คุณเชื่อใจนักการเมืองได้แค่ไหน?

เวลาที่นึกถึง ‘คำสัญญา’ ซึ่งบางทีก็เป็นแค่ ‘สัญญาปากเปล่า’ ของบรรดานักการเมืองทั้งหลาย ประชาชนพลเมืองทั่วโลกเชื่อถือแค่ไหนว่า พวกเขาเหล่านั้นจะทำตามสัญญา?

บทความนี้จะพาไปหาคำตอบจากการสำรวจและงานวิจัยที่ทำกันในหลายๆ ประเทศทั่วโลก ซึ่งต่างยืนยันความจริงที่ว่า คนคิดตรงกันว่านักการเมืองเป็นคนจำพวกไม่รักษาสัญญา!

คนทั่วโลกไม่เชื่อใจนักการเมือง

การสำรวจชื่อ International Social Survey Program (ISSP) ในปี 2006 พบว่า จากจำนวน 21 ประเทศที่เข้าร่วมการสำรวจ มีคนที่เชื่อว่านักการเมืองรักษาคำสัญญาเฉลี่ยแล้วเพียง 20% ในจำนวนนี้สัดส่วนคนสวิสเชื่อมากที่สุด แต่ก็มีจำนวนเพียงแค่ 37% หรือมากกว่า 1 ใน 3 ไปนิดเดียว [1]  

ขณะที่คนยิวเชื่อน้อยที่สุดคือเพียง 8% เท่านั้น! 

หนังสือพิมพ์ The New York Times สำรวจในปี 2009 โดยสอบถามคนอเมริกันว่า เชื่อว่าประธานาธิบดีบารัก โอบามาจะรักษาสัญญาเพียงใด? 

มีผู้เข้าร่วมการสำรวจ 56% ที่ตอบว่าไม่เชื่อ ใกล้เคียงกับผู้ที่ตอบคำถามใน General Social Survey ปี 2012 ซึ่งถามว่า เมื่อผู้สมัครตำแหน่งผู้แทนราษฎรได้เข้าไปทำงานสภาคองเกรสจะรักษาสัญญาที่ให้ไว้หรือไม่? คนอเมริกันส่วนใหญ่ (59%) เห็นว่านักการเมืองเหล่านั้นไม่น่าจะรักษาสัญญา [2]

ในการสำรวจอีกชุดหนึ่งในปี 2014 มีผู้มีสิทธิลงคะแนนแค่เพียง 4% เท่านั้นที่เชื่อว่า ‘นักการเมืองส่วนใหญ่’ จะรักษาคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ในการรณรงค์หาเสียง ขณะที่มี 83% ไม่เชื่อ และที่เหลืออีก 13% ยังไม่ตัดสินใจ [3]  

อันที่จริงการสำรวจทำนองนี้ที่ทำกันมาครึ่งศตวรรษแล้วในสหรัฐอเมริกา แทบให้ผลไม่แตกต่างกันเลย คือคนส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่านักการเมืองตั้งใจรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน 

หนังสือชื่อ Absent Mandate ที่ผู้เขียนหลักคือ แฮโรลด์ คาร์ก (Harold Clarke) ถึงกับยืนยันว่า “ถือเป็นหลักการแทนที่จะเป็นข้อยกเว้นได้เลยว่า นักการเมืองไม่เอาใจใส่คำสัญญาที่ให้ การเลือกตั้งคือการเลือกว่าจะให้ใครขึ้นมาปกครอง แต่เรื่องนี้เกี่ยวข้องน้อยมากกับนโยบายที่ประกาศไว้กับสาธารณะ” 

งานวิจัยเกี่ยวข้องกับการรักษาคำมั่นสัญญาของนักการเมืองสหรัฐในรอบกว่า 50 ปี

ปีที่ตีพิมพ์ผลการวิจัยช่วงเวลาที่ใช้ศึกษาเปอร์เซ็นต์ของการรักษาคำมั่นสัญญา
19681944–66 72%
19691932–64 80%
19711944–66 72%
1980 1944–7869%
19841912–76 71%
19851960–80 61%
19871945–79 64%
1996 1980–88 52% 
19971977–92 60%
19991976–92 73%
20041997–99 73%
เฉลี่ย67%

วิจัยชี้ว่านักการเมือง ‘ทำตามสัญญา!’

เมื่อทีมวิจัยแคนาดานำโดยฟรองซัวส์ เพทรี (FranÇois Pétry) และคณะ [4] ลองประเมินผลงานของนักการเมืองที่ได้รับเลือกเข้าไปเป็นรัฐบาลรวม 7 รัฐบาลต่อเนื่องกัน ตั้งแต่ ค.ศ. 1993–2015 โดยแบ่งผลการประเมินเป็น 3 แบบคือ (1) ทำตามที่สัญญาไว้ครบถ้วน (2) ทำตามที่สัญญาไว้บางส่วน และ (3) ไม่ทำตามสัญญาหรือทำไม่สำเร็จ 

ผลลัพธ์ที่ได้กลับสวนทางกับความเชื่อของคนทั่วโลกแบบกลับหัวเป็นหางเลยทีเดียว 

จากคำมั่นสัญญา 828 ข้อที่นักการเมืองในช่วงดังกล่าวให้ไว้ มีอยู่อย่างน้อย 565 เรื่อง (คิดเป็น 68.2%) ที่ทำสำเร็จตามสัญญาหรืออย่างน้อยก็ทำได้บางส่วน ส่วนที่เหลือนั้นคือไม่ได้ทำตามสัญญา 

สรุปง่ายๆ ว่า นักการเมืองแคนาดาทำตามสัญญาได้ถึงราว 2 ใน 3 ของที่เคยสัญญาให้ไว้! 

ผลวิจัยนี้ยังระบุอีกด้วยว่า ไม่มีความแตกต่างอย่างสำคัญระหว่างนักการเมืองจากฟากอนุรักษ์นิยมกับฟากเสรีนิยมแต่อย่างใด 

นักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลที่มีเสียงข้างมากทำตามสัญญาได้ดีกว่า โดยทำคะแนนได้ราว 70% ซึ่งเหนือกว่าค่าเฉลี่ยเล็กน้อย ยิ่งเป็นรัฐบาลจากพรรคเดียวยิ่งมีโอกาสทำได้ดี ประเทศที่มีพรรคเดียวปกครองประเทศ ไม่ว่าจะอังกฤษ สวีเดน โปรตุเกส สเปน และแคนาดา ล้วนทำได้ดีกว่าค่าเฉลี่ย  

นักวิจัยเชื่อว่าการที่พรรคการเมืองเสียงข้างมากทำได้ดีกว่าอาจจะมาจากการที่พรรคเหล่านั้นมีอายุการเป็นรัฐบาลที่ยืนยาวกว่า ไม่โดนเลื่อยขาหรือหักขาเก้าอี้โดยง่าย ในทำนองเดียวกัน อีกปัจจัยหนึ่งคือ หากพรรคการเมืองได้รับเลือกซ้ำให้เป็นรัฐบาลกลับเข้ามาอีก ก็จะทำให้มีโอกาสทำตามสัญญาที่รณรงค์ไว้ได้มากขึ้นอีกด้วย   

การศึกษาของแคนาดาชื่อ 2015 Canadian Election Study ก็ยืนยันข้อเท็จจริงไปในทำนองเดียวกัน โดยสรุปคือมีอยู่ 64% (ราว 1 ใน 3 อีกเช่นกัน) ที่นักการเมืองรักษาคำมั่นสัญญาไว้ได้ 

ข้อสรุปที่น่าสนใจที่สุดในการวิจัยดังกล่าวก็คือ ในขณะที่ ‘นักการเมือง’ พยายามรักษาคำมั่นสัญญา แต่ ‘พรรคการเมือง’ กลับไม่ค่อยรักษาคำมั่นสัญญานัก ไม่ว่าจะพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลเสียงข้างมากหรือเสียงข้างน้อย และเป็นเหมือนกันในประเทศต่างๆ ที่ได้ทำการศึกษาเพื่อเปรียบเทียบกับกรณีของประเทศแคนาดาอีกด้วย 

ในสหรัฐอเมริกาได้มีการสำรวจทำนองเดียวกันนี้มาครึ่งศตวรรษ ผลลัพธ์ก็ยืนยันว่า แม้คนส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่านักการเมืองตั้งใจรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน แต่นักการเมืองส่วนใหญ่ก็รักษาสัญญาไว้ได้ราว 2 ใน 3 ของทั้งหมด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวิธีการที่ใช้สำรวจด้วย   

คำแนะนำสำคัญสำหรับงานวิจัยทำนองนี้คือ คำถามที่ใช้ในการสำรวจต้องทำอย่างรัดกุม ไม่มีหรือไม่สร้างอคติกับอาสามสมัครผู้เข้าร่วมการทดสอบ ว่าแล้วก็อยากให้มีการสำรวจแบบนี้ในประเทศไทยบ้าง แต่คงต้องรัดกุมกว่าโพลของหลายสำนักที่ทำกันอย่างเอียงกระเท่เร่เห็นๆ กันอยู่   

ทำไมประชาชนถึงไม่เชื่อว่านักการเมืองทำตามสัญญา?

เมื่อไม่นานมานี้ ยังมีเว็บไซต์ชื่อ PolitiFact ที่ตรวจสอบคำมั่นสัญญาของนักการเมืองอย่างใกล้ชิด เช่น ตรวจสอบคำสัญญากว่า 500 เรื่องที่ประธานาธิบดีโอบามาให้ไว้ระหว่างรณรงค์การเลือกตั้ง 2 ปี ผลลัพธ์ที่ได้คือพบว่าเขาทำได้ราว 70% [5]

ขณะเดียวกัน เมื่อตรวจสอบคำสัญญา 53 เรื่องที่ผู้นำพรรครีพับลิกันให้ไว้ก่อนเข้ารับตำแหน่งในสภาคองเกรสในปี 2010 ผลลัพธ์คือมีอยู่ราว 68% ที่ทำได้สำเร็จหรืออย่างน้อยก็ทำได้บางส่วน 

จะอธิบายได้อย่างไรบ้าง เรื่องที่นักการเมืองพยายามรักษาคำสัญญา แต่คนส่วนใหญ่กลับไม่คิดเช่นนั้น?

คำตอบสรุปได้ง่ายๆ ว่า สิ่งที่นักวิชาการรัฐศาสตร์ค้นพบกับสิ่งที่ประชาชนเชื่อนั้น ตั้งอยู่บนเกณฑ์ที่ใช้ประเมินที่แตกต่างกันมาก  

พลเมืองทั่วไปไม่ได้รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลผลงานของนักการเมืองแบบเดียวกับที่นักวิชาการทำ แต่พวกเขาใช้ทางลัดข้อมูล (information shortcut) ที่ง่ายกว่ามาก เช่น ความไว้เนื้อเชื่อใจส่วนตัวต่อนักการเมืองผู้นั้น รวมไปถึงทัศนคติและอุดมคติของตัวพวกเขากับนักการเมืองคนนั้นหรือพรรคการเมืองนั้นว่า สอดคล้องกันหรือไม่ ฯลฯ 

ปัจจัยหนึ่งที่ใช้ตัดสินจึงเป็นเรื่องการถือฝักถือฝ่าย แบ่งพรรคแบ่งพวกระหว่างตัวคนตัดสินกับนักการเมืองเหล่านั้นอีกด้วย แม้วิธีการแบบนี้จะไม่ดีที่สุด ไม่เที่ยงตรงที่สุดในการประเมินนักการเมือง 

แต่ก็ทำได้ง่ายกว่ามาก 

ความเป็นไปได้อีกเรื่องหนึ่งคือ ประชาชนไม่ได้พิจารณาเรื่องการทำสัญญาของนักการเมืองคนใดหรือพรรคการเมืองพรรคใดแบบ ‘เพียวๆ’ แต่ยังนำเอาตัวแปรเรื่องผลงานของพรรคตรงกันข้ามมาใช้ในการเปรียบเทียบอีกด้วย เรียกว่าแทนที่จะประเมินแบบ ‘อิงเกณฑ์’ กลับใช้การประเมินแบบ ‘อิงกลุ่ม’ แทน  

ประเด็นสุดท้ายคือ ประชาชนทั่วไปให้น้ำหนักกับคำสัญญาต่างๆ ไม่เท่ากัน ประชาชนเอาใจใส่และประเมินคำมั่นสัญญาจากผลลัพธ์ที่ ‘ส่งผลกระทบ’ กับตัวพวกเขาเองมากที่สุด 

ทั้งหมดที่ว่ามานี้น่าจะมีส่วนสำคัญที่ทำให้คนทั่วไปไม่เชื่อว่านักการเมืองจะรักษาสัญญาที่ให้ไว้

อย่างไรก็ตาม กฎและคำอธิบายทั้งหมดที่ว่าแทบใช้ไม่ได้เลยกับประธานาธิบดีคนหนึ่งของสหรัฐคือ โดนัลด์ ทรัมป์ เพราะ PolitiFact ให้ข้อมูลไว้ว่า ประธานาธิบดีคนที่ 45 ผู้นี้ ขึ้นแท่นเป็นนักโกหกแห่งปีของเว็บไซต์ดังกล่าวประจำปี 2015, 2017 และ 2019 

โดยทำคะแนนได้ท็อปฟอร์มมาก สิ่งที่เขากล่าวแล้วเป็นเรื่องจริงมีเพียง 3% ขณะที่กล่าวออกมาแล้วเนื้อหาส่วนใหญ่พอจะเป็นจริงเสียส่วนใหญ่มีอยู่ 8% แต่ถ้าจริงแค่เพียงครึ่งเดียวมี 12% 

ในทางกลับกัน ส่วนที่กล่าวแล้วผิดเป็นส่วนใหญ่มี 19% และหนักกว่านั้นคือ กล่าวผิดๆ คิดเป็น 37% ด้วยกัน สุดท้าย อันที่มั่วซั่ว คิดเองเออเอง ผิดจนไม่น่าอภัยและก่อความเสียหายมีมากถึง 17% เรียกว่าแทบไม่น่าเชื่อว่า ผู้นำประเทศมหาอำนาจของโลกสักคนจะทำแบบนี้ได้ 

เห็นข้อมูลแบบนี้แล้วอยากให้ PolitiFact มาทำข้อมูลผู้นำสารขัณฑ์จริงๆ อยากรู้มากๆๆๆ เลย! 

References
1 https://www.gesis.org/en/issp/modules/issp-modules-by-topic/role-of-government/2006
2 https://fivethirtyeight.com/features/trust-us-politicians-keep-most-of-their-promises/
3 https://fivethirtyeight.com/features/trust-us-politicians-keep-most-of-their-promises/
4 https://inroadsjournal.ca/politicians-keep-election-promises-matter/
5 https://www.politifact.com/

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save