fbpx
นาซีศึกษา : อ่านอดีต เพื่อเข้าใจปัจจุบัน กับ ตุลย์ อิศรางกูร ณ อยุธยา

นาซีศึกษา : อ่านอดีต เพื่อเข้าใจปัจจุบัน กับ ตุลย์ อิศรางกูร ณ อยุธยา

อันโตนีโอ โฉมชา เรื่อง

ธิติสรณ์ ทวีศักดิ์ ภาพ

 

ในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา โลกผ่านโศกนาฏกรรมฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นการสู้กันระหว่างชนเผ่าทุตซีกับฮูตูในรวันดา การสังหารโหดของเขมรแดง สงครามกลางเมืองในยูโกสลาเวีย หรืออาจรวมถึงการสังหารชาวโรฮิงญาในพม่าด้วย แต่ไม่มีการสังหารโหดครั้งใดจะถูกจดจำได้มากเท่ากับ “โฮโลคอสต์” (holocaust) หรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวโดยนาซี

ผู้เสียชีวิตกว่า 11 ล้านคน ความโหดเหี้ยมอำมหิตของวิธีการฆ่า และการเป็นฉากสำคัญของสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้โฮโลคอสต์ติดตรึงในความทรงจำ แต่เหตุผลที่ทำให้โฮโลคอสต์เป็นที่จดจำมากที่สุด ก็คือ โศกนาฏกรรมนี้สอนบทเรียนให้กับมนุษย์มากมายเหลือเกิน

น่าเสียดายที่สังคมไทยกลับไม่ค่อยมีโอกาสได้เรียนรู้เรื่องราวเหล่านี้

ดร.ตุลย์ อิศรางกูร ณ อยุธยา อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ยุโรปสมัยกลางและสมัยใหม่ ตุลย์เป็นหนึ่งในคนไทยไม่กี่คนที่ศึกษาประวัติศาสตร์นาซีอย่างจริงจัง จนกระทั่งเปิดสอนวิชา ‘นาซีเยอรมัน’ เป็นประจำทุกปีในสถาบันต้นสังกัด

ในยามบ้านเมืองไม่ปกติ 101 จึงชวนตุลย์ถอดบทเรียน ‘นาซีเยอรมัน’ เพื่อสะท้อนบางแง่มุมของสังคมไทย

ในโลกมีการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุมามาก อะไรทำให้นาซีถูกจดจำเป็นพิเศษ ระบบนาซีต่างจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อื่นๆ อย่างไร

โดยทั่วไป การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หมายถึงการฆาตกรรมหมู่  (Mass Murder) ทำให้คนตายเป็นจำนวนมาก เป็นการทำลายล้างกลุ่มชนด้วยสาเหตุทางการเมือง ศาสนา ความเชื่อ และเชื้อชาติ เป็นหลัก

แล้วทำไมระบอบนาซีมันจึงมีลักษณะพิเศษกว่าระบอบอื่น? คำถามนี้ตอบยากเพราะมองได้จากหลายมุมมอง มีบทความที่น่าสนใจมากของ Ian Kershaw ชื่อ The Uniqueness of Nazism ที่อธิบายว่า จุดเด่นของระบอบนาซี คือ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อย่างเป็น “ระบบ” ซึ่งไม่มีระบอบการเมืองใดๆ ทั้งก่อนหน้าและหลังจากนาซีที่ฆ่าอย่างเป็นระบบเช่นนี้ คำว่าเป็น “ระบบ” ในที่นี้หมายถึง มีการใช้ความรู้ของโลกสมัยใหม่ ซึ่งประเด็นสำคัญคือ “ชาติพันธุ์”

นอกจากนี้มีอุดมคติในระบอบนาซีว่าด้วย ‘working towards the Führer’ คือ เจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติการในระบอบนาซีมุ่งทำงานสนองความต้องการและเจตจำนงของท่านผู้นำ ฮิตเลอร์จะไม่เข้าแทรกแซงโครงสร้างระบบราชการ นอกจากเรื่องการต่างประเทศและสงคราม แต่ปล่อยให้เจ้าหน้าที่นาซีดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของรัฐไปเองบนหลักการข้างต้น

ถ้าเปรียบเทียบกับกรณีพอลพตในเขมรแดง หรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา ระบอบเหล่านี้จะไม่มีลักษณะของความเป็นสมัยใหม่เหมือนระบอบนาซี  ในรวันดา การฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุเป็นการชิงอำนาจกันระหว่างสองเผ่าคือฮูตูและทุตซี ไม่ใช่เรื่องชาติพันธุ์อย่างเดียว แต่มีประเด็นการเมืองอยู่ด้วย ในกรณีพอลพตชัดเจนว่าเป็นเรื่องการเมือง

 

ชาติพันธ์ุกับความเป็นสมัยใหม่เกี่ยวโยงกันอย่างไร

ชาติพันธุ์เป็นนวัตกรรมสมัยใหม่จากศตวรรษที่ 19 ก่อนหน้านั้นเชื้อชาติในลักษณะของดีเอ็นเอหรือสายเลือดมันไม่มี ในอดีตช่วงศตวรรษที่ 15-16 เชื้อชาติมักผูกกับศาสนา ซึ่งเราสามารถเปลี่ยนศาสนาได้ แต่ในกรณีนาซี ถ้าคุณเกิดเป็นยิว ยิปซี สลาฟ จะถูกเล่นงาน เรื่องนี้เกี่ยวกับเชื้อชาติโดยตรง เพราะคุณเปลี่ยนเชื้อชาติตัวเองไม่ได้

อย่าลืมว่า “เชื้อชาติ” ตามความหมายสมัยใหม่นี้ผูกกับวิทยาศาสตร์และการค้นพบทางชีววิทยาและพันธุศาสตร์ นี่คือศาสตร์ในยุคสมัยใหม่  “ชาติพันธุ์” หรือ “race” ถูกพัฒนาขึ้นเป็นมโนทัศน์เรื่อง “เชื้อชาตินิยม” (racism) แปลว่า วิธีคิดที่ใช้ “เชื้อชาติ” เป็นตัวระบุหรือกำหนดสิทธิของพลเมือง รวมถึงเป็นตัว “กำหนด” การขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม และการต่างประเทศ

เราคงนึกถึงการที่นาซีออกพระราชบัญญัตินูเร็มเบิร์ก ค.ศ. 1935 เพื่อจัดประเภทความเป็น “พลเมือง” ของชาวเยอรมันและชาวยิว รวมถึงกฎหมายห้ามสมรสระหว่างพลเมืองเยอรมันกับยิว หรือการใช้ “เชื้อชาติ” เป็นตัวกำหนดว่าใครบ้างควรได้รับสวัสดิการจากรัฐนาซี เป็นต้น

นี่คือ “racism” แท้ๆ เลย คือ ใช้ “เชื้อชาติ” เป็นตัวกำหนด หรือการก่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ของฮิตเลอร์ก็เป็นไปเพื่อขยาย “ถิ่นอาศัย” (Labensraum; living space) ให้แก่คนเชื้อชาติเยอรมันได้เข้าไปอยู่ในยุโรปตะวันออก เป็นต้น

 

ระบบการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของนาซีมีลักษณะอย่างไรบ้าง

บทความของ Kershaw ที่ผมเล่าตอนต้น เปรียบเทียบการฆ่าในระบอบสตาลินและในระบอบฮิตเลอร์ พบว่า ลักษณะเด่นของนาซีคือ การมีอุตสาหกรรมการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

ค่ายกักกัน Gulag ของสตาลินไม่ใช่ค่ายที่มีไว้ฆ่าคน แต่เป็นค่ายเพื่อเกณฑ์คนไปใช้แรงงานและเรียนรู้หลักการของลัทธิคอมมิวนิสต์ เมื่อนักโทษเปลี่ยนตัวเองเป็นคอมมิวนิสต์แล้ว ก็สามารถออกมาได้ หากไม่ตายก่อน ในแง่นี้ค่ายของสตาลินจึงมีลักษณะเป็น redemptive camp คือ จับไปเปลี่ยนวิธีคิด แต่ในระบอบนาซี ค่ายเป็น concentration camp หรือ “ค่ายกักกัน” และ extermination camp หรือค่ายสำหรับ “ทำลายให้สิ้นซาก” ซึ่งทำลายทุกอย่างที่เป็นยิว

ผมอยากให้คนไทยที่จะศึกษาประวัติศาสตร์นาซี (หรือประวัติศาสตร์ของประเทศใดก็ตาม) เรียนภาษาต้นทางของประวัติศาสตร์นั้นๆ ก่อน ในกรณีนี้คือ ภาษาเยอรมัน  สิ่งที่มาพร้อมกับภาษาคือ “ความคิด” อย่างคำว่า “ค่ายมรณะ” ของนาซี ภาษาอังกฤษใช้ว่า “death camp” หรือ “extermination camp” ในภาษาเยอรมันใช้ว่า “Todeslager” หรือ “Vernichtungslager” ผมจะแยกรูปศัพท์ให้เห็น ดังนี้ ver- “ทำให้”, -nicht- “สุญญะ” -lager “ค่าย” นั่นคือ “ค่ายที่ทำให้ (เหยื่อ) เป็นสุญญะ” ถ้าเราแปลความเช่นนี้เราจะเห็นทัศนคติที่ชัดเจนมากของระบอบนาซีที่มีต่อเหยื่อ

แม้กระทั่งการเผาวรรณกรรมของชาวยิว เราคงทราบว่าในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1933 ระบอบนาซีร่วมมือกับนักศึกษามหาวิทยาลัยและศาสตราจารย์ทั่วประเทศจัดมหกรรมการเผาวรรณกรรมและงานเขียนต่างๆ ที่ผลิตโดยชาวยิวและกลุ่มคนอื่นๆ ที่เนื้อหาของงานไม่สอดคล้องกับอุดมการณ์ของระบอบนาซี

การทำลายหนังสือคือการทำลายความคิด ทำลายโลกทัศน์และชีวทัศน์ของคนกลุ่มหนึ่งลงให้สิ้นสูญ เราคงนึกถึงคำพูดของกวีเยอรมัน Heinrich Heine ที่ว่า “ที่ใดที่เผาหนังสือ ที่นั่นย่อมเผามนุษย์ด้วย” แม้ Heine จะกล่าวประโยคนี้ในครึ่งแรกของศตวรรษที่ 19 และเป็นกล่าวเชิงเปรียบเทียบ แต่อีกศตวรรษล่วงมา เราก็พบปรากฏการณ์ดังกล่าวในจักรวรรดิที่สามด้วย

ประเด็นคือ ในขณะที่ระบอบอื่นๆ ต้องการเปลี่ยนให้นักโทษกลายเป็นส่วนเดียวกับพวกเขา ระบอบนาซีกลับมีความต้องการทำลายสูงมาก แม้ว่าคุณจะเป็นยิวและสนับสนุนนาซี คุณก็ไม่รอดอยู่ดี ผมใช้คำเรียกภาวะนี้ว่า “License to die”  คือคุณเกิดมาก็มีหมายหัวว่าต้องตายอยู่แล้ว

 

นาซีมีวิธีการชี้วัดเชื้อชาติของผู้คนอย่างไร มีพื้นฐานอยู่บนแนวคิดอะไร

ในกรณีทั่วๆ ไป ระบอบนาซีจะดูจากศาสนาและเอกสารราชการที่ระบุอัตลักษณ์ของคน ถ้าเอกสารระบุ “ยิว” คนนั้นก็คือ “ยิว” กรณีนี้จะตรงไปตรงมา แต่กรณีอื่นๆ ที่เป็นปัญหาคือ กรณีการใช้วิทยาศาสตร์เทียม (pseudo-science) เข้ามาอธิบายและกำหนดเชื้อชาติพลเมือง

แนวคิดเชื้อชาตินิยมของนาซีเป็นวิทยาศาสตร์เทียม การวัดว่าเป็นยิวหรือไม่จะใช้วิธีการดูสีตาและสีผม ว่าสีแบบไหนถึงจะเป็นเยอรมันแท้ เขาจะไล่เทียบไปเรื่อยๆ ตามหมู่บ้าน มีการจัดประเภทคนจากรูปร่างหน้าตา ถ้าจมูกงุ้มมากก็บอกว่าเป็นยิว มีหลายกรณีที่คนบอกว่าตัวเองไม่ใช่ยิว มีการโชว์เอกสารยังไงก็ไม่เชื่อ

ระบอบนี้จะขัดแย้งกับตัวเองอยู่ตลอดเวลา ง่ายๆ เลย คนอย่าง Joseph Goebbels รัฐมนตรีกระทรวงโฆษณาการ ตัวเล็ก เตี้ย ผมดำ จมูกเป็นสันเขื่อนโด่งมาก ตามวิธีคิดของระบอบนาซีแบบนี้ต้องเป็นยิวแล้ว แต่ Goebbels ไม่ใช่ยิว ดังนั้นใครคือยิวกันแน่ ถ้าวัดจากรูปลักษณ์ภายนอกจะมีปัญหามาก

 

ในเยอรมันมีประชากรหลากหลายชาติพันธ์ุ แต่ทำไมความเป็นชุมชนเอกชาติพันธุ์ของฮิตเลอร์ ถึงเน้นการกำจัดชาวยิวออกไป

ถ้าย้อนไปดูประวัติศาสตร์ คนยิวตกเป็นเหยื่อในวัฒนธรรมแพะรับบาปมาตั้งแต่ยุคกลางแล้ว เช่น การถูกกล่าวหาว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดกาฬโรคระบาด หรือการถูกกีดกันจนทำให้ไม่สามารถรับราชการได้ เป็นต้น ในแง่นี้ ชาวยิวในยุโรปไม่เคยถูกยอมรับในสังคมอยู่แล้ว

แต่จุดที่ทำให้สถานภาพของยิวในยุโรปโดดเด่นขึ้นมา คือ การปฏิวัติฝรั่งเศส ซึ่งทำให้หลักการเรื่องเสรีภาพทางศาสนาขยายตัวออกไปทั่วยุโรป ตลอดศตวรรษที่ 18 ยิวในยุโรปได้รับการปลดปล่อยและยอมรับมากขึ้น โดยกษัตริย์ที่ปลดปล่อยยิวเป็นรุ่นแรกๆ คือจักรพรรดิโจเซฟที่ 2 แห่งออสเตรีย ซึ่งกล่าวว่า “ชาวยิวไม่จำเป็นต้องอยู่ใต้ข้อจำกัดทางศาสนาแล้ว เพื่อเขาจะได้ทำประโยชน์ให้กับออสเตรีย”

การไม่ถูกยอมรับในระบบราชการทำให้ชาวยิวทำธุรกิจมาหลายชั่วอายุคน พวกเขาสั่งสมความร่ำรวย ความรู้ และภูมิปัญญามาเรื่อย เมื่อยิวในเยอรมนีได้รับการปลดปล่อยในปี ค.ศ. 1871 พวกเขาก็เริ่มเข้าเรียนมหาวิทยาลัยได้ เพราะมีฐานะร่ำรวยอยู่แล้ว ในช่วงนั้น ชาวยิวในเยอรมนีมีประมาณ 5 แสนคน ในขณะที่เยอรมนีมีประชากรทั้งหมดประมาณ 40 ล้านคน แต่ในมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ ของเยอรมันกลับเป็นนักศึกษายิวมีมากกว่า 70% นั่นแปลว่า ชาวเยอรมันที่เป็นประชากรส่วนใหญ่มีสิทธิ์เข้าไปเรียนเพียงแค่ 30% ดังนั้น การปลดปล่อยชาวยิวจึงมีผลด้านลบกับจินตนาการของคนในสังคมที่มีต่อยิวเอง (หนังสือที่อธิบายประเด็นพัฒนาการการปลดปล่อยชาวยิวว่ากับความสัมพันธ์กับ Holocaust ได้ชัดเจนคือ Peter Hayes, Why? : Explaining the Holocaust (2017))

 

แสดงว่า แนวคิดการเกลียดยิวไม่ได้เริ่มต้นที่ฮิตเลอร์ แต่สังคมมีเรื่องเล่าของการต่อต้านชาวยิวอยู่ก่อนแล้ว?

แม้แต่ฮิตเลอร์เองก็ไม่ได้เกลียดยิวตั้งแต่เด็ก สมัยฮิตเลอร์เป็นหนุ่ม ต้องการเป็นจิตรกร เขาเคยขายงานศิลปะของตัวเองให้เจ้าของสตูดิโอชาวยิวด้วยซ้ำ หลักฐานที่มีในปัจจุบันนี้ไม่ปรากฏร่องรอยความเกลียดยิวของฮิตเลอร์ในช่วงที่เขาอยู่ออสเตรีย แต่ฮิตเลอร์เริ่มรับแนวคิดเกลียดชาวยิว (Antisemitism) สมัยเป็นทหารที่เมืองมิวนิค ฮิตเลอร์ได้ไปฟังเลคเชอร์เกี่ยวกับ Antisemitism ของอาจารย์ด้านรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยมิวนิค นอกจากนี้ ตอนเป็นทหารในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง หัวหน้าหน่วยทหารที่ฮิตเลอร์สังกัดล้วนมีแนวคิดต่อต้านยิว ต่อต้านคอมมิวนิสต์ และชาตินิยมสุดโต่งทั้งสิ้น

จากหลักฐานที่มีในปัจจุบัน นักประวัติศาสตร์บอกได้เพียงว่าแนวคิดหลักที่ฮิตเลอร์ศึกษาด้วยตนเองตั้งแต่สมัยอยู่ออสเตรีย คือ Social-Darwinism หรือการแข่งขันทางชาติพันธุ์เพื่อการอยู่รอด (หนังสือที่อธิบายพัฒนาการทางความคิดของ Hitler ได้ดีมาก คือ David Cesarani, Final Solution: The Fate of the Jews, 1933-1949 (2015))

 

เมื่อนาซีมีอำนาจ พวกเขาต้องการทำลายล้างคนยิวตั้งแต่แรกหรือเปล่า

ตั้งแต่นาซีขึ้นมามีอำนาจ ได้ออกกฎหมายหลายฉบับเพื่อจำกัดสิทธิของชาวยิว เช่น กฎหมายนูเร็มเบิร์กที่จำกัดสิทธิการเป็นพลเมืองของยิว หรือกฎหมาย Aryanisation ที่มีเป้าหมายเพื่อยึดทรัพย์สินชาวยิว การออกกฎหมายยังไม่ทำให้มีใครตาย แต่คนยิวจะไปขอเงินกู้ไม่ได้ แต่งงานกับชาวเยอรมันก็ไม่ได้ ถูกริบทรัพย์ ซึ่งทำให้ชาวยิวไม่อยากอยู่ในเยอรมนี

ดังนั้นจุดประสงค์แรกของนาซีคือ การทำให้ยิวไม่อยากอยู่ในเยอรมนีแล้วอพยพออกไปเอง ในแง่นี้จึงมีดีเบตว่า โฮโลคอสต์เป็นแผนการที่ฮิตเลอร์คิดจะฆ่าล้างยิวมาตั้งแต่แรก หรือเป็นผลมาจากพลวัตปีศาจ (evil dynamic) ซึ่งพัฒนาความรุนแรงในตัวเองไปเรื่อยๆ

 

จุดเริ่มต้นของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คือช่วงไหนและในบริบทอะไร

นาซีเริ่มเอาชาวยิวมาอยู่ในเก็ตโต้และแยกประเภทคนมากขึ้นในช่วงประมาณปี ค.ศ. 1941 เมื่อฮิตเลอร์กำลังจะบุกรัสเซีย และรู้ว่ามียิวกำลังรออยู่ในยุโรปตะวันออกอีก 3 ล้านคน คนเยอรมันที่จะไปตั้งถิ่นฐานในยุโรปตะวันออกตามนโยบายถิ่นอาศัยก็มีน้อย สู้จำนวนยิวไม่ได้ จึงต้องเริ่มจัดจำแนกประเภทคนให้ยิวไปอยู่ในเก็ตโต้

มีการแบ่งชัดเจนว่าคนเยอรมันห้ามเข้าไป ส่วนคนยิวห้ามออกมา อาหารก็มีน้อย คนหิวตายก็ห้ามฝังข้างนอก ต้องจัดการศพในเก็ตโต้กันเอง พอคนยิวไม่มีอะไรกินก็ต้องไปคุ้ยเศษซากอาหารจากขยะหรือจากดินมากินจนเกิดโรคระบาด ซึ่งไปตรงกับภาพที่นาซีสร้างว่าคนยิวเป็นชนชาติสกปรกอีก ถ้าเข้าไปดูในเก็ตโต้ก็จะเห็นว่าสกปรกจริง แต่เป็นความสกปรกที่นาซีสร้างขึ้นมาให้ชาวยิว (ลองดูหนังสือรวมภาพถ่ายชีวิตประจำวันใน Ghetto Lodz ของช่างภาพ Hendryk Ross ตีพิมพ์ออกมาพร้อมบทความวิชาการจำนวนหนึ่งในปี 2016)

พอคนในเก็ตโต้เริ่มเยอะขึ้น นาซีจึงเริ่มใช้การฆ่า มีคนตั้งข้อสังเกตว่า วิธีการแรกที่นาซีใช้ฆ่าคือจับเอาชาวยิวขึ้นรถบรรทุกไปยิงทิ้ง ไม่สามารถฆ่าแบบเปิดเผยได้ เพราะถ้าคนมาเห็นก็จะเป็นข่าว พอไปรายงานในหนังสือพิมพ์ก็จะกลายเป็น public opinion ซึ่งเป็นฐานการเมืองของผู้คนในรัฐสมัยใหม่ ถ้าเป็นแบบนั้นรัฐบาลก็ล่ม

หลังจากยึดฝรั่งเศสได้ 1 ปี เยอรมนีได้จัดประชุม Final Solution เพื่อแก้ปัญหาชาวยิวครั้งสุดท้าย ในตอนแรก นาซีตั้งใจเอาชาวยิวไปปล่อยที่เกาะมาดากัสการ์ ซึ่งเป็นอาณานิคมฝรั่งเศสในแอฟริกา แต่ไม่คุ้มทุน ประกอบกับการค้นพบแก๊สที่สามารถฆ่าคนจำนวนมาก ครั้งแรกใช้แก๊สนี้กระทำการุณยฆาตกับเหยื่อผู้พิการและวิกลจริตก่อน จากนั้นจึงเริ่มสร้างค่ายกักกันและค่ายรมแก๊สเหยื่อชาวยิวและกลุ่มอื่นๆ ในระบอบนาซี ดังนั้น การรมแก๊สจึงเป็นระยะท้ายๆ แล้ว และเป็นผลจากการที่นาซีขยายดินแดนออกไปมากระหว่างสงครามแล้วกำจัดยิวไม่ทัน

 

เงื่อนไขทางเศรษฐกิจและสังคมแบบไหนที่ทำให้เกิดระบบนาซีขึ้นมาได้

ในสังคมไทยมีความเชื่อกันว่าฮิตเลอร์ขึ้นมามีอำนาจได้เพราะเศรษฐกิจตกต่ำในช่วง Great Depression ฮิตเลอร์จึงสัญญาว่าจะนำพาคนเยอรมันให้กลับไปอยู่ดีกินดี คนเยอรมันเลยเลือก นี่คือความเข้าใจของคนส่วนใหญ่ ซึ่งผิด

เศรษฐกิจตกต่ำไม่จำเป็นต้องนำไปสู่รัฐบาลเผด็จการ ลองคิดถึงการปฏิวัติสยามในปี พ.ศ. 2475 เศรษฐกิจก็ตกต่ำเหมือนกันจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตย แล้วฮิตเลอร์ขึ้นมามีอำนาจได้อย่างไร?

เยอรมนีเพิ่งปราชัยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 แล้วเกิดวาทกรรมในหมู่ทหารว่า “เยอรมนีไม่ได้รบแพ้ แต่เยอรมนีแพ้เพราะนักการเมือง โดยเฉพาะนักการเมืองฝ่ายสังคมนิยม เพราะนักการเมืองกลุ่มนี้ไม่อยากสู้ต่อ จึงไปเจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตร แล้วเซ็นสัญญาสงบศึกจนกลายเป็นสาธารณรัฐไวมาร์” นี่จึงกลายเป็นวาทกรรมว่านักการเมืองเป็นคนแทงข้างหลังเยอรมนี สังคมเยอรมนีหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 จึงอยู่กับความปราชัยและความอัปยศแห่งชาติที่นักการเมืองถูกกล่าวโทษว่าเป็นต้นเหตุ

เงื่อนไขที่สองคือ ฮิตเลอร์ใช้ประโยชน์จากสถานการณ์เสรีนิยมของสาธารณรัฐไวมาร์ ซึ่งเป็นประชาธิปไตยครั้งแรกของเยอรมนี และมีความวุ่นวายมาก เพราะการเมืองไม่มีเสถียรภาพ ในบางปีมีเลือกตั้งทั้งระดับรัฐบาลและมลรัฐถึง 6 ครั้งต่อปี ประชาชนเลยรู้สึกว่านักการเมืองวุ่นวาย ผู้คนต้องการบรรยากาศที่มั่นคง มีเสถียรภาพทางการเมือง เมื่อฮิตเลอร์ให้สัญญาเรื่องเสถียรภาพทางการเมือง ต่อต้านนักการเมืองฝ่ายซ้ายและเสรีนิยมที่กำลังวุ่นวายในสภา เลยดึงดูดคนได้มาก

ผมประทับใจกับข้อเขียนของ journalist คนหนึ่งชื่อ Sebastian Haffner เขาบันทึกบรรยากาศที่นำฮิตเลอร์ขึ้นสู่อำนาจไว้ว่า “จะให้ทำอย่างไรเล่า เมื่อผู้คนเริ่มต้นปฏิเสธจิตวิญญาณของระบอบประชาธิปไตย” ผมคิดว่านี่คือคำอธิบายการขึ้นสู่อำนาจของพรรคนาซีได้ชัดเจนที่สุด

ประกอบกับบรรยากาศเสรีนิยมทำให้ sub-culture จำนวนมากเติบโตขึ้น ไม่ว่าจะวัฒนธรรมผู้หญิง วัฒนธรรมกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน ผับเกย์ บาร์เกย์เกิดขึ้นมาเยอะ ซึ่งมีกฎหมายห้ามไว้ แต่ไม่มีการจับเข้าคุก เพราะกฎหมายอาญาของเยอรมันเอาผิดได้ต่อเมื่อคุณมีเพศสัมพันธ์กับคนเพศเดียวกันเท่านั้น

การเติบโตของบรรยากาศเสรีนิยมทางวัฒนธรรมจึงทำให้คนที่ไม่คุ้นชินเกิดความอึดอัดและตั้งคำถามต่อวัฒนธรรมเสรีนิยม ฮิตเลอร์คือคนที่ให้สัญญาว่าจะกู้ระเบียบสังคมและกอบกู้ความยิ่งใหญ่ของเยอรมนีขึ้นมาอีกครั้ง ดังนั้นเขาจึงกลายเป็นคำตอบของคนเยอรมัน (ลองดู Olaf Peters (ed.), Berlin Metropolis, 1918-1933 (2015) ซึ่งศึกษามิติทางสังคมและวัฒนธรรมที่มีต่อการเถลิงอำนาจของพรรคฝ่ายขวาจัดอย่างพรรคนาซีในเยอรมนี)

 

ฮิตเลอร์และนาซีนำเสนออะไรที่เป็นรูปธรรมต่อสังคมเยอรมัน

ลักษณะประหลาดอย่างหนึ่งของพรรคนาซี คือ การเป็นพรรคที่ไม่มีนโยบาย แต่มีการเสนอสิ่งที่เป็น “ยูโทเปีย” หรืออุดมคติ นี่เป็นสิ่งที่ทำให้คนเลือก ไม่เกี่ยวอะไรกับเศรษฐกิจตกต่ำ เพราะเศรษฐกิจตกต่ำในเยอรมนีฟื้นตัวเร็วที่สุดในยุโรป

ในการเลือกตั้งปี ค.ศ. 1932 ฮิตเลอร์นำเสนอนโยบาย Volksgemeinschaft ซึ่งเป็นการสร้างสังคมใหม่ขึ้นมา เป็นสังคมที่ปราศจากความขัดแย้งทางชนชั้น ทุกคนมีสิทธิ์อย่างเท่าเทียมกันบนฐานของเชื้อชาติ และต้องเป็นเยอรมันเท่านั้น เขามองว่ามันเป็นกลไกที่จะสลายความขัดแย้งและความวุ่นวายในสังคม นโยบายนี้สอดคล้องกันดีกับไอเดียของคริสต์ศาสนาโปรเตสแตนต์ซึ่งประชากรส่วนใหญ่กว่า 2 ใน 3 ของประเทศนับถืออยู่ นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมฮิตเลอร์จึงได้เสียงสนับสนุนจากผู้คนจำนวนมาก

อีกตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนลักษณะ ‘ยูโทเปีย’ ของนาซีคือ “โครงการ 25 ข้อ” ที่ฮิตเลอร์ร่างไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1920 โครงการนี้ไม่ได้มีลักษณะเป็นนโยบายทางการเมือง ไม่ได้บอกว่าจะทำอะไรเป็นรูปธรรมชัดเจนเหมือนนโยบายพรรคการเมืองทั่วไป แต่มีนัยยะของการกู้เกียรติภูมิของเยอรมนี และก่อสงครามครั้งต่อไป ยึดดินแดนในยุโรปตะวันออกเพื่อหาที่ทำกินให้กับคนเยอรมัน และเขียนไว้อย่างชัดเจนว่าต้องกำจัดคนยิวออกไป ต้องสลายผลประโยชน์ของแต่ละกลุ่มเพื่อนำมาสู่ผลประโยชน์ของชาติ

 

กระแสสังคมในเยอรมนีในช่วงนั้นสนับสนุนฮิตเลอร์กันหมดเลยหรือไม่ การต่อสู้ทางการเมืองเป็นอย่างไร

นักประวัติศาสตร์ชื่อ Wolfgang Benz พบหลักฐานว่า กลุ่มทุนขนาดใหญ่พยายามไปล็อบบี้ให้ประธานาธิบดีเพาล์ ฟอน ฮินเดนบวร์ก (Paul von Hindenburg) รีบตั้งฮิตเลอร์เป็นนายกรัฐมนตรีโดยเร็ว เพื่อให้บรรยากาศทางการเมืองมั่นคงให้เร็วที่สุด

ในขณะเดียวกัน พรรคฝ่ายขวาในสมัยนั้นก็ไม่ต้องการให้ฝ่ายซ้ายมีอำนาจขึ้นมา จึงพยายามดันให้ฮิตเลอร์ขึ้นมาเพื่อตัวเองจะได้ควบคุมอยู่ห่างๆ ในสื่อร่วมสมัยก็บอกว่าฮิตเลอร์เป็นเพียงหุ่นเชิดของฝ่ายขวา (ดูประเด็นนี้เพิ่มได้ใน David Cesarani, Final Solution)

จะเห็นว่า การเมืองเยอรมันในยุคนั้นสลับซับซ้อน กว่าที่ฮิตเลอร์จะก้าวขึ้นสู่อำนาจแบบเบ็ดเสร็จต้องต่อสู้ทางการเมืองอย่างหนักหน่วง ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมสื่อทั้งหมดอย่างเข้มงวด การออกกฎหมายเพื่อรวบอำนาจทุกอย่างให้กับพรรคนาซี เป็นต้น

เสียงวิพากษ์วิจารณ์ประชาธิปไตยมักใช้วาทกรรมว่า “ฮิตเลอร์มาจากการเลือกตั้ง” ซึ่งคงต้องยอมรับว่า ฮิตเลอร์ชนะการเลือกตั้งจริง เพียงแต่ว่าการเลือกตั้งอย่างเดียวๆ คงไม่อาจทำให้ฮิตเลอร์ขึ้นมามีอำนาจแบบเบ็ดเสร็จได้ 

 

อะไรคือความเลวร้ายที่สุดของระบอบนาซี

Ian Kershaw เคยบอกไว้ใน Hitler: A Biography ว่าโฮโลคอสต์คือ “การพังทลายของอารยธรรมมนุษยชาติ” และอารยธรรมที่ว่านี้มีพื้นฐานบนคริสต์ศาสนา เพราะวัฒนธรรมคริสต์ศาสนาสอนเรื่อง Amor Proximi คือให้รักคนที่อยู่ถัดจากเราหรือรอบตัวเรา แต่ระบอบนาซีทำลายคุณค่านี้ไปหมด

บันทึกของ Hanna Levy-Hass ซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์ยูโกสลาเวียที่ถูกจับเข้าค่ายกักกันแห่งหนึ่งเล่าว่า เธอได้พบกับเด็กชายกำพร้าพ่อแม่คนหนึ่งที่เหลือแต่พี่น้อง เด็กคนนี้มีสายตาสั้นแต่ถูกพวกนาซียึดเอาแว่นไป พวกเห็บหมัดก็มาทำรังบนหน้าอกและกัดกินเนื้อเด็กไปด้วย ตามหลักการคริสต์ศาสนาสอนว่าทุกคนคือพี่น้องกัน แต่ไม่มีใครยอมเข้าใกล้เด็กคนนี้ด้วยความรังเกียจ แม้กระทั่งพี่น้องด้วยกัน และยังมีอีกหลายกรณีคล้ายๆ กัน

ตอนหนึ่งในเรื่อง Night ของ Elie Wiesel เล่าไว้ว่า มีพ่อลูกคู่หนึ่งต้องแย่งกันกินเศษขนมปัง ซึ่งปกติพ่อต้องให้ลูก หรือลูกให้พ่อ แต่ระบอบนี้มันทำลายความสัมพันธ์ของมนุษย์ และนี่เป็นเซนส์หนึ่งของโฮโลคอสต์ คือ dehumanization หรือการทำลายความเป็นมนุษย์ ระบอบนาซีทำให้มนุษย์กลายเป็นเพียงวัตถุ เวลาคุณเข้าค่ายกักกัน เขาก็เอานาฬิกา แว่นตาไปจากคุณ โกนหัวคุณ สักตัวเลขเหมือนคุณเป็นวัตถุ ไม่มีชื่อเรียก เขาจะเรียกคุณตามหมายเลข

คนเราแตกต่างกันเพราะการบริโภค แต่ในค่ายกักกันคุณจะเห็นว่าทุกคนหน้าตาเหมือนๆ กันไปหมด เพราะคุณได้กินแต่อาหารปริมาณน้อยมาก ใส่เครื่องแบบนักโทษแบบเดียวกัน ในระบอบนี้คุณจะตายแบบนิรนาม ในหลุมฝังศพหมู่หรือถูกเผาทำลาย

ค่ายกักกันทำให้เหยื่อเป็น “สุญญะ” เป็นภาวะการทำลายความเป็นมนุษย์ ซึ่งถึงที่สุดแล้ว เหยื่อต้องอยากยุติชีวิตของตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองไม่ใช่มนุษย์อีกต่อไป อย่างตอนที่พ่อลูกแย่งเศษขนมปังกัน ทั้งคู่ก็จะรู้สึกว่าการกระทำของเขาไม่ใช่มนุษย์อีกต่อไปแล้ว

 

คนทั่วไปในยุคนั้นรู้หรือไม่ว่าเกิดอะไรขึ้นกับคนยิว

รู้บ้าง แต่ไม่มีทางรู้รายละเอียดว่าเกิดอะไรขึ้นแน่ๆ แม้กระทั่งวินสตัน เชอร์ชิล นายกรัฐมนตรีอังกฤษยังบอกแค่ว่า น่าจะมีอะไรผิดปกติเกิดขึ้นในค่ายกักกันของนาซี แต่ไม่รู้ว่าจะเป็นในลักษณะโฮโลคอสต์

Elie Wiesel เขียนไว้ในหนังสือเรื่อง Night บอกว่า นี่คือสิ่งที่มนุษย์ไม่เคยเห็นมาก่อน ความโหดร้ายมันเกินกว่าที่มนุษย์จะจินตนาการได้ หนังสือเล่าไว้ว่า มีคนยิวคนหนึ่งถูกนำขึ้นรถบรรทุกไปยิงทิ้งแต่หนีรอดมาได้ พอมาถึงหมู่บ้านที่ Elie Wiesel อยู่ เขาพยายามเล่าให้ฟังว่านาซีต้องการจะทำลายล้างคนยิว “ทั้งเผ่าพันธุ์” มีการยิงผู้คนทิ้งเป็นผักปลา นำทารกมาโยนเป็นเป้าบินแล้วยิงทิ้ง คนในหมู่บ้านยังไม่มีใครเชื่อ เพราะคิดว่ามันโหดร้ายเกินกว่ามนุษย์จะทำได้

ถ้าหากนึกย้อนดูภาพถ่ายจากสมัยนาซี เราจะคุ้นตากับภาพถ่ายที่นาซีบุกเวียนนาแล้วบังคับคนยิวมาขัดพื้นกลางเมือง หรือภาพถ่ายที่นาซีนำชาวยิวมารวมตัวกันที่จัตุรัสกลางเมืองใกล้สถานีรถไฟพร้อมบังคับให้ชาวยิวขึ้นรถไฟไปค่ายกักกัน เป็นต้น ดังนั้นจะบอกว่าคนเยอรมันไม่รู้เรื่องเลยคงไม่ได้แน่ๆ

บันทึกของ Viktor Klemperer ก็ระบุชัดตั้งแต่ปี ค.ศ. 1942 แล้วว่า “ผมได้ยินชื่อ Auschwitz ในฐานะที่เป็นค่ายกักกันที่เลวร้ายที่สุด ทำงานเหมือง และตายภายในไม่กี่วัน”

นักประวัติศาสตร์อย่าง Dieter Pohl และ Frank Bajohr นำเสนอข้อมูลสุนทรพจน์และข้อเขียนของ Goebbels ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ Das Reich ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1942 และถูกอ่านเผยแพร่ตามวิทยุทั่วไป ข้อความนั้นคือ

“ดังที่ท่านผู้นำได้กล่าวไว้เมื่อ 30 มกราคม ค.ศ. 1939 หากแผนการการยึดอำนาจทางการเงินในระดับโลกของพวกยิวสำเร็จ โลกทั้งโลกก็จะเข้าสู่ภาวะสงครามอีกครั้ง ผลลัพธ์คงไม่ใช่ชัยชนะของยิว แต่คือการทำลายล้างเชื้อชาติยิวในยุโรปต่างหาก … ตอนนี้โลกของพวกยิวกำลังทนทุกข์ทรมานทีละน้อยๆ จากกระบวนการการทำลายล้างที่ตอนแรกพวกมันตั้งใจจะทำลายพวกเรา”

นอกจากนี้ ผู้ป่วยทางจิตจำนวนมาก เมื่อถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล อยู่ดีๆ ก็มีจดหมายจากโรงพยาบาลมาแจ้งญาติว่าผู้ป่วยเสียชีวิตกะทันหัน ไม่ทราบสาเหตุ เหล่านี้เร้าให้เกิดข้อสงสัยและการวิจารณ์จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ บิชอฟจำนวนหนึ่งทำหนังสือเปิดผนึกถึงพรรคนาซีให้หยุดการุณฆาต เพราะขัดพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า เป็นต้น

คำถามที่เกิดขึ้นบ่อยคือ เมื่อคนเยอรมันรู้และไม่เห็นด้วยเกี่ยวกับการทำลายล้างชีวิตผู้คนแล้วทำไมจึงไม่ต่อต้านระบอบนาซี ถ้าตอบอย่างคนไม่เรียนประวัติศาสตร์คงตอบว่าสู้ไม่ไหวหรือกลัวตาย แต่นักประวัติศาสตร์อย่าง Michael Wildt ตอบว่า การสังหารเหยื่อเหล่านี้กระทำโดยระบบราชการของรัฐนาซีเท่านั้น ประชาชนเยอรมันถูกลดฐานะไปอยู่เพียงแค่ผู้จ้องมอง หรือ bystander เท่านั้น ไม่มีโอกาสที่จะแทรกแซงการตัดสินใจและการดำเนินการของรัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จนี้แต่อย่างใด

 

 

เยอรมนีมีการเปลี่ยนแปลงในด้านกฎหมายและสังคมอย่างไรบ้างหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

มีการถกเถียงกันมากในเรื่องรัฐธรรมนูญเยอรมัน หนึ่งในมาตราที่มีการถกเถียงกันมากและมีความสำคัญมากที่สุดของโลกเกิดขึ้นเมื่อพรรคสังคมนิยม (SPD) ระบุว่า “ทหารมีสิทธิ์ในการปฏิเสธคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ถ้าหากว่าคำสั่งนั้นขัดต่อมโนสำนึกของทหารคนนั้น”

หลักการคือ การปฏิเสธการรับใช้สงคราม ซึ่งให้ความสำคัญกับมโนสำนึกของคน เพราะคนต่างจากสัตว์ตรงที่เรารู้จักคิดและวินิจฉัยความผิด-ถูกได้ ในทางนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ นี่คือข้อเสนอเรื่องสิทธิที่จะปฏิเสธการรับใช้สงคราม หรือ Kriegsdienstverweigerung (KDV) ระบุในมาตรา 4 วรรค 3 ของรัฐธรรมนูญเยอรมันตะวันตกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ถ้าถามว่าผลดีของระบอบนาซีมีอะไรบ้าง ก็ต้องตอบว่าไม่มีหรอก แต่เราสามารถเรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้นหลายอย่าง ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรานี้ก็เป็นรูปธรรมสำคัญอันหนึ่ง

นอกจากนี้ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เยอรมนีตะวันตกถูกห้ามติดอาวุธ จนเพิ่งมามีกองทัพเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1955 เมื่อเยอรมนีตะวันตกเข้าเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรนาโต้ การมีกองทัพส่งผลให้มีการเกณฑ์ทหารอีกครั้ง แต่ในกฎหมายใหม่ คนเยอรมันสามารถเลือกได้ว่าจะเลือกเกณฑ์ทหารหรือรับใช้สังคม ถ้าไปเกณฑ์ทหารก็อยู่ในค่ายทหาร 9 เดือน แต่ถ้าไปรับใช้สังคมจะใช้เวลา 10 เดือน เพื่อไปดูแลผู้ป่วย คนพิการ หรือไปช่วยรับใช้สังคมรูปแบบอื่นๆ ซึ่งสปิริตแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นเลยถ้าไม่มีบริบทของการเรียนรู้โฮโลคอสต์

แม้จะอยู่คนละบริบท แต่มาตรการแบบนี้น่าเอามาคิดต่อในเมืองไทยเหมือนกัน ผมเชื่อมั่นในความอ่อนโยน ความงาม ความสูงส่งของจิตใจมนุษย์ เลยคิดว่าเมื่อผ่านไป 10 เดือนแล้ว เราน่าจะได้คนหนุ่มสาวคนใหม่ออกมา

 

สังคมเยอรมันจัดการความจริงในอดีตเกี่ยวกับนาซีอย่างไรบ้าง

ในเยอรมนีตะวันตกมีสิ่งที่เรียกว่า “การจัดการอดีต” ( Vergangenheitsbewältigung) ซึ่งประกอบไปด้วยการดำเนินการหลายอย่าง เช่น การขอโทษทางการเมือง การยอมรับผิดในระดับนานาชาติ และสิ่งที่สำคัญคือการจัดระเบียบการศึกษาใหม่ (re-education) ระบบการศึกษาใหม่ของเยอรมันให้ความสำคัญกับการศึกษาระบอบนาซีค่อนข้างมาก มีการเรียนอย่างละเอียดและจริงจังในโรงเรียนมัธยม พูดง่ายๆ คือ “มันไม่ถูกลืม มันถูกเรียน”

สิ่งที่มาพร้อมกับการจัดระเบียบการศึกษาใหม่ คือการออกกฎหมาย Instigation of the People (Volksverhetzung) ซึ่งมีทั้งในเยอรมนี ออสเตรีย ฝรั่งเศส อังกฤษ และอีกหลายประเทศในยุโรป คือ การห้ามใช้สัญลักษณ์นาซีหรือฮิตเลอร์ในแง่มุมของการสรรเสริญ ถ้าจะเอาไปล้อทำได้ ถ้าจะเอาไปศึกษาก็ทำได้ แต่จะเอาไปใช้โฆษณาไม่ได้ เมื่อไม่นานมานี้มีนักท่องเที่ยวจีนสองคนไปยืนหน้ารัฐสภาเยอรมันแล้วทำท่า “ไฮล์ ฮิตเลอร์” สองนาทีต่อมาถูกตำรวจจับทันที

อีกเรื่องที่มาพร้อมกันคือ ไอเดียที่เรียกว่า Menschlichkeit ซึ่งเป็นไอเดียที่ไม่สามารถแปลเป็นไทยหรืออังกฤษได้ตรงๆ หรือมีคำที่ใช้แทนความหมายได้อย่างครอบคลุม ไอเดียนี้เป็นเรื่องของความเป็นมนุษย์หรือมนุษยภาพ ถูกสร้างขึ้นมาในสมัยศตวรรษที่ 18 และปัจจุบันถูกนำมาเป็นเพลงประจำสหภาพยุโรป ต้นฉบับคือกวีนิพนธ์ของ Friedrich Schiller และถูกใส่ทำนองเป็นซิมโฟนีหมายเลข 9 ของบีโธเฟ่น มันคือการสรรเสริญมนุษยภาพ ความเป็นมวลพี่น้องกัน ทุกคนเป็นพี่น้องในโลกเดียวกัน ทุกคนสามารถที่จะเดินไปได้ตามวิถีทางของตัวเอง เป็นการให้คุณค่าของชีวิตตัวเราเองและคนที่อยู่รอบตัวเรา เป็นไอเดียที่ยึดโยงกับคำสอนของคริสต์ศาสนา

 

มีกระบวนการชดเชยความเสียหายให้กับเหยื่อของนาซีบ้างไหม

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีนโยบายที่ชื่อว่า Wiedergutmachung ซึ่งแปลตรงตัวว่า “ทำให้ดีอีกครั้ง” โดยรัฐบาลเยอรมันยอมทุ่มเงินประมาณ 2 พันล้านยูโร เพื่อชดเชยให้กับเหยื่อและทายาทเหยื่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์หลายคนก็บอกว่าความโหดร้ายของระบอบนาซีนั้นรุนแรงมากจนเกินกว่าจะชดเชยได้

 

 

ในอีกด้านหนึ่ง เราเคยได้ยินข่าวเกี่ยวกับการปฏิเสธการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุชาวยิวของนาซีอยู่เรื่อยๆ ทำไมจึงเกิดปรากฎการณ์เช่นนี้ขึ้นได้ และมันสะท้อนอะไร

กระบวนการปฏิเสธโฮโลคอสต์มีมาตลอด คนแรกๆ ที่เริ่มปฏิเสธความโหดร้ายของนาซีคือ Ernst Zündel ชาวเยอรมันโปรฮิตเลอร์หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาจ้างช่างฝีมือชื่อ Fred A. Leuchter ซึ่งอ้างตัวว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ให้ไปพิสูจน์ที่ค่าย Auschwitz ว่าเคยมีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จริงหรือไม่

เมื่อ Leuchter เข้าไปตรวจสอบห้องรมแก๊สที่ค่ายและไม่พบรูใส่แก๊สและไม่พบหลังคา เขาจึงสรุปว่าไม่มีห้องรมแก๊ส แต่ในความเป็นจริงคือ นาซีระเบิดห้องนี้เพื่อทำลายหลักฐานไปแล้ว เมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรเข้ามาปลดปล่อยค่ายจึงไม่ได้บันทึกไว้ว่าเจอห้องรมแก๊ส

นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่มีชื่อเสียงคือการฟ้องร้อง Deborah Lipstadt ศาสตราจารย์ด้าน Holocaust Studies ในสหรัฐอเมริกา ผู้เขียนหนังสือชื่อ Denying the Holocaust : The Growing Assault on Truth and Memory โดยผู้ยื่นฟ้องคือ David Irving ผู้ปฏิเสธโฮโลคอสต์ชาวอังกฤษ ในการต่อสู้ทางศาล Irving ก็ใช้หลักฐานของ Leuchter มาสนับสนุนคำให้การว่าโฮโลคอสต์ไม่เคยเกิดขึ้นจริง แต่สุดท้ายก็ต้องแพ้คดี เรื่องนี้มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักเพราะถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง Denial ในภายหลัง

ในบริบทของปัจจุบัน ถ้าไปดูคอมเมนต์ในโซเชียลมีเดียจะเห็นการพยายามอ้างหลักฐานที่ดูเหมือนจะมีเหตุมีผลเพื่อปฏิเสธโฮโลคอสต์ เช่น อ้างว่าฝ่ายสัมพันธมิตรไม่เคยกล่าวถึงห้องรมแก๊สตอนปลดปล่อยค่ายเลย หรือบอกว่าไม่เห็นมีท่อส่งแก๊สเลย อีกส่วนจะบอกว่าประตูห้องรมแก๊สเป็นประตูไม้ แค่ถีบก็ออกมาได้แล้ว ซึ่งเรื่องเหล่านี้ล้วนไม่จริง เพราะมีการพบหลักฐานเชิงประจักษ์กันหมดแล้ว แม้แต่ศาลอังกฤษ ศาลออสเตรีย ก็ตัดสินพวก Holocaust Deniers มาจำนวนมากแล้ว แต่เมืองไทยยังคงมีคนปฏิเสธโฮโลคอสต์อยู่เรื่อยๆ

สำหรับผมแล้ว การปฏิเสธโฮโลคอสต์ไม่ใช่แต่การปฏิเสธประวัติศาสตร์ แต่คือการปฏิเสธคุณค่าความเป็นมนุษย์ ปฏิเสธมนุษยภาพ และยอมรับการทำลายคุณค่าความเป็นมนุษย์ว่าเป็นเรื่องปกติ ผมรับวิธีคิดของพวก Holocaust Deniers ไม่ได้ และจะไม่มีวันยอมรับได้ด้วย

เรื่องนี้นำมาสู่ประเด็นถกเถียงที่สำคัญ Lipstadt บอกว่า เราสามารถดีเบตกันว่าโฮโลคอสต์เกิดขึ้นมาอย่างไร มีความหมายอย่างไร แต่เธอจะไม่ดีเบตกับคนที่บอกว่ามันไม่เคยเกิดขึ้น และเธอก็พูดเอาไว้ตอนแถลงข่าวว่า นี่ไม่ใช่ Freedom of Speech และกล่าวว่า “Not all opinions are equal.”

 

แวดวงนาซีศึกษาถกเถียงหรือตั้งคำถามวิวาทะเรื่อง Freedom of Speech อย่างไร

พวกปฏิเสธโฮโลคอสต์มักจะบอกว่าคนที่ศึกษาโฮโลคอสต์เป็นพวกนักประวัติศาสตร์อารมณ์อ่อนไหว (sentimentalized historian) นอกจากนี้ ยังมีข้อถกเถียงว่า การเป็นนักประวัติศาสตร์ต้องเป็น ‘ภววิสัย’  (objective) ต้องไม่มีอารมณ์อ่อนไหวต่อข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน

Robert van Pelt นักประวัติศาสตร์ด้านนาซีคนสำคัญบอกว่า การศึกษาประวัติศาสตร์อาจเป็นเรื่องภววิสัย แต่ในอีกด้านหนึ่ง นักประวัติศาสตร์ต้องคงความเป็นมนุษย์ไว้ เพราะคุณกำลังเขียนประวัติศาสตร์ที่มีเหยื่อตาย 11 ล้านคน และหากไร้ความรู้สึก หัวใจของคุณคงทำด้วยหิน ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า การมีอารมณ์ความรู้สึกไม่ได้ไปเปลี่ยนข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์

เรื่อง Freedom of Speech เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันได้ สำหรับคนที่สนใจเรื่องนาซีเยอรมนีอย่างผม การห้ามสรรเสริญฮิตเลอร์และนาซีไม่ได้ขัดต่อ Freedom of Speech เลย เพราะเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นคือหลักการที่คิดขึ้นมาเพื่อยืนยันและรักษาระบอบประชาธิปไตย

อย่าลืมว่า ระบอบประชาธิปไตยมีหัวใจอยู่ที่ “คน” และ “ชีวิตของมนุษย์” ในขณะที่หลักการในระบอบนาซีซึ่งมีเจตจำนงในการสังหารชีวิตย่อมเป็นอุดมการณ์ที่ขัดกับประชาธิปไตย ดังนั้น Freedom of Speech จึงไม่ครอบคลุมการสรรเสริญ ยกย่อง หรือเชิดชูฮิตเลอร์

คุณอาจบอกว่าทุกความเห็นเท่ากันหมดและควรได้รับการปกป้อง แต่มันควรเป็นเช่นนั้นจริงหรือ ถ้าความเห็นนั้นนำไปสู่การสังหารชีวิตผู้คนอีก 11 ล้านคนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย คุณจะคุ้มครองความเห็นนั้นหรือ ในแง่นี้ผมจึงเห็นด้วยกับ Lipstadt

 

มีข้อสังเกตว่า คนไทยบางส่วนไปร่วมแสดงท่าทางสนับสนุนการกระทำของนาซี เกลียดชาวยิว รวมถึงปฏิเสธการเกิดขึ้นของการโฮโลคอสต์ ทั้งๆ ที่ประเทศไทยไม่ได้มีประวัติศาสตร์ร่วมกับคนยิวเลย

ผมสันนิษฐานว่ากลุ่มคนไทยที่บอกว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ไม่เคยเกิดขึ้นจริง คือกลุ่มคนที่เกลียดสหรัฐอเมริกา และผูกโยงสหรัฐอเมริกาเข้ากับชาวยิว เพราะสหรัฐอเมริกาเป็นพันธมิตรหลักที่สนับสนุนอิสราเอลในช่วงสงครามเย็นจนถึงทุกวันนี้ ในแง่นี้ มันเลยโยงกันมั่วไปหมด คุณเกลียดสหรัฐอเมริกา สหรัฐอเมริกาเป็นพันธมิตรกับยิว เลยพลอยเกลียดยิวไปด้วย มองว่าชาวยิวไม่ใช่เหยื่อ แต่เป็นผู้กระทำ

นอกจากนี้ ถ้าดูตามโซเชีลมีเดีย กลุ่มคนที่ออกแสดงความกร่างทางปัญญายืนยันว่าโฮโลคอสต์ไม่เคยเกิดขึ้นจริง ล้วนมีท่าทีการนำเสนอข้อมูลในเชิง revisionist กล่าวหาว่านักประวัติศาสตร์ทั่วโลกคร่ำครึ ไม่ทันโลก ไม่อ่านหลักฐาน ไม่อ่านการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ แต่คนเหล่านี้เองต่างหากไม่เคยอ้างหลักฐานเป็นชิ้นเป็นอันเลย

ผมควรต้องกล่าวด้วยว่าในสหรัฐอเมริกามีองค์กร Holocaust Denial ชื่อ Institute for Historical Review (IHR) ทำงานอย่างแข็งขัน ผลิตวารสารของตนเองเพื่อปฏิเสธโฮโลคอสต์ ข้อมูลส่วนใหญ่ที่เผยแพร่กันในหมู่ผู้มีรสนิยมปฏิเสธโฮโลคอสต์ก็ได้มาจากองค์กรนี้ทั้งสิ้น แต่องค์กรนี้คือองค์กรที่ถูกนักประวัติศาสตร์ปฏิเสธมาโดยตลอด

 

สังคมแบบนาซีมีโอกาสเกิดขึ้นอีกไหมในสังคมที่มีความก้าวหน้ามากขึ้นโนโลกปัจจุบัน

ต้องเข้าใจว่า คำว่า “ก้าวหน้า” คือกับดัก ระบอบนาซีเกิดขึ้นในเยอรมนีปี ค.ศ. 1933 ซึ่งถือว่าเป็นสังคมที่มีความก้าวหน้า เป็นสังคมที่อยู่บนฐานของความเป็นสมัยใหม่ ในช่วงนั้น เยอรมนีเป็นหนึ่งในประเทศที่ก้าวหน้าที่สุดในยุโรปด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตาม ระบอบนาซีจะไม่เกิดขึ้นอีก อย่างน้อยที่สุดในยุโรปและโลกตะวันตก เพราะกระแสการต่อต้านเผด็จการได้ฝังรากลึกแล้ว ในยุโรปปี ค.ศ. 1933 โลกยังไม่มีแนวคิดเรื่องการต่อต้านเผด็จการเบ็ดเสร็จ ในแง่นี้โลกมาไกลเกินกว่าจะกลับไปถึงจุดแบบนั้น เราคงไม่เจอการฆาตกรรมหมู่ขนาดมโหฬารแบบที่ฮิตเลอร์ทำอีกแล้ว แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่ารายย่อยก็คงมี

พรรค AfD หรือฝ่ายขวาจัดที่เพิ่งได้ที่นั่งในสภาจากการเลือกตั้งเยอรมันครั้งล่าสุด มีแนวคิดที่เหมือนหรือต่างกับนาซีหรือไม่ อย่างไรบ้าง

ต่างกันอย่างแน่นอน นี่เป็นประเด็นที่หลายคนยังสับสนเพราะชอบโยงอะไรที่ต่อต้านคนต่างชาติเข้ากับนาซี การต่อต้านชาวต่างชาติที่เกิดในปัจจุบันมันวางอยู่บนมิติหลักๆ คือเรื่องเศรษฐกิจ กลัวว่าคนอื่นมาแย่งงาน ชาติตัวเองตกงาน เกิดปัญหาสังคม ฉะนั้น พรรคการเมืองฝ่ายขวาจัดในยุโรปจึงวางรากฐานในประเด็นด้านเศรษฐกิจ

แต่ระบอบนาซีนั้นต่างออกไป เราไม่สามารถเรียกชาวยิวในยุโรปเมื่อปี ค.ศ. 1933 ว่าเป็นชาวต่างชาติได้ เพราะเขาเป็นชาวเยอรมันที่มีเชื้อสายยิว เขาเป็นพลเมืองของประเทศ ในระบอบนาซีมีแนวคิดเรื่อง “ชาติพันธุ์สกปรก” และ “การหักหลังทางการเมือง” เป็นแนวคิดหลัก ไม่ได้มีแนวคิดเรื่อง “ยิวแย่งงานคนเยอรมัน”

อีกอย่างคือการขัดกันในแง่ของอัตลักษณ์ทางสังคมและศาสนา ไม่ใช่เรื่องเชื้อชาติ พรรคการเมืองพวกนี้ก็ไม่มีแคมเปญแบบนาซีเลย เขาจะอยู่เป็นพรรคการเมืองไม่ได้ถ้าเสนอนโยบายสังหารชีวิตคนขึ้นมา เพราะศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันที่มีหน้าที่พิทักษ์ประชาธิปไตยไม่เอาไว้แน่นอน

ในปี ค.ศ. 1955 ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมนีตะวันตกสั่งยุบพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมัน เหตุผลเพราะอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ไม่ส่งเสริมประชาธิปไตย ผมก็มั่นใจว่าถ้าพรรคการเมืองฝ่ายขวาจัดไปไกลเกิน เช่น ระดมคนออกสังหารชาวต่างชาติ พรรคนี้ก็จะถูกสั่งยุบหรือถูกดำเนินการทางการเมืองแน่นอน

 

การนำนักการเมืองไปเปรียบเทียบกับนาซีทั้งในและต่างประเทศถือเป็นเรื่องสมเหตุสมผลไหม

ระบอบนาซีมีความโหดร้ายเกินมนุษย์ และมันจะไม่มีวันเกิดอะไรแบบนั้นขึ้นอีก เราสามารถวิจารณ์รัฐบาลใดก็ได้บนฐานของนโยบายและการกระทำของเขา เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ว่ากันไป แต่อย่ามาเอาระบอบนาซีไปใช้เปรียบเทียบเพื่อหวังผลทางการเมือง อย่าลืมว่าเราพ่วงเหยื่ออีก 11 ล้านคนเข้าไปด้วย

 

การที่มีคนเอาชุดนาซีมาใส่เวลาทำกิจกรรมหรือทำท่ายกย่องแบบนาซี สะท้อนให้เห็นอะไร

เคยมีอดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยชาวตะวันตก สอนด้านวัฒนธรรมศึกษาในมหาวิทยาลัยไทย เขียนบล็อกตั้งข้อสังเกตไว้ว่า การที่คนในเอเชียรวมทั้งในไทย มีแฟชั่นนาซีหรือทำท่าไฮล์ฮิตเลอร์ เป็นเพราะว่า สำหรับคนเอเชีย ระบอบนาซีเป็นเพียงแค่เผด็จการรูปแบบหนึ่ง คนเอเชียไม่ได้มองความเป็นเผด็จการว่าเลวร้ายเหมือนโลกตะวันตก ดังนั้น ในวัฒนธรรมที่ไม่ได้คิดว่าเผด็จการเกี่ยวข้องกับความเลวร้าย จึงไม่แปลกที่คนจะมองว่า กิจกรรมที่แสดงออกถึงสัญลักษณ์ของเผด็จการเป็นเรื่องปกติ

อาจารย์ท่านนี้ยังตั้งข้อสังเกตต่อว่า วิธีคิดของคนเอเชียมักติดอยู่ที่ตัวบุคคล เผด็จการที่อันตรายในสายตาคนเอเชียเป็นปัญหาตัวบุคคล เช่น พอลพตของเขมรแดง เผด็จการที่ไม่ใช่พอลพตไม่จำเป็นต้องเลวร้าย คนเลยนำวิธีคิดนี้ไปใช้กับระบอบนาซี

ผมเชื่อว่า คนที่ศึกษาและเรียนรู้เรื่องนาซี จะไม่เอาเรื่องนาซีมาเล่นหรือนำไปใช้ประโยชน์ทางการเมือง เพราะพวกเขาจะเห็นคุณค่าของมนุษย์ ถ้าเราเห็นคุณค่าของชีวิตมนุษย์จริง เราย่อมไม่สรรเสริญระบอบที่มีเจตนาทำลายคุณค่าของชีวิตมนุษย์ตั้งแต่ต้น

 

 

เราได้อะไรจากการศึกษาเรื่องระบอบนาซี

การเรียนประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนาซีหรือเรื่องอื่น เป็นการเรียนเพื่อให้คุณคิด ประวัติศาสตร์คือกิจกรรมของการคิด การที่เราศึกษาประเด็นหนึ่ง เราไม่ได้ศึกษาคนเดียว มีงานวิจัยที่เคยศึกษาก่อนหน้าเรามหาศาล มีเอกสารชั้นต้นร่วมสมัยกับเหตุการณ์มากมาย เราจะทำอย่างไรกับแหล่งข้อมูลจำนวนมหาศาลเหล่านี้ แล้วเรายืนอยู่ตรงไหนในการดีเบตของนักวิชาการ เราเห็นด้วยกับฝ่ายไหน ไม่เห็นด้วยกับฝ่ายไหน ตัวเรามีความคิดเห็นต่อประเด็นนั้นอย่างไร

ในกรณีการศึกษาระบอบนาซี มีนักวิชาการทั่วโลกที่เขียนหนังสือและบทความจำนวนมหาศาล ผมคิดว่าเป็นกิจกรรมลับสมองชั้นเลิศเลย นอกจากนี้การศึกษาระบอบนาซีไม่ได้มานั่งเรียนแค่เกิดอะไรขึ้น ใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เพราะตราบใดก็ตามที่อาจารย์สอนประวัติศาสตร์เพียงแค่นี้ ก็ไม่ต่างจาก Wikipedia

สิ่งที่อาจารย์มหาวิทยาลัยควรทำในการสอนประวัติศาสตร์คือ การดูว่ามันเกิดดีเบตอะไรบ้างในวงวิชาการ นิสิตวิชานาซีที่คณะอักษรฯ จุฬาฯ ของผมทุกคนต้องอ่านเอกสารชั้นต้น ต้องศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และถูกบังคับให้ตอบข้อสอบโดยอ้างอิงสองสิ่งนี้เสมอ ซึ่งส่วนใหญ่ทำได้ดีมากๆ นิสิตมีศักยภาพที่จะศึกษาเอกสารชั้นต้นและงานวิจัยระดับโลก เพียงแต่ว่าอาจารย์จะเคารพหรือดูถูกศักยภาพของนิสิตก็แค่นั้นเอง การศึกษาประวัติศาสตร์ที่ละเลยความสำคัญของเอกสารชั้นต้นและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง คือการศึกษาที่ดูถูกผู้เรียน นี่คือการทรยศต่อศาสตร์ที่เราศึกษา

ฉะนั้นถามว่าประวัติศาสตร์นาซีเรียนไปแล้วได้อะไร ผมจะตอบว่าได้คิด มันเป็นโอกาสชั้นเลิศที่นิสิตจะได้มีส่วนร่วมในหัวข้อวิจัยทางประวัติศาสตร์ในสนามที่มีนักวิชาการระดับโลกลงมายำกันมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติ

ในอีกด้านหนึ่ง อาจฟังดูเหมือนเรื่องส่วนตัว แต่ก่อนผมจะมาเป็นอาจารย์ในเมืองไทย ผมตั้งปณิธานเอาไว้ว่าผมต้องการที่จะให้ความรู้คนไทยเกี่ยวกับระบอบนาซี จุดประสงค์คือผมต้องการให้คนไทยเห็นคุณค่าในความเป็นมนุษย์ของชีวิตทุกชีวิต

แม้ว่าเราจะเห็นคนลุกขึ้นมาเรียกร้อง “ศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์” แต่ตราบเท่าที่คุณขับรถแล้วหน้าด้านเปลี่ยนเลนตรงเส้นทึบ ตราบเท่าที่คุณไม่หยุดให้คนข้ามถนนตรงทางม้าลาย อย่ามาพูดกับผมเรื่อง “ศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์” … ประชาธิปไตยสำหรับผมแล้วอยู่ที่ท้องถนนและทางม้าลาย

 

การศึกษาระบอบนาซีช่วยให้เราเข้าใจสังคมไทยได้อย่างไร

เวลาผมสอนระบอบนาซีจะประสบปัญหาบ่อยมาก เพราะคนไทยมักเข้าใจเรื่องการเมืองทั่วๆ ไปไม่เหมือนกับที่โลกใบนี้เข้าใจกัน เช่น เวลาสอนเรื่องระบอบนาซีหรือรัฐสั่งให้เราเปลี่ยนพฤติกรรมชีวิตประจำวัน เช่น การตัดผมทรงนักเรียน นิสิตก็จะเฉยๆ เพราะเขาไม่รู้สึกว่ากำลังถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพ แต่ในยุโรป การที่คุณถูกแทรกแซงในชีวิตประจำวันแบบนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก

หรืออย่างเวลาเรียนเรื่องการลอบวางเพลิงรัฐสภาสมัยที่ฮิตเลอร์กำลังเล่นการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องยิ่งใหญ่มากในยุโรป จนฮิตเลอร์ถึงกับออกกฎหมายเพื่อปกป้องเยอรมนีทั้งประเทศเลย รัฐสภาสำหรับคนยุโรปคือที่รวมของอำนาจอันสูงสุดในการปกครองประเทศ เพราะโดยหลักการ มันคือที่รวมของประชาชน แต่เราเป็นคนไทย ฟังแล้วอาจจะไม่อิน เพราะเราไม่ได้รู้สึกว่า ส.ส. คือตัวแทนของประชาชน ดังนั้น เมื่อเกิดการวางเพลิงรัฐสภา นั่นแปลว่าบ้านของประชาชนทุกคนถูกวางเพลิงด้วย เพราะในระบอบประชาธิปไตยถือว่าประชาชนเป็นใหญ่ที่สุด

ถ้าคุณไม่เข้าใจประเด็นนี้ตั้งแต่แรก คุณก็จะไม่เข้าใจความโหดร้ายและความวิปริตของระบอบนาซี ดังนั้นคุณูปการของการศึกษาระบอบนาซีคือการทำให้ผู้ศึกษาชาวไทยได้กลับมาทบทวนความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมือง ประวัติศาสตร์ความคิด และประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาของตัวเองใหม่หมด เพราะสิ่งที่เรารู้มามันบ้าๆ บอๆ ทั้งสิ้น

 

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save