fbpx

จาก ‘ฟ้าทะลายโจร’ ถึง ‘Memoria’ : สองทศวรรษเส้นทางหนังพันธุ์ไทยในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ 2001-2021

ในห้วงเวลาที่โรงหนังหลายแห่งในประเทศไทยจำต้องปิดให้บริการด้วยการแพร่กระจายลุกลามของโรคระบาด ช่วงดึกของคืนวันเสาร์ที่ 17 ล่วงเข้าวันที่ 18 กรกฎาคม 2564 ตามเวลาประเทศไทย คอหนังบ้านเราก็ได้รับข่าวดี เมื่อผลงานภาพยนตร์เรื่องล่าสุด Memoria ของผู้กำกับไทย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ซึ่งได้เข้าร่วมฉายในสายประกวดของเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ สามารถคว้ารางวัล Jury Prize หรือ ‘รางวัลขวัญใจคณะกรรมการ’ กลับบ้านมาได้ หลังจากที่ตัวหนังได้รับเสียงชื่นชมจากสื่อต่างๆ อย่างล้นหลามถึงขั้นกะเก็งว่าน่าจะคว้ารางวัลใหญ่อย่างรางวัลปาล์มทองคำไปอีกครั้ง

แม้ว่าโดยสัดส่วนงานสร้างรวมถึงสถานที่ถ่ายทำด้วยแล้ว Memoria อาจมองได้ว่าเป็นหนังจากประเทศโคลอมเบีย เนื่องจากผู้กำกับได้ยกกองไปถ่ายทำถึงเมืองโบโกตา โดยให้เนื้อหาเรื่องราวเกิดขึ้นที่นั่น มีนักแสดงหญิงชาวอังกฤษ Tilda Swinton และนักแสดงหญิงฝรั่งเศส Jeanne Balibar ร่วมรับบทนำ ใช้ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาสเปนเป็นภาษาหลักของหนัง แต่หากจะมองว่าผู้เป็น ‘เจ้าของ’ ผลงานภาพยนตร์ในเชิงศิลปะคือผู้กำกับที่ต้องรับผิดชอบในทุกๆ การตัดสินใจและควบคุมงานสร้างทั้งหลายให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ส่วนตัว Memoria ก็ย่อมได้ชื่อว่าเป็นหนัง ‘พันธุ์ไทย’ อันเป็นผลจากการสร้างสรรค์ของผู้กำกับศิลปินชาวไทยและน่าจะยังคงเข้านิยามของการเป็น ‘หนังไทย’ ที่บังเอิญได้ไปถ่ายทำและใช้ภาษาต่างประเทศที่ไม่ใช่ภาษาไทยเท่านั้นและอย่างน้อยๆ ก็ยังมีบริษัทผู้สร้างที่เป็นของคนไทย นั่นคือ Kick the Machine และ 185 Films ร่วมเป็นผู้ผลิตผลงานด้วย

ในวาระอันดีที่ Memoria ของอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ร่วมประกวดและคว้ารางวัล Jury Prize จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ที่เลื่อนมาจัดในเดือนกรกฎาคมของปีนี้ ก็ขอถือโอกาสย้อนทวนเส้นทางของ ‘หนังไทย’ และ ‘หนังพันธุ์ไทย’ ว่าที่ผ่านมาเคยมีเรื่องใดร่วมฉายในปีไหน สายอะไร และเคยคว้ารางวัลใดกันมาบ้าง นับตั้งแต่หนังไทยแท้เรื่อง ‘ฟ้าทะลายโจร’ ที่สร้างประวัติศาสตร์เป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ได้รับเชิญให้ร่วมฉายในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์อย่างเป็นทางการเมื่อ ค.ศ. 2001 จนกระทั่งครบรอบยี่สิบปีพอดีกับความสำเร็จของ Memoria ในปีนี้

ค.ศ. 2001

พ.ศ. 2544 ต้องได้รับการจารึกในหน้าประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย เมื่อ ‘ฟ้าทะลายโจร’ (Tears of the Black Tiger) ของผู้กำกับ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ซึ่งออกฉายในประเทศไทยตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2543 ได้รับเกียรติจากเทศกาลภาพยนตร์ระดับโลกอย่างเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ เชิญให้ร่วมฉายอย่างเป็นทางการในสาย Un Certain Regard จนกลายเป็นหนังไทยเรื่องแรกที่ได้รับคัดเลือกให้ร่วมฉายในเทศกาลแห่งนี้

แต่หนังไทย green curry western สีลูกกวาดบาดตาที่ว่าด้วยความรักสามเส้าระหว่างหนุ่มเสือดำ หญิงสูงศักดิ์ และนายตำรวจ เรื่องนี้ก็เกือบจะไม่ได้ฉายที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ เนื่องจากทางเทศกาลกำหนดกติกาไว้อย่างชัดเจนว่าหนังที่จะร่วมฉายสามารถเผยแพร่ได้เฉพาะในประเทศบ้านเกิดเท่านั้นและจะต้องไป international premiere หรือ world premiere ที่เทศกาล

แต่หลังจากที่ ฟ้าทะลายโจร ออกฉายในประเทศไทยในเดือนกันยายน พ.ศ. 2543 และไม่ประสบความสำเร็จเชิงรายได้สักเท่าไหร่ โชคดีที่ Tony Rayns โปรแกรมเมอร์ของเทศกาล Vancouver International Film Festival มีโอกาสได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ที่กรุงเทพฯ และชื่นชอบตัวหนังมาก ถึงขั้นที่เชิญให้ไปร่วมฉายในเทศกาล Vancouver ในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน จนคุณวิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง มีโอกาสได้เข้าชิงและสุดท้ายก็คว้ารางวัล Dragons and Tigers Award สำหรับผู้กำกับหนังยาวเรื่องแรกของเทศกาลมาได้ โดยเอาชนะ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ที่มีภาพยนตร์เรื่อง ‘ดอกฟ้าในมือมาร’ ร่วมฉายด้วยเช่นกัน  

แต่ที่น่ายินดีกว่านั้นคือ โปรแกรมเมอร์ของเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ท่านหนึ่ง มีโอกาสได้ชมฟ้าทะลายโจร ที่ Vancouver International Film Festival แล้วชื่นชอบมากๆ และสนใจนำหนังไปฉายที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ในปีต่อไป แต่ติดเงื่อนไขว่าหนังได้ฉาย international premiere ที่เทศกาลนอกประเทศบ้านเกิดมาแล้ว โปรแกรมเมอร์ท่านนั้นจึงต้องกลับไปเจรจากับทางคณะผู้จัดงานและคัดเลือกหนังเพื่อให้ฟ้าทะลายโจรสามารถเข้าร่วมฉาย กระทั่งสุดท้ายหนังก็ได้รับเชิญให้เข้าร่วมฉายในสาย Un Certain Regard ซึ่งเป็นการประกวดสายรอง ณ โรง Debussy และได้ออกฉายรอบปฐมทัศน์ในวันที่ 11 พฤษภาคม ค.ศ. 2001 ซึ่งถือเป็นค่ำคืนแรกที่ภาพยนตร์ไทยได้ขึ้นจอฉายในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์อย่างเป็นทางการ โดยมีเงื่อนไขว่าก่อนหน้านั้นผู้กำกับอย่าง วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง จะต้องไม่ส่งหนังเรื่องนี้ไปฉายที่เทศกาลแห่งไหนอีก

การร่วมฉายในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ครั้งนั้นทำให้ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ได้ร่วมชิงรางวัลถึงสองรางวัลด้วยกันนั่นคือ รางวัล Un Certain Regard Award สำหรับหนังยอดเยี่ยมประจำสาย และรางวัลกล้องทองคำ หรือ Camera d’or สำหรับผู้กำกับหนังขนาดยาวเรื่องแรก แต่สุดท้ายก็ต้องพ่ายให้หนังฝรั่งเศสเรื่อง Amour d’enfance ของผู้กำกับ Yves Caumon และหนังเอสกิโมเรื่อง Atanarjuat: The Fast Runner ของผู้กำกับ Zacharias Kunuk ตามลำดับ

ภาพยนตร์เรื่อง ฟ้าทะลายโจร เป็นผลงานการผลิตร่วมกันของ Film Bangkok และ Five Star Production โดยไม่มีทุนจากต่างชาติจึงนับได้ว่าเป็น ‘หนังไทย’ เต็มตัวร้อยเปอร์เซ็นต์ที่ได้ไปอวดโฉมถึงเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์

ค.ศ. 2002

ผ่านไปเพียงหนึ่งปี วงการหนังไทยก็ได้ตื่นเต้นยินดีกันอีกครั้ง เมื่อผลงานภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องที่สองของ อภิชาติพงศ์  วีระเศรษฐกุล อย่าง ‘สุดเสน่หา’ (Blissfully Yours) ได้รับเชิญจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ให้ร่วมฉายและประกวดในสาย Un Certain Regard อย่างต่อเนื่องจาก ‘ฟ้าทะลายโจร’ โดยผู้กำกับ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ส่งหนังเรื่องนี้ให้ทางเทศกาลพิจารณาผ่านทางเพื่อน ขณะกำลังได้รับทุนทำงานศิลปะอยู่ที่ฝรั่งเศสจนได้รับคัดเลือก

หนังอำนวยการสร้างโดย Kick the Machine, Anna Sanders Films และละอองดาว พร้อมทั้งได้ฉายรอบปฐมทัศน์ที่โรง Debussy เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม ค.ศ. 2002  และในที่สุด หนังรักกึ่ง Sci-Fi ระหว่างสาวไทยกับหนุ่มพม่าท่ามกลางบรรยากาศป่าเขาอันเป็นธรรมชาติเรื่องนี้ก็สามารถเอาชนะคู่แข่งอีก 21 เรื่อง ก่อนจะคว้ารางวัล Un Certain Regard Award มาครองได้ ถือเป็นรางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์รางวัลแรกสำหรับวงการหนังไทยเลยทีเดียว โดยหนังได้ออกฉายในประเทศไทยช่วงเดือนสิงหาคมของปีเดียวกัน แต่ถูกตัดฉากร่วมเพศและฉากที่เห็นอวัยวะเพศอย่างชัดเจนออก

นอกเหนือจาก อภิชาติพงศ์  วีระเศรษฐกุล และ ‘สุดเสน่หา’ แล้ว ผู้กำกับ เป็นเอก รัตนเรือง ก็มีผลงานร่วมฉายในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์เป็นเรื่องแรกในปีนั้นด้วย นั่นก็คือเรื่อง ‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’ (Monrak Transistor) ผลิตโดย Cinemasia แต่เป็นการร่วมฉายในสายที่ไม่เป็นทางการคือ Directors’ Fortnight จัดโดยสมาพันธ์ผู้กำกับฝรั่งเศส คู่ขนานไปกับเทศกาลหลักแบบไม่มีการประกวดตั้งแต่ปี ค.ศ. 1969 โดยหนังรัก musical comedy บ้านทุ่งที่ดัดแปลงมาจากนวนิยายชื่อเดียวกัน (2524) ของ วัฒน์ วรรลยางกูร ก็ถือได้ว่าเป็นหนังไทยเรื่องแรกที่ได้ร่วมฉายในสายนี้ และฉายรอบปฐมทัศน์ไปเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม ค.ศ. 2002 หลังจากที่ได้ออกฉายในประเทศไทยไปแล้วตั้งแต่เดือนธันวาคมปี พ.ศ. 2544 (ค.ศ. 2001)

ค.ศ. 2004

เว้นว่างไปเพียงหนึ่งปี ภาพยนตร์ไทยจากฝีมือของผู้กำกับไทยก็ได้หวนกลับมายังเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์อีกครั้ง กับผลงานเรื่องใหม่ของ อภิชาติพงศ์  วีระเศรษฐกุล ‘สัตว์ประหลาด!’ (Tropical Malady) ซึ่งอำนวยการสร้างโดย Kick the Machine, Anna Sanders Film และ TIFA  โดยคราวนี้หนังได้รับเชิญให้เข้าร่วมฉายในสายที่สำคัญที่สุดในเทศกาล นั่นคือสายประกวดหลักเพื่อชิงรางวัลปาล์มทองคำกับหนังนานาชาติเรื่องอื่นๆ ซึ่ง อภิชาติพงศ์  วีระเศรษฐกุล ไม่ได้แค่สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการนำพาหนังไทยเรื่องแรกเข้าสู่สายประกวดของเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์เท่านั้น หากผลงานหนังทดลองเกี่ยวกับความสัมพันธ์สุดประหลาดระหว่างนายทหารกับหนุ่มชาวบ้านที่ผูกโยงไปยังเรื่องราวตำนานเสือสมิงเรื่องนี้ ยังคว้ารางวัล Jury Prize หรือรางวัลขวัญใจคณะกรรมการ มาให้กับวงการหนังไทยได้อีกด้วย หลังจากที่เปิดฉายรอบปฐมทัศน์ ณ โรงใหญ่ Grand Théâtre Lumière ไปเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ. 2004 โดยมี Quentin Tarantino ทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการตัดสิน

และหนังที่ได้รับรางวัลปาล์มทองคำไปคือสารคดีอเมริกันเรื่อง Fahrenheit 9/11 ของผู้กำกับ Michael Moore  ความสำเร็จของ สัตว์ประหลาด! จากเวทีคานส์ทำให้ผลงานของ อภิชาติพงศ์  วีระเศรษฐกุล เริ่มเป็นที่สนใจในวงกว้างมากขึ้น และได้ออกฉายแบบจำกัดโรงในประเทศไทยเมื่อเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน แม้ว่าก่อนหน้านี้ผลงานของเขามักจะจัดฉายในงานจัดฉายภาพยนตร์นอกกระแสมาตลอด นับเป็นการสร้างความตื่นตัวต่อวงการภาพยนตร์ศิลปะแห่งประเทศไทย อย่างที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อนเลยทีเดียว

ค.ศ. 2006

เว้นว่างไปอีกหนึ่งปี เหล่าผู้กำกับไทยและหนังพันธุ์ไทยก็ได้ไปเยือนเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์อีกครั้งโดยในรอบนี้เป็นการไปเยือนของผู้กำกับไทยถึง 3 คน และหนังไทย 2 เรื่องด้วยกัน

ผลงานชิ้นแรกคือ หนังสั้นนักศึกษาความยาว 17 นาที เรื่อง ‘เกรซแลนด์’ (Graceland) นำแสดงโดย อ้น-สราวุธ มาตรทอง ของนักศึกษาภาพยนตร์หญิงชาวไทย อโนชา สุวิชากรพงศ์ ซึ่งได้ไปร่ำเรียนที่ Columbia University กรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยได้เข้าฉายในสาย Cinéfondation สำหรับหนังนักศึกษาภาพยนตร์ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ค.ศ. 2006 ถึงแม้ว่าหนังจะส่งเข้าฉายที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ในนาม Columbia University แต่ทั้งผู้กำกับ เนื้อหาเรื่องราวเกี่ยวกับค่ำคืนหนึ่งของหนุ่ม partner ในมาดชุดขาวลายเซ็นนักร้องดัง Elvis Presley สถานที่ถ่ายทำ นักแสดง และบทสนทนา ล้วนมีคุณสมบัติของความเป็นไทย เกรซแลนด์จึงน่าจะได้ชื่อว่าเป็น ‘ภาพยนตร์สั้นไทย’ เรื่องแรกที่ได้ร่วมฉายอย่างเป็นทางการในเทศกาลนี้

ในขณะที่สาย Un Certain Regard ของเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ในปีเดียวกัน ก็มีหนังสยองขวัญพันธุ์ไทยจากฝีมือคู่พี่น้องฝาแฝด Oxide และ Danny Pang อย่างเรื่อง ‘ผีอยากกลับมาเกิด’ (Re-cycle) เรื่องราวของนักเขียนหญิงที่ต้องการหาแรงบันดาลใจขนหัวลุกให้กับนวนิยายสะพรึงขวัญเรื่องใหม่ เข้าร่วมประกวดด้วย แม้หนังจะพูดภาษาจีนกลางเป็นหลักแต่ผีอยากกลับมาเกิดก็ถือเป็นงานร่วมทุนสร้างระหว่าง Matching Motion Pictures ของไทย กับบริษัทฮ่องกง และมี เจ-เจตริน วรรธนะสิน เป็นตัวแทนของนักแสดงฝั่งไทย และสามารถเรียกได้ว่าเป็นหนัง ‘ลูกครึ่งไทย’ ต่อให้ผู้กำกับสองพี่น้อง Oxide และ Danny Pang จะยังถือสัญชาติฮ่องกงเต็มตัวก็ตาม

หนังฉายรอบปฐมทัศน์ที่โรง Debussy ไปเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ค.ศ. 2006 ทว่าสุดท้ายก็พ่ายรางวัล Un Certain Regard Award ให้กับหนังจีนเรื่อง Luxury Car ของผู้กำกับ Wang Chao ไป ก่อนที่หนังฉบับพากย์ไทยจะได้เข้าฉายในประเทศไทยช่วงเดือนกันยายนของปีเดียวกัน แม้หนังจะพ่ายแพ้แต่ก็นับได้ว่าเป็นนิมิตหมายอันน่าสนใจว่า เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ไม่ได้คัดเลือกเฉพาะหนังศิลปะเข้าร่วมประกวดในสายต่างๆ เท่านั้น และแม้แต่หนังสยองขวัญเขย่าขวัญที่มีลีลาอันโดดเด่นแปลกใหม่ก็สามารถเข้าร่วมชิงรางวัลได้ไม่แพ้หนังในตระกูลอื่นๆ เลย

ค.ศ. 2007

ถัดมาอีกปี ผู้กำกับชาวไทยก็ได้รับเชิญให้ส่งหนังไปร่วมฉายที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์พร้อมๆ กันถึงสองคนเลยทีเดียว โดยรายแรกคือผู้กำกับ เป็นเอก รัตนเรือง ที่นำผลงานเรื่องใหม่ ‘พลอย’ (Ploy) งานแจ้งเกิดของนักแสดงหญิง สายป่าน-อภิญญา สกุลเจริญสุข ซึ่งต้องมาประกบคู่กับ หมิว-ลลิตา ปัญโญภาส กับบทเด็กสาวลึกลับผู้เข้ามาก่อกวนความสัมพันธ์ระหว่างคู่สามีภรรยา โดยหนังเรื่องนี้ได้ฉายในสาย Directors’ Fortnight เป็นเรื่องที่สองต่อจากมนต์รักทรานซิสเตอร์ และได้ฉายในรอบปฐมทัศน์เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม ค.ศ. 2007 ก่อนจะเข้าฉายในประเทศไทยในเดือนต่อมา

ในขณะที่ผู้กำกับ เอกชัย เอื้อครองธรรม ก็ได้มีผลงานร่วมฉายในสายทางการอย่าง Un Certain Regard เป็นครั้งแรก กับ ‘โรงงานอารมณ์’ (Pleasure Factory) หนังสัญชาติสิงคโปร์ ที่เล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ของหลากหลายตัวละครยามค่ำคืนในย่านโคมแดงของสิงคโปร์ และได้นักแสดงหนุ่ม อนันดา เอเวอร์ริงแฮม มาร่วมแสดงนำ ก่อนจะออกฉายรอบปฐมทัศน์ที่โรง Debussy เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ค.ศ. 2007 และเข้าฉายในประเทศไทยในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน  

แม้หนังเรื่อง ‘โรงงานอารมณ์’ จะมีทุนสร้างหลักจากสิงคโปร์ร่วมด้วยบริษัทจากเนเธอร์แลนด์และฮ่องกงก็ตาม แต่ก็ได้มอบหมายให้ผู้กำกับไทยอย่าง เอกชัย เอื้อครองธรรม ผู้เคยไปทำงานอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์รับหน้าที่เป็นผู้กำกับ ฉะนั้นหากจะพูดกันในเชิงการสร้างสรรค์แล้ว ‘โรงงานอารมณ์’ ก็น่าจะยังถือได้ว่าเป็นผลงานของคนไทย น่าเสียดายที่หนังต้องพ่ายรางวัล Un Certain Regard Award ให้กับหนังโรมาเนียเรื่อง California Dreamin’ (Endless) ของผู้กำกับ Cristian Nemescu ซึ่งเสียชีวิตไปก่อนหน้าที่จะหนังจะตัดต่อเสร็จเมื่อปลายปี ค.ศ. 2006

ค.ศ. 2008

สำหรับปี ค.ศ. 2008 ก็ยังมีหนังลูกผสมไทย-อังกฤษ-ไอร์แลนด์ ได้รับเชิญให้เข้าร่วมฉายในสาย Un Certain Regard อีกเช่นกัน นั่นคือเรื่อง ‘ซอยคาวบอย’ (Soi Cowboy) ของผู้กำกับ Thomas Clay ซึ่งถึงแม้ว่าเขาจะมีสัญชาติเป็นชาวอังกฤษ แต่เนื้อหา เหตุการณ์ นักแสดงนำ ตลอดจนภาษาหลักที่ใช้ในเรื่องก็ยังมีความเป็นไทยจนสามารถเรียกได้ว่าเป็น ‘หนังไทยในมุมมองฝรั่ง’ ที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่ง

นอกจากนี้บริษัทผู้สร้างหลัก De Warrenne Pictures ก็เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทย โดยหนุ่มลูกครึ่งสัญชาติไทย Tom Waller ในทางเทคนิคแล้วซอยคาวบอยจึงน่าจะยังสามารถนับได้ว่าเป็น ‘หนังไทย’ แม้จะไม่ได้กำกับโดยผู้กำกับชาวไทย และตัวหนังจะมีกลิ่นอายความเป็น ‘ยุโรป’ ที่ชัดเจนเพียงไหนก็ตาม

หนังแบ่งออกเป็นภาคขาวดำและภาคสี เล่าเรื่องราวที่เชื่อมต่อกันบางๆ ระหว่างสาวไทยที่ยอมตกเป็นภรรยาฝรั่งร่างใหญ่เพราะหวังรายได้ กับน้องชายของหญิงสาวคนดังกล่าวที่กำลังเดินทางเข้าสู่โลกแห่งอาชญากรรม กำกับด้วยจริตแห่งหนังศิลปะที่สะท้อนภาพชีวิตคนไทยในมุมที่แปลกต่างออกไป แต่สุดท้ายหนังก็ยังโดดเด่นได้ไม่เท่าผลงานจากคาซัคสถานเรื่อง Tulpan ของผู้กำกับ Sergei Dvortsevoy ซึ่งคว้ารางวัล Un Certain Regard Award ในปีนั้นไป

ซอยคาวบอย ออกฉายรอบปฐมทัศน์ที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ณ โรง Debussy เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม ค.ศ. 2008 ก่อนจะเข้าฉายแบบจำกัดโรงในประเทศไทยในเดือนมกราคมปีต่อมา โดยถูกคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์สั่งให้ตัดทอนฉากที่เห็นอวัยวะเพศชาย และฉากการยืนแสดงความเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์ออกไป

ค.ศ. 2009

ปี ค.ศ. 2009 น่าจะต้องถือเป็นปีทองของผู้กำกับ เป็นเอก  รัตนเรือง เพราะหลังจากที่เขามีหนังร่วมฉายในสายไม่เป็นทางการ Directors’ Fortnight มาแล้วสองเรื่อง ในปีนี้เขาก็ได้รับเชิญอย่างเป็นทางการจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์เสียที กับผลงานหนังไทยเรื่อง ‘นางไม้’ (Nymph) ซึ่งเป็นการร่วมสร้างระหว่าง Five Star Production และ Fortissimo Films โดยได้ร่วมฉายในสาย Un Certain Regard            

หนังเล่าเรื่องราวชีวิตของ ‘หญิงสาว’ ที่ถูกสามีนอกใจและแอบไปมีความสัมพันธ์กับนางไม้ โดยตัวหนังเลือกฉากเปิดเรื่องด้วยการเคลื่อนกล้องวนไปในป่าอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 5 นาทีโดยไม่มีการตัด นำภาพบรรยากาศของป่าเขตร้อนเมืองไทยสู่สายตานักดูหนังต่างชาติได้อย่างโดดเด่น

หนังเปิดฉายรอบปฐมทัศน์ที่โรง Debussy เช่นเดียวกับหนังในสาย Un Certain Regard เรื่องอื่นๆ เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ค.ศ. 2009 โดยนักแสดงนำอย่าง กิ๊บซี่-วนิดา เติมธนาภรณ์ และ ปีเตอร์-นพชัย ชัยนาม ก็ได้ร่วมเดินทางไปยังเทศกาลฯ พร้อมผู้กำกับด้วย ทว่าหนังก็พ่ายรางวัล Un Certain Regard Award ให้กับหนังสุดเหวอจากประเทศกรีซเรื่อง Dogtooth ของผู้กำกับ Yorgos Lanthimos ไป และได้เข้าฉายในประเทศไทยในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน โดยผู้กำกับ เป็นเอก รัตนเรือง ก็ได้เปิดฉายหนังพร้อมๆ กันสองฉบับ นั่นคือฉบับ Cannes version ที่ฉาย ณ เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ความยาว 109 นาที แบบจำกัดโรง และฉบับตัดต่อและใส่ดนตรีประกอบใหม่ให้เรื่องราวกระชับและน่าติดตามมากขึ้นที่ความยาว 95 นาที ออกฉายทั่วประเทศ โดยผู้กำกับก็ได้แจ้งความจำนงด้วยตัวเองว่าพอใจและอยากให้คนดูได้ดูฉบับที่ตัดต่อใหม่นี้มากกว่า

ค.ศ. 2010

ในช่วงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2553 เป็นช่วงเวลาที่ความรุนแรงจากการสลายการชุมนุมทางการเมืองที่แยกราชประสงค์ปะทุขึ้นจนเกิดความสูญเสียอันใหญ่หลวง เกิดกรณีการเผาบ้านเผาเมืองจนเป็นเหตุอันชวนสลดใจของคนทั้งประเทศ ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เองที่อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล มีผลงานเรื่องใหม่คือ ‘ลุงบุญมีระลึกชาติ’ (Uncle Boonmee Who Can Recall His Past Lives) ได้รับเชิญเข้าร่วมฉายในสายประกวดหลักที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ประจำปี ค.ศ. 2010  ซึ่งอภิชาติพงศ์เองก็ต้องทำเรื่องหนังสือเดินทางและวีซ่าต่างๆ ด้วยความทุลักทุเลเนื่องจากสถานการณ์อันวุ่นวายในประเทศไทย แต่สุดท้ายทางเทศกาลก็จัดการให้เขาสามารถเดินทางไปร่วมงานได้อย่างทันเวลา

แน่นอนว่าบรรยากาศการเข้าร่วมประกวดของ ลุงบุญมีระลึกชาติ ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ปีนั้น คงไม่ได้ชื่นมื่นรื่นรมย์อย่างที่ควรเป็น จากข่าวอันน่าใจหายของประเทศไทยซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นรายวัน ทว่าในที่สุด ลุงบุญมีระลึกชาติ ก็ได้ฉายรอบปฐมทัศน์ไปเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม ค.ศ. 2010 ณ โรงใหญ่ Grand Théâtre Lumière ตามมาด้วยเสียงแซ่ซ้องชื่นชมจากสื่อและนักวิจารณ์อย่างหนาหู และในที่สุด Tim Burton ประธานคณะกรรมการตัดสินในปีนั้นก็ขานชื่อให้ Uncle Boonmee Who Can Recall His Past Lives ได้รับรางวัลใหญ่ปาล์มทองคำ พร้อมๆ กับเสียงแห่งความปลาบปลื้มยินดีของคนในวงการภาพยนตร์ไทยที่ความฝันอันยิ่งใหญ่ในการได้เห็น ‘หนังไทย’ ได้รับรางวัลปาล์มทองคำก็สำเร็จและเป็นจริงแล้วในวันนี้

ลุงบุญมีระลึกชาติ จึงกลายเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการภาพยนตร์ไทย เป็นข่าวดีท่ามกลางข่าวร้ายของเหตุการณ์บ้านเมือง ซึ่งแม้ว่าตัวหนังจะเป็นการร่วมทุนสร้างจากหลายๆ ประเทศ แต่ก็ยังต้องถือว่าเป็นหนังไทย โดยผู้กำกับไทย เล่าเรื่องราวในประเทศไทย ใช้นักแสดงไทย และพูดด้วยภาษาไทยอีสานอันเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งสามารถนับเป็นสมบัติอันล้ำค่าแห่งวงการภาพยนตร์ไทยได้อย่างแท้จริง ต่อมา ลุงบุญมีระลึกชาติ ก็ได้เข้าฉายแบบจำกัดโรงในประเทศไทยในเดือนมิถุนายนปีเดียวกันหลังคว้ารางวัลปาล์มทองคำเพียงไม่นาน

ค.ศ. 2012

ตั้งแต่เริ่มทำงานภาพยนตร์ขนาดยาวมา อภิชาติพงศ์  วีระเศรษฐกุล เป็นศิลปินที่ขยันสร้างผลงานทั้งการจัดแสดงงานศิลปะ video art installation ภาพยนตร์ขนาดสั้นและขนาดกลาง อวดผลงาน ณ พิพิธภัณฑ์ แกลเลอรี สถาบันศิลปะ และสถานที่จัดแสดงต่างๆ ไปทั่วโลก ผลงานภาพยนตร์ขนาดกลางความยาวเพียง 61 นาที เรื่อง ‘แม่โขงโฮเต็ล’ (Mekong Hotel) ก็นับเป็นส่วนหนึ่งของโครงการศิลปะที่ชื่อ Mekong Project และยังได้รับเชิญให้ร่วมฉายในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ในสายฉายโชว์ Special Screening สำหรับหนังเล็กๆ ที่มีความเป็นส่วนตัว ณ โรงภาพยนตร์ Salle du Soixantième โดยได้ฉายรอบปฐมทัศน์ไปเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ. 2012  

หนังทดลองความยาวกะทัดรัดเล่าเรื่องราวเบื้องหลังการถ่ายทำภาพยนตร์สยองขวัญเกี่ยวกับตำนานผีปอบ ณ ริมแม่น้ำโขงเรื่องนี้ สะท้อนมุมการทำหนังที่ออกจะเอกเขนก สบายๆ ในแบบฉบับของอภิชาติพงศ์ ซึ่งออกจะแตกต่างจากผลงานภาพยนตร์ขนาดยาวของเขาอยู่พอสมควร และดูจะเหมาะเหลือเกินที่จะได้ร่วมฉายในสายนี้ ที่เหมือนจะเป็นพื้นที่ให้หนังสเกลเล็กๆ ง่ายๆ ที่ไม่น่าจะไปประกวดประชันอะไรกับใคร ณ ห้องฉายขนาดย่อมแห่งนี้

ค.ศ. 2015

หลายคนอาจสงสัยว่าเหตุใดผลงานภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องใหม่ของผู้กำกับที่เคยคว้ารางวัลปาล์มทองคำอย่าง อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล อย่าง รักที่ขอนแก่น’ (Cemetery of Splendour) จึงได้กลับมาฉายที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ในสายการประกวดรองอย่าง Un Certain Regard แทนที่จะเป็นสายประกวดหลักในปี ค.ศ. 2015

แต่สำหรับอภิชาติพงศ์กลับมองว่า เขายินดีเสียมากกว่าที่ รักที่ขอนแก่น ได้รับเชิญให้ร่วมประกวดในสายรองนี้ เพราะเป็นที่รู้กันว่าหนังในสาย Un Certain Regard มักเป็นงานของผู้กำกับหน้าใหม่ มือใหม่ ที่มีความสดใหม่เฉพาะตัว และอาจไม่ได้เป็นงานที่ยิ่งใหญ่ถึงขั้นได้ร่วมในสายประกวดหลัก ‘รักที่ขอนแก่น’ ในสาย Un Certain Regard จึงเป็นการยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ยังมีความ ‘สดใหม่’ ในการทำหนังอยู่ จนทำให้ผลงานของเขามีโอกาสได้เข้าฉายในหลายๆ สายของเทศกาลนี้

รักที่ขอนแก่น ฉายรอบปฐมทัศน์ ณ โรง Debussy เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ. 2015 โดยหนังเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ โรงพยาบาลประหลาดในเมืองชนบทของขอนแก่นที่ดัดแปลงมาจากโรงเรียนระดับประถมศึกษา ใช้แสงไฟมาคอยรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคหลับเรื้อรัง แต่รายละเอียดต่างๆ ที่ซุกซ่อนไว้กลับมีบริบทที่อิงโยงไปกับสถานการณ์บ้านเมืองในประเทศไทยเอาไว้มากมาย จนเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่าเนื้อหาเชิงลึกของหนังอาจไม่มีความเป็นสากลที่จะเข้าถึงคนดูต่างชาติได้ง่าย

ซึ่งก็น่าเสียดายที่อภิชาติพงศ์ตัดสินใจไม่นำภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉายอย่างเป็นทางการในประเทศไทย และได้จัดฉายแบบเฉพาะกิจที่หอภาพยนตร์แห่งชาติเท่านั้น แม้ว่าเนื้อหาจะดูเหมือนมาสร้างให้คนไทยได้ดูกันอย่างชัดเจนเพียงไรก็ตาม โดยในปีนั้น งานที่ได้รับรางวัล Un Certain Regard Award ไปก็คือหนังจากไอซ์แลนด์เรื่อง Rams ของผู้กำกับ Grimur Hakonarson

ค.ศ. 2016

ลำพังเพียงข่าวใหญ่ว่าภาพยนตร์ไทยในตำนานที่ฟิล์มหนังเคยหายสาบสูญไปกว่า 60 ปี จนไม่มีคนรุ่นหลังได้ดูอย่าง ‘สันติ-วีณา’ (Santi-Vina) ของผู้กำกับ ‘มารุต’ ซึ่งออกฉายครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1954 มีการค้นพบฟิล์มทั้งฉบับ positive ฉบับ negative และฟิล์มเสียงที่ประเทศอังกฤษ รัสเซีย และจีน ในเวลาไล่เลี่ยกัน จนหอภาพยนตร์ประเทศไทย สามารถจัดการบูรณะหนังเป็นฉบับ digitalised ให้ภาพและเสียงสมบูรณ์คมชัด ก็นับเป็นปรากฏการณ์อันน่ายินดีอย่างที่สุดแล้วสำหรับวงการหนังไทย ยิ่งเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์แสดงความสนใจนำภาพยนตร์ไทยในตำนานเรื่อง สันติ-วีณา ฉบับบูรณะใหม่นี้เข้าร่วมฉายในเทศกาลสาย Cannes Classics ก็ยิ่งเป็นเรื่องน่ายินดีทวีคูณเข้าไปใหญ่ เพราะวงการหนังบ้านเราจะได้มีทำเนียบหนังไทยในเทศกาลระดับโลกอย่างคานส์กันอีกหนึ่งเรื่อง รวมทั้งได้ร่วมฉายในสาย Cannes Classics สายนี้กันเป็นเรื่องแรก

หลังจากที่หอภาพยนตร์แห่งชาติได้มอบหมายให้บริษัท L’Immagine Ritrovata จากอิตาลีบูรณะภาพยนตร์เรื่องนี้จากวัสดุข้อมูลที่หาได้อย่างประณีตพิถีพิถัน สันติ-วีณา ซึ่งเล่าเนื้อหาความรักอันมีอุปสรรคของคู่รักหญิงชายในถิ่นไทยชนบท ก็ได้ร่วมฉายในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ค.ศ. 2016 ณ โรง Salle Bazin โดยมีคุณออกัส เปสตันยี ทายาทของคุณรัตน์ เปสตันยี ผู้อำนวยการสร้างและถ่ายภาพภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าร่วมงานด้วย โดยหลังจากฉายที่คานส์แล้ว สันติ-วีณา ฉบับบูรณะใหม่นี้ก็ได้ออกฉายเชิงพาณิชย์แบบจำกัดโรงให้คอหนังชาวไทยได้ชมกันในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน ซึ่งก็ได้รับความสนใจในระดับคึกคักพอสมควร

ค.ศ. 2018

ว่างเว้นไปหลายปี ในที่สุดผู้กำกับชาวไทยก็ยกทัพไปบุกเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์กันอีกครั้งใน ค.ศ. 2018 กับภาพยนตร์ชุดสามัคคี omnibus เรื่อง Ten Years Thailand ที่มอบหมายให้ผู้กำกับไทยจำนวน 5 ราย สร้างภาพยนตร์สั้นด้วยการจินตนาการ ‘ประเทศไทย’ ในอีกสิบปีข้างหน้าว่าจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร ตามรอยภาพยนตร์ชุดเรื่อง Ten Years (2015) ของฮ่องกง ซึ่งผู้กำกับไทยทั้ง 5 รายก็ประกอบด้วย อาทิตย์ อัสสรัตน์ กับตอน Sunset  วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง กับตอน Catopia  จุฬญาณนนท์ ศิริผล กับตอน Planetarium  อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล กับตอน Song of the City และ ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ซึ่งพบปัญหาส่วนตัวจนไม่สามารถทำหนังให้เสร็จทันได้  Ten Years Thailand จึงกลายเป็นหนังสั้นชุดรวมสี่ตอน ซึ่งแต่ละตอนผู้กำกับก็จินตนาการอนาคตของประเทศไทยเอาไว้อย่างวิจิตรพิสดารด้วยไอเดียที่ไม่ซ้ำทางกัน

Ten Years Thailand เป็นการร่วมสร้างระหว่าง 185 Films และ Dark Army Studio ประเทศไทย หนังได้รับเชิญจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ให้ร่วมฉายในสาย Special Screening สายเดียวกับ แม่โขงโฮเต็ล ของอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล และฉายรอบปฐมทัศน์ที่โรง Salle du Soixantième เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ค.ศ. 2018  โดยมีผู้กำกับสามหนุ่ม อาทิตย์ อัสสรัตน์, วิศิษฎ์ ศาสนเที่ยง และ จุฬญาณนนท์ ศิริผล เดินทางไปร่วมงานด้วย และหนังได้เข้าฉายแบบจำกัดโรงในประเทศไทยเมื่อเดือนธันวาคมปีเดียวกัน

ค.ศ. 2020

มาถึง ค.ศ. 2020 ซึ่งเป็นช่วงที่โควิด-19 กำลังระบาดลุกลามไปทั่วโลกพอดี โรงภาพยนตร์จำเป็นต้องปิดให้บริการ เทศกาลภาพยนตร์หลายๆ แห่งต้องแจ้งยกเลิก แจ้งเลื่อน หรือปรับรูปแบบเป็นการฉายเป็นแบบออนไลน์แทน เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ก็เช่นกัน ที่สุดท้ายก็ไม่สามารถจัดงานได้ ภายหลังจากที่เลื่อนวันจัดงานมาแล้วหนึ่งครั้ง ก่อนที่สุดท้ายทางเทศกาลก็ได้ตัดสินใจประกาศรายชื่อหนังที่ผ่านการคัดเลือกในปีนั้น แต่ไม่ได้ฉายเพื่อเป็นการให้เกียรติ โดยเรียกชื่อหนังเหล่านี้ว่า Cannes Label ซึ่งในที่สุดก็มีภาพยนตร์ไทยหนึ่งเรื่องที่ได้ร่วมรับเกียรตินี้ นั่นคือภาพยนตร์อมตะเรื่อง ‘แพรดำ’ (Black Silk) ฉบับบูรณะใหม่ ผลงานการกำกับของ รัตน์ เปสตันยี โดยได้รับการ Label ในสาย Cannes Classics ที่ไม่ได้จัดงานฉายจริงๆ

แพรดำ ของรัตน์ เปสตันยี เป็นหนังเขย่าขวัญ film noir เล่าเรื่องราวของหญิงม่ายชุดดำที่ต้องเข้าไปพัวพันกับคดีฆาตกรรมเอาเงินประกัน ด้วยกลิ่นอายของภาพยนตร์ในแบบ Alfred Hitchcock หนังได้ออกฉายครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1961 โดยได้เข้าร่วมประกวดชิงรางวัลหมีทองคำจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองเบอร์ลินในปีนั้น แต่ต้องพ่ายรางวัลให้กับหนังอิตาเลียนเรื่อง La notte ของ Michaelangelo Antonioni  

แพรดำ ในสาย Cannes Classics จึงเป็นการหวนคืนสู่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติขนาดใหญ่เป็นครั้งที่สอง ซึ่งก็น่าเสียดายเหลือเกินที่หนังไม่ได้มีโอกาสได้ฉายที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์จริงๆ แต่ก็ยังดีที่อย่างน้อยๆ วงการหนังบ้านเราก็มีชื่อของหนังไทยอยู่ในทำเนียบของ Cannes Selection เพิ่มอีกหนึ่งเรื่อง

ค.ศ. 2021

หลังจากที่โควิด-19 ระบาดใหญ่อยู่ 1 ปี เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ก็สามารถหวนกลับมาจัดงานได้อีกครั้ง โดยต้องเลื่อนจากกำหนดเดิมที่จะจัดในเดือนพฤษภาคม มาจัดในเดือนกรกฎาคมแทน ซึ่งเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ในปีล่าสุดนี้ อภิชาติพงศ์  วีระเศรษฐกุล ก็มีผลงานใหม่เข้าร่วมฉายในเทศกาลพร้อมกันถึงสองเรื่อง นั่นคือหนังโคลอมเบียฝีมือคนไทยเรื่อง ‘Memoria’ ในสายประกวดหลักตามที่ได้เกริ่นนำไป และหนังสั้นสามัคคีนานาชาติเรื่อง ‘Year of the Everlasting Storm’ ที่อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ทำตอนที่ชื่อ Chiang Mai: Night Colonies สะท้อนภาพชีวิตบนโลกท่ามกลางสถานการณ์ระบาดโควิด-19 ร่วมกับผู้กำกับนานาชาติท่านอื่นๆ อีก 6 ราย

สำหรับ Chiang Mai: Night Colonies ซึ่งเป็นตอนสุดท้ายของ Year of the Everlasting Storm นั้น อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล แสดงภาพฝูงแมลงเล่นแสงไฟนีออนบนเตียงนอนปูผ้าประกอบกับเสียงจากการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยท้าทายโควิด-19 เพื่อต่อต้านรัฐบาลเมื่อปี พ.ศ. 2563 ที่กรุงเทพมหานคร หนังเรื่องนี้ฉายรอบปฐมทัศน์ที่โรง Salle du Soixantième เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 2021 โดยอภิชาติพงศ์ก็ได้ไปร่วมงานฉายพร้อมกับผู้กำกับท่านอื่นๆ ด้วย

ส่วน Memoria ก็ได้ฉายรอบ gala ที่โรงใหญ่ Grand Théâtre Lumière เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ค.ศ. 2021 โดยอภิชาติพงศ์  วีระเศรษฐกุล ได้ควงแขนนักแสดงนำของหนังไม่ว่าจะเป็น Tilda Swinton, Jeanne Balibar และ Juan Pablo Urrego ไปร่วมเดินบนพรมแดงเพื่อเข้างานอีกด้วย และสุดท้ายหนังก็คว้ารางวัล Jury Prize ขวัญใจคณะกรรมการไป โดยหนังฝรั่งเศสเรื่อง Titane ของผู้กำกับหญิง Julia Ducournau เป็นผู้คว้ารางวัลปาล์มทองคำ ซึ่งมี Spike Lee เป็นประธานคณะกรรมการตัดสิน

สำหรับ Memoria นั้น ผู้ร่วมสร้างฝ่ายไทยยืนยันว่าจะนำเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ให้คอหนังไทยได้พิสูจน์กันอย่างแน่นอนหลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย และโรงภาพยนตร์สามารถกลับมาเปิดให้บริการได้ กับผลงานที่สร้างสถิติให้ผู้กำกับอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้ซึ่งถ้ามีภาพยนตร์ร่วมฉายในสายประกวดหลักของเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์เมื่อไหร่ จะต้องได้รับรางวัลติดไม้ติดมือกลับมาให้คอหนังดีอกดีใจกันในทุก ๆ ครั้ง!

บทส่งท้าย

นอกเหนือจากรายชื่อ ‘หนังพันธุ์ไทย’ ที่เคยไปอวดโฉมที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์เหล่านี้แล้ว ยังมีหนังจากภูมิภาคอาเซียนเรื่องอื่นๆ ที่มีชื่อบริษัทไทยหรือคนไทยร่วมผลิต และเข้าร่วมฉายในเทศกาลนี้อีกสามเรื่องด้วยกัน นั่นคือหนังสิงคโปร์เรื่อง Apprentice (2016) ของผู้กำกับ Boo Junfeng ในสาย Un Certain Regard ซึ่งอำนวยการสร้างโดย เรย์มอนด์ พัฒนวีรางกูล, หนังกัมพูชาเรื่อง Diamond Island (2016) กำกับโดย Davy Chou ในสาย Critic’s Week ซึ่งร่วมอำนวยการสร้างโดยบริษัท 185 Films ประเทศไทย และหนังอินโดนีเซียเรื่อง Marlina The Murderer in Four Acts (2017) ของผู้กำกับหญิง Mouly Surya ในสาย Directors’ Fortnight ซึ่งมีชื่อบริษัท Purin Pictures ร่วมในการผลิตด้วย  

และยังมีหนังต่างประเทศที่ถ่ายทำในเมืองไทยรวมทั้งใช้นักแสดงไทย จนทำให้นักแสดงชาวไทยมีโอกาสได้ได้เฉิดฉายบนพรมแดงของเทศกาลฯ ในรอบ gala มาแล้วอีกสองเรื่องด้วยกัน นั่นคือ Only God Forgives ของผู้กำกับชาวเดนมาร์ก Nicolas Winding Refn ในสายประกวดหลักเมื่อปี ค.ศ. 2013 โดยมี หญิง-รฐา โพธิ์งาม และ ปู-วิทยา ปานศรีงาม ร่วมเดินในฐานะนักแสดงนำ และเรื่อง A Prayer Before Dawn ของผู้กำกับฝรั่งเศส Jean-Stéphane Sauvaire ในสายหนังเที่ยงคืน Midnight Screening เมื่อ ค.ศ. 2017 ซึ่งปู-วิทยา ปานศรีงาม ได้กลับไปเดินพรมแดงที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ร่วมกับ เก่ง-ลายพราง และ พรชนก มาบกลาง ในฐานะนักแสดงนำ

จากรายชื่อหนังพันธุ์ไทยในเทศกาลคานส์ทั้งหมดที่ไล่เรียงกันมาตลอดระยะเวลา 20 ปีนี้ ก็คงพอจะเห็นได้แล้วว่ายังคงความอุ่นหนาฝาคั่ง โดยมีผู้กำกับดังหลายๆ รายสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันนำหนังไปร่วมฉายในสายต่างๆ โดยมีอภิชาติพงศ์  วีระเศรษฐกุล เป็นขาประจำที่ไปเยือนบ่อยครั้งที่สุด จึงขอหวังไว้ต่อไปว่าในอีก 20 ปี จะมีหนังไทยเข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์อย่างต่อเนื่องคึกคักและคับคั่งแบบไม่ต้องเว้นปี และยิ่งถ้ามีหนังไทยในสายประกวดหลักที่ต้องมาแข่งชิงรางวัลกันเองแบบที่วงการภาพยนตร์เกาหลีใต้เคยทำได้ ก็คงจะเป็นอะไรที่น่าตื่นเต้นดีใจอยู่ไม่น้อย

ว่าแล้วก็คงต้องขอเชิญชวนให้ผู้กำกับหนังที่มีผลงานเรื่องใหม่ทั้งหลายยอมลงทุนส่งผลงานไปให้ทางเทศกาลพิจารณา เพราะจากรายชื่อก็คงจะเห็นแล้วว่าเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ไม่ได้อ้าแขนต้อนรับเฉพาะหนังศิลปะเท่านั้น แม้แต่หนังสูตร หนัง genre หนังตลาดตระกูลไหนๆ ก็ยังมีโอกาสเข้าร่วมฉายได้ ถ้าตัวงานมีความโดดเด่นพอ อย่าปล่อยให้อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เป็นขาประจำเพียงรายเดียว เพราะน่าจะถึงเวลาแล้วที่ชื่อสกุลออกเสียงยากสำหรับชาวต่างชาติของผู้กำกับไทยจะขจรกระจายไปไกลในระดับโลกแบบวงการหนังประเทศอื่นๆ กันเสียที!

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save