fbpx

ภัยพิบัติโลกร้อนพ่นพิษใส่เจ้าภาพ COP 26 ถึงคราวปราการ Thames Barrier จะต้านไม่อยู่

“สหราชอาณาจักรไม่มีความพร้อมในการรับมือกับแรงกระแทกจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”

เป็นข้อสรุปจากการศึกษาของหน่วยงาน UK Environment Agency ที่ตีพิมพ์เปิดเผยออกมาเมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา พร้อมกับคำเตือนว่า ภาวะการแปรปรวนอย่างรุนแรงและฉับพลันของภูมิอากาศจะสร้างความเสียหายทางทรัพย์สินและชีวิตเป็นจำนวนมากในอนาคตอันใกล้นี้ ถ้ายังไม่ยอมปรับเปลี่ยนก็เตรียมรับกับความตาย

‘Adapt or die’ เป็นคำเตือนที่จั่วหัวในรายงานการศึกษาครั้งนี้

เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในเยอรมนีและยุโรปตะวันตกเมื่อเดือนกรกฎาคมปีนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบสองร้อยคน ซึ่งเป็นสิ่งที่คาดไม่ถึงว่าประเทศที่มีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ในยุโรปก็ยังตั้งหลักไม่ทัน และหายนะนี้กำลังจะเกิดขึ้นในสหราชอาณาจักร เพราะจะเกิดน้ำท่วมใหญ่ในระดับที่รุนแรงมากกว่าด้วย ทำให้ UK Environment Agency ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระออกคำเตือนว่า “จวบถึงวันนี้ก็ถือว่าอาจจะช้าเกินไปหากว่าหน่วยงานภาครัฐ ธุรกิจอุตสาหกรรมและชุมชนยังไม่ยอมรับความจริงแล้วเริ่มปฏิบัติการตั้งแต่วันนี้ เพราะไม่เพียงปริมาณน้ำฝนที่บางครั้งตกกระหน่ำอย่างฉับพลัน แต่ยังมีระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นทั่วโลกเพราะภูเขาน้ำแข็งขั้วโลกละลาย ซึ่งกำลังคุกคามชุมชนริมชายฝั่งของเกาะต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งเกาะอังกฤษ”

หลังจากมีการตีพิมพ์ผลการศึกษาเมื่อกลางเดือนที่ผ่านมาทำให้สื่อมวลชนพุ่งความสนใจไปที่มาตรการป้องกันน้ำท่วมตามแนวชายฝั่งทะเล และขีดความสามารถของ Thames Barrier ปราการสำคัญที่ป้องกันน้ำทะเลหนุนให้แก่เมืองหลวงและเขตเศรษฐกิจสำคัญของประเทศได้มายาวนานหลายสิบปี ถึงคราวจะ ‘เอาไม่อยู่’ และก็ไม่น่าแปลกใจมากนักที่ UK Environment Agency เลือกจังหวะตีพิมพ์คำเตือนสะเทือนขวัญนี้ออกมาเพียงสองสัปดาห์ก่อนที่บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศ COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคมถึง 12 พฤศจิกายนนี้

Thames Barrier (ที่มาภาพ)

ในอังกฤษเมื่อกว่า 50 ปีก่อนเคยเกิดภัยพิบัติน้ำท่วมใหญ่เพราะคลื่นพายุหนุนน้ำทะเล (storm surge) กระหน่ำชายฝั่งอังกฤษ ทำให้เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่มีคนตายกว่าสามร้อยคน เศรษฐกิจของเมืองหลวงพังทลาย ทำให้มีการลงทุนสร้างระบบป้องกันชายฝั่งหลายแห่ง และที่เด่นที่สุดคือ Thames Barrier ประตูน้ำกั้นช่องแคบปากแม่น้ำด้านทิศตะวันออกของลอนดอน ทำหน้าที่เปิดปิดควบคุมระดับน้ำไม่ให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ลอนดอนมาได้ยาวนาน จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของลอนดอน

ตลอดเวลาที่ผ่านมา Thames Barrier ซึ่งเป็นเขื่อนประตูน้ำขนาดความยาว 520 เมตรกั้นช่องแคบปากแม่น้ำ ทำหน้าที่ปกป้องเขตเศรษฐกิจสำคัญของลอนดอนกว่า 125 ตารางกิโลเมตร เมื่อเกิดน้ำทะเลหนุนสูงอย่างได้ผลมาหลายสิบปี อย่างไรก็ตามหากว่าวิกฤตสภาพภูมิอากาศยังคงเพิ่มระดับความรุนแรงมากขึ้นในระดับที่มีการคิดคำนวณกัน ในอนาคตอันใกล้ปราการแห่งนี้จะไม่สามารถกั้นเปิด-ปิดระบายมวลน้ำที่ยกระดับสูงขึ้นมาตามลำดับ ซึ่งจากการคำนวณของ UK Environment Agency ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นระหว่าง 23-29 เซนติเมตรภายใน 30 ปีข้างหน้า

เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาหน่วยงาน NASA ของสหรัฐได้ตีพิมพ์ภาพถ่ายทางอากาศพื้นที่บางส่วนของลอนดอนซึ่งประเมินกันว่าจะเกิดน้ำท่วมถี่มากขึ้นเพราะระดับน้ำของแม่น้ำเทมส์จะล้นตลิ่งเป็นระยะๆ ติดต่อกัน และเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมามีภาพข่าวครึกโครมเกี่ยวกับน้ำท่วมย่านธุรกิจสำคัญเช่น Knightbridge และห้างสรรพสินค้า Westfield รวมไปถึงสถานีรถไฟใต้ดินบางแห่งของลอนดอน

เมื่อเร็วๆ นี้สภาบริหารกรุงลอนดอนได้เปิดกระบวนการประชาพิจารณ์ตลอดแนวแม่น้ำเทมส์ถึงผลดีผลเสียของการยกระดับแนวป้องกันน้ำท่วมให้สูงขึ้นอย่างน้อยหนึ่งเมตรในบางพื้นที่ เช่น ใจกลางศูนย์การเงิน City of London และสร้างเพิ่มเติมในบางพื้นที่ซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่จะมีผลต่อทัศนียภาพตลอดริมฝั่งแม่น้ำ

ไม่เฉพาะลอนดอนที่เป็นกล่องดวงใจทางเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักร ยังมีหลายๆ ส่วนของประเทศในรอบหลายปีที่ประสบกับภัยพิบัติโดยเฉพาะน้ำท่วมฉับพลันถี่มากขึ้น เช่น ภูมิภาคยอร์กเชอร์ ในบางเมืองบริษัทประภัยภัยอสังหาริมทรัพย์ไม่ยอมรับประกันภัยน้ำท่วม หลังจากเกิดภาวะน้ำท่วมฉับพลันและภัยแล้งสลับกันถี่มากขึ้น บางทีน้ำมากเกินไป บางทีน้ำน้อยเกินไป ในบางฤดูและในบางพื้นที่

ในรายงานของ UK Environment Agency ระบุด้วยว่า สหราชอาณาจักรต้องการน้ำจืดเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 3.4 พันล้านลิตรในช่วงสามสิบปีข้างหน้าสำหรับกรองเป็นน้ำประปาเพื่อรับกับการขยายตัวของประชากร แต่ทว่าแหล่งน้ำจืดหลายแห่งปนเปื้อนไปด้วยมลภาวะและระดับอุณหภูมิที่สูงมากขึ้นในช่วงฤดูร้อนจะทำให้ปริมาณน้ำฝนลดน้อยลงไปประมาณ 15% ในช่วงสามสิบปีข้างหน้า

หน่วยงานอีกแห่งหนึ่งที่มีหน้าที่ศึกษาและทำรายงานเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศคือกรมอุตุฯ ของสหราชอาณาจักรที่ตีพิมพ์รายงานการพยากรณ์อากาศ โดยล่าสุดได้ตีพิมพ์รายงานประเมินว่า ภายในปี ค.ศ. 2050 ฤดูร้อนของอังกฤษจะรุนแรงมากขึ้นหากยังมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่อากาศในระดับที่เป็นอยู่ขณะนี้ อุณหภูมิโดยเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้น 1.3 ถึง 1.7 องศา ซึ่งจะสร้างความแปรปรวนให้กับสภาพอากาศของประเทศ จะเกิดสภาพอากาศแห้งแล้งรุนแรงในฤดูร้อนและฝนตกมากขึ้นในฤดูหนาว

นอกจากมนุษย์ที่จะได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงแล้ว ปศุสัตว์ก็เสียหายด้วยเช่นกัน เมื่อวัวนมต้องทนกับสภาพอากาศร้อนเป็นเวลานานติดต่อกันหลายสัปดาห์ก็จะเกิดความเครียดแล้วทำให้แม่วัวผลิตนมได้น้อยลง และอ่อนแอ เสี่ยงกับการติดเชื้อโรค ภาคการเกษตรก็จะเสียหาย ผลผลิตอาหารตกต่า อากาศร้อนเกินควรก็ทำให้ผลผลิตการเกษตรเสียหายโดยเฉพาะในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ

นักวิจัยของกรมอุตุฯ อธิบายต่อว่า สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนทำให้ฤดูร้อนอากาศจะร้อนจัด เวลาฝนตกก็จะตกหนักแบบฉับพลัน มีพายุฟ้าคะนอง โดยเฉพาะในเขตเมืองใหญ่ที่ท่อระบายน้ำระบบเก่าแก่จะระบายไม่ทันและเกิดน้ำท่วมในเขตธุรกิจการค้าสร้างความเสียหาย พอเข้าฤดูหนาว อากาศก็จะไม่หนาวและมีหิมะตกตามฤดูกาลแบบที่เคยเป็นมา แต่กลายเป็นฤดูหนาวที่มีอากาศอุ่นและมีฝนตกหนักเป็นช่วงๆ

ศ.โรวัน ซัตตัน ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของสถาบัน National Centre for Atmospheric Science กล่าวว่าที่เป็นข่าวร้ายก็คือการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นและความเสียหายที่ประเมินไว้ตามหลักการคำนวณทางวิทยาศาสตร์นี้ถูกล็อกเป้าเอาไว้แล้ว เพราะปริมาณก๊าซคาร์บอนที่ปล่อยออกสู่บรรยากาศไปแล้วในช่วงนับสิบปีที่ผ่านมาได้เริ่มแสดงให้เห็นพิษสงออกมาเป็นระยะๆ  

ดังนั้นความพยายามใดๆ หรือมาตรการใดๆ ที่มนุษย์กำลังจะประกาศบังคับออกมาในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทุกวันนี้จะไม่มีผลในการลดความเสียหายที่กำลังทยอยเกิดขึ้นในอีก 20 หรือ 30 ปีข้างหน้านี้ แม้ว่าผู้นำประเทศใหญ่ๆ ทั่วโลกที่กำลังหอบเอกสารมาประชุม COP26 ที่กลาสโกว์เดือนพฤศจิกายนนี้จะยอมตกลงตามข้อเสนอแนะของ UN ได้ก็ตาม แต่ล่าสุดสำนักข่าวบีบีซีเพิ่งได้รับเอกสารปกปิดที่รั่วไหลโดยมีข้อมูลระบุว่า ผู้นำบางประเทศที่เสพติดพลังงานน้ำมันและถ่านหินกำลังล็อบบี้ขอให้ UN ปรับเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยวิ่งเต้นขอไม่ให้ลดต่ำลงตามที่นักวิทยาศาสตร์ได้คำนวณขีดเส้นอันตรายไว้

ขณะนี้ทั่วโลกกำลังพุ่งความสนใจดูท่าทีต่างๆ ของผู้นำประเทศที่กำลังมาประชุมที่เมืองกลาสโกว์ เพราะเป็นความหวังสุดท้ายของชาวโลกที่จะผูกมัดประเทศต่างๆ ให้กำหนดตัวเลขลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามข้อแนะนำของนักวิทยาศาสตร์ถ้าหากจะลดทอนหายนะจากภัยพิบัติธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกวัน โดยจะมีตัวแทนจากกว่า 200 ประเทศที่มาร่วมประชุม พวกเขาจะต้องยื่นแผนงานที่จะลดก๊าซเรือนกระจกและต้องมีผลผูกพันเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศให้ได้ ทั้งนี้ทาง UN ต้องการให้มีเป้าหมายร่วมกันว่าจะลดอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลก ไม่ให้ร้อนเกิน 1.5 องศาเซลเซียส นับจากระดับเฉลี่ยก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม

ในฐานะเป็นเจ้าภาพและเป็นประเทศแรกที่ริเริ่มการปฎิวัติอุตสาหกรรม รัฐบาลสหราชอาณาจักรประกาศแล้วว่าต้องการให้ประเทศต่างๆ ที่มาร่วมประชุมยอมรับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกลงขนาดใหญ่ภายในปี 2030 ด้วยการค่อยๆ ยกเลิกการผลิตไฟฟ้าด้วยน้ำมันและถ่านหิน หันไปใช้พลังงานหมุนเวียน (renewable energies) เช่น พลังลมและแสงแดด กำหนดเป้าหมายให้ใช้พลังงานไฟฟ้ากับยานยนต์ด้วยการกำหนดเส้นตายยกเลิกการผลิตยานยนต์ที่ใช้น้ำมัน ขยายพื้นที่สีเขียวด้วยการปลูกป่า และพัฒนาการใช้พลังงานสะอาดเช่นพลังงานจากไฮโดรเจน ทั้งนี้สหราชอาณาจักรได้ตั้งเป้าไว้ว่าจะเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (net zero emission) ภายในปี 2050

ดูเหมือนว่ารัฐบาลของนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน มีความมุ่งมั่นตั้งใจสูงที่จะปรับลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยมีการประกาศมาตรการหลายอย่างออกมาแล้ว เช่น การตั้งกองทุนอุดหนุนครัวเรือนให้เปลี่ยนระบบการทำความร้อน (heating boiler) ให้ใช้ระบบใหม่ที่ไม่ต้องใช้ก๊าซ ออกมาตรการยกเลิกโรงงานผลิตไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหิน เพิ่มการลงทุนระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังลมและคลื่นทะเล รวมไปถึงการเร่งรัดกำหนดวันให้ยกเลิกการผลิตรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน  

อย่างไรก็ตาม อาการตื่นรู้ภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของนายกรัฐมนตรีพรรคคอนเซอร์เวทีฟที่มักจะแนบแน่นกับกลุ่มธุรกิจพลังงานใหญ่ๆ คราวนี้จะเท่าทันกับความเสียหายต่อทรัพย์สินและชีวิตมนุษย์ที่ถูกล็อกเป้าให้เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ได้มากน้อยแค่ไหน หรือเป็นเพียงแค่สัญชาตญาณของนักการเมืองที่มองเห็นว่า green policy กำลังจะเป็นกลยุทธ์เรียกคะแนนนิยมจากคนหนุ่มสาวเมื่อถึงเวลาเลือกตั้งครั้งใหม่ในอีกสองปีข้างหน้า

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

17 Jul 2020

ร่วมรากแต่ขัดแย้ง ความบาดหมางระหว่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย

อรอนงค์ ทิพย์พิมล เขียนถึงความขัดแย้งระหว่างประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย ที่ทั้งสองประเทศมีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมร่วมกันหลายอย่าง จนนำไปสู่ความขัดแย้งในการช่วงชิงความเป็นเจ้าของภาษาและวัฒนธรรมมลายู

อรอนงค์ ทิพย์พิมล

17 Jul 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save