fbpx
‘จุดตัด’ ในยุคเปลี่ยนผ่าน

‘จุดตัด’ ในยุคเปลี่ยนผ่าน

ใครๆ ก็บอกว่า เรากำลังอยู่ในยุคแห่งการเปลี่ยนผ่าน ว่าแต่ การเปลี่ยนผ่านคืออะไร?

 

มองอย่างง่าย การเปลี่ยนผ่าน คือ การเปลี่ยนจากสิ่งที่เราอยู่กับมันมาอย่างยาวนานจนเราคุ้นชิน มองเห็นมันเป็นเรื่องปกติธรรมดาไปสู่สิ่งใหม่

แม้การเปลี่ยนจาก ‘เก่า’ ไปสู่ ‘ใหม่’ ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องง่าย เห็นได้ชัด ไม่ซับซ้อน แต่จริงๆ แล้ว เรากลับมองไม่ค่อยเห็น หรือไม่ค่อยรู้สึกถึงเท่าไหร่ รู้ตัวอีกที ก็ตามความเปลี่ยนแปลงไม่ค่อยทันแล้ว

ที่เป็นแบบนี้เพราะการเปลี่ยนผ่านส่วนใหญ่แล้วไม่ได้เกิดขึ้นอย่างปุปปับ แต่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทีละนิด ทีละหน่อย พูดอีกแบบคือ มันเป็นกระบวนการที่สะสมต่อเนื่องมากอย่างยาวนาน

แล้วทำยังไงเราถึงจะเห็นมัน?

วิธีการหนึ่งที่ช่วยได้คือ การมองหา ‘จุดตัด’ – จุดที่จะช่วยทำให้เราสามารถเปลี่ยนวิธีคิดหรือวิธีการมองสิ่งนั้นได้

ลองดูหาจุดตัดดู แล้วคุณจะเห็นว่า โลกกำลังเปลี่ยนผ่าน!

2014 จุดตัดในเศรษฐกิจโลก เมื่อจีนผงาดเหนืออเมริกา

หลายคนคงได้ยินเรื่องนี้ซ้ำหลายครั้งจนอาจจะเบื่อ แต่การผงาดขึ้นของจีนคงเป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงได้ยาก ถ้าเราอยากทำความเข้าใจโลก

หากเปรียบเทียบกันแบบโต้งๆ เศรษฐกิจจีนยังเล็กกว่าสหรัฐอเมริกาอยู่มาก โดยในปี 2015 จีนมีขนาดประมาณ 60% ของเศรษฐกิจอเมริกาเท่านั้น (แต่ทุกสำนักฟันธงว่า ยังไงจีนก็แซงอเมริกาแน่ๆ ในอีกไม่กี่สิบปีนี้) แต่ถ้าคำนวณเปรียบเทียบอำนาจซื้อ (Purchasing power parity – PPP) จีนได้กลายเป็นเบอร์หนึ่งของโลกตั้งแต่ปี 2014 แล้ว

แม้จะเป็นแค่บางมิติ แต่ก็มีความน่าสนใจไม่น้อย เพราะนี่เป็นครั้งแรกที่สหรัฐอเมริกาต้องเสียตำแหน่ง ‘เศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของโลก’ หลังจากที่แซงอังกฤษในปี 1872

นี่คือจุดเปลี่ยนในรอบกว่า 140 ปี

2013 จุดตัดการเมืองโลก เมื่องบฯ ทหารของเอเชียแซงยุโรป

เมื่อเศรษฐกิจเปลี่ยน ดุลอำนาจทางทหารและความมั่นคงก็เปลี่ยนตามไปด้วย

หลังสงครามเย็นสิ้นสุด สหรัฐอเมริกาก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 แทนยุโรป ในเรื่องการใช้จ่ายทางทหาร และคงเป็นเบอร์ 1 ไปอีกสักพักใหญ่ๆ

แต่ ‘ความเข้มแข็ง’ ของเอเชียกำลังเติบโตก้าวขึ้นมาแบบไม่ธรรมดา

ข้อมูลจาก Stockholm International Peace Research Institute ชี้ให้เห็นว่า งบประมาณทางด้านการทหารของเอเชียเพิ่มขึ้นมาโดยตลอดในช่วง 30 ปีที่ผ่านมานี้ กระทั่งในปี 2013 งบประมาณด้านการทหารของเอเชียแซงยุโรปขึ้นมาเป็นครั้งแรก

เอ! หรือว่ากองทัพไทยเราก็อยู่ในกระแส ‘Rising Asia’ นี้ด้วยเหมือนกัน เพราะในช่วง 10 ปีหลัง งบกลาโหมเราเพิ่มขึ้นราวๆ 2.5 เท่าเลยทีเดียว

2007 จุดตัดวิถีชีวิต เมื่อมนุษย์โลกกลายเป็น ‘คนเมือง’ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

ปี 2007 เป็นปีแรกที่ประชากรโลกที่อาศัยอยู่ในเมืองมีจำนวนมากกว่าประชากรโลกที่อาศัยอยู่ในชนบท นับแต่นั้น ประชากรส่วนใหญ่ของโลกก็เป็นประชากรเมืองมาโดยตลอด

ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 เมืองใหญ่ทั่วโลกขยายตัวมาตลอด ในปี 1950 โลกมี ‘คนเมือง’ เพียงแค่ 30% เท่านั้น ในขณะคนส่วนใหญ่ 70% ถือว่าเป็นประชากรที่อาศัยอยู่ในชนบท แต่ในปัจจุบัน ประชากรโลกประมาณ 3,900 ล้านหรือกว่า 54% ล้วนใช้ชีวิตอยู่ในเมือง

ประเทศไทยก็อยู่ในกระแส Urbanization ด้วยเช่นกัน ปัจจุบันคนไทยประมาณ 33 ล้านคน หรือราวครึ่งหนึ่งของประเทศอาศัยอยู่ในเมืองแล้ว คาดการณ์ว่า ในอีก 30 ปีข้างหน้าคนไทยประมาณ 44 ล้านคน หรือราว 73% จะอยู่อาศัยในเขตเมือง

ว่ากันว่า ช่วงชีวิตของเราจากนี้ไป เทรนด์ Urbanization จะเป็นเทรนด์ที่ทรงพลังมากที่สุด

เพราะเมืองเป็นขุมพลังสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พัฒนาเทคโนโลยี ทั้งยังเป็นเบ้าหลอมสำคัญของวิถีชีวิตที่แตกต่างจากชนบทอย่างสิ้นเชิง

2016 จุดตัดทางเทคโนโลยี เมื่อทุกคนมีมือถือ

เชื่อหรือไม่ว่า คนทุกคนบนโลกมีมือถือมากกว่า 1 เครื่อง!

ฟังแล้วอาจดูแปลกๆ และเป็นไปไม่ได้ แต่ในทางสถิติมันได้เกิดขึ้นแล้ว

Ericsson Mobility Report ระบุว่าปี 2016 คนทั่วโลกลงทะเบียนโทรศัพท์มือถือไปแล้วกว่า 7,500 ล้านเครื่อง ซึ่งมากกว่าจำนวนประชากรโลกที่มีอยู่ราว 7,400 ล้านคนแล้ว นั่นหมายความว่า โดยเฉลี่ยคนบนโลกมีโทรศัพท์คนละ 1 เครื่องเศษๆ และตัวเลขนี้ก็มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ถึงแม้จริงๆ แล้วยังไม่ใช่ทุกคนบนโลกมีมือถือจริงๆ และการจะเป็นเช่นนั้นก็ไม่ง่ายนัก แต่การที่คนเข้าถึงโทรศัพท์ในปริมาณมหาศาลเช่นนี้ย่อมเปลี่ยนวิถีชีวิตและวิธีคิดของพวกเราไปตลอดกาล

เอาง่ายๆ ทุกวันนี้เราแทบจะเลิกเถียงกันแล้วว่า การที่คนรากหญ้า (ศัพท์สมัยหนึ่ง) ซื้อมือถือเป็นเรื่องฟุ่มเฟือยหรือเปล่า

2015 จุดตัดรัฐแบบใหม่ รัฐ ‘เฟซบุ๊ก’

เมื่อมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เปิดตัวเฟซบุ๊กอย่างเป็นทางการในปี 2004 แม้แต่ตัวเขาเองคงนึกไม่ออกว่าเฟซบุ๊กจะเติบโตได้ถึงขนาดนี้!

4 ปีแรก เฟซบุ๊กกลายเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็ว และมีผู้ใช้ราว 100 ล้านบัญชี

4 ปีต่อมา เฟซบุ๊กขยับเพดานตัวเองเพิ่มขึ้น 10 เท่า เมื่อมีผู้ใช้ราว 1,000 ล้านบัญชี

4 ปีหลัง แม้การเติบโตจะชะลอลง แต่บัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กก็ไปแตะระดับ 1,800 ล้านบัญชี

ถ้าคุณมองมันเป็นประเทศ มันจะเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก,

และถ้ามองมันเป็นรัฐ อำนาจของมันในการกำหนดชีวิตคุณไม่ใช่น้อยๆ เลยทีเดียว ในบางมิติอำนาจมันมากกว่ารัฐห่วยๆ บางรัฐเสียอีก

ไม่เชื่อลองสั่งปิดมันดูสิ (อ้าว! เคยทำแล้ว แต่ก็ต้องกลับมาเปิดใหม่นี่นา)

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save