fbpx

จากไครเมีย สู่ยูเครน: เปิดปมเบื้องหลังความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนระลอกใหม่

เป็นเวลากว่า 3 เดือนแล้วที่ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนปะทุขึ้นระลอกแล้วระลอกเล่า

แม้พอจะมีสัญญาณบวกบ้าง หลังโอลาฟ โซลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนีเดินทางเข้าเจรจากับวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ณ กรุงมอสโกเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2022 แต่อุณหภูมิความตึงเครียดบริเวณพรมแดนยูเครนก็ยังคงร้อนแรงอย่างไม่มีสัญญาณว่าจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติในเร็ววัน

ภาพการส่งกำลังทหารรัสเซียเข้าซ้อมรบในประเทศ ‘น้องรัก’ อย่างเบลารุส ภาพการเคลื่อนกำลังพลกองทัพรัสเซียราว 130,000 นายประชิดรอบพรมแดนยูเครน ‘น้องรักอีกคน’ ทั้งทางเหนือ ใต้ ตะวันออก และแหลมไครเมียราวกับว่าพร้อมบุกโจมตีหรืออาจกระทั่งผนวกยูเครนได้ทุกเมื่อ พร้อมเสียงประกาศเตือนการเปิดฉากโจมตียูเครนของรัสเซียจากวอชิงตันตีคู่ขนานไปกับภาพการเปิดโต๊ะเจรจาระหว่างรัสเซียและหลายประเทศมหาอำนาจโลกตะวันตกครั้งแล้วครั้งเล่า เล่นวนซ้ำไปมาจนดูเหมือนว่าแทบจะไร้สิ้นหนทางออกจากความตึงเครียด และใกล้จะลุกลามไปสู่วิกฤตการเมืองระหว่างประเทศอย่างเต็มขั้น

ในสายตาของหลายคน ฉากความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้น ณ ใจกลางยูเรเชียครั้งนี้คงหนีไม่พ้นภาพซ้อนทับของสภาวะสุ่มเสี่ยงเข้าสู่สงคราม

ณ เวลานี้ คงไม่มีคำถามไหนจะร้อนแรงไปกว่า “ปูตินจะสั่งบุกยูเครนหรือเปล่า” ต่อให้เครมลินจะออกมายืนยันแล้วว่าจะไม่มีการบุกโจมตียูเครนเกิดขึ้นก็ตาม

แต่คำถามสำคัญมีอยู่ว่า ที่จริงแล้วรัสเซียคิดอะไรอยู่? ตั้งใจจะทำสงครามจริงหรือไม่? ทำไมยูเครนถึงกลายเป็น ‘สนามอารมณ์’ ทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัสเซียและโลกตะวันตก? และทำไมรัสเซียมีท่าทีที่ดูเหมือนว่าจะ ‘ยอมไม่ได้’?

อะไรคือเบื้องหลังปมความขัดแย้งครั้งนี้?

What Does Putin Want?

แล้วสรุปว่าปูตินต้องการอะไรกันแน่?

หลายฝ่ายวิเคราะห์ตรงกันว่า ปูตินเลือกใช้ ‘หมาก’ การทหารในความขัดแย้งครั้งนี้เพื่อข่มขู่ สร้างเงื่อนไขบีบให้ยูเครน สหรัฐฯ และบรรดาชาติยุโรปตะวันตกยอมขึ้นโต๊ะเจรจาต่อรองข้อเสนอตามรัสเซียต้องการ โดยการใช้กำลังจะเป็นไพ่ตายใบสุดท้ายที่รัสเซียจะหยิบออกมาเล่น

อย่างไรก็ตาม ความสับสนวุ่นวายและคับข้องใจจากเกมการเมืองที่ไม่เป็นไปตามดั่งใจปูตินหวัง จนต้องระบายออกมาผ่านการเลือกใช้การทหารเดินเกมการเมืองครั้งนี้ไม่ได้มีชนวนจุดปะทุที่ชัดเจนนัก แต่มีการตั้งข้อสังเกตว่ามาจากความวิตกกังวลต่อการ ‘เอาใจออกห่าง’ จากรัสเซียของ ‘หลังบ้าน’ อย่างยูเครนที่สะสมมาอย่างยาวนาน และต่ออิทธิพลของรัสเซียต่อยูเครนที่ค่อยๆ จางหายไป อย่างที่เห็นได้จากคำกล่าวปูตินว่า “ยูเครนเริ่มกลายเป็นพวกต่อต้านรัสเซียไปแล้ว” หรือความพยายามเน้นย้ำสถานะของยูเครนอยู่ตลอดว่า “รัสเซียและยูเครนคือชาติเดียวกัน และคือคนเดียวกัน”

ความวิตกกังวลอย่างแรกมาจาก ความล้มเหลวในการใช้ ‘ข้อตกลงกรุงมินสก์’ (Minsk agreement) ปี 2015 ข้อตกลงสันติภาพที่พยายามสมานรอยแตกหักระหว่างรัสเซียและยูเครนหลังวิกฤตการแบ่งแยกดินแดนในภูมิภาคดอนบาส (Donbas) ทางภาคตะวันออกของยูเครนที่มีประชากรเชื้อสายรัสเซียจำนวนมากและต้องการไปอยู่กับรัสเซียตามรอยไครเมียในฐานะเขตอิสระปกครองตนเอง

ข้อตกลงดังกล่าวระบุว่า ยูเครนต้องเปิดให้มีการเลือกตั้งในภูมิภาคดอนบาส แต่คำมั่นสัญญาก็ลากยาวมาเป็นเวลากว่า 8 ปีโดยไม่มีทีท่าที่จะจัดการเลือกตั้งขึ้น ทั้งๆ ที่โวโลดีมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครนคนปัจจุบันชนะการเลือกตั้งเมื่อปี 2019 ด้วยวาระผลักดันข้อตกลงสันติภาพในดอนบาส สำหรับยูเครน ข้อตกลงอาจไม่เป็นที่น่าพอใจนักและเอื้อประโยชน์ไปทางรัสเซีย เสมือนว่ายอมให้มีม้าไม้โทรจันอยู่ในบ้าน แต่ในมุมของรัสเซีย ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ยูเครนต้องทำตามสัญญาที่ให้ไว้ และถึงเวลาแล้วที่ยูเครนต้องทำ

ส่วนความวิตกกังวลอย่างที่สอง ยูเครนเริ่มหันหาโลกตะวันตกในทางความมั่นคงมากยิ่งขึ้น ในช่วงครึ่งทศวรรษหลังที่ผ่านมา ยูเครนเริ่มมีความสัมพันธ์ทางความมั่นคงที่ใกล้ชิดองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือที่รู้จักกันดีในนามนาโต (NATO) มากยิ่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการให้ความร่วมมือยกระดับความสามารถทางการป้องกันและความมั่นคงของยูเครน การซ้อมรบร่วม หรือที่ส่งแรงเขย่าให้เครมลินได้แรงที่สุด คือการที่บรรดาประเทศโลกตะวันตกสมาชิกนาโตเริ่มแล่นเรือรบบริเวณแหลมไครเมีย หรือเริ่มขับเคลื่อนบินรบเหนือน่านฟ้าทะเลดำซึ่งเป็นเขตอิทธิพลสำคัญของรัสเซีย ที่สำคัญ ยูเครนเริ่มส่งสัญญาณว่าพร้อมเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโต และยังไม่นับอีกว่าการเมืองของเคียฟก็พยายามเอนหาโลกตะวันตกในหลายโอกาสอีกเช่นกัน

มองผ่านมุมรัสเซีย คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่านี่คือการเดินเกมการเมืองเพื่อเขย่าดุลอำนาจ ช่วงชิง และ ‘ทวงคืน’ อิทธิพลเหนือ ‘หลังบ้าน’ ของตนเอง กดดันยูเครนให้เอนเอียงกลับมาหาทางรัสเซียมากยิ่งขึ้น เป็นมิตรต่อเครมลินยิ่งขึ้น และข่มขู่ไม่ให้โลกตะวันตกอย่างสหรัฐฯ และพันธมิตรชาติยุโรปตะวันตกผิดสัญญาอีกต่อไปจากการแผ่ขยายอิทธิพลต่อไปทางยุโรปตะวันตะวันออก – เขตอิทธิพล (sphere of influence) เก่าของรัสเซียในสมัยสหภาพโซเวียตผ่านนาโตอีก จนรัสเซียต้อง ‘ถอยจนไม่รู้จะถอยยังไงแล้ว’ ในหลังบ้านของตนเองมาตลอดกว่า 30 ปีหลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย

แม้รัสเซียจะรอดตายมาจากการขยับขยายเขตอิทธิพลของนาโตมาแล้ว 4 ครั้งหลังบรรดารัฐยุโรปกลาง รัฐบอลติก และรัฐยุโรปตะวันออกเข้าร่วมพันธมิตรนาโต อย่างไรก็ตาม หากครั้งที่ 5 เกิดขึ้นในกรณีที่นาโตตอบรับยูเครน (แม้ว่าจะยังไม่มีสัญญาณที่ชัดเจนก็ตาม และพันธะจาก ‘การป้องกันร่วม’ ตามมาตราที่ 5 ในสนธิสัญญาอาจทำให้นาโตต้องไตร่ตรองอย่างหนัก) นั่นจะเท่ากับว่าจะมีปืนจ่อรออยู่ที่หลังบ้านรัสเซีย

แล้วรัสเซียจะยอมได้หรือ?

ในเมื่อนาโตคือภัยคุกคามความเป็นความตายทางความมั่นคงและการเมืองของรัสเซียที่กำลังรุกคืบเข้ามาใกล้ทางหลังบ้าน รัสเซียได้ยื่นคำขาดต่อนาโตและสหรัฐฯ ว่า นาโตต้องแช่แข็งการขยายสมาชิกภาพนาโตมาทางยุโรปตะวันออก หยุดและถอนการติดตั้งระบบอาวุธและโครงสร้างพื้นฐานทางความมั่นคงในกลุ่มประเทศอดีตรัฐสหภาพโซเวียตที่เป็นเขตอิทธิพลของรัสเซีย รวมทั้งประกันว่านาโตจะต้องไม่รับยูเครนเข้าเป็นสมาชิก – และข้อเสนอทั้งหมดนี้ต้องมีผลผูกพันทางกฎหมาย

รัสเซียต้องการเปลี่ยนและร่วมร่างโครงสร้างสถาปัตยกรรมความมั่นคงในยุโรป-ยูเรเชีย อย่างที่รัสเซียไม่เคยมีโอกาสในการร่วมกำหนดในอดีต แต่เมื่อสหรัฐฯ และนาโตปัดตกข้อการันตีความมั่นคง (Security Guarantee) ดังกล่าว รัสเซียต้องหยิบข้อเสนอขึ้นมาเจรจาให้บรรลุอีกครั้ง – พร้อมเอาปืนจ่อไปที่ยูเครนเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรอง

เพราะสำหรับปูติน ยูเครนคือ ‘Red Line’

Why ‘Ukraine’?

ทำไมยูเครนถึงเป็น ‘Red Line’ ที่รัสเซียจะต้องมีอิทธิพลเหนือให้ได้และยอมเสียไปไม่ได้?

แน่นอนว่าส่วนหนึ่งย่อมมาจากสายสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ที่เต็มไปด้วยทั้งรอยร้าวและความแนบแน่น หากมองผ่านความทรงจำของยูเครน ช่วงประวัติศาสตร์ภายใต้สหภาพโซเวียตอาจเต็มไปด้วยความเจ็บปวดจากการกดขี่ของระบอบคอมมิวนิสต์ และกระบวนการ Russification ที่กดทับอัตลักษณ์คนยูเครน ทางตะวันตกที่ไม่ได้ความเกี่ยวพันและความรู้สึกร่วมกับความเป็นรัสเซียอย่างคนยูเครนทางตะวันออก

แต่ในความทรงจำของรัสเซีย ยูเครนคือส่วนหนึ่งของ ‘โลกรัสเซีย’ ร่วมกับเบลารุส และเป็นต้นกำเนิดของรัสเซีย เพราะฉะนั้น หลังยูเครนได้รับเอกราช ช่วงเวลาที่ยูเครนพยายามออกห่างจากอิทธิพลทางการเมืองของรัสเซียด้วยการหันหาโลกตะวันตกเพื่อคานอำนาจจึงเป็นจังหวะที่รัสเซียต้องลงมาปรับวงโคจรของยูเครนไม่ให้ออกห่างจากอิทธิพลของรัสเซียเสมอ อย่างที่รัสเซียตัดสินใจผนวกไครเมียหลังการประท้วงยูโรไมดานในปี 2013 ที่ต่อต้านรัสเซียและสนับสนุนสหภาพยุโรป

ส่วนที่ชัดเจนที่สุด คงหนีไม่พ้นว่ายูเครนคือบริเวณที่รัสเซียมีผลประโยชน์มหาศาล

ในยุทธศาสตร์ความมั่นคง ยูเครนคือกันชนของรัสเซีย หากไร้กันชน หรือกันชนกลายเป็นปืนที่จ่อไปยังรัสเซียเอง นั่นย่อมทำให้รัสเซียตกอยู่ในอันตรายอย่างใหญ่หลวง และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น ยูเครนคือทางผ่านสำคัญของท่อก๊าซพลังงานจากรัสเซียสู่ยุโรปที่รัสเซียยังคงต้องพึ่งพา แม้ว่ารัสเซียกำลังมีแผนสร้างท่อส่งก๊าซใหม่ภายใต้โครงการ Nordstream 2 ที่ไม่ผ่านทางยูเครน แต่นั่นอาจทำให้อำนาจการต่อรองของยูเครนอ่อนแอลง และเพิ่มแต้มต่อให้แก่รัสเซีย

อาจโหดร้าย แต่ในเกมรักษาอิทธิพลของรัสเซีย ยูเครนจะหันหาโลกตะวันตกหรือตกเป็นเบี้ยในเกมช่วงชิงอิทธิพลของโลกตะวันตกไม่ได้

Why Now?

แล้วทำไมปูตินเพิ่งออกโรงตอนนี้?

ยูเครนมีสัญญาณตีออกห่างจากอิทธิพลรัสเซียมาพักใหญ่ แต่ไม่มีจังหวะทางภูมิรัฐศาสตร์ช่วงไหนแล้วที่ประจวบเหมาะสำหรับปูตินได้เท่าช่วงฤดูหนาวที่ผ่านมา

จังหวะแรก สหภาพยุโรปแตกคอกันเองเรื่องรัสเซีย เพราะแน่นอนว่าแต่ละรัฐย่อมมีผลประโยชน์และอำนาจต่อรองต่อรัสเซียที่ต่างกันไป ในขณะที่ Eastern bloc ในสหภาพยุโรป อย่างบางรัฐในยุโรปกลางหรือรัฐบอลติกที่มีประวัติศาสตร์บาดแผลกับเครมลินในอดีตพร้อมที่จะวางท่าทีแข็งกร้าวต่อรัสเซีย บางรัฐกลับมีนโยบายรอมชอมกับรัสเซียเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และพยายามแยกพันธมิตรอำนาจนิยมอย่างจีนออกจากรัสเซีย

ส่วนสองพี่ใหญ่แห่งสหภาพยุโรปอย่างฝรั่งเศสและเยอรมนีก็ยิ่งแล้วใหญ่ ทั้งสองต่างวางนโยบายต่อรัสเซียต่างกัน การพยายามวางแนวทางการเจรจาของอิมมานูเอล มาครงให้เป็นอิสระจากแนวทางของไบเดนที่จัดวางปูตินให้เป็นศัตรู อาจกร่อนความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของท่าทีโลกตะวันตกต่อรัสเซีย ในขณะที่เยอรมนีภายใต้โอลาฟ โชลซ์ แม้จะมีไพ่ Nordstream 2 ไว้เจรจาต่อรองกับรัสเซีย แต่ไพ่ใบนี้ก็อาจเป็นดาบสองคมได้เช่นกัน เพราะใช้ได้ทั้งสร้างแต้มต่อในการเจรจาว่า จะไม่ยอมให้รัสเซียเดินหน้าสร้างท่อส่งก๊าซหากรัสเซียตัดสินใจบุกยูเครนอย่างที่โชล์ซเพิ่งเจรจาไป หรืออาจโดนรัสเซียย้อนศรใส่ เพราะแน่นอนว่าเยอรมนีคือประเทศที่จะได้รับประโยชน์จากการเป็นศูนย์กลางของ Nordstream 2 มากที่สุด (ณ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ เยอรมนีประกาศหยุดโครงการ Nordstream 2 แล้วเรียบร้อย – ผู้เขียน)

และที่สำคัญ รัสเซียยังสามารถ ‘turn off the pipe’ ใส่สหภาพยุโรปได้เสมอ

จังหวะที่สอง อิทธิพลสหรัฐฯ ในการเมืองโลกไม่ได้อยู่ในสถานะที่เป็นต่อมากนัก ทั้งเพลี่ยงพล้ำจากวิกฤตในอัฟกานิสถาน และเบนความสนใจมุ่งไปทางอินโด-แปซิฟิกและการผงาดขึ้นของจีน นั่นหมายความว่ามีช่องว่างพอให้รัสเซียขยับได้ แม้วอชิงตันจะยังคอยย้ำว่า รัสเซียพร้อมจะบุกโจมตียูเครนเสมอ และพร้อมรับมือหากรัสเซียคิดจะเลือกทำสงคราม

แต่รัสเซียประเมินท่วงทำนองการเมืองโลกและจังหวะการเมืองของโลกตะวันตกได้ตรงดั่งใจหวังหรือไม่ นั่นก็ไม่มีอะไรประกันได้

แม้ในช่วงสองสามวันที่ผ่านมา การยอมถอนกำลังทหารบางส่วนและยอมเดินหน้าเจรจาทางการทูตของรัสเซียดูเหมือนจะผ่อนความร้อนแรงของอุณหภูมิลง และทำให้ความเป็นไปได้ในการเข้าสู่สงครามที่มีราคาต้องจ่ายสูงมากอยู่แล้วสำหรับทุกฝ่ายลดลงบ้าง แต่แน่นอนว่าวิกฤตชายแดนยูเครนยังไม่สิ้นสุด โจทย์ผ่อนคลายความตึงเครียดที่รออยู่ข้างหน้าก็ไม่ได้มีทางลงที่ง่ายดายนัก

หรือไม่ อุณหภูมิก็อาจจะกลับมาร้อนระอุยิ่งกว่าเดิม


หมายเหตุ: เขียนขึ้น ณ วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2022


อ้างอิง

What Putin Really Wants in Ukraine

Why Is Putin Acting Now?

Is a Russia-Ukraine war imminent?

Ukraine: Conflict at the Crossroads of Europe and Russia

Ukraine-Russia relations

On Putin’s Strategic Chessboard, a Series of Destabilizing Moves

เสวนาออนไลน์ในหัวข้อ “พินิจวิกฤตยูเครน: เรียนรู้อดีตเพื่อเข้าใจปัจจุบัน”

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save