fbpx
คงมีแต่ทรัมป์ที่ไปเกาหลีเหนือได้? : ความไว้เนื้อเชื่อใจในการเมืองโลก

คงมีแต่ทรัมป์ที่ไปเกาหลีเหนือได้? : ความไว้เนื้อเชื่อใจในการเมืองโลก

จิตติภัทร พูนขำ เรื่อง

ในช่วงสงครามเย็น เรามักได้ยินว่า “คงมีแต่นิกสันที่ไปจีนได้” ในปัจจุบัน เราก็อาจจะได้ยินว่า “คงมีแต่ทรัมป์ที่ไปเกาหลีเหนือได้”

ในกรณีแรก การปรับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนและการเดินทางเยือนจีนอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ในปี 1972 เป็นไปได้ ส่วนหนึ่งเพราะนิกสันเป็นพวกอนุรักษนิยมที่มีประวัติของการต่อต้านคอมมิวนิสต์มาอย่างยาวนาน การไปเยือนจีนของเขาจึงไม่ต้องเผชิญกับการขึ้นป้ายโจมตีว่าเป็น “ซ้าย” หรือ “คอมมิวนิสต์”

แม้ว่าทรัมป์จะไม่ใช่นิกสัน แต่วาทศิลป์ของทรัมป์ที่แข็งกร้าวต่อการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนืออย่างต่อเนื่องย่อมไม่ทำให้เขาถูกวิจารณ์ว่าเป็น “พวกใฝ่สันติ” ยอมอ่อนข้อให้แก่ “ภัยคุกคาม” ต่อความมั่นคงแห่งชาติและสันติภาพโลก

บทความนี้ไม่ได้มุ่งตอบคำถามว่าอะไรเป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้ทรัมป์ตัดสินใจจะปรับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (และทำไมคิม จองอึนจึงตัดสินใจยุติการทดลองอาวุธนิวเคลียร์) แต่ลองชวนคิดว่าถ้าหากว่าการทูตแบบสนทนาตัวต่อตัว (face-to-face diplomacy) เกิดขึ้นจริง ความไว้เนื้อเชื่อใจหรือ ‘trust’ จะมีความเป็นไปได้หรือไม่ และจะเกิดขึ้นได้อย่างไรในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐที่เป็นอริต่อกัน?

บทความนี้อาศัยงานของ Nicholas J. Wheeler เป็นพื้นฐานและเสนอว่า การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจสามารถเป็นไปได้ หากมีการพบปะสนทนากันระหว่างผู้นำทั้งสองประเทศ จนสามารถพัฒนาสายสัมพันธ์ของความไว้เนื้อเชื่อใจ แปรเปลี่ยนอัตลักษณ์และผลประโยชน์ของกันและกัน และเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์จาก “ศัตรู” (enemy images) มาเป็น “มิตร” แม้เงื่อนไขดังกล่าวจะไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ แต่ถ้าเกิดขึ้นแล้ว จะมีนัยสำคัญต่อทั้งความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์ระหว่างรัฐที่เป็นอริต่อกัน และการพัฒนาระบบความร่วมมือระหว่างประเทศและภูมิภาคในการบริหารจัดการความขัดแย้งและความท้าทายทางความมั่นคงของโลกในอนาคต

สัญญาณของการปรับความสัมพันธ์สหรัฐฯ-เกาหลีเหนือ

เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2018 หนังสือพิมพ์ Washington Post เป็นสำนักข่าวแรกที่รายงานว่า ไมค์ ปอมปีโอ (Mike Pompeo) ผู้อำนวยการ CIA และว่าที่รัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ของสหรัฐฯ ได้เดินทางเข้าพบกับ คิม จอง อึน ผู้นำของเกาหลีเหนือในช่วงวันหยุดอีสเตอร์ที่ผ่านมา แม้ว่าจะยังไม่มีรายละเอียดของการประชุมของคณะทูตลับดังกล่าว แต่หลายคนมองว่าปอมปีโอ กลายเป็น “Henry Kissinger” ในการปรับความสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือ

โฆษกทำเนียบขาวเพิ่งมีการเผยแพร่ภาพการเข้าพบหารืออย่างลับๆ ระหว่าง Mike Pompeo ว่าที่รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กับคิม จองอึน | ภาพจาก CNN Politics
โฆษกทำเนียบขาวเพิ่งมีการเผยแพร่ภาพการเข้าพบหารืออย่างลับๆ ระหว่าง Mike Pompeo ว่าที่รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กับคิม จองอึน | ภาพจาก CNN Politics

ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ยืนยันเรื่องดังกล่าวในระหว่างการประชุมร่วมกับนายชินโซ อาเบะ (Shinzo Abe) นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น โดยเขากล่าวว่า “สหรัฐฯ ได้มีการเจรจาทางตรงในระดับสูงมากกับเกาหลีเหนือ” ทั้งยังระบุว่าการประชุมสุดยอดผู้นำกับคิมอาจจะเกิดขึ้นในช่วงต้นเดือนมิถุนายนหรือก่อนหน้านั้นก็เป็นได้ เพื่อเจรจายุติปัญหาอาวุธนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ

การประกาศดังกล่าวสร้างความตกตะลึงแก่ประชาคมระหว่างประเทศอย่างยิ่ง เพราะก่อนหน้านี้ เราเห็นวาทศิลป์หรือเรื่องเล่าแบบข่มขู่คุกคามเกาหลีเหนือจากรัฐบาลทรัมป์มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นถ้อยคำในทวิตเตอร์ของทรัมป์ เช่น “เพลิงและพิโรธ” (fire and fury) “มนุษย์หัวจรวด” (rocket man) “ปุ่มอาวุธนิวเคลียร์ของผมใหญ่กว่าของคุณ[เกาหลีเหนือ]” เป็นต้น หรือการฝึกทหารร่วมระหว่างสหรัฐฯ กับเกาหลีใต้ กระทั่งมีการขู่ว่าจะใช้อาวุธนิวเคลียร์หากจำเป็น[1]

นักวิเคราะห์บางคนมองว่าท่าทีเชิงนโยบายเช่นนี้อาจเป็นการตบตาของทรัมป์ ในขณะที่นักวิเคราะห์บางคนมองว่าเป็นการใช้ทั้งไม้แข็ง-ไม้อ่อนของสหรัฐฯ ในการรับมือกับภัยคุกคามนิวเคลียร์อย่างเกาหลีเหนือ ถ้ามองจากทฤษฎีการส่งสัญญาณที่น่าเชื่อถือแล้ว บางคนเสนอว่าการแสดงออกที่ดูเหมือน “คนบ้า” ของทรัมป์ดูจะมีประโยชน์ โดยมีเป้าหมายเพื่อที่จะส่งสัญญาณที่ไม่อาจคาดเดาได้ และเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่การขู่จะใช้กำลังหรือการคุกคามของสหรัฐฯ

กระนั้นก็ดี การเปลี่ยนท่าทีของรัฐบาลทรัมป์ย่อมแสดงให้เห็นถึง (1) การยอมถอยของสหรัฐฯ ในระดับหนึ่ง เพื่อส่งสัญญาณเชิงบวกต่อผู้นำเกาหลีเหนือ (2) การยอมรับสถานะการเป็นประเทศอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือโดยปริยาย ซึ่งมหาอำนาจต่างจำเป็นต้องเจรจาด้วย และ (3) แนวโน้มความเป็นไปได้ของการทูตแบบสนทนาตัวต่อตัว ที่จะช่วยลดการเผชิญหน้าและเปลี่ยนรูปความขัดแย้งระหว่างประเทศบนคาบสมุทรเกาหลี

ในอีกด้านหนึ่ง เราเริ่มเห็นสัญญาณเชิงบวกจากฝั่งเกาหลีเหนือมาสักพักหนึ่งแล้ว อย่างน้อยที่สุดก็ตั้งแต่ต้นปี 2018 เป็นต้นมา ดังจะเห็นได้จากหลายเหตุการณ์ ได้แก่

หนึ่ง การกลับสู่โต๊ะเจรจาของเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ โดยทั้ง คิม จอง อึน และ มุน แจ อิน (Moon Jae-in) ประธานาธิบดีของเกาหลีใต้ ต่างมีบทบาทสำคัญในการริเริ่มการเจรจา และทำให้การพบปะกันของผู้นำของประเทศเกาหลีทั้งสองเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ

สอง การทูตเชิงสัญลักษณ์ ได้แก่ การส่งนักกีฬาร่วมทีมเดียวกันในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวที่เมืองเปียงชาง ประเทศเกาหลีใต้ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งเราอาจจะเรียกว่าเป็น “การทูตโอลิมปิก”

สาม การส่งคณะผู้แทนของเกาหลีใต้ไปเยือนเปียงยางอย่างเป็นทางการในเดือนมีนาคม ทั้งยังมีคณะนักแสดงกว่า 160 คนไปแสดงที่กรุงเปียงยางด้วย นี่อาจจะแสดงให้เห็นถึงการทูตอำนาจแบบอ่อน (soft power) ผ่านวัฒนธรรม K-pop ของเกาหลี

สี่ การปรับท่าทีของ คิม จอง อึน ในการเมืองระหว่างประเทศ เขาเดินทางไปเยือนประเทศจีนอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นการเดินทางเยือนต่างประเทศเป็นครั้งแรกของคิม แม้ว่าจีนและเกาหลีเหนือจะเป็นพันธมิตรที่มีความสัมพันธ์ไม่ได้ราบรื่นมากนัก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า จีนภายใต้สีจิ้นผิงนั้นมีอิทธิพลต่อเกาหลีเหนืออย่างมีนัยสำคัญ ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ ความมั่นคง และการต่างประเทศ และหลายฝ่ายมองว่าจีนน่าจะมีบทบาทสำคัญต่อการตัดสินใจยุติการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือไม่มากก็น้อย

ห้าและเป็นเหตุการณ์สำคัญที่สุด คือ คิม จองอึนได้ประกาศยุติการทดลองอาวุธนิวเคลียร์และปิดโรงงานทดลองนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือตั้งแต่วันที่ 21 เมษายนเป็นต้นมา[2] โดยประธานาธิบดีทรัมป์ได้ทวิตข้อความว่า

“North Korea has agreed to suspend all Nuclear Tests and close up a major test site. This is very good news for North Korea and the World – big progress! Look forward to our Summit.”

อาจกล่าวได้ว่า การส่งสัญญาณเชิงบวกของผู้นำสหรัฐฯ เกาหลีเหนือ และเกาหลีใต้ ดูเหมือนจะช่วยทำให้สถานการณ์การเมืองบนคาบสมุทรเกาหลีที่ร้อนระอุคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น เกิดการปรับความสัมพันธ์และการเจรจาระหว่างประเทศ รวมทั้งมีแนวโน้มในการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศอีกด้วย

คำถามสำคัญที่สุดประการหนึ่งคือ ใน (ถ้ามี) การประชุมสุดยอดโดยมีการพบปะระหว่างผู้นำ  ทรัมป์และคิมจะสามารถขจัดความหวาดระแวงหรือความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันได้หรือไม่ และอย่างไร

 

ความไว้เนื้อเชื่อใจในการเมืองโลก

การประชุมสุดยอดระหว่างทรัมป์-คิมนั้นเป็นกรณีศึกษาสำคัญในการทดสอบทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะทฤษฎีว่าด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจในการเมืองโลก

ในที่นี้ เราอาจนิยาม “ความไว้เนื้อเชื่อใจ” ว่าหมายถึง ความเชื่อที่ว่าความร่วมมือจากอีกฝ่ายหนึ่งจะได้รับการตอบสนองแลกเปลี่ยนหรือต่างตอบแทนกัน (reciprocity) กล่าวคือ ความไว้เนื้อเชื่อใจจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อทั้งสองฝ่ายต่างเห็นพ้องที่จะร่วมมือกัน และไม่ฉวยโอกาสจากความไม่มั่นคงหรือความอ่อนแอของอีกฝ่ายหนึ่ง

โดยทั่วไป ในการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นสภาวะอนาธิปไตยหรือไม่มีอำนาจกลางคอยกำกับระเบียบโลกนั้น ความไว้เนื้อเชื่อใจจะเกิดขึ้นได้ยากยิ่ง เพราะแต่ละรัฐต่างหวาดระแวงซึ่งกันและกัน จนเกิดสภาวะ “ทางแพร่งทางความมั่นคง” (security dilemma) ขึ้น

กระนั้นก็ดี ความไว้เนื้อเชื่อใจและความร่วมมือก็อาจจะเกิดขึ้นได้บนฐานของการคิดใคร่ครวญของผลประโยชน์หรือการประเมินความเสี่ยง หากผลประโยชน์ของรัฐสอดคล้องต้องกันกับอีกรัฐหนึ่ง ความร่วมมือและความไว้เนื้อเชื่อใจก็อาจจะบังเกิดขึ้นได้ แต่ก็ไม่ได้มั่งคงยั่งยืนหรือยาวนาน เพราะแต่ละฝ่ายพร้อมที่จะ “ไม่ปฏิบัติตามสัญญา” หรือ “ทรยศหักหลัง” ได้ทุกเมื่อ หากเล็งเห็นว่า ตนจะได้ผลประโยชน์ที่สูงกว่าในอนาคต

งานของ Robert O. Keohane[3] ท้าทายความเข้าใจดั้งเดิมนี้ โดยให้ความสำคัญกับสถาบันระหว่างประเทศ (international institutions) ว่าจะช่วยเอื้ออำนวยและออกแบบโครงสร้างสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศให้รัฐต่างๆ สามารถร่วมมือกันได้ กล่าวคือ แม้ว่ารัฐอาจจะ “ไม่ปฏิบัติตาม” ในความร่วมมือระหว่างประเทศในครั้งหนึ่ง แต่ในเกมที่มีความร่วมมือหลายๆ ครั้ง รัฐจะร่วมมือกับรัฐอื่นๆ มากขึ้น เพราะผลประโยชน์ที่ตนจะได้รับจากการร่วมมือนั้นมีมากกว่าการไม่ร่วมมือ เกมแบบนี้จะนำไปสู่การลดความหวาดระแวงระหว่างรัฐ ความไม่แน่นอน และการไม่ปฏิบัติตามกฎกติกา ด้วยเหตุนี้ สถาบันระหว่างประเทศช่วยทำให้รัฐต่างๆ ร่วมมือและมีความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศได้

สำหรับ Keohane แล้ว distrust — > institution — > trust นั่นเอง

กระนั้นก็ดี งานวิจัยใหม่ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เช่น งานของ Brian C. Rathbun[4] โต้แย้งว่า จริงๆ แล้ว ความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างรัฐต่างหากทีี่นำพาให้รัฐเหล่านั้นมาประชุมปรึกษาหารือ ร่วมมือกัน และก่อตั้งสถาบันระหว่างประเทศแบบพหุภาคี ดังเช่น ภายหลังการสิ้นสุดสงครามครั้งใหญ่ๆ ที่รัฐมหาอำนาจต่างมีความไว้เนื้อเชื่อใจ และมาประชุมร่วมกัน เพื่อสร้างระเบียบโลกใหม่และ/หรือรักษาสันติภาพระหว่างประเทศ ความไว้เนื้อเชื่อใจจึงเป็นสาเหตุ ไม่ใช่ผลลัพธ์ขององค์การระหว่างประเทศ

สำหรับ Rathbun แล้ว ความไว้เนื้อเชื่อใจนั้นมาก่อนการก่อตั้งสถาบันระหว่างประเทศ

การศึกษาความไว้เนื้อเชื่อใจในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบนี้มุ่งเน้นพหุภาคีนิยม (multilateralism) เป็นสำคัญ โดยไม่ดูการศึกษาความไว้เนื้อเชื่อใจที่เกิดขึ้นในความสัมพันธ์แบบทวิภาคี โดยเฉพาะคู่ความสัมพันธ์ (dyad) ที่มีความเป็นอริต่อกัน และมุ่งแข่งขันทางความมั่นคง

ปฏิสัมพันธ์แบบสนทนาตัวต่อตัวและการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ

Nicholas J. Wheeler ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศประจำมหาวิทยาลัย Birmingham เขียนงานชิ้นใหม่เรื่อง “Trusting Enemies: Interpersonal Relationships in International Conflicts” (2018)[5] โดยให้ความสำคัญกับระดับการวิเคราะห์ที่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (interpersonal relationships) ในฐานะปัจจัยหลักในการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างผู้นำรัฐในคู่ความสัมพันธ์ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน

โจทย์ใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับความไว้เนื้อเชื่อใจในการเมืองระหว่างประเทศคือ การส่งสัญญาณ (signaling) และการตีความการส่งสัญญาณ (signal interpretation) กล่าวคือ ผู้รับสัญญาณนั้นจะตีความสัญญาณหรือเจตนาใฝ่สันติในแบบที่ผู้ส่งสัญญาณมุ่งหมายให้เป็นเช่นนั้นได้อย่างถูกต้องได้หรือไม่

Wheeler เสนอว่า ความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างผู้นำรัฐมีความสำคัญและเป็นเงื่อนไขเบื้องแรกที่มาก่อนการตีความสัญญาณที่ถูกต้อง กล่าวคือรัฐจะตีความสัญญาณหรือเจตนาใฝ่สันติได้อย่างถูกต้องก็ต่อเมื่อรัฐนั้นได้สร้างหรือรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจอีกรัฐหนึ่งแล้วเท่านั้น

ความไว้เนื้อเชื่อใจกันจะเกิดขึ้นระหว่างผู้นำอย่างน้อยสองคน ซึ่งเป็นผู้แทนของรัฐที่มีความสัมพันธ์เป็นอริต่อกัน ผ่านฏิสัมพันธ์แบบตัวต่อตัว (face-to-face interaction) และกระบวนการสร้างสายสัมพันธ์ (bonding) ทางสังคมระหว่างรัฐทั้งสอง

ความไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างบุคคลระหว่างผู้นำรัฐสองรัฐสามารถพัฒนาได้ผ่านปฏิสัมพันธ์แบบสนทนาตัวต่อตัว กระนั้น การพบปะตัวต่อตัวก็ไม่ได้ก่อให้เกิดการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันโดยอัตโนมัติ ความไว้เนื้อเชื่อใจจะเกิดขึ้นต้องอาศัยทั้งการแสดงออกถึงความเห็นอกเห็นใจหรือการเอาใจเขามาใส่ใจเรา (empathy) และการแสดงออกฉันท์มิตร ซึ่งรัฐหนึ่งจะสามารถสังเกตและยอมรับท่าทีใฝ่สันติของอีกฝ่ายหนึ่งจากการทูตแบบสนทนาตัวต่อตัว

ในขั้นแรก ผู้นำทั้งสองรัฐต่างแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อกันและกันทั้งก่อนและระหว่างการประชุม โดยเฉพาะการยอมรับว่าการกระทำของฝ่ายตนเองที่ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งหวาดกลัวและไม่มั่นคง Ken Booth และ Nicholas Wheeler เรียกความเห็นอกเห็นใจนี้ว่า “ความรู้สึกนึกคิดที่มีต่อทางแพร่งทางความมั่นคง” (security dilemma sensibility)[6]

“ความรู้สึกนึกคิดที่มีต่อทางแพร่งทางความมั่นคง” เป็นการสร้างการตระหนักรู้ขึ้นในใจของผู้กำหนดนโยบายว่าการกระทำของศัตรูนั้นอาจจะถูกขับเคลื่อนด้วยความหวาดกลัว หาใช่ความก้าวร้าวไม่ และการกระทำของฝ่ายตนนั้นมีส่วนสำคัญในการสร้างความหวาดกลัวให้เกิดขึ้นในใจของรัฐอื่นด้วย

การเอาใจเขามาใส่ใจเรา หรือการคิดคำนึงถึงเอาผลประโยชน์และความมั่นคงของรัฐอื่นเป็นเพียงความโน้มเอียงไปสู่การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ไม่ใช่พฤติกรรมของความไว้เนื้อเชื่อใจในทันทีทันใด หากแต่เป็นการตระหนักรู้ในใจว่า อีกฝ่ายมีเจตนาใฝ่สันติและมีความน่าเชื่อถือมาให้พิจารณาและตรวจสอบ โดยวิธีการตรวจสอบทางหนึ่งคือ การพบปะปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันตัวต่อตัว ซึ่งเป็นโอกาสในการที่ผู้นำของรัฐหนึ่งจะได้พิจารณาท่าทีของผู้นำของอีกรัฐหนึ่งว่ามีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด

ในการพบปะกัน ผู้นำทั้งสองประเทศจะสังเกตเห็นดัชนีชี้วัดความน่าเชื่อถือ (index of trustworthiness) ซึ่งแสดงออกมาผ่านทางสัญญาณต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาษาร่างกาย สีหน้าท่าทาง โทนเสียง การร่วมรับประทานอาหาร เป็นต้น ดัชนี้หล่านี้จะช่วยให้เห็นความจริงใจของอีกฝ่ายหนึ่ง

ดัชนีชี้วัดความน่าเชื่อถือจะปรากฏให้เห็นในการทูตแบบสนทนาตัวต่อตัวที่ผู้นำทั้งสองฝ่ายได้มาพบปะกันและกันเท่านั้น ซึ่งแต่ละฝ่ายจะแสดงพฤติกรรมออกมาทั้งโดยจงใจ และเผยท่าทีออกมาให้เห็นโดยไม่ได้ตั้งใจ การแสดงออกต่างๆ ในการพูดคุยกันนั้นไม่สามารถที่จะปั้นแต่งได้อย่างง่ายดาย บางครั้ง ผู้นำคนหนึ่งอาจจะมี “เคมี” เข้ากันได้กับผู้นำอีกคนหนึ่งในระหว่างการพบกัน

ด้วยเหตุนี้ เราจึงเห็นผู้นำรัฐหนึ่งตัดสินความจริงใจของผู้นำอีกรัฐหนึ่งผ่านการประชุมสุดยอดผู้นำ ซึ่งทำให้ผู้นำต่างมั่นใจในการส่งสัญญาณใฝ่สันติของอีกฝ่ายหนึ่งได้ และพร้อมที่จะไว้เนื้อเชื่อใจท่าทีและพฤติกรรมของอีกฝ่ายหนึ่งในอนาคต

Nicholas Wheeler ยกตัวอย่างกรณีของ Ronald Reagan กับ Mikhail Gorbachev ซึ่งการประชุมสุดยอดผู้นำร่วมกันเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การยุติของสงครามเย็น ผู้นำทั้งสองต่างอาศัยหรือแสดงออกถึง security dilemma sensibility ก่อนที่จะมีการพบปะกันตัวต่อตัวเป็นครั้งแรกที่กรุงเจนีวาในเดือนพฤศจิกายน 1985 และเมื่อได้พบปะกันแล้ว ก็เกิดสิ่งที่ Reagan เรียกว่า “ความไว้เนื้อเชื่อใจของมนุษย์” (human trust) ระหว่างผู้นำทั้งสองในการแสวงหาสันติภาพของโลก

ในกรณีของทรัมป์และคิม จอง อึนนั้น โจทย์สำคัญคือ ผู้นำทั้งสองจะแสดงออกถึงความเห็นอกเห็นใจทางความมั่นคง และแสดงออกถึงความจริงใจต่อกันในระหว่างการประชุมมากน้อยเพียงใด และเงื่อนไขดังกล่าวจะพัฒนาขึ้นเป็นความไว้เนื้อเชื่อใจในอนาคตได้หรือไม่

แม้ว่าทรัมป์จะแสดงออกถึงการยอมรับความจริงใจของคิม จอง อึน (ซึ่งเขาไม่ยอมบอกว่าอะไรทำให้เขาเชื่อมั่นเช่นนั้น) แต่เขาเองก็ประกาศกร้าวว่า ถ้าเขาไม่คิดว่าการประชุมจะประสบผลสำเร็จ เขาก็จะไม่เดินทางไปเข้าร่วม และถ้าการประชุมเกิดขึ้นแต่ไม่ได้บรรลุผลตามที่คาดไว้ เขาก็จะเดินออกจากการประชุม ทรัมป์ยังระบุว่า “นโยบายการกดดันขั้นสูงสุดยังคงดำเนินต่อไป จนกว่าเกาหลีเหนือจะปลดอาวุธนิวเคลียร์”

แม้ว่าการแสดงออกถึง security dilemma sensibility และการสังเกตดัชนีชี้วัดความน่าเชื่อถือของอีกฝ่ายนั้นจะเป็นเงื่อนไขเบื้องแรกในการพัฒนาความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างบุคคลก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่ปัจจัยที่เพียงพอ ความไว้เนื้อเชื่อใจกันจะเกิดขึ้นและลงหลักปักฐานจากกระบวนการสร้างสายสัมพันธ์ (bonding) ทางสังคม ซึ่งพัฒนาต่อยอดมาจากการทูตแบบสนทนาตัวต่อตัวระหว่างผู้นำทั้งสอง

กระบวนการสร้างสายสัมพันธ์ทางสังคมจะช่วยแปรเปลี่ยนอัตลักษณ์ของตัวแสดงทั้งสอง หรือการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างตัวตนกับผู้อื่น รวมทั้งภาพลักษณ์ของความเป็นอริระหว่างกันไปสู่ความเป็นมิตร หรืออย่างน้อยก็เป็น “frenemy” กล่าวคือ เป็นการเปลี่ยนแปลงจาก [ตัวแสดงที่สมเหตุสมผล] ซึ่งใคร่ครวญเฉพาะผลประโยชน์และความมั่นคงของตนเท่านั้น ไปเป็น [ตัวแสดงที่มีสายสัมพันธ์ (bonded partners)] ซึ่งต่างให้คุณค่าเชิงบวกแก่ผลประโยชน์และความมั่นคงของอีกฝ่ายหนึ่ง

กล่าวคือ ในกระบวนการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ตัวแสดงทั้งสองได้ยกระดับจากสิ่งที่ Wheeler เรียกว่าความไว้เนื้อเชื่อใจแบบคิดคำนวณเชิงผลประโยชน์ (calculative trust) ไปสู่ความไว้เนื้อเชื่อใจที่วางอยู่บนสายสัมพันธ์ทางสังคม (bonded trust) ซึ่งต่างฝ่ายต่างยับยั้งการคิดคำนวณความเสี่ยงและความไม่มั่นคงจากอีกฝ่ายหนึ่ง และเล็งเห็นผลประโยชน์ร่วมกัน

เมื่อความไว้วางใจแบบสายสัมพันธ์เกิดขึ้นแล้ว ผู้นำทั้งสองรัฐจะมีความมั่นใจในการปฏิสัมพันธ์ระหว่างประเทศมากขึ้น (อย่างน้อยก็ในระดับปัจเจกบุคคลหรือผู้นำประเทศ) โดยไม่ได้คิดคำนวณความเสี่ยงและความไม่มั่นคงอยู่ตลอดเวลา และจะมีความมั่นใจต่อผู้นำอีกรัฐ รวมทั้งมองว่า การส่งสัญญาณของอีกฝ่ายหนึ่งแสดงถึงความจริงใจที่จะสื่อสารถึงท่าทีหรือเจตนาใฝ่สันติ

ดังนั้น การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างผู้นำรัฐจึงช่วยขจัดปัญหาเรื่องความกำกวมของการตีความการส่งสัญญาณในระดับหนึ่ง

ในทัศนะของ Wheeler ความไว้เนื้อเชื่อใจแบบสายสัมพันธ์ประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญสองประการ คือ หนึ่ง การมองผลประโยชน์ของอีกฝ่ายหนึ่งในเชิงบวก หรือเล็งเห็นว่าทั้งสองฝ่ายต่างมีผลประโยชน์ร่วมกันมากกว่าความขัดแย้ง และสอง การเห็นความเป็นมนุษย์ร่วมสังคมโลกในตัวผู้อื่น ซึ่งทำให้ความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันหยั่งลึกมากยิ่งขึ้น

เมื่อความไว้เนื้อเชื่อใจเกิดขึ้นในระดับของการสร้างสายสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างผู้นำแล้ว ความร่วมมือทางด้านความมั่นคงย่อมมีแนวโน้มความเป็นไปได้สูงขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการก่อตัวของวัฒนธรรมความไว้เนื้อเชื่อใจในระดับที่กว้างขวางมากขึ้นด้วย กล่าวคือ ภาพลักษณ์ของความเป็นมิตรของตัวแสดงอีกฝ่ายหนึ่งจะลงหลักปักฐานในใจของผู้กำหนดนโยบายและประชาชนทั่วไปในสังคม

กระนั้นก็ดี Wheeler เสนอว่า การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างบุคคลมักจะเกิดขึ้นเฉพาะในประเด็นใดประเด็นหนึ่งเท่านั้น (เช่น การควบคุมหรือลดอาวุธนิวเคลียร์) ไม่ได้มีลักษณะเป็นการทั่วไป แต่ในอนาคต ความไว้เนื้อเชื่อใจเฉพาะบางประเด็นอาจจะขยับขยายไปครอบคลุมประเด็นอื่นๆ เป็นการทั่วไปได้

แม้ว่าจะมีการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจที่กลายเป็นสายสัมพันธ์ระหว่างกันโดยอัตลักษณ์และผลประโยชน์มีการแปรเปลี่ยนไปแล้วก็ตาม คงเกิดคำถามตามมาอีกว่าแล้วความไว้เนื้อเชื่อใจนั้นจะยั่งยืนหรือไม่ และเราจะเห็นการหวนกลับไปสู่ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจดังเช่นแต่ก่อนหรือไม่

คำตอบคือ ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ การล่มสลายของความไว้เนื้อเชื่อใจ หรือการผิดคำมั่นสัญญานั้นเกิดขึ้นอยู่เสมอๆ บางคนมองเสียด้วยซ้ำว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติของมนุษย์ (human nature)

แล้วเงื่อนไขใดที่ทำให้ความไว้เนื้อเชื่อใจแตกสลายลงไปได้?

ประการแรก การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจที่กลายเป็นสายสัมพันธ์ระหว่างกันเป็นความไว้เนื้อเชื่อใจของผู้นำหรือผู้กำหนดนโยบายจำนวนหนึ่งเท่านั้น ความไว้เนื้อเชื่อใจแบบนี้อาจจะแตกสลาย หากว่าผู้นำของรัฐไม่สามารถโน้มน้าวชักจูงให้ตัวแสดงอื่นๆ ในรัฐบาลและ/หรือภายในรัฐเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ ผลประโยชน์ รวมทั้งภาพลักษณ์ของศัตรูไปจากเดิมได้

ในกรณีระหว่างสหรัฐฯและเกาหลีเหนือ ข้อพึงพิจารณาคือ เหล่าบรรดาผู้ที่เสนอแนะนโยบายให้มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองในเกาหลีเหนือในรัฐบาลทรัมป์ (เช่น John Bolton ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติ) จะคิดเช่นใด และจะหันมาสนับสนุนนโยบายการเปิดเจรจากับเกาหลีเหนือหรือไม่ อย่างไร

ความไว้เนื้อเชื่อใจจึงค่อนข้างเปราะบาง เพราะปัจจัยทางด้านความคิดและความเชื่อดั้งเดิมที่ยังคงผลิตซ้ำภาพลักษณ์ความเป็นศัตรูให้คงทนต่อไปได้ ทั้งในระดับปัจเจกบุคคล และสังคมโดยรวม

ประการที่สอง ความไว้เนื้อเชื่อใจอาจจะล่มสลายลงเมื่อบริบทเปลี่ยนแปลงไป เช่น การเปลี่ยนแปลงผู้นำอาจทำให้ความไว้วางใจนั้นแปรเปลี่ยนไปตามด้วย เป็นต้น

ประการที่สาม ความไม่แน่นอนคือความแน่นอน Wheeler มองว่า ความไว้เนื้อเชื่อใจแบบสายสัมพันธ์นั้นวางอยู่บนพื้นฐานของการยับยั้ง (suspension) คือ ยังยั้งการคิดคำนวณความเสี่ยงและความไม่มั่นคง และเชื่อมั่นในความจริงใจของอีกฝ่ายหนึ่ง แต่นี่เป็นเพียงความแน่นอนแบบอัตวิสัย (subjective certainty) เท่านั้น ดังที่นักวิชาการบางคนเสนอว่า เมื่อปัจเจกมีความไว้เนื้อเชื่อใจอีกฝ่าย “ปัจเจกก็จะแสดงราวกับว่าการกระทำในอนาคตที่ไม่แน่นอนของอีกฝ่ายหนึ่งนั้นเป็นความแน่นอน”

แต่ความไม่แน่นอนของอนาคตนั้นยังดำรงอยู่ ซึ่งเป็นความไม่แน่นอนแบบอัตวิสัย ซึ่งเป็นความไม่แน่นอนซึ่งดำรงอยู่ในความสัมพันธ์ของมนุษย์ด้วยกันเอง การจะธำรงรักษาความไว้เนื้อเชื่อใจกันไว้จำต้องอาศัยตัวแสดงทางการเมืองซึ่งผลิตซ้ำการกระทำที่ช่วยสถาปนากระบวนการสร้างสายสัมพันธ์ต่อไป ทั้งการมองผลประโยชน์ร่วมกันเชิงบวก การมองผู้อื่นในฐานะเพื่อนมนุษย์ และการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้มีความเป็นสถาบัน

สรุป

หลายคนคงกำลังจับตาว่าทรัมป์และคิม จอง อึน จะพบปะกันที่ไหน (มีการคาดการณ์ต่างๆ นานา เช่น เขตปลอดทหารระหว่างเกาหลีเหนือ/เกาหลีใต้ เป็นต้น) ทรัมป์จะเดินทางไปเยือนกรุงเปียงยางอย่างที่นิกสันไปเยือนจีนในปี 1972 หรือไม่ หรือแม้กระทั่งว่าผู้นำทั้งสองจะมีความจริงใจมากน้อยเพียงใดในการส่งสัญญาณเจตนาใฝ่สันติเช่นนี้ บางคนมองว่านี่เป็นเพียง “ลับ ลวง พราง” ของผู้นำบ้าระห่ำทั้งสองเท่านั้น

บทความนี้ให้ความสนใจกับโจทย์ใหญ่ในการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศว่าด้วยการตีความสัญญาณ กล่าวคือ ฝ่ายหนึ่งจะรู้ได้อย่างไรว่าอีกฝ่ายหนึ่งจริงใจในเจตนาที่ต้องการปรับความสัมพันธ์หรือยุติการทดลองอาวุธนิวเคลียร์

บทความนี้เสนอว่า การทูตแบบสนทนาตัวต่อตัวจะช่วยทำให้ผู้นำทั้งสองฝ่ายสังเกตเห็นถึงท่าทีและเจตนาของอีกฝ่ายหนึ่งได้ในเชิงประจักษ์ ถ้าหากว่าทั้งสองฝ่ายเล็งเห็นถึงท่าทีใฝ่สันติซึ่งแสดงออกมาในการประชุมร่วมกัน ก็อาจจะทำให้ความไว้เนื้อเชื่อใจบังเกิดขึ้นได้ และพัฒนาไปสู่การสร้างสายสัมพันธ์ที่แปรเปลี่ยนอัตลักษณ์ และภาพลักษณ์ของความเป็นศัตรูระหว่างกัน ถึงตอนนั้น ความร่วมมือในการสร้างเสถียรภาพและสันติภาพบนคาบสมุทรเกาหลีย่อมมีแนวโน้มความเป็นไปได้ในทางบวก

กระนั้นก็ดี แม้ว่าความไว้เนื้อเชื่อใจที่ผูกสายสัมพันธ์ระหว่างกันจะเกิดขึ้นแล้วก็ตาม ความท้าทายของการธำรงรักษาความไว้เนื้อเชื่อใจเอาไว้นั้นเป็นสิ่งที่ยากยิ่งนัก ความไว้เนื้อเชื่อใจอาจจะจางหายไปเมื่อบริบท (ทั้งภายในและระหว่างประเทศ) เปลี่ยนแปลงไป เมื่อผู้นำประเทศเปลี่ยนไป และเมื่อการรับรู้ภาพลักษณ์ความเป็นศัตรูในหมู่ผู้กำหนดนโยบายหรือสังคมโดยรวมกลับไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลย โจทย์ใหญ่จึงคือจะทำอย่างไรที่จะทำให้ความไว้เนื้อเชื่อใจนั้นพัฒนากลายเป็นความไว้เนื้อเชื่อใจเชิงสถาบันทั้งในระดับภายในและระหว่างประเทศ

ความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งเริ่มต้นแต่ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลนั้นจะพัฒนายกระดับเป็นความไว้เนื้อเชื่อใจในเชิงสถาบันไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างง่ายดายนัก แต่ก็เป็นไปได้ในการเมืองระหว่างประเทศ

เชิงอรรถ

[1] โปรดดู จิตติภัทร พูนขำ, “ย้อนมอง “วิกฤตนิวเคลียร์เกาหลี” ผ่านบทเรียนประวัติศาสตร์ “วิกฤตขีปนาวุธคิวบา”,”

[2] การตัดสินใจยุติการทดลองอาวุธนิวเคลียร์เกิดขึ้นในการประชุมคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์เกาหลีเหนือเมื่อวันศุกร์ที่ 20 เมษายน 2018 โดยคิม จองอึน กล่าวว่าเกาหลีเหนือไม่มีความจำเป็นจะต้องทดลองขีปนาวุธอีกต่อไป เพราะว่ากระบวนการสร้างอาวุธนิวเคลียร์ได้บรรลุผลสำเร็จแล้ว นอกจากนั้นก็ยังมีเป้าหมายเพื่อจะหันมาทุ่มเทการพัฒนาการเติบโตทางเศรษฐกิจของเกาหลีเหนือเป็นสำคัญ แม้ว่าเกาหลีเหนือประกาศว่าจะทำลายสถานที่ทดลองอาวุธนิวเคลียร์ แต่ก็ไม่ได้มีการระบุว่าจะมีแผนการขจัดอาวุธนิวเคลียร์ที่มีอยู่แล้วแต่อย่างใด

[3] Robert O. Keohane, After Hegemony: Cooperation and Discord in the World Political Economy (Princeton: Princeton University Press, 1984).

[4] Brian C. Rathbun, Trust in International Cooperation: International Security Institutions, Domestic Politics and American Multilateralism (Cambridge: Cambridge University Press, 2012).

[5] Nicholas J. Wheeler, Trusting Enemies: Interpersonal Relationships in International Conflicts (Oxford: Oxford University Press, 2018)

[6] Ken Booth and Nicholas J. Wheeler, The Security Dilemma: Fear, Cooperation and Trust in World Politics (New York and Basingstoke: Palgrave Macmillan, 2008).

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save