fbpx
ประเมินนโยบายต่างประเทศของทรัมป์ ผ่านแว่นตา 'สภาพจริงนิยม'

ประเมินนโยบายต่างประเทศของทรัมป์ ผ่านแว่นตา ‘สภาพจริงนิยม’

จิตติภัทร พูนขำ เรื่อง

 

เมื่อวันอังคารที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้กล่าวสุนทรพจน์ต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติ สมัยที่ 73 โดยเขาเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศปฏิเสธอุดมการณ์ของโลกานิยม (globalism) และสนับสนุนหลักนิยมความรักชาติ (หรือลัทธิคลั่งชาติ?) (patriotism) ซึ่งคำนึงถึงผลประโยชน์แห่งชาติเป็นสำคัญ เขากล่าวว่า “ทั่วโลก ชาติที่มีความรับผิดชอบจำเป็นต้องปกป้องตนเองจากภัยคุกคามที่มีต่ออำนาจอธิปไตย ทั้งจากระบบโลกาภิบาล (global governance) และจากรูปแบบของการกดขี่และการครอบงำใหม่อื่นๆ”

ทรัมป์ยังกล่าวโจมตีหลักการและสถาบันพหุภาคีนิยม (multilateralism) ซึ่งเขามองว่าเป็นภัยคุกคามหลักต่ออำนาจอธิปไตยของสหรัฐฯ เขาเสนอว่า “สหรัฐฯ นั้นปกครองโดยคนอเมริกัน”

ทว่าขณะที่ทรัมป์กล่าวถึงความสำเร็จของรัฐบาล กลับเรียกเสียงหัวเราะตลกขบขันจากผู้เข้าร่วมประชุมเช่นกัน เมื่อเขาพูดว่า “ในช่วงไม่ถึงสองปี รัฐบาลของข้าพเจ้าประสบความสำเร็จมากกว่าเกือบทุกรัฐบาลในประวัติศาสตร์ของประเทศของเรา” สุนทรพจน์ที่องค์การสหประชาชาติดังกล่าว คงสรุปใจความสำคัญของสิ่งที่เราอาจเรียกว่า ‘หลักนิยมทรัมป์’ (Trump Doctrine) ได้มากทีเดียว

โดยทั่วไปแล้ว นโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งมักเรียกว่า ‘หลักนิยม’ (doctrine) ของประธานาธิบดีแต่ละคน จะได้รับการประเมินโดยผู้สังเกตการณ์ด้านการต่างประเทศ และนักวิชาการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสำนักต่างๆ อยู่เสมอว่า ‘สอบตก’ หรือ ‘สอบผ่าน’ ซึ่งโดยมากแล้ว เรามักไม่ค่อยเห็นฉันทามติในหมู่นักวิชาการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่อหลักนิยมของประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใดก็ตาม แต่เมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ ก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีหลังชัยชนะการเลือกตั้งในปลายปี 2016 สิ่งที่เราเห็นคือ ความเห็นพ้องต้องกันข้ามสำนักคิดทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างน่าประหลาดใจ

บทความนี้ลองพาเราไปสนทนากับนักทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่ทวนกระแสกับฉันทามติของการวิจารณ์ทรัมป์ โดยขอยกตัวอย่างงานวิชาการของ Randall Schweller นักทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแนวสภาพจริงนิยม (Realism) และศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัย Ohio State ซึ่งมีข้อเสนอที่ท้าทายว่า นโยบายต่างประเทศของทรัมป์นั้นมาถูกทางและถูกต้อง

เป้าหมายของบทความนี้ไม่ได้ต้องการจะให้ท่านผู้อ่านเห็นด้วยกับการวิเคราะห์นโยบายต่างประเทศทรัมป์ผ่านทฤษฎีสภาพจริงนิยม แต่อยากจะชวนให้ท่านผู้อ่านลองพิจารณาถึงข้อเสนอของสภาพจริงนิยม และ (ถ้าจะให้ดี) ก็ลองตั้งคำถามหรือสร้างบทสนทนาโต้แย้งกับข้อเสนอดังกล่าว

 

นโยบายต่างประเทศของทรัมป์ : ฉันทามติของการวิจารณ์

 

นักวิชาการส่วนใหญ่ โดยเฉพาะผู้มีอิทธิพลด้านนโยบายต่างประเทศหรือความมั่นคง (security / foreign policy establishment) หรือ ‘Blob’ (ตามคำเรียกของ Ben Rhodes รองที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติ ในสมัยบารัก โอบามา) ค่อนข้างลงมติเห็นพ้องกันว่า นโยบายต่างประเทศของทรัมป์นั้น ไม่เป็นผลดีต่อผลประโยชน์แห่งชาติสหรัฐฯ ทำลายระบบพันธมิตร รวมทั้งกระทบระเบียบโลกแบบเสรีนิยมอย่างรุนแรง

ตั้งแต่ขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทรัมป์ดำเนินชุดนโยบายที่ดำเนินการฝ่ายเดียวหรือเอกภาคีนิยม (unilateralism) ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการยุติความร่วมมือหุ้นส่วนข้ามแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership: TPP) การถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีส ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การยกเลิกข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่าน การถอนตัวออกจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) การปฏิเสธที่จะเข้าร่วมในข้อตกลงโลกว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัย เป็นระเบียบ และปกติ (Global Compact on Migration) หรือการขู่ที่จะคว่ำบาตรศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ถ้าหากว่าศาลจะดำเนินคดีอาชญากรรมกับคนอเมริกัน

ยิ่งไปกว่านั้น เขายังก่อ ‘สงครามการค้า’ หรือการตั้งกำแพงภาษีการค้ากับทั้งคู่แข่งระหว่างประเทศอย่างจีน และพันธมิตร ได้แก่ แคนาดา เม็กซิโก และสหภาพยุโรป นักวิชาการบางคนเรียกนโยบายต่างประเทศด้านเศรษฐกิจของทรัมป์ว่าเป็น ‘พาณิชย์นิยมใหม่’ (neomercantilism) หรือ ‘ชาตินิยมทางเศรษฐกิจ’ (economic nationalism)

นโยบายต่างประเทศของทรัมป์ยังสั่นคลอนระบบพันธมิตรดั้งเดิม โดยเขาวิพากษ์วิจารณ์พันธมิตรของสหรัฐฯ ยกตัวอย่างเช่น ในการประชุม G7 เมื่อเดือนมิถุนายน 2018 ณ ประเทศแคนาดา ทรัมป์ได้วิจารณ์ Justin Trudeau นายกรัฐมนตรีแคนาดา และไม่ร่วมลงนามในแถลงการณ์ร่วมกันของกลุ่มสมาชิก ต่อมาในการประชุม NATO ในเดือนกรกฎาคม ณ กรุงบรัสเซลล์ เบลเยียม ทรัมป์ก็วิพากษ์วิจารณ์พันธมิตรข้ามแอตแลนติก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยอรมนี ที่ผลักภาระทางการทหารให้แก่สหรัฐฯ และมีสัดส่วนงบประมาณกลาโหมที่มีน้อยเกินไป จนกระทบต่อความเชื่อมั่นและความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ในระบบพันธมิตรดั้งเดิม

แต่ขณะเดียวกัรทรัมป์ก็หันไปสานสัมพันธ์กับรัสเซีย ซึ่งถูกโลกตะวันตกคว่ำบาตร ดังปรากฎให้เห็นในการประชุมสุดยอดผู้นำระหว่างทรัมป์กับปูติน ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย

ในช่วงเกือบสองปีที่ผ่านมา ชุดนโยบายต่างประเทศแบบเอกภาคีนิยมของทรัมป์นั้น ส่งผลกระทบเชิงลบต่อสถานะและผลประโยชน์ของสหรัฐฯในเวทีโลกอย่างมีนัยสำคัญ

นอกจากนั้น นักวิชาการส่วนมากก็กังวลหรือตระหนกถึงชะตากรรมของระเบียบโลกที่อิงกับกติกาและคุณค่าแบบเสรีนิยม ซึ่งในมุมมองของ G. John Ikenberry นักทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแนวเสรีนิยมคนสำคัญแห่งมหาวิทยาลัย Princeton มองว่า “การเมืองโลกถูกกำหนดกำกับโดยระเบียบแบบเสรีนิยมของโลกตะวันตกมากว่าเจ็ดทศวรรษแล้ว” แต่ปัจจุบันกำลังเผชิญกับความท้าทายจากหลักนิยมทรัมป์[1]

ล่าสุด ในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติสมัยที่ 73 António Guterres เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ยังได้กล่าวภายหลังสุนทรพจน์อันอื้อฉาวของทรัมป์ว่า “หลักการประชาธิปไตยกำลังตกอยู่ในอันตราย”

ฉันทามติของการวิจารณ์ทรัมป์นั้น ตั้งอยู่บนชุดความคิดอย่างน้อยสามประการสำคัญ คือ

ประการแรก ระเบียบโลกที่อิงอยู่กับกติกาแบบเสรีนิยม เป็นสาเหตุหลักสำคัญที่ก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘สันติภาพช่วงยาว’ (long peace) ระหว่างรัฐมหาอำนาจตลอดช่วงเจ็ดทศวรรษที่ผ่านมา

ประการที่สอง การธำรงรักษาระเบียบโลกดังกล่าว เป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญของนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ ในการเข้าไปพัวพันในการเมืองระหว่างประเทศมาโดยตลอด ซึ่งเราอาจเรียกว่าเป็นยุทธศาสตร์ของ ‘มหาอำนาจนำแบบเสรีนิยม’ (liberal hegemony) ยุทธศาสตร์นี้วางอยู่บนบทบาทการนำของสหรัฐฯ ที่เป็น ‘พลังแห่งความดีงาม’ (force for good) และมุ่งส่งเสริมและขยายคุณค่าเสรีนิยม ไม่ว่าจะเป็นตลาดเสรี ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และการสร้างสถาบันระหว่างประเทศที่เข้มแข็ง

ประการที่สาม ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และนโยบายต่างประเทศของเขา นับเป็น ‘ภัยคุกคาม’ หลักต่อระเบียบโลกแบบเสรีนิยม และแม้กระทั่งสันติภาพโลก

Joseph Nye นักวิชาการชั้นนำด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแห่งมหาวิทยาลัย Harvard และผู้สถาปนาแนวคิด ‘อำนาจละมุนละม่อม’ (soft power) กล่าวว่า “ความสำเร็จของระเบียบนี้ ในการสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพให้แก่โลกตลอดช่วงเจ็ดทศวรรษที่ผ่านมา อย่างประจักษ์แจ้งนั้น นำมาซึ่งฉันทามติเข้มแข็งที่ว่า การปกป้องการพัฒนาและการขยายระบบนี้ เคยเป็นและจะยังคงเป็นภารกิจหลักของนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ” เขาเสนอด้วยว่า “ข้าพเจ้าไม่ได้วิตกกังวลต่อการผงาดขึ้นมาของจีน ข้าพเจ้าวิตกกังวลมากกว่าต่อการขึ้นมาของทรัมป์”[2]

อาจกล่าวได้ว่า จากการประเมินของนักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และผู้สังเกตการณ์การต่างประเทศของสหรัฐฯ ไม่ว่าจะสำนักใดก็ตาม นโยบายต่างประเทศของทรัมป์ในช่วงเกือบสองปีที่ผ่านมานั้น ถือว่า ‘สอบตก’

 

นโยบายต่างประเทศของทรัมป์จากมุมมองสภาพจริงนิยม : โครงสร้างที่เปลี่ยนแปลงไป

 

ในห้วงยามที่นักวิชาการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ต่างวิพากษ์วิจารณ์นโยบายต่างประเทศของทรัมป์  Randall Schweller เป็นนักวิชาการคนแรกๆ ที่ออกตัวว่าสนับสนุนทรัมป์เป็นประธานาธิบดี

ในบทสัมภาษณ์ในนิตยสาร New Yorker เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2016 เขาเสนอว่า “ข้าพเจ้าคิดว่าเราอยู่ในห้วงเวลาทางประวัติศาสตร์ที่เขา [ทรัมป์] อาจจะเป็นคนที่ใช่สำหรับตำแหน่งนี้ แน่นอนว่าไม่สมบูรณ์แบบ แต่เราต้องการคนที่มีความแตกต่าง เพราะมันมีหินปูนเกาะกินอยู่ที่รัฐบาลกลางในกรุงวอชิงตัน โดยรวมแล้วอเมริกันชนมีความชาญฉลาด และถ้าพวกเขาเลือกทรัมป์ ข้าพเจ้าก็ไม่มีความวิตกกังวลแต่อย่างใด”

Randall Schweller เป็นใคร? เขาเป็นศาสตราจารย์และนักทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแนวสภาพจริงนิยม (Realism) แห่งมหาวิทยาลัย Ohio State  จากผลการสำรวจของ Institute for the Theory and Practice of International Relations ซึ่งเก็บข้อมูลจากสาขาวิชา IR ใน 10 ประเทศ  Schweller ถูกจัดอันดับว่าเป็นหนึ่งใน 25 นักวิชาการชั้นนำ ที่ผลิตผลงานวิชาการที่น่าสนใจในสาขาวิชา IR เขายังเป็นผู้อำนวยการโครงการศึกษานโยบายต่างประเทศแนวสภาพจริงนิยม ที่มหาวิทยาลัย Ohio State และบรรณาธิการของวารสารวิชาการ Security Studies อีกด้วย

Schweller[3] นำเสนอคำอธิบายจากสภาพจริงนิยมเชิงโครงสร้างหรือสภาพจริงนิยมใหม่ ซึ่งให้ความสำคัญกับระดับการวิเคราะห์ของระบบระหว่างประเทศ หรือใน IR เรียกว่า ‘ภาพแบบที่สาม’ (third image) เขาเสนอว่าการเมืองโลกกำลังเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างจากระบบขั้วอำนาจเดียวที่มีสหรัฐฯ เป็นผู้นำ ไปสู่ระบบหลายขั้วอำนาจที่เพิ่งเริ่มก่อตัวขึ้นมา

การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศดังกล่าวนั้น ก่อให้เกิดสภาวะการแข่งขันระหว่างประเทศที่เข้มข้นและรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งนำมาสู่การท้าทายยุทธศาสตร์หลักดั้งเดิมของสหรัฐฯ กล่าวคือ ยุทธศาสตร์มหาอำนาจนำแบบเสรีนิยมนั้น ล้าสมัยและมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่มากเกินไป

ด้วยเหตุนี้ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างระบบระหว่างประเทศ ส่งผลโน้มนำให้รัฐมหาอำนาจต่างๆ โดยเฉพาะสหรัฐฯ หันไปดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบสภาพจริงนิยม ที่มุ่งเน้นผลประโยชน์ของรัฐตนเองที่จำกัดแคบลงเพิ่มมากขึ้น ดังปรากฏให้เห็นในนโยบาย ‘America First’ ของทรัมป์

นอกจากนั้น แนวโน้มของนโยบายต่างประเทศแบบสภาพจริงนิยม ยังสอดคล้องกับพลวัตการเปลี่ยนแปลงในการเมืองภายในของสหรัฐฯ อีกด้วย แม้ว่ายุทธศาสตร์มหาอำนาจนำแบบเสรีนิยมจะยังคงครอบงำในหมู่ผู้กำหนดนโยบาย และผู้มีอิทธิพลทางด้านนโยบายต่างประเทศ แต่ในระดับภาคประชาชน กลับมีแนวโน้มที่จะเห็นด้วยกับแนวนโยบายแบบสภาพจริงนิยมเพิ่มมากขึ้นทุกทีๆ

Schweller ได้ยกตัวอย่างผลสำรวจของโพล Gallop ในเดือนกุมภาพันธ์ 2016 ที่พบว่าคนอเมริกันมีความเห็นที่ค่อนข้างกระจาย เมื่อถูกตั้งคำถามว่าสหรัฐฯ ยังคงเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกทางด้านการทหารหรือไม่ โดยร้อยละ 49 ตอบว่า “ใช่” และร้อยละ 49 ตอบว่า “ไม่ใช่”

ผลโพลยังระบุอีกด้วยว่า คนอเมริกันเกินครึ่ง มองว่า สหรัฐฯ เป็นเพียงหนึ่งในกลุ่มมหาอำนาจชั้นนำทางการทหาร ไม่ใช่มหาอำนาจชั้นนำทางการทหารหนึ่งเดียวของโลก หรือผลสำรวจของโพล Pew ในเดือนเมษายน 2016 ก็ค้นพบว่า ร้อยละ 57 ของประชาชนชาวอเมริกัน เห็นด้วยว่า สหรัฐฯ ควรที่จะ “จัดการกับปัญหาของตนเอง และให้รัฐอื่นๆ จัดการกับปัญหาของตนเท่าที่พวกเขาเหล่านั้นจะสามารถทำได้”

สำหรับ Schweller แล้ว ปริศนาใหญ่ที่น่าฉงนจึงไม่ใช่ว่า ทำไมคนอเมริกันจึงตัดสินใจเลือกประธานาธิบดีที่มีนโยบายแบบสภาพจริงนิยมและมุ่งเน้นผลประโยชน์ของสหรัฐฯ เป็นหลัก แต่เป็นคำถามที่ว่า ทำไมจึงใช้เวลานานเหลือเกินกว่าที่คนอเมริกันจะเลือกผู้นำที่มีแนวนโยบายต่างประเทศแบบสภาพจริงนิยม[4]

ผลสำรวจดังกล่าวยังสอดคล้องกับข้อสรุปของ Daniel Drezner ที่เน้นย้ำว่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา “ผลสำรวจต่างๆ เกี่ยวกับโลกทัศน์และการจัดลำดับความจำเป็นเร่งด่วนด้านนโยบายต่างประเทศ การใช้กำลังทางการทหาร และนโยบายต่างประเทศทางด้านเศรษฐกิจ ต่างเผยให้เห็นถึงแนวโน้มที่เข้มแข็งของสภาพจริงนิยมในหมู่ประชาชนสาธารณะชาวอเมริกัน เสียงข้างมากส่วนใหญ่ของอเมริกันชนต่างมีโลกทัศน์ทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบฮอบส์”[5] นั่นเอง

อาจกล่าวได้ว่า ในระบบการเมืองระหว่างประเทศที่มีการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น และกำลังเข้าสู่ระบบหลายขั้วอำนาจนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ของอเมริกามองว่า สหรัฐฯ ควรที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องพัวพันกับกิจการต่างๆ ในโลกให้น้อยลง และดำเนินตามหลักการของสภาพจริงนิยม ที่คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนตัวที่จำกัด และนโยบายต่างประเทศที่มีความยับยั้งชั่งใจ (restraints) และการถอนตัวออกมาจากเวทีโลก (retrenchment) ซึ่งนักวิชาการบางคนเรียกยุทธศาสตร์ดังกล่าวว่า ‘การถ่วงดุลอำนาจนอกชายฝั่ง’ (offshore balancing)[6]

นักสภาพจริงนิยมคนสำคัญอย่างเช่น John Mearsheimer และ Stephen Walt นิยามยุทธศาสตร์การถ่วงดุลนอกชายฝั่งเอาไว้ว่า “แทนที่จะทำตัวเป็นตำรวจโลก” สหรัฐฯ ควรที่จะ “ส่งเสริมสนับสนุนให้รัฐอื่นๆ มีบทบาทนำในการตรวจสอบถ่วงดุลมหาอำนาจใหม่ที่กำลังทะยานขึ้นมา” ไม่ว่าจะในยุโรป เอเชีย และตะวันออกกลาง โดยสหรัฐฯ จะเข้าไป “แทรกแซงทางการทหารก็ต่อเมื่อจำเป็นเท่านั้น”[7]

 

นโยบายต่างประเทศของทรัมป์ ในฐานะนโยบายต่างประเทศแบบสภาพจริงนิยม

 

ในมุมมองของ Schweller, นโยบายต่างประเทศของทรัมป์จึงเป็นภาพสะท้อนของการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างระบบระหว่างประเทศ ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบหลายขั้วอำนาจในปัจจุบัน และสอดคล้องกับโลกทัศน์แบบสภาพจริงนิยม ที่มุ่งเน้นผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐฯ เป็นสำคัญ

ด้วยเหตุนี้ หากประเมินผลงานของนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ภายใต้ทรัมป์จากทฤษฎีสภาพจริงนิยม Schweller มองว่า ‘สอบผ่าน’ โดยเขายกตัวอย่างข้อเท็จจริงพื้นฐานของนโยบายต่างประเทศทรัมป์ที่ประสบความสำเร็จ ได้แก่

  • ISIS พ่ายแพ้ในซีเรีย และถูกขจัดออกไปจากบริเวณหลบซ่อนในอิรัก ส่วนหนึ่งมาจากการตัดสินใจของรัฐบาลทรัมป์ที่จะติดอาวุธให้แก่กองกำลังชาวเคิร์ด เพื่อต่อสู้กับ ISIS ในซีเรีย และให้อำนาจการตัดสินใจแก่ผู้บัญชาการทหารภาคพื้นดินในการปฏิบัติการโดยตรง
  • ทรัมป์ยังคงดำเนินยุทธศาสตร์ของโอบามา ที่หลีกเลี่ยงสงครามตามแบบที่มีขนาดใหญ่ในตะวันออกกลาง และยังประสบความสำเร็จ ในขณะที่รัฐบาลโอบามาล้มเหลวในการกำหนด ‘redline’ กับระบอบ Bashar al Assad และเมื่อระบอบ al Assad ใช้สารเคมีกับประชาชนของตน ทรัมป์ได้ตอบโต้ด้วยการโจมตีทางอากาศในเดือนเมษายน 2018 อย่างทันที
  • ในกรณีเกาหลีเหนือ ยุทธศาสตร์ ‘การกดดันขั้นสูงสุด’ กดดันให้คิม จองอึน ยอมเจรจากับสหรัฐฯ ในการประชุมสุดยอดผู้นำสหรัฐฯ-เกาหลีเหนือ ที่สิงคโปร์ในเดือนมิถุนายน 2018 เป็นต้น

 

กระนั้นก็ดี Schweller ก็ยอมรับว่า ไม่ใช่ทุกนโยบายของทรัมป์จะเป็นไปตามนโยบายต่างประเทศแบบสภาพจริงนิยม และยังเผชิญกับความตึงเครียดกับผู้ที่สนับสนุนยุทธศาสตร์มหาอำนาจนำแบบเสรีนิยม ยกตัวอย่างเช่น นโยบายการถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน ซึ่งทรัมป์กล่าวว่าสงครามในอัฟกานิสถานนั้นเป็น ‘ความสูญเปล่าโดยสิ้นเชิง’

Schweller มองว่าทรัมป์ควรเชื่อแนวคิดของตัวเองเรื่องการถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน แทนที่จะถูกชักจูงโน้มน้าวโดยทีมที่ปรึกษา ว่าการถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานอย่างรวดเร็วนั้นจะนำมาสู่สุญญากาศ ที่อาจทำให้กลุ่ม ISIS และ Al Qaeda เข้ามามีอิทธิพลได้

โดยรวมแล้ว นโยบายต่างประเทศของทรัมป์มีแนวโน้มทิศทางของนโยบายแบบสภาพจริงนิยม โดย Schweller เสนอว่าสาระสำคัญของนโยบายต่างประเทศของทรัมป์นั้น วางอยู่บนคุณสมบัติสำคัญสามประการ ดังต่อไปนี้

คุณสมบัติประการแรก คือลัทธิพาณิชย์นิยมใหม่ (neomercantilism) หรือชาตินิยมทางเศรษฐกิจ (economic nationalism) ซึ่ง Schweller มองว่าเป็นชุดนโยบายทางเศรษฐกิจการเมืองของสภาพจริงนิยม กล่าวคือ ทรัมป์นั้นเป็นนักชาตินิยมทางเศรษฐกิจ โดยเขาเชื่อว่า

  • ปัจจัยทางการเมือง เป็นตัวกำหนดความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ
  • โลกาภิวัตน์ไม่ได้ก่อให้เกิดความร่วมมือสอดประสานระหว่างรัฐ หากแต่สร้างบริบทของความขัดแย้งระหว่างประเทศ
  • การพึ่งพาซึ่งกันและกันทางเศรษฐกิจเพิ่มความเปราะบางของชาติ และนำไปสู่กลไกซึ่งรัฐหนึ่งสามารถที่จะครอบงำอีกรัฐหนึ่งได้
  • รัฐควรที่จะเข้าแทรกแซง เมื่อกลุ่มหรือตัวแสดงภายในประเทศมีผลประโยชน์ที่ไม่สอดคล้องต้องกันกับผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐฯ

ลัทธิชาตินิยมทางเศรษฐกิจของทรัมป์ มีเป้าประสงค์เพื่อลดความไม่สมดุลทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ จีน ยุโรป และเอเชียตะวันออก ในขณะเดียวกันก็ปกป้องภาคอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ

ในปี 2017 การขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 12 หรือ 566 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นช่องว่างที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2008  ในระยะยาวแล้ว การขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่องนั้น จะนำมาสู่การลดอุปสงค์โดยรวมของสินค้าและบริการภายในประเทศ ทั้งยังส่งผลต่อการลดลงของอัตราการเติบโตและการจ้างงานภายในสหรัฐฯ  นโยบายของทรัมป์คือการไม่ยอมให้รัฐใดมาเอาเปรียบสหรัฐฯ ทางเศรษฐกิจอีกต่อไป ด้วยการตอบโต้ทางด้านการค้าและกำแพงภาษีต่างๆ

Schweller เสนอให้มองการใช้ ‘สงครามการค้า’ เช่น การคว่ำบาตร กำแพงภาษี และมาตรการปกป้องทางการค้าต่างๆ ในฐานะที่เป็น ‘เครื่องมือในการเจรจาต่อรอง’ เพื่อมุ่งเปิดตลาดการค้าของรัฐอื่น ทั้งยังเป็นความพยายามที่จะใช้ ‘การทูตการค้า’ เพื่อที่จะสร้างความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์มากขึ้นแก่สหรัฐฯ

เหนือสิ่งอื่นใด สหรัฐฯ ยังคงเป็นตลาดสำหรับสินค้าส่งออกขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ซึ่งย่อมทำให้สหรัฐฯ มีอำนาจในการต่อรองมหาศาลในกระบวนการเจรจาการค้าต่างๆ แต่ยุทธศาสตร์แบบเดิมที่เป็นมหาอำนาจนำแบบเสรีนิยมนั้น ล้มเหลวที่จะอาศัยเครื่องมือในการต่อรองนี้

การอาศัยการทูตการค้าของทรัมป์นั้นปรากฏให้เห็นใน ‘สงครามการค้า’ ที่ทรัมป์ดำเนินกับทั้งคู่แข่งทางเศรษฐกิจ อย่างเช่นจีน และพันธมิตรของสหรัฐฯ อีกด้วย

ในกรณีของจีน รัฐบาลทรัมป์อาศัยการทูตการค้าเพื่อที่จะกดดันจีนให้ยุติมาตรการปกป้องสินค้า เช่น การให้เงินอุดหนุนและความช่วยเหลือแก่บริษัทของจีน และพยายามลดความไม่สมดุลทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ซึ่งในปัจจุบัน สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับจีนถึง 375 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

ในสุนทรพจน์ที่องค์การสหประชาชาติ ทรัมป์กล่าวว่า “ความไม่สมดุลทางการค้ากับจีนเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้” และ “เราไม่สามารถอดทนอดกลั้นต่อการบิดเบือนตลาดของจีน รวมทั้งวิธีการที่จีนกระทำได้”

ทรัมป์ได้ออกมาตรการกำแพงภาษีเพื่อตอบโต้จีน เช่น การขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียม โดยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคงแห่งชาติ หรือการตั้งภาษีนำเข้าร้อยละ 25 กับสินค้าจีนจำนวนหลายรายการ เป็นต้น  แม้กระทั่งรัฐพันธมิตร สหรัฐฯ ก็ยังดำเนินมาตรการสงครามการค้าด้วยเช่นกัน เช่น การกำหนดมาตรการกำแพงภาษีนำเข้าเหล็กร้อยละ 25 และภาษีนำเข้าอะลูมิเนียมร้อยละ 10 ที่มาจากแคนาดา เม็กซิโก และสหภาพยุโรป เป็นต้น

แม้ว่า ‘สงครามการค้า’ จะก่อให้เกิดความโกลาหลระหว่างประเทศ แต่ในมุมมองของ Schweller นโยบายชาตินิยมทางเศรษฐกิจของทรัมป์นั้น เป็นนโยบายสภาพจริงนิยม 101 ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการรักษาผลประโยชน์แห่งชาติ

นักวิชาการทางด้านรัฐศาสตร์อย่าง Jonathan Kirshner ก็เห็นด้วยว่า ในการเมืองโลกที่เป็นอนาธิปไตยหรือไม่มีอำนาจกลางนั้น “รัฐต่างๆ มุ่งแสวงหาเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตนเอง เพื่อที่จะค้ำประกันความสามารถที่จะสร้างเครื่องมือที่จะตอบโต้ และเพื่อที่จะลดความเปราะบาง ซึ่งอาจจะเกิดจากการชะงักงันของการไหลเวียนของเศรษฐกิจระหว่างประเทศ”

คุณสมบัติประการที่สอง คือ การไม่ส่งเสริมหลักการพหุภาคีนิยม (multilateralism) ในเวทีโลก

ในทางกลับกัน สหรัฐฯ ควรร่วมมือกับหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ในระดับทวิภาคีเมื่อใดที่เป็นไปได้ แทนที่จะดำเนินตามข้อตกลงหรือพันธกรณีในระดับพหุภาคี ที่มากำกับหรือลิดรอนผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐฯ

ในมุมมองของทรัมป์ ลัทธิพหุภาคีนิยมนั้น “ลดทอนความสามารถในการควบคุมกิจการของสหรัฐฯเอง”

Schweller มองว่า เอาเข้าจริงแล้ว ผู้ที่ส่งเสริมยุทธศาสตร์มหาอำนาจนำแบบเสรีนิยม ก็ควรเห็นด้วยกับข้อสรุปนี้ของทรัมป์ เพราะนี่คือเป้าหมายของระเบียบโลกที่อิงกับกติกาแบบเสรีนิยมนั่นเอง กล่าวคือ การยับยั้งชั่งใจเชิงสถาบันและพันธกรณีแบบพหุภาคีนั้น จะช่วยกำกับและจำกัดอำนาจและอิทธิพลของรัฐมหาอำนาจในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ในมุมมองของสภาพจริงนิยม ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา สถาบัน กติกา และปทัสถานระหว่างประเทศ วางอยู่บนอำนาจของสหรัฐฯ ต่างหาก และยังให้ความสำคัญกับรัฐขนาดใหญ่ที่เข้มแข็ง มากกว่ารัฐขนาดกลางหรือรัฐขนาดเล็กที่อ่อนแอกว่า ดังเช่นการออกแบบสถาบันที่ให้สิทธิพิเศษแก่รัฐมหาอำนาจ อย่างเช่น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC)  Graham Allison จึงมองว่าระเบียบโลกที่อิงกติกาแบบเสรีนิยมซึ่งยืนยาวมากว่า 7 ทศวรรษนั้นเป็นแค่เพียง ‘มายาคติ’ เท่านั้น[8]

และถ้าหากพิจารณาชุดนโยบายของสหรัฐฯ ตั้งแต่หลังสงครามเย็นสิ้นสุดลงเป็นต้นมา เราจะเห็นว่าทุกรัฐบาลต่าง “ดำเนินนโยบายแบบพหุภาคีเมื่อเป็นไปได้ และดำเนินนโยบายฝ่ายเดียวเมื่อจำเป็น” สหรัฐฯ ดำเนินการฝ่ายเดียวในหลายกรณี ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามหลักการของระเบียบโลกแบบเสรีนิยม

นโยบายฝ่ายเดียวของสหรัฐฯ ได้แก่ การรุกรานอิรักโดยไม่ผ่านมติของสหประชาชาติ การถอนตัวออกจากข้อตกลงจรวดต่อต้านขีปนาวุธ (ABM Treaty) และการปฏิเสธที่จะรับรองพิธีสารเกียวโตว่าด้วยภูมิอากาศของโลก (Kyoto Protocol) รวมทั้งการไม่เป็นภาคีสมาชิกหรือยอมรับอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court: ICC) เป็นต้น

การไม่รับหลักการพหุภาคีนิยมของทรัมป์ จึงไม่ใช่ความแตกต่างจากรัฐบาลสหรัฐฯ ก่อนหน้านี้ แต่เป็น ‘ความต่อเนื่องของนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ’ แม้ว่าอาจจะมีระดับที่เข้มข้นมากขึ้นก็ตาม

คุณสมบัติประการที่สาม คือ การปฏิเสธพวกตีตั๋วฟรี หรือกาฝาก (free-riders) ที่ไม่ทำอะไรแต่ได้ประโยชน์ฟรีๆ กล่าวคือ ทรัมป์มองว่า พันธมิตรของสหรัฐฯ ควรจะต้องร่วมแชร์ค่าใช้จ่ายทางด้านกลาโหมอย่างเท่าเทียมกัน หรือพอๆ กัน โดยไม่เอารัดเอาเปรียบสหรัฐฯ หรือปล่อยให้สหรัฐฯ รับผิดชอบภาระการค้ำประกันความมั่นคงของยุโรปแต่ฝ่ายเดียว

นอกจากนี้ ทรัมป์ยังกล่าวว่า เขามีปัญหาใหญ่สองประการกับ NATO นั่นคือ

ปัญหาประการที่หนึ่ง NATO นั้นล้าสมัยไปแล้ว เนื่องจากในปัจจุบัน สหรัฐฯ มีภัยคุกคามที่แตกต่างออกไปจากในช่วงยุคสงครามเย็น สหรัฐฯ จึงไม่ควรสนับสนุนการขยายรับสมาชิกภาพของ NATO ไปยังยุโรปตะวันออกและยูเรเชีย ซึ่งจะสร้างความตึงเครียดกับรัสเซียโดยไม่จำเป็น รวมทั้งสหรัฐฯ ควรที่จะปล่อยให้รัสเซียมีบทบาทนำในการจัดการกับปัญหาซีเรีย

ท่าทีของทรัมป์นั้นสอดคล้องกับแนวคิดทฤษฎีของสภาพจริงนิยมที่มองว่า NATO นั้นไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของโครงสร้างระบบระหว่างประเทศที่เป็นหลายขั้วอำนาจ ภายใต้ระบบนี้ ระบบพันธมิตรไม่ควรที่จะตายตัวหรือเปลี่ยนแปลงไม่ได้ มิตรแท้ในวันนี้อาจกลายเป็นศัตรูในวันหน้าก็ได้ ดังที่ Henry Kissinger อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ ผู้ซึ่งเป็นนักสภาพจริงนิยมคนสำคัญ กล่าวว่า “สหรัฐฯ ไม่มีมิตรแท้หรือศัตรูถาวร มีเพียงผลประโยชน์เท่านั้น”

นักทฤษฎีสภาพจริงนิยม ไม่ว่าจะเป็น Kenneth Waltz, John Mearsheimer หรือ Stephen Walt ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า การขยายรับสมาชิกภาพของ NATO นั้น ไม่มีความสุขุมรอบคอบและยิ่งเป็นอันตราย บทความของ Mearsheimer และ Walt เสนอว่า “เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลาย สหรัฐฯ ควรที่จะลดการพัวพันทางการทหารอย่างค่อยเป็นค่อยไป เสริมสร้างความสัมพันธ์ฉันท์มิตรกับรัสเซีย และโอนภาระความมั่นคงของยุโรปให้แก่ชาวยุโรป แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับกลายเป็นว่าสหรัฐฯ ขยายรับสมาชิกภาพของ NATO และละเลยผลประโยชน์ของรัสเซีย ซึ่งช่วยนำไปสู่ความขัดแย้งในยูเครน และผลักให้รัสเซียมีความใกล้ชิดกับจีนมากขึ้น”[9]

มติข้อนี้สอดคล้องกับมุมมองของ George Kennan นักการทูตและนักคิดสภาพจริงนิยมผู้ริเริ่มยุทธศาสตร์ ‘การสกัดกั้น’ (containment) ในช่วงสงครามเย็น เขาได้กล่าวไว้เมื่อปี 1998 ว่า “ข้าพเจ้าคิดว่า [การขยายรับสมาชิกภาพของ NATO] เป็นจุดเริ่มต้นของสงครามเย็นครั้งใหม่” กับรัสเซีย

ในความสัมพันธ์ต่างประเทศกับรัสเซีย นักทฤษฎีสภาพจริงนิยมเห็นด้วยกับทรัมป์ ที่พยายามแสวงหาความร่วมมือทางด้านความมั่นคง และหลีกเลี่ยงความขัดแย้งหรือสงครามกับรัฐมหาอำนาจนิวเคลียร์อย่างรัสเซีย โดยสหรัฐฯ ไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองหรือการส่งเสริมประชาธิปไตยในรัสเซียหรือภูมิภาคยูเรเชีย นอกจากนั้นยังเห็นด้วยกับข้อเสนอของทรัมป์ที่สหรัฐฯ ควรให้รัสเซียเข้าไปจัดการกับปัญหาซีเรียด้วย

Mearsheimer และ Walt กล่าวว่า “ในซีเรีย สหรัฐฯ ควรให้รัสเซียมีบทบาทนำ ถ้าสงครามกลางเมืองในซีเรียจะยืดเยื้อ นั่นก็เป็นปัญหาใหญ่ของรัสเซีย แม้ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ควรที่จะช่วยเป็นตัวกลางในการเจรจาไกล่เกลี่ยทางการเมืองก็ตาม” [10]

ปัญหาประการที่สอง ของ NATO สำหรับทรัมป์ คือ NATO นั้นเอาเปรียบอย่างไม่ยุติธรรมต่อสหรัฐฯ โดยในปัจจุบัน สหรัฐฯ แบกรับสัดส่วนค่าใช้จ่ายกลาโหมในกลุ่ม NATO คิดเป็นร้อยละ 73 จากสมาชิกทั้งหมด 29 ประเทศ

ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต่างวิจารณ์พฤติกรรม free-riding ของรัฐพันธมิตรมาโดยตลอด เช่น บารัก โอบามา ก็เคยเรียกร้องให้รัฐพันธมิตรเพิ่มงบประมาณกลาโหมขึ้นเป็นร้อยละ 2 ของ GDP โดยเฉพาะสหราชอาณาจักร มิเช่นนั้นแล้วก็ไม่อาจอ้างได้ว่ามี ‘ความสัมพันธ์แบบพิเศษ’ (special relationship) กับสหรัฐฯ เป็นต้น แต่กระนั้นก็ดี ก็ไม่มีการเอาจริงเอาจังนักในการจัดการปัญหาดังกล่าวในทางปฏิบัติแต่อย่างใด

Schweller มองว่า ในขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังพิจารณาเรื่องการตัดลดงบประมาณทางสังคมขนาดใหญ่ มันก็ไม่มีเหตุผลชอบธรรมเพียงพอที่สหรัฐฯ จะยังคงให้เงินอุดหนุนกลาโหมในการธำรงรักษาความมั่นคงของประเทศยุโรป

นักวิชาการสภาพจริงนิยมอีกคนหนึ่งอย่าง Barry Posen ซึ่งสนับสนุนยุทธศาสตร์การยับยั้งชั่งใจ เสนอว่า พฤติกรรม free-riding นั้นเป็น ‘สวัสดิการสำหรับรัฐที่ร่ำรวย’[11]

สำหรับ Schweller ชุดนโยบายต่างประเทศแบบสภาพจริงนิยมที่ปรากฏในรัฐบาลของทรัมป์นั้น ควรได้รับการต้อนรับมากกว่าที่เราจะหวาดกลัว  Schweller กล่าวว่า “โลกทัศน์แบบสภาพจริงนิยมนั้นไม่เพียงแต่มีความชอบธรรม หากแต่ยังสอดคล้องกับความต้องการของผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งอเมริกัน ผู้ซึ่งตระหนักดีว่าสหรัฐฯ ไม่ได้อยู่ในระบบโลกแบบขั้วอำนาจเดียว ดังเช่นที่เคยเป็นในช่วงหลังการสิ้นสุดลงของสงครามเย็น” แต่เรากำลังอยู่ใน “โลกที่มีหลายขั้วอำนาจที่มีการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น”

 

สรุป 

ในมุมมองของ Stephen Walt นักทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแนวสภาพจริงนิยมแห่งมหาวิทยาลัย Harvard  โดนัลด์ ทรัมป์ นับเป็น “ความท้าทายที่ใหญ่หลวงมากที่สุดต่อฉันทามติด้านนโยบายต่างประเทศ ซึ่งครอบงำสหรัฐฯ ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา”[12] ฉันทามตินั้นกำหนดบทบาทและสถานะของสหรัฐฯ ในฐานะที่เป็น ‘มหาอำนาจนำแบบเสรีนิยม’ ที่มุ่งเน้นนโยบายการเข้าไปเกี่ยวข้องพัวพันในการเมืองโลก การส่งเสริมเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ และประชาธิปไตย โดยสหรัฐฯ มีบทบาทเป็น ‘ตำรวจโลก’

หลักนิยมทรัมป์ไม่เห็นด้วยกับยุทธศาสตร์ดั้งเดิมนี้  Schweller มองว่าหลักนิยมทรัมป์นั้นมีคุณลักษณะหลายประการที่เข้ากันกับแนวคิดสภาพจริงนิยม กล่าวคือ การคำนึงถึงผลประโยชน์แห่งชาติเป็นสำคัญ และการส่งเสริมนโยบายแบบ ‘การถ่วงดุลอำนาจนอกชายฝั่ง’ ซึ่งหลีกเลี่ยงการเข้าไปยุ่งเกี่ยวพัวพันกับการเมืองโลก เว้นเสียแต่ในบางกรณีหรือบางบริเวณที่สหรัฐฯ มีผลประโยชน์สำคัญจำเป็นยิ่ง

Daniel Drezner เห็นด้วยกับข้อเสนอของ Schweller และเรียกนโยบายต่างประเทศของทรัมป์ว่าเป็น ‘ช่วงเวลาแห่งสภาพจริงนิยม’

แม้ว่านักทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแนวสภาพจริงนิยมอย่าง Schweller และอีกหลายคนจะเชื่อว่า นโยบายต่างประเทศที่เป็นสภาพจริงนิยมของทรัมป์จนถึงขณะนี้ จะ ‘สอบผ่าน’ แต่กระนั้นก็อาจยังเร็วเกินไปที่จะประเมินผลอย่างฟันธงได้อย่างแจ่มชัด

การทำความเข้าใจนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ คงจะเผชิญกับความท้าทายอย่างน้อยสองประการสำคัญ ได้แก่

ประการแรก คือความท้าทายในเชิงปฏิบัติ ซึ่งอาจมีคำถามต่างๆ เช่น นโยบายต่างประเทศของทรัมป์มีความชอบธรรมทางการเมืองหรือไม่ ทรัมป์จะสามารถก้าวข้ามยุทธศาสตร์กระแสหลัก เช่น มหาอำนาจนำแบบเสรีนิยม รวมทั้งชนชั้นนำที่ครองอำนาจนำในนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ ได้หรือไม่  ความลักลั่นของยุทธศาสตร์ที่ไม่ชัดเจนของทรัมป์ – จะถอยก็ไม่ถอยสุดซอย จะพัวพันก็ไม่พัวพันอย่างเต็มที่ – จะยิ่งทำให้สถานะของสหรัฐฯ ตกต่ำลงหรือไม่  รัฐพันธมิตรดั้งเดิมของสหรัฐฯ จะยังคงรักษาความเชื่อมั่นที่มีต่อสหรัฐฯ หรือไม่ หรือจะหันไปพัฒนาระบบพันธมิตรใหม่ของตนเองที่ไม่มีสหรัฐฯ เป็นผู้นำขึ้นมาแทน  รวมถึงความท้าทายอื่นๆ เช่น การผงาดขึ้นมาของจีน กระแสประชานิยมฝ่ายขวาจัดและอำนาจนิยม เป็นต้น มีผลกระทบต่อการสั่นคลอนระเบียบโลกแบบเสรีนิยมมากกว่าการขึ้นมาของทรัมป์หรือไม่ และอย่างไร

ประการที่สอง คือความท้าทายในเชิงทฤษฎี คำอธิบายทรัมป์แบบสภาพจริงนิยมของ Schweller อาจมีนักสภาพจริงนิยมเชิงโครงสร้างจำนวนหนึ่งในสหรัฐฯ ที่เห็นด้วย แต่หากพิจารณาจากทฤษฎีสภาพจริงนิยมดั้งเดิม (classical realism) แล้ว เราคงเห็นการทำความเข้าใจนโยบายต่างประเทศของทรัมป์ที่แตกต่างออกไป เพราะนโยบายต่างประเทศของทรัมป์ไร้ซึ่งความสุขมรอบคอบ (prudence) การยับยั้งชั่งใจ (restraints) การคิดใคร่ครวญหรือการตัดสินเชิงศีลธรรม (moral judgment) หรือจริยศาสตร์ของความรับผิดชอบ (ethics of responsibility)

พูดมาถึงตรงนี้ ก็ทำให้ผมนึกถึงหนังสือคลาสสิกเล่มหนึ่งชื่อ Ideals and Self-Interest in America’s Foreign Relations เขียนโดย Robert E. Osgood ซึ่งเขียนไว้ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1950 เขาเสนอว่า นโยบายต่างประเทศที่จะประสบความสำเร็จได้นั้น จำเป็นต้องได้สมดุลระหว่างอุดมคติกับผลประโยชน์แห่งชาติ

จากการประเมินนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง Osgood มองว่า นโยบายของ Woodrow Wilson ล้มเหลวเพราะมีแต่อุดมคติ โดยไม่ได้คำนึงถึงผลประโยชน์แห่งชาติเท่าที่ควร ในขณะที่นโยบายของ Theodore Roosevelt นั้นก็ล้มเหลว เพราะคำนึงถึงแต่ผลประโยชน์แห่งชาติที่คับแคบโดยไม่ได้สนใจคุณค่าอุดมคติใดๆ

หากมองในมุมมองของสภาพจริงนิยมดั้งเดิม นโยบายต่างประเทศของทรัมป์คง ‘สอบไม่ผ่าน’ ประเด็นนี้ขอเก็บไว้เขียนถึงต่อไปเมื่อมีโอกาส

 

เชิงอรรถ

[1] G. John Ikenberry, “The End of Liberal International Order?” International Affairs, Vol. 94: No. 1 (2018), p. 7.

[2] Joseph S. Nye, Jr., “Will the Liberal Order Survive? The History of an Idea”, Foreign Affairs, January/ February 2017, p. 10.

[3] โปรดดู Randall L. Schweller, “Why Trump Now: A Third-Image Explanation”, in Chaos in the Liberal Order: The Trump Presidency and International Politics in the Twenty-First Century, eds. Robert Jervis et al. (New York: Columbia University Press, 2018), pp. 22-39; Randall L. Schweller, “Three Cheers for Trump’s Foreign Policy: What the Establishment Misses”, Foreign Affairs, September/ October 2018, pp. 133-143.

[4] ในความเป็นจริงแล้ว การเปลี่ยนยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ มาสู่สภาพจริงนิยมนั้น ไม่ใช่เพิ่งเริ่มเกิดขึ้นในสมัยโดนัลด์ ทรัมป์ แต่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างระบบระหว่างประเทศที่เป็นหลายขั้วอำนาจมากขึ้น รวมทั้งวิกฤตเศรษฐกิจโลก ได้โน้มนำให้ประชาชนชาวอเมริกันหันมาเลือกประธานาธิบดีที่มีความเป็นสภาพจริงนิยม ที่มีแนวนโยบายแบบ ‘ยับยั้งชั่งใจ’ และ ‘การถอนตัว’ อย่างเช่นบารัก โอบามา จนบางคนเรียกยุทธศาสตร์ของโอบามาว่าเป็น ‘การนำจากข้างหลัง’ (leading from behind)

แต่กระนั้น นโยบายโดยรวมของโอบามา ก็ยังแสดงให้เห็นถึงการประนีประนอมระหว่างนโยบายสภาพจริงนิยม กับยุทธศาสตร์มหาอำนาจนำแบบเสรีนิยม ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากกลุ่ม Blob ยังคงมีบทบาทอิทธิพลที่สำคัญในกระบวนการกำหนดนโยบายต่างประเทศในสมัยโอบามา

Henry Kissinger สรุปไว้อย่างดีว่า โอบามานั้นเป็นนักสภาพจริงนิยมในมิติของความสุขุมรอบคอบ (prudence) แต่ยังถูกผลักดันด้วยคุณค่าอุดมการณ์แบบเสรีนิยม มากกว่าโลกทัศน์ทางยุทธศาสตร์

[5] Daniel Drezner, “The Realist Tradition in American Public Opinion”, Perspectives on Politics, Vol. 6: No. 1 (2008): p. 63.

[6] โปรดดู Christopher Layne, “From Preponderance to Offshore Balancing: America’s Future Grand Strategy”, International Security, Vol. 22: No. 1 (1997): pp. 86-124; Barry R. Posen, Restraint: A New Foundation for US Grand Strategy (Ithaca: Cornell University Press, 2014).

[7] John Mearsheimer and Stephen Walt, “The Case for Offshore Balancing: A Superior US Grand Strategy”, Foreign Affairs, July/ August 2016, p. 71.

[8] Graham Allison, “The Myth of the Liberal Order: From Historical Accident to Conventional Wisdom”, Foreign Affairs, July/ August 2018, pp. 124-133.

[9] John Mearsheimer and Stephen Walt, “The Case for Offshore Balancing: A Superior US Grand Strategy”, Foreign Affairs, July/ August 2016, p. 76.

[10] John Mearsheimer and Stephen Walt, “The Case for Offshore Balancing: A Superior US Grand Strategy”, Foreign Affairs, July/ August 2016, p. 82.

[11] Barry R. Posen, “Pull Back: The Case for a Less Activist Foreign Policy”, Foreign Affairs, January/ February 2013, p. 121.

[12] Stephen M. Walt, “The Donald versus ‘The Blob’ ”, in Chaos in the Liberal Order: The Trump Presidency and International Politics in the Twenty-First Century, eds. Robert Jervis et al. (New York: Columbia University Press, 2018), p. 40.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save