fbpx
ยูดี พอลลัค สถาปนิก Universal Design : จากชีวิตที่พลิกผันสู่ความฝันเพื่อเมืองเชียงใหม่

ยูดี พอลลัค สถาปนิก Universal Design : จากชีวิตที่พลิกผันสู่ความฝันเพื่อเมืองเชียงใหม่

วันดี สันติวุฒิเมธี เรื่อง

 

นาทีที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน

สำหรับคนที่มีร่างกายสมบูรณ์ การใช้ช้อนตักข้าวเข้าปากนับเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ

ทว่าสำหรับคนที่ไม่มีนิ้วมือสักนิ้วเดียว การมีอุปกรณ์ช่วยให้เขาตักข้าวเข้าปากด้วยตนเอง นับเป็นนาทีที่ยิ่งใหญ่ของชีวิตคนๆ นั้น เพราะมันได้เปลี่ยนโลกอันแสนหดหู่ของเขาไปสู่โลกใบใหม่ ที่มีศักดิ์ศรีและเสรีภาพที่ไม่ต้องรอคอยความช่วยเหลือจากใครในยามท้องหิวอีกต่อไป

และในสายตาของสถาปนิกผู้ออกแบบอุปกรณ์ดังกล่าวแล้ว ก็คงไม่มีนาทีไหนยิ่งใหญ่มากเท่ากับนาทีนั้นเช่นกัน

หากเรื่องราวข้างต้นเป็นนิยายชวนฝัน เรื่องคงจบลงแต่เพียงเท่านี้ตามสูตร Happy Ending

ทว่าชีวิตจริงของสถาปนิกชาวอิสราเอลชื่อ ยูดี พอลลัค (Udi Pollak) ผู้ทำงานออกแบบ Universal Design เพื่อคนพิการมาตลอด 30 ปี กลับพลิกผันหักมุมอย่างไม่มีใครคาดคิด เพราะขณะที่เขากำลังมีความสุขกับการออกแบบอุปกรณ์เพื่อช่วยเหลือผู้พิการ ความพิการกลับค่อยๆ คืบคลานเข้ามาหาเขาทีละน้อยด้วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง จนในที่สุด เขาไม่สามารถยืนทรงตัวบนขาทั้งสองข้างได้อีกต่อไป

โชคชะตาที่พลิกผันทำให้สถาปนิกเพื่อผู้พิการอย่างเขาเปลี่ยนสถานะจาก “คนนอก” สู่ “คนใน” เขาจึงกลายเป็นสถาปนิกที่มองเห็นโลกการออกแบบ Universal Design ในมุมใหม่

ถึงแม้ภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงจะพรากความสามารถบางอย่างของเขาไป แต่สิ่งที่ยังฝังแน่นอยู่ในดีเอ็นเอไม่เปลี่ยนแปลง คือ “หัวใจจิตอาสา” เขายังคงใช้ “หนึ่งสมองและสองมือ” ทำงานออกแบบเพื่อผู้พิการจากหน้าจอคอมพิวเตอร์บนเตียงหรือรถเข็นอยู่เสมอ

ตั้งแต่ปลายปี 2559 เป็นต้นมา ยูดีตัดสินใจเดินทางมาฟื้นฟูสุขภาพที่จังหวัดเชียงใหม่และพบว่าเมืองท่องเที่ยวแห่งนี้ยังมีอุปสรรคหลายอย่างต่อการใช้ชีวิตของผู้พิการ เขาจึงมีความฝันอยากนำประสบการณ์อันมีค่ามาแบ่งปันเพื่อพัฒนาเมืองเชียงใหม่ให้เป็นเมือง Universal Design ที่ทุกคนสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างเท่าเทียมในอนาคต

 

ยูดี พอลลัค (Udi Pollak) สถาปนิกผู้รักการออกแบบ Universal Design

 

สถาปนิกจิตอาสา

 

ย้อนกลับไปปี ค.ศ. 1984 หรือเมื่อ 33 ปีก่อน ณ ประเทศอิสราเอล ขณะนั้นยูดียังเป็นนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมปีสุดท้าย เขามีโอกาสได้ไปศึกษาดูงานออกแบบ Universal Design ที่มูลนิธิ Milbat ซึ่งทำงานออกแบบอุปกรณ์เพื่อช่วยเหลือคนพิการและคนสูงอายุ

ที่นี่ทำให้เขาพบอุปกรณ์มากมายที่ช่วยให้ผู้พิการกลับมาใช้ชีวิตได้ “ใกล้เคียง” กับคนปกติมากยิ่งขึ้น แววตามีความสุขของผู้พิการที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ทำให้เขา “ตกหลุมรัก” งานออกแบบ Universal Design ในทันที

“ผมชอบช่วยเหลือผู้คนมาตลอดชีวิต ไม่ว่าจะเด็กหรือคนแก่ พอได้เห็นผู้พิการที่มูลนิธิในวันนั้น ผมสัมผัสได้ว่า คนกลุ่มนี้ไม่เคยมีสิทธิเท่าเทียมกับคนอื่นส่วนใหญ่ในสังคม ผมรู้ว่าตัวเองคงไม่สามารถแก้ปัญหาทุกอย่างได้ แต่ผมสามารถช่วยเหลือให้พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิมได้ด้วยการออกแบบอุปกรณ์พิเศษให้กับพวกเขา และมันคงจะเป็นความช่วยเหลือที่ยิ่งใหญ่มากทีเดียวสำหรับชีวิตคนๆ หนึ่ง”

การศึกษาดูงานครั้งนั้น ยูดีมีโอกาสเรียนรู้งานจากหัวหน้าแผนกบำบัดฟื้นฟู เริ่มต้นจากศูนย์จนสามารถเข้าใจงานของมูลนิธิได้ดีมากขึ้น ในเวลานั้น นักศึกษาทุกคนจะได้รับโจทย์ให้ออกแบบอุปกรณ์ช่วยเหลือคนพิการ โดยเขาได้รับโจทย์ให้ออกแบบอุปกรณ์เพื่อช่วยเหลือครูผู้ไม่สามารถขยับร่างกายซีกขวาให้กลับไปทำงานสอนหนังสือได้อีกครั้ง ผลงานของยูดีคือการออกแบบ “กระเป๋าพิเศษ” ที่สามารถใส่ของและหยิบได้ด้วยแขนข้างเดียว

นาทีที่เขาเห็นแววตาอันมีความสุขของครูท่านนั้น เขารู้ได้เลยว่า ชีวิตสถาปนิกหลังจบมหาวิทยาลัยของเขาจะก้าวเดินไปบนเส้นทางไหน

ตลอดชีวิตการทำงานสามสิบกว่าปีที่ผ่านมา ยูดีแบ่งเวลาให้กับงานออกแบบ Universal Design ออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งรับออกแบบให้กับ “ลูกค้า” ที่มีกำลังทรัพย์ (ยูดีบอกว่า เขาไม่ชอบใช้คำว่า “ผู้ป่วย” แต่เลือกใช้คำว่า “ลูกค้า” เพื่อแสดงถึงความเท่าเทียมกัน) และอีกส่วนหนึ่งทำงานจิตอาสาให้กับมูลนิธิ Milbat  นอกจากนี้ เขายังทำงานเป็นอาจารย์พิเศษสอนเรื่อง Universal Design ให้กับมหาวิทยาลัยต่างๆ และช่วยทำงานในโครงการของรัฐบาลอิสราเอลควบคู่ไปด้วยเช่นกัน

ยูดีเล่าถึงความหมายอันลึกซึ้งของอาชีพสถาปนิก Universal Design ว่า

“ถ้าคุณเจอคนที่ไม่สามารถตักข้าวเข้าปากได้ด้วยตนเอง คุณมีสองทางเลือก คือ เอาช้อนตักข้าวป้อนให้เขา หรือออกแบบช้อนให้เขาสามารถตักข้าวกินได้ด้วยตนเอง เพราะนาทีที่เขาสามารถตักข้าวเข้าปากอย่างมีอิสรภาพ ไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น มันคือ “ประตูสู่โลกใบใหม่” ที่จะเปลี่ยนชีวิตของคนพิการคนนั้นโดยสิ้นเชิง

“อาชีพนักออกแบบ Universal Design จึงไม่ใช่แค่การสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ แต่มันหมายถึงการ “เปลี่ยนชีวิต” คนๆ หนึ่งให้ใกล้เคียงกับคนปกติมากที่สุด ผมจึงตกหลุมรักอาชีพนี้ตั้งแต่แรกเห็นมาจนถึงวันนี้”

สิ่งที่น่าท้าทายมากที่สุดสำหรับสถาปนิก Universal Design คือ ความต้องการอุปกรณ์ของผู้พิการแต่ละคนมีความแตกต่างกัน งานของเขาจึงต้องเดินทางไปยังบ้านของผู้พิการเพื่อออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้ผู้พิการสามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากที่สุด ยกตัวอย่างเช่น การออกแบบห้องครัวให้คนที่นั่งรถเข็น หรือมีแขนข้างเดียว ย่อมเป็นการออกแบบที่แตกต่างจากห้องครัวทั่วไป

การออกแบบจะต้องใส่ใจรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งเขาใช้คำว่า “No place for mistake” หรือไม่มีที่ว่างสำหรับความผิดพลาด เพราะผู้พิการจะไม่สามารถเดินทางไปซื้ออุปกรณ์ตบแต่งใหม่ด้วยตนเองได้ภายหลังเหมือนกับคนทั่วไป

ความท้าทายของการออกแบบอุปกรณ์เพื่อช่วยเหลือผู้พิการจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของความพิการด้วยเช่นกัน เพราะยิ่งพิการมากเท่าไหร่ นั่นหมายถึงการออกแบบที่ต้องซับซ้อนมากยิ่งขึ้นเท่านั้น แต่นั่นไม่ได้ทำให้ยูดีรู้สึกท้อใจ ตรงกันข้าม เขากลับนำความท้าทายมาเป็นแรงบันดาลใจให้ออกแบบผลงานแต่ละชิ้นออกมาดีที่สุด เพื่อสร้างโลกใบใหม่ให้กับผู้พิการ

“คุณลองคิดดูว่า ถ้าเด็กคนหนึ่งเดินไม่ได้มาตั้งแต่เกิด ต้องนั่งมองเด็กคนอื่นกระโดดโลดเต้นตรงหน้า แล้วคุณสามารถออกแบบอุปกรณ์ที่ทำให้เขาเดินได้ คุณจะมีความสุขมากเพียงใด คุณกำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิตของเขาเลยทีเดียว คุณทำให้เขารู้สึกว่า ความพิการที่เขาต้องเผชิญมาตลอดชีวิตหายไป และเขาได้เริ่มต้นใช้ชีวิตแบบคนทั่วไปอย่างมีอิสรภาพ คุณกำลังนำความสุขมาให้กับคนที่ทุกข์ทรมานมานานแสนนานจากการสูญเสียอวัยวะบางอย่างไป”

 

ช้อนสำหรับคนไร้นิ้ว | ภาพจากมูลนิธิ Milbat

 

หนึ่งในผลงานที่เขาภาคภูมิใจ คือ การออกแบบเตียงเด็กอ่อนที่มีคอกกั้นสำหรับแม่ที่นั่งรถเข็น ตามปกติเตียงเด็กที่มีขายทั่วไปจะมีคอกกั้นสูง เวลาอุ้มเด็กออกจากเตียงจึงต้องยืนเอื้อมมือข้ามคอกกั้นเข้าไป แต่เตียงที่เขาออกแบบจะมีความสูงในระดับที่แม่สามารถสอดรถเข็นเข้าไปประชิดเตียงและเปิดคอกกั้นจากด้านข้างได้ด้วยตนเอง

ผลงานชิ้นนี้ได้ช่วยเติมเต็มความรักระหว่างสองแม่ลูกให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และทำให้แม่ที่นั่งรถเข็นสามารถดูแลลูกน้อยตอนสามีออกไปทำงานนอกบ้านด้วยตนเอง โลกของความเป็นแม่จึงสมบูรณ์และมีความสุขมากยิ่งขึ้น

 

เตียงเด็กอ่อนสำหรับแม่ที่นั่งรถเข็น | ภาพจาก Udi Pollak

 

เตียงเด็กอ่อนสำหรับแม่ที่นั่งรถเข็น | ภาพจาก Udi Pollak

 

หากใครลองคลิกเข้าไปที่เว็บไซต์ของมูลนิธิ milbat จะพบกับผลงานออกแบบ Universal Design หลากหลายรูปแบบที่อาสาสมัครหลากหลายอาชีพร่วมกันออกแบบ ตั้งแต่อุปกรณ์สำหรับดำรงชีวิตประจำวัน อาทิ สายรัดข้อมือพร้อมตัวล็อคแปรงสีฟันสำหรับคนไม่มีนิ้วมือ อุปกรณ์เทน้ำจากขวดลิตรใส่แก้วด้วยมือข้างเดียว รวมไปถึงอุปกรณ์สร้างความบันเทิงให้กับผู้พิการ อาทิ ไพ่สำหรับคนตาบอด โดยการพิมพ์อักษรเบลล์ลงไปบนไพ่ เพียงเท่านี้ตนตาบอดกับคนตาดีก็สามารถเล่นไพ่ด้วยกันได้

 

แปรงสีฟันสำหรับคนไร้นิ้ว | ภาพจากมูลนิธิ Milbat

 

อุปกรณ์ช่วยเทน้ำ | ภาพจากมูลนิธิ Milbat

 

หรือเปียโนไฟฟ้าสำหรับเด็กที่ไม่มีนิ้วมือ โดยสามารถใช้ข้อศอกหรือท่อนแขนกดลงไปบนคีย์ขนาดใหญ่ เพียงเท่านี้เด็กที่ไม่มีนิ้วมือก็สามารถเล่นดนตรีได้เหมือนกัน นั่นหมายถึงการทำให้ผู้พิการสามารถเข้าถึงความสุขอย่างเท่าเทียมตามแนวคิด Universal Design

 

คีย์บอร์ดขนาดใหญ่สำหรับเปียโนไฟฟ้า | ภาพจากมูลนิธิ Milbat

 

เครื่องมือช่วยพิมพ์ | ภาพจากมูลนิธิ Milbat

 

ปากกาสไตลัสพิเศษ | ภาพจากมูลนิธิ Milbat

 

“สำหรับผม งานนี้มีคุณค่ามากกว่าเงินทอง ผมได้เห็นทุกคนมีชีวิตใหม่ พวกเขาได้กลับไปทำงาน พวกเขาได้ใช้ชีวิตในบ้านหลังเดิมอย่างมีอิสระเสรีมากยิ่งขึ้น หรือสามารถออกไปทำงานหาเงินนอกบ้านเพราะมีอุปกรณ์ช่วยเหลือที่ผมออกแบบให้ ผมมีความสุขทุกครั้งที่ได้เห็นคนพิการมีชีวิตอยู่โดยไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น เพราะมันคือเสรีภาพอันยิ่งใหญ่” ยูดีกล่าว

 

ชีวิตพลิกผันจากคนนอกสู่คนใน

 

นับตั้งแต่เรียนจบมหาวิทยาลัย ยูดีได้ทุ่มเททำงานเป็นสถาปนิกออกแบบอุปกรณ์เพื่อคนพิการอย่างเต็มหัวใจ แต่แล้วสิ่งที่เขาไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น เมื่อความพิการได้คืบคลานเข้าสู่ชีวิตเขาทีละน้อยด้วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง

อาการระยะแรกเริ่มต้นเมื่อ 21 ปีก่อน ความรุนแรงปรากฏชัดขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดเขาต้องนั่งรถเข็นไฟฟ้าเมื่อหกปีที่ผ่านมา

“ผมไม่สามารถบอกได้ว่า ความพิการของใครรุนแรงกว่าใคร เพราะความรู้สึกจากการสูญเสียของแต่ละคนไม่มีทางเท่ากัน ถ้าคุณถูกตัดนิ้วไปหนึ่งนิ้ว คุณอาจรู้สึกสูญเสียไม่ต่างกับคนที่สูญเสียแขนขาไปหมด

“วันหนึ่งผมเริ่มรู้ตัวว่ากำลังจะกลายเป็นคนพิการ มันไม่ใช่ความพิการจากอุบัติเหตุใดๆ แต่เป็นความพิการจากร่างกายของผมเอง มันค่อยๆ คืบคลานเข้ามาในชีวิต เริ่มจากผมรู้สึกเหมือนกำลังเดินอยู่บนเรือที่โคลงเคลงไปมาจนไม่สามารถยืนตรงได้ จนกระทั่งสูญเสียการทรงตัว ไม่สามารถยืนหรือเดินได้เหมือนเดิมอีกต่อไป”

โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงที่เกิดขึ้นกับยูดีจัดอยู่ในประเภท “Myasthenia Gravis” ซึ่งเป็นอาการจากความบกพร่องของกล้ามเนื้อและระบบประสาท ทำให้เกิดความเหนื่อยล้าและรู้สึกอ่อนแรงได้รวดเร็วกว่าคนปกติ อีกทั้งฟื้นฟูสภาพร่างกายกลับมาได้ช้า ยกตัวอย่างเช่น ถ้าต้องขับรถหนึ่งชั่วโมง เขาจะต้องนอนพักอย่างน้อยหนึ่งวัน เพื่อให้ร่างกายกลับมามีแรงอีกครั้ง แต่ปัญหาสำคัญก็คือ หลังจากพักผ่อนแล้ว กล้ามเนื้อบางส่วนอาจไม่กลับมาแข็งแรงเท่าเดิม ดังนั้น เขาจึงไม่สามารถทำงานหนักได้เหมือนเดิม และต้องใช้เวลาในแต่ละวันพักผ่อนให้มากกว่าคนทั่วไป เพื่อไม่ให้กล้ามเนื้อของเขาสูญเสียการทำงานเร็วขึ้น

“ช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ผมต้องยุติการทำงานส่วนตัว เพราะอาการป่วยเริ่มรุนแรงมากขึ้น แต่ผมยังคงใช้โน้ตบุ๊กนั่งออกแบบเพื่อผู้พิการจากบนเตียงได้ เพราะคำว่า “ออกแบบ” ไม่ใช่อาชีพ มันเหมือนกับดนตรีที่เป็นดีเอ็นเอในตัวคุณ ผมมีเลือดนักออกแบบอยู่ในดีเอ็นเอเสมอ”

แม้ว่าโชคชะตาจะพลิกผันให้สถาปนิกที่เคยออกแบบเพื่อผู้พิการต้องกลายมาเป็นคนพิการเสียเอง แต่เขากลับไม่ได้รู้สึกหมดหวังในชีวิตจนคิดอยากเลิกอาชีพนี้เลย ตรงกันข้ามเขากลับมองเห็น “ความโชคดี” ใน “ความโชคร้าย” เปลี่ยนมุมมองการออกแบบจาก “คนนอก” เป็น “คนใน” และกลายเป็นสถาปนิกที่หัวใจแกร่งมากขึ้นกว่าเดิมอีกหลายเท่า

“ผมโชคดีที่เคยเป็นนักออกแบบเพื่อคนพิการมาก่อน เมื่อถึงวันที่ผมต้องเป็นคนพิการเอง ก็รู้ทันทีเลยว่า ผมยังสามารถออกไปใช้ชีวิตภายนอกได้เหมือนเดิม ผมรู้ว่ามีอุปกรณ์ช่วยเหลืออะไรบ้าง รู้ว่ามีสถานที่ไหนบ้างที่คนพิการสามารถเข้าไปใช้บริการได้ รวมทั้งรู้วิธีการออกแบบอุปกรณ์ต่างๆ ที่ทำให้ผมสามารถช่วยเหลือตัวเองได้”

นอกจากการมองโลกในมุมบวกแล้ว เขายังมองเห็นมุมมองใหม่ในการออกแบบเพื่อคนพิการต่างไปจากเดิมเช่นกัน

“ผมไม่อาจพูดได้ว่า ผมเข้าใจความต้องการของคนพิการรูปแบบอื่น แต่สามารถพูดได้ว่า ผมเข้าใจความต้องการของผู้ที่นั่งรถเข็นและผู้ป่วยที่เป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงว่ามีความจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง เพราะอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงจะค่อยๆ รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จนผู้ป่วยมีความสามารถบางอย่างลดลง เช่น เริ่มติดกระดุมไม่ได้ด้วยตนเอง ตักอาหารเข้าปากไม่ได้ หั่นแตงกวาไม่ได้ เป็นต้น

“ถ้าคุณพูดถึงผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรง มันหมายถึงอาการป่วยต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตปกติกำลังเกิดขึ้นกับร่างกายของคุณ ผมเข้าใจความรู้สึกในจุดนี้ดี เพราะผมเคยใช้อวัยวะได้สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่วันนี้อวัยวะบางอย่างไม่สามารถใช้งานได้เต็มที่ เช่น การจับปากกาเขียนหนังสือ การใช้เม้าส์เพื่อวาดรูปในคอมพิวเตอร์ ผมเริ่มบังคับกล้ามเนื้อให้วาดเส้นตรงได้ยากขึ้น ผมเริ่มเข้าใจความรู้สึกของคนที่ค่อยๆ สูญเสียความสามารถบางอย่างไปเรื่อยๆ”

ด้วยเหตุที่กล้ามเนื้อของยูดีจะอ่อนแรงลงอย่างรวดเร็วมากขึ้นหากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ร้อนจัด ดังนั้นเขาจึงต้องหาสถานที่ฟื้นฟูสุขภาพที่มีอากาศเหมาะสมและสามารถดำรงชีวิตประจำวันแบบไม่เหนื่อยล้าจนเกินไป หลังจากค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต ยูดีพบว่า เชียงใหม่คือเมืองที่เหมาะสมสำหรับการฟื้นฟูสุขภาพของเขา เขาจึงส่งภรรยาเดินทางมาสำรวจพื้นที่ล่วงหน้า หลังจากเธอมาถึงเชียงใหม่ได้เพียงหนึ่งวัน เขาก็ได้รับเสียงโทรศัพท์จากภรรยาว่า

“ที่นี่ใช่เลย เตรียมเก็บกระเป๋าเดินทาง เดี๋ยวจะบินกลับไปรับมาใช้ชีวิตด้วยกันที่เชียงใหม่”

 

ความฝันเพื่อเมืองเชียงใหม่

 

ปลายปี 2559 ณ เมืองเชียงใหม่ ประเทศไทย

สองสามีภรรยาจากอิสราเอลหอบหิ้วกระเป๋าเดินทางมาถึงเมืองเชียงใหม่ด้วยความตั้งใจจะใช้ชีวิตที่นี่เพื่อฟื้นฟูสุขภาพอย่างไม่มีกำหนด แต่ทว่า หลังจากวันแรกที่เดินทางมาถึง เขาก็พบว่า เมืองเชียงใหม่ยังขาดสิ่งอำนวยความสะดวกที่ผู้พิการหรือผู้สูงอายุบนรถเข็นสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมและปลอดภัย

ยูดีจึงเริ่มฝันอยากเห็นการพัฒนาเมืองเชียงใหม่บนพื้นฐานของ Universal Design มากขึ้น แต่เขาไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นเดินตามความฝันจากเส้นทางไหน จนกระทั่งหลายเดือนผ่านไป ล้อรถเข็นไฟฟ้าของเขาพังไปหนึ่งล้อ ทำให้เขาขาดอิสรภาพในการเดินทางทันที และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นโดยบังเอิญที่เขาได้พบกับแสงแห่งความหวังเล็กๆ ที่อาจทำให้ฝันของเขาเป็นความจริงขึ้นมาสักวันหนึ่ง

 

สัตว์และรถเข็นห้ามเข้า! | ภาพจาก Udi Pollak

 

“ผมเห็นเมืองเชียงใหม่ยังขาดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ แล้วก็มานั่งคิดว่าเรามีความรู้ตั้งมากมาย น่าจะช่วยแบ่งปันประสบการณ์บางอย่างได้ แต่ผมไม่รู้จะคุยกับใคร จนกระทั่งล้อรถเข็นไฟฟ้าของผมหักและหาที่ซ่อมไม่ได้สักที ภรรยาของผมต้องออกตระเวนหาสถานที่ซ่อมล้อรถเข็นให้ผมหลายแห่ง จนกระทั่งมีคนแนะนำให้ไปปรึกษาที่สถาบันราชนครินทร์ ซึ่งให้ความช่วยเหลือคนพิการ

“หลังจากนั้นผมก็เริ่มมีโอกาสได้คุยกับคุณกฤษนะ ละไล และได้รับการแนะนำให้รู้จักกับ global campus ซึ่งสนใจงาน Universal Design ทำให้ผมเริ่มมีความหวังมากขึ้นว่า มูลนิธิ Milbat ที่อิสราเอลและองค์กรเกี่ยวกับคนพิการของไทยอาจได้พัฒนาความร่วมมือเพื่อช่วยเหลือผู้พิการในเมืองไทยมากขึ้นในอนาคต โดยอาจเริ่มต้นด้วยการทำเมืองเชียงใหม่ให้เป็นเมืองต้นแบบของเมือง Universal Design สร้างเมืองที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มผู้สูงอายุและคนพิการนั่งรถเข็นได้มากขึ้น”

ยูดีเแสดงความเห็นเกี่ยวกับการลงทุนเพื่อ Universal Design ไว้อย่างน่าสนใจว่า การทำให้รัฐบาลหรือคนในประเทศเห็นความสำคัญของคนพิการและออกแบบเมืองเพื่อให้คนพิการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เป็นเรื่องไม่ง่ายนัก แต่การทำให้รัฐบาลหรือประชาชนมองเห็นประโยชน์ด้านอื่นที่คุ้มค่าจากการลงทุนก่อนจะง่ายกว่า หลังจากนั้นผู้พิการก็จะได้รับประโยชน์ตามมาจากโครงการเหล่านี้ เขายกตัวอย่างความสำเร็จที่เกิดขึ้นประเทศอิสราเอลว่า

“ตอนผมเป็นสถาปนิกใหม่ๆ มีกลุ่มเพื่อนๆ สถาปนิกคุยกันว่า เราอย่าเริ่มต้นจากการคุยเรื่องคนพิการ แต่มาคุยเรื่องรถเข็นเด็กเล็กกันก่อนดีกว่า เพราะมันใกล้ตัว เข้าใจง่ายกว่า พวกเราเลยเสนอแคมเปญปรับปรุงมุมฟุตบาทภายในเมืองให้มีทางลาดเล็กๆ สำหรับรถเข็นเด็กขึ้นไปบนฟุตบาท และติดสัญลักษณ์รถเข็นเด็กเอาไว้ที่ทางลาด ผลปรากฏว่า เทศบาลสนใจลงทุนปรับปรุงมุมฟุตบาททุกแห่ง แล้วคนที่ได้ผลประโยชน์ร่วมกัน คือ คนพิการที่นั่งรถเข็นนั่นเอง

“สำหรับเมืองเชียงใหม่ ถ้าให้เทศบาลลงทุนเพื่อคนพิการอาจไม่มีแรงจูงใจมากนัก แต่หากลงทุนเพื่อดึงดูดนั่งท่องเที่ยวที่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุและผู้พิการนั่งรถเข็นให้มาเมืองไทยมากขึ้นอาจมีความเป็นไปได้มากกว่า”

ด้วยเหตุนี้เขาจึงอยากเสนอให้ลองทำเส้นทางในเขตถนนคนเดินซึ่งมีนักท่องเที่ยวมากที่สุดเป็นจุดแรกของการปรับปรุงเชียงใหม่ให้เป็นเมือง Universal Design และถ้าเชียงใหม่สามารถปรับเปลี่ยนให้เป็นเมืองที่ทุกคนเข้าถึงอย่างเท่าเทียมแล้ว โอกาสที่เมืองอื่นๆ จะก้าวเดินตามย่อมมีความเป็นไปได้เช่นเดียวกัน

เมื่อถามถึงงบประมาณในการออกแบบสำหรับผู้พิการ สถาปนิกผู้มากประสบการณ์บอกว่า “เรื่องเงินไม่ใช่เรื่องหลัก” เพราะสถาปนิกสามารถออกแบบอุปกรณ์ที่ใช้วัสดุราคาไม่แพงได้เช่นกัน แต่สิ่งสำคัญคือ “ความรู้ที่ถูกต้องในการออกแบบ”

เขายกตัวอย่างห้องน้ำสำหรับผู้พิการตามสถานที่ต่างๆ ในเมืองไทยว่ามีการออกแบบที่ไม่ถูกต้องหลายแห่ง อาทิ ห้องน้ำตามสนามบินและห้างสรรพสินค้า บางแห่งก็อกน้ำบนอ่างล่างมืออยู่ไกลเกินกว่าคนนั่งรถเข็นจะเอื้อมถึง เป็นต้น

 

ห้องน้ำสำหรับคนพิการ – ผิด VS ถูก| ภาพจาก Udi Pollak

 

“ถ้ามีเงินแต่ไม่มีความรู้ที่ถูกต้อง ออกแบบเสร็จแล้ว ใช้งานไม่ได้จริง ก็น่าเสียดาย งบประมาณสูงๆ ไม่ใช่ทางออกเสมอไป เพราะวิธีแก้ปัญหามีมากมาย เช่น ถ้าทำทางลาดถาวรไม่ได้ก็ทำทางลาดชั่วคราวอลูมิเนียมแบบพับก็ยังได้

“ผมอยากให้คนทุกสภาพร่างกายสามารถมีความสุขกับเชียงใหม่ได้ ธุรกิจกับสังคมไปด้วยกันได้ ผมยินดีช่วยทุกอย่างเท่าที่ผมจะช่วยได้ เพราะผมชอบเมืองเชียงใหม่”

แม้ว่าทุกวันนี้ ภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงจะทำให้เขาเหนื่อยล้าเร็วกว่าคนปกติหลายเท่า แต่ในยามที่ได้พูดคุยถึงความฝันในการแบ่งปันความรู้เรื่อง Universal Design ให้กับคนไทย และความฝันเพื่อสร้างเมืองเชียงใหม่ให้ทุกคนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมแล้ว แววตาของเขากลับเปล่งประกายเจิดจรัสอยู่เสมอ

ยูดีได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า โรคภัยไข้เจ็บสามารถโจมตีเขาได้แค่เพียงร่างกายภายนอกเท่านั้น แต่ไม่อาจทำลายความฝันในหัวใจของสถาปนิกจิตอาสาท่านนี้ให้เหนื่อยล้าอ่อนแรงลงไปได้เลย

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save