fbpx
การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2020 : ทรัมป์จะถล่มหรือพังทลาย

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2020 : ทรัมป์จะถล่มหรือพังทลาย

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ในที่สุดโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็ประกาศเปิดตัวชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกเป็นสมัยที่สองในเดือนมิถุนายน การประกาศครั้งนี้กล่าวได้ว่าเป็นการเดินเกมรุกอีกครั้งของทรัมป์นับแต่เข้ารับตำแหน่งแห่งอำนาจอันใหญ่โตระดับโลก

นับตั้งแต่วันที่ทรัมป์เข้ารับตำแหน่ง ผู้สังเกตการณ์และนักวิจารณ์การเมืองประเมินว่าทรัมป์ไม่น่าจะรอดในศึกการเมืองทำเนียบขาวกับแคปิตอลฮิลล์ เพราะความซับซ้อนและผลประโยชน์ที่ทับซ้อนกันไปมา รวมถึงท่วงทำนองที่เขาใช้วิพากษ์วิจารณ์คนอื่นๆ ทั้งนักการเมือง กลุ่มประชาสังคม รวมถึงสื่อมวลชนยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย ซึ่งรวมๆ แล้วเขาสร้างศัตรูไว้มากกว่ามิตรเสียอีก

ทรัมป์ใช้วิธีการเหล่านั้นอย่างช่ำชองและได้ผลในการดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ภายใต้ยี่ห้อตระกูลทรัมป์ แม้หลายโครงการขาดทุนแทบล้มละลาย แต่เขาก็สามารถเอาตัวและธุรกิจตระกูลรอดมาได้ทุกครั้ง ผมจึงสรุปการบริหารและดำเนินงานของรัฐบาลทรัมป์ว่า โดยเนื้อหาแล้วคือการดำเนินธุรกิจครอบครัวในคราบของรัฐบาลสหรัฐฯ

นี่เป็นครั้งแรกก็ว่าได้ที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่เปลี่ยนตัวตนเดิมเพื่อแปลงร่างไปเป็นผู้นำประเทศอันมีภาพลักษณ์พิเศษและกริยามารยาทที่เหมาะสมกับการเป็นผู้นำของโลกด้วย ตรงกันข้าม ทรัมป์ยืนกรานที่จะบริหารและดำเนินกิจการในทำเนียบขาวเหมือนกับที่เคยทำในทรัมป์ทาวเวอร์  สิ่งที่ทำให้ผู้คนรอบข้างและทั่วโลกกำลังวิตกกังวลกันมากคือ ดูเหมือนว่าทรัมป์ค่อนข้างประสบความสำเร็จในการทำตามความพอใจของเขา

การประกาศเปิดการรณรงค์การเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2020 อย่างเป็นทางการ ในวันที่ 18 มิถุนายน อันเป็นวันครบรอบสี่ปีที่ทรัมป์ประกาศเปิดตัวลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีครั้งแรก ณ ตีกทรัมป์ทาวเวอร์ กรุงนิวยอร์ก เป็นการตอกย้ำความมั่นใจในศักยภาพการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของเขา ในอดีตนั้น เขาเปิดการรณรงค์เลือกตั้งด้วยการถ่ายภาพเขากับทีมเดินบนบันไดเลื่อน ซึ่งต้องจ้างดาราและนักแสดงมีชื่อหลายคนให้มาร่วมงานวันนั้น ตอนนั้นไม่มีใครให้ความสนใจอย่างจริงจังกับการเปิดตัวของทรัมป์ เพราะคิดว่าคงเป็นกลเม็ดในธุรกิจการโฆษณาขายสินค้าของทรัมป์อีกเรื่องเท่านั้น

แต่เมื่อดูงานเปิดตัวการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งครั้งที่สองในรัฐฟลอริดา คราวนี้มีประชาชนหลายหมื่นคนมารอฟังการปราศรัยของเขา เป็นภาพและบรรยากาศที่แตกต่างและตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงกับเมื่อสี่ปีที่แล้ว คราวนี้ไม่มีใครปรามาสหรือดูแคลนการเปิดตัวรณรงค์ของทรัมป์อีกต่อไป ทุกคนต่างตั้งใจฟังและติดตามการปราศรัยของเขาอย่างเต็มที่ ว่าคราวนี้เขาจะมีนโยบายอะไรที่ท้าทายกว่าของเดิมอีกไหม

กล่าวโดยรวม ทรัมป์ในฐานะที่กำลังเป็นประธานาธิบดี ไม่ได้เสนอนโยบายอะไรที่ใหม่หรือมีผลกระเทือนสำคัญต่อพัฒนาการของสหรัฐฯ ในอนาคตแต่ประการใด นักวิจารณ์การเมืองมองว่านี่เป็นข้อด้อยของเขา ที่ไม่อาจนำเสนอนโยบายหรือแผนงานการปรับปรุงประเทศในหลายๆ ด้านออกมาได้ เพราะตามธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมา คนที่อยู่ในตำแหน่งประธานาธิบดี คุมหน่วยงานของรัฐได้ทั้งหมด มีทรัพยากรทั้งบุคคล มันสมองและพลังเงินงบประมาณมหาศาล ควรจะต้องเสนอนโยบายหรือแผนงานอะไรที่ดลใจและตอบโจทย์ของประเทศและประชาชนได้บ้าง

แต่นี่คือบุคลิกและตัวตนอันแท้จริงของทรัมป์ เขาไม่เคยรับเอาแนวความคิดและนโยบายอะไรที่เป็นของคนอื่น เขาต้องเป็นคนคิดเองและทำเอง คนอื่นในทีมงานในทำเนียบขาวและในคณะรัฐมนตรีล้วนเป็นลูกน้องและลูกมือจริงๆ คือรับฟังและทำตามที่เขาบอกและสั่งเท่านั้น ไม่ต้องมาคิดแทนเขา

นั่นคือเหตุผลสำคัญที่อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน ซึ่งเป็นถึงซีอีโอใหญ่ของบรรษัทเอ็กซอนที่ทรัมป์เชิญมาร่วมรัฐบาลทนอยู่กับเขาไม่ได้ เพราะขัดแย้งและกระทบกระทั่งกันมาตลอด ถึงขนาดว่าทิลเลอร์สันต้องทวีตว่าทรัมป์เป็นไอ้งั่งที่ไม่มีสมอง เขาจึงเป็นรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศที่อายุสั้นที่สุด (เพียง 14 เดือน) แล้วถูกไล่ออกด้วย ไม่ใช่ให้ลาออกเอง

ทั้งหมดที่ทรัมป์พูดในการปราศรัยเปิดตัวการลงสมัครเป็นประธานาธิบดีอีกวาระ จึงเป็นเรื่องเก่าที่เขาถนัดและเชื่อว่าดึงดูดใจผู้สนับสนุนได้เป็นอย่างดี นั่นคือการโจมตีฝ่ายที่ทรัมป์เรียกว่าเป็น “ศัตรูของประชาชน” กลุ่มแรกคือสื่อมวลชนปลอม (fake news) อีกกลุ่มคือนักการเมืองฝ่ายเดโมแครตที่ทรัมป์ป้ายสีว่าเป็นพวก “สังคมนิยม” ซึ่งหาเรื่องเล่นงานเขาด้วยการสร้างข้อมูลว่าเขาร่วมมือกับสายลับรัสเซียในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งที่แล้ว จนคณะอัยการพิเศษมุลเลอร์กับการสอบสวนของเขากลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วประเทศ ทรัมป์อ้างตลอดเวลาว่าการสอบสวนสรุปแล้วว่าเขาไม่มีความผิด ไม่ได้ร่วมมือกับรัสเซีย ดังนั้นเขาจึงเป็นผู้บริสุทธิ์และเป็นเหยื่ออธรรมในงานนี้

ทรัมป์มีลูกเล่นสำคัญเสมอในการปราศรัย ช่วงปิดท้ายการปลุกระดมมวลชนขวาสุดขั้วของเขา ทรัมป์ประกาศว่า “พวกนั้นจะทำลายผม ทำลายประเทศเรา และทำลายประชาชน คือพวกคุณ” เท่านั้นเองมวลชนเสื้อแดง (สีพรรครีพับลิกัน) ก็พากันโห่ร้องตบมือเป็นการใหญ่ ตามมาด้วยการประกาศขอประชามติว่าจะใช้คำขวัญอะไรในการหาเสียงครั้งนี้ เขาถามว่าจะ “รักษาอเมริกาให้ยิ่งใหญ่ต่อไป” ไหม (Keep America Great Again) แน่นอนเสียงตอบรับดังสนั่นว่า “อเมริกายิ่งใหญ่” ทุกอย่างเข้าทางของทรัมป์อย่างหมดจด

ไม่น่าเชื่อว่าพรรครีพับลิกันจะแปรสภาพมาใกล้เคียงกับพรรคพลังประชารัฐไปได้ในที่สุด

อีกเรื่องที่กลายมาเป็นอาวุธอันทรงพลังให้ทรัมป์ ทั้งในฐานะรัฐบาลและในฐานะของนักหาเสียง คือการปลุกระดมและเติมสีให้กับปัญหาเรื่องผู้อพยพและคนเข้าเมือง ส่วนใหญ่เป็นพวกฮิสแปนิคเชื้อสายสเปนจากอเมริกากลาง ทรัมป์ใช้ประเด็นนี้ในวันกล่าวสุนทรพจน์รับตำแหน่งประธานาธิบดี และสร้างนิทานหลอกคนอเมริกันว่าคนเหล่านั้นคือพวกนักข่มขืน ฆาตกร นักค้ายาเสพติด และอันธพาลครองเมือง ที่ได้กระทำเรื่องเลวร้ายทั้งหลายให้กับคนผิวขาวมาเยอะแล้ว พร้อมกับยกตัวอย่างแก๊งมาเฟียในแคลิฟอร์เนียเป็นตัวอย่าง

ล่าสุดทรัมป์ออกคำสั่งให้สร้างกำแพงตลอดพรมแดนติดกับเม็กซิโก (แต่ไม่ผ่านสภาคองเกรสเพราะเดโมแครตคัดค้านอยู่ ล่าสุดศาลสหพันธ์มีคำวินิจฉัยว่าทรัมป์ไม่สามารถผันเงินงบประมาณจากกลาโหมไปใช้ในการสร้างกำแพง เพราะผิดวัตถุประสงค์) ทรัมป์ยกระดับการโจมตีและสร้างความน่ากลัวให้กับขบวนชาวบ้านจากอเมริกากลางที่พากันเดินทางเข้าเม็กซิโกเพื่อมาขอลี้ภัยในอเมริกา ทรัมป์สั่งให้ส่งกลับไปเม็กซิโกให้หมด ดำเนินการแยกพ่อแม่ลูกออกจากกัน เพื่อจะทำให้พวกนั้นไม่กล้าหลบเข้าประเทศอีก แต่สถานการณ์กลับยิ่งทวีความหนักหน่วงขึ้นเพราะผู้อพยพยิ่งมากันเพิ่มมากขึ้น แทนที่จะลดน้อยลง ล่าสุดสถานการณ์การจัดการผู้อพยพลี้ภัยในศูนย์ที่ชายแดน ไม่อาจรับมือกับจำนวนคนที่สูงมากได้ ภาพที่ปรากฏออกมาคือการให้เด็กๆ พักอาศัยในค่ายที่ไม่มีอุปกรณ์ที่พักอาศัยเพียงพอ เรื่องนี้จะเป็นผลงานโบว์ดำของทรัมป์ ไม่ว่าผลจะออกมาในทางลบหรือบวกก็ตาม มันจะเป็นตราประทับในประวัติศาสตร์ว่าด้วยผู้อพยพที่จะมีการพูดถึงมากที่สุด

จากนั้นทรัมป์ก็อภิปรายถึงผลงานและความสำเร็จในตำแหน่งประธานาธิบดีของเขา ได้แก่การสร้างงานเพิ่ม การที่ตลาดหุ้นดาวโจนส์ตอบรับเป็นอย่างดี การลดภาษี (ซึ่งคนรวยได้ประโยชน์ไปเต็มๆ) การถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีสเรื่องโลกร้อน แต่พูดไปไม่เท่าไร เขาสังเกตเห็นมวลชนของเขาเริ่มหมดความสนใจในการฟังและหงอยเหงาลงไป ทรัมป์จึงรีบเปลี่ยนประเด็นพูด เลิกเรื่องหนักๆ กลับไปหาเรื่องด่าฝ่ายตรงข้ามเหมือนแต่แรก ซึ่งก็ได้ผล พอเขาเอ่ยชื่อศัตรูคู่อาฆาตเก่าอย่างฮิลลารี คลินตัน กับอีเมลสามหมื่นฉบับที่ผิดกฎหมาย มวลชนทรัมป์ก็ตะโกนแบบสองปีก่อน “จับเข้าคุกเลย” (lock her up!!) ทรัมป์ใช้เวลาหลายนาทีในการประณามฮิลลารี ซึ่งเธอก็ไม่ได้จะเป็นผู้สมัครในการเลือกตั้งปีหน้าอยู่แล้ว ผู้สังเกตการณ์จึงงุนงงว่าไปโจมตีเธอทำไม นอกจากเป็นความอับจนกับการหาคนอื่นที่มวลชนมีความรู้สึกอย่างฝังหัวแบบฮิลลารีไม่ได้แล้วกระมัง (คงเหมือนกับการโจมตีในการเมืองไทย ที่มวลชนฝ่ายอนุรักษนิยมและปฏิกิริยามีความรู้สึกฝังหัวกับทักษิณ ด่าและโยงไปได้ทุกเรื่อง)

ประเมินจากการเปิดตัวการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีของทรัมป์ เป็นอันแน่นอนว่าพรรครีพับลิกันจะส่งโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีลงรับเลือกตั้งอีกสมัย ซึ่งเป็นธรรมเนียมอยู่แล้วว่าประธานาธิบดีในขณะนั้นล้วนได้รับฉันทานุมัติโดยอัตโนมัติในการเข้ารับการเลือกตั้งต่ออีกสมัย ในกรณีของทรัมป์ หลายคนคาดและภาวนาว่าเขาจะประสบความล้มเหลวจากการทำงาน ท่าทีที่ผ่านมา ไปจนถึงการไม่เคารพนับถือประเพณีที่ดีงามของระบบการเมืองในวอชิงตัน ทำให้เขาจะต้องมีอันเป็นไป หรือกระทั่งถูกสภาคองเกรสถอดถอนเสียก่อนที่จะได้รับการเสนอชื่อให้เข้ารับการเลือกตั้งสมัยที่สองต่อไป

แต่มาถึงวันนี้ อุบัติเหตุและหายนะอะไรก็ดูท่าจะไม่เกิด แม้จะมีเสียงกล่าวหาเขาไม่น้อยเรื่องการลวนลามสตรี การคดโกงในการทำธุรกิจต่างๆ ของเขา และคำโกหกที่เขาใช้แทบทุกวัน ทั้งหมดนี้ไม่ทำให้เขาสูญเสียการสนับสนุนจากสมาชิกพรรครีพับลิกันทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ไปถึงฐานเสียงในรัฐทางตะวันตกตอนกลางและทางใต้

นี่เป็นเรื่องอัศจรรย์ในการเมืองอเมริกันยุคระเบียบโลกง่อนแง่น เพราะทรัมป์ไม่เคยได้คะแนนเสียงยอมรับการเป็นประธานาธิบดีเกินร้อยละ 50 เลยนับแต่วันแรกที่เข้ารับตำแหน่งจนถึงปัจจุบัน (เป็นคนแรก) สะท้อนว่าเขาเป็นตัวแทนของมวลชนที่แตกแยกกันอย่างชัดเจน ระหว่างฝ่ายเอาทรัมป์กับฝ่ายไม่เอาทรัมป์ สหรัฐฯ จึงเป็นประเทศอกแตกในขณะนี้

ด้วยท่าทีและจุดยืนทางนโยบายที่ไม่ชัดเจนของทรัมป์ในการเลือกตั้ง ทำให้คนที่หวังและสนับสนุนนักการเมืองพรรคเดโมแครตที่จะเข้าต่อกรและแข่งขันกับทรัมป์ในปีหน้า ต้องเผชิญความยากลำบากในการคัดเลือกผู้สมัครที่จะเป็นตัวเก็ง ดังเห็นได้จากการเปิดเวทีโต้วาทีระหว่างผู้สมัคร 20 คนของพรรคเดโมแครตเมื่อปลายเดือนมิถุนายน เพื่อให้แต่ละคนเสนอแนวทางและนโยบาย ไปถึงความเป็นได้ในการจะเอาชนะทรัมป์ต่อสาธารณชน

เมื่อเทียบกับการเปิดตัวของทรัมป์แล้ว รู้สึกได้ว่าพรรคเดโมแครตยังไม่อาจหาผู้สมัครที่มือดีระดับที่จะออกไปถล่มทรัมป์ได้แน่นอน การที่มีผู้ลงสมัครมากมายก็มาจากการที่พรรคขาดตัวเต็งหรือดาวสภาที่โดดเด่นเหนือคนอื่นๆ ได้ โอกาสจึงเปิดสำหรับผู้สมัครซึ่งเชื่อว่าตัวเองมีศักยภาพและฝีมือโดดเด่นพอ โดยต่างพากันเดินแถวเสนอตัวอย่างเต็มที่

ข้อนี้เป็นจุดเด่นหนึ่งของระบบประชาธิปไตยอเมริกา ว่าการเสนอชื่อผู้สมัครเข้ารับการเลือกตั้งนั้น ไม่ใช่อำนาจอภิสิทธิ์ของแกนนำและฝ่ายนำในพรรคแต่ประการใด หากแต่คนที่จะตัดสินว่าใครควรจะได้เป็นผู้สมัครในนามพรรค ก็คือสมาชิกพรรคและประชาชนทั่วไป นี่คือระบบที่เราอยากเอามาใช้ เรียกว่า “ไพรมารี่” หรือการเลือกตั้งขั้นต้น หรือปฐมภูมิ ซึ่งกว่าจะลงรากปักฐานและปฏิบัติได้ผลจริงๆ ก็ใช้เวลาหลายทศวรรษ แต่ที่สำคัญคือการที่อเมริกามีความต่อเนื่องของระบอบการเมืองประชาธิปไตยแบบเดียว ไม่มีแบบกึ่งๆ หรือกึ่งดิบกึ่งดี ทำให้บรรดาแกนนำในพรรคการเมืองยินยอมยกอภิสิทธิ์และอำนาจในการยึดกุมพรรคให้แก่ประชาชน

อีกปัจจัยที่ช่วยรักษาระบอบการเมืองให้ดำเนินต่อไปได้ แม้ไม่ดีเลิศก็ตาม คือการที่กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินไม่กระจุกรวมศูนย์ในกลุ่มคนจำนวนน้อย หากแต่กระจายไปยังคนข้างล่างๆ ได้ตามอัตภาพและความสามารถ เมื่อไม่มีใครที่อยู่ตระกูลเดียวกันหรือสองตระกูลผูกขาดทรัพย์สินในประเทศได้ โอกาสในการประนีประนอมและต่อรองผลประโยชน์ในนโยบายก็กระทำได้ ไม่ต้องไปหาเรื่องให้มีการยึดอำนาจโดยกองกำลังที่ควรใช้ในการรบนอกประเทศอย่างบางประเทศแถวนี้

การโต้วาทีวันแรกของสมาชิกพรรคเดโมแครตจึงดำเนินไปอย่างไม่ถึงใจผู้ชมสักเท่าไร รายชื่อส่วนใหญ่ผมแทบไม่รู้จักเลย หลายคนเป็นอดีตผู้ว่าการมลรัฐ เป็นรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลประธานาธิบดีโอบามา เป็นนายกเทศมนตรี เป็นต้น ซึ่งแสดงวิสัยทัศน์ได้ดี มีประสบการณ์และรู้ปัญหาการจัดการในประเทศ ไม่ว่าเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การควบคุมอาวุธปืน ระบบภาษีก้าวหน้า และที่สำคัญต่อประชาชนฝ่ายเสรีนิยมและก้าวหน้าหน่อย คือเรื่องการทำแท้ง สิทธิในเพศสภาพทั้งหลาย และที่กำลังประทุเป็นไฟอยู่คือเรื่องคนเข้าเมืองทั้งผิดและถูกกฎหมาย ซึ่งทรัมป์ชูเป็นประเด็นว่าเป็นงานหลักที่ได้ทำมาสองปีนี้ และจะทำต่อไป คือการไล่และกีดกันคนจากอเมริกากลางไม่ให้เข้าประเทศอเมริกาได้ง่ายๆ ส่วนเดโมแครตก็ชูประเด็นว่าจะต่อสู้เพื่อสิทธิของผู้อพยพเข้าเมือง ทั้งที่อยู่ก่อนแล้วและที่กำลังจะเข้ามาอีก

สำหรับวันแรก คนที่ให้ผมให้คะแนนนำคืออลิซาเบธ วอร์เรน สมาชิกวุฒิสภาจากแมสซาชูเซตส์ ซึ่งเป็นสมาชิกระดับอาวุโสของเดโมแครต เธอประกาศจะลงแข่งตำแหน่งประธานาธิบดีหลังจากทรัมป์ได้ตำแหน่ง ทำให้ตกเป็นขี้ปากให้ทรัมป์มาพักใหญ่ เรื่องที่ทรัมป์นำมาล้อเลียนและหาเรื่องป้ายสีเธอ ได้แก่ประวัติชีวิตที่วอร์เรนยกมาทำให้ดูมีน้ำหนัก คือการเป็นคนมีเชื้อสายอินเดียน ทรัมป์เลยตั้งสมญานามให้เธอว่า “โพคาฮอนตัส” ซึ่งคนอเมริกันรู้จัก ไม่ใช่จากประวัติศาสตร์ว่าเธอคือลูกสาวของหัวหน้าอินเดียนเผ่าแรกที่คนผิวขาวยุคแรกในอาณานิคมเวอร์จิเนียมาพบและคบหากันอย่างมิตร ถึงกับยกโพคาฮอนตัสให้เป็นเมียจอห์น รอล์ฟ ผู้นำการปลูกยาสูบในเวอร์จิเนีย แต่คนรู้จักเรื่องนี้จากหนังการ์ตูนวอลท์ ดิสนีย์

การโต้วาทีวันที่สองเริ่มมีสีสันมากขึ้น เมื่อมีผู้สมัครตัวเต็งอย่างอดีตรองประธานาธิบดีโจ ไบเดน และวุฒิสมาชิกเบอร์นี แซนเดอร์ส เข้าร่วมรายการด้วย กระนั้นก็ตาม การอภิปรายและแสดงความเห็นของแต่ละคนก็ยังไม่ดุเดือดเผ็ดมัน เพราะสมาชิกพรรคเดโมแครตทุกคนมีแนวทางและอุดมการณ์การเมืองใหญ่อันเดียวกัน ต่างกันในระดับและความเข้มข้นว่ามากน้อยแค่ไหน เช่นในปัญหาหลักประกันสุขภาพ สิทธิการทำแท้ง ผู้อพยพเข้าเมือง สิทธิทางเพศสภาพ ฯลฯ

จนกระทั่งมีคำวิจารณ์หนึ่งที่พาดพิงถึงคนผิวดำในอเมริกา แล้วนาทีทองก็มาถึง เมื่อวุฒิสมาชิกกามาลา แฮร์ริส (Kamala Harris) แห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย ขออภิปรายเรื่องนี้อย่างละเอียด เพราะมันพาดพิงถึงเธอโดยตรง

 

กามาลา แฮริส ในวัยเด็ก (คนซ้าย) กับน้องสาวและแม่ของเธอ / ภาพจาก Associated Press

 

เธอกล่าวว่าตัวเองเป็นสตรีผิวดำคนเดียวในบรรดาผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบนี้ ทำให้การพูดของเธอมีน้ำหนักขึ้นมาทันที เธอโยงไปถึงอดีตรองประธานาธิบดีโจ ไบเดน ซึ่งเมื่อหลายวันก่อนออกมาเล่าถึงอดีตว่าเขาเคยทำงานร่วมกับสมาชิกสภาคองเกรสรีพับลิกันที่เป็น “นักแบ่งแยกสีผิว” (segregationist) ในการผ่านกฎหมาย จุดประสงค์ของไบเดนในการโอ้อวดสรรพคุณดังกล่าวของเขา ต้องการส่งสารไปยังคนที่ต่อต้านเขาว่าเป็นเสรีนิยมหรือเอียงซ้ายเพราะเคยทำงานร่วมกับประธานาธิบดีโอบามา ซึ่งรีพับลิกันโจมตีว่านำเอานโยบายแบบสังคมนิยมมาใช้ ไบเดนคงไม่คิดว่าจะมีนัยอะไรที่จะย้อนมาบ่อนทำลายสรรพคุณของเขามากนัก นอกจากจะบอกว่าเขาเดินสายกลางและเป็นนักปฏิบัติ มุ่งผลงานเพื่อแก้ปัญหาประเทศมากกว่าการยึดอุดมการณ์ของพรรคหรือกลุ่มสังคมใดๆ ถ่ายเดียว

แฮร์ริสไม่สนใจในเส้นแบ่งที่ว่านี้ เธอพุ่งหอกของคำวิจารณ์ที่สกัดมาจากประสบการณ์ตรงในชีวิตของเธอสมัยเป็นนักเรียนในรัฐแคลิฟอร์เนีย และต้องรับกรรมจากนโยบายรถโรงเรียน (Busing) หลังจากที่ศาลสูงสุดสหรัฐฯ ในปี 1954 ที่ได้กลับคำพิพากษาของศาลสูงสุดก่อนนี้ ที่บอกว่า “การแบ่งแยก” ระหว่างคนผิวดำกับผิวขาวในโรงเรียนของรัฐนั้นชอบธรรม เพราะรัฐจัดการให้คนทั้งสองผิวอย่างเท่าเทียม “เพียงแต่แยกกันเท่านั้น” (separate but equal) มาเป็นว่าการแบ่งแยกการศึกษาบนฐานเชื้อชาตินั้นเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญ หมายความว่า นักเรียนผิวดำสามารถเข้าโรงเรียนของรัฐที่มีคนผิวขาวเป็นส่วนใหญ่ได้อย่างเสมอภาค แต่ในทางปฏิบัติ รัฐทางใต้พยายามหาทางต่อต้านและสกัดกั้นนโยบายใหม่นี้ไม่ให้ส่งผลได้ง่ายๆ

ส่วนรัฐและเมืองที่สนับสนุนนโยบายความเท่าเทียมทางเชื้อชาตินี้ จึงหาทางแก้ด้วยการใช้นโยบายรถโรงเรียนเพื่อขนนักเรียนผิวดำไปเรียนในโรงเรียนที่มีคนผิวขาวอยู่มาก ด้วยหวังจะทำลายการแบ่งแยกทางเชื้อชาติ แต่รถโรงเรียนก็สร้างปัญหาใหม่ คือการพาเด็กนักเรียนผิวดำไปยังโรงเรียนที่คนผิวขาวเรียนด้วย แต่อยู่ไกลออกไปจากบ้านของพวกเขา ซึ่งการหาโรงเรียนดังกล่าวก็ลำบาก เพราะผู้ปกครองผิวขาวประท้วงด้วยการเอาลูกออกจากโรงเรียนเป็นการใหญ่ ทำให้การนั่งรถโรงเรียนกลายเป็นอะไรที่ไม่สนุกเลยสำหรับเด็กนักเรียนผิวดำ เพราะต้องเดินทางไกลจากบ้านในแต่ละวัน

 

แฮร์ริสกับกลุ่มเพื่อนผิวสี ขณะกำลังขึ้นรถโรงเรียนไปยังโรงเรียนคนผิวขาวที่อยู่ห่างออกไป  / ภาพจาก The New York Times

 

แฮร์ริสเล่าว่าเธอใช้เวลาเดินทางเป็นชั่วโมงในรถ เล่นเกมกับเพื่อนเพื่อฆ่าเวลากว่าจะถึง ข้อวิจารณ์นี้สะท้อนปัญหาการบังคับใช้กฎหมายเรื่องเชื้อชาติว่าไม่ยืนหยัดกระทำอย่างเต็มที่ เพราะนักการเมืองอย่างโจ ไบเดน พากันประนีประนอมกับพวก “แบ่งแยกสีผิว” เธอกล่าวว่าไม่อยากเรียกไบเดนว่าเป็นนักเหยียดผิว (racist) “แต่คุณรู้ไหมว่า มีเด็กนักเรียนน้อยคนหนึ่งในแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคนชั้นสอง ที่ต้องเข้าร่วมนโยบายบูรณาการในการศึกษาด้วยการถูกให้นั่งรถโรงเรียนทุกวัน เด็กคนนั้นคือข้าพเจ้านั่นเอง”

วรรคทองนี้เรียกคะแนนจากผู้สนับสนุนแฮร์ริสให้เพิ่มขึ้นไม่น้อย รวมทั้งเงินบริจาคสำหรับการรณรงค์ด้วย ประเด็นนี้ทำให้จุดยืนเรื่องนโยบายคนผิวดำของโจ ไบเดน สั่นสะเทือน นี่เป็นฐานเสียงหนึ่งที่เขาคาดหวังว่าจะได้มาสนับสนุนการเลือกตั้งเหมือนสมัยที่โอบามาเคยได้รับ การขับเคี่ยวในการเลือกตั้งไพรมารี่ของพรรคเดโมแครตเพิ่งเริ่มต้น ยังมีเวลาและเนื้อเรื่องอีกมากที่รอเวลาที่จะถูกนำขึ้นมาเป็นวรรคทอง หรือคำขวัญที่ดลใจผู้ลงคะแนนเสียง

ทั้งหมดเป็นเรื่องราวของการเลือกตั้งในอเมริกา ซึ่งคาดเดาไม่ถูกว่าจะออกมาอย่างไรจนกว่าจะถึงวันที่ผู้ลงคะแนนเสียงตัดสินใจ ไม่ใช่เจ้าพ่อหรือเจ้าแม่หรือผู้มีอิทธิพลคนใดคนหนึ่งจะบันดาลให้ได้ ประชาธิปไตยในอเมริกาจึงเป็นเรื่องง่ายแต่ยาก กว่าจะได้ตามใจปรารถนา

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

17 Jul 2020

ร่วมรากแต่ขัดแย้ง ความบาดหมางระหว่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย

อรอนงค์ ทิพย์พิมล เขียนถึงความขัดแย้งระหว่างประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย ที่ทั้งสองประเทศมีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมร่วมกันหลายอย่าง จนนำไปสู่ความขัดแย้งในการช่วงชิงความเป็นเจ้าของภาษาและวัฒนธรรมมลายู

อรอนงค์ ทิพย์พิมล

17 Jul 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save