยลดจำนวนผู้กระทำผิดที่ต้องจำคุกได้เหมือนกัน  

แต่ถามว่าใช้เป็นมาตราการหลักในการจัดการปัญหานักโทษล้นคุกได้ไหม จริงๆ แล้วถ้ามองในกรณีกระบวนการศาลเยาวชน กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์สามารถใช้เป็นมาตรการลดจำนวนเด็กและเยาวชนที่เข้าสู่สถานพินิจโดยตรง เพราะกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ถูกทำมาใช้ในการเบี่ยงเบนเยาวชนออกมาจากกระบวนการปกติอยู่แล้ว ทั้งนี้ สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากลในเรื่องสิทธิเด็ก และการดำเนินการเพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็ก ซึ่งกำหนดให้ใช้มาตรการคุมขังเป็นทางเลือกสุดท้ายสำหรับเด็ก เพื่อไม่ให้กระบวนการยุติธรรมมาสร้างความทรงจำหรือประสบการณ์ที่เป็นตราบาปให้เด็ก หรือกระทบต่อการเติบโตตามวัยหรือพัฒนาการของเด็ก ไม่ต้องออกจากโรงเรียน ได้เล่นกับเพื่อน ได้อยู่กับครอบครัว และใช้การขัดเกลาพฤติกรรมรูปแบบอื่นๆ แทนการคุมขังตัว ซึ่งนี่คือจุดประสงค์หลักของการใช้กระบวนการเชิงสมานฉันท์มากกว่าการลดจำนวนเด็กในสถานพินิจหรือศูนย์ฝึก

ส่วนในคดีผู้ใหญ่ มีมาตรการที่ไม่ใช่การคุมขังอื่นๆ มากมายที่นำมาใช้เพื่อลดปัญหาคนล้นคุกได้ กำไล EM ก็ใช้ได้ ในหลายๆ ประเทศก็ใช้มาตรการทางเลือกอื่นๆ เช่น ระบบที่เรียกว่า weekend jail คือจำคุกเฉพาะวันเสาร์อาทิตย์ในกรณีที่คดีไม่ร้ายแรง เข้าไปรายงานตัวว่ากระทำผิด มีโทษ และอยู่ประจำในเรือนจำแค่วันเสาร์อาทิตย์ คือเข้าไปที่คุกคือไปรายงานตัวเฉยๆ ว่า กระทำผิดมานะ มีโทษ และเข้ารับการอบรมสั้นๆ หรือร่วมกิจกรรมบางอย่าง ไม่ต้องมาอยู่ประจำในคุก วันธรรมดายังอยู่ในมหาวิทยาลัยได้ ไปทำงานได้ ไม่ต้องดร็อปเรียน ไม่ต้องลาออกจากงาน ทำให้ยังมีรายได้อยู่ นี่ก็เป็นวิธีคิดของแต่ละประเทศที่พัฒนาขึ้นมาในเรื่องของมาตรการที่ไม่ใช่โทษจำคุกเข้ามาเสริมเพื่อลดปริมาณนักโทษที่อยู่ในคุก


นับตั้งแต่มีการรับรองข้อมติสหประชาชาติว่าด้วยกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา คุณประเมินความคืบหน้าในการนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาปรับใช้ในกระบวนการยุติธรรมในภาพใหญ่อย่างไร ประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน

ถ้ามองย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีที่แล้วถือว่ามีความคืบหน้าเยอะมาก

ในบริบทโลกเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ต้องเรียนว่ากระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เป็นทั้งปรัชญา กระบวนการหรือเป้าหมายก็ได้ โดยธรรมชาติ กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ก็สอดคล้องกับวิธีการระงับข้อพิพาทหรือยุติความขัดแย้งในสังคมทั่วโลกโดยทั่วๆ ไปอยู่แล้ว ส่วนในกรณีที่ขัดแย้งรุนแรงกว่านั้น บางประเทศอาจจะพัฒนาแบบแผนการจัดกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่เป็นทางการมากขึ้น หรือถ้าไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา บางประเทศก็พัฒนารูปแบบกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ขึ้นมาหลากหลายรูปแบบ

อย่างไรก็ตาม ตอนนั้นก็ยังไม่มีการศึกษาที่เป็นรูปธรรม มีหลักฐานเชิงประจักษ์ หรือข้อมูลเชิงวิจัยที่ชัดเจนมาสนับสนุนว่า กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์สามารถนำมาปรับใช้ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาได้ อีกทั้งหลายประเทศก็ประสบปัญหาอย่างที่เราคุยกันไปคือ คดีล้นศาล นักโทษล้นคุก หรือผู้เสียหายไม่ได้รับการเยียวยาและไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการ จนกระทั่งสหประชาชาติออกข้อมติ ‘หลักการพื้นฐานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาใช้ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา’ (Basic principles on the use of restorative justice programmes in criminal matters) นั่นคือการรับรองและให้แนวทางแก่ประเทศสมาชิกสหประชาชาติว่า มีการศึกษาที่เป็นรูปธรรมแล้วว่าสามารถนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ไปใช้ในคดีอาญาได้ จากนั้นก็ค่อยๆ มีการขยายผลจากข้อมติไปสู่เอกสารตราสารระหว่างประเทศอีกจำนวนมาก เช่น ข้อกำหนดกรุงเทพว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่ไม่ใช่การคุมขัง ข้อกำหนดโตเกียวว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง ข้อกำหนดแมนเดลา ฯลฯ มีงานวิจัย หลักสูตรฝึกอบรบ หรือคู่มือในการนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ไปใช้ตามมา

ผมมองว่ากระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มีพัฒนาการตามมาเป็นลำดับ และเป็นที่ยอมรับในกระบวนการยุติธรรมกระแสหลักมากขึ้น เราจะเห็นท่าทีของหลายประเทศในเวทีประชุมองค์กรสหประชาชาติว่า ค่อยๆ เปิดใจรับกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มากขึ้น จากแต่เดิมมองว่ากฎหมายในประเทศไม่อนุญาตให้ดำเนินกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ หากกระทำผิดกฎหมายก็ต้องเข้าคุก ลงโทษ จะใช้วิธีไกล่เกลี่ยไม่ได้ แต่พอเวลาผ่านไปจะเริ่มเห็นทิศทางที่ดีขึ้นที่ ในหลายประเทศมีการปรับแก้กฎหมายให้ใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ได้ บางประเทศก็ร่างเป็นกฎหมายเฉพาะเลย

แต่ถ้าถามว่าประสบความสำเร็จมากแค่ไหน อาจจะตอบยาก เพราะไม่ได้มีตัวชี้วัดที่ชัดเจน ในโลกก็มีความพยายามที่จะขยายแนวคิดกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศ แต่ถามว่ามันเป็นไปตามความคาดหวังตั้งแต่แรกเริ่มที่วางไว้ในข้อมติไหม สิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลกก็สอดคล้องกับแนวทาง อาจจะประมาณ 60-70%

ไทยเป็นประเทศหนึ่งที่รับรองกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาตั้งแต่ต้น ภาพการนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาปรับใช้ร่วมกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาเป็นอย่างไรบ้าง ใช้ได้อย่างเต็มที่หรือไม่

ไทยมีท่าทีในการสนับสนุนกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาตลอดนับตั้งแต่ช่วงที่มีการปรับโครงสร้างกระบวนการยุติธรรมในปี 2540 หลังจากนั้นเป็นต้นมาจะเห็นพัฒนาการในการนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาใช้ในกระบวนการของประเทศไทยเยอะมาก

ตั้งแต่ประมาณช่วงปี 2545 มีการปรับแก้กฎหมายให้นำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ใช้ในศาลเยาวชนเป็นหลัก โดยนำเข้ามาใช้หันเหคดีไม่ให้เด็กต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอาญา พ.ร.บ.ศาลเยาวชนที่แก้ไขแล้วมีข้อกำหนดไว้เลยว่า กระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็กต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็ก แม้จะกระทำความผิดมา แต่ก็ไม่ควรให้เด็กมีประสบการณ์เลวร้ายในกระบวนการยุติธรรม ถูกฟ้องคดี มีประวัติอาชญากร ไม่ควรถูกขัดขวางพัฒนาการที่ควรต้องเติบโตตามวัย ต้องดรอปออกจากโรงเรียน หรือไม่ควรต้องถูกกักขัง ซึ่งทั้งหมดนี้สอดคล้องกับสิทธิเด็กด้วย และเพื่อให้มีการบำบัดพฤติกรรมของเยาวชนอย่างเหมาะสม

สองมาตราหลักๆ เลยคือมาตรา 86 และมาตรา 90 ในกรณีที่เป็นคดีโทษต่ำ มาตรา 86 เปิดให้ให้อัยการและผู้อำนวยการสถานพินิจมีดุลพินิจในการจัดการประชุมกลุ่มครอบครัว (family group conference) เพื่อจัดกระบวนการที่จะบำบัดฟื้นฟูพฤติกรรมของเยาวชนผู้กระทำผิดได้ทันที โดยที่ผู้อำนวยการสถานพินิจจะเข้ามามีส่วนในการดำเนินการ มีการสืบเสาะพฤติการณ์และภูมิหลังของเด็กว่ามีครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์หรือไม่ มีเหตุจูงใจอะไรในการกระทำผิด ต้องการการช่วยเหลืออะไรบ้าง แล้วก็จัดการประชุมกับผู้เสียหายและบุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางออกในการแก้ปัญหาและแผนการบำบัดฟื้นฟูพฤติกรรมร่วมกัน แล้วก็มีกระบวนการในการติดตามว่าเด็กเปลี่ยนพฤติกรรมไปหรือไม่

ถ้าเป็นคดีโทษสูงกว่าที่มาตรา 86 กำหนดไว้ก็มีมาตรา 90 รองรับว่าแม้จะมีการฟ้องคดีเข้าสู่กระบวนการทางศาลแล้ว ผู้พิพากษาศาลเยาวชนก็มีอำนาจในการใช้กระบวนการประชุมกลุ่มครอบครัว และให้มีคำสั่งได้ว่าไม่ดำเนินคดีหรือจำหน่ายคดีออกไปหากการปฏิบัติตามข้อตกลงสำเร็จในกระบวนการ เพราะฉะนั้นบอกได้เลยว่าประเทศไทยมีพัฒนาการของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในกรณีเยาวชนที่ดีมาก เป็นหนึ่งในต้นแบบให้หลายๆ ประเทศได้เลย

ส่วนกรณีคดีผู้ใหญ่ ถามว่ามีการใช้กระบวนการเชิงสมานฉันท์เยอะไหม ประเด็นคือระบบการจัดเก็บข้อมูลคดีในไทยไม่ค่อยที่เป็นระบบสักเท่าไหร่ จึงบอกไม่ได้ว่าในคดีที่มีการไกล่เกลี่ยก่อนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาเป็นการไกล่เกลี่ยที่สอดคล้องกับหลักกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์หรือไม่

แต่กฎหมายหลายฉบับที่มีการแก้ไขก็เปิดช่องให้มีการใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ได้เช่นกัน โดยสามารถนำมาใช้ในการเบี่ยงเบนคดีได้ คือทำให้คดีจบที่กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการทางอาญาอย่างเป็นทางการ หรือจะใช้เสริมในทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมตามปกติก็ได้แม้ว่าผู้กระทำผิดจะต้องโทษคดีที่โทษหนัก ได้รับการตัดสินโทษจำคุก กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ก็นำเอาไปใช้เสริมได้ โดยเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ก็สามารถเป็นผู้จัดกระบวนการได้ หากผู้เสียหายและผู้กระทำผิดยินยอมพร้อมใจที่จะมาจัดกระบวนการร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม ในกรณีผู้ใหญ่ไม่ได้มีกฎหมายหลักเฉพาะที่ว่าด้วยกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ หรือไม่ได้เขียนไว้อย่างชัดเจน ไม่เหมือนในกรณีคดีเยาวชนที่ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนระบุเรื่องกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เป็นหลักทั้งในเชิงเนื้อหาและกระบวนการ แต่จะไปซ่อนอยู่ตามกฎหมายต่างๆ เช่น พ.ร.บ.ไกล่เกลี่ย พ.ร.บ.คุมประพฤติ หรือ พ.ร.บ.การปกครองท้องถิ่น กฎหมายฉบับที่เขียนไว้อย่างชัดเจนว่า ‘ยุติธรรมเชิงสมานฉันท์’ จะมีแค่ พ.ร.บ.คุมประพฤติฉบับเดียว ส่วนในกฎหมายฉบับอื่นอาจปรากฏคำที่มีความหมายใกล้เคียงกับแนวคิดความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ เช่น ‘ไกล่เกลี่ย’

ประเด็นคือ กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ไม่ได้ถูกระบุไว้อย่างชัดเจนในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งเป็นหลักใหญ่ของขั้นตอนหรือวิธีการพิจารณาคดีอาญา แต่ยังมีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 วรรคสอง ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด ศาลสามารถใช้ดุลพินิจในการให้ผู้เสียหายและผู้กระทำผิดได้สร้างข้อตกลงร่วมกันว่าจะชดใช้เยียวยากันอย่างไร แม้จะไม่ได้ใช้คำว่ากระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์แต่ก็กล่าวได้ว่า มาตราดังกล่าวมีหลักการที่สอดคล้องและรองรับแนวคิดกระบวนกรยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เช่นกัน เพราะฉะนั้น พอไม่มีกฎหมายกลางหรือกฎหมายที่ระบุชัดว่า กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์คืออะไร ใช้ได้ในกรณีไหนบ้าง กระจายอยู่ตามกฎหมายฉบับนั้นฉบับนี้ กระทั่งเนื้อหา คุณสมบัติของผู้เข้าสู่กระบวนการ และเงื่อนไขการใช้กระบวนการที่กระจายตามแต่ละกฎหมายก็ไม่เหมือนกัน การใช้เลยตกอยู่ที่ดุลพินิจของผู้ใช้บังคับกฎหมายฉบับนั้นๆ มากกว่า หากว่าคนในกระบวนการได้รับการฝึกฝนในด้านกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มา ก็จะพอรู้ว่าใช้ในคดีแบบไหนได้บ้าง

ในกรณีคดีผู้ใหญ่ การนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาใช้ในปัจจุบันยังมีอุปสรรคอะไรอีกบ้าง

จริงๆ แล้วก็ยังมีปัญหาเรื่องวิธีคิดและความเข้าใจของประชาชนและเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ และปัญหาด้านทรัพยากร ทั้งทรัพยากรบุคคลและงบประมาณ เจ้าหน้าที่ที่มีอยู่อาจไม่เพียงพอ หรือเจ้าหน้าที่ที่มีอยู่อาจไม่ได้ผ่านการฝึกอบรมเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มา งบประมาณก็อาจไม่ได้จัดสรรไว้มากพอเพื่อสนับสนุนการจัดกระบวนการ

การจัดกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ จริงๆ ต้องมีขั้นตอนพอสมควร ตั้งแต่ต้องได้รับความยินยอมจากทั้งฝ่ายผู้กระทำผิดและฝ่ายผู้เสียหายก่อนจึงจะเริ่มกระบวนการได้ ซึ่งบางครั้งไม่ใช่ว่าทั้งสองฝ่ายจะพร้อม ก็ต้องไปคุยกับแต่ละฝ่ายจนสามารถหาวันประชุมร่วมกันได้ ที่สำคัญคือต้องไม่มีการใช้อำนาจบีบบังคับให้ทั้งสองฝ่ายเข้าสู่กระบวนการ เพราะมันคือธรรมชาติของความขัดแย้ง เพราะฉะนั้น เมื่อกฎหมายไม่ได้ระบุหน้าที่ความรับผิดชอบให้เจ้าหน้าที่ต้องการจัดกระบวนการเชิงสมานฉันท์อย่างชัดเจน เจ้าหน้าที่คุมประพฤติ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ หรือเจ้าหน้าที่อื่นๆ ในกระบวนการก็ต้องมีใจระดับหนึ่ง เพราะอยู่นอกเหนือภาระหน้าที่ ลำพังดูแลผู้ต้องขังหรือสืบเสาะพินิจก็หน้าที่ใหญ่แล้ว ขณะที่บางประเทศจัดให้มีเจ้าหน้าที่ที่ดูแลการจัดกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์โดยเฉพาะ เพราะฉะนั้นถ้าจะปรับแก้ ผมมองว่าต้องปรับโครงสร้างเชิงกฎหมายเลยจะดีกว่า

มีตัวอย่างโมเดลหรือประเทศไหนบ้างที่น่าสนใจและนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ถ้ามองประเทศที่ประสบความสำเร็จมากๆ ผมคิดว่าโมเดลที่นำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เข้ามาใช้ร่วมกับกระบวนการยุติธรรมตามปกติมีอยู่ 3 โมเดล

โมเดลแรก ประเทศลาว ประเทศเพื่อนบ้านของเราเป็นตัวอย่างที่ดีมาก ลาวมีระบบชุมชนที่เข้มแข็ง ผู้มีอำนาจในชุมชนเป็นที่เชื่อถือและยอมรับมากพอที่จะสามารถแก้ปัญหาข้อขัดแย้งทางอาญาได้ ทั้งนี้ ลาวมีกฎหมายที่บังคับว่า ก่อนที่คดีจะไปสู่กระบวนการทางศาล ต้องมีการใช้ระบบยุติธรรมชุมชนจัดการระงับข้อพิพาทก่อน ทั้งทางแพ่งและทางอาญา เพราะฉะนั้น กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ถือว่าเป็นเงื่อนไขบังคับเบื้องต้น (pre-requisite) เพราะฉะนั้นกระบวนการของลาวสามารถกรองคดีก่อนขึ้นไปสู่ศาลได้เยอะมาก และชุมชนเองก็มีบทบาทและส่วนร่วมในกระบวนการที่จะบำบัดฟื้นฟูพฤติกรรมของคนในชุมชน เพราะลาวมองว่าคนในชุมชนก็มีส่วนร่วมรับผิดชอบในพฤติกรรมของสมาชิกชุมชนเช่นเดียวกัน

โมเดลที่สอง บางประเทศอย่างแคนาดาหรือออสเตรเลีย ซึ่งมีชนพื้นเมืองอาศัยอยู่มาก่อนที่จะกลายเป็นอาณานิคมจะมีกระบวนการระงับข้อพิพาทตามแบบวัฒนธรรมที่สั่งสมมา กฎหมายจะอนุญาตให้ใช้กระบวนการในชุมชนดั้งเดิมคู่ขนานกันไปกับกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ โดยนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เข้าไปในกระบวนการล้อมวงเพื่อพิจารณาโทษ (circle sentencing) มีตัวแทนชุมชนอย่างหัวหน้าชุมชน สมาชิกชุมชน ผู้กระทำผิด ผู้เสียหายมานั่งล้อมวงพูดคุยกันว่าเกิดอะไรขึ้น ความปรารถนาของผู้เสียหายคืออะไร เหตุผลของผู้กระทำผิดคืออะไร และจะหาทางออกร่วมกันคืออะไรเพื่อกำหนดเงื่อนไขการปฏิบัติระหว่างสองฝ่าย  

อีกโมเดลหนึ่ง โมเดลที่สาม คือการนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เข้าไปเสริมในทุกๆ ขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ตั้งแต่แจ้งความ สั่งฟ้อง ศาลตัดสิน จำคุกอย่างที่เล่าให้ฟัง โดยกฎหมายเปิดช่องให้คนที่มีอำนาจหน้าที่ในแต่ละขั้นของกระบวนการ เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจ พนักงานอัยการ ผู้พิพากษา หรือแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์สามารถหยิบยกเอากระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เข้าไปใช้ในขั้นไหนก็ได้

มีโมเดลของประเทศไหนที่สามารถนำมาเป็นตัวอย่างปรับใช้กับไทยได้ไหม

ผมคิดว่าสกอตแลนด์น่าจะเป็นหนึ่งในนั้น สกอตแลนด์มี พ.ร.บ.ยุติธรรมชุมชน (Community Justice Act) กำหนดอำนาจหน้าที่ของชุมชนในการเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ซึ่งมี authority ในท้องถิ่นและตัวแทนชุมชนที่มีบทบาทในการจัดกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์อย่างชัดเจน ไม่ใช่แต่เพียงเจ้าหน้าที่ของรัฐจากศาล หรือสำนักงานอัยการ

ผมมองว่าแนวทางแบบนี้ค่อนข้างสอดคล้องกับแนวทางของไทย ไทยเองก็มีระบบชุมชน มีหน่วยงานส่วนท้องถิ่น มีวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างการเคารพผู้ใหญ่ หรือการให้อภัย เพราะฉะนั้น สกอตแลนด์น่าจะเป็นโมเดลที่ไทยเอามาปรับใช้ได้ สกอตแลนด์เป็นหนึ่งในประเทศที่ใช้ระบบกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เป็นส่วนเสริมของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งประเทศไทยก็ใช้แบบนี้เช่นกัน แม้ว่าจะกระจัดกระจายตามขั้นตอนต่างๆ ของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา และกระจายอยู่ในกฎหมายหลายฉบับที่มีเนื้อหา คุณสมบัติของผู้เข้าสู่กระบวนการและเกณฑ์เงื่อนไขการใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ไม่เหมือนกันก็ตาม

ถ้าเราสามารถทำให้กฎหมายมันสอดคล้องกัน อย่างของสกอตแลนด์ที่มีกฎหมายกลางระบุเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ เปิดช่องให้ใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ได้ไม่ว่าจะอยู่ในขั้นตอนของตำรวจ อัยการ ศาล ราชทัณฑ์ หรือกระบวนการไกล่เกลี่ยหรือระงับข้อพิพาทท้องถิ่นแบบไม่เป็นทางการ น่าจะเกิดประโยชน์มากในการนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาใช้ได้มากยิ่งขึ้นนอกจากนี้ ถ้ามีกฎหมายกลางมารองรับโดยตรง ก็จะตามมาด้วยอำนาจหน้าที่เต็มของผู้ที่รับผิดชอบกระบวนการ การประเมินผล การจัดสรรงบประมาณ และสามารถจัดทำเป็นแผนบูรณาการต่างๆ

ในทางปฏิบัติ อะไรคือปัจจัยที่จะทำให้การจัดกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ดำเนินไปได้อย่างสำเร็จ

ถ้ามองกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในฐานะกระบวนการ ไม่ใช่โครงสร้างกฎหมาย ปัจจัยของความสำเร็จอยู่ที่การสร้างความยินยอมระหว่างคู่กรณี ว่าเจ้าหน้าที่หรือคนกลางที่ดำเนินการไกล่เกลี่ยจะดำเนินการอย่างไรให้คู่กรณีทำยินยอมให้จัดกระบวนการได้ จากงานวิจัยของ TIJ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานมองว่า การขอความยินยอมจากผู้เข้าร่วมกระบวนการคือส่วนสำคัญที่ทำให้กระบวนการสำเร็จได้ ถ้าสมมติฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยินยอม อย่างไรก็ไม่สำเร็จ

อย่างที่สองคือ การปฏิบัติตามข้อตกลง หากข้อตกลงหรือข้อเรียกร้องของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอยู่นอกวิสัยที่จะปฏิบัติได้จริง ก็จะทำให้การหาข้อตกลงร่วมกันบรรลุได้ยาก หลายคดีมีกรณีที่ผู้เสียหายเรียกร้องให้มีการชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินที่สูงไป หรือการกระทำที่เกินวิสัยจะทำได้จริง ผู้กระทำผิดไม่สามารถหามาชดใช้ได้ เพราะฉะนั้น จะต้องเจรจาต่อรองเพื่อหาทางชดใช้เยียวยารูปแบบอื่นที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับ หากไม่ใช่คดีร้ายแรง เช่น ทำร้ายร่างกาย ข่มขืน ฆ่า ก็อาจจะเจรจาต่อรองค่าเสียหายหรือให้ผ่อนชำระได้ หรืออาจจะเยียวยาชดใช้เป็นการกระทำ เช่น ทำงาน ก็จะตกลงได้ง่ายกว่า สมมติว่าคู่กรณีอยู่ในชุมชนเดียวกัน ผู้กระทำผิดทำทรัพย์สินเสียหาย ทำให้รั้วบ้านผู้เสียหายพัง ก็อาจจะให้มาช่วยซ่อมรั้วบ้านได้

แต่ถ้าเป็นกรณีคดีรุนแรง เช่น ทำร้ายร่างกายหรือข่มขืน ซึ่งเป็นความผิดอาญาจริง แต่ในบางกรณีที่ยอมความได้หรือมีการถอนแจ้งความ แล้วให้มีข้อตกลงเงื่อนไขการคุมประพฤติหรือเงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติต่อกัน การติดตามว่าผู้กระทำความผิดปฏิบัติตามเงื่อนไขได้หรือไม่คือส่วนสำคัญ เช่น เงื่อนไขว่าห้ามมาติดต่อกับลูกสาวผู้เสียหายหลังจากก่อเหตุหรือต้องประกอบอาชีพ ซึ่งต้องมีการกำหนดระยะเวลาเพื่อดูความคืบหน้าเป็นระยะๆ ด้วย แต่ปัญหาในกรณีไทยคือ เจ้าหน้าที่ไม่ได้มีเพียงพอ หรืออาจไม่มีเวลามากพอที่จะติดตามเชิง active ทุกวันนี้ใช้วิธีการร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่ในกรณีที่ไม่มีการปฏิบัติตามมากกว่า แต่ระบบติดตามความคืบหน้าออนไลน์ก็จะช่วยเสริมได้ ซึ่ง TIJ กำลังพัฒนาระบบติดตามผลของกระบวนการแบบ active อยู่

ปัจจุบันคนที่ทำงานในกระบวนการยุติธรรมไทยมีความเข้าใจต่อกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มากน้อยแค่ไหน

ต้องเรียนว่าถ้าเป็นหน่วยงานที่ต้องจัดกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์อยู่แล้ว อย่างศาลเยาวชน ผู้พิพากษาศาลเยาวชน ผู้พิพากษาสมทบ หรือเจ้าหน้าที่ศาลเยาวชน เจ้าหน้าที่สถานพินิจ นักจิตวิทยาเด็ก หรือนักสหวิทยาการ เขามีความเข้าใจที่ดีกว่าผมเสียด้วยซ้ำ เพราะอยู่หน้างาน ปฏิบัติทุกวัน จัดกระบวนการเป็นประจำอยู่แล้ว

แต่ว่าถ้าเป็นกระบวนการยุติธรรมทางอาญาทั่วๆ ไป คนในกระบวนการก็รู้จักและพอมีความเข้าใจกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในระดับหนึ่ง TIJ เคยทำสำรวจเมื่อ 3 ปีที่แล้วในรายงาน Harmonious Justice: Thailand’s Approach to Restorative Justice ผลสำรวจออกมาว่า ส่วนใหญ่รู้จัก เคยได้ยิน แต่ไม่เคยปฏิบัติหรือไม่มีโอกาสได้ปฏิบัติ ไม่มีประสบการณ์ในการใช้กระบวนการโดยตรง เพราะว่าอยู่ในภาคส่วนที่ไม่ได้อยู่ในหน้างานกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์โดยตรง หรือบางครั้งดุลพินิจในการจัดกระบวนการก็ขึ้นอยู่กับหัวหน้าศาล ถามว่ารู้จักไหม ส่วนใหญ่ก็รู้จัก ไม่มีใครไม่เคยได้ยิน แต่ถามว่ารู้ไหมว่าหัวใจของกระบวนการคืออะไร ปฏิบัติอย่างไร อาจจะ 50-50 ระหว่างคนที่รู้จักและปฏิบัติได้ กับคนที่รู้จักแต่ไม่เคยปฏิบัติหรือไม่รู้ว่าปฏิบัติอย่างไร

TIJ มีส่วนในการผลักดันกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์อย่างไรบ้าง

จริงๆ TIJ มีส่วนร่วมในการเจรจาร่างข้อมติองค์การสหประชาชาติฯ และเอกสารตราสารระหว่างประเทศอื่นๆ ในระดับโลก และผลักดันให้เกิดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ในการปรับปรุงคู่มือกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ฉบับปรับปรุงครั้งที่สองเมื่อปี 2020 TIJ ก็มีส่วนร่วมในการพัฒนาเนื้อหาดังกล่าว

ในขณะที่การปรับแก้โครงสร้างกฎหมายยังลำบาก สิ่งที่ TIJ พยายามเสริมคือ การสนับสนุนให้มีสังคมมีความเข้าใจต่อคดีอาญาว่า ทางออกไม่ใช่การลงโทษแบบตาต่อตาฟันต่อฟันเสมอไป เพราะมีหลายกรณีที่เกิดขึ้นจริงซึ่งไม่ใช่คดีร้ายแรงเช่นกันที่ผู้กระทำผิดลงมือเพราะสภาพแวดล้อมบีบบังคับ หรือเป็นแพะรับโทษแทนบุคคลที่ตนรัก กระบวนการขัดเกลาหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมยังเป็นอีกทางออกหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมได้รับโอกาสอีกครั้ง มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ และลดการที่สังคมจะตัดสินหรือตีตรา ในแง่หนึ่งการพยายามเปลี่ยนทัศนคติของสังคมก็กระทบต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐในกระบวนการยุติธรรมทางอ้อมด้วยว่า เมื่อสังคมเริ่มเปิดแล้ว เจ้าหน้าที่รัฐจะต้องอำนวยความยุติธรรมด้วยทัศนคติแบบไหน ควรทำอะไร ขยับเขยื้อนตรงไหน

อีกส่วนหนึ่ง TIJ พยายามจัดฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ ซึ่งไม่ใช่แค่การฝึกทักษะในกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์อย่างเดียว แต่ต้องค่อยๆ จูนปรับ mindset ด้วย ในคดีเยาวชนเราไม่ค่อยห่วง แต่ในกรณีคดีผู้ใหญ่ TIJ ก็อยากส่งเสริมให้มีการนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เข้ามาเสริม อย่างน้อยให้คนในกระบวนการมองเห็นว่า มันเป็นทางเลือกหนึ่งที่หยิบยกมาใช้ช่วยแก้ปัญหาการเยียวยาความเสียหายและบำบัดฟื้นฟูพฤติกรรมได้

นอกจากนี้ เราพยายามจะขยายเครือข่ายและการนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ไปใช้ได้ในส่วนอื่นๆ ในสังคมด้วย อย่างโปรเจ็กต์ที่ TIJ ทำร่วมกับเครือข่ายอยู่คือ RJ in School เรามองว่าเมื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ให้แก่นักเรียนและคุณครูแล้ว จะทำให้สามารถหยิบยกกระบวนการขึ้นมาใช้ได้เมื่อมีเหตุขัดแย้ง ซึ่งมันนำไปสู่ early intervention หรือการช่วยเหลือป้องกันในเบื้องต้นด้วย

หลายๆ ครั้ง ในการลงโทษในโรงเรียน เรามักจะเห็นการใช้อำนาจเหนือของครูฝ่ายปกครองหรือครูประจำชั้น แม้เด็กๆ นักเรียนจะเป็นผู้เสียหาย แต่ก็อาจไม่ได้รับการดูแลหรือรับฟังในสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเปิดใจและตรงไปตรงมาอย่างเปิดใจ บางครั้งก็ถูกตัดสินไปก่อนแล้ว หรือผู้ที่ทำหน้าจัดการข้อพิพาท อย่างครูฝ่ายปกครองก็อาจใช้วิธีการที่เหมาะสมไม่พอ หรือละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น ใช้ไม้เรียว ตัดผม อีกทั้งบางครั้งการลงโทษก็ไม่ได้สอดคล้องกับความผิดจริงๆ เช่น แต่งกายผิดระเบียบหรือมาเรียนสายแล้วให้ไปวิ่งรอบสนาม เพราะฉะนั้น สิ่งที่กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เข้ามาช่วยคือ การรับฟังสาเหตุของการกระทำผิดและสะท้อนผลกระทบจากการกระทำผิดที่เกิดขึ้นต่อเพื่อนร่วมห้อง คุณครู หรือโรงเรียนอย่างไร

เมื่อการรับฟังสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วแก้ปัญหาให้ตรงจุดน่าจะดีกว่า TIJ เลยพยายามจัดให้มีการอบรมคุณครูและจัดค่ายเยาวชนให้เด็กๆ ร่วมออกแบบโมเดลกระบวนการที่เขาเห็นร่วมกันว่าเหมาะสมและใช้ได้จริง เพราะเด็กๆ ก็มีวิธีการของเขาเอง ส่วน TIJ และเครือข่ายก็มาช่วยกัน shape และหาทางออกไปพร้อมๆ กัน

ล่าสุดก็ได้มีการจัดค่ายเยาวชนร่วมกับโรงเรียนในเครือเซนต์คาเบรียลที่ค่อนข้างมีความพร้อม มียุทธศาสตร์เกี่ยวกับการยุติข้อพิพาทโดยสันติวิธีอยู่แล้ว และคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการจัดกระบวนการและกิจกรรมที่เหมาะสมสำหรับเด็กในการเรียนรู้ หลังจากจบค่าย เด็กที่เข้าร่วมมีการตอบรับที่ดีมากๆ จากแบบประเมิน มีนักเรียน 90-100% ที่เห็นด้วยว่าควรจะมีกระบวนการจัดการความขัดแย้งแบบนี้ในโรงเรียน ควรให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการหาทางออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้กระทำผิดและผู้เสียหาย ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งกัน

อีกโปรเจ็กต์หนึ่งคือ การพัฒนาระบบรวบรวมข้อมูลและสถิติคดี ซึ่งเป็นปัญหาสำหรับประเทศไทยค่อนข้างมาก TIJ ก็พยายามพัฒนาระบบเพื่อช่วยเจ้าหน้าที่ในการรวบรวมข้อมูล และเปิดให้เป็นระบบที่ประชาชนเข้ามาใช้บริการได้ด้วย คล้ายๆ กับ e-mediation คือให้ผู้เสียหายและผู้กระทำผิดเข้ามาใช้ระบบเพื่อกรอกข้อมูล นัดหมายการประชุม ซึ่งจะนัดประชุม on-site ก็ได้ แชร์ความต้องการระหว่างกัน หาข้อตกลงร่วมกันว่าจะมีเงื่อนไขการปฏิบัติอย่างไร จากนั้นก็มาทำข้อสรุปในระบบ และมีการให้ feedback จากการจัดประชุม 

ระบบจะมีลักษณะคล้ายๆ กับเฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรมที่ผู้เกี่ยวข้องในกรณีสามารถเข้าไปโพสต์ได้ เช่น ผู้กระทำผิดอาจโพสต์ว่า ได้กระทำตามเงื่อนไขแล้ว ชดใช้แล้ว จ่ายค่าปรับแล้ว เลิกเหล้าแล้ว ไปบำเพ็ญประโยชน์แล้ว หรือได้งานทำแล้ว ส่วนผู้เสียหายก็สามารถไปกดไลค์หรือให้ดาวได้ ทั้งหมดนี้เป็นการประเมินร่วมกันแบบ 360 องศา อีกทั้งยังให้ feedback กับเจ้าหน้าที่ได้ด้วยว่า ดำเนินกระบวนการไกล่เกลี่ยได้ดีหรือไม่ และสมมติว่าถ้าการดำเนินการไม่เป็นไปตามข้อตกลง ระบบก็ยังเปิดช่องให้นำคดีกลับเข้าไปสู่กระบบคดีอาญาตามปกติได้

เมื่อมีข้อมูลเข้ามาในระบบเยอะมากขึ้นก็จะช่วยให้เราประเมินได้ว่าการจัดกระบวนการแบบไหนที่มีประสิทธิภาพ ในอนาคตจะมีการนำ machine learning เข้ามาเพื่อช่วยคาดการณ์และให้คำแนะนำต่อเจ้าหน้าที่ว่า ทางออกที่เหมาะสมต่อคดีลักษณะหนึ่งๆ เป็นแบบไหน เจ้าหน้าที่เองก็สามารถเลือกได้ว่า โมเดลไหนคือโมเดลที่เหมาะสมกับการจัดการข้อพิพาท

เป็นไปได้แค่ไหนที่กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์จะกลายเป็นกระบวนการยุติธรรมกระแสหลักแทนแนวทางแบบแก้แค้นทดแทน

ในกรณีประเทศไทย ผมมองว่ากระบวนการยุติธรรมแบบ retributive justice จะยังคงดำเนินต่อไปเช่นเดียวกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์อาจไม่ได้เป็นกระบวนการกระแสหลักได้ในเร็ววันนี้ เพราะเราอยู่กับกระบวนการยุติธรรมแบบเดิมมานาน โครงสร้างระบบยุติธรรมอาจไม่ได้รองรับมากเท่าประเทศที่มีระบบชุมชนเข้มแข็งมาอย่างยาวนาน และต้องยอมรับว่าการใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์อาจต้องใช้เวลา ใช้ความเข้าใจ ใช้ทรัพยากรพอสมควร และขึ้นกับหลายปัจจัยที่จะทำให้บรรลุความสำเร็จตามเป้าหมาย

กระแสหลักของโลกก็ไม่ได้ใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์แทนกระบวนการกระแสหลัก ความยากของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์คือมันเป็นปรัชญา เป็นแนวคิด และแม้จะเป็นกระบวนการที่มีรูปแบบอยู่ระดับหนึ่ง แต่ในการดำเนินการก็ยังมีความยืดหยุ่นอยู่พอสมควร

คำถามคือ เราการันตีได้หรือไม่ว่า กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์จะเป็นปัจจัยหลักเดียวที่จะทำให้คนไม่กระทำผิดซ้ำ ก็ไม่ใช่ เพราะขนาดกระบวนการอาญาตามปกติ ผ่านเรือนจำ ผ่านโปรแกรมบำบัดที่ชัดเจนจนผู้กระทำผิดออกไปสู่สังคมก็การันตีไม่ได้ว่าจะไม่เกิดการกระทำผิดซ้ำ แต่ถามว่ากระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มีส่วนช่วยไหม มันช่วย แต่ก็สรุปไม่ได้เหมือนกันว่าการจัดกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์คือปัจจัยหลักที่ลดการกระทำผิดซ้ำเช่นกัน

มีปัจจัยหลากหลายมากที่ทำให้เกิดการกระทำผิดซ้ำ ต่อให้จบกระบวนการหรือพ้นจากเรือนจำไปแล้ว แต่ถ้าผู้กระทำผิดต้องเผชิญต่อสภาพแวดล้อมที่บีบบังคับ ไม่มีโอกาสในสังคม ถูกตีตรา ไม่ได้รับการยอมรับ สมัครงานที่ไหนก็ไม่ได้ ก็อาจต้องกลับไปหารายได้ด้วยการค้ายาเสพติด หรือถ้าตัดสินใจลงทุนเปิดร้านขายของ แต่สภาพเศรษฐกิจไม่เอื้อ สู้รายใหญ่ไม่ได้ ก็ทำมาหากินไม่ได้ ไม่เพียงแต่ผู้พ้นโทษเท่านั้น คนปกติทั่วไปจะเริ่มทำธุรกิจเองให้สำเร็จยังทำได้ไม่ง่ายนัก

จริงๆ ตอบยากว่าจะผลักให้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เป็นกระบวนการยุติธรรมกระแสหลักได้ไหม ในกรณีคดีเยาวชนชัดเจนว่าเป็นแนวทางหลักได้ แต่ในกรณีคดีผู้ใหญ่ก็ยังเป็นที่ถกเถียงอยู่

ถามอีกแบบ แล้วจำเป็นไหมที่กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ต้องกลายเป็นกระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก หรือเป็นส่วนเสริมในกระบวนการยุติธรรมกระแสหลักก็พอ

ผมค่อนข้างเห็นด้วยกับแนวทางที่ให้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เป็นส่วนเสริมมากกว่าที่จะเป็นกระบวนการหลัก เพราะกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่ใช้อยู่ในปัจจุบันก็มีประสิทธิภาพตามที่ควรจะเป็น แต่ถ้าเราให้ความสำคัญกับประโยชน์ที่ผู้เสียหายและผู้กระทำความผิดจะได้รับมากกว่า การจัดกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในคดีที่ใช้ได้ ผู้เสียหายจะได้รับการเยียวยาอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่จ่ายเงินหรือได้รับการชดใช้เยียวยาค่าเสียหายตามกฎหมายแล้วจบกันไป

ความเสียหายบางอย่างมันฝังใจ กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์คือการที่เราใส่ความเป็นมนุษย์ลงไปในกระบวนการยุติธรรมให้มากขึ้น ไม่ได้มองว่ากระบวนการยุติธรรมเป็นแค่กระบวนการ แต่คือสิ่งที่มนุษย์หลายคนร่วมกันหาทางออกร่วม เพราะฉะนั้น มันเยียวยาทั้งร่างกายและจิตใจของผู้เสียหายได้จริงๆ ในขณะที่ฝ่ายผู้กระทำความผิดก็ได้รับรู้ผลกระทบที่ตามจากการกระทำของตนเองและมีโอกาสได้พัฒนาวิธีคิดการสร้างสำนึกได้มากขึ้น

เพราะฉะนั้น การนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาเป็นส่วนเสริมให้ใช้ได้ในทุกคดีและในทุกขั้นตอน ต่อให้เป็นคดีที่ร้ายแรงมากก็สามารถจัดกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์คู่ขนานไปกับการลงโทษจำคุกหรือการคุมประพฤติตามกระบวนการปกติได้ น่าจะช่วยให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายได้มากกว่า

ในอนาคต ถ้าจะให้หลักกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ใช้ได้ดีขึ้นในสังคมไทย ต้องพัฒนาต่อไปอย่างไร

จากงานวิจัยของ TIJ เรามีข้อค้นพบและข้อเสนอแนะว่าควรจะพัฒนาให้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ใช้ได้ดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง

อันดับแรก คือเรื่องกฎหมายที่เราคุยกัน คือมีการออกกฎหมายกลางเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ เช่น พ.ร.บ.ยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ เปิดให้มีการนำไปใช้ตั้งแต่ชั้นก่อนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพิ่มระบบยุติธรรมชุมชน ส่วนในกระบวนการในขั้นสอบสวน อัยการ ฟ้องคดี ชั้นศาล ก็กำหนดเนื้อหาและเงื่อนไขการใช้กระบวนการให้ตรงกัน เช่น การเว้นการดำเนินคดีในกรณีที่ผู้กระทำผิดปฏิบัติตามข้อตกลง หรือการส่งคดีกับมาดำเนินตามปกติในกรณีที่ไม่ปฏิบัติตาม ฯลฯ ถ้าทำให้ชัดเจนตลอดกระบวนการก็จะช่วยได้

อย่างที่สอง การสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ต่อประชาชน เช่นในชุมชนหรือในที่ทำงาน ไม่จำเป็นต้องเป็นคดีอาญาก็สามารถใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ได้ จริงๆ ในสังคมมันมีเซนส์ของการระงับข้อพิพาทที่สอดคล้องกับปรัชญาความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์อยู่แล้ว อย่างในที่ทำงาน หากเกิดความขัดแย้งระหว่างเพื่อนร่วมงาน เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลก็สามารถจัดกระบวนการได้ ต่อให้เป็นความผิดอาญา เช่น ทะเลาะวิวาท หมิ่นประมาท ก็สามารถหยิบยกกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาใช้แทนการฟ้องคดีได้

นอกจากนี้คือการสร้างความตระหนักรู้ต่อเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาโดยตรงด้วยฝึกทักษะต่างๆ ในการจัดกระบวนการ โดยเจ้าหน้าที่ควรจะอำนวยความยุติธรรมในลักษณะของการให้บริการ และต้องรับฟังเป็นหลักในการจัดกระบวนการ เพราะกระบวนกรต้องเป็นคนที่มีอำนาจน้อยที่สุดในกระบวนการ ให้ผู้เสียหายและผู้กระทำผิดเป็นตัวตั้ง และแค่สนับสนุนให้ทั้งสองฝ่ายพูดและแลกเปลี่ยน ฟัง แล้วหาข้อตกลงร่วมกัน ไม่ใช่ผู้ใช้อำนาจรัฐ

อย่างที่สาม พัฒนาระบบติดตามและประมวลผล ซึ่งจะช่วยในการเก็บข้อมูลเชิงวิจัยเพื่อการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ด้วย

อีกส่วนหนึ่งคือ การจัดสรรงบประมาณ ปฏิเสธไม่ได้ว่าภารกิจของรัฐย่อมตามมาด้วยงบประมาณทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงปรับโครงสร้างระบบยุติธรรมเพื่อให้งบประมาณมารองรับเช่นกัน ถ้าไม่มีหน่วยงานหลักที่จะมาดำเนินการ งบประมาณจะกระจายไปอยู่ในทุกหน่วยงานของกระบวนการยุติธรรม อาจต้องมีแผนงบประมาณบูรณาการร่วมกัน

สุดท้ายคือสื่อ ผมมองว่าสื่อมีส่วนสำคัญในการสร้างความตระหนักรู้ต่อสังคม หลายครั้งที่การเขียนข่าวหรือการออกสื่อของ influencer สามารถชักจูงความคิดของสังคมได้ หรือกระทั่งละครก็ตาม การผลิตซ้ำความรุนแรงหรือการลงโทษแบบตาต่อตาฟันต่อฟันก็มีส่วนทำให้สังคมตีตรากระบวนการยุติธรรมระดับหนึ่ง เราน่าจะสร้างซีรีส์แบบเกาหลีอย่าง Juvenile Justice หรือ Law School มันอาจจะทำให้ภาพกระบวนการยุติธรรมเป็นอีกแบบหนึ่ง


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world 

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save