fbpx
เรื่องวุ่นๆ ของการสร้างสกุลเงิน ‘Libra’

เรื่องวุ่นๆ ของการสร้างสกุลเงิน ‘Libra’

จิตรทัศน์ ฝักเจริญผล เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ใครๆ ก็ทำตัวเป็นธนาคารได้ ถ้าคนที่ฝากเงินหรือกู้เงินเชื่อใจว่าจะไม่ถูกโกง มีแค่สมุดจดเล่มหนึ่งว่ามีใครเอาเงินมาฝากบ้าง อาจจะแบ่งเงินส่วนหนึ่งไปปล่อยกู้หากำไร เราก็เตรียมสมุดจดว่าใครกู้เงินไปบ้าง ใครจ่ายดอกเบี้ยตอนไหน ไม่มีใครมาถอนเงินก็ไม่เป็นไร ถ้าคนยังเชื่อใจ ธนาคารบนสมุดจดของเราก็จะดำเนินไปอย่างราบรื่น

จนกระทั่งมีคนมาโวยวายว่าเงินหาย หรือมีข้อผิดพลาดในการรายงานจำนวนเงิน ตอนนั้นถ้าเราไม่มีหลักฐานอะไรให้ชัดเจน เจ้าของบัญชีทั้งหลายอาจสูญเสียความมั่นใจ ไล่ถอนเงินจนหมดและทำให้ธนาคารบนสมุดจดของเราล่มสลายได้ไม่ยากนัก

เมื่อเราฝากเงินกับธนาคาร เงินของเราก็เปลี่ยนสภาพไปเป็นแค่ตัวเลขตัวหนึ่งในฐานข้อมูลของธนาคารที่แทนสถานะการเงินของเรา เราทำธุรกรรมต่างๆ กับธนาคารเพราะว่าเราเชื่อใจว่าการเก็บสถานะการเงินต่างๆ เหล่านี้จะไม่มีข้อผิดพลาด และเราเชื่อใจว่าธนาคารจะดำเนินการทุกอย่างตามที่ได้สัญญากับเราไว้  

ในทางกลับกัน ถ้ามีบริษัทสักบริษัทหนึ่งประกาศบนอินเทอร์เน็ตว่าพร้อมจะเป็นธนาคารให้เราฝากเงินได้ เราคงไม่ไว้ใจยอมนำเงินไปฝากไว้ หรือยินดีทำธุรกรรมต่างโดยง่ายเช่นเดียวกับธนาคาร แม้ว่าบริษัทนั้นจะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ยักษ์ที่ชื่อว่า Facebook ก็ตาม

ปัญหาเกี่ยวกับความเชื่อใจบนอินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อนมาก โดยเฉพาะเมื่อมันเกี่ยวข้องกับเรื่องเงินๆ ทองๆ และผลประโยชน์

 

ความเชื่อใจที่เกิดจากจำนวน

 

ถ้ามองกันจริงๆ แล้ว เงินตราที่เราใช้กันในปัจจุบันล้วนเป็นสิ่งที่เราสมมติขึ้น สกุลเงินต่างๆ มีมูลค่าเพราะว่าคนจำนวนมากเชื่อถือและให้มูลค่ากับเงินเหล่านั้น เมื่อคนเสียความมั่นใจ มูลค่าบนธนบัตรก็กลายเป็นแค่ตัวเลขที่ไม่มีความหมาย

แต่การสมมติให้ของบางอย่างมีลักษณะคล้ายเงินไม่ใช่เรื่องไกลตัว ถ้าพิจารณาในชีวิตประจำวัน เราน่าจะได้ใช้และพบเจอสิ่งที่คล้ายเงิน หรือใช้ทดแทนเงินอยู่ตลอดเวลา เช่น แต้มที่สะสมของบางร้านค้าหรือบัตรเครดิต คูปองอาหารเมื่อเราเข้าไปซื้ออาหารในศูนย์อาหาร ดาวหรือเหรียญที่สะสมเพื่อแลกของพิเศษในเกมออนไลน์ หรือกระทั่งเหรียญที่สะสมเพื่อรับส่วนลดของบริการตลาดซื้อของออนไลน์

เมื่อมีความพยายามจะขยายของเขตการใช้ ‘สิ่งที่เสมือนเป็นเงิน’ เหล่านี้ออกไปให้กว้างขึ้น เช่น เปิดโอกาสให้ใช้ซื้อสินค้าและบริการทั่วไปได้ แลกเปลี่ยนและส่งต่อกันได้ หรือกระทั่งสามารถใช้งานได้ข้ามขอบเขตประเทศ (ผ่านทางอินเทอร์เน็ต) สิ่งสมมตินี้ในทางปฏิบัติก็สามารถใช้งานได้ไม่ต่างจากเงินตราอีกสกุลหนึ่งทันที

ในมุมที่กว้างที่สุด นี่คือสิ่งที่ Facebook กำลังดำเนินการ โดยสกุลเงินที่เกิดขึ้นใหม่นี้จะชื่อว่า ‘Libra’ เป้าหมายของเงินดังกล่าวที่ Facebook กล่าวไว้ก็คือ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแลกเปลี่ยนเงินตรา เช่น ลดอัตราค่าธรรมเนียม และลดเวลาในการโอนเงิน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว สิ่งสมมติจะมีมูลค่าได้นั้นต้องเกิดจากความเชื่อใจและเชื่อมั่น ในปัจจุบันที่ Facebook พบแต่ปัญหารุมเร้า ทั้งเรื่องการจัดการความเป็นส่วนตัว การตกเป็นเครื่องมือในการปล่อยข่า่วปลอมและปัญหาการแทรกแซงการเลือกตั้ง รวมไปถึงการที่ผู้คนเริ่มตระหนักว่า Facebook เป็นบริษัทที่ทำรายได้จากการเก็บข้อมูลและพฤติกรรมส่วนตัวของผู้ใช้ การที่ Facebook จะขยายขอบเขตธุรกิจไปยังภาคการเงินและเป็นเจ้าของเงินตราแต่เพียงบริษัทเดียวนั้น จึงแทบจะเป็นไปไม่ได้

ถ้ามองในมุมการดำเนินการ แนวทางที่ Facebook เลือกเพื่อสร้างความเชื่อใจ ก็คือการชักชวนองค์กรที่น่าเชื่อถืออีกจำนวน 27 องค์กรมาร่วมเป็นเจ้าภาพ พร้อมๆ กับการใส่เงินตราจริงไว้ในระบบ 

องค์กรเหล่านี้จะรวมตัวเป็น Libra Association ที่เป็นองค์กรไม่แสวงกำไรเพื่อดูแลและจัดการสกุลเงินใหม่นี้ องค์กรเริ่มต้นประกอบไปด้วยบรรษัทขนาดใหญ่หลายกลุ่ม เช่น กลุ่มที่เกี่ยวกับการจ่ายเงิน เช่น Visa, Mastercard, Paypal กลุ่มเทคโนโลยี เช่น ebay, Uber, Spotify และกลุ่มอื่นๆ ความน่าเชื่อถือขององค์กรเหล่านี้อาจช่วยรับประกันความน่าเชื่อถือของสกุลเงินนี้ได้โดยรวม

ที่กล่าวมานี้เป็นการสร้างความน่าเชื่อถือในมุมมองของการดำเนินการ

ถ้ามองในเชิงเทคนิค การสร้างเงินตราสกุลใหม่นี้แทนที่ Facebook จะทำตัวเป็นธนาคาร และเก็บข้อมูลการใช้จ่ายและการแลกเปลี่ยนทั้งหมดไว้เองเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ  Facebook กลับเลือกออกแบบระบบให้ทุกองค์กรเจ้าภาพอีก 27 องค์กร ร่วมเป็นธนาคารที่ดูแลและตรวจสอบข้อมูลบัญชีและการใช้งานทั้งหมดไว้ด้วยกัน

Facebook ต้องลงทุนสร้างความน่าเชื่อถือให้กับเงินสกุลใหม่นี้อย่างเต็มที่ เพราะว่าเงินตราใหม่นี้จะไม่ได้เป็นแค่ระบบแต้มสะสมสมาชิกหรือโปรโมชั่น แต่เป็นความพยายามระดับโลกที่จะทำลายกำแพงในการโอนย้ายเงินตรา ไปพร้อมๆ กับการพัฒนา Facebook ให้เข้าสู่ศูนย์กลางอำนาจในโลกมากขึ้นด้วย แต่ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการยึดครองโลกเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่บทความนี้สนใจ แต่จะพูดถึงประเด็นเชิงเทคนิคที่น่าสนใจไม่แพ้กันเกี่ยวกับการทำงานร่วมกันขององค์กรเหล่านี้ในการสร้างเงินสกุล Libra ขึ้นมาใหม่

 

ข้อมูลบัญชีและธุรกรรม

 

ในโลกของระบบอัตโนมัติ เราอาจต้องกล่าวว่า องค์กรไม่ได้ทำงานร่วมกัน แต่จริงๆ แล้ว เป็นระบบคอมพิวเตอร์ขององค์กรเหล่านี้ต่างหาก ที่ทำงานร่วมกัน

คำถามคือ ในการทำงานเป็นศูนย์กลางของเงินตราสกุลใหม่ ระบบคอมพิวเตอร์เหล่านี้ต้องทำอะไรบ้าง?

หลักๆ ก็คงไม่ต่างจากการเป็นธนาคารทั่วไป กล่าวคือต้องเก็บข้อมูลที่ทำให้ตรวจสอบได้ว่าบัญชีใดมีเงินเท่าใด ข้อมูลลักษณะนี้โดยทั่วไปจะถูกเก็บเป็นรายการธุรกรรมต่างๆ เช่น การนำเงินเข้า หรือการโอนเงินไปมาระหว่างบัญชี (ระบบเก็บการทำธุรกรรมที่ถูกเสนอขึ้นโดย Facebook จะมีความสามารถมากกว่านั้นมาก โดยจะสามารถประมวลผลข้อมูลซับซ้อนได้ไม่ต่างจากคอมพิวเตอร์)

ตัวอย่างของรายการที่ธนาคารจำลองของเราต้องเก็บ มีรูปแบบดังนี้

  • ธุรกรรมที่ 1: บัญชี A  ฝากเงิน 100 หน่วย
  • ธุรกรรมที่ 2: โอนเงินจากบัญชี A ไปยังบัญชี B จำนวน 50 หน่วย
  • ธุรกรรมที่ 3: บัญชี C ฝากเงิน 30 หน่วย
  • ธุรกรรมที่ 4: โอนเงินจากบัญชี B ไปยังบัญชี C จำนวน 20 หน่วย

 

จากรายการธุรกรรมข้างต้น ถ้าไม่มีธุรกรรมอื่นๆ เมื่อพิจารณาแล้วเราจะพบว่าสุดท้าย บัญชี A มีเงินคงเหลือ 50 หน่วย บัญชี B มีเงินคงเหลือ 30 หน่วย และบัญชี C มีเงินคงเหลือ 50 หน่วย

สังเกตว่ารายการดังกล่าวมีต้องลำดับชัดเจน การสลับลำดับอาจจะทำให้ผลลัพธ์ของบางช่วงเวลาเปลี่ยนแปลงได้ เช่น มีเงินรวมในบัญชีเป็นลบ  

เพื่อให้ระบบทำงานถูกต้อง รายการที่เก็บนี้จะต้องไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ เพราะว่าจะเกิดความเสียหายต่อผู้เกี่ยวข้อง ยกตัวอย่างเช่น B อาจโอนเงินให้กับ C จำนวน 20 หน่วยเพื่อซื้อข้าวมันไก่ ถ้า B รับประทานเสร็จ มีการแก้ไขข้อมูลในรายการโดยตัดธุรกรรมที่ 4 ออก C ก็จะไม่ได้รับเงินค่าข้าวนั้น

นอกจากนี้ รายการดังกล่าวจะต้องผ่านการตรวจสอบว่าเป็นรายการที่ถูกต้อง เช่น เราไม่ควรจะโอนเงิน 1,000 หน่วยจากบัญชีตั้งต้นไปยังบัญชีปลายทางได้ ถ้าบัญชีตั้งต้นมีเงินไม่ถึง 1,000 หน่วย เป็นต้น ดังนั้นก่อนจะบันทึกธุรกรรมใดๆ ลงไป ต้องมีการตรวจสอบก่อนว่าธุรกรรมที่ดำเนินการนี้ถูกต้องเป็นไปตามเงื่อนไขหลักเกณฑ์ต่างๆ หรือไม่ด้วย

ในเชิงเทคนิค หน้าที่ขององค์กรใน Libra Association ก็คือการดูแลและตรวจสอบข้อมูลบัญชีและธุรกรรมต่างๆ ให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กล่าวมาข้างต้น สังเกตว่าถ้าในการดำเนินการ มีแค่เพียงองค์กรเดียวที่รับข้อมูลการทำธุรกรรมและปรับข้อมูลบัญชี องค์กรนี้จะมีอำนาจมหาศาลในการเลือกปฏิบัติ เช่น อาจกีดกันบางคนจากการโอนเงินไปมาในระบบได้ โดยไม่รับข้อมูลธุรกรรมของคนนั้น เป็นต้น  

เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว ทุกองค์กรใน Libra Association จะต้องมีบทบาทในการดูแลและตรวจสอบในระดับที่ทัดเทียมกัน กล่าวคือระบบคอมพิวเตอร์ของทุกองค์กรที่รวมกันนี้ จะต้องมีบทบาทในการตัดสินใจและดำเนินการจัดการข้อมูลบัญชีเหล่านี้ด้วย

ระบบคอมพิวเตอร์ที่เป็นอิสระต่อกัน เมื่อมาทำงานร่วมกันเพื่อเป้าหมายหนึ่งๆ ก็มีความสลับซับซ้อนไม่น้อยกว่าการทำงานร่วมกันของมนุษย์

 

ระบบและผู้ประสงค์ร้าย

 

ระบบอัตโนมัติที่ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ เช่น ระบบอินเทอร์เน็ต หรือระบบควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ ในโรงงาน หรือถ้ามองไปในอนาคต ระบบของรถยนต์อัตโนมัติที่ขับเคลื่อนเองบนท้องถนน ประกอบไปด้วยคอมพิวเตอร์ที่ทำงานร่วมกันจำนวนมาก 

คอมพิวเตอร์เหล่านี้ทำงานเป็นอิสระต่อกัน โดยไม่ได้มีการควบคุมทั้งหมดจากระบบใดระบบหนึ่งโดยเฉพาะ ระบบคอมพิวเตอร์ลักษณะนี้เรียกว่าระบบคอมพิวเตอร์แบบไร้ศูนย์กลาง (decentralized systems) ซึ่งแตกต่างจากระบบคอมพิวเตอร์แบบรวมศูนย์ (centralized systems) ที่การตัดสินใจทั้งหมดขึ้นอยู่กับคอมพิวเตอร์ศูนย์กลางเท่านั้น

ระบบแบบไร้ศูนย์กลางมีข้อดีที่สามารถขยายขอบเขตและเพิ่มจำนวนคอมพิวเตอร์ได้ง่าย นอกจากนี้โดยทั่วไประบบยังมีความทนทานต่อการถูกโจมตีมากกว่าระบบแบบรวมศูนย์ ที่ถ้าคอมพิวเตอร์ที่ศูนย์กลางถูกทำลายระบบทั้งหมดก็จะไม่สามารถทำงานได้เลย

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากระบบไร้การควบคุมจากส่วนกลาง เพื่อให้ทำงานได้อย่างถูกต้อง เราต้องออกแบบและวางแผนพฤติกรรมการทำงานร่วมกันของคอมพิวเตอร์เหล่านี้ เพื่อให้ทำงานประสานกันได้อย่างที่เราต้องการ

กระนั้นเอง เนื่องจากคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องมีการทำงานที่เป็นอิสระจากกัน การคาดหวังว่าคอมพิวเตอร์ทั้งหมดจะปฏิบัติตามขั้นตอนที่ได้กำหนดไว้ จึงเป็นความคาดหวังที่มองโลกในแง่ดีเกินไป

พิจารณาตัวอย่างของระบบรถยนต์อัตโนมัติเวลาที่วิ่งผ่านสี่แยก เพื่อความเสมอภาค เราอาจจะออกแบบให้คอมพิวเตอร์ของรถยนต์แต่ละคันให้พิจารณาลำดับที่ตนเองถึงสี่แยก และรอให้รถคันอื่นๆ ที่ถึงสี่แยกก่อนวิ่งข้ามแยกไปก่อน ทำให้รถอัตโนมัติเหล่านี้สลับกันขับผ่านสี่แยกไปตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ถ้ามีการแก้โปรแกรมควบคุมของรถยนต์บางคันให้ไม่ทำตามกฎนี้ แต่วิ่งผ่านแยกไปเลย ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ รถยนต์คันอื่นๆ ก็จะหยุดให้รถที่ฝ่าฝืนกฎนี้วิ่งผ่านไปก่อน เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ จากตัวอย่างนี้เราจะเห็นได้ว่า รถยนต์ที่ไม่ทำตามกฎจะได้เปรียบรถทั่วไปเวลาวิ่งผ่านสี่แยกอย่างมาก

ทั้งนี้ บางครั้งพฤติกรรมที่ฝ่าฝืนกฎของคอมพิวเตอร์ อาจเกิดจากการที่ระบบคอมพิวเตอร์บางระบบถูกผู้ไม่ประสงค์ดี เจาะระบบเข้าไปเปลี่ยนแปลงโปรแกรมควบคุมการทำงานก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น การโจมตีให้บางเว็บไซต์ไม่สามารถเข้าใช้งานได้หลายครั้ง เกิดจากผู้ไม่ประสงค์ดี แอบวางโปรแกรมโจมตีดังกล่าวในกล้องวิดีโอเพื่อความปลอดภัยที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตจำนวนมาก และใช้โปรแกรมควบคุมกล้องวิดีโอเหล่านี้ให้เรียกใช้งานเว็บไซต์พร้อมๆ กัน จนทำให้ระบบคอมพิวเตอร์และระบบเครือข่ายของเว็บไซต์เหล่านั้นไม่สามารถรองรับการภาระการทำงานจำนวนมหาศาลได้ การที่ผู้ไม่ประสงค์ดีสามารถแอบวางโปรแกรมดังกล่าวได้นั้น เกิดจากการที่กล้องวิดีโอเหล่านี้มักไม่ได้มีการปรับปรุงซอฟต์แวร์ให้ทันสมัย หรือมีการตั้งรหัสผ่านแบบง่ายๆ เหมือนๆ กัน เช่น ใช้รหัสผ่านเป็น 12345 เป็นต้น

จากตัวอย่างข้างต้น ในการพิจารณาระบบอัตโนมัติใดๆ ที่มีการทำงานร่วมกันของคอมพิวเตอร์หลายๆ เครื่อง เราจึงต้องสนใจกรณีที่เครื่องคอมพิวเตอร์ในระบบไม่ทำงานตามรูปแบบที่คาดหวังไว้ด้วย การปล่อยปละละเลยอาจก่อให้เกิดผลเสียและอันตรายใหญ่หลวงได้

การออกแบบระบบที่สามารถทำงานได้ถูกต้อง แม้ว่าในระบบจะมีคอมพิวเตอร์บางเครื่องที่ไม่ยอมทำงานตามรูปแบบหรือมีการประสงค์ร้าย เป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์สนใจมาตั้งแต่เริ่มมีแนวคิดที่จะให้คอมพิวเตอร์หลายเครื่องทำงานร่วมกันเมื่อสักสี่สิบกว่าปีมาแล้ว   

ปัญหาหลักที่มีการศึกษาด้านนี้ เรียกว่าปัญหาการหาข้อตกลง ลองพิจารณาสถานการณ์สมมติต่อไปนี้

มีกองทหารจากประเทศหนึ่ง แบ่งเป็นหน่วยย่อยๆ หลายหน่วย แต่ละหน่วยควบคุมและตัดสินใจโดยนายพลหนึ่งคน นายพลเหล่านี้สามารถสื่อสารกันได้ผ่านทางนกพิราบสื่อสาร ทำให้สามารถคุยกันได้เป็นคู่ๆ

ขณะนี้สถานการณ์คับขัน นายพลแต่ละคนได้ประเมินสถานการณ์มาแล้วว่าควรจะบุกหรือจะถอยทัพ แต่เพื่อความเป็นเอกภาพ หน่วยทหารจะต้องตกลงกันให้ได้ว่าจะบุกหรือจะถอย โดยที่ทุกหน่วยจะต้องได้ข้อสรุปตรงกัน ถ้านายพลทุกคนทำงานอย่างซื่อสัตย์ เราอาจให้ทุกคนส่งความเห็นของตนเองให้คนอื่นและให้ทำตามเสียงส่วนใหญ่ และถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ก็อาจจะสรุปว่าให้ถอย เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในบรรดานายพลที่ควบคุมหน่วย อาจมีบางคนที่เป็นไส้ศึก และนายพลกลุ่มนี้พยายามที่จะเปลี่ยนแปลงข้อสรุปให้เป็นไปในทางที่อีกฝ่ายต้องการ นายพลกลุ่มไส้ศึกนี้ไม่จำเป็นต้องมีพฤติกรรมตามแนวทางที่ตกลงกันไว้ เช่นอาจจะส่งข้อมูลไม่ตรงกันให้กับนายพลคนอื่นๆ หรืออาจทำนิ่งนอนใจ ไม่ยอมส่งข้อมูลการตัดสินใจให้นายพลคนอื่นก็ได้ นอกจากนี้กลุ่มนายพลไส้ศึกยังสามารถแอบทำงานร่วมกันได้ และเราไม่มีทางรู้ว่าใครเป็นไส้ศึกอีกด้วย

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น สมมติว่าเรามีกองทหาร 5 กองพล และเราใช้วิธีให้นายพลแต่ละคนลงคะแนนโหวตว่าจะบุกหรือถอย และส่งการตัดสินใจให้นายพลคนอื่นๆ ทางนกพิราบสื่อสาร สมมติว่าจากนายพล 5 คน นายพลสองคนเห็นว่าควรบุก อีกสองคนเห็นว่าควรถอย และหนึ่งในนายพลเป็นผู้ทรยศ ในการแจ้งผลการตัดสินใจ นายผลที่เป็นผู้ทรยศอาจจะแจ้งกับนายพลสองคนแรกที่เห็นว่าควรบุก ว่าตนเองก็เห็นว่าควรจะบุก ในขณะที่แจ้งกับนายผลอีกสองคนที่เหลือว่าควรถอย เมื่อรวมคะแนน จะมีกองทหารสองกองพลบุก ในขณะที่อีกสองกองพลถอย (ส่วนกองพลของนายพลผู้ทรยศอาจเลือกทำอะไรก็ได้)

เมื่อมีกลุ่มไส้ศึกหรือผู้ประสงค์ร้าย เป้าหมายของปัญหาการหาข้อตกลงก็คือต้องการให้กลุ่มนายพลที่ซื่อสัตย์ได้ข้อสรุปตรงกัน และถ้านายพลที่ซื่อสัตย์ทุกคนเห็นตรงกันว่าควรบุก ข้อตกลงที่ได้ต้องสรุปว่าควรบุก ในทางกลับกันถ้านายพลที่ซื่อสัตย์ทุกคนเห็นตรงกันว่าควรถอย ข้อตกลงต้องสรุปว่าควรถอย

ปัญหาที่ดูเหมือนไม่ค่อยมีอะไรนี้กลับเป็นปัญหาที่ยากมากๆ ถ้าเราต้องการที่จะรองรับสถานการณ์ใดๆ ก็ได้ อย่างไรก็ตามภายใต้สภาพการทำงานปกติ เรามีกระบวนการในการหาข้อตกลงที่รับประกันความถูกต้องข้างต้นเมื่อจำนวนนายพลผู้ประสงค์ร้ายมีน้อยกว่า 1 ใน 3 ของนายพลทั้งหมด

ในทำนองเดียวกัน เราสามารถพิจารณาการทำงานร่วมกันของคอมพิวเตอร์ในการสร้างสกุลเงิน Libra ภายใต้กรอบของปัญหาการหาข้อตกลงข้างต้น

 

การหาข้อตกลงและสกุลเงิน Libra

 

เราสามารถมองว่าระบบคอมพิวเตอร์ขององค์กรต่างๆ ใน Libra Association เป็นนายพล ระบบคอมพิวเตอร์ที่ทำงานถูกต้องตามที่ตกลงไว้จะเป็นนายพลที่ซื่อสัตย์ ขณะที่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ไม่ทำตามวิธีการ เช่น อาจมีการแอบปรับแก้หรือถูกเจาะระบบ จะถูกจัดว่าเป็นนายพลที่ทรยศ

เมื่อมีความต้องการในการทำธุรกรรมเกิดขึ้น ระบบคอมพิวเตอร์เหล่านี้จะต้องทำงานร่วมกันในการตรวจสอบและบันทึกการเปลี่ยนแปลงของเงินในบัญชีที่เป็นผลลัพธ์ของการทำธุรกรรม เนื่องจากระบบคอมพิวเตอร์ที่ทำงานถูกต้องจะตรวจสอบและบันทึกข้อมูลตามที่เป็นจริง เราต้องการให้ระบบคอมพิวเตอร์กลุ่มนี้ตกลงกันได้เพื่อให้ธุรกรรมเหล่านี้ดำเนินการได้

เนื่องจากองค์กรที่จะเข้าร่วม Libra Association และมีส่วนในการดำเนินการและตรวจสอบข้อมูลธุรกรรม จะต้องผ่านเงื่อนไขและมีการคัดเลือก รวมทั้งต้องวางเงินประกันจำนวนมาก จึงน่าจะเชื่อมั่นได้ว่าน่าจะมีการจัดการระบบคอมพิวเตอร์ที่ปลอดภัย และไม่มีแรงจูงใจที่มากพอในการพยายามบิดเบือนหรือแก้ข้อมูลธุรกรรม  

ระบบคอมพิวเตอร์แบบไร้ศูนย์กลางที่ทำงานร่วมกันภายใต้เงื่อนไขนี้ อาจเรียกรวมๆ ว่าเป็นระบบที่ประกอบไปด้วยคอมพิวเตอร์ที่สามารถเชื่อถือได้ระดับหนึ่ง (partially trust)

ภายใต้ระดับความเชื่อใจลักษณะนี้ เราน่าจะมั่นใจได้ว่าต่อให้โดนโจมตีหรือเกิดข้อผิดพลาด ระบบคอมพิวเตอร์มากกว่า 2 ใน 3 ขององค์กรทั้งหมดจะทำงานได้อย่างถูกต้องตามที่ได้ตกลงกันไว้ ดังนั้นในการดูแลจัดการบัญชี ก็สามารถใช้กระบวนการสื่อสารระหว่างระบบคอมพิวเตอร์ที่รับประกันความถูกต้องด้านบนได้

 

บิตคอยน์ และระบบที่ไม่สามารถเชื่อใจได้เลย

 

สกุลเงิน Libra ที่ Facebook เสนอขึ้นเป็นรูปแบบหนึ่งของสกุลเงินดิจิทัล ผู้อ่านหลายท่านอาจเคยได้ยินสกุลเงินดิจิทัลแบบอื่นๆ มาบ้าง สกุลเงินดิจิทัลแรกที่มีการใช้งานอย่างกว้างขวางคือ บิตคอยน์ (Bitcoin) หลักการทำงานในการเก็บข้อมูลธุรกรรมและข้อมูลบัญชีของบิตคอยน์นั้น ไม่ต่างจากจากที่เราได้ยกตัวอย่างไว้ในตอนต้น แต่สถานการณ์ในการดำเนินการของบิตคอยน์นั้นแตกต่างจาก Libra เป็นอย่างมากในประเด็นด้านความเชื่อใจ

บิตคอยน์ทำงานโดยระบบคอมพิวเตอร์ที่ใครก็ได้สามารถเข้าร่วมโดยไม่ต้องรอการอนุมัติจากใคร ระบบลักษณะนี้เราไม่สามารถจะเชื่อใจคอมพิวเตอร์เครื่องใดได้เลย ภายใต้โลกที่ไร้กฎเกณฑ์และความเชื่อใจเช่นนี้ เพื่อสร้างระบบที่สุดท้ายผู้ใช้ต่างๆ เชื่อใจได้จึงไม่ใช่เรื่องง่าย ระบบอย่างบิตคอยน์จึงต้องมีกระบวนการการหาข้อตกลงที่ยุ่งยาก และใช้พลังงานในการประมวลผลมากกว่าของ Libra

ในระบบบิตคอยน์ ข้อมูลบัญชีประกอบไปด้วยรายการของการทำธุรกรรมทั้งหมด ข้อมูลบัญชีนั้นเปิดเผยเป็นสาธารณะ และเนื่องจากเป็นระบบแบบไร้ศูนย์กลาง ข้อมูลดังกล่าวอาจมีหลายชุดและไม่จำเป็นต้องตรงกัน  

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลแต่ละชุดจะมีรายละเอียดการตรวจสอบภายใน ก่อนจะเพิ่มรายการธุรกรรมกลุ่มใดๆ เข้าไปยังข้อมูลบัญชีได้ จะต้องมีการ ‘ทำงาน’ ที่ต้องใช้การประมวลผลข้อมูลจำนวนมหาศาล คอมพิวเตอร์ในระบบจะเชื่อถือข้อมูลบัญชีที่มีการบันทึกข้อมูลไปมากที่สุด เพราะว่านั่นหมายความว่ามีอดีตของการทำการประมวลผลข้อมูลมหาศาลเป็นเครื่องยืนยันความน่าเชื่อถือ เงื่อนไขในการเพิ่มข้อมูลลักษณะนี้ สร้างความยากลำบากจนแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ที่คนทั่วไปหรือคนกลุ่มน้อยจะสามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลธุรกรรมที่ถูกบันทึกไปแล้ว

เนื่องจากเป็นระบบที่สร้างบนความไม่เชื่อใจใดๆ เลย ความเชื่อใจในความถูกต้องของข้อมูลธุรกรรมของระบบบิตคอยน์นี้ จึงต้องแลกด้วยความไร้ประสิทธิภาพต่างๆ มากมาย เช่น อัตราการทำธุรกรรมที่ต่ำ รวมถึงการใช้พลังงานไฟฟ้าจำนวนมหาศาล (ที่ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อปัญหาวิกฤตสภาวะอากาศของโลก)

ด้วยแรงขับเคลื่อนต่างๆ โลกกำลังเคลื่อนตัวออกจากระบบรวมศูนย์ แต่ภายใต้รูปแบบการจัดการที่เหมือนจะมีอิสระมากขึ้นนั้น ก็มีปัญหาอื่นๆ รอคอยอยู่ โลกการเงินและธนาคารกำลังพบกับคลื่นการเปลี่ยนแปลงนี้ สำหรับภาคส่วนอื่นๆ ของสังคมก็คงหลีกไม่พ้นกระแสนี้ แต่จะมาในรูปแบบใดคงต้องคอยติดตามกัน (หรือจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของคลื่นความเปลี่ยนแปลงนี้ด้วยก็ยิ่งน่าตื่นเต้น)

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save