fbpx
Trump-Kim Summit 2.0: จากสิงคโปร์ถึงฮานอย

Trump-Kim Summit 2.0: จากสิงคโปร์ถึงฮานอย

ปิติ ศรีแสงนาม เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

12 มิถุนายน 2018 การประชุมสุดยอดผู้นำครั้งสำคัญที่สุดที่ทุกฝ่ายจับตามองทั่วโลก ระหว่างประธานาธิบดี Donald Trump แห่งสหรัฐอเมริกา กับผู้นำสูงสุด Kim Jong-un แห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี หรือเกาหลีเหนือ เกิดขึ้น ณ ประเทศสิงคโปร์ พร้อมกับคำมั่นสัญญา 4 ข้อที่ว่า 1) ทั้ง 2 ฝ่ายจะสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างกันขึ้นมาใหม่โดยเน้นการสร้างสันติภาพและความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ  2) สร้างสันติภาพอย่างถาวรในคาบสมุทรเกาหลี  3) เริ่มต้นกระบวนการยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมดในคาบสมุทรเกาหลี (denuclearization) และ 4) ค้นหาและส่งกลับซากชิ้นส่วนและสิ่งของต่างๆ ของกำลังพลที่ตกค้างอยู่ในเกาหลีเหนือตั้งแต่สงครามเกาหลี (ค.ศ.1950-1953) กลับสู่มาตุภูมิ

หลังจากผ่านไปแล้ว 8 เดือน คำมั่นสัญญาทั้ง 4 ข้อ แทบไม่มีความคืบหน้าในการบังคับใช้ ยกเว้นแต่เพียง กล่องจำนวน 55 กล่องที่มีซากชิ้นส่วนและสิ่งของต่างๆ ของกำลังพลที่ตกค้างอยู่ในเกาหลีเหนือ ส่งกลับมาที่สหรัฐอเมริกาในเดือนกรกฎาคม 2018 ซึ่งเป็นเสมือนการส่งสัญญาณที่ดีจากฝ่ายเกาหลีเหนือ เพราะการส่งสิ่งของกลับมาเหล่านี้คือประเด็นทางด้านศีลธรรม การให้ความเคารพกับวีรชนผู้สละชีพจากสงครามตามความเชื่อ ตามอุดมการณ์ของแต่ละประเทศในห้วงเวลานั้น ให้พวกเขาได้กลับมาสู่มาตุภูมิ ให้ลูกหลานและคนที่เคารพรักได้ดำเนินพิธีการทางศาสนา และได้รับการเชิดชูอย่างสมเกียรติ แต่หลังจากนั้นผลงานจากการประชุมสุดยอดผู้นำสหรัฐ – เกาหลีเหนือ ก็ยังคงไม่เห็นความคืบหน้าแต่อย่างใด

แต่ในอนาคตอันใกล้นี้ Trump และ Kim จะพบกันอีกรอบเป็นครั้งที่ 2 โดยมีกำหนดจะพบกันในระหว่างวันที่ 27-28 กุมภาพันธ์ 2019 ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เช่นเดียวกับครั้งแรกที่ประเทศสิงคโปร์ นั่นคือ ไม่มีใครรู้ว่าทั้ง 2 คนจะพบปะหารือกันเรื่องอะไร แต่ที่แน่นอนคือ ทั้ง 2 ฝ่ายต่างเห็นชอบซึ่งกันและกันที่จะจัดการประชุมสุดยอดผู้นำครั้งต่อไปที่ประเทศเวียดนาม

คำถามคือ ทำไมต้องเวียดนาม? ทำไมต้องมาพบกันครั้งที่ 2 ในประชาคมอาเซียน?

จากมุมมองของสหรัฐ

ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงที่สำคัญที่สุดของสหรัฐในศตวรรษที่ 21 คือการปิดล้อมและจำกัดการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีน ประธานาธิบดีแต่ละคนก็มีแนวทางการดำเนินโยบายที่แตกต่างกัน แนวทางการปิดล้อมจีนสำหรับ Barack Obama อาจจะอยู่ในรูปของการวางระเบียบโลก (hegemon) ของสหรัฐ ผ่านข้อตกลงทางการค้าต่างๆ อาทิ Trans-Pacific Partnership (TPP) และ Trans-Atlantic Trade and Investment Partnership (TTIP) เพื่อวางหมากในการลดบทบาททางเศรษฐกิจของจีนในเวทีการค้าและการลงทุนในระดับโลก แต่พอถึงสมัยของ Trump เขานิยมวิธีการที่เห็นผลทันที โดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบในระยะยาวมากนัก อย่างเช่นการใช้มาตรการทางภาษีกีดกันการนำเข้าจากประเทศจีนในรูปแบบของ ‘สงครามการค้า’

ในทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในอดีตสหรัฐคือพันธมิตรหลักของฟิลิปปินส์ ในการให้ความช่วยเหลือด้านความมั่นคงเพื่อต่อต้านจีนในพื้นที่ทับซ้อนในทะเลจีนใต้ แต่หลังจากฟิลิปิปินส์เปลี่ยนผู้นำจาก อดีตประธานาธิบดี Benigno Aquino III สู่ประธานาธิบดี Rodrigo Duterte นโยบายต่อต้านจีนของฟิลิปปินส์ ก็เปลี่ยนเป็นนโยบายแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกันในทรัพยากรธรรมชาติในบริเวณทะเลจีนใต้ นั่นทำให้สหรัฐสูญเสียพันธมิตรทางด้านความมั่นคงในการปิดล้อมจำกัดเขตอิทธิพลของจีนในทะเลจีนใต้ และในบริเวณนี้ถ้าไม่ใช่ ไต้หวัน ก็ดูเหมือนจะมีเพียง เวียดนามเท่านั้น ที่ยังคงเป็นคู่พิพาทกับจีนในบริเวณตะวันตกของทะเลจีนใต้ ที่เวียดนามเรียกว่า Biển Đông หรือทะเลตะวันออก

ดังนั้น การมีปฏิสัมพันธ์กับเวียดนามในฐานะของประเทศที่มีศักยภาพในการปิดล้อมจีน ตามแนวคิด Engage and Containment จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

ภาพแสดงพื้นที่ที่แต่ละประเทศอ้างสิทธิเหนือทะเลจีนใต้

สงครามการค้าที่สหรัฐเริ่มต้นตั้งแต่กรกฎาคม 2018 สร้างความเสียหายในมูลค่าเศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วทั้งภูมิภาคเอเซีย ไม่เฉพาะแต่กับจีนเท่านั้น เวียดนามเองซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานระดับโลก (Global Value Chains: GVCs) ก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน โดย Financial Times Confidential Research คาดการณ์ด้วยซ้ำว่าเวียดนามน่าจะเป็นประเทศในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดจากสงครามการค้าในครั้งนี้

ต้องอย่าลืมว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าจากเวียดนามไปสหรัฐ คิดเป็นกว่าร้อยละ 20 ของ GDP ของประเทศเวียดนาม (ในขณะที่ไทยมีสัดส่วนนี้ไม่ถึงร้อยละ 5) มูลค่าการส่งออกของเวียดนามไปสหรัฐมีมูลค่าสูงถึง 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ดังนั้นผลกระทบจากสงครามการค้าที่สหรัฐในสมัย Trump เป็นผู้ก่อ อาจเป็นการสร้างความไม่พอใจ และเป็นการผลักให้พันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดของสหรัฐในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในกรณีพิพาททะเลจีนใต้ ให้กลับไปสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับจีน (ซึ่งจีนเองก็ต้องการเวียดนามอย่างยิ่งในการต่อให้ครบทุกชิ้นส่วนของแผนการใหญ่ 1 แถบ 1 เส้นทาง)

ดังนั้นสำหรับสหรัฐ การเดินทางเยือนเวียดนามของประธานาธิบดี Donald Trump จึงเป็นหมากบังคับในเกมส์ความสัมพันธ์ทางด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจในระดับโลกเกมส์นี้

จากมุมมองของเกาหลีเหนือ

ถึงแม้กำหนดการและประเด็นที่ผู้นำสูงสุด Kim Jong-un จะประชุมสุดยอดผู้นำกับประธานาธิบดี Donald Trump จะยังไม่มีการเผยแพร่ แต่สิ่งหนึ่งซึ่งค่อนข้างจะแน่นอนแล้วก็คือ ทางการของเกาหลีเหนือต้องการเข้าไปเรียนรู้ประสบการณ์และแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเวียดนาม

ด้วยเวียดนามคือประเทศที่พึ่งจะมีการปฏิรูปเศรษฐกิจ Đổi Mới (อ่านว่า โด่ย เหมย) ในปี 1986 โดยการปฏิรูปในครั้งนั้นและนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลเวียดนามจนถึงปัจจุบัน ทำให้รายได้เฉลี่ยของคนเวียดนาม (ที่ปรับมาตรฐานค่าครองชีพแล้ว, GDP PPP) อยู่ที่เพียง 435 ดอลลาร์สหรัฐ/คน/ปี ในปี 1980 ขยายตัวขึ้นเป็น 6,913 ดอลลาร์สหรัฐ/คน/ปี (GDP PPP) ในปี 2018 หรือโตขึ้นเกือบ 16 เท่าในระยะเวลาเพียงไม่ถึง 1 ชั่วคน (38 ปี) และเปลี่ยนให้ประเทศที่ยากจนติด 1 ใน 10 อันดับของประเทศยากจนที่สุดในโลก กลายเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 31 ของโลก

ทั้งนี้ ในปี 2019 มีการคาดการณ์ว่าเวียดนามจะเป็นประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลกที่อัตราร้อยละ 9 และต้องไม่ลืมว่าทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายใต้ระบบเศรษฐกิจที่เวียดนามเรียกว่า ระบบเศรษฐกิจแบบเปิดตามแนวคิดสังคมนิยม (Socialist-Oriented Market Economy) และยังเกิดขึ้นในประเทศที่มีรูปแบบการปกครองแบบพรรคเดียวตามแนวทางของมาร์กซ์และเลนิน (Unitary Marxist-Leninist one-party socialist republic) โดยพรรคเดียวนี้คือพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม (Communist Party of Vietnam: CPV)

ทั้งหมดนี้คือความฝันต้นแบบการพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่เกาหลีเหนืออยากทำให้เกิดขึ้นภายในประเทศ เพราะต้องไม่ลืมด้วยเช่นกันว่า คำเรียกระบบการปกครองอย่างเป็นทางการของเกาหลีเหนือคือ ระบบ Unitary one-party republic ซึ่งควบคุมโดยพรรคแรงงานเกาหลี (Workers’ Party of Korea: WPK)

หากพิจารณาจากมิติประวัติศาสตร์ เกาหลีเหนือและเวียดนาม สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการตั้งแต่ 31 มกราคม 1950 และลุงโฮจิมินห์ (Ho Chi Minh) วีรบุรุษผู้กอบกู้เอกราชให้กับเวียดนาม กับ Kim Il-sung ประธานาธิบดีตลอดกาลของเกาหลีเหนือ (Eternal President of the Republic) ปู่ของผู้นำสูงสุด Kim Jong-un ก็เป็นสหายร่วมอุดมการณ์เดียวกัน โดยประธาธิบดีโฮ เคยเดินทางไปเยือนเกาหลีเหนือในปี 1957 และ Kim Il-sung ก็เคยเดินทางเยือนเวียดนามในปี 1958 และ 1964 ความสัมพันธ์อันดีระหว่าง 2 ประเทศที่มีมาตั้งแต่รุ่นปู่ ก็ไม่ใช่เรื่องยาก ในการที่จะรื้อฟื้นความสัมพันธ์ในรุ่นหลาน

และหากพิจารณาจากมุมมองความมั่นคงแห่งเกาหลีเหนือ และราชวงศ์ Kim ซึ่งนิยมใช้การโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) ในการควบคุมแนวคิดของประชาชน ประสบการณ์ของเวียดนามคือต้นแบบแห่งความสำเร็จที่เกาหลีเหนือเชิดชูและอยากทำซ้ำ

อย่าลืมว่า หลังจากกองทัพคอมมิวนิสต์เวียดนามชนะฝรั่งเศสในสมรภูมิ Điện Biên Phủ เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 1954 ฝรั่งเศสซึ่งพ่ายแพ้ต้องยอมให้เอกราชกับอินโดจีนใน Geneva Conference 1954 ทำให้เกิดประเทศเอกราช 4 ประเทศ อันได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม (Democratic Republic of Vietnam หรือเวียดนามเหนือ) สาธารณรัฐเวียดนาม (Republic of Vietnam หรือเวียดนามใต้) พระราชอาณาจักรกัมพูชา (the Kingdom of Cambodia) และพระราชอาณาจักรลาว (the Kingdom of Laos) ซึ่งแน่นอนว่าการเกิดขึ้นและการแบ่งแยกประเทศเวียดนามออกเป็นเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ที่เส้นละติจูดที่ 17 ก็เกิดขึ้นจากการแทรกแซงของสหรัฐอเมริกา ซึ่งกำลังหวั่นวิตกกับการขยายอิทธิพลของลัทธิคอมมิวนิสต์ตาม Domino Theory

สหรัฐให้การสนับสนุนเวียดนามใต้ทุกรูปแบบ รวมทั้งตั้ง Ngô Đình Diệm ตัวแทนของสหรัฐขึ้นเป็นประธานาธิบดี และประกาศให้รัศมี 1 กิโลเมตรจากเส้นขนานที่ 17 เป็นเขตปลอดทหาร (De-Militarized Zone: DMZ) เรื่องราวที่เกิดขึ้นแทบจะไม่แตกต่างจากที่เกิดขึ้นในคาบสมุทรเกาหลีในปี 1948 ที่มีการแบ่งประเทศเป็นเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้อย่างชัดเจน อันเป็นผลมาจากความขัดแย้งของประเทศมหาอำนาจ และนำไปสู่สงครามเกาหลี และการประกาศให้เส้นขนานที่ 38 เป็นเขตปลอดทหารระหว่าง 2 ฝ่าย โดยในฝ่ายเกาหลีใต้ Syngman Rhee ซึ่งเป็นฝ่ายนิยมสหรัฐก็ได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดี

ประวัติศาสตร์การแบ่งแยกดินแดนของเวียดนามกับเกาหลีช่างมีความคล้ายกันอย่างยิ่ง เพียงแต่กรณีของเวียดนามการรวมชาติได้เกิดขึ้นแล้ว โดยในสงคราม American-Vietnam คนเวียดนามใต้ที่สนับสนุนแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ หรือกลุ่มที่เรียกว่า Việt Cộng (National Liberation Front) จับอาวุธขึ้นร่วมกับกองทัพ Việt Minh (League for the Independence of Vietnam) จากเวียดนามเหนือ บุกเข้าต่อสู้กับกองทัพสหรัฐจำนวนมากกว่า 5 แสนนายที่ยิ่งใหญ่และทันสมัยที่สุดในโลก จนกระทั่งสหรัฐต้องพ่ายแพ้และถอนกำลังทหารออกจากเวียดนามใต้ในเดือนเมษายน 1975

เรื่องราวเหล่านี้คือเรื่องราวที่ดีที่สุด เหมาะสมที่สุดสำหรับการทำโฆษณาชวนเชื่อในเกาหลีเหนือ เรียนรู้ประวัติศาสตร์เวียดนาม เพื่อปลุกระดมให้คนฝ่ายใต้ ร่วมมือกับฝ่ายเหนือ และเมื่อนั้นอะไรก็หยุดยั้งความร่วมมือนี้ไม่ได้ และเกาหลีก็จะเจริญรุ่งเรืองสืบไป นี่คือแนวทางการโฆษณาชวนเชื่อที่ฝ่ายราชวงศ์ Kim ต้องการอย่างยิ่ง

ภาพถ่ายของ Kim Il-sung คู่กับ Ho Chi Minh ในการเยือนกรุงฮานอยในปี 1958
ภาพถ่ายของ Kim Il-sung คู่กับ Ho Chi Minh ในการเยือนกรุงฮานอยในปี 1958

จากมุมมองของเกาหลีใต้

อีกฝ่ายหนึ่งที่เป็นผู้เล่นสำคัญที่ทำงานอย่างหนัก จนการประชุมสุดยอดผู้นำ Trump – Kim เกิดขึ้น ก็คือคณะทำงานของ Moon Jae-in ประธานาธิบดีแห่งเกาหลีใต้

สำหรับเกาหลีใต้ซึ่งแน่นอนว่ามีสหรัฐเป็นพันธมิตร ถึงแม้จะไม่ซี้ย่ำปึ้กเหมือนสมัยของอดีตประธานาธิบดี Park Geun-hye แต่ผลประโยชน์ร่วมกันของสหรัฐและเกาหลีใต้ ณ ปัจจุบันก็มีอยู่ไม่น้อย และแน่นอนว่าระบบต่อต้านขีปนาวุธ Terminal High-Altitude Area Defence (THAAD) ก็ยังคงติดตั้งอยู่ในสหรัฐ เช่นเดียวกับกองทัพสหรัฐที่ยังทำงานอยู่ในพื้นที่ ในขณะเดียวกันความสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือก็เป็นนโยบายหลักของรัฐบาลเกาหลีใต้ชุดปัจจุบันนี้ด้วยเช่นกัน

เกาหลีเหนือคือส่วนเติมเต็มที่จะเข้ามาแก้ปัญหาต่างๆ ของเกาหลีใต้ได้อย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสังคมสูงวัยเต็มขั้น (Aged Society) ที่เกาหลีใต้กำลังขาดแคลนแรงงาน ขณะเดียวกัน ต้นทุนค่าแรงในเกาหลีใต้ก็สูงมากซะจนขาดความสามารถทางการแข่งขัน เช่นเดียวกับทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นข้อจำกัดของเกาหลีใต้ตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา

ประเด็นที่สำคัญที่สุดคือ หากกระบวนการรวมชาติ (Korean Re-unification) ไม่สามารถทำได้ภายในคนรุ่น Moon Jae-in โอกาสในการรวมชาติก็คงไม่สามารถเกิดขึ้นได้อีกแล้ว เพราะคนรุ่นถัดจากนี้ไม่ได้มีความผูกพันและอาจไม่ได้รู้สึกว่าเกาหลีเหนือเป็นประเทศเดียวกันกับเกาหลีใต้อีกต่อไป แต่คนรุ่นใหม่กลับพิจารณาว่าเกาหลีเหนือคือภัยคุกคามต่อชีวิตเขามากกว่า

การสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับเกาหลีเหนือ คือยุทธศาสตร์แห่งการพัฒนาที่ยั่งยืนของเกาหลีใต้ เพราะเกาหลีเหนือคือความอุดมสมบูรณ์ในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นแรงงานวัยฉกรรจ์ที่มีค่าแรงต่ำ และสามารถพัฒนาคุณภาพได้ง่ายเนื่องจากใช้ภาษาเกาหลีในการสื่อสาร เช่นเดียวกับทรัพยากรธรรมชาติของเกาหลีเหนือที่อุดมสมบูรณ์อย่างยิ่งและยังไม่ได้ถูกนำออกมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ ทองแดง โลหะเงิน สังกะสี เหล็ก แมงกานีส ทองคำ

ที่สำคัญคือ Rare Earth แร่ธาตุสำคัญที่ใช้ในอุตสาหกรรมไฮเทค ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ โทรคมนาคม ยานยนต์ แบตเตอรี่ โซลาเซลล์ หน่วยความจำคอมพิวเตอร์ ฯลฯ

นอกจากนี้ นักธรณีวิทยายังเชื่อว่าเกาหลีเหนือคือประเทศที่มีปริมาณสำรอง Rare Earth มากที่สุดในโลก เท่านั้นยังไม่พอ เกาหลีเหนือยังมีความได้เปรียบในทางทำเลที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ที่จะสามารถเชื่อมโยงเกาหลีใต้เข้าสู่ภูมิภาคเอเซียตะวันออก ดังนั้นการสร้างความเชื่อมโยงไม่ว่าจะเป็นถนน ราง ท่าเรือ สนามบิน และระบบท่อส่งก๊าซ ท่อส่งน้ำมัน และระบบโทรคมนาคม คือโอกาสมหาศาลในการเชื่อมโยงเกาหลีเข้ากับเอเซียตะวันออก

แน่นอนว่าเกาหลีใต้ก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีสถานะเป็นนักลงทุนรายหลักของโลก บริษัทข้ามชาติของเกาหลีใต้จำนวนมากลงทุนในหลายประเทศทั่วโลก มีศักยภาพสูงอย่างยิ่งในการควบคุมห่วงโซ่มูลค่าในระดับโลก (Global Value Chains: GVCs) นั่นทำให้เกาหลีใต้ต้องสร้างพันธมิตรไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ เกาหลีเหนือ และอีกประเทศที่สำคัญยิ่งสำหรับ GVCs ที่ควบคุมโดยเกาหลีใต้นั่นคือ เวียดนาม

นักลงทุนเกาหลีใต้คือนักลงทุนรายหลักที่ลงทุนมากที่สุดในประเทศเวียดนาม ในปี 2017 เกาหลีใต้คือประเทศที่มีมูลค่าการลงทุนสะสมในประเทศเวียดนามสูงที่สุดเป็นอันดับที่ 1 ด้วยมูลค่าการลงทุนสะสมมากกว่า 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ Samsung ใช้เวียดนามเป็นฐานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะจอ LED, หน่วยความจำแบบ SSD, โทรศัพท์มือถือ และจ้างงานในประเทศเวียดนามกว่า 160,000 ตำแหน่ง เช่นเดียวกับ LG, Hyundai, Lotte และบริษัทเกาหลีอื่นๆ ซึ่งคาดว่าภายในปี 2020 จะมีบริษัทเกาหลีจ้างงานในเวียดนามมากกว่า 700,000 ตำแหน่ง

ดังนั้น เพื่อเชื่อมโยงฐานการผลิตในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะเวียดนาม เข้ากับแหล่งทรัพยากรในเกาหลีเหนือ หากมีความร่วมมือในอนาคต และตลาดขนาดใหญ่รวมทั้งแหล่งพัฒนางานวิจัยและการออกแบบในสหรัฐ นี่คือเหตุผลสำคัญที่เกาหลีใต้ต้องบริหารจัดการเพื่อให้การควบคุม GVCs เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

จากมุมมองของจีน

หลังจากที่จีนสามารถสร้างความตกลง New Stage Cooperation กับญี่ปุ่น และจับมือกันไปลงทุนในประเทศที่ 3 นั่นหมายความว่า จีนเองก็ไม่จำเป็นจะต้องกังวลกับสหรัฐมากมายนักในภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิก หรืออินโด-แปซิฟิก เพราะกับประเทศที่เคยมีความขัดแย้งกันมาตลอดประวัติศาสตร์ นาทีนี้ต่างก็มีศัตรูร่วมกัน (Common Enemy) ในเวทีการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ นั่นคือสหรัฐที่เริ่มต้นสงครามการค้า

แน่นอนว่าการจับมือกันของสหรัฐกับเกาหลีใต้ อาจทำให้นโยบายการปฏิสัมพันธ์เพื่อปิดล้อมจำกัดเขตการขยายอิทธิพลของจีนมีพลังมากขึ้น แต่ตราบใดก็ตามที่ในเอเซียตะวันออกยังคงมีเกาหลีเหนือ และผู้นำสูงสุด Kim Jong-un ที่มักจะเดินทางไปพบปะหารือกับผู้นำจีนอยู่เสมอ ทั้งก่อนและหลังการประชุมสุดยอดผู้นำทั้งกับเกาหลีใต้ และกับสหรัฐ การเดินเกมส์เช่นนี้ก็ยังคงทำให้จีนยังสามารถรักษาสถานะมหาอำนาจแห่งเอเซียตะวันออกเอาไว้ได้

สิ่งที่ต้องพิจารณาต่อไปก็คือ ก่อนและหลัง Trump-Kim Summit ครั้งที่ 2 ที่เวียดนามที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 27-28 กุมภาพันธ์นี้ เราจะได้เห็นภาพการหารือระหว่าง Kim กับ Xi Jinping อีกหรือไม่

จากมุมมองของญี่ปุ่น

เช่นเดียวกับที่เคยวิเคราะห์ไว้แล้วในหลายๆ เวที หากเกาหลีทั้ง 2 ฝ่ายสามารถรวมกันได้ นี่คือความท้าทายครั้งใหม่ของญี่ปุ่น โดยเฉพาะในเวทีการค้าและการลงทุนในระดับโลก เช่นเดียวกับประเด็นด้านความมั่นคง ทั้งนี้เพราะไม่ว่าจะมีการประชุมกันกี่ครั้งก็ตาม ทุกฝ่ายจะหารือเฉพาะการลดหรือยกเลิกโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ แต่ไม่เคยมีครั้งไหนเลยที่จะเจรจากันเรื่องขีปนาวุธพิสัยใกล้ จรวด Rodong-1M หรือ Hwasong-9 missile ซึ่งก็มีรัศมีการทำลายล้างถึงประเทศญี่ปุ่น

และในช่วงที่เกาหลีเหนือพัฒนาอาวุธประเภทนี้ ซึ่งต่อยอดมากจาก Scud missile ของรัสเซีย เชื่อว่าเกาหลีเหนือมีจรวดชนิดนี้มากกว่า 200 ลูก (ถึงแม้ปัจจุบันอาจจะมีที่ยังใช้งานได้และติดตั้งแล้วไม่ถึง 100 ลูก) แต่นี่คือภัยคุกคามสำหรับญี่ปุ่นอย่างแน่นอน

จากมุมมองของอาเซียน

แน่นอนว่าการเจรจาทั้ง 2 ครั้ง ไม่ว่าจะเป็นที่สิงคโปร์ และที่เวียดนาม เป็นการยืนยันตำแหน่งแห่งหนและความสำคัญของอาเซียน ว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือจุดศูนย์กลางของยุทธศาสตร์หลักของโลก โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่ทุกคนกำลังพูดถึง อินโด-แปซิฟิก ประเทศสมาชิกอาเซียนยังคงมีความสามารถในการเป็นสะพานที่จะเชื่อมโยงช่องว่างต่างๆ (Bridging) และนำไปสู่การหาข้อยุติปัญหาต่างๆ (Solutions) ได้ อย่างที่เคยเป็นมาตลอดประวัติศาสตร์การเกิดขึ้นของอาเซียน

ดังนั้น ไทยในฐานะประธานอาเซียนต้องวางตัวและทำงานให้หนัก เพื่อวางตำแหน่งของอาเซียนให้มีนัยสำคัญต่อเวทีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้มีประสิทธิภาพสูงสุดต่อไปตลอดทั้งปี 2019 นี้

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

9 Mar 2018

สีจิ้นผิงมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?

อาร์ม ตั้งนิรันดร วิเคราะห์เส้นทางการเมืองของสีจิ้นผิง ผู้นำสูงสุดของจีนที่สามารถรวบอำนาจมาอยู่ในมือได้สำเร็จเด็ดขาด สีจิ้นผิงมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร? และสุดท้ายเขาจะพาจีนพังกันหมดหรือไม่?

อาร์ม ตั้งนิรันดร

9 Mar 2018

World

17 Jul 2020

ร่วมรากแต่ขัดแย้ง ความบาดหมางระหว่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย

อรอนงค์ ทิพย์พิมล เขียนถึงความขัดแย้งระหว่างประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย ที่ทั้งสองประเทศมีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมร่วมกันหลายอย่าง จนนำไปสู่ความขัดแย้งในการช่วงชิงความเป็นเจ้าของภาษาและวัฒนธรรมมลายู

อรอนงค์ ทิพย์พิมล

17 Jul 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save