fbpx

จากออนไซต์สู่ออนไลน์ กวดวิชาจะไม่มีวันตายถ้าการศึกษาไทยยังเหมือนเดิม(?)

กวดวิชาออนไลน์

อีกไม่กี่เดือนข้างหน้าจะเข้าสู่ห้วงเวลาบีบคั้นหัวใจมากที่สุดครั้งหนึ่งในช่วงชีวิตวัยรุ่น ฤดูกาลของการเข้าเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยใกล้เปิดฉากฟาดฟันกันบนสนามสอบ โดยมีเด็กไทยนับพันนับหมื่นคนทั่วประเทศเข้าร่วมกันอย่างคับคั่ง ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลล้วนหวังเพียงแค่ได้ปลดเปลื้องความกดดันด้วยการมีชื่อติดในใบประกาศของคณะที่ใช่ และมหาวิทยาลัยที่ใฝ่ฝัน

แม้ระบบการสอบเข้าจะผันแปรตามยุคสมัย และชื่อข้อสอบ TGAT TPAT A-Level ที่นักเรียนมัธยมปีที่ 6 ปัจจุบันต้องใช้จะไม่คุ้นหูคนนอกระบบการศึกษาอีกต่อไป แต่ถ้าย้อนมองเส้นทางการเรียนการสอบของเด็กคนหนึ่ง อาจพบว่าไม่ต่างจากชีวิตที่หลายคนคุ้นเคยสักเท่าไหร่นัก

กล่าวคือ เราใช้เวลาส่วนใหญ่ติวหนังสือกันอย่างเข้มข้นถึงขั้นเคร่งเครียด สถาบันกวดวิชาคือโลกการศึกษาใบที่สองรองจากโลกหลังรั้วโรงเรียน คือโลกที่มีความทรงจำของชีวิตวัยรุ่นครึ่งหนึ่งอัดแน่นอยู่ในนั้น

จะต่างกันตรงสมัยนี้ ภาพจำของ ‘สถาบันกวดวิชา’ อาจไม่ใช่สถานที่ แต่เป็น ‘แพลตฟอร์ม’ ซึ่งเข้าถึงได้จากหน้าจอที่บ้าน เมื่อการระบาดของโควิดพลิกโฉมการเรียนกวดวิชาพอๆ กับการเรียนในโรงเรียนสังกัดกระทรวงศึกษา ธุรกิจติวเตอร์หลายเจ้ามีอันต้องปิดสาขา หรือกระทั่งว่าปิดตัวลงเพราะคำสั่งล็อกดาวน์และภาระต้นทุนเกินแบกรับไหว ข่าวจากหนังสือพิมพ์ประชาชาติรายงานว่า ในปี 2563 วิกฤตการณ์โรคระบาดและการชะลอตัวของเศรษฐกิจทำให้โรงเรียนกวดวิชาทั่วประเทศลดลงเหลือเพียง 1,712 ราย จาก 2,801 รายเมื่อปี 2562 หรือกล่าวได้ว่าเพียงปีเดียว มีโรงเรียนกวดวิชาเลิกกิจการไปถึง 1,069 ราย

ธุรกิจกวดวิชาหลายแห่งเลือกลดต้นทุนด้วยการปรับโครงสร้างมาสอนผ่านคอร์สเรียนออนไลน์มากขึ้น ดังนั้นภาพที่เราเคยเห็นนักเรียนแห่แหนเดินทางเข้าสยามฯ เพื่อเรียนพิเศษ หรือเด็กต่างจังหวัดมารวมตัวเข้าค่ายติวหนังสือในเมืองใหญ่อาจไม่มีอีกต่อไป

อย่างไรก็ดี เช่นเดียวกันกับการเรียนออนไลน์ในโรงเรียนทั่วไป มีคนจำนวนไม่น้อยสงสัยว่าการใช้เทคโนโลยีจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้จริงหรือ คอร์สเรียนออนไลน์จะช่วยอุดช่องว่างระหว่างเด็กในเมืองกรุงและเด็กต่างจังหวัดได้แค่ไหน แล้วคุณภาพการเรียนการสอนล่ะ จะเปลี่ยนไปจากการเรียนแบบพบปะติวเตอร์บ้างไหม

101 ขอชวนคุณมาสำรวจโลกของการศึกษาที่เด็กยุคใหม่กำลังใช้ชีวิต และเสียงของตัวแทนฝั่งธุรกิจกวดวิชาที่ตกอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงหลังโควิดแพร่ระบาด

ความฝันที่ต้องลงทุน(เป็นพิเศษ)ของเด็กต่างจังหวัด

“หนูอยากเข้าคณะเศรษฐศาสตร์ค่ะ” น้ำเสียงจากคู่สนทนาปลายสายโทรศัพท์ฟังดูเก้อเขินอยู่บ้าง เพราะสำหรับนักเรียน ม.6 ในห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์แล้ว เป้าหมายของ ‘โมจิ’ ดูจะแตกต่างจากเพื่อนส่วนใหญ่ ที่มักให้คำตอบทำนองว่า ‘อยากเป็นหมอ’

“ช่วงมัธยมต้น ก็อยากเข้าคณะสายสุขภาพนะคะ เลยเรียนสายวิทย์มาโดยตลอด แต่ตอนนี้รู้แล้วว่าอยากเข้าเศรษฐศาสตร์เลยตัดวิทย์ออกเลยค่ะ” เธอพูดติดตลก แต่เราคาดว่าเจ้าของเสียงคงโล่งใจอยู่ไม่น้อย เพราะเดิมที ชีวิตช่วงมัธยมต้นของโมจิต้องเรียนเสริมสารพัดรายวิชาทั้งวิทย์ฯ คณิตฯ ภาษาอังกฤษอยู่ไม่ขาด แต่ความที่จังหวัดอ่างทอง บ้านเกิดของเธอแทบไม่มีสถาบันกวดวิชามาเปิดทำการ ทำให้โมจิต้องเดินทางข้ามจังหวัดอยู่บ่อยครั้งเพียงเพื่อไปเรียนไม่กี่ชั่วโมง

“เมื่อก่อน เวลาปิดเทอมหนูจะไปอยู่กับพ่อแม่ที่ชลบุรีเพื่อจะได้มีที่เรียนพิเศษ หรือถ้าเป็นตอนเปิดเทอม เขาจะขับรถพาไปเรียนที่อยุธยาช่วงเสาร์อาทิตย์” รวมๆ แล้ว ทั้งค่าคอร์สเรียนและค่าเดินทางคงไม่ต่ำกว่าหลักหมื่น ทว่าใครจะรู้ เหล่าผู้ปกครองอาจมองว่าค่าใช้จ่ายพวกนี้คุ้มค่า ถ้าทำให้บุตรหลานได้รับองค์ความรู้อันจำเป็นครบถ้วน

“หนูไปเรียนกวดวิชามาก่อนล่วงหน้า แล้วค่อยมาเสริมความเข้าใจจากการเรียนในโรงเรียนอีกที” โมจิเล่า “ถ้าการศึกษาไทยมันดีกว่านี้ เด็กคงไม่จำเป็นต้องไปกวดวิชาข้างนอกมากขนาดนั้น การเรียนในโรงเรียนไม่ได้ตอบโจทย์สิ่งที่ต้องเจอในสนามสอบเลย คนที่อยากเข้าหมอก็ต้องไปเรียนเพิ่ม สายภาษาอย่างภาษาจีน ฝรั่งเศส ครูก็ไม่ได้สอนลึกมากพอจะนำไปสอบได้”

ปัญหาของเด็กต่างจังหวัดส่วนหนึ่งคือโรงเรียนขาดบุคลากรและทรัพยากรที่มีคุณภาพเพียงพอสำหรับการเรียนการสอน ภาระจึงตกอยู่กับตัวผู้เรียนและครอบครัวที่ต้องขวนขวายหาการศึกษานอกระบบให้ทัดเทียมกับเด็กในเมืองใหญ่และเท่าทันความเปลี่ยนแปลงของวิธีการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย

“ก่อนโควิด-19 เด็กต่างจังหวัดเข้าถึงการเรียนกวดวิชายากมากๆ อ่างทองไม่มีสถาบันดังๆ ที่ไหนมาเปิดเลยค่ะ ต้องพยายามหาที่เรียนกันเอาเอง แต่หลังโควิดเป็นต้นมา พอกวดวิชาหลายแห่งปรับมาเป็นคอร์สเรียนออนไลน์ก็เข้าถึงได้ง่ายขึ้น นี่น่าจะเป็นข้อดีของสถานการณ์” โมจิกล่าว พร้อมเสริมว่าหลังตั้งเป้าแน่นอนว่าอยากเข้าคณะเศรษฐศาสตร์ เธอก็หันมาตั้งใจเรียนคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษผ่านคอร์สกวดวิชาออนไลน์ที่บ้าน เวลา 20.00 น. ถึง 23.00 น. ทุกวัน ส่วนวันหยุดจะเรียนตั้งแต่เที่ยงวันยันเที่ยงคืน โดยมีช่วงพักสมองสั้นๆ คั่นระหว่างนั้น

ฟังดูเหมือนจะสะดวกสบาย แต่โมจิสารภาพว่าอันที่จริงตนชอบบรรยากาศการเรียนในสถาบันมากกว่าที่บ้าน เพราะมีสมาธิจดจ่อมากกว่า “ถ้าให้เลือกว่าจะเสียค่าเดินทางเพื่อมีสมาธิในการเรียนไหม หนูก็เลือกไปเรียนที่สถาบันนะ” และดูเหมือนว่านักเรียนหลายคนจะเห็นพ้องกับคำตอบนี้

‘ไนน์’ นักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 6 จากอ่างทองเองก็เช่นกัน

“การเรียนอยู่บ้านทำให้เราเอื่อยเฉื่อย ถ้ามีวินัยก็ดี แต่ถ้าคุมใจตัวเองไม่ได้ก็เรียนได้ไม่เต็มที่ เพราะเราไม่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีครู หรือมองไปทางไหนมีแต่คนตั้งใจเรียน ที่บ้านมีโซฟา มีทีวี มีของล่อตาล่อใจเยอะ ส่วนข้อดีคือจัดการเวลาได้ ไม่ต้องเสียค่าน้ำมัน ค่าเดินทาง ค่ากินอื่นๆ…

“มีค่าเข้าสังคมด้วยนะครับ” ไนน์เล่าว่าครอบครัวพาเขาไปเรียนกวดวิชาตั้งแต่อนุบาล 2 เริ่มจากวิชาคณิตและศิลปะ ต่อด้วยอังกฤษ และภาษาไทยเมื่อเริ่มโตขึ้น ทุกๆ ครั้งที่เขาไปเรียน พ่อแม่จะรวมกลุ่มกับผู้ปกครองคนอื่นๆ นั่งรออยู่ด้านนอกห้อง นานวันเข้าก็กลายเป็นความสนิทสนม “ซื้อของกินมาแบ่งกัน มารอลูกพร้อมกัน ไปเที่ยวด้วยกัน” ในแง่หนึ่ง สถาบันกวดวิชาจึงถือเป็นอีกสังคมหนึ่งของบรรดาพ่อแม่ยุคใหม่ ไม่ใช่แค่โลกของเด็กหรือวัยรุ่น

อาจเป็นเพราะคลุกคลีกับวงการกวดวิชามานับแต่จำความได้ ไนน์ถึงสังเกตเห็นว่าหลังโควิดเป็นต้นมา ธุรกิจกวดวิชาเริ่มมีคอร์สเรียนออนไลน์เพิ่มมากขึ้นและหลากหลายขึ้น จากเดิมมีให้เลือกเรียนที่บ้านแค่บางเจ้า ทำให้เขาต้องเดินทางไปเรียนพิเศษที่ต่างจังหวัดอย่างอยุธยา สุพรรณบุรี สิงห์บุรี สระบุรี ตอนนี้ไม่ว่าหันไปทางไหนก็มีเรียนออนไลน์เป็นทางเลือกแทบทุกวิชา

“แต่คอร์สเรียนที่บ้านแพงกว่าเด็กห้อง(เรียน)สดมากครับ” เขายกตัวอย่างคอร์สเรียนวิชาเคมีของสถาบันหนึ่งซึ่งถ้าเรียนในห้องกับติวเตอร์ ราคาจะตกประมาณหมื่นนิดๆ แต่ถ้าเลือกเรียนอยู่บ้าน ราคาจะทะยานไปถึงหมื่นเจ็ดพัน ทั้งที่เนื้อหาเหมือนกันทุกประการ

“ผมเข้าใจว่าคงเป็นเพราะเด็กห้องสดไม่มีวิดีโอดูย้อนหลังแบบเรา สมมติเขาขาดเรียน อย่างมากก็ดูวิดีโอย้อนหลังได้ที่ศูนย์ แต่ผมเรียนที่บ้าน จะเรียนจากคลิปกี่รอบก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเวลาเรียนเราเหลือไหม” อีกเรื่องหนึ่งคือบวกเพิ่มค่าจัดส่งเอกสารที่จำเป็นต้องใช้ให้นักเรียนถึงบ้าน — ถ้าสมมติว่าเรียนพิเศษหนึ่งวิชาต้องใช้เงินเฉียดหมื่น คำถามคือเด็กไทยจำต้องเสียเงินมากเท่าไรในการเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย?

“ต้นทุนสูง ต้องลงทุนสูง ทุกคนบ่นเหมือนกันหมดเลย” ไนน์กล่าว “แต่เราต้องทำใจ ยังไงก็ต้องเรียนอยู่ดี เพราะโรงเรียนไม่สามารถสอนให้เราไปสอบได้

“สมมติว่าต้องใช้ความรู้ไปสอบ 100 เราได้จากโรงเรียนแค่ 60-70 ที่เหลือต้องไปหาเพิ่ม ซึ่งเรื่องนี้คงโทษครูอย่างเดียวก็คงไม่ได้ เพราะเขาสอนตามตัวชี้วัด และครูก็มีหลายประเภท บางคนสอนแต่พื้นฐานจนนำไปสอบไม่ได้ บางคนเชี่ยวชาญ สอนลึกมากๆ เราก็ไม่เข้าใจ บางคนติดงาน ให้ทำงานส่งอย่างเดียวก็มี แล้วยังมีปัจจัยหลายอย่าง เช่น มีวันหยุด มีกิจกรรมของโรงเรียน ทำให้บางทีเราเรียนได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ”

ไนน์ยอมรับอย่างตรงไปตรงมาตนเรียนกวดวิชา ‘เพื่อไปสอบ’ ไม่ว่าจะสอบที่โรงเรียน สอบแข่งขัน หรือสอบเข้า เป้าหมายของเขาคือการเข้าคณะแพทย์ที่มีอัตราการแข่งขันสูงติดอันดับต้นๆ ของประเทศ จึงมองว่าการเรียนเสริมทั้งฟิสิกส์ เคมี ชีวะ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ไปจนถึงเรียนวิชาความถนัดแพทย์ของตนถือเป็นหนึ่งในเรื่องปกติสำหรับนักเรียน ม.6 ยุคนี้

เพราะเวลาสอบเข้า เด็กส่วนใหญ่ไม่ได้พกไปแค่ปากกาดินสอ แต่แบกความคาดหวังอันหนักอึ้งของครอบครัวไปด้วย

“ที่บ้านคาดหวังกับเราสูง เราเลยรู้สึกกดดันมาตั้งแต่เด็ก เมื่อก่อนถ้ามีข้อสอบเต็ม 20 คะแนน เราได้ 17-18 ถึงมันจะเยอะ แต่ถ้าเขาเห็นเพื่อนเราได้ 19-20 เขาจะไม่พูดให้เราเสียใจ แต่จะชมแล้วบอกว่าครั้งหน้าก็ทำให้ดีขึ้นอีกเนอะ ซึ่งในใจเราก็รู้สึกเสียใจเหมือนกัน เราทำเต็มที่แล้วแต่มันไม่ดีพอเหรอ” ไนน์เล่า ถึงเขาจะพยายามปรับความเข้าใจกับพ่อแม่เพื่อลดความกดดันตลอดมา กระนั้นไนน์ก็รู้ว่าการสอบเข้ามหาวิทยาลัยเป็นเรื่องสำคัญทั้งต่อตัวเองและครอบครัว  สุดท้าย การสร้างหลักประกันที่ดีที่สุดในสนามสอบของนักเรียนมัธยมปลาย จึงยังคงวนเวียนอยู่จุดเดิม — หนีไม่พ้นเรียนหนังสือมากขึ้น ติวให้หนักขึ้น ทำข้อสอบเพิ่มขึ้น

โดยหวังว่าความพยายามคงไม่หักหลังใคร ใช่ไหม?

‘เป็นติวเตอร์ไม่ง่าย’
เมื่อต้องเผชิญความท้าทายจากผู้เรียนและโลกธุรกิจ

“อันที่จริง เมื่อพูดถึงโรงเรียนกวดวิชาก็มีหลายเจเนอเรชัน หลายสิบปีที่แล้วกวดวิชาดังๆ จะอยู่ในพื้นที่เฉพาะอย่างกรุงเทพฯ บริเวณสยาม วิสุทธิ์กษัตริย์ ราชดำเนินหรือเสาชิงช้า เด็กต้องเดินทางมาหาติวเตอร์ดังๆ เท่านั้น”

สถาบันกวดวิชาของ ‘ธีร์’ (นามสมมติ) เป็นหนึ่งในสถาบันที่เปิดมานานจนเรียกได้ว่าทันทุกยุคทุกสมัย เขาจึงเห็นความเปลี่ยนแปลงในภาพใหญ่ของแวดวงธุรกิจนี้ ว่าแต่เดิม ปัญหาสำคัญทั้งฝั่งติวเตอร์และผู้เรียนคือไม่มีทรัพยากรและพื้นที่เพียงพอในการรองรับเด็กจำนวนมาก จนเกิดการพัฒนากลายมาเป็นโมเดลการเรียนในห้องกับวิดีโอ เรียนกับคอมพิวเตอร์ตัวต่อตัวในสถาบันสาขา และล่าสุด เรียนผ่านคอร์สออนไลน์ที่บ้าน

“โควิดเป็นตัวกระตุ้นให้ใครๆ หันมาทำกวดวิชาแบบออนไลน์ ผมอยู่ในวงการสตาร์ตอัปก็ได้ยินมาเยอะ คนพูดถึงไอเดียเรื่องแพลตฟอร์มทางการศึกษา สตาร์ทอัปเกี่ยวกับการศึกษามากมาย ทั้งกวดวิชาสำหรับเด็กมัธยมและเทรนนิงสำหรับผู้ใหญ่ มีโรงเรียนพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นผ่านแพลตฟอร์มใหม่ หรือบนแพลตฟอร์มที่เคยใช้มาแล้วอย่าง zoom และกลุ่มทางเฟซบุ๊ก” 

ธีร์ยอมรับว่า ในฐานะคนทำธุรกิจกวดวิชา สิ่งที่ท้าทายเขาไม่ใช่การระบาดของโควิดจนถูกสั่งปิดสถาบันชั่วคราว เพราะสถาบันของธีร์เริ่มเปิดคอร์สออนไลน์ให้เรียนได้ที่บ้านมาก่อนหน้านั้น และมีประสบการณ์ผ่านวิกฤตในทำนองเดียวกันอย่างเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ปี 2553 และน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 มาแล้ว ความท้าทายสำคัญ ณ ตอนนี้ คือการที่คนในและนอกวงการพยายามเข้ามาจับตลาดกวดวิชาออนไลน์ ประหนึ่งความคึกคักของตลาดสตรีมมิ่งภาพยนตร์ต่างหาก

“ปัญหาของผู้เรียนในไทยตอนนี้ไม่ใช่เรื่องความสามารถในการเข้าถึง (availability) หรือขนาดของอุปทาน (supply size) เหมือนเมื่อก่อนแล้ว คำถามสำคัญเมื่อการเรียนการสอนไปอยู่บนแพลตฟอร์มเทคโนโลยีคือมันมีคุณภาพแค่ไหน มันทำให้เราอยากเรียนจริงหรือเปล่า” ธีร์กล่าว พร้อมเสริมว่าในฝั่งของธุรกิจกวดวิชาหรือเจ้าของแพลตฟอร์มนั้น … “ถ้าเน้นพัฒนาแค่เทคโนโลยีแพลตฟอร์มอย่างเดียว แต่ไม่พัฒนาคุณภาพทางด้านวิชาการเลยก็ไม่เวิร์ก คนเราเวลามีค่ากว่าราคาคอร์สนะครับ ถ้าสอนห่วย เรียนไปได้ 2-3 ชั่วโมง คนก็ตัดสินใจไม่เรียนต่อแล้ว”

นอกจากนี้ สิ่งที่แลดูจะรับมือได้ยากยิ่งกว่าคู่แข่งทางธุรกิจ คือจะ ‘จับ’ ผู้เรียนที่บ้านอย่างไรได้อยู่หมัด ธีร์เปิดเผยว่าช่วงโควิดระบาดใหม่ๆ รัฐบาลสั่งล็อกดาวน์ ยอดสมัครคอร์สออนไลน์ของสถาบัน 4-6 เดือนแรกพุ่งสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด “มันดูมีความหวังมากๆ นะอนาคตทางการศึกษาของเด็กไทยอาจไม่น่าเป็นห่วง เพราะคนยังใฝ่เรียนอยู่” แต่หลังผ่านไปราวครึ่งปี ความหวังนั้นกลับดับมอดลง เพราะจำนวนนักเรียนที่เรียนจบคอร์สมีไม่ถึงครึ่งของจำนวนที่สมัคร

“เด็กที่เรียนจบถือว่าเป็นแค่ 5% ของประชากรทั้งหมดเท่านั้น เป็นเด็กที่สามารถควบคุมตัวเองได้แม้จะไม่มีผู้ใหญ่คอยจับตาดู ส่วนใหญ่มักจะเฟลหมด แต่เฟลในดีกรีที่แตกต่างกัน บางคนเฟลตั้งแต่แรกเริ่ม บางคนเฟลไประหว่างทาง” ถ้าเราตั้งสมมติฐานว่าเด็กที่มาเรียนกวดวิชาได้เป็นเด็กจากครอบครัวชนชั้นกลางขึ้นไป ไม่มีปัญหาเรื่องอุปกรณ์ ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงแล้วล่ะก็ นี่อาจเป็นภาพสะท้อนที่ตีความได้ทั้งเรื่องของวินัยส่วนบุคคล และคำกล่าวที่ว่าบ้านไม่ใช่สถานที่ที่เหมาะแก่การเรียนสำหรับทุกคน

จากปัญหาข้างต้น ธีร์จึงพยายามแก้ไขด้วยการออกแบบคอร์สเรียนให้มีช่วงพักสมอง “อ้างอิงจากวิทยาศาสตร์ของสมอง เด็กจะมีสมาธิจดจ่อกับเนื้อหาได้นานสุด 45 นาที ดังนั้น การเรียนของเราจะมีช่วงพักสมองทุกๆ 45 นาที เป็นการแทรกควิซหรือสื่ออื่นๆ ก่อนเข้าสู่วงจรที่สมองเปิดรับต่อไป

“แต่เราจะไม่ทำให้คอนเทนต์การสอนของเรากลายเป็นสื่อบันเทิงเพื่อการศึกษา (entertainment for education) ครูต้องไม่กลายเป็น comedian หรือตัวตลก ไม่ใช่ครูที่ดีต้องไม่มีอารมณ์ขัน แต่เราต้องไม่หลงทาง ครูที่ดีคือครูที่สามารถถ่ายทอดความรู้ได้จริง มีความเข้าใจต่อเนื้อหาจริง ไม่ใช่ครูที่เล่านิทานเก่งหรือสอนตลก” ขณะเดียวกัน ธีร์มองว่าครูที่แสดงถึง ‘แพสชัน’ ในการสอน รักวิชาที่ตัวเองสอน อาจจะโน้มน้าวให้เด็กคนหนึ่งตั้งใจเรียนมากกว่าเสียด้วยซ้ำ

ส่วนประเด็นค่าเรียนคอร์สออนไลน์อาจแพงกว่าคอร์สประเภทอื่นนั้น แม้ธีร์จะยืนยันว่าสถาบันของเขาคิดราคาไม่ต่างกัน แต่หากมองในมุมผู้ประกอบการก็พอคาดเดาสาเหตุได้ “เขาคงรวมค่าความเสี่ยงที่สถาบันต้องแบกรับ เช่น คอนเทนต์รั่วไหล เข้าไปด้วย ซึ่งทางผมก็เคยเจอเหมือนกัน นักเรียนสมัครคนเดียวแต่แบ่งดูกับเพื่อนอีกหลายคน หลายบ้าน ยิ่งในต่างจังหวัดยิ่งชอบแชร์กัน บ้านหนึ่งซื้อคอร์สวิชาเลข อีกบ้านซื้อคอร์สอังกฤษแล้วมาแบ่งกันดู คนที่ตั้งราคาเรียนออนไลน์ที่บ้านสูงกว่าที่สถาบันคงคิดเผื่อเรื่องเหล่านี้ไว้” ธีร์อธิบาย

“แต่เรารู้อยู่แล้วว่ายังไงก็ห้ามไม่ได้ พยายาม outsmart นักเรียนไปบางทีก็ไม่มีประโยชน์ เราปล่อยให้เขาทำแล้วคิดว่าได้ลูกศิษย์เพิ่มขึ้นมาดีกว่า โดยปกติเนื้อหาคอร์สเรียนถูกเปลี่ยนใหม่ทุกปีอยู่แล้ว ทุกคอนเทนต์มีอายุของมันตามธรรมชาติ ดังนั้นถ้ามีคนเรียนเนื้อหาที่หลุดไปพวกนี้แล้วได้ประโยชน์ก็ดี บางทีก็นึกถึงเราบ้างก็ได้” 

เมื่อถามว่าในอนาคต โรงเรียนกวดวิชามีแนวโน้มจะย้ายไปใช้โมเดลเรียนออนไลน์ทั้งหมดเพื่อลดต้นทุนไหม ธีร์สารภาพว่า “จริงๆ เมื่อปีที่แล้ว (2564) เราก็ปิดสาขาไปเยอะเหมือนกัน”

“ส่วนตัวผมยังดื้ออยู่” เขากล่าว “ยุคที่เราทำงานแบบรู้สึกมีความสุขมากที่สุดคือยุคที่เราเปิดโรงเรียนที่สยาม ได้เจอนักเรียนทุกวันเสาร์อาทิตย์ บางคนใช้เวลาทั้งวันที่กวดวิชา ทำให้สตาฟได้พูดคุยและเล่นกับน้องๆ บางคนถึงขั้นให้คำปรึกษาปัญหาส่วนตัว หรือคนที่รักเรียนหน่อยก็มานั่งถามเนื้อหาการเรียนต่อ”

การมี ‘human touch’ ระหว่างกันจะไม่เกิดขึ้นเลยถ้าโรงเรียนกวดวิชากลายเป็นคอร์สออนไลน์ทั้งหมด “เด็กจะมองว่าเราเป็นแค่บริษัทหนึ่งที่มาขายบริการให้เขา มีครูเป็นพรีเซนเตอร์ ไม่มีโรงเรียนให้ไปเจอคน” ซึ่งถ้ามองนอกเหนือไปจากความต้องการของคนทำงานแล้ว ธีร์มองว่าอาจส่งผลต่อวงจรการเรียนรู้ของผู้เรียน ที่จากเดิมมีการเรียนรู้ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ มีการพูดคุย เข้าสังคม พบปะเพื่อนใหม่ ทำให้เกิดความอยากรู้อยากเรียนมากขึ้น สิ่งนี้ก็จะหายไปพร้อมๆ กับความมีชีวิตชีวาในโรงเรียนกวดวิชา ฉะนั้นไม่ว่าอย่างไร ธีร์ก็เชื่อว่าโมเดลการเปิดห้องเรียนแบบพบหน้า หรือมีสาขาให้เด็กต่างจังหวัดมารวมตัวกันยังมีให้เห็นแน่นอน

ท้ายที่สุดแล้ว ต่อคำถามทิ้งทวนว่าตกลงโรงเรียนกวดวิชาจำเป็นแค่ไหนต่อสังคมไทย ในสายตาผู้บริหารสถาบันที่อยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของระบบการศึกษามาแทบทุกยุค ธีร์ตอบว่า “เราทำหน้าที่แทนเด็กในการดักทางคิดของผู้ใหญ่ ว่าปฏิรูปการศึกษาทีนึงจะเกิดอะไร กำแพงในการคัดเลือกเด็กเข้ามหาวิทยาลัยจะเปลี่ยนไปอย่างไร เวลาสอบต้องเจอกับอะไร มาแนวไหน เปลี่ยนไปจากเดิมไหม เรามีหน้าที่ทำให้นักเรียนหลงทางน้อยที่สุด เพราะเรารู้ว่าครูในโรงเรียนอาจจะไม่สามารถทำเรื่องเหล่านี้

“รากเหง้าของปัญหาคือสิ่งที่สอนในโรงเรียนกับเป้าหมายปลายทางของนักเรียนเป็นคนละเรื่องกัน คลาสสิกโกลของเด็กไทยทั่วไปคือสามารถเข้ามหาวิทยาลัยที่เขาอยากเข้า แต่สิ่งที่โรงเรียนมอบให้กับสิ่งที่คัดกรองเขาเข้ามหาวิทยาลัยเป็นคนละอย่าง ช่องว่างระหว่างสองสิ่งนี้เป็นเหตุให้เราทำกวดวิชาเป็นธุรกิจได้ ถ้าไม่มีช่องว่าง เราอาจจะมีธุรกิจกวดวิชาอยู่บ้างสำหรับเด็กที่ต้องการเรียนเพิ่มเติมเป็นพิเศษ แต่จะไม่ใช่ขนาดใหญ่ แพร่หลายทั่วไปขนาดนี้”

อย่างไรก็ดี หลายปีที่ผ่านมา ธีร์สังเกตเห็นว่าค่านิยมเรื่องการศึกษาในสังคมไทยเริ่มเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม “จากการพูดคุยกับเด็กนักเรียนในรอบสามปีที่ผ่านมา ค่านิยมเปลี่ยนไปเยอะมาก และมีเด็กหลายกลุ่มกระจัดกระจายกันเหมือนตลาดกวดวิชาตอนนี้เลย เรากำลังอยู่ในโลกที่มีทั้งเด็กไม่อยากเรียน ผู้ปกครองก็สนับสนุนให้ไม่ต้องเรียนก็ได้ ออกไปหาแพสชันตัวเองให้เจอ มีทั้งเด็กที่ยังอยู่ในระบบการแข่งขันแบบเดิม อยากเป็นหมอ เป็นวิศวะ มีทั้งเด็กอินเตอร์ที่พ่อแม่ให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพจิตดี บุคลิกภาพที่ดี

“เจ้าของธุรกิจกวดวิชาอย่างพวกผมกระทบชัวร์ มันไม่ใช่โลกที่พวกผมเคยโตมา มีเป้าหมายแค่การเอนทรานซ์เท่านั้น โลกตอนนี้มีทางเลือกให้เด็กอีกเยอะมาก”

คำถามที่น่าขบคิดคือแล้วสถานศึกษาจะปรับตัวทันไหม คนในระบบการศึกษาเห็นโลกที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ชัดเจนแค่ไหน

และคิดจะทำอย่างไรกับระบบที่เป็นอยู่บ้าง?

บทเรียนส่งท้าย

ระหว่างพูดคุยผ่านโทรศัพท์ คำถามหนึ่งที่เราถามโมจิเล่นๆ คือมีเรื่องอะไรสนุกๆ จากการกวดวิชาออนไลน์เล่าให้เราฟังบ้างไหม

เธอตอบพลางหัวเราะว่า “เรียนพิเศษมันก็ไม่ค่อยมีอะไรน่าสนุกหรอกค่ะ”

จริงอย่างที่เธอพูด หากมองย้อนกลับไป ในความทรงจำของใครหลายคนก็ไม่ได้มีความรู้สึกประทับใจในช่วงติวหนังสือเข้ามหาวิทยาลัยเป็นพิเศษ และถ้าเด็กไทยเลือกได้ คงมีน้อยคนนักที่อยากใช้เวลาหมดไปกับการนั่งเรียนหน้าคอมวันละหลายชั่วโมง

แต่นั่นล่ะ หลายครั้งที่เด็กไทยเลือกไม่ได้ – เมื่อคุณภาพการเรียนในโรงเรียนไม่ตอบโจทย์สิ่งที่ต้องเจอ หากต้องการสอบผ่าน การกวดวิชาดูเหมือนจะเป็นทางลัดที่มั่นคงที่สุด เชื่อใจได้มากที่สุดสำหรับนักเรียนและผู้ปกครอง

แม้กวดวิชายุคใหม่อย่างคอร์สเรียนออนไลน์อาจจะลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงแก่เด็กต่างจังหวัดหรือเด็กนอกพื้นที่เมืองได้จริง กระนั้นก็ยังมีเด็กอีกกลุ่มที่ไม่มีกระทั่งโอกาสและกำลังทรัพย์ในการเรียนพิเศษ ข้อสอบที่ว่ากันว่ายากแสนยาก ก็ยิ่งยากทบทวีสำหรับคนเหล่านี้ยิ่งขึ้นไปอีก

เราจะพูดว่ากวดวิชาเป็นตัวร้ายได้ไหม ถ้ารากเหง้าของปัญหาคือการที่คุณภาพการศึกษาไทยไม่พัฒนาไปด้วยกันกับระบบสอบคัดเลือก?

นี่เป็นโจทย์ใหญ่ที่รอผู้รู้มาแก้ไขมานานหลายสิบปี

กวดวิชาออนไลน์

กวดวิชาออนไลน์

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save