fbpx

มรสุมปลายปีถล่มนายกฯ บอริส จอห์นสัน เมื่อ Golden Boy ส่ออาการ ‘ทองลอก’

กลางเดือนธันวาคมเมื่อ 2 ปีที่แล้ว (2019) พรรคคอนเซอร์เวทีฟชนะเลือกตั้งทั่วไปอย่างถล่มทลาย ได้ ส.ส. เข้าสภาเกินกึ่งหนึ่งกว่าแปดสิบเสียง ถือว่าเป็นชัยชนะประวัติศาสตร์นับตั้งแต่ยุคของสตรีเหล็กอย่างมาร์กาเรต แทตเชอร์ เป็นต้นมา และบอริส จอห์นสัน ผู้มีผมสีทองยุ่งเหยิงเตะตาในฐานะหัวหน้าพรรคก็ได้รับการยกย่องจากกองเชียร์ สมาชิกพรรค และสื่อมวลชนฝ่ายนิยมขวา ถือว่าเป็น Golden Boy ของพรรคคอนเซอร์เวทีฟ ซึ่งน่าจะมีเสถียรภาพและมั่นคงเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีกหลายสมัยเหมือนยุคทองของสตรีเหล็กเมื่อกว่าสามสิบปีที่แล้ว

ทว่าในช่วง 3-4 สัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดกระแสปั่นป่วนในวงการเมืองกระทบตัวนายกฯ ผู้มีผมทองเหมือนมีพายุทอร์นาโดกระหน่ำเป็นระลอก จนดูเหมือนว่าทองที่ชุบตัวนายกฯ ส่ออาการ ‘ทองลอก’ ออกทีละชั้นๆ ถึงขั้นมีการตั้งคำถามกันดังๆ ในหมู่ ส.ส. อาวุโสของพรรครัฐบาลว่า ถึงเวลาเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคกันหรือยัง เพราะเกิดอาการตกอกตกใจกันขึ้นมาว่าบอริส จอห์นสันจะพาพรรคคอนเซอร์เวทีฟพ่ายแพ้การเลือกตั้งทั่วไปซึ่งมีกำหนดอีก 2-3 ปีข้างหน้า

ที่เกิดอาการตื่นตระหนกกันก็เพราะว่า ในการเลือกตั้งซ่อมที่เขต North Shropshire เมื่อกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ปรากฏว่าผู้สมัครพรรคคอนเซอร์เวทีฟพ่ายแพ้การเลือกตั้งอย่างย่อยยับ ทั้งๆ ที่ในประวัติศาสตร์ของเขตการเลือกตั้งนี้เป็น safe seat ที่พรรคคอนเซอร์เวทีฟผูกขาดชนะมาตลอด เรียกว่าเอาเสาโทรเลขลงสมัครก็ชนะมาเป็นเวลายาวนานเกือบ 200 ปีแล้ว (เทียบมิติเวลาก็ประมาณตั้งแต่ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์) นับว่าเสียหายและน่าขายหน้ามาก ขนาดนักวิชาการดังที่ทำโพลยังประเมินว่าเป็นแผ่นดินไหวทางการเมืองขนาด 7.5 ริกเตอร์

นอกเหนือจากกรณีการพ่ายแพ้เลือกตั้งซ่อม ซึ่งถือว่าเป็นพายุหมุนลูกใหญ่ที่แสดงให้เห็นเป็นรูปธรรมถึงความรู้สึกเบื่อหน่ายต่อลีลาการบริหารประเทศของบอริส จอห์นสัน ยังมีมรสุมอีกหลายลูกก่อตัวมาตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน และยังมีระเบิดเวลาที่รอจังหวะสำคัญในกลางปีหน้า ซึ่งอาจจะเป็นจุดเปลี่ยนทิศทางการเมืองครั้งสำคัญของสหราชอาณาจักรก็เป็นได้ ตลอดช่วง 3-4 สัปดาห์ที่ผ่านมา บอริส จอห์นสันและทีมงานที่ทำเนียบหมายเลขสิบถนนดาวนิง โดนพายุข่าวร้ายๆ โหมกระหน่ำอย่างต่อเนื่อง และดูเหมือนว่าเป้าหมายของการวิพากษ์วิจารณ์พุ่งตรงไปที่ตัวนายกรัฐมนตรีในเรื่องพฤติกรรมส่วนตัว บุคลิก ความโปร่งใสตรงไปตรงมา ความซื่อสัตย์ ความซื่อตรง (honesty and integrity) ซึ่งผู้มีสิทธิเลือกตั้งถือว่าเป็นคุณสมบัติสำคัญของผู้นำทางการเมือง 

น่าสังเกตว่าประเด็นคุณสมบัติสำคัญของผู้นำการเมืองนี้ สื่อมวลชนในสหราชอาณาจักรไม่ว่านิยมซ้ายหรือขวาต่างถือว่าเป็นเรื่องที่ยอมความกันไม่ได้ แม้หนังสือพิมพ์ที่สนับสนุนพรรคคอนเซอร์เวทีฟมาตลอดยังกัดไม่ปล่อย เพราะผลประโยชน์สาธารณะสำคัญมากกว่าความนิยมเลือกข้างทางการเมือง กรณีความซื่อสัตย์และความซื่อตรงกลายเป็นประเด็นที่สื่อตอกย้ำนำมาวิจารณ์อย่างไม่หยุดหย่อน 

ในบริบทของสื่อสหราชอาณาจักร ถ้าเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ก็มักจะเลือกข้างทางการเมืองแบบในหลายๆ ประเทศ แต่ถ้าเป็นสื่อ broadcast คือวิทยุและโทรทัศน์ เมื่อเป็นรายการข่าวประเภท news and current affairs ก็จะถูกกำกับดูแลโดย Ofcom หน่วยงานคล้ายกับ กสทช. ของไทย ทำหน้าที่ดูแลให้สื่อมีเนื้อหาที่เป็นกลางไม่เลือกข้างทางการเมือง

กรณีที่สร้างความเสียหายให้กับบอริส จอห์นสันมากที่สุดในตอนนี้ คือเรื่องเกี่ยวกับพฤติกรรมความซื่อตรงของตัวนายกรัฐมนตรีเอง เริ่มจากหนังสือพิมพ์ Daily Mirror ได้ข้อมูลมาว่า ทีมงานอาวุโสของนายกฯ ในทำเนียบถนนดาวนิงจัดงานปาร์ตี้สังสรรค์กันเมื่อวันที่ 18 ธันวาคมปีที่แล้ว ซึ่งอยู่ในช่วงล็อกดาวน์จึงเป็นการฝ่าฝืนมาตรการของรัฐบาลเอง 

พอมีข่าวออกมา ตัวบอริส จอห์นสันและรัฐมนตรีหลายคนออกมาปฏิเสธกันวุ่นว่าไม่จริง แต่ต่อมารายการข่าวทีวี ITN นำคลิปหลุดภาพการซักซ้อมของทีมโฆษกว่าจะตอบคำถามนักข่าวอย่างไรถ้าถูกถามเรื่องนี้ เหมือนกับรู้ว่าจะถูกจับผิด ซึ่งธรรมเนียมการเมืองในอังกฤษ หากนักการเมืองถูกจับได้ว่าโกหกหลอกลวงประชาชนถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก ปรากฏว่าสื่อสิ่งพิมพ์ที่เคยมีนโยบายสนับสนุนพรรคคอนเซอร์เวทีฟมาตลอดหลายยุคหลายสมัยก็เริ่มติดตามคุ้ยเรื่องนี้กันต่อ และมีการตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์กันครึกโครม 

สื่อและฝ่ายค้านกดดันจนกระทั่งบอริส จอห์นสันต้องยอมตั้งกรรมการขึ้นมาสอบสวนเรื่องอื้อฉาวที่เรียกว่า Christmas Partygate ที่ทำเนียบ แล้วเรื่องก็ลามปามไปสอบเรื่องการจัดงานปาร์ตี้ในช่วงมาตรการล็อกดาวน์ของนักการเมืองและข้าราชการอีกหลายกระทรวง เพราะสื่อช่วยกันคุ้ยกันออกมาอีกหลายระลอก 

ในธรรมเนียมการเมืองในระบอบประชาธิปไตยถือว่าการใช้อำนาจปกปิดความผิดหรือเบี่ยงเบนข้อเท็จจริงนั้น เป็นความผิดกระทงใหญ่กว่าความผิดแรก เหมือนกรณีประวัติศาสตร์ที่อื้อฉาวในอเมริกาอย่างคดีวอเตอร์เกตซึ่งทำให้ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสันต้องลาออก 

ลักษณะความโปร่งใสทางการเมืองและการปกป้องผลประโยชน์สาธารณะแบบนี้ มักจะเกิดขึ้นได้ในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ซึ่งสื่อมวลชนมีสิทธิ-เสรีภาพ มีการแข่งขันในการรายงานข้อเท็จจริงบนกรอบจรรยาบรรณ โดยไม่เซนเซอร์ตัวเอง และไม่เกรงกลัวต่ออิทธิพลของผู้มีอำนาจ แต่สำหรับประเทศที่สื่อถูกควบคุมหรือเซนเซอร์ตัวเอง ไม่มีความโปร่งใส ประชาชนไม่มีทางได้รับรู้ความจริงหรือความฉ้อฉลที่ทำให้สังคมเสื่อมถอย และหลงละเมออยู่ในความล้าหลัง 

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า การเปิดโปงพฤติกรรมที่น่าสงสัยหลายอย่างของผู้นำประเทศและคณะบุคคลที่ห้อมล้อมผู้นำโดยสื่อมวลชน ทำให้ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งซ่อมที่ North Shropshire ออกไปลงคะแนนเสียงลงโทษพรรคการเมืองที่เคยเป็นขวัญใจของชาวเมืองมานานนับ 200 ปี พวกเขาคับข้องใจที่บอริส จอห์นสัน พยายามปกปิดความผิดพลาดของทีมงานตัวเอง และเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ในเรื่องสองมาตรฐานของรัฐบาล ‘one rule for them, one rule for us’

ความจริงแล้ว มีเรื่องอื้อฉาวเกิดขึ้นก่อน Christmas Partygate ด้วย นั่นคือบอริส จอห์นสันพยายามผลักดันร่างกฎหมายฉบับหนึ่ง ซึ่งพยายามขัดขวางมาตรการลงโทษ ส.ส. ลูกพรรคคนหนึ่งที่ถูกคณะกรรมการมาตรฐานจริยธรรมในสภามีมติประกาศลงโทษฐานรับเงินจากบริษัทเอกชนและยังวิ่งเต้นให้หน่วยราชการอนุมัติโครงการจัดซื้อจัดจ้างมูลค่ามหาศาล ก่อให้เกิดคำถามเกี่ยวกับหลักธรรมาภิบาลและการปราบปรามคอร์รัปชัน เวลาต่อมา บอริส จอห์นสันต้องยอมถอนร่างกฎหมายออกจากสภา หลังจากมี ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน รวมทั้งสื่อฝ่ายที่เคยหนุนรัฐบาลเอง ออกมาวิจารณ์อย่างเสียหายจน ส.ส. คนนั้นต้องอับอายลาออกไป ทำให้เกิดการเลือกตั้งซ่อมขึ้น 

ก่อนหน้าความย่อยยับในสนามเลือกตั้งซ่อม นายจอห์นสันก็ต้องพบกับวิกฤตศรัทธาและคำถามเกี่ยวกับภาวะการนำของเขา เมื่อ ส.ส. ลูกพรรคตัวเองโหวตสวนร่างกฎหมายเพิ่มมาตรการเข้มงวดเพื่อสะกัดไวรัสกลายพันธุ์โอมิครอน มีลูกพรรครัฐบาลโหวตสวนถึง 99 เสียง แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านสภาไปก็เพราะพรรคเลเบอร์ซึ่งเป็นฝ่ายค้านโหวตสนับสนุน เนื่องจากอัตราการติดเชื้อพุ่งสูงมากจนน่ากลัว แต่การโหวตสวนของลูกพรรครัฐบาลในจำนวนมากขนาดนั้นก็เป็นการส่งสัญญานว่าภายในพรรคแตกเป็นสองเสี่ยง อย่างน้อยก็ต้องมี ส.ส. บางส่วนเห็นว่า ‘ทองลอก’ คราวนี้ยากแก่การเยียวยา 

เรื่องร้ายๆ ที่สั่นสะเทือนเก้าอี้นายกรัฐมนตรียังไหลทยอยออกมาไม่หยุด ยิ่งใกล้สิ้นปีก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น เมื่อสื่อมวลชนไปขุดคุ้ยได้อีเมลมาฉบับหนึ่งที่เป็นข้อความของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่คนหนึ่ง ซึ่งบอริส จอห์นสันแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการสอบสวนกรณี Christmas Partygate โดยข้อความดังกล่าวเป็นคำเชิญให้ทีมงานของตัวท่านเองมาร่วมงานสังสรรค์ก่อนวันหยุดปลายปี พอสี่อนำมาเปิดโปง ข้าราชการอาวุโสท่านนั้นก็ต้องลาออกจากประธานคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง คำถามจึงพุ่งตรงไปที่วิจารณญาณของนายกรัฐมนตรี ก่อนลงนามประกาศแต่งตั้งประธานสอบข้อเท็จจริง 

แม้ใกล้ถึงเทศกาลวันหยุดยาวประจำปี ข่าวร้ายก็ยังไหลมาไม่หยุด เพราะจู่ๆ ลอร์ด ฟรอสต์ ผู้เป็นรัฐมนตรีทำหน้าที่เจรจาประสานการบังคับใช้ข้อตกลงเบร็กซิตกับสหภาพยุโรปและเป็นขุนพลคนสำคัญข้างตัวของนายกรัฐมนตรีที่สัญญากับประชาชนว่าจะ ‘get Brexit done’ ให้สำเร็จครบถ้วน ก็มาชิงประกาศลาออกจากตำแหน่ง ทั้งๆ ที่ยังมีหลายประเด็นที่คั่งค้างอยู่ โดยเฉพาะกรณีสินค้าผ่านแดนไอร์แลนด์เหนือ 

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า กรณีการลาออกของรัฐมนตรีคนสำคัญในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อครั้งนี้ เหมือนเป็นการเปิดแผลใหญ่ในรัฐบาลของบอริส จอห์นสันที่กำลังร่อแร่กับข่าวร้ายๆ เรียงลำดับมาโหมกระหน่ำในช่วงเวลาสั้นๆ เพียง 4-5 สัปดาห์ที่ผ่านมา ส.ส. ฝ่ายที่ยังสนับสนุนบอริส จอห์นสันจึงได้แต่ตั้งความหวังว่า พอถึงวันหยุดยาว การเคลื่อนไหวทางการเมืองแรงๆ ก็อาจจะซาไปจนถึงกลางเดือนมกราคม นายกรัฐมนตรีก็จะมีเวลาตั้งหลัก แล้วรีเซ็ตตัวเอง ปรับ ครม. ใหม่ เปลี่ยนคณะที่ปรึกษาใหม่ เพราะยังมีเวลาอีก 2-3 ปีก่อนที่จะเลือกตั้งทั่วไปกันใหม่ 

อย่างไรก็ตาม นายจอห์นสันคงไม่พ้นพงหนามอย่างง่ายๆ เพราะหลังปีใหม่นายกรัฐมนตรีคนนี้ก็พบกับระเบิดเวลาอีกลูกหนึ่ง เพราะเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีประกาศแต่งตั้งประธานคณะกรรมการสอบสวนกรณีการรับมือปัญหาโควิดระบาด ตั้งแต่จุดเริ่มต้นเมื่อต้นปี 2020 จนทำให้มีผู้เสียชีวิตไปกว่าแสนคนว่าเกิดการตัดสินใจผิดพลาดตรงไหน เพราะอะไร และนโยบายหรือมาตรการต่างๆ สอดคล้องกับข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ มีความล่าช้า หรือทันต่อเวลาอย่างไรหรือไม่  ไปจนถึงกระบวนการจัดซี้อจัดจ้างอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยเฉพาะระบบติดตามผู้ติดเชี้อทางมือถือที่ใช้เงินมหาศาลแต่ล้มเหลวนั้นเป็นการใช้เงินหลวงอย่างคุ้มค่าหรือไม่

ประธานคณะกรรมการคือ บารอนเนส เฮเทอร์ ฮาลเล็ตต์ อดีตผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ที่มีชื่อเสียง ซึ่งเป็นอิสระจากภาครัฐตามคำเรียกร้องของกลุ่มญาติพี่น้องของผู้ตายที่เรียกร้องขอมีส่วนร่วมในการไต่สวนครั้งนี้อย่างใกล้ชิด และเพื่อความเป็นธรรม

เป็นที่คาดหมายกันว่า การไต่สวนโดยคณะกรรมการอิสระชุดนี้ คงจะสรุปผลออกมาได้ภายในปีใหม่นี้ และไม่ว่าผลการสอบสวนจะออกมาในรูปใด ย่อมมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสถานภาพทางการเมืองของนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสันอย่างแน่นอน

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save