fbpx

งบน้อย ครูไม่พอ เปลี่ยนภาพจำแง่ลบเด็กอาชีวะฯ: เปิดโลก ‘ครูสายอาชีพ’ ที่ยังสอนอยู่บนข้อจำกัด

หาก ‘แรงงานฝีมือสายอาชีพ’ คือจิกซอว์ที่หายไปในภาพใหญ่ของการพัฒนาประเทศ ‘ครูอาชีวะฯ’ ก็เปรียบเสมือนผู้สร้างจิกซอว์ที่จะเข้ามาต่อเติมภาพนั้นให้กลายเป็นจริงได้ กล่าวให้ชัดคือ หากปราศจากครูอาชีวะผู้ประสิทธิ์ประสาท ‘ทักษะ’ บุคลากรวิชาชีพที่มีทักษะเฉพาะทางก็ไม่อาจเติบโตอย่างมีคุณภาพได้

แต่ความเป็นจริงไม่ง่ายเช่นนั้น – นอกจากความเป็นครู ทักษะเฉพาะ และความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ในการถ่ายทอดทักษะที่ครูอาชีวะฯ ต้องมีแล้ว ความท้าทายใหญ่ที่ครูหนีไม่พ้นเช่นกันคือ ‘งบไม่พอ’ ‘ครูขาด’ และ ‘ภาพลบของเด็กช่าง’

นี่คือเสียงที่กลั่นกรองออกมาจากประสบการณ์ของคนเป็นครู – จากทั้งไทยและเทศ

ในวันที่การศึกษาสายอาชีพคือความหวังในการพาประเทศก้าวต่อไปข้างหน้า 101 สนทนากับ 2 ครูอาชีวะ ผู้เป็นเบื้องหลังสำคัญในการพัฒนาบุคลากรวิชาชีพที่มีทักษะและความชำนาญเฉพาะทาง ว่าด้วยโลกการเรียนการสอนสายอาชีพ การถ่ายทอดทักษะความชำนาญจากครูสู่ศิษย์ คุณภาพการเรียนการสอน และภาพฝันของอาชีวศึกษา จากมุมมองของ ‘ครู’

ครูการตลาดผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมการเรียนรู้และชุบชู ‘เด็กอาชีวะฯ’ประทิน เลี่ยนจำรูญ

“ถ้าถามว่าการสอนสายอาชีพเป็นอย่างไร ต้องบอกว่าเราไม่ได้ให้ความสำคัญกับการสอนทฤษฎีมากไปกว่าการสอนภาคปฏิบัติ” ครูประทิน เลี่ยนจำรูญ ‘ครูอาชีวะ’ ผู้มีประสบการณ์การสอนสายอาชีพมายาวนานกว่า 30 ปีจากโครงการวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสาตร์ วิทยาลัยเทคนิคพังงา เล่าถึงแก่นของการเรียนการสอนสายอาชีวะ

ภาพจาก กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

เมื่อการ ‘ลงมือทำ’ คือหัวใจสำคัญ สำหรับครูประทินที่สอนวิชาการตลาดและเศรษฐศาสตร์ และวิชาธุรกิจและการเป็นผู้ประกอบการ กระบวนการเรียนการสอนที่ครูประทินนำมาใช้สร้างนักเรียนอาชีวะให้มีทักษะผู้ประกอบการที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์คือ ‘การเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน’ (project-based learning) ซึ่งเป็นผลงานบุกเบิกนวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อยกระดับคุณภาพการสอนสายอาชีพของครูประทิน

ไม่มีการสอนใดที่เปิดให้นักเรียนได้สัมผัสประสบการณ์การทำธุรกิจได้ดีเท่ากับการได้ลองเป็นผู้ประกอบธุรกิจเอง การจัดสถานการณ์จำลองให้นักเรียนได้ทดลองเป็นผู้ประกอบการ ทำโปรเจ็กต์วางแผนธุรกิจการตลาด ออกแบบสินค้า ผลิตภัณฑ์ หรือบริการ ให้ทั้งตอบโจทย์ความต้องการหรือ pain point ของชุมชนลูกค้า และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ในเวลาเดียวกัน จึงเป็นแนวทางที่ช่วยให้นักเรียนอาชีวะได้เรียนรู้ภาคทฤษฎีและลงมือในภาคปฏิบัติไปพร้อมๆ กัน

“ในการสอนผ่านการทำโปรเจ็กต์ เราจะให้เด็กลองไปตีโจทย์ว่า pain point หรือความต้องการของชุมชนและลูกค้าคืออะไร แล้วหาไอเดียในการผลิตสินค้าที่เป็นไปได้ออกมา เราจะสอนให้เขาคิดว่า จะผลิตอย่างไร จะขายให้กับใคร จะขายที่ไหน ต้นทุนเท่าไร แล้วจะสนับสนุนการขายอย่างไรเพื่อให้สินค้าขายได้ หลังจากนั้นให้ผลิต แล้วทดลองจำหน่ายจริง

“ตัวอย่างหนึ่งคือ มีนักเรียนคิดธุรกิจไอศกรีมโฮมเมดจำปาดะออกมา นักเรียนกลุ่มนี้บอกว่าที่บ้านเขามีจำปาดะ ซึ่งบางครั้งราคาถูก หรือถ้าส่วนหัวเน่า ราคาจะยิ่งถูกมาก แต่จริงๆ แล้วส่วนที่เน่าจะไม่ลามไปถึงส่วนอื่น เลยคิดว่าน่าจะลองเอาเนื้อส่วนที่เหลืออยู่มาแปรรูปเป็นไอศกรีมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและให้ทานง่ายขึ้น เพราะปกติจำปาดะมีกลิ่นฉุน เขาก็พัฒนาสินค้าออกมาทดลองกับตลาดไปเรื่อยๆ รับฟีดแบ็กมาปรับปรุงสินค้า จนสุดท้ายออกมาเป็นแบรนด์ไอศกรีมถ้วย มีบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม ขายได้ทั่ว สร้างรายได้อย่างมาก” ครูประทินเล่าถึงการสร้างนักเรียนให้กลายเป็น ‘ผู้ประกอบการนวัตกรรม’ ที่ไม่ได้มีแค่ทักษะเท่านั้น แต่ยังมี ‘จิตสำนึกผู้ประกอบการ’ ด้วย

“การเรียนรู้แบบลงมือปฏิบัติ ใช้โครงงานเป็นฐานจะทำให้ผู้เรียนตื่นตัวต่อการเรียนรู้ มีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้ การเรียนอาชีวศึกษาก็จะไม่น่าเบื่อหน่าย”

ในวันที่รัฐเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับอาชีวศึกษา เพื่อพัฒนาแรงงานทักษะสูงให้ตอบโจทย์ต่อความต้องการของตลาดแรงงานและสถานประกอบการ ครูประทินมองว่า คุณภาพการจัดการเรียนการสอนสายอาชีพและหลักสูตรในภาพรวมพัฒนาไปไม่น้อย และภายในกรอบการทำงาน ครูอาชีวะฯ เองก็สามารถมีบทบาทในการยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนผ่านการคิดค้นนวัตกรรมการสอนที่สอดคล้องวิชาชีพที่สอนได้ ไม่ว่าจะเป็นวิชาการตลาด วิชาช่าง หรือวิชาการโรงแรมก็ตาม กระนั้น โลกการเรียนการสอนอาชีวะยังต้องเผชิญต่อความท้าทาย

ความท้าทายแรกอยู่ที่เรื่องบประมาณที่ค่อนข้างน้อย “ส่วนหนึ่งถ้ารัฐจัดสรรงบประมาณอย่างเพียงพอเพื่อนำไปใช้ในการจัดหาสิ่งก่อสร้าง หรือห้องปฏิบัติการต่างๆ อย่างเหมาะสมและเพียงพอกับเด็กนักเรียนทุกสาขาวิชาชีพ ก็สามารถพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนได้”

“อีกอย่างหนึ่งที่อาชีวะฯ ควรจะได้รับอย่างมากคือ เงินรายหัวที่เพียงพอที่จะซื้อวัสดุอุปกรณ์ฝึกวิชาชีพให้นักเรียน”

อย่างไรก็ตาม ครูประทินมองว่า มีความพยายามในการจัดสรรงบประมาณและบุคลากรเพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนอาชีวะฯ ให้ดีขึ้น ผ่านการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางอาชีวศึกษา (Excellent Center) แยกออกมาตั้งแต่ปี 2564 โดยรวบรวมสถานศึกษาที่มีความโดดเด่นในแต่ละวิชาชีพ และร่วมมือกับสถานประกอบการชั้นนำของประเทศ หรือสถานประกอบการในต่างประเทศในการส่งนักเรียนไปฝึกงาน

ส่วนความท้าทายที่สองที่สำคัญอย่างยิ่งอยู่ที่ ‘ครู’

“ถ้าถามว่าครูสายอาชีพเพียงพอไหม ต้องบอกว่าไม่เพียงพอแน่นอน สายอาชีพประสบปัญหาขาดแคลนครูอย่างมาก ต้องใช้วิธีการจ้างครูอัตราจ้างมาสอน ซึ่งค่าตอบแทนก็ไม่มากพอที่จะดึงดูดครูเก่งๆ มาสอนได้ ก็กระทบต่อคุณภาพของเด็กอาชีวะที่จบออกมาด้วย

“ครูอาชีวะฯ ทำงานเยอะมาก ไม่ได้มีหน้าที่เพียงแค่สอนอย่างเดียว แต่ยังมีงานของวิทยาลัย งานนโยบาย งานพัฒนาจังหวัดและชุมชน ซึ่งที่จริงแล้วเป็นสิ่งดีที่งานพัฒนาจังหวัดเปิดโอกาสให้เด็กอาชีวะได้นำองค์ความรู้ไปช่วยเหลือสังคมและฝึกทักษะนอกห้องเรียนไปด้วยในเวลาเดียวกัน เช่นให้เด็กช่างไฟฟ้าไปช่วยติดตั้งเครื่องใช้ไฟฟ้า แต่ก็ต้องมีการบริหารจัดการครูให้เพียงพอ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้คือ ในเวลาเดียวกันที่ครูต้องพานักเรียนอาชีวะออกไปช่วยงานพัฒนา ครูคนเดียวกันก็ติดสอนนักเรียนอีกกลุ่มด้วย” และที่ยิ่งไปกว่านั้น งานเอกสารคืองานที่ครูประทินมองว่าควรต้องแบ่งภาระหน้าที่ออกไปจากครู เพื่อให้ครูมีเวลาไปการพัฒนาการเรียนการสอนได้อย่างแท้จริง

ไม่เพียงเท่านั้น การพัฒนาครูก็เป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญ

“หลักสูตรจะดีหรือไม่ดี ขึ้นอยู่กับครูที่นำหลักสูตรไปใช้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญคือจะพัฒนาครูอย่างไรเพื่อให้ครูประยุกต์นำหลักสูตรไปใช้ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตรได้ดีหรือ หรือชัดเจนยิ่งขึ้น”

ในมุมมองของครูประทิน ทักษะสำคัญที่ครูสายวิชาชีพควรมี คือทักษะระดับสูงในวิชาชีพเฉพาะทางในสาขาที่สอน

“ในไทยเป็นอย่างนี้จริงๆ ที่คนเรียนครูสายวิชาชีพ พอเรียนจบปุ๊บ ก็มาสอบบรรจุเป็นครูเลย ถามว่าครูจบใหม่มีทักษะวิชาชีพไหม เขามี แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะมาสอนวิชาชีพ อาจจะเคยฝึกงานก็จริง แต่ก็ยังไม่เคยประกอบอาชีพจริง”

และแม้จะมีการจัดฝึกอบรมครูในสถานประกอบการตามวิชาชีพในช่วงปิดภาคเรียน เช่น ให้ครูสอนการโรงแรมไปทำงานโรงแรม หรือให้ครูสอนการตลาดทำงานในห้างสรรพสินค้าหรือในร้านค้าที่มีมาตรฐาน เพื่อให้ครูไปนำประสบการณ์วิชาชีพมาใช้ในการถ่ายทอดทักษะแก่นักเรียน แต่จะดียิ่งไปกว่านั้น หากครูประกอบอาชีพที่ตัวเองสอนควบคู่ไปกับการเป็นครูด้วย

“จริงๆ ครูควรจะประกอบอาชีพที่ตัวเองสอนด้วยนะ ถึงจะนำองค์ความรู้และทักษะมาถ่ายทอดได้อย่างถูกต้องชัดเจน อย่างเช่นถ้าสอนการตลาด ครูก็ต้องมีความรู้และทักษะด้านการตลาด และพยายามตกผลึกความรู้จากการทำธุรกิจเองด้วย ว่าธุรกิจแบบนี้ต้องวางแผนอย่างไร หรือขายของออนไลน์ต้องทำอย่างไรบ้าง” ครูประทินยังเสริมอีกว่า “ครูอาชีวะฯ ต้องเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้สอนไปเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้”

อีกอย่างที่ขาดไปไม่ได้คือทักษะในการปรับเปลี่ยนการจัดการสอนให้ทันสมัยต่อความเปลี่ยนแปลงของโลก และแน่นอน – ทักษะในการทำความเข้าใจวัยรุ่น โดยเฉพาะสำหรับเด็กอาชีวะฯ ที่เรียนไม่เก่งมากนัก มีปัญหา หรือมีฐานะยากลำบาก “ทักษะนี้สำคัญมากในการช่วยให้เราเข้าถึงเด็ก เข้าอกเข้าใจเด็ก และลงไปช่วยเหลือดูแลเขาได้”

ภาพจาก กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเป็นครูอาชีวะฯ ย่อมมาพร้อมกับหน้าที่ที่ต้องรับมือกับ ‘เด็กอาชีวะฯ’

แม้ในความเป็นจริง จากประสบการณ์ตรงของครูประทิน ‘เด็กอาชีวะฯ’ ส่วนหนึ่งคือเด็กเรียนเก่งแต่มีฐานะยากจน ขาดโอกาส ต้องเลือกเรียนในสิ่งที่ประกันว่าเรียนจบไปแล้วจะมีงานรองรับ สามารถใช้วิชาชีพที่เรียนมาเพื่อทำงานเลี้ยงชีพและดูแลครอบครัวได้จริง หรือเป็นเด็กที่ไม่ถนัดเรียนวิชาการ และตัดสินใจเลือกเรียนสายอาชีพที่เน้นการลงมือปฏิบัติมากกว่าเพื่อให้ทำงานได้จริง แต่ความจริงอีกส่วนหนึ่งก็ไม่เกินไปจากภาพจำที่สังคมเข้าใจว่า เด็กอาชีวะฯ คือเด็กที่เกเร อ่อนเรียน

แต่ภายใต้ยอดภูเขาน้ำแข็งนี้ ยังมีความซับซ้อนที่มากไปกว่าแค่ภาพที่เราเห็น เพราะในหลายครั้ง หลังเด็กเหล่านี้ผ่านการเรียนในรั้วโรงเรียนอาชีวะฯ และจบการศึกษาออกไป เขาคือคนที่มีหน้าที่การงานดี และประสบความสำเร็จในชีวิต

“ในช่วงปีแรกที่มาเรียน เขาอาจจะยังดื้อ ไม่สนใจเรียน ขาดเรียน เกเร ทะเลาะต่อยตี เราต้องทำความเข้าใจเขา เราต้องใช้ความอ่อนเข้าหาเขาเพื่อเข้าถึงเขาให้ได้

“ส่วนใหญ่จะใช้วิธีพูดคุยค่ะ ก่อนพูดคุย เราก็คอยสังเกตพฤติกรรมอยู่ห่างๆ ว่าก่อนหน้านี้เขามีปัญหาอะไรไหม ครอบครัว สภาพแวดล้อมมีปัญหาอะไรหรือเปล่า พอเราเข้าใจแล้วว่าเขามีปัญหาอะไร ก็จะเริ่มค่อยๆ ดึงเขามาช่วยงาน ทำกิจกรรม ส่งเสริมสนับสนุนเขา เขาก็จะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงตัวเอง

“ถามว่าเด็กทุกคนเกเรมาตั้งแต่แรกไหม ไม่ใช่ แต่เป็นเพราะเขาเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่หล่อหลอมให้เขามีพฤติกรรมแบบนั้น เขาคือเด็กธรรมดาทั่วไป เพียงแต่เราต้องลงไปทำความเข้าใจเขา สุดท้ายพอเขาไว้วางใจเรา เราก็จะช่วยเปลี่ยนเขาได้ 

“มีเด็กหลายคนมากที่เคยเป็นเด็กเกเร แต่สุดท้ายกลายเป็นคนละคน ประสบความสำเร็จในชีวิต มีหน้าที่การงานที่ดี ทำงานในนิคมอุตสาหกรรม ทำงานบริษัท บางคนก็ทำงานเก็บเงินจนเรียนต่อปริญญาตรีได้”

แต่หากจะให้สังคมเปลี่ยนมุมมองต่อ ‘เด็กอาชีวะฯ’ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเสียเท่าไหร่ แม้ว่าทุกวันนี้ภาพเด็กอาชีวะฯ ตีรันฟันแทงจะค่อยๆ ถูกแทนที่ด้วยภาพเด็กอาชีวะฯ นักประดิษฐ์นวัตกรรม นักออกแบบ หรือนักสร้างสรรค์จากการนำเสนอของสื่อในระยะหลังก็ตาม สำหรับครูประทิน สิ่งที่ครูอาชีวะฯ สามารถช่วยเปลี่ยนภาพจำได้ คือการพาเด็กอาชีวะฯ ไปทำกิจกรรมช่วยเหลือสังคมหรือชุมชน

“การที่ชุมชนได้เห็นเด็กอาชีวะฯ ลงไปทำกิจกรรมดีๆ ช่วยก่อสร้างบ้านให้กับผู้ประสบภัย หรือลงไปช่วยสอนวิชาชีพในชุมชน จะค่อยๆ ทำให้สังคมรู้จักว่าจริงๆ แล้วเด็กอาชีวะฯ เป็นอย่างไร และก็ทำอะไรดีๆ เพื่อสังคมได้ไม่ต่างจากคนอื่น”

นี่คือพลังของเด็กอาชีวะฯ ที่สังคมมักจะมองข้ามไป

ในวันที่อาชีวศึกษากำลังทวีความสำคัญขึ้น ครูประทินมองเห็นหนทางในการพาอาชีวศึกษาไปให้ไกลขึ้นในอนาคต หนึ่งในนั้นคือการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับสถานประกอบการชั้นนำในการพัฒนาการเรียนการสอนสายอาชีพ ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ

“อยากให้สถานประกอบการเข้ามาช่วยร่วมพัฒนาเด็กอาชีวะฯ ให้ความร่วมมือกับสถานศึกษาในการจัดการศึกษาทั้งระบบทวิภาคี และการรับนักศึกษาเข้าฝึกงาน ร่วมพัฒนาตั้งแต่หลักสูตร ส่งผู้เชี่ยวชาญจากสถานประกอบการที่มีประสบการณ์ในวิชาชีพมานาน ชำนาญเรื่องทักษะมาร่วมวางแผนฝึกทักษะเด็กอาชีวะฯ หรือมาเป็นครูอาชีวะฯ เลย รับรองว่าเด็กที่ผ่านกระบวนการเรียนเช่นนี้จะเป็นเด็กอาชีวะฯ ที่มีศักยภาพ

“เมื่อเด็กจบออกไปมีงานรองรับ อาจจะเป็นสถานประกอบการที่เข้ามาร่วมฝึกที่มาจ้างงานก็ได้ ก็จะยิ่งทำให้สังคม ชุมชน หรือพ่อแม่ผู้ปกครองเห็นว่า เรียนอาชีวะฯ จบแล้ว มีงานทำแน่นอน”

เมื่อถามถึงภาพฝันอาชีวศึกษา ครูประทินมองว่าอยากให้อาชีวศึกษามีการแบ่งออกเป็น 2 ระดับ

“ไม่ได้หมายความว่ามี 2 เกรดนะ แต่ฝันที่บอกว่าอยากให้มีอาชีวะฯ 2 ระดับคือ มีทั้งระดับที่มุ่งพัฒนาศักยภาพผู้เรียนอย่างเข้มข้นและเต็มที่ เพื่อยกระดับมาตรฐานแรงงานสายอาชีพให้เทียบเท่าต่างประเทศ อย่างที่มีการตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางอาชีวะฯ ขึ้นมา จบออกมาก็จะมีความเชี่ยวชาญเฉพาะ มีความสามารถทางภาษาต่างประเทศ และระดับที่มุ่งพัฒนาศักยภาพเด็กอาชีวะฯ ในระดับที่เพียงพอต่อการประกอบอาชีพอย่างมีคุณภาพ”

ในฐานะครูผู้สอน ย่อมเป็นธรรมดาที่จะมองเห็นทักษะ ศักยภาพ ความชำนาญในวิชาชีพ และความหนักเอาเบาสู้ ขยันมุ่งมั่น อดทนต่อความยากลำบาก ไม่ย่อท้อ ไม่เกี่ยงงานที่มีอยู่เต็มเปี่ยมของเด็กอาชีวะฯ และต่อให้อาชีวศึกษาจะได้รับความสำคัญมากขึ้นจากรัฐบาลและหลากหลายภาคส่วน แต่หากขาดความเข้าใจของสังคม รวมถึงสถานประกอบการ พลังศักยภาพของเด็กสายอาชีพและอาชีวศึกษาก็อาจยังถูกมองข้าม ฉะนั้น อีกภาพฝันหนึ่งที่ครูประทินอยากเห็นคือ การที่สายอาชีพได้รับการยอมรับว่ามีคุณค่าและศักดิ์ศรีเทียบเท่าการศึกษาสายสามัญและการศึกษาระดับอุดมศึกษา

“นโยบายที่ว่าจบปริญญาตรีได้เงินเดือน 15,000 บาท ทำให้คนอยากเรียนสายสามัญมากกว่า ไม่อยากเรียนสายอาชีพ ฉะนั้น จะทำอย่างไรที่จะให้เด็กที่จบ ปวช. หรือจบ ปวส. มีคุณค่าและราคาไม่แตกต่างจากคนที่จบปริญญาตรี”

แต่ยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด ความสุขในการเป็นครูอาชีวะฯ ของครูประทินนั้นเรียบง่าย

“ความสุขของการเป็นครูคือ เราเห็นเด็กที่จบไปแล้วมีงานทำ มีหน้าที่การงานที่ดี เป็นคนดีในสังคม แล้วกลับมาส่งต่อสิ่งที่เขาเคยได้รับให้คนรุ่นหลังค่ะ มีเด็กหลายคนที่จบไปแล้วกลับมาให้ทุนการศึกษารุ่นน้อง หรือกลับมาพูดคุยสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กรุ่นต่อไป

“นี่คือสิ่งที่เราคิดว่ามันคุ้มค่ามากกับการที่พร่ำสอนเขามาหลายปี แล้วเห็นดอกเห็นผลจากการที่เขาเป็นคนอย่างที่เราตั้งใจอยากให้เป็น”

ภาพจาก กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

ครูคหกรรมผู้สอนบนข้อจำกัดวาฮับ

ไม่เพียงแค่ในประเทศไทยที่อาชีวศึกษากำลังทวีความสำคัญอย่างมากตามความต้องการ ‘คนสายอาชีพ’ เพื่อไปเป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่อนาคต หากมองไปยังประเทศเพื่อนร่วมภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บรูไนเป็นอีกหนึ่งประเทศที่กำลังอยู่ในกระแสเดียวกับไทย

ต่างออกไปตรงที่ว่า สังคมบรูไนมองเห็นและเข้าใจคุณค่า ศักดิ์ศรี และความสำคัญของ ‘ทักษะ’ แบบสายอาชีพ

“จริงๆ ก่อนหน้านี้ เมื่อสัก 20 ปีก่อน โรงเรียนสายอาชีพในบรูไนก็ถูกมองว่าเป็นทางเลือกของเด็กนักเรียนที่เรียนไม่เก่งจนต้องถูกให้ออกจากโรงเรียน เรียนวิชาการแบบสายสามัญไม่ได้ ไม่มีที่ไป

“แต่หลังจากที่นักเรียนอาชีวะที่จบการศึกษาออกไปเริ่มประสบความสำเร็จ มีที่ทางในตำแหน่งระดับสูงในรัฐบาลหรือในบริษัทต่างๆ ภาพความสำเร็จของศิษย์อาชีวะเลยค่อยๆ เปลี่ยนความเข้าใจของคนในสังคม” ‘วาฮับ’ หรือเปองีงัน ฮาจิ โมฮัมหมัด วาฮับ บิน เปองีรัน ฮาจี อับดุลฮ์ (Pengiran Haji Mohd Wahab Pengiran Haji Abdullah) ครูสอนวิชาศิลปะการประกอบอาหารผู้มากด้วยประสบการณ์การสอนและทักษะ จาก School of Hospitality and Tourism, Institute of Brunei Technical Education (IBTE), Sultan Saiful Rijal Campus เล่าถึง ‘ภาพ’ ของอาชีวศึกษาในบรูไน              

      

ประกอบกับในช่วงปี 2013 ที่บรูไนมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการศึกษาสายอาชีวะครั้งใหญ่ โรงเรียนสายอาชีพจึงถูกมองว่าเป็นโรงเรียนสำหรับการศึกษาเพื่อฝึก ‘ทักษะ’ หากต้องการเรียนรู้ทักษะวิชาชีพ โรงเรียนสายอาชีพคือโรงเรียนที่ตอบโจทย์นั้น ทั้งหมดนี้ทำให้การจ้างงานแรงงานสายอาชีพทะยานเพิ่มสูงขึ้นในตลาดแรงงานบรูไน

“การที่สถานศึกษาร่วมมือกับสถานประกอบการเป็นเรื่องที่สำคัญมากในการยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนสายอาชีพ ซึ่งจะตามมาด้วยการเปลี่ยนภาพลักษณ์ หากปราศจากความร่วมมือจากสถานประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นการร่วมมือในการออกแบบหลักสูตรหรือการส่งนักเรียนอาชีวะฯ ไปฝึกงานก็ตาม การฝึกทักษะนักเรียนให้มีคุณภาพก็จะเป็นเรื่องยาก” วาฮับกล่าว

สำหรับวาฮับ แน่นอนว่าการถ่ายทอดทักษะที่จำเป็นในห้องครัวและร้านอาหารจากตัวครูไปสู่นักเรียนคือหัวใจสำคัญของการเป็นครูสอนวิชาศิลปะการประกอบอาหารและการบริหารจัดการอาหาร

“แน่นอนว่าทักษะที่ครูอาชีวะฯ ต้องมีคือความเชี่ยวชาญในทักษะวิชาชีพนั้นๆ เข้าใจความต้องการของสถานประกอบการว่าต้องการทักษะแบบไหนจากนักเรียน แต่ยิ่งไปกว่านั้น ครูยังต้องเป็นผู้สื่อสารที่ดี เข้าใจผู้เรียน โดยเฉพาะความต่างของนักเรียนที่แต่ละคนมีจังหวะการเรียนรู้ช้าเร็วต่างกัน”

ในการถ่ายทอดทักษะในชั้นเรียน วาฮับอธิบายว่า ก่อนอื่นครูต้องรู้จักขอบเขตความรู้และทักษะของตัวเองก่อน จากนั้นต้องลงไปทำความเข้าใจแบ็กกราวด์และพื้นฐานของผู้เรียนว่ามีพื้นฐานความรู้ด้านอาหารมากน้อยแค่ไหน ถึงจะจัดคลาสให้เหมาะสมกับพื้นฐานของนักเรียนได้ จากนั้นในชั้นเรียน เพื่อให้นักเรียนทุกคนเรียนไปพร้อมๆ กันหมด ไม่มีใครแซงหน้าใครหรือมีใครเรียนได้ช้ากว่าเพื่อน วาฮับจะจับคู่ให้นักเรียนที่เรียนเร็วช่วยนักเรียนที่เรียนช้าทำความเข้าใจหรือฝึกทักษะ

“เราพยายามปฏิบัติกับนักเรียนเหมือนกันหมด พยายามไม่ให้มีใครที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังเพราะเรียนไม่ทัน เชื่อว่าจะช่วยให้นักเรียนรู้สึกว่าพวกเขาได้รับความใส่ใจและมีแรงจูงใจในการเรียนต่อไป”

“ในการฝึกทักษะให้นักเรียน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการให้ตัวอย่าง สมมติว่านักเรียนหั่นผักไม่ถูกใช่ไหม เราจะใช้วิธีเปลี่ยนตัวอย่าง ให้ตัวอย่างอื่นๆ ที่ต้องใช้ทักษะการหั่นแบบเดียวกันไปเรื่อยๆ เพราะถ้าได้เห็นตัวอย่างอื่นๆ ที่ต่างออกไป ก็อาจะหัดจนได้ทักษะได้เหมือนกัน” นี่คือวิธีที่วาฮับใช้ทลายความยากในการฝึกให้นักเรียนรู้จักวัตถุดิบ หั่นวัตถุดิบ ประกอบอาหาร หรือจัดบริการ จนสามารถพัฒนาความรู้และทักษะให้กลายเป็นของตัวเอง

“เราต้องเป็นเพื่อนกับนักเรียน ในช่วงเวลาที่ต้องเจอกับความยากบางอย่างในการเรียนหรือฝึก สิ่งที่นักเรียนต้องการคือเพื่อน” วาฮับกล่าว

ที่บรูไน แม้อาชีวศึกษาและนักเรียนสายอาชีพที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานจะมีอนาคตที่สดใสรออยู่ แต่ก็ไม่ต่างกับที่อื่นในโลกและไทยที่การสอนสายอาชีพต้องเผชิญต่ออุปสรรคและความท้าทายเช่นกัน นั่นคือ ‘ทรัพยากรขาดแคลน’ ในที่นี่คือ ขาดแคลนทั้งครู วัสดุอุปกรณ์ ห้องปฏิบัติการ ไปจนถึงขาดวิทยาลัยและสาขาที่เปิดสอนที่เพียงพอต่อความต้องการ

ผลกระทบลูกโซ่ต่อมาก็คือ ‘จำนวนนักเรียนที่เข้าเรียนได้และจบออกมาแต่ละปีมีจำนวนเพียงหยิบมือ’

“เรามีโรงเรียนสายอาชีพเอกชนอยู่อีก 2-3 แห่งก็จริง แต่ก็เปิดสอนแค่สาขาบริหารธุรกิจหรือคอมพิวเตอร์ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วขอบเขตของอาชีวศึกษากว้างกว่านั้น คือรวมสาขาอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว หรือคหกรรมด้วย ที่บรูไน มีแค่ที่ IBTE ที่เดียวที่เปิดสอนสาขาเหล่านี้

“ที่นักเรียนสมัครเรียนน้อย ไม่ใช่ว่าไม่มีใครอยากเรียนนะ แต่โรงเรียนเรารับจำนวนนักเรียนที่เข้าเรียนได้ในแต่ละรอบค่อนข้างจำกัด อย่างที่สถาบันการจัดการบริการ โปรแกรมคหกรรมมีคนสมัครครั้งหนึ่งกว่า 200 คน แต่เรารับนักเรียนได้เต็มที่แค่ 40 คนเท่านั้น เพราะห้องปฏิบัติการไม่พอ” วาฮับเล่า

และเมื่อทรัพยากรจำกัด หมายความว่าครูต้องพยายามจัดการสอนภายใต้ข้อจำกัดให้ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

“ก่อนหน้านี้ผมเคยรับตำแหน่งหัวหน้าโปรแกรมในการจัดทำหลักสูตรการปรุงอาหารและบริหารจัดการอาหารแบบมืออาชีพ หน้าที่คือต้องพัฒนาและอัปเดตหลักสูตร พูดคุยหารือกับสถานประกอบการ บริหารจัดการตารางในการใช้ห้องปฏิบัติการสำหรับครูและนักเรียน และแน่นอน สอน

“นี่คือสาเหตุว่าทำไมผมพูดเรื่องปัญหาขาดแคลนทรัพยากรขึ้นมา เราต้องหาเอาชนะข้อจำกัดเรื่องทรัพยากรไม่พอให้ได้ โดยเฉพาะในการฝึกปฏิบัติ

“ที่วิทยาลัยเรามีครัวแค่ 3 ครัว แต่ว่าทุกสัปดาห์จะมีฝึกปฏิบัติอย่างน้อย 5 ครั้ง เพราะฉะนั้นเราต้องหาทางบริหารตารางให้ลงตัวสำหรับครูและนักเรียน สำคัญมากที่จะต้องจัดไม่ให้ตารางชนกัน”

นอกจากเรื่องทรัพยากรแล้ว ความท้าทายอีกอย่างคือเรื่องครู วาฮับมองว่าปัจจุบันการคัดเลือกคนเข้ามาเป็นครูสายอาชีพยังคงมีปัญหาอยู่พอสมควร เพราะครูบางส่วนไม่มีประสบการณ์จริงในวิชาชีพนั้นๆ มาก่อน ทั้งๆ ที่ทักษะวิชาชีพสำคัญมากในการสอนนักเรียนสายอาชีพ ก็ต้องอาศัยการส่งครูไปฝึกงานกับสถานประกอบการเพื่อเพิ่มทักษะ

สุดท้ายแล้ว เมื่อชวนวาฮับมองข้ามข้อจำกัดไปวาดภาพฝันอนาคตของอาชีวศึกษาในฐานะครู นี่คือคำตอบที่วาฮับทิ้งท้ายไว้

“ผมอยากให้อาชีวศึกษามีพลังที่จะสามารถพัฒนาทักษะระดับสูงให้นักเรียนแต่ละคนได้ มีศักยภาพสูงระดับโลกเลย เพื่อให้ตอบโจทย์การจ้างงานมากกว่าเดิม

“นอกจากนี้อาชีวศึกษาต้องหันมาให้ความสนใจกับ long-life skills ของนักเรียนมากขึ้น เพราะตอนนี้ที่ IBTE การวัดทักษะความสามารถของนักเรียนอยู่ที่แค่ทักษะวิชาชีพอย่างเดียวเท่านั้น และเป็นเกณฑ์ที่ตั้งโดยวิทยาลัย ต้องไม่ลืมความต้องการของสถานประกอบการด้วย

“ที่สำคัญ ต้องไม่ลืมให้ความสำคัญกับความร่วมมือในการพัฒนาการเรียนการสอนร่วมกับสถานประกอบการ เพราะนั่นจะทำให้นักเรียนอาชีวะที่จบออกไปเป็นที่ต้องการมากของตลาดแรงงานมากขึ้น

“ผมเชื่อว่าการศึกษาสายอาชีพคือพลังสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการพัฒนาประเทศ”


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save