fbpx

การถดถอยของระบบสองพรรคการเมืองในโคลอมเบีย

นับตั้งแต่คริสต์ทศวรรษที่ 1990s โดยเฉพาะหลังจากที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 1991 ประกาศใช้เป็นต้นมา ระบบพรรคการเมืองของโคลอมเบียเริ่มหลุดพ้นจากความเป็นสถาบันการเมืองที่เข้มแข็ง ถึงแม้การเปลี่ยนผ่านของโคลอมเบียครั้งนี้ยังไม่ถึงกับทำลายระบบพรรคการเมืองเฉกเช่นประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นในโบลิเวีย เอกวาดอร์ เปรู หรือเวเนซุเอลา แต่ก็ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยทำให้เกิดพรรคการเมืองใหม่ๆ ขึ้น ขณะเดียวกันระบบสองพรรคการเมืองที่มีอยู่มานานก็เสื่อมตัวลง และโครงสร้างของพรรคการเมืองก็ถูกทำให้อ่อนแอ

พรรคการเมืองสำคัญในหลายประเทศลาตินอเมริกาประสบกับการถูกลดบทบาทในประเทศของตน ระบบพรรคการเมืองสลายตัวจากสถาบันทางการเมืองที่มีเสถียรภาพ หรือยิ่งกว่านั้น ก็คือการล่มสลายของระบบพรรคการเมืองทั้งระบบ เมื่อหันมามองโคลอมเบียก็จะเห็นว่าประสบกับปัญหาข้างต้นเฉกเช่นเดียวกัน แต่ในกรณีของโคลอมเบียมีความแตกต่างสำคัญอย่างหนึ่งจากประเทศอื่นๆ ในลาตินอเมริกา กล่าวคือถึงแม้ว่าสองพรรคการเมืองเดิมประสบปัญหาฐานเสียงที่ลดลงและโครงสร้างของพรรคถูกบั่นเซาะ แต่ก็ยังมีสถานะเป็นผู้เล่นสำคัญในระบบพรรคการเมืองอยู่ คล้ายๆ กับที่เกิดขึ้นในอาร์เจนตินา ที่ความเป็นสถาบันของระบบพรรคการเมืองถูกสั่นคลอน เกิดความแตกแยก สถานภาพของพรรคการเมืองอ่อนแอลง แต่ยังมีพรรคการเมืองหลักที่สำคัญ คือพรรค The Perón ที่ยังสามารถกุมอำนาจทางการเมืองได้จนถึงปัจจุบัน ยกเว้นก็เพียงแต่ระหว่างปี 2015-2019 เท่านั้น

โคลอมเบียนับว่าแตกต่างจากประเทศอื่นๆ ในลาตินอเมริกา ที่สถาบันทางการเมืองบางสถาบันล่มสลายหรือประสบปัญหาอย่างหนัก กล่าวคือในทางด้านเศรษฐกิจ โคลอมเบียไม่เคยตกอยู่ในสภาวะที่เงินเฟ้อสูงมากเหมือนอย่างที่ประเทศลาตินอเมริกาอื่นๆ ประสบในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1980 รวมทั้งไม่เคยเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ (Lupu, 2016; Roberts, 2014) ความอ่อนแอของระบบพรรคการเมืองหลักในโคลอมเบียเกิดขึ้นในสภาวะที่เศรษฐกิจของประเทศยังดำรงอยู่ได้เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศลาตินอเมริกาอื่นที่เผชิญกับปัญหาสภาพเศรษฐกิจเกือบล่มสลาย อย่างอาร์เจนตินา เปรู และเวเนซุเอลาที่เผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจอย่างหนักจนมีผลบ่อนเซาะพรรคการเมืองหลักในขณะนั้น ขณะที่ในโคลอมเบีย ปัญหาใหญ่ที่พรรคการเมืองหลักเผชิญคือความผิดพลาดในการจัดการปัญหาความไม่สงบในประเทศจากการก่อการร้ายของพวกกบฏฝ่ายซ้ายและกองกำลังกึ่งทหารนอกกฎหมายฝ่ายขวาที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกองทัพ รวมถึงเครือข่ายการค้ายาเสพติดในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 (Chaowarit Chaowsangrat, 2014)

ในสภาวะที่ความแตกต่างทางระบบการเมืองเกิดขึ้นระหว่างการเมืองของพรรคการเมืองระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาค กับการเมืองของพรรคการเมืองระดับชาติ การเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาดังกล่าวไม่ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในระบบพรรคการเมืองของระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาคสักเท่าใดนัก เนื่องจากโครงสร้างการเมืองแบบอุปถัมภ์ยังคงมีอยู่มากในระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาค ส่งผลให้สองพรรคการเมืองหลัก คือพรรคเสรีนิยมและพรรคอนุรักษนิยม ยังคงมีบทบาทสำคัญในการเมืองในระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาค โดยเฉพาะพรรคเสรีนิยม ถึงแม้ว่าจะมีนักการเมืองระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาคบางคนย้ายไปยังพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่ก็ตาม แต่การกระทำในลักษณะดังกล่าวมีค่อนข้างน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับการเมืองของพรรคการเมืองระดับชาติ ดังนั้นจะเห็นได้ว่า แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬารในระบบพรรคการเมืองระดับชาติในต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1990s แต่ระบบพรรคการเมืองของโคลอมเบียก็ยังคงดำเนินต่อไป ไม่ถึงกับขั้นล้มสลายเหมือนประเทศอื่นในภูมิภาคดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น

พรรคเสรีนิยมและพรรคอนุรักษนิยมเป็นสองพรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดในโคลอมเบีย รวมทั้งยังเป็นสองพรรคในบรรดาพรรคการเมืองที่มีอายุยืนนานที่สุดในโลก ทั้งสองพรรคได้รับการจัดตั้งขึ้นในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1840s ในฐานะพรรคการเมืองของคนชั้นสูง และสามารถคุมเสียงเลือกตั้งมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 1849-2002 ยกเว้นก็แต่ช่วงที่มีรัฐบาลเผด็จการทหารสั้นๆ ในคริสต์ทศวรรษที่ 1950s

ในช่วงระหว่างปี 1900-2002 ประธานาธิบดีของโคลอมเบียต่างมาจากสองพรรคนี้ ยิ่งไปกว่านั้นทั้งสองพรรคยังคุมเสียงทั้งในการเมืองระดับชาติ การเมืองระดับภูมิภาค และการเมืองระดับท้องถิ่น โดยจากอดีตนับจนถึงปี 1991 โคลอมเบียนับเป็นหนี่งในประเทศที่มีระบบสองพรรคการเมืองต่อเนื่องยาวนานที่สุดในโลก ถึงแม้ว่าในการเลือกตั้งประธานาธิบดีบางครั้ง จะมีผู้สมัครจากพรรคอื่นเข้ามาแข่งขัน แต่ก็ไม่สามารถเอาชนะผู้สมัครจากพรรคเสรีนิยมและพรรคอนุรักษนิยมได้เลย

อุดมการณ์ของสองพรรคการเมืองนั้นแตกต่างกัน พรรคอนุรักษนิยมสนับสนุนการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่รัฐบาลกลาง มีนโยบายทางเศรษฐกิจที่ต่อต้านการค้าเสรี และยอมให้คริสตจักรเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารประเทศ ขณะที่พรรคเสรีนิยมสนับสนุนการกระจายอำนาจ สนับสนุนการค้าเสรี และต่อต้านการมีบทบาทของคริสตจักรในทางการเมือง (Delpar, 1981; Dugas, 2000; Latorre, 1974; Posada-Carbó, 1997; Roll, 2002)

ในช่วงระหว่างครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 19 ทั้งสองพรรคต่อสู้กันกระทั่งเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นหลายครั้ง อันมีสาเหตุมาจากความเชื่อทางการเมืองที่แตกต่างกันนั้นเอง สงครามกลางเมืองก่อให้เกิดความแตกแยกอย่างฝังลึกในโคลอมเบีย ส่งผลให้ในช่วงครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 20 มีการแบ่งแยกการเป็นอนุรักษนิยมหรือเสรีนิยมอย่างชัดเจน และแทบไม่มีการย้ายขั้วทางการเมืองเกิดขึ้นเลย

สงครามกลางเมืองระหว่างสองพรรคสิ้นสุดลงเมื่อย่างเข้าสู่คริสต์ศตวรรษที่ 20 ก่อให้เกิดการเมืองที่มีเสถียรภาพ ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้พรรคเสรีนิยมจะยังคงยึดมั่นกับผลประโยชน์ของชนชั้นนำ (เจ้าของที่ดิน เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ พ่อค้าวาณิช นายทุนอุตสาหกรรม และนายธนาคาร) แต่ก็ได้หันมาจับมือกับชนชั้นแรงงาน (Archila, 1991) เมื่อสิทธิการเลือกตั้งของผู้ชายทุกคนได้ถูกนำกลับคืนมาในปี 1936[1] พรรคเสรีนิยมก็กลายเป็นพรรคการเมืองหลักที่ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ฝั่งพรรคอนุรักษนิยม เมื่อไม่สามารถเอาชนะในทางการเมืองได้ ก็หันมาใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1940s ซึ่งก็ถูกโต้กลับจากพวกเสรีนิยมที่หันมาใช้สงครามใต้ดินสู้กลับในพื้นที่ชนบท กลายเป็นสงครามกลางเมืองขึ้นมาอีกครั้ง ดังนั้นในช่วงระหว่างปี 1948-1953 จึงเป็นช่วงเวลาแห่งการประหัตประหารกันระหว่างสองฝ่าย จนทำให้ช่วงเวลาดังกล่าวถูกเรียกว่า ‘La Violencia’ (ช่วงเวลาแห่งความรุนแรง)

หลังจากกองทัพได้เข้ายึดอำนาจในระหว่างปี 1953-1958 พรรคเสรีนิยมได้หันกลับมาร่วมมือกับพรรคอนุรักษนิยมแบ่งปันอำนาจทางการเมืองคนละครึ่งในทุกระดับชั้นเป็นระยะเวลาถึง 16 ปี ระหว่างปี 1958-1974 เพื่อสมานผลประโยชน์และหลีกเลี่ยงความวุ่นวายที่นำไปสู่การใช้ความรุนแรง โดยมีการสลับตำแหน่งประธานาธิบดีไปมาระหว่างสองพรรค รวมทั้งตำแหน่งต่างๆ ทั้งที่มาจากการเลือกตั้งและแต่งตั้งก็จะถูกหารครึ่งเท่าๆ กัน ช่วงระยะเวลา 16 ปีดังกล่าวได้รับการขนานนามว่า ‘The National Front’ ถึงแม้ช่วงเวลานี้จะเกิดความสงบทางการเมืองระหว่างสองพรรคใหญ่ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น แต่ขณะเดียวกันก็เป็นการกีดกันกลุ่มการเมืองอื่นๆ ออกไปจากหน้าประวัติศาสตร์ของโคลอมเบีย (Hartlyn, 1988)

หลังจากการปฏิวัติในคิวบาปี 1959 การปิดกั้นทางการเมืองของ The National Front ก่อให้เกิดกลุ่มปฏิวัติทางการเมืองเอียงซ้ายขึ้นมาหลายกลุ่ม อาทิ The Fuerzas Armadas Revolucionarias de Colombia (FARC) และ The Ejército de Liberación Nacional (ELN) ซึ่งเกิดขึ้นในปี 1964 รวมทั้ง The Movimiento 19 de Abril (M-19) ในปี 1970

ในช่วงระยะเวลา The National Front ความร่วมมือของพรรคเสรีนิยมและพรรคอนุรักษนิยมได้ลดช่องว่างความแตกต่างในอุดมการณ์ดั้งเดิมของแต่ละพรรค ทั้งยังก่อให้เกิดการแข่งขันกันเองภายในแต่ละพรรค รวมทั้งส่งเสริมการเมืองแบบอุปถัมภ์ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การแข่งขันระหว่างพรรคการเมืองหายไป เฉกเช่นเดียวกับอุดมการณ์ของแต่ละพรรค (Gutiérrez, 2007; Leal Buitrago and Dávila, 1990)

การปฏิรูปทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1980s คาบเกี่ยวไปถึงต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1990s ทำให้ระบบสองพรรคการเมืองค่อยๆ หมดบทบาทลงไป รวมทั้งความชื่นชอบของประชาชนที่มีต่อทั้งพรรคเสรีนิยมและพรรคอนุรักษนิยมก็ลดลงไปอย่างมาก (Pizarro Leongómez, 2006; Dargent and Muñoz, 2011) การกระจายอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจส่งผลให้ผู้นำพรรคการเมืองทั้งสองถูกลดบทบาทในการควบคุมอำนาจทางการเมืองไว้ที่ส่วนกลาง รวมทั้งบทบาทของตัวพรรคเองที่ลดลงด้วย

ความนิยมในพรรคการเมืองทั้งสองที่เสื่อมลง ทำให้เมื่อถึงปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1990s การทำหน้าที่เป็นตัวแทนในทางการเมืองของทั้งพรรคเสรีนิยมและพรรคอนุรักษนิยมมีผลเสียมากกว่าผลดี ขณะเดียวกันการขยายตัวของเครือข่ายการค้ายาเสพติดและบทบาทของกองกำลังกึ่งทหารนอกกฎหมายฝ่ายขวาที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้แสวงหาตำแหน่งทางการเมืองสามารถใช้เงินสกปรกในการหาเสียงได้เอง โดยไม่ต้องสังกัดพรรคการเมืองไม่ว่าจะเป็นพรรคเสรีนิยมหรือพรรคอนุรักษนิยม (Gutiérrez, 2007)

การเลือกตั้งประธานาธิบดีและสมาชิกรัฐสภาในปี 2002 ถือเป็นการเปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์ทางการเมืองของโคลอมเบีย เมื่อบรรดาผู้นำคนสำคัญของพรรคเสรีนิยมพ่ายต่อ Álvaro Uribe อดีตสมาชิกพรรคเสรีนิยมที่ลงสมัครในนามกลุ่มการเมืองอิสระ ขณะที่พรรคอนุรักษนิยมไม่ส่งผู้สมัครลงแข่งขันในปีนั้น รวมทั้งในอีก 4 ปีถัดมา แถมยังสนับสนุน Uribe อยู่ห่างๆ อีกด้วย ส่งผลให้พรรคเสรีนิยมตัดสินใจไม่เข้าร่วมรัฐบาล กล่าวได้ว่ายุคสมัยของการเมืองภายใต้พรรคเสรีนิยมและพรรคอนุรักษนิยมที่มีมานานกว่า 100 ปี ได้สิ้นสุดลงด้วยชัยชนะของ Uribe ทั้งในการเลือกตั้งปี 2002 และปี 2006

ในปี 2006 Uribe ชนะการเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่งด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 62 เมื่อเปรียบเทียบกับ Carlos Gaviria ผู้สมัครจากพรรคการเมืองหน้าใหม่ที่เป็นสายกลางค่อนไปทางซ้ายอย่างพรรค The Polo Democrático Alternativo ที่ได้คะแนนเสียงไปร้อยละ 22 ขณะที่ผู้สมัครจากพรรคเสรีนิยมได้คะแนนเสียงเพียงร้อยละ 12 ชัยชนะของ Uribe ครั้งนั้นเป็นผลมาจากความสำเร็จของเขาในการต่อกรกับกบฏฝ่ายซ้าย ทำให้สถานการณ์ความปลอดภัยภายในประเทศดีขึ้นเป็นอย่างมาก ขณะเดียวกันสภาพเศรษฐกิจก็อยู่ในช่วงขาขึ้น เฉกเช่นเดียวกันกับบทบาทของโคลอมเบียในสายตาชาวโลกที่ก็ดูดีขึ้น

Álvaro Uribe ไม่ได้มีพรรคการเมืองเป็นของเขาเอง แต่เขารณรงค์หาเสียงในการเลือกตั้งประธานาธิบดีทั้งในปี 2002 และ 2006 ด้วยกลุ่มการเมืองอิสระในนาม Primero Colombia (โคลอมเบียต้องเป็นที่หนึ่ง) ซึ่งใช้ตัวเขาเองเป็นสัญลักษณ์[2] ขณะเดียวกันผู้สนับสนุนของเขาบางส่วนก็ได้ก่อตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาใหม่ โดยภายหลังการปฏิรูประบบการเลือกตั้งในปี 2003 ที่ส่งเสริมการก่อตัวของพรรคการเมืองขนาดใหญ่มากกว่ากลุ่มการเมืองที่เคลื่อนไหวเฉพาะกิจในการเลือกตั้งแต่ละครั้งอย่างที่เกิดขึ้นมากในปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1990s (Botero and Rodríguez-Raga, 2008) อดีตสมาชิกของพรรคเสรีนิยมจำนวนหนึ่งได้ก่อตั้งพรรค The Partido Social de Unidad Nacional (พรรคสังคมเพื่อความเป็นเอกภาพของชาติ) หรือที่รู้จักกันในนาม Partido de la U (พรรคเอกภาพ) คอยสนับสนุนการทำงานของประธานาธิบดี Uribe พรรคเอกภาพนี้เป็นที่รวมตัวของนักการเมืองท้องถิ่นชั้นนำร่วมกับนักการเมืองระดับชาติที่เป็นที่ถูกใจของผู้ออกเสียงเลือกตั้งเป็นจำนวนไม่น้อย ถึงแม้ว่า Uribe จะไม่เคยเข้าร่วมกับพรรคเอกภาพอย่างเป็นทางการ แต่พรรคนี้ก็เป็นพรรคใหญ่ที่สุดในบรรดาพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมด

ในปี 2010 หนึ่งในผู้ก่อตั้งคนสำคัญของพรรคเอกภาพและเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในสมัยรัฐบาลของประธานาธิบดี Uribe ที่มีชื่อว่า Juan Manuel Santos ชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดี โดยมีฐานเสียงสนับสนุนจาก Uribe ในขณะที่ตัวแทนจากพรรคอนุรักษนิยมและพรรคเสรีนิยมพ่ายแพ้อย่างราบคาบโดยได้คะแนนเสียงไปเพียงร้อยละ 6.1 และร้อยละ 4.4 ตามลำดับ เป็นการยืนยันถึงความเสื่อมในระบบสองพรรคการเมืองได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม ในกาลต่อมาได้เกิดความขัดแย้งระหว่างประธานาธิบดี Santos และอดีตประธานาธิบดี Uribe ทำให้เสียงสนับสนุนแตกเป็นสองฝ่าย ฝั่งประธานาธิบดี Santos ยังคงรักษาฐานเสียงของเขาในพรรคเอกภาพไว้ได้ แต่ในทางกลับกันเขาต้องหันไปขอความร่วมมือจากพรรคเสรีนิยม ขณะที่อดีตประธานาธิบดี Uribe ได้หันไปก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่ในนาม The Centro Democrátido (พรรคประชาธิปไตยสายกลาง) ซึ่งในการเลือกตั้งประธานาธิบดีและสมาชิกรัฐสภาในปี 2014 พรรคประชาธิปไตยสายกลางได้สมาชิกวุฒิสภามากเป็นลำดับที่ 2 โดยมี Uribe เป็นผู้นำ ขณะเดียวกันในสนามเลือกตั้งประธานาธิบดี พรรคประชาธิปไตยสายกลางได้ส่ง Oscar I. Zuluaga ลงแข่งขันสู้กับ Santos แต่ Zuluaga แพ้ไปอย่างเฉียดฉิว

ในการเลือกตั้งครั้งดังกล่าว ประชาชนยังได้ลงมติสนับสนุนการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลกับกองกำลังฝ่ายซ้าย FARC ที่ได้เริ่มมีการเจรจามาตั้งแต่ปี 2012 โดยประเด็นเรื่องดังกล่าวก่อให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองตลอดคริสต์ทศวรรษที่ 2010s เพราะฝ่ายรัฐบาลของประธานาธิบดี Santos ให้การสนับสนุนการเจรจาสันติภาพ แต่ฝ่ายของอดีตประธานาธิบดี Uribe คัดค้านการเจรจาดังกล่าว เนื่องจาก Uribe เองมองว่ารัฐบาลกำลังอ่อนข้อให้กับ FARC

ในขณะเดียวกัน พรรคการเมืองใหม่ขนาดเล็กจำนวนไม่น้อยให้การสนับสนุน Uribe ไม่ว่าจะเป็นพรรค The Cambio Radical พรรค The Alas-Equipo Colombia และพรรค The Convergencia Ciudadana โดยในเดือนเมษายน 2010 ราว 2 ใน 3 ของนักการเมืองกลุ่มนี้ซึ่งมีอยู่นับร้อยคน ก็ถูกกล่าวหาว่ามีความเกี่ยวข้องกับกองกำลังกึ่งทหารนอกกฎหมายฝ่ายขวา (López, 2010)

สำหรับพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายนั้น ในประวัติศาสตร์มีอยู่หลายพรรคการเมืองที่แข่งขันกัน แต่เมื่อก่อนหน้านี้ไม่นาน พรรคกลุ่มนี้นับว่ามีบทบาทค่อนข้างน้อย

ในอดีตฝ่ายซ้ายส่วนหนึ่งอยู่ภายใต้พรรคเสรีนิยม จากนั้นเมื่อการเมือง The National Front ยุติลง พร้อมๆ กับการเริ่มมีความพยายามในการเจรจาสันติภาพกับกลุ่มกบฏฝ่ายซ้ายในสมัยคริสต์ทศวรรษที่ 1980s จนถึงต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1990s ก็มีความพยายามจัดตั้งพรรคฝ่ายซ้ายเกิดขึ้นหลายพรรค อาทิพรรค The Unión Patriótica (UP) และพรรค The Alianza Democrática M-19 (AD-M19) ซึ่งประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งพอสมควร

พรรค The UP ก่อตั้งในช่วงระหว่างการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลของประธานาธิบดี Belisario Betancur (1982-1986) กับกลุ่มกบฏฝ่ายซ้าย เช่น FARC แต่ไม่นานก็ค่อยๆ สลายตัวไป เนื่องจากสมาชิกพรรคนับร้อยๆ คน รวมทั้งผู้สมัครลงแข่งขันประธานาธิบดีของพรรค ไม่ว่าจะเป็น Jaime Padro Leal ซึ่งลงสมัครในปี 1986 และ Bernardo Jaramillo Ossa ซึ่งลงสมัครในปี 1990 ถูกลอบสังหารในปี 1987 และปี 1990 ตามลำดับ โดยกองกำลังกึ่งทหารนอกกฎหมายฝ่ายขวา รวมทั้งโดยกองทัพของรัฐบาลโคลอมเบียเอง (Romero, 2003) ขณะที่พรรค AD-MD 19 ก่อตั้งขึ้นเมื่อกลุ่มกบฏฝ่ายซ้าย M-19 ประกาศยุติบทบาทลงในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1990s โดยพรรคได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งให้เข้าสู่สภาร่างรัฐธรรมนูญในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 1991 ถึงร้อยละ 27 แต่ต่อมาไม่นาน พรรค AD-MD 19 ก็ได้ยุติบทบาทลงเช่นเดียวกัน

ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2002 กลุ่มฝ่ายซ้ายสนับสนุน Eduardo Garzón จากกลุ่มการเมือง The Frente Social y Político (กลุ่มแนวหน้าทางสังคมและการเมือง) ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี โดยเขาได้คะแนนเสียงมาเป็นลำดับที่ 3 ที่ร้อยละ 6 ต่อมากลุ่มฝ่ายซ้ายก็ได้ส่ง Garzón ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีกรุงโบโกตา[3] ในปี 2003 ซึ่งเขาได้รับชัยชนะ จากนั้นต่อมาได้มีการจัดตั้งพรรคการเมือง The Polo Democrático Alternativo (PDA) ซึ่งกลายเป็นพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายที่สำคัญในการต่อต้านรัฐบาลของ Álvaro Uribe และได้คะแนนเสียงถึงร้อยละ 22 ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2006 ซึ่งถือว่าสูงเป็นประวัติการณ์ของการเมืองโคลอมเบีย ต่อมาในปี 2007 ตัวแทนของพรรค PDA ก็ยังได้รับเลือกเป็นนายกเทศมนตรีกรุงโบโกตาอีกครั้งหนึ่ง ทว่าในเวลาต่อมา ชื่อเสียงของพรรค PDA ค่อยๆ ถดถอยลง อันเนื่องมาจากปัญหาคอร์รัปชัน และหายไปจากหน้าการเมืองของโคลอมเบียในที่สุด

แต่อีกไม่นานก็มีการจัดตั้งพรรคฝ่ายซ้ายขึ้นมาใหม่ในนามพรรค The Progresistas (พรรคก้าวหน้า) ซึ่งเลือก Gustravo Petro อดีตวุฒิสมาชิกจากพรรค PDA และอดีตนายกเทศมนตรีกรุงโบโกตาระหว่างปี 2011-2015 ลงแข่งขันในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2018 โดยการที่ Petro ไม่ลงสมัครในนามพรรคที่เขาสังกัดเดิมอย่าง PDA แสดงให้เห็นถึงความแตกแยกในบรรดาพรรคฝ่ายซ้ายด้วยกันเอง

อย่างไรก็ตามชัยชนะของ Gustravo Petro ตัวแทนของกลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายในการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่เพิ่งเกิดขึ้นในปีนี้ เท่ากับเป็นการตอกย้ำว่า ยังอีกนานกว่าที่โคลอมเบียจะมีระบบพรรคการเมืองที่กลับสู่ความเป็นสถาบันทางการเมืองแบบสองพรรคอีกครั้งหนึ่ง


เอกสารอ้างอิง

Archila, Mauricio. (1991). Cultura e identidad obrera: Colombia 1910-1945. Bogotá: Cinep.

Botero, Felipe and Juan Carlos Rodríguez-Raga. (2008). Grande no es sinónimo de fuerte: Los partidos y la reforma política. Bogotá: PNUD/IDEA.

Chaowarit Chaowsangrat. (2014). De señor de las drogas a estrella naciente: Colombia en 2014. In Eric Tremolada Álvarez (Ed.), Colombia en el sistema internacional: su proyección en Asia (pp. 307-27). Bogotá: Universidad Externando de Colombia.

Dargent, Eduardo, and Paula Muñoz. (2011). Democracy against Parties? Party System Deinstitutionalization in Colombia. Journal of Politics in Latin America, 3(2). 43-71.

Delpar, Helen. (1981). Red against Blue: The Liberal Party in Colombian Politics, 1863-1899. Tuscaloosa, AL: University of Alabama Press.

Dugas, John C. (2000). The Conservative Party and the Crisis of Political Legitimacy in Colombia. In Kevin J Middlebrook (Ed.), Conservative Parties, the Right and Democracy in Latin America (pp. 81-109). Baltimore, MD: Johns Hopkins University Press.

Gutiérrez, Francisco. (2007). ¿Lo que el viento se llevó?: Los partidos políticos y la democracia en Colombia 1958-2002. Bogotá: Grupo Editorial Norma.

Hartlyn, Jonathan. (1988). The Politics of Coalition Rule in Colombia. Cambridge and New York: Cambridge University Press.

Latorre, Mario. (1974). Elecciones y partidos políticos en Colombia. Bogotá: Universidad de Los Andes, Departamento de Ciencia Política.

Leal Buitrago, Francisco, and Andrés Dávila. (1990). Clientelismo: el sistema político y su expresión regional. Bogotá: Instituto de Estudios Políticos y Relaciones Internacionales.

López, Claudia. (2010). ‘La refundación de la patria’, de la teoría a la evidencia. In Claudia López (Ed.), Y refundaron la patria … De cómo mafiosos y políticos reconfiguraron el estado colombiano (pp. 29-79). Bogotá: Corporación Nuevo Arco Iris.  

Lupu, Noam. (2016). Party Brands in Crisis: Partisanship, Brand Dilution, and the Breakdown of Political Parties in Latin America. New York: Cambridge University Press.

Pizarro Leongómez, Eduardo. (2006). Giants with Feet of Clay: Political Parties in Colombia. In Scott Mainwaring, Ana María Bejarano, and Eduardo Pizarro Leongómez (Eds.), The Crisis of Democratic Representation in the Andes (pp. 78-99). Stanford, CA: Stanford University Press.

Posada-Carbó, Eduardo. (1997). Limits of Power: Elections under the Conservative Hegemony in Colombia, 1886-1930. The Hispanic American Historical Review, 77(2). 245-79.

Roberts, Kenneth. (2014). Changing Course in Latin America: Party Systems in the Neoliberal Era. New York: Cambridge University Press.

Roll, David. (2002). Rojo difuso y azul pálido. Los partidos tradicionales en Colombia: entre el debilitamiento y la persistencia. Bogotá: Universidad Nacional de Colombia, Facultad de Derecho, Ciencias Políticas y Sociales.

Romero, Mauricio. (2003). Paramilitares y autodefensas. Bogotá: Instituto de Estudios Políticos y Relaciones Internacionales.

References
1 ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 มีช่วงระยะเวลาสั้นๆ ที่เปิดโอกาสให้ผู้ชายทุกคนมีสิทธิการเลือกตั้ง ส่วนสิทธิการเลือกตั้งของผู้หญิงเพิ่งเริ่มใช้ในปี 1957 ซึ่งถือว่าค่อนข้างช้าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ
2 Primero Colombia ถูกก่อตั้งขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์หลักเพียงอย่างเดียว คือการสนับสนุน Uribe ในการเลือกตั้งประธานาธิบดี โดยไม่มีการส่งผู้แทนคนอื่นๆ ลงชิงชัยในตำแหน่งทางการเมือง กลุ่มนี้ก่อตัวขึ้นในช่วงเวลาหาเสียงเท่านั้นก่อนที่จะสลายตัวไป
3 การเลือกตั้งนายกเทศมนตรีกรุงโบโกตามีความสำคัญมาก เป็นรองก็แต่เพียงการเลือกตั้งประธานาธิบดีเท่านั้น

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save