fbpx

จากยูเครนสู่ปัตตานี กรณี Gerasimov Doctrine และแผนบันได 7 ขั้น

จากยูเครน

ยูเครนที่เรารู้จักในทุกวันนี้ เกิดขึ้นโดยการแยกตัวออกจากสหภาพโซเวียตในปี 1991 รัฐชาติแห่งใหม่นี้รวบรวมผู้คนที่หลากหลายเข้าไว้ร่วมกัน ความหลากหลายนี้เองที่ทำให้เกิดทั้งความขัดแย้งและความต้องการที่จะสมานฉันท์กับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีประวัติศาสตร์ที่แตกแยกกันอย่างชัดเจน นั่นคือ ‘สหภาพยุโรป’ ทางทิศตะวันตกและ ‘รัสเซีย’ ทางทิศตะวันออก

ยูเครนในทศวรรษ 1990s พยายามวางตัวเป็นกลางระหว่างสองดุลอำนาจนี้ ส่วนหนึ่งเพราะข้อขัดแย้งกับรัสเซีย (ซึ่งเป็นแกนนำของสหภาพโซเวียต) ในกรณีการบริหารจัดการที่ล้มเหลวเมื่อเกิดเหตุการณ์เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลรั่วไหล จนทำให้พื้นที่ทางตอนเหนือติดชายแดนของประเทศเบลารุสกลายเป็นพื้นที่อันตรายสูงสุดสำหรับชีวิตมนุษย์จากกัมมันตภาพรังสีที่รั่วไหล โดยมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนั้นมากกว่า 90,000 ราย ร่วมกับการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัวในกรณีของฐานทัพและกองเรือของอดีตสหภาพโซเวียตที่อยู่ในบริเวณทะเลดำ โดยรัสเซียเองก็ต้องการรักษาสิทธิ์ในการเข้าถึงและใช้ฐานทัพและกองเรือในทะเลดำนี้ เพื่อเป็นทางออกที่จะเชื่อมประเทศไปสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

การวางตัวเป็นกลางของยูเครนในทศวรรษ 1990s ก็คือการสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้นทางเศรษฐกิจกับประเทศในยุโรปตะวันตก และพยายามจำกัดความร่วมมือกับกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (Commonwealth of Independent States – CIS ซึ่งเป็นกลุ่มอดีตประเทศในสหภาพโซเวียต ปัจจุบันมีสมาชิกหลัก 10 ประเทศ และสมาชิกร่วม 1 ประเทศ) โดยประกาศลดสถานะของตนเองจากสมาชิกหลักของ CIS เป็นเพียงสมาชิกร่วมในปี 1993 (และในที่สุดก็ถอนตัวในปี 2014) และหลังจากนั้นเพียงหนึ่งปีก็เริ่มต้นความสัมพันธ์ทางด้านความมั่นคงกับองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO)

ความพยายามในการประกาศสถานะเป็นกลางและถ่วงดุลระหว่างสองมหาอำนาจ คือระหว่างฝ่ายที่หนึ่ง ‘สหภาพยุโรป’ (ที่มีสหรัฐอเมริกาสนับสนุน) ซึ่งมีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจมากกว่า กับอีกฝ่ายคือ ‘รัสเซีย’ ซึ่งมีความเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรม ดูเหมือนจะเกิดขึ้นเพียงในภาพรวม แต่ภายในประเทศ แนวคิดของคนในชาติกลับแตกออกเป็นสองกลุ่ม โดยชาวยูเครนทางฝั่งตะวันตกดูเหมือนต้องการใกล้ชิดกับสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ขณะที่ชาวยูเครนทางฝั่งตะวันออก โดยเปรียบเทียบ เป็นฝ่ายที่ใกล้ชิดกับรัสเซียมากกว่า เพราะมีรากทางประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรมร่วมกัน (ทั้งนี้ต้องอย่าลืมว่า คาบสมุทรไครเมีย (Crimea) คือส่วนหนึ่งของรัสเซีย ที่ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของยูเครนในปี 1954 ภายใต้การอยู่ร่วมกันในสหภาพโซเวียต)

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการปฏิวัติสีส้ม (Orange Revolution) ที่เกิดขึ้นภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีในช่วงพฤศจิกายน 2004 – มกราคม 2005 การรักษาสมดุลนี้ก็เสียหลักไป แม้การปฏิวัติครั้งนั้นจะเกิดขั้นโดยสงบ ปราศจากการสูญเสียเลือดเนื้อ รวมทั้งอดีตนายกรัฐมนตรี Viktor Yanukovych ที่เคยถูกกล่าวหาว่าโกงจนชนะการเลือกตั้งในรอบแรก ก็ยอมรับผลเลือกตั้งในครั้งที่สอง ซึ่งตนพ่ายแพ้ต่อ Viktor Yushchenko ที่ขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อจากเขาในระหว่างปี 2005-2010

ช่วงเวลาดังกล่าวคือช่วงเวลาที่ Yushchenko ซึ่งมีฐานเสียงสนับสนุนจากประชาชนยูเครนทางฝั่งตะวันตก นำพาประเทศไปใกล้ชิดกับสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ฐานเสียงผู้สนับสนุน Yanukovych ทางฝั่งตะวันออกของประเทศรู้สึกถูกทอดทิ้ง และถูกทำให้ตนเองต้องยอมรับความเป็นตะวันตก (westernization) มากยิ่งขึ้น และจุดนี้เองที่ทำให้ความรู้สึกแตกแยกทางสังคมเกิดขึ้น จนสุ่มเสี่ยงต่อการเปิดประเทศสู่การแทรกแซงจากมหาอำนาจในรูปแบบของการสงครามผสมผสาน (hybrid warfare)

การสงครามผสมผสาน

Hybrid warfare เป็นยุทธศาสตร์ทางทหารซึ่งใช้การสงครามทางการเมือง ผสมรวมการสงครามตามแบบ (conventional warfare) การสงครามนอกแบบ (unconventional warfare) และการสงครามไซเบอร์ (cyber warfare) กับวิธีชักจูงจิตใจแบบอื่น (psychological warfare) เช่นการใช้ข่าวปลอม (misinformation/disinformation) การทูต การเมือง การแบ่งฝักฝ่ายทางสังคม การต่อสู้ทางกฎหมาย การแทรกแซงการเลือกตั้งต่างประเทศ และปฏิบัติการข่าวสาร (Information Operation – IO)

เมื่อใช้ปฏิบัติการเคลื่อนไหวกับความพยายามบ่อนทำลาย ผู้รุกรานเจตนาก็หลบเลี่ยงการระบุที่มาหรือการตอบโต้กลับ การสงครามผสมผสานสามารถใช้อธิบายพลวัตที่ยืดหยุ่นและซับซ้อนของพื้นที่การรบที่ต้องอาศัยการตอบสนองที่พลิกแพลงและยืดหยุ่น

จากปี 2005-2010 ภายใต้ประธานาธิบดี Viktor Yushchenko ต่อเนื่องด้วยการกลับมาประกาศชัยชนะได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีของอดีตนายกรัฐมนตรี Viktor Yanukovych ในระหว่างปี 2010-2014 กลายเป็นช่วงเวลาที่ยูเครนถูกแทรกแซงด้วยการสงครามผสมผสานจากทั้งฝ่ายโลกตะวันตกและรัสเซีย

ในช่วงเวลาดังกล่าว สหรัฐอเมริกาก็พยายามเข้ามาแทรกแซงยูเครนผ่านการเผยแพร่อุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตยแบบตะวันตก (Western Liberal Democracy) ด้วยการใช้ soft power ในหลากหลายมิติ เพื่อวัตถุประสงค์หลักในการดึงยูเครนให้เข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) และ NATO อย่างเต็มตัว และเพื่อปักหมุดแนวคิดตะวันตกอย่างสมบูรณ์ในยุโรปตะวันออก โดยต้องอย่าลืมว่ายูเครนคือประเทศที่มีพื้นที่กว้างใหญ่มากที่สุดในยุโรปเป็นอันดับที่ 2 รองจากรัสเซีย และยังเป็นตัวปิด (blockage) สำคัญที่ทำให้กองทัพของรัสเซียไม่ให้สามารถเคลื่อนกองทัพลงสู่ทะเลดำได้อย่างสะดวกมากนัก

ขณะที่ในรัสเซียเอง ผู้บัญชาการกองทัพรัสเซีย และผู้ช่วยรัฐมนตรีกลาโหมคนปัจจุบัน (General of the Army, Chief of the General Staff of the Armed Forces of the Russian Federation, First Deputy Defence Minister) พลเอก Valery Gerasimov ก็ได้คิดค้นและนำเสนอยุทธศาสตร์ใหม่ของรัสเซียในการทำการสงครามผสมผสานภายใต้ชื่อที่ถูกเรียกกันว่า ‘The Gerasimov Doctrine’

หลักการ Gerasimov Doctrine ถูกนำมาทดลองใช้ตลอดช่วงปี 2005–2015 และยังคงถูกใช้งานอยู่จนถึงปัจจุบัน โดยกระบวนการสำคัญของหลักการนี้คือการส่งกองกำลังทหารไปตามแนวเขตชายแดนของรัสเซีย โดยเปิดเผยต่อสาธารณะว่าเป็นการฝึกซ้อมรบ และในระหว่างห้วงเวลาดังกล่าวก็ใช้การสงครามนอกแบบเพื่อคุมจุดยุทธศาสตร์ทางการทหารที่สำคัญ ซึ่งในที่นี้คือยูเครน โดยเฉพาะในสองพื้นที่สำคัญคือ ‘คาบสมุทรไครเมีย’ ซึ่งเป็นทางออกทะเลดำพื้นที่ทางตะวันตกของทะเล Azov และ ‘ภูมิภาค Donbas’ ซึ่งกินพื้นที่ของสองแคว้นทางตะวันออกของยูเครน คือ แคว้น Donetsk และ แคว้น Luhansk ซึ่งรัสเซียต้องการใช้เป็นรัฐกันชนกับการขยายอิทธิพลของ NATO โดยทั้งสามพื้นที่คือเขตที่มีชาวยูเครนเชื้อสายรัสเซีย พูดภาษารัสเซีย อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก

การสงครามนอกแบบที่สำคัญที่ถูกใช้คือการใช้ปฏิบัติการข่าวสาร (IO) โดยการผลิตสื่อสังคมออนไลน์ในโลกโซเชียลเพื่อโน้มน้าวให้ประชากรในพื้นที่ดังกล่าวซึ่งเป็นเชื้อสายรัสเซียจำนวนมากกว่าครึ่งคล้อยตาม รู้สึกหวาดกลัว และต้องการการปกป้องจากรัสเซีย พร้อมๆ กับที่ก็ให้การสนับสนุนอาวุธแก่กลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่เพื่อยืนยันให้เห็นว่าภัยคุกคามต่อชีวิตพวกเขามีอยู่จริง หากไม่ได้รับการปกป้องจากรัสเซีย

ที่มา: https://www.pnwag.net/2022/02/08/oil-markets-watching-russia-very-closely/

การสงครามผสมผสานตามหลักนิยม Garasimov ยังให้หลักประกันคนในพื้นที่อีกด้วยว่า รัสเซียจะใช้กองกำลังรบตามแบบเพื่อคุ้มครอง ปกป้อง และสนับสนุน ซึ่งสามารถส่งออกมาจากหลังแนวพรมแดนของรัสเซียได้ทันที หากสถานการณ์ในสามพื้นที่นี้เกิดความตึงเครียด โดยรัสเซียยังมีหลักประกันหนุนหลังจากกองกำลังรบตามแบบในบริเวณชายแดนอีก นั่นคือกองกำลังนิวเคลียร์เพื่อป้องกัน หากประเทศมหาอำนาจในกลุ่ม NATO เข้าติดอาวุธหนักในยูเครน ด้วยทั้งหมดนี้เอง รัสเซียก็ยังคงสามารถยืนยันในเวทีประชาคมโลกถึงการปฏิเสธที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการดังกล่าวได้ เพราะทั้งหมดปราศจากหลักฐานในพื้นที่ที่สามารถ traceback กลับไปได้ว่ารัสเซียให้การสนับสนุน

จากการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ทำให้เห็นประจักษ์ได้ว่าการดำเนินการสงคราม hybrid warfare ประสบความสำเร็จ โดยหลังจากที่มีการปลุกกระแสภูมิภาคนิยม ในที่สุด Viktor Yanukovych ซึ่งเป็นคนพื้นที่ Donbas ก็ชนะการเลือกตั้ง ขึ้นเป็นประธานาธิบดีในปี 2010 ตามมาด้วยการประกาศหยุดการเจรจาความตกลงด้านความช่วยเหลือระหว่างสหภาพยุโรปกับยูเครน (European Union–Ukraine Association Agreement) รวมทั้งการนำพายูเครนเข้าไปใกล้ชิดมากยิ่งขึ้นกับรัสเซีย ผ่านการเร่งการเจรจาความตกลงสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย (Eurasian Economic Union – EaEU) ที่มีรัสเซียเป็นพี่ใหญ่

อย่างไรก็ตาม นั่นนำไปสู่เหตุการณ์ความไม่สงบและการประท้วง ณ Maidan Nezalezhnosti (จัตุรัสแห่งการประกาศอิสรภาพ) ใจกลางกรุง Kyiv ซึ่งมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 700 ราย โดยเหตุการณ์นี้ถูกเรียกว่า Euromaidan ซึ่งผลลัพธ์ที่เกิดตามมาก็คือการขับไล่ประธานาธิบดี Viktor Yanukovych ที่นิยมรัสเซีย ออกจากตำแหน่ง และการขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี Petro Poroshenko ซึ่งประกาศสงครามกับรัสเซีย และเดินหน้าความร่วมมือกับสหภาพยุโรป

เหตุการณ์ช่วงเปลี่ยนผ่านข้างต้นนั้นเกิดขึ้นพร้อมกับการที่บูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครนได้สูญสลายไปด้วย เพราะหลังเหตุการณ์ Euromaidan จบลง ในเดือนกุมภาพันธ์ 2014 ประชาชนในคาบสมุทรไครเมียที่ได้รับการสนับสนุนจากรัสเซียผ่านมาตรการต่างๆ ภายใต้การสงครามผสมผสาน hybrid warfare ก็จัดให้มีการลงประชามติในวันที่ 16 มีนาคม 2014 ซึ่งได้ทำให้เกิด ‘สาธารณรัฐไครเมีย’ (Republic of Crimea) ก่อตั้งขึ้นในวันต่อมาคือ วันที่ 17 มีนาคม 2014 ทันที พร้อมกับการได้รับการรับรองความเป็นเอกราชจากรัสเซียในวันเดียวกัน จากนั้นในอีกสองวันต่อมา คือวันที่ 18 มีนาคม 2014 สาธารณรัฐไครเมียก็ขอเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประเทศรัสเซีย ทุกอย่างเกิดขึ้นในระยะเวลาเพียงชั่วข้ามคืน นั่นแปลว่ามีการเตรียมการอย่างเป็นระบบมาก่อนหน้า

ในขณะที่ภูมิภาค Donbas อันประกอบไปด้วยแคว้น Donetsk และแคว้น Luhansk ก็ต้องการประกาศตนแยกตัวจากยูเครนเช่นกัน ในนาม Donetsk People’s Republic และ Luhansk People’s Republic จนนำไปสู่การเจรจาและลงนามในความตกลงกรุงมินสก์ (Minsk Protocol) ซึ่งเป็นการลงนามความตกลงของ 3 ฝ่ายระหว่างยูเครน รัสเซีย และตัวแทนจาก Organization for Security and Co-operation in Europe (OSCE) ได้แก่ เยอรมนี และฝรั่งเศส โดยความตกลงดังกล่าวเปิดทางให้ Donetsk และ Luhansk สามารถจัดตั้งรัฐบาลท้องถิ่นขึ้นมาปกครองดูแลกิจการของตนเองได้ (local self-governance) และล่าสุดในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2022 ยูเครนได้ร้องต่อคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ ขอให้ประชุมหารือด่วน หลังจากที่ในวันเดียวกัน รัฐสภารัสเซียมีมติเตรียมขอให้ผู้นำรัสเซียรับรอง Donetsk และ Luhansk ที่ประกาศแยกจากยูเครนมาตั้งแต่ปี 2014 เป็นรัฐอิสระ

สู่ปัตตานี

ท้ายสุด บทสรุปสำคัญที่เราคนไทยต้องเรียนรู้จากกรณียูเครนคือ ประเทศของเรามีประเด็นเปราะบางอันเกิดจากความเหลื่อมล้ำ ความแตกต่างทางสังคม และสุ่มเสี่ยงต่อการขอแยกตัวเป็นอิสระหรือไม่ รวมทั้งบทบาทของต่างชาติที่จะเข้ามาแทรกแซงกิจการเหล่านี้ในรูปแบบ hybrid warfare มีจุดเปราะบางอยู่ที่ตรงไหน

แน่นอนว่าการกระทำอันไม่เป็นธรรมของรัฐอย่างเลือกปฏิบัติในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง โดยเจ้าหน้าที่ภาครัฐบางคนที่มีคุณภาพต่ำ ย่อมสร้างความไม่พอใจให้ประชาชน เมื่อผสมผสานกับปัญหาคอร์รัปชัน และความแตกต่างทางสังคม-วัฒนธรรม ศาสนา และวิถีชีวิต ในพื้นที่ที่มีประชาชนจำนวนมากเป็นชาวไทย-มลายู ที่นับถือศาสนาอิสลาม ร่วมกับคนไทย-พุทธ และคนไทยเชื้อสายจีน ความเรื้อรังของปัญหาที่ต่อเนื่องเป็นเวลานาน การถูกกดทับอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำในหลากมิติของผู้คนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ซึ่งประกอบด้วยพื้นที่จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสี่อำเภอของจังหวัดสงขลา

เหตุการณ์คนร้ายบุกเข้าปล้นอาวุธปืนจากค่ายทหาร กองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (ค่ายปิเหล็ง) ต.มะรือโบออก อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2004 โดยได้อาวุธปืนไปมากถึง 413 กระบอก เป็นการปะทุของความขัดแย้งในครั้งแรก ต่อเนื่องด้วยเหตุการณ์ ‘มัสยิดกรือเซะ’ จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2004 โดยกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงได้ออกปฏิบัติการโจมตีจุดตรวจฐานปฏิบัติการนับ 10 จุด ของเจ้าหน้าที่รัฐในหลายพื้นที่ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้เกิดการปะทะกันในหลายจุด เป็นเหตุให้มีเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บหลายคน ส่วนผู้ก่อเหตุเสียชีวิตรวม 108 ราย ซึ่งกว่า 30 รายถูกสังหารในมัสยิดกรือเซะ มัสยิดที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค

นี่จึงกลายเป็นเหตุการณ์ความรุนแรงในครั้งแรก อันนำไปสู่การตอบกลับที่รุนแรงและเกินกว่าเหตุของภาครัฐในเหตุการณ์ ‘ตากใบ’ จ.นราธิวาส ซึ่งเกิดขึ้นในอีก 6 เดือนต่อมา ในวันที่ 25 ตุลาคม 2004 โดยเหตุการณ์เริ่มต้นจากการชุมนุมเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านจำนวน 6 คนที่ถูกจับกุมตัว โดยมีชาวบ้านในพื้นที่นั้นมามุงดูนับพันคน จนทหารต้องทำการปิดล้อมพื้นที่และสลายการชุมนุม ทำให้มีผู้เสียชีวิตในพื้นที่ชุมนุม 6 คน จากนั้นจึงมีการจับกุมกลุ่มผู้ชุมนุมจำนวน 1,370 คน โดยมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 85 คนในระหว่างการขนส่งกลุ่มผู้ชุมนุม ภาพความสูญเสียที่ต่อเนื่องยาวนานมากกว่า 18 ปี ยังคงไม่คลี่คลาย

ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความสลับซับซ้อนอย่างมาก ไม่ใช่ปัญหาขาวดำที่จะชี้ถูกชี้ผิดได้โดยง่าย และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาก็มีพลวัตภายใน แต่หนึ่งในเอกสารชิ้นสำคัญที่ชี้ว่า สงครามแบบผสมผสานอาจเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งในพื้นที่คือ ‘แผนการแบ่งแยกดินแดน’ (ผังบันได 7 ขั้น) ที่ถูกค้นพบในปี 2003 ซึ่งเมื่อเทียบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในเรื่องของการจัดตั้งมวลชน การใช้กลุ่มผู้ค้าของเถื่อน และเครือข่ายยาเสพติดเป็นช่องทางในการซ่องสุมผู้คน รวมทั้งเป็นฐานการเงินเพื่อหล่อเลี้ยงขบวนการ และในขณะเดียวกันก็ทำให้เยาวชนที่หลงผิดเกิดความง่ายในการที่ใช้ปฏิบัติการทางจิตวิทยาเพื่อสร้างชุดความคิดที่ต่อต้านรัฐ ก่อนที่จะสนับสนุนการฝึกอาวุธ การจัดหาอาวุธ และการก่อความไม่สงบ เหตุการณ์เหล่านี้ล้วนแล้วแต่แสดงให้เห็นว่า ทุกเหตุการณ์มีการวางแผนมาอย่างดี ทำเป็นขบวนการ และนับเป็นชนวนที่เปราะบางอ่อนไหว ทำให้ประเทศสุ่มเสี่ยงต่อการถูกเข้าแทรกแซงในรูปแบบของ hybrid warfare

แม้ว่าปัจจุบัน เหตุการณ์ความรุนแรงดูเหมือนจะผ่อนคลายลงกว่าช่วงที่ผ่านมา ขณะที่กระบวนการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ก็ได้เริ่มต้นขึ้น โดยมีประเทศเพื่อนบ้านทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวก แม้ว่าในช่วงการระบาดของโควิด กระบวนการพูดคุยสันติสุขฯ อาจชะงักและล่าช้าไปบ้าง แต่อย่างน้อยกระบวนการก็ยังคงดำเนินการต่อเนื่อง โดยล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม 2022 มีการพบปะพูดคุยแบบพบหน้า (on-site) ซึ่งได้หลักการ 3 ข้ออันจะเป็นสารัตถะของการพูดคุยในระยะต่อไป คือ 1) การลดความรุนแรง 2) การปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่ และ 3) การแสวงหาทางออกทางการเมือง

แต่สิ่งหนึ่งที่หน่วยงานความมั่นคงที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ยังคงต้องเผชิญหน้าอย่างต่อเนื่อง คือสถานการณ์ที่ฝ่ายกองกำลังที่ต่อต้านภาครัฐในพื้นที่ยังคงดำเนินการก่อกวนความไม่สงบ ซึ่งสวนทางกับแนวทางของคณะผู้แทนของกลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ (BRN) ที่กล่าวว่า ได้มีการสั่งการในเครือข่ายให้ยุติความรุนแรงเอาไว้แล้วในห้วงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเมื่อเจ้าหน้าที่ภาครัฐด้านความมั่นคงของไทยต้องบังคับใช้กฎหมาย ทำการเข้าปราบปรามกลุ่มผู้กระทำผิดอย่างร้ายแรง ซึ่งบางครั้งนำไปสู่การวิสามัญฆาตกรรม แต่เจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐก็ดูเหมือนจะเป็นเพียงฝ่ายเดียวที่ถูกต่อว่าวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ในลักษณะที่กล่าวว่าเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ

หากมองในกรอบของสงครามผสมผสาน เหตุการณ์เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ข้อมูลข่าวสารมีผลอย่างยิ่งต่อปฏิบัติการในพื้นที่ ภาครัฐจำเป็นอย่างยิ่งที่จะสื่อสารและดำเนินมาตรการอย่างโปร่งใสที่สุด เพื่อให้สังคมเกิดความเชื่อมั่นและไว้วางใจว่าปฏิบัติการแต่ละครั้งเป็นเรื่องควรแก่เหตุ ในขณะเดียวกัน สังคมเองต้องตระหนักด้วยว่า สงครามข้อมูลข่าวสารคือส่วนหนึ่งของการต่อสู้ในพื้นที่ความขัดแย้ง ดังนั้นจึงควรที่จะระมัดระวังอย่างยิ่ง หากภาครัฐและสังคมไม่สามารถจัดการเรื่องนี้ได้ย่อมทำให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐที่อยู่ในพื้นที่ที่ต้องบังคับใช้กฎหมายเสียกำลังใจในการทำงานและทำงานยากมากยิ่งขึ้น ทั้งที่เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ปฏิบัติงานด้วยความเคารพและเข้าใจหลักจิตวิทยาของประชาชนในพื้นที่อย่างเต็มที่ และหากเจ้าหน้าที่สูญเสียกำลังใจหรือไม่กล้าปฏิบัติหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมาย ก็กลับจะยิ่งทำให้กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ซึ่งอาจจะเป็นคนละกลุ่มที่เข้าร่วมกระบวนการพูดคุยสันติสุขฯ มีความฮึกเหิมและต้องการที่จะขยายเครือข่ายในการก่อความไม่สงบมากยิ่งขึ้น

ในขณะที่ความรุนแรงดูเหมือนจะลดลง แต่ภาพของชาวต่างชาติที่เข้าไปปรากฏตัวในพื้นที่เพิ่มขึ้นโดยแสดงตนเป็นสื่อสารมวลชนและเป็นเครือข่ายภาคประชาชน (NGOs) ที่มาลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูล ในด้านหนึ่ง การทำงานของภาคประชาสังคมเหล่านี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการตรวจสอบและถ่วงดุลการทำงานของภาครัฐ แต่บทเรียนจากสงครามผสมผสานที่เกิดขึ้นก็ทำให้เกิดความห่วงกังวลด้วยว่า กลุ่มผู้ที่ต้องการแยกตัวเป็นรัฐอิสระจากรัฐไทยจะฉวยใช้ข้อมูลข่าวสาร ภาพถ่าย คลิปวิดีโอเหตุการณ์ ความรุนแรง โดยเฉพาะในเหตุการณ์ที่รัฐไทยเป็นฝ่ายใช้ความรุนแรง ที่เกิดขึ้นในหลายปีที่ผ่านมา มาตัดตอนสร้างข้อมูลในลักษณะ disinformation/misinformation เพื่อเผยแพร่ข้อมูลที่บิดเบือนในเวทีนานาชาติ เพื่อให้ประชาคมโลกเข้ามากดดันให้รัฐไทยอาจต้องยอมทำตามข้อเรียกร้องของกลุ่มต่างๆ

เหตุการณ์เหล่านี้สุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งที่ไทยจะตกเป็นเหยื่อของการสงครามผสมผสานที่มีความซับซ้อนและยากที่จะเท่าทันและรับมือ

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save