fbpx
ความจริงในกฎหมาย กฎหมายในความจริง

ความจริงในกฎหมาย กฎหมายในความจริง

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เรื่อง

 

เคยมีนักศึกษาหญิงคนหนึ่งบอกกับผมว่าเธอถูกข่มขืน และมีคำถามว่าควรจะทำอย่างไรต่อไปดี

 

นักเรียนกฎหมายโดยทั่วไปก็คงเข้าใจกันว่าการล่วงละเมิดทางเพศเป็นความผิดอาญาประเภทหนึ่ง ผู้เสียหายสามารถแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อให้ดำเนินการทางกฎหมายต่อผู้ถูกกล่าวหาต่อไป แต่ผลของการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเพื่อปกป้องสิทธิของตนเองจะเป็นอย่างไร เป็นเรื่องยากจะคาดเดา อาจมีการตกลงระหว่างคู่กรณีในการยุติคดี หรือหากพยานหลักฐานไม่ปรากฏอย่างชัดเจน ก็อาจทำให้ผู้เสียหายลังเลในการเดินหน้าต่อ

หลังจากคุยกัน เธอก็ได้ให้รายละเอียดมากขึ้นว่าคนที่เธอกล่าวหาคือแฟนของเธอเอง เหตุเกิดภายหลังจากที่เธอกับเขากลับจากไปเที่ยวสถานบันเทิงด้วยกันในยามค่ำคืน และกลับไปเอารถที่จอดไว้ที่บ้านของฝ่ายชาย เธอบอกว่าฝ่ายชายได้ใช้กำลังล่วงละเมิดทางเพศในที่นั้น เธอไม่ปฏิเสธว่าได้ดื่มเหล้าไปหลายแก้วเหมือนกัน

จะให้ความเห็นกับกรณีดังกล่าวนี้อย่างไร

แม้ว่าการข่มขืนจะเป็นความผิดอย่างชัดเจน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า “ความจริงของกฎหมาย” จะสามารถบังเกิดขึ้นในโลกของความเป็นจริง มีเงื่อนไข ปัจจัยแวดล้อม ข้อจำกัด แรงกดดัน ที่สามารถทำให้ “กฎหมายในความจริง” มีความแตกต่างออกไปจากอุดมคติของกฎหมายอย่างสำคัญ

ในกรณีของนักศึกษาหญิงคนนี้ หากเธอตัดสินใจจะใช้กระบวนการทางกฎหมายเป็นเครื่องมือ มีอะไรที่เธอจะต้องเผชิญบ้าง ลองนึกถึงบุคคลรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน พ่อแม่ จะมีความเข้าใจและท่าทีอย่างไรต่อเรื่องที่เกิดขึ้น หากขยับไปถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งต้องสอบสวนถึงรายละเอียดต่างๆ เหล่านี้ จะมีความเห็นว่าเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นการข่มขืน หรือเป็นเพียงการทะเลาะเบาะแว้งระหว่างชายหญิงที่เป็นแฟนกันอีกครั้งหนึ่ง

ยิ่งหากไปถึงกระบวนการตัดสินในชั้นศาล ถ้าข้อเท็จจริงมีเพียงเท่าที่กล่าวมา ผู้ที่ทำหน้าที่ตัดสินจะมีความเห็นไปในทิศทางอย่างไร สำหรับผู้ที่คุ้นเคยกับคำพิพากษาในคดีข่มขืนคงจะตระหนักดีว่าการเป็นคู่รัก หรือเคยเป็นคู่รัก เป็นองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งที่จะทำให้ผู้ตัดสินอธิบายว่าเพศสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของความสมัครใจมากกว่าการข่มขืน

 

ปรากฏการณ์ของกฎหมายและความจริงที่อยู่ไกลกัน

 

ตัวอย่างแรก ขณะที่ความรู้ทางกฎหมายให้คำอธิบายต่อสิ่งที่ถูก/ผิด กระทำ/ห้ามกระทำ และเมื่อใดที่มีการฝ่าฝืนต่อกฎหมายขึ้น กฎหมายก็จะเป็นเครื่องมือที่ถูกนำมาบังคับใช้ หากต้องการให้มีการลงโทษต่อผู้กระทำความผิดหรือการเยียวยาต่อบุคคลที่ได้รับความเสียหาย แต่การบังคับใช้กฎหมายเหล่านี้เป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้มากน้อยเพียงใด

David M. Engel ได้ชี้ให้เห็นในงานเรื่อง “ความลึกลับของสังคมขี้ฟ้อง” The Myth of the Litigious Society: Why We Don’t Sue ว่าเพราะเหตุใดเหยื่อของการละเมิดจำนวนมากจึงไม่ได้รับการเยียวยาจากผู้ก่อเหตุ โดยแสดงให้เห็นว่ามีเงื่อนไขเป็นจำนวนมาก เช่น ในกรณีที่ได้รับอุบัติเหตุอย่างรุนแรง บางคนอาจต้องเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการจดจ่อกับการมีชีวิตรอดต่อไปหรือไม่ มากกว่าที่จะคิดถึงการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลา สมาธิ และความมุ่งมั่นของผู้เสียหายเป็นอย่างมาก

งานของ David M. Engel มีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการศึกษาในสังคมอเมริกา ซึ่งมักเข้าใจกันว่าเป็นสังคมที่มักใช้การฟ้องคดีเป็นเครื่องมือของเอกชนกันอย่างแพร่หลาย แต่งานของเขากลับชี้ให้เห็นในด้านที่ต่างออกไปอย่างมีนัยสำคัญ

 

David M. Engel. The Myth of the Litigious Society: Why We Don’t Sue. Chicago: University of Chicago Press, 2016

 

ตัวอย่างที่สอง ในกรณีที่แม้จะมีการพยายามใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเกิดขึ้น แต่ก็จะพบว่าโลกของกฎหมายในความเป็นจริงไม่ได้ดำเนินไปในแบบที่เข้าใจกันมาแต่อย่างใด

ศาลแรงงานคือหนึ่งในกลไกของกระบวนการยุติธรรมเพื่อแก้ไขความขัดแย้งระหว่างลูกจ้างและนายจ้าง ด้วยการเล็งเห็นว่าหากใช้กระบวนการศาลตามปกติอาจเป็นอุปสรรคต่อการเรียกร้องสิทธิของลูกจ้าง อันเนื่องมาจากเงื่อนไขทางฝ่ายลูกจ้างซึ่งมีข้อจำกัดเป็นอย่างมากเมื่อเทียบกับอีกฝ่าย สโลแกนของศาลแรงงานที่ปรากฏให้เห็นเป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางสะท้อนความเข้าใจนี้ได้เป็นอย่างดี “สะดวก ประหยัด รวดเร็ว เสมอภาคและเป็นธรรม” แต่สิ่งเหล่านี้ได้ปรากฏในความเป็นจริงมากน้อยเพียงใด

สมบุญ ศรีคำดอกแค แรงงานในโรงงานทอผ้าที่ต้องประสบกับโรคฝุ่นฝ้าย ซึ่งถูกวินิจฉัยว่าเป็นผลมาจากการทำงานและทำให้ปอดสูญเสียการทำงานไป 60 เปอร์เซ็นต์ ได้ใช้กระบวนการทางศาลแรงงานร่วมกับเพื่อนแรงงานในการเรียกร้องค่าเสียหายจากนายจ้างเมื่อ พ.ศ. 2538 ศาลแรงงานใช้เวลาพิจารณา 9 ปี ตัดสินให้นายจ้างต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่กลุ่มลูกจ้าง ทางด้านนายจ้างอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2549 ศาลฎีกาให้ยกคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางเนื่องจากเห็นว่ายังฟังข้อเท็จจริงไม่เพียงพอ

ต่อมาในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2550 ศาลแรงงานกลางอ่านคำพิพากษาใหม่จากการสืบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม แม้ตัดสินให้ด้านลูกจ้างชนะคดี แต่นายจ้างก็ต่อสู้อีกจนถึงศาลฎีกา ซึ่งก็ได้มีคำตัดสินออกมาใน พ.ศ. 2553 โดยฝ่ายลูกจ้างได้ค่าสินไหมทดแทนเหลือตั้งแต่รายละ 60,000 ถึง 110,000 บาท

สมบุญและเพื่อนแรงงานใช้เวลาต่อสู้เป็นระยะเวลาถึง 15 ปี ในการเรียกร้องค่าเสียหายเพื่อทดแทนปอดที่หายไปกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ย่อมนำมาซึ่งคำถามต่อ “สะดวก ประหยัด รวดเร็ว เสมอภาคและเป็นธรรม” ที่มักเป็นสโลแกนของศาลแรงงานอย่างแน่นอน

ตัวอย่างที่สาม ในหลายครั้งที่เกิดเหตุชวนสะเทือนใจในหลากหลายรูปแบบ สังคมไทยก็มักจะเผชิญกับประเด็นดังกล่าวด้วยการเรียกร้องให้มีการใช้โทษประหารกับผู้ก่อเหตุ แน่นอนว่าระบบกฎหมายของไทยยังคงยอมรับให้มีการใช้โทษประหารดำรงอยู่ในประมวลกฎหมายอาญา แต่โทษประหารได้ถูกใช้บังคับมากน้อยเพียงใด

จากสถิติของกรมราชทัณฑ์ นับตั้งแต่ พ.ศ. 2552-2560 มีนักโทษรอประหารอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย (จนถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2560 มีนักโทษรอประหารอยู่จำนวน 447 คน) แต่ก็ไม่มีการประหารชีวิตเกิดขึ้นแต่อย่างใด การไม่มีนักโทษประหารในความเป็นจริงตลอด 10 ปี ทำให้ไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มของประเทศที่มีโทษประหารแต่ไม่มีการบังคับใช้ อะไรเป็นสาเหตุให้ไม่มีการประหารนักโทษเกิดขึ้นในความเป็นจริงมาอย่างยาวนานตลอดทศวรรษ (และคาดหมายได้ว่าจะทอดยาวออกไปอย่างน้อยอีกหนึ่งถึงสองปี) นับว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจไม่น้อย

ตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้น คงเป็นสิ่งที่พอจะยืนยันได้หรือไม่ว่า กฎหมายในโลกของความเป็นจริงมีความสลับซับซ้อน และมีความหมายที่ต่างไปจากความจริงในกฎหมายไม่น้อย

 

มองหากฎหมายในโลกความเป็นจริง

 

หากต้องการมองเห็นกฎหมายในโลกความเป็นจริง สามารถจะกระทำได้ในเบื้องต้นอย่างน้อย 3 แนวทางด้วยกัน

หนึ่ง การเคลื่อนย้ายจุดยืนของผู้มอง

โดยทั่วไปนักกฎหมายมักจะมองจากบทบัญญัติ ตรรกะ การให้เหตุผลในทางกฎหมาย อันเป็นมุมมองที่ถูกหล่อหลอมจากระบบความรู้ การศึกษา วิชาชีพ แต่หากลองเปลี่ยนมุมมองด้วยการเคลื่อนไปยืนอยู่ในจุดที่แตกต่างไปจากเดิมก็อาจทำให้เห็นภาพความเป็นจริงที่แตกต่างกันไปได้ ดังที่สุภาษิตฝรั่งได้เปรียบเปรยว่า “Put yourself in someone else’s shoes”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากลองมองกฎหมายผ่านสายตาของคนกลุ่มต่างๆ ที่ไม่ใช่กลุ่มคนที่ถูกใช้เป็นมาตรฐานหลัก เช่น มองจากสายตาของบุคคลที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ จะพบว่าปัญหาสำคัญอันหนึ่งก็คือความไม่สามารถในการเข้าถึงภาษาที่ใช้ในกระบวนยุติธรรม จะสามารถหาล่ามที่มีความรู้ภาษากะเหรี่ยง ม้ง หรืออื่นๆ ได้อย่างไร หรือจะมั่นใจได้อย่างไรว่าล่ามคนนั้นมีความรู้ภาษาของตนจริง ในเมื่อไม่มีปริญญาแสดงความสามารถที่ชัดเจนเหมือนภาษาอังกฤษ

ไม่ใช่เพียงจากสายตาชาติพันธุ์เท่านั้น หากลองเคลื่อนขยับไปสู่มุมมองแบบอื่นๆ ไม่ว่าผู้หญิง คนพิการ คนจน คนหลากหลายทางเพศ ฯลฯ ก็ล้วนแต่จะพบกับความจริงที่ผันเปลี่ยนไป

สอง การมองความเปลี่ยนแปลงรายรอบ

กฎหมายเป็นผลมาจากเงื่อนไขทางสังคม เมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นกับสังคมก็ย่อมมีผลกระทบต่อระบบกฎหมายด้วยเช่นกัน เราต่างล้วนเข้าใจกันว่าไม่มีสังคมใดที่หยุดนิ่ง แต่ในโลกความเป็นจริง หลายครั้งหลายคราวที่ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นที่น้อยจนกระทั่งเราไม่ตระหนักรู้ถึงปรากฏการณ์ดังกล่าว จนกว่าจะกลายเป็นปัญหาสำคัญเข้ามากระแทกกับโลกทัศน์แบบดั้งเดิมที่ครอบครองความคิดของเรามาอย่างยาวนาน

การเรียกร้องสิทธิของบุคคลเพศหลากหลายในมิติต่างๆ การเปลี่ยนแปลงสัดส่วนของประชากรไปสู่สังคมคนแก่ ครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยวที่เกิดขึ้นให้เห็นอย่างแพร่หลาย เทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารที่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คน ตัวอย่างเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

สาม การพินิจผ่านแนวคิด/ทฤษฎี

แนวคิดหรือทฤษฎีเป็นเครื่องมือในการอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ การใช้แนวคิดแบบใดแบบหนึ่งก็จะทำให้ผู้มองสามารถมองเห็นความเป็นจริงในด้านที่แตกต่างกันออกไป นับตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 20 มีการใช้แนวความคิดจำนวนมากในการทำความเข้าใจกับกฎหมาย ซึ่งปรากฏออกมาให้เห็นในกลุ่มแนวความคิดแบบที่เรียกว่า “กฎหมายและสหาย” (Law and …)

นอกจากแนวคิดกลุ่มกฎหมายกับสังคม อันเป็นแนวความคิดซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง ก็ยังมีกลุ่มแนวคิดอีกหลากหลายกลุ่ม เช่น กฎหมายกับเพศภาวะ (Law and Gender) กฎหมายกับวรรณกรรม (Law and Literature) กฎหมายกับเศรษฐศาสตร์ (Law and Economics) เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การศึกษากฎหมายผ่านแนวคิดทฤษฎีจำนวนหนึ่ง แม้ไม่ได้ใช้ชื่อ “กฎหมายและสหาย” แต่ก็สามารถถูกจัดอยู่ในกลุ่มดังกล่าวนี้ได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นมานุษยวิทยากฎหมาย (Legal Anthropology) สังคมวิทยากฎหมาย (Sociology of Law) การศึกษากฎหมายเชิงประวัติศาสตร์ การวิเคราะห์กฎหมายแบบหลังสมัยใหม่ (Postmodern Jurisprudence)

ความยุ่งยากในการพินิจผ่านทางแนวคิด/ทฤษฎีก็คือ สำหรับนักเรียนกฎหมายแล้วอาจไม่คุ้นเคยต่อแนวความคิดซึ่งล้วนแล้วแต่มีความแตกต่างไปจากระบบความรู้ในทางนิติศาสตร์อย่างมาก แต่ก็นับเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างยิ่งในการบุกเบิกพรมแดนความรู้ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นได้อย่างสำคัญ

 

บทส่งท้าย

 

ทั้งหมดที่กล่าวมาไม่ได้หมายความว่าความจริงในกฎหมายปราศจากความสำคัญ ความจริงในกฎหมายมีความสำคัญอย่างไม่อาจปฏิเสธสำหรับนักเรียนกฎหมาย เพื่อเป็นบรรทัดฐานในการชี้วัดถึงความถูก/ผิดของปรากฏการณ์ทางสังคม แต่การลุ่มหลงอยู่ในโลกของกฎหมายเพียงด้านเดียวอาจต้องประสบกับความยุ่งยากเมื่อต้องเผชิญกับความเป็นจริงที่แตกต่างออกไปอย่างสำคัญ

 

การเข้าใจถึงกำเนิด พลวัต ความพลิกผันของกฎหมายในโลกความเป็นจริงจึงมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน โดยเฉพาะสำหรับนักกฎหมายที่ปรารถนาจะมองเห็นความเป็นจริงของกฎหมายที่ดำรงอยู่อย่างรอบด้านและลุ่มลึกมากยิ่งขึ้น

 

หมายเหตุ – บทความนี้เรียบเรียงจากคำบรรยายเปิดงานเนื่องในการประชุมวิชาการ สาขาวิชานิติศาสตร์ระดับชาติ ครั้งที่ 1 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2561 ณ โรงแรมแคนทารีฮิลล์ เชียงใหม่

MOST READ

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save