fbpx
โตแล้วไปไหน : จุดเปลี่ยนชีวิตของเหล่าแก๊งทหารท่านผู้นำ

โตแล้วไปไหน : จุดเปลี่ยนชีวิตของเหล่าแก๊งทหารท่านผู้นำ

ตั้งแต่หมุดเก่าถูกฝังที่พื้นถนน จนโดนขุดออกเพื่อฝังหมุดใหม่เข้าไปแทนที่ ไทยแลนด์แดนของเราเกิดเหตุการณ์รัฐประหารมาทั้งสิ้น 13 ครั้ง เยอะจนกลายเป็นอีกเรื่องที่พอจะชูหน้าชูตาชาวต่างชาติพอๆ กับต้มยำกุ้ง และข้าวเหนียวมะม่วง

 

อย่างที่พอจะเดากันได้ ตัวละครเอกที่เวียนกันมารับบทอัศวินขี่ม้าขาวช่วยชาติไทยให้พ้นภัยหนีไม่พ้นที่จะต้องเป็นเหล่าผู้นำทหารสุดเท่จากกองทัพไทย ในบทบาทของหัวหน้าคณะคืนความสงบและความสุขให้กับการเมืองไทยที่ร้อนระอุในแต่ละช่วง – แม้ว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะร้องขอให้มา

บางคนขอหยุดหน้าที่ไว้แค่ผู้นำคณะรัฐประหาร แต่ก็มีอีกหลายคนที่มั่นใจ ขอเดินหน้าประเทศไทย ทำหน้าที่ผู้นำประเทศด้วยตัวเอง จากคุมแค่กองทัพ กลายร่างมาเป็นผู้คุมคณะรัฐบาลเพื่อบริหารประเทศ บทบาทหน้าที่อันยิ่งใหญ่ มาพร้อมความรับผิดชอบที่ใหญ่ยิ่ง นี่จึงเป็นจุดเปลี่ยนชีวิต ที่พาช่วงเวลา Coming of Age แสนสำคัญในชีวิตของชายชาติทหารคนหนึ่งให้มาถึง

เมื่อนำตัวเลขอายุมาตัดสิน ดารานำชายทั้ง 5 ชื่อต่อไปนี้พร้อมไหมกับภาระอันหนักอึ้งในช่วงเวลาดังกล่าว นี่เป็นสิ่งที่เราขอชวนย้อนไปสำรวจประวัติศาสตร์กันอีกครั้ง

คำตอบสุดท้ายจะเป็นอย่างไร เลือกตอบกันให้ดี เพราะถ้าตอบไม่ดี คุณอาจไม่มีสิทธิ์ตอบอีกต่อไป!

 

. พิบูลสงคราม

เกิด: 14 กรกฎาคม 2440

นายกฯ ครั้งแรก: 2481 / 41 ปี

 

 

จอมพล ป. พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรีไทยที่ครองแชมป์ดำรงตำแหน่งนายกฯ ไว้ได้ยาวนานที่สุดเจ้าของมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ตั้งแต่ชื่อประเทศไทยไปจนถึงเพลงชาติไทย เริ่มเข้าสู่เส้นทางการเมืองด้วยการเข้าร่วมกับคณะราษฎร เริ่มประชุมวางแผนการในตำแหน่ง ‘กัปตัน’ ดูแลด้านกองกำลังฝ่ายทหารเมื่ออายุ 28 ปี วัยเท่ากับวันที่มาร์ก ซัคเกอร์เบิร์ก นำบริษัทของเขาเข้าตลาดหุ้นเป็นครั้งแรก

หลังสยามเปลี่ยนแปลงการปกครองได้เกือบครบปี เมื่ออายุได้ 36 เท่าๆ กับ ชมพู่ อารยา เอ ฮาร์เก็ตต์ จอมพล ป. เข้าร่วมเป็นแกนนำรัฐประหารกับพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา รุ่นพี่โรงเรียนนายร้อยทหารบก และเป็นคนกุมกำลังปราบกบฏของพระองค์เจ้าบวรเดช ก่อนหน้ารัชกาลที่ 7 จะสละราชสมบัติไปไม่นาน ห้าปีต่อมา พระยาพหลฯ ขอลาออกเพราะสุขภาพไม่ค่อยดี ความดีความชอบก่อนหน้านี้หนุนนำให้จอมพล ป. ได้รับเลือกจากสภาเป็นนายกฯ ในวัยเดียวกับ แองเจลิน่า โจลี่ ที่อายุ 41 ปีเท่ากัน

จอมพล ป. ออกนโยบายสร้างชาติตามแบบฉบับลัทธิชาตินิยมด้วยวัฒนธรรมใหม่ ไทยทำ ไทยใช้ ไทยเจริญ พาไทยเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สอง ก่อนจะหลบรอดจากการเป็นชาติที่แพ้สงครามได้หวุดหวิด หลังจบสงคราม แม้จะลงจากตำแหน่งให้รัฐบาลพลเรือนเข้ามาบริหารประเทศ แต่ไม่นานเขาก็กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้งในวัย 50 ปี พอดีกับที่ไมเคิล แจ๊คสัน เสียชีวิตลง ก่อนจะถูกรุ่นน้องทหารที่ชื่อสฤษฎิ์มายึดอำนาจไปเมื่อเกือบ 10 ปีให้หลัง

 

สฤษดิ์ ธนะรัชต์

เกิด: 16 มิถุนายน 2451

รัฐประหารครั้งแรก: 2500 / 49 ปี

นายกฯ ครั้งแรก: 2502 / 50 ปี

 

 

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ต้นแบบตัวจริงของอำนาจทหารล้นฟ้าแบบเบ็ดเสร็จ เจ้าของอำนาจมาตรา 17 กฎหมายครอบจักรวาลยิ่งกว่ามาตรา 44 เพราะสั่งได้แม้กระทั่งประหารชีวิต ในยุคจอมพลผ้าขาวม้าแดงคนนี้ บ้านไหนไฟไหม้ เจ้าของบ้านเตรียมตัวโดนยิงเป้าโทษฐานก่อความไม่สงบได้เลย

ตอนอายุ 25 ปี เท่าๆ กับ ณเดชน์ คูกิมิยะ สฤษดิ์เมื่อครั้งยังติดยศแค่ร้อยตรี เป็นหนึ่งในผู้บังคับบัญชาหมวดปราบปรามกบฎบวรเดช (ลูกน้องโดยตรงของ จอมพล ป. พิบูลย์สงคราม) และไต่เต้าตำแหน่งขึ้นมาเรื่อยๆ จนปี 2490 ได้เข้าร่วมกับคณะรัฐประหารของจอมพลผิณ ชุณหะวัณ ยึดอำนาจคืนให้กับจอมพล ป. เจ้านายคนเก่าที่สฤษดิ์เคารพเลื่อมใส ผลงานป๋าดันให้ ป. ได้กลับมาอีกครั้งและดันตัวเองเป็นทหารคู่ใจเจ้านาย ส่งผลให้ชีวิตของสฤษดิ์ดีวันดีคืน ได้เลื่อนขั้นขึ้นไปเรื่อยๆ จนได้ตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมตอนอายุได้ 49 ปี เท่ากับเจ้าของตำแหน่งมิสยูนิเวิร์ส ปุ๋ย ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก

แต่วัย 49 นี้เองที่เป็นครั้งแรกของสฤษดิ์ในฐานะหัวหน้าคณะรัฐประหาร ยึดอำนาจจากรัฐบาลจอมพล ป. เจ้านายเก่า หลังสถานการณ์ความวุ่นวายที่ประชาชนไม่พอใจการทุจริตเลือกตั้งที่หวังให้ ป. ชนะเริ่มจะบานปลาย เมื่อรัฐประหารสำเร็จ ตั้งพรรคของตัวเอง และลงเลือกตั้งจนชนะ สฤษดิ์ก็ส่งถนอม กิตติขจร ให้มาเป็นนายกฯ แทนตัวเองที่ต้องไปรักษาตัวที่ต่างประเทศ แต่รัฐบาลถนอมก็วุ่นวายเสียจนเขาต้องกลับเข้ามาทำรัฐประหาร (โดยมีถนอมเป็นรองหัวหน้าคณะปฏิวัติ) และตั้งตัวเองขึ้นเป็นนายกฯ เผด็จการทหารที่แรงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยเมื่ออายุได้ 50 ปี แรงพอๆ กับอายุของวิน ดีเซล ที่ยังคงแข่งบดรถในแฟรนไชส์ Fast & Furious

 

ถนอม กิตติขจร

เกิด: 11 สิงหาคม 2454

นายกฯ ครั้งแรก: 2501 / 46 ปี

รัฐประหารครั้งแรก: 2514 / 60 ปี

 

  

เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ประชาชนลุกฮือขึ้นมาต่อต้านรัฐบาลทหาร และประวัติศาสตร์มืดดำที่รัฐอยากให้ลืมเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เป็นสองเหตุการณ์ใหญ่ในประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองไทย และตัวละครสำคัญจากทั้งสองเหตุการณ์คงหนีไม่พ้นชื่อของ จอมพลถนอม กิตติขจร ลูกไล่คนสำคัญของสฤษดิ์ ธนะรัชต์

ในวันที่ คานเย เวสต์ กำลังโกยเงินทั้งจากการแร็ปและขายรองเท้าด้วยอายุเข้าหลักสี่ ถนอมในวัย 40 ปีเริ่มต้นเข้าสู่เส้นทางการเมืองครั้งแรกด้วยตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแต่งตั้ง ได้เป็นรัฐมนตรีถึงสองครั้งในสมัยที่จอมพล ป. เป็นนายกฯ ก่อนที่เขาจะแปรพักตร์ไปอยู่กับทหารกลุ่มสฤษดิ์และพวกในช่วงท้ายอำนาจของ ป.

หลังสฤษดิ์เข้ายึดอำนาจจาก ป. ในปี 2500 ถนอมในฐานะรองหัวหน้าคณะรัฐประหารถูกดันให้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 10 ของประเทศไทยในวัย 46 ปี ห่างกับ จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดาที่มาจากการเลือกตั้งแค่ปีเดียว แต่ด้วยความวุ่นวายของรัฐสภาที่ไม่เข้ารูปเข้ารอยกับนายกฯ ทหารคนนี้ ทำให้ถนอมร่วมมือกับสฤษฎิ์ในการรัฐประหารตัวเอง และลดตำแหน่งมาเป็นรองนายกรัฐมนตรีในสมัยของสฤษดิ์แทน

หลังสฤษดิ์เสียชีวิต ถนอมที่ได้รับการคายตะขาบอำนาจก็ขึ้นมาเป็นนายกฯ แบบเต็มภาคภูมิ กลายเป็นนายกฯ ในสมัยรัฐบาลทหาร ลากยาวไปจนถึงชัยชนะที่ได้จากการเลือกตั้งทั่วไป แต่ด้วยปัญหาในการบริหารราชการของถนอม ทำให้คะแนนนิยมลดต่ำลง ประกอบกับปัญหาร่างกฎหมายงบประมาณที่อาจไม่ผ่านสภาจนอาจต้องลาออก ความไม่แน่นอนว่าจะได้กลับมากุมอำนาจไว้ได้อีกครั้งหรือไม่ทำให้ถนอมเข้ารัฐประหารตัวเองด้วยวัย 60 ปี เหมือน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มาทำรัฐประหารในอายุเท่ากัน

การยึดอำนาจตัวเองเพื่อต่ออายุให้ได้ยืนอยู่ในตำแหน่งหัวหน้าคณะบริหารต่อไปเป็นชนวนให้ประชาชนลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐบาลทหารอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จนถนอมต้องลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 14 ตุลาคม พร้อมกับมือขวาคนสำคัญอย่าง ประภาส จารุเสถียร ก่อนกลับมาในคราบเณรจนทำให้เกิดเหตุการณ์ดำมืดเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม อย่างที่เรารู้กัน

 

ประภาส จารุเสถียร

เกิด: 5 ธันวาคม 2455

รองนายกฯ ครั้งแรก: 2501 / 45 ปี

 

 

ชื่อของ จอมพลประภาส จารุเสถียร อาจไม่ได้มียศหรือตำแหน่งทางการเมืองที่ยิ่งใหญ่เท่ากับผู้นำเผด็จการทหารคนอื่นๆ ที่ได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปครอง แต่เขาคือหนึ่งในผู้ที่อยู่เบื้องหลังการปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหารในยุคแรก โดยเฉพาะการเป็น ‘มือขวา’ ของถนอม

เหตุการณ์กบฏบวรเดชอันเป็นจุดเริ่มต้นอำนาจของผู้นำเผด็จการทหารหลายคนก็เป็นอีกหนึ่งอีเวนต์เปิดตัวของจอมพลประภาส (ได้ซีนใหญ่ซะด้วย) ด้วยการเป็นผู้ที่ยิงเสนาธิการของฝ่ายกบฏจนถึงแก่ชีวิต แม้จะเป็นแค่ทหารยศร้อยโทที่อายุเพียง 21 ปี เท่าๆ กับ โจชัว หว่อง แอคทิวิสต์เยาวชนชาวฮ่องกง หลังจากที่ก่อนหน้านั้นเพียงหนึ่งปีสมัยยังเป็นนักเรียนนายร้อยทหารบก จอมพลประภาสเป็นแค่หนึ่งในทหาร 111 นายที่เข้าบุกวังบางขุนพรหมในวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ความสัมพันธ์เชิงอำนาจของพลประภาสและถนอมเริ่มต้นตั้งแต่การเข้าร่วมคณะรัฐประหารในปี 2490 และร่วมกันปราบกบฏวังหลวงในอีกสองปีต่อมา เมื่ออายุได้ 45 ปีหลังจากเพื่อนถูกดันให้เป็นนายกรัฐมนตรี จอมพลประภาสก็กลายเป็นมือขวาของถนอม นั่งตำแหน่งรองนายกฯ ด้วยวัย 45 ปี น่าเสียดายที่ไม่ได้เป็นตัวแม่เบอร์หนึ่งของเดอะเฟซฯ เหมือน ลูกเกด เมทินี ที่อายุเท่ากัน

นอกจากจะเป็นมือขวาในเกมอำนาจ จอมพลประภาสยังสนิทกับถนอมถึงขนาดให้ลูกสาวของตัวเองแต่งงานกับลูกชายของเพื่อน และในวันที่ถนอมต้องลาออกเพื่อจบเหตุการณ์ 14 ตุลา จอมพลประภาสก็พาเพื่อนไปลี้ภัยที่ไต้หวันด้วยกันทันที (จิ้นดีมั้ยเนี่ย)      

 

ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เกิด: 21 มีนาคม 2497

รัฐประหารและเป็นนายกฯ ครั้งแรก: 2557 / 60 ปี

 

 

สามเดือนก่อนหน้าที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเข้ามายึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง เขาได้ออกแถลงการณ์ผ่านหน้าจอโทรทัศน์ยืนยันว่ากองทัพจะไม่ทำรัฐประหาร และหวังให้ทุกฝ่ายร่วมกันหาทางออกอย่างสันติวิธี

แต่ในวัยย่างเข้า 60 ปี อยู่ๆ พลเอกประยุทธ์ก็กลับคำ เข้ามาเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารควบตำแหน่งนายกฯ พอดีกับอายุของ สตีฟ ฮาร์วีย์ นักแสดงตลกผู้โด่งดังจากการประกาศผลผู้ได้รับมงกุฏมิสยูนิเวิร์สผิด

ชวนให้คนปากร้ายค่อนขอดไปอย่างใจร้ายไม่ดูสถานการณ์สุดแสนคับขันของประเทศว่า – การแถลงยืนยันไม่ทำรัฐประหารแต่กลับต้องมาทำในภายหลังนั้น,

อาจเป็นการอ่านโพยผิดตามประสาคนวัยเดียวกันก็ได้!

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save