fbpx

การไต่สวนสาธารณะเพื่อหาผู้รับผิดชอบนโยบายสู้ศึกไวรัสระบาดที่ผิดพลาดล้มเหลว

“ความเจ็บปวดโศกเศร้าในหมู่ญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิตจากโคโรนาไวรัสเป็นความรันทดใจที่ลงลึกมากกว่าความเศร้าเสียใจเมื่อนำไปเทียบกับความสูญเสียจากเหตุการณ์อื่นๆ”

ข้อความดังกล่าวเป็นบทสรุปจากผลงานวิจัยร่วมกันของมหาวิทยาลัยบริสตอลและคาร์ดีฟ เมื่อปลายปีที่แล้ว หลังจากที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 พุ่งทะยานถึงแสนคน (สหราชอาณาจักรนับผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 หากตรวจพบเชื้อบวกภายใน 28 วันก่อนตาย)

ในรายงานการวิจัยพบว่า มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ให้ข้อมูลบอกว่าญาติไม่มีโอกาสเข้าเยี่ยมและอำลาผู้ป่วยในวาระสุดท้ายก่อนสิ้นลม ซึ่งเป็นการทำร้ายจิตใจมากกว่าการสูญเสียจากโรคร้ายอื่นๆ ถ้าหากจะคำนวณคร่าวๆ ว่า ผู้เสียชีวิตคนหนึ่งจะมีญาติพี่น้องใกล้ชิดอย่างน้อยห้าถึงสิบคนทิ้งไว้ข้างหลัง พวกเขาต้องโศกเคร้าเสียใจเพียงใดเมื่อคนที่รักต้องจากไปอย่างโดดเดี่ยวและทุกข์ทรมาน  

นักวิจัยของทั้งสองสถาบันประมาณว่า อย่างน้อยต้องมีผู้คนโศกเศร้าสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักหลายแสนคนทั่วประเทศ และในจำนวนนี้ส่วนหนึ่งไม่สามารถปรับสภาพจิตใจรับมือกับความสูญเสียที่โหดร้ายนี้ พวกเขาคงสะสมความเจ็บปวดเก็บกดไว้ภายใน ทำให้สุขภาพทางจิตกระทบกระเทือนอย่างต่อเนื่องยาวนาน (perpetual state of Covid trauma)

ผู้เสียหายจำนวนหนึ่งได้รวมตัวกันก่อตั้งกลุ่มรณรงค์ Covid-19 Bereaved Families for Justice เรียกร้องให้หน่วยงานสาธารณสุขและมูลนิธิการกุศลให้ความช่วยเหลือดูแลสุขภาพจิตของผู้สูญเสีย จนกระทั่งมีการจัดตั้งสายด่วนและหน่วยงานให้คำปรึกษา โดยเปิดแอปพลิเคชันมีทีมจิตแพทย์คอยสนับสนุนให้คำแนะนำ และมีการตั้งกองทุนช่วยเหลือครอบครัวที่สูญเสียผู้นำที่หาเงินเลี้ยงดูครอบครัว

ขณะเดียวกันสมาชิกของครอบครัวผู้สูญเสียได้เรียกร้องตั้งคำถามว่าใครจะต้องรับผิดชอบต่อความผิดพลาดล้มเหลวจนทำให้ผู้คนล้มตายมากเป็นอันดับ 7 ของโลกและเป็นอันดับต้นๆ ของยุโรป ซึ่งพวกเขาบอกว่านี่ไม่ใช่เรื่องของตัวเลขสถิติ เพราะว่าผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 หนึ่งคน มีผู้ต้องสูญเสียที่ยังมีลมหายใจแต่ถูกทำร้ายจิตใจอย่างต่อเนื่อง ทั้งหมดนี้มีการสรุปบทเรียนอะไรบ้าง เพื่อจะไม่ให้เกิดความเจ็บปวดไปมากกว่านี้ พวกตนไม่อยากให้เกิดกับครอบครัวอื่นๆ  

ดังนั้นท้ายที่สุดแล้ว ใครจะต้องรับผิดชอบ….

ครอบครัวผู้สูญเสีย และประเทศชาติต้องการคำตอบ

กระแสเรียกร้องจากครอบครัวผู้สูญเสีย จากบุคลากรทางการแพทย์ จากกรรมาธิการสภาฯ และจากพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ทำให้นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน จำใจต้องประกาศในสภาเมื่อเร็วๆ นี้ว่า จะกำหนดให้มีการจัดตั้ง ‘กระบวนการไต่สวนสาธารณะ’ (public inquiry) โดยใช้อำนาจตามกฎหมายที่เรียกว่า Inquiry Act 2005 มีขอบเขตการไต่สวนอย่างอิสระ กว้างขวาง ตอบคำถามต่างๆ ได้ทุกคำถาม โดยเฉพาะผลกระทบจากนโยบายของรัฐบาล

ตามกฎหมายฉบับนี้ คณะกรรมการไต่สวนมีอำนาจขอเอกสารจากหน่วยงานต่างๆ เรียกผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายรวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐ รัฐมนตรีหรือนักการเมืองที่เกี่ยวข้องมาให้ปากคำต่อหน้าคณะกรรมการ โดยต้องสาบานตนก่อนตอบคำถาม (ในการไต่สวนสาธารณะบางกรณีในอดีตเปิดให้สื่อมวลชนเข้าไปถ่ายทอดสดและรายงานข่าวได้)

ในอดีตมีการไต่สวนสาธารณะในประเด็นการเมืองสำคัญหลายประเด็น อย่างเช่น The Bloody Sunday Inquiry กรณีทหารอังกฤษสังหารผู้ประท้วงในไอร์แลนด์เหนือ, Chilcot Inquiry กรณีอังกฤษเข้าร่วมสหรัฐในสงครามอิรัก, The Leveson Inquiry กรณีสื่อมวลชนละเมิดจริยธรรม และล่าสุด The Grenfell Inquiry กรณีไฟไหม้อาคารขนาดใหญ่ในลอนดอนที่มีคนตายจำนวนมาก เป็นต้น

แต่นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ขยักไว้ขอให้เริ่มการไต่สวนสาธารณะต้นปีหน้า โดยขอเวลาให้โรคระบาดทุเลาลงก่อน ซึ่งทำให้เกิดปฏิกิริยาโต้แย้งอย่างรุนแรงจากหลายฝ่าย อย่างเช่น เซอร์เจเรมี ฟาเรอร์ กรรมการอาวุโสท่านหนึ่งของทีมงานที่ปรึกษาทางวิทยาศาสตร์ในภาวะวิกฤต (Scientific Advisory Group for Emergencies – SAGE) ให้ความเห็นต่อสื่อมวลชนสวนทางออกมาว่า การเลื่อนกำหนดการไต่สวนสาธารณะออกไปถึงปีหน้าถือว่าเป็นความอัปยศของนักการเมือง เพราะไม่มีเหตุผลใดๆ นอกจากจะเป็นการเล่นการเกมการเมือง เซอร์เจเรมีเชื่อว่า การตัดสินนโยบายหลายอย่างของบอริส จอห์นสันโดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปีที่แล้ว ตนถือว่าเป็นเรื่องผิดพลาดที่ ‘ไม่น่าอภัย’

เซอร์เจเรมี กล่าวว่า วิกฤตการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนี้คร่าชีวิตผู้คนจำนวนมากเพราะความล่าช้าในการประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ครั้งที่สอง ทั้งๆ ที่รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบได้รับข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มากมายที่บ่งชี้ว่าจะทำให้คนตายเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องไต่สวนโดยเร็ว “ทุกคนต้องเรียนรู้จากความผิดพลาด เราต้องให้เกียรติผู้เสียชีวิต ด้วยการประกาศว่าเราจะยอมรับความผิดพลาดที่ทำให้พวกเขาเสียชีวิต”

ส่วน โจ กูดแมน ซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มญาติของผู้เสียชีวิต และเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มรณรงค์ Covid-19 Bereaved Families for Justice ที่กำลังเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรม ได้ออกคำแถลงว่า หลังจากเรียกร้องมานานพวกตนรู้สึกโล่งอกที่นายกรัฐมนตรีประกาศให้จัดตั้งการไต่สวนสาธารณะ จากนี้ไปพวกตนจะเฝ้าดูการวางแนวไต่สวนเพื่อสร้างความมั่นใจว่า ผลสรุปจะตอบคำถามได้ทุกคำถาม

โจ กูดแมนเรียกร้องด้วยว่าประการแรกสุดเลย ญาติพี่น้องของเหยื่อโควิด-19 จะต้องมีส่วนร่วมมีสิทธิมีเสียงในการคัดเลือกแต่งตั้งประธานคณะกรรมการไต่สวน ในการกำหนดแนวคำถามและในการกำหนดกรอบการอ้างอิง (term of reference – TOR) ของกระบวนการไต่สวนครั้งนี้ นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้เริ่มการไต่สวนโดยเร็ว เพื่อสรุปบทเรียนวางมาตรการป้องกันความผิดพลาด รักษาชีวิตผู้คน ยิ่งเร็วยิ่งดี

เช่นเดียวกันบุคลากรทางการแพทย์ นำโดย British Medical Association (BMA) ที่มีแพทย์ทั่วประเทศเป็นสมาชิก ก็เรียกร้องให้เร่งการไต่สวนโดยเร็วเช่นกัน นายแพทย์ Chaand Nagpaul นายกสมาคมแพทย์ แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า เป็นที่น่ายินดีที่นายกรัฐมนตรีประกาศว่าการไต่สวนครั้งนี้จะต้องดำเนินการอย่างรอบด้าน ครอบคลุมและโปร่งใสตรงไปตรงมา แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ทั้งบุคลากรทางสาธารณสุขด่านหน้าและญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิตจะต้องรอไปจนถึงต้นปีหน้า ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่าทุกวันนี้ผู้ปฏิบัติหน้าที่ด่านหน้าจำนวนมากต้องเอาชีวิตเข้าเสี่ยงอยู่ทุกนาที และที่ได้รับเชี้อไวรัสเสียชีวิตไปแล้วก็หลายร้อยคน ยิ่งเราเรียนรู้จากความผิดพลาดและสรุปบทเรียนได้เร็วเท่าไร ก็ยิ่งจะช่วยรักษาชีวิตแพทย์และพยาบาลได้มากเท่านั้น

ในสหราชอาณาจักร มีการไต่สวนสาธารณะหลายรูปแบบ และดำเนินการไปตามเสียงเรียกร้องของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุร้ายแรงต่างๆ หรือจากพรรคการเมืองหรือ ส.ส. หลังจากเกิดเหตุความขัดแย้งทางการเมืองจนเกิดความรุนแรงที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต เพื่อหาผู้รับผิดชอบ ในอดีตที่ผ่านมามักจะมีการแต่งตั้งผู้พิพากษาอาวุโสที่มีชื่อเสียงอันเป็นที่ยอมรับในสังคมในเรื่องความเที่ยงธรรม มาเป็นประธานคณะกรรมการและดำเนินกระบวนการไต่สวนได้อย่างอิสระจากรัฐบาล

การไต่สวนสาธารณะในประเด็นสำคัญที่มีกฎหมายหนุนหลัง คือการไต่สวนตามกฎหมาย Inquiry Act 2005 ซึ่งนายก รัฐมนตรีบอริส จอห์นสันประกาศว่าจะนำมาใช้ตรวจสอบความผิดพลาดกรณีการรับมือโควิด-19 ระบาดคราวนี้

บทบาทของการไต่สวนสาธารณะคือตอบคำถามหลักๆ สามประการ

  • เกิดอะไรขึ้น โดยรวบรวมข้อมูลทั้งหมดมาแยกแยะแจกแจง
  • เกิดขึ้นได้อย่างไร ค้นหาต้นเหตุที่ทำเกิดเหตุร้าย และจะต้องมีใครต้องรับผิดชอบหรือไม่
  • จะต้องวางมาตรการอย่างไรเพื่อป้องกันมิให้เหตุร้ายเกิดขึ้นอีกในอนาคต สรุปบทเรียนจากความผิดพลาด และวางแนวปฏิบัติสำหรับอนาคต

ตามปกติบทสรุปของการไต่สวนสาธารณะจะตีพิมพ์ออกมาเป็นรายงานที่เป็นลายลักษณ์อักษร โดยประธานจะส่งให้รัฐบาลก่อนแล้วจะตีพิมพ์เปิดเผยต่อสาธารณชน

นอกจากกลุ่มญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิตต้องการคำตอบว่า เกิดความผิดพลาดที่ไหนอย่างไรในการกำหนดนโยบาย และการเลือกใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญที่อยู่ในคณะกรรมการที่ปรึกษาต่างๆ นำเสนอแล้ว ทำไมจึงมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ก็ยังมีกลุ่มต่อต้านคอร์รัปชัน องค์การตรวจสอบความโปร่งใสภาครัฐ เฝ้าจองกฐินติดตามประเด็นการจัดซื้อจัดจ้างอุปกรณ์ทางการแพทย์ PPE ที่พบว่าได้ของมาล่าช้าบ้าง ได้สินค้าราคาแพงแต่คุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานต้องโยนทิ้งไป จนหมอในบางโรงพยาบาลต้องควักกระเป๋าซื้อ PPE ที่มีคุณภาพมาใช้เอง และการเลือกใช้บริษัทเอกชนเข้ามาทำโครงการ Test and Trace ที่มีมูลค่าแพงมหาศาลแต่ไร้ประสิทธิภาพ ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง

องค์การ Transparency International UK ตั้งข้อสังเกตว่า กระบวนวิธีการจัดซื้อจัดจ้างหลายโครงการมีพิรุธ ได้สินค้าแพงแต่คุณภาพต่ำ และมีเงื่อนงำว่าเป็นการเอี้อประโยชน์ให้นักวิ่งเต้นที่สามารถเข้าถึงนักการเมืองในรัฐบาลของบอริส จอห์นสัน โดยประเมินว่าสัญญาจัดซื้อจัดจ้างถึง 20% ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤศจิกายนปีที่แล้ว มีเงื่อนงำที่จะต้องถูกตรวจสอบให้ชัดเจน เพราะอุปกรณ์ทางการแพทย์มาตรฐานต่ำอาจจะเป็นสาเหตุให้บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าต้องเสี่ยงภัยถึงขั้นเสียชีวิต

จนบัดนี้ยังไม่มีท่าทีว่านายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน จะยอมเปลี่ยนท่าทีเลื่อนกำหนดการไต่สวนสาธารณะให้เร็วขึ้นตามกระแสเรียกร้องของญาติผู้เสียหายและบุคคลากรทางการแพทย์ แต่นับจากนี้ไปคงมีแรงกดดันมากขึ้นตามลำดับ เมื่อนิโคลา สเตอร์เจิน นายกสภาบริหารแคว้นสก็อตแลนด์ประกาศเมื่อปลายเดือนสิงหาคมนี้ว่า ได้เริ่มหารือกับอัยการสูงสุดของสก็อตแลนด์ เพื่อขอให้มีการแต่งตั้งผู้พิพากษาอาวุโสท่านหนึ่งขึ้นมาเป็นประธานคณะกรรมการไต่สวนสาธารณะสถานการณ์โควิด-19 ในแคว้นสก็อตแลนด์ โดยขอให้เริ่มดำเนินการโดยเร็วที่สุด

การเปิดเกมไต่สวนสาธารณะโดยเร็วของสก็อตแลนด์ จึงสร้างแรงกระเพื่อมไปถึงแคว้นเวลส์ ไอร์แลนด์เหนือ และทำเนียบรัฐบาลสหราชอาณาจักรที่ถนนดาวนิงในลอนดอนว่าจะยังคงนิ่งเฉยต่อไปได้อีกนานแค่ไหน

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save