fbpx

ความแรงของความลวง

โลกดิจิทัลเชื่อถือได้แค่ไหน?

เชื่อว่าคนจำนวนมากก็คงรู้ว่าเชื่ออะไรมากไม่ได้ เพราะข้อมูลที่แชร์ต่อๆ กันมาอาจไม่ได้ผ่านการตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนเสียก่อน แต่บางครั้งเราก็อาจลืมเลือนข้อเท็จจริงนี้และแชร์ไปด้วยความรวดเร็ว เสมือนว่าเป็นความจริงที่ผ่านการพิสูจน์มาแล้ว

มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งศึกษาเรื่องการโพสต์และแชร์ในทวิตเตอร์ได้อย่างน่าสนใจมาก เพราะคณะนักวิจัยทำการศึกษาข้อมูลปริมาณมากอย่างต่อเนื่องยาวนานมากกว่า 10 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2006–2017 ส่วนที่ว่าปริมาณมากนั้นคือ พวกเขาได้ศึกษาข่าวลือรวม 126,000 หัวเรื่อง ซึ่งครอบคลุมจำนวนคนที่เกี่ยวข้องราว 3 ล้านคน รวมการรีทวีตมากกว่า 4.5 ล้านครั้ง!!!

ผลการวิจัยสรุปว่า ข้อเท็จจริงที่มีความถูกต้องแม่นยำนั้น ไม่อาจเทียบกับข่าวลือและข่าวลวงต่างๆ ในหลายๆ แง่มุม คนส่วนใหญ่ได้รับข่าวปลอมมากกว่าข่าวที่เป็นความจริง โดยข่าวปลอมในระดับท็อป 1% ส่งต่อกันมาเป็นทอดๆ ในวงรอบขนาด 1,000-100,00 คน ขณะที่ข่าวที่มีเนื้อหาความจริงกลับยากจะแพร่กระจายไปในกลุ่มคนมากกว่า 1,000 คน

เห็นได้ชัดเจนว่าความเข้าใจผิดแพร่กระจายไปได้กว้างไกลกว่าความจริง นอกจากนี้ยังพบว่าการแพร่กระจายข่าวลวงยังเป็นไปอย่างรวดเร็วกว่าข่าวจริงอีกด้วย (เร็วกว่าถึงประมาณ 6 เท่า) เมื่อเทียบกันที่อัตราการเข้าถึงทวีต 1,500 คน

มาลองลงรายละเอียดเพิ่มเติมอีกนิด คณะนักวิจัยแบ่งข่าวที่ทวีตซึ่งนำมาใช้ในการศึกษาออกเป็น 6 กลุ่มที่แตกต่างกัน ซึ่งผลการกระจายข้อมูลที่ได้ไม่แตกต่างกัน แต่ที่น่าสนใจคือหากเป็นเรื่องผิดๆ เกี่ยวกับการเมืองจะเห็นผลลัพธ์ทำนองนี้ได้ชัดเจนมากกว่าข่าวการก่อการร้าย ข่าวหายนะภัยธรรมชาติ ข่าววิทยาศาสตร์ ข่าวตำนานคนเมือง และข่าวการเงิน  

เรื่องต่อไปที่งานวิจัยนี้ค้นพบได้แก่ ข่าวปลอมผิดๆ ถูกๆ มักมี ‘ความใหม่’ มากกว่าข่าวที่มีเนื้อหาถูกต้อง ประเด็นนี้ชี้ให้เห็นว่าคนที่เล่นทวิตเตอร์นิยมข้อมูลแปลกใหม่

ไม่ใช่แค่นั้น เรื่องจริงกับเรื่องปลอมยังกระตุ้นอารมณ์ที่แตกต่างกันด้วย พวกข่าวเล่าลือแปลกปลอมมักทำให้เกิดอารมณ์กลัว ขยะแขยง หรือแปลกใจ ตรงกันข้ามกับข่าวถูกต้องแม่นยำที่กระตุ้นความคาดหวัง ความเศร้า ความยินดี และความเชื่อมั่น

จนทำให้นักวิจัยมองว่าความแปลกใหม่และปฏิกิริยาทางอารมณ์แบบนี้เองที่กระตุ้นให้เกิดความแตกต่างดังกล่าว

ทีมนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (data scientist) จากเอ็มไอทีผู้ศึกษาเรื่องนี้ยังพยายามตอบคำถามว่า เรื่องแบบนี้เกิดจากอิทธิพลของบ็อตหรือซอฟต์แวร์ของทวิตเตอร์หรือไม่ มักเชื่อกันว่าบ็อตของโซเชียลมีเดียรายต่างๆ (รวมทั้งทวิตเตอร์ด้วยเช่นกัน) ช่วยเร่งการแพร่กระจายของข้อมูลเท็จและข้อมูลจริงในอัตราเท่าๆ กัน งานวิจัยนี้ช่วยเน้นย้ำว่าปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดผลกระทบเรื่องการแพร่กระจายข่าวปลอมมาจากนิสัยของมนุษย์เอง

เมื่อนักวิจัยเจาะจงศึกษาลงไปอีกว่า จำนวนผู้ติดตามที่แตกต่างกันส่งผลต่อการเผยแพร่ข่าวลวงหรือไม่ ก็พบว่าไม่ว่าจะมีจำนวนผู้ติดตามมากหรือน้อย ต่างก็มีคนรีทวีตข่าวปลอมมากกว่าตอนทวีตข่าวจริงราว 70% สรุปง่ายๆ ว่าจำนวนผู้ติดตามไม่ได้ส่งผลต่อเรื่องนี้

ต้องบอกว่าวงวิชาการมีความตื่นเต้นกับผลการวิจัยนี้ไม่น้อยเลยครับ ส่วนหนึ่งเพราะการศึกษาเรื่องทำนองนี้ในอดีตมักจะศึกษาเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างจำเพาะเจาะจง เช่น การศึกษาข่าวลือเรื่องการค้นพบฮิกส์โบซอน ปี 2012 หรือ ข่าวลือเรื่องแผ่นดินไหวในเฮติ ปี 2010

แต่การศึกษาชิ้นนี้ทำในขนาดที่ใหญ่กว่ามาก และอันที่จริงแล้วเริ่มศึกษาแทบจะตั้งแต่ในยุคที่ทวิตเตอร์ถือกำเนิดขึ้นเลยทีเดียว (ทวิตเตอร์เริ่มเปิดให้ใช้งานในปี 2006)

แต่อย่างไรก็ตาม ก็มีประเด็นสำคัญที่นักวิชาการกังขาอยู่ด้วยเช่น นักวิจัยกำหนดเรื่องความถูกต้องเป็นจริงของข้อมูลที่ใช้ศึกษาได้อย่างไร? แยกแยะจากข้อมูลเท็จได้จริงแท้แค่ไหน? และโปรแกรมคอมพิวเตอร์สามารถแยกแยะเรื่องจริงและเรื่องเท็จได้ดีเพียงใด?

อันที่จริงคำถามเหล่านี้มีลักษณะพื้นฐานมากและออกจะปรัชญาสักหน่อยด้วยซ้ำไป

คณะนักวิจัยสร้างอัลกอริทึมขึ้นมาชุดหนึ่งที่สามารถแยกแยะทวีต นำมาจัดลำดับ และดึงเอาเนื้อหามาวิเคราะห์เทียบกับเว็บไซต์ที่รวบรวมข้อมูลการทดสอบข้อเท็จจริงออนไลน์ 6 เว็บไซต์ด้วยกัน รวมทั้งเว็บไซต์ตรวจสอบข้อมูลที่ดังระดับโลกอย่าง Snopes, Politifact และ FactCheck.org

ผลลัพธ์คือได้ชุดข่าวลือนับหมื่นข่าวที่ครอบคลุมตั้งแต่ปี 2006–2016

สุดท้ายงานวิจัยนี้ได้ผลสรุปว่า จากราว 126,000 ทวีตที่ศึกษา มีการรีทวีตมากกว่า 4.5 ล้านครั้ง บ้างก็เชื่อมโยงกับเรื่อง ‘แต่ง’ ที่ตั้งต้นจากบางเว็บไซต์ บ้างก็เป็นทวีตที่ปล่อยข่าวปลอมเอง ไม่ว่าจะในรูปของข้อความหรือรูปภาพ โดยทีมงานใช้โปรแกรมพิเศษที่เช็คคำที่ฝังอยู่ในรูปภาพได้

สำหรับข่าวจริงก็ทำในทำนองเดียวกัน    

ยังมีผลการวิเคราะห์ย่อยๆ อื่นที่น่าสนใจอีกเช่น มีหลายวิธีที่จะได้รีทวีตรวม 10,000 ครั้ง เช่น หากเป็นเซเลบที่มีคนติดตามหลายล้านคน เมื่อทวีตอะไรสักเรื่องก็อาจจะมีคนเห็นสัก 10,000 คน ทวีตนั้นก็จะแพร่กระจายเห็นเป็นข้อมูลกลุ่มก้อนใหญ่แบบปุบปับ  

ในขณะเดียวกัน หากคนทวีตมีผู้ติดตามไม่มากนัก เช่น อาจมีสัก 20 คน เมื่อทวีตไปแล้วมีอีกคนหนึ่งรีทวีต จากนั้นคนที่ติดตามคนผู้นั้นก็จะรีทวีตต่ออีกเช่นนี้จนได้การรีทวีต 10,000 ครั้ง ก็จะเห็นรูปแบบการกระจายเป็นแบบลูกคลื่น

แม้ทวีตแรกกับทวีตหลังจะมีคนรีทวีต 10,000 ครั้งเท่ากัน แต่รูปแบบการรีทวิตอย่างหลัง นักวิจัยมองว่ามี ‘ความลึก’ ของการรีทวีตมากกว่า เพราะคล้องเข้าด้วยกันแบบที่ทวีตแรกไม่มี ด้วยเหตุนี้ทวีตแรกจึง ‘ตื้น’ กว่า

แต่ไม่ว่าจะมีความลึกของการรีทวีตต่างกันเพียงใด ‘เฟกนิวส์’ หรือข่าวปลอมก็ยังมีมากกว่าข่าวที่มีเนื้อหาถูกต้องแม่นยำอยู่ดี โดย ‘สายโซ่’ การรีทวีตสำหรับข่าวที่แม่นยำมีแค่ 10 รอบ ขณะที่ข่าวปลอมจะกระจายรีทวีตไปได้ยาวถึง 19 รอบ

แถมข่าวมั่วยังรีทวีตไปด้วยความเร็วมากกว่าถึง 10 เท่า!

ส่วนสำหรับคำถามที่ว่า ในกลุ่มของคนที่เรียนสูงขึ้นจะมีการรีทวีตอย่างระมัดระวังมากขึ้นหรือเปล่า?

เมื่อเจาะดูการทวีตที่เป็นภาษาอังกฤษของนักศึกษาปริญญาตรีแบบสุ่ม โดยเลือกมารวม 13,000 ทวีต ก็พบว่าการทวีตส่วนใหญ่ยังคงเป็นการทวีตเรื่องผิดๆ ‘แทบไม่แตกต่าง’ อะไรกับคนทั่วไปเลย

ทำไมผลการวิจัยจึงออกมารูปแบบนี้?

นักวิจัยเอ็มไอทีตั้งสมมติฐานเป็น 2 ข้อ – ข้อแรกคือพวกข่าวปลอมทั้งหลายมี ‘ความแปลกใหม่’ หากเทียบกับข่าวจริงทั้งหลายที่ทวีตกันอยู่ในรอบ 60 วัน (ดูเหมือนว่าผู้คนจะชอบอะไรที่แปลกใหม่กันนะครับ)

ข้อสองคือ ข่าวปลอมกระตุ้นอารมณ์มากกว่าข่าวโดยทั่วไปที่ทวีตกัน นักวิจัยตรวจสอบฐานข้อมูลคำที่ใช้ทวีตหรือเขียนตอบกันในทวีตรวม 126,000 ชิ้น และพบว่าทวีตข่าวลวงพวกนี้มีแนวโน้มจะใช้คำที่สร้างความประหลาดใจหรือกระตุ้นความขยะแขยงมากกว่า

อย่างไรก็ตาม มีคนให้ความเห็นว่าคำว่า ‘ข่าวปลอม’ ในการศึกษานี้ยังมีขอบเขตของข้อมูลแปลกปลอมที่ไม่ชัดเจนนัก คือไม่ได้แยกเอาการตั้งใจโกหก ตำนานแปลกๆ การเล่นตลก การใช้เล่ห์เหลี่ยม การเขียนหยอกล้อหรืออำกันเล่น การเขียนผิดพลาด และความเชื่อที่ไม่จริงออกจากกัน

น่าสนใจว่าหากทำการทดลองแบบเดียวกันในเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม หรือโซเชียลมีเดียอื่นๆ ยังจะได้ผลลัพธ์ที่คล้ายคลึงกันหรือไม่?

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save