fbpx
เบื้องหลังนโยบายการเมืองระหว่างประเทศของโดนัลด์ ทรัมป์ : เมื่อการเมืองภายในสหรัฐฯ สั่นสะเทือนการเมืองโลก

เบื้องหลังนโยบายการเมืองระหว่างประเทศของโดนัลด์ ทรัมป์ : เมื่อการเมืองภายในสหรัฐฯ สั่นสะเทือนการเมืองโลก

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

เกิดอะไรขึ้นกับการดำเนินนโยบายการเมืองระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ภายใต้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ คือคำถามที่ผู้เชี่ยวชาญการเมืองระหว่างประเทศ ผู้สังเกตการณ์ รวมไปถึงสื่อมวลชน พากันออกมาแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรมและการกระทำของทรัมป์ในระยะเวลาสองปีที่ผ่านมา

หลังจากเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี สิ่งที่ทรัมป์กระทำโดยที่ผู้คนคาดไม่ถึง คือการลดระดับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับสหภาพยุโรป (อียู) ถอนตัวออกจากสัญญาลดโลกร้อนปารีส ขณะเดียวกันก็เพิ่มความสัมพันธ์ทั้งทางเศรษฐกิจและการทหารกับซาอุดิอาระเบียขนานใหญ่ ประกาศย้ายสถานทูตสหรัฐฯ ไปกรุงเยรูซาเล็ม ทำให้อิสราเอลยกฐานะเหนือกว่าปาเลสไตน์และประเทศอาหรับทั้งหลายในความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ การกระทำดังกล่าวนี้ทำให้รัฐบาลทรัมป์เป็นรัฐบาลที่เอียงขวา และสนับสนุนยิวกับซาอุดิอาระเบียที่ขวาจัดเหมือนกัน

ในฝั่งเอเชีย ทรัมป์สร้างความประหลาดใจให้แก่ประชาคมโลก เมื่อเขาเริ่มต้นด้วยการประณามและตอบโต้การทดลองยิงขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ ถึงกับขู่ว่าอเมริกาอาจใช้กำลังเข้าจัดการกับเกาหลีเหนือหากจำเป็น สร้างความหวาดหวั่นพรั่นพรึงไปทั่วโลก แล้วในที่สุดหนังสั้นเรื่องนี้ก็จบฉากแรกลงด้วยการที่ทรัมป์ยอมพบปะเจรจากับคิมจองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ ในสิงคโปร์ เป็นการยุติความขัดแย้งที่ชื่นมื่นทั้งสองฝ่าย แต่เมื่อเวลาผ่านไป ผู้คนก็เริ่มตระหนักว่าสิ่งที่ทรัมป์ได้กระทำลงไปนั้น เป็นเพียงการสร้างภาพลักษณ์และชื่อเสียงให้แก่ตัวเขาเอง และปิดข่าวการออกมาให้สัมภาษณ์เปิดโปงเบื้องหลังกรณีฉาวของทรัมป์กับดาราหนังโป๊โดยทนายความส่วนตัวที่ถูกดำเนินคดี สิ่งที่ทรัมป์กระทำจึงไม่ใช่การดำเนินนโยบายที่มีผลระยะยาว หากแต่เป็นเพียงกลยุทธ์การตลาดที่หวังผลเฉพาะหน้าเท่านั้น

ใครที่คุ้นเคยกับการทำงานของรัฐบาลอเมริกันและกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อเห็นการประกาศ คำสั่ง และนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ตั้งแต่วาระแรกๆ ที่เขาเริ่มใช้อำนาจของผู้นำสูงสุดของประเทศมหาอำนาจแล้ว จะไม่ให้น้ำหนักและความเชื่อมั่นของหลักการ ไปจนถึงจุดหมายของประกาศ คำสั่ง และนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการต่างประเทศเลย ถ้ามองไปทางลบก็คงพูดได้ว่า เขาไม่มีความรู้และความเข้าใจในเรื่องราวระหว่างประเทศที่เป็นแบบทางการเท่าไร ดังนั้นคำถามจึงมีอยู่ว่า เขาทำพฤติการณ์เหล่านี้ไปเพื่ออะไร

คำตอบที่เห็นชัดสุดคือ สิ่งที่ทรัมป์ได้ทำลงไปนั้นเป็นเพียงการสนองตอบความต้องการของบรรดาฐานเสียงในภาคตะวันตกตอนกลาง (มิดเวสต์) ที่เป็นคนนอกเมืองใหญ่และค่อนไปทางมีการศึกษาน้อย คนเหล่านี้คือฐานเสียงใหญ่ที่เลือกเขาเข้าทำเนียบขาว

เรียกว่าทรัมป์ไม่เคยหยุดหาเสียงเลย แม้ได้ตำแหน่งประธานาธิบดีแล้ว ก็ยังทำตัวหาเสียงตลอดเวลา

อะไรที่เขาทำไม่ว่าในประเทศหรือต่างประเทศ ล้วนเป็นปัจจัยที่จะมีผลต่อการลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งต่อไปในปี 2020 ที่สำคัญคนเหล่านี้มีความคิดและอุดมการณ์ของลัทธิเหยียดเชื้อชาติและชูความเป็นใหญ่ของคนผิวขาว ซึ่งเป็นอุดมการณ์ขวาสุดขั้วและตกเวทีประวัติศาสตร์ไปแล้ว ช่วงเวลาที่อุดมการณ์คนขาวเป็นเจ้ามีพลังคือยุคก่อนสงครามกลางเมืองและหลังความพ่ายแพ้ในสงครามแล้ว คนผิวขาวอดีตนายทาสก็รวมตัวกันสร้างขบวนการคลูคลักซ์แคลน (KKK) ขึ้นมา เป็นขบวนการใต้ดินที่มีจุดหมายในการแก้แค้นและเข่นฆ่าทารุณคนผิวดำที่บังอาจขึ้นมามีความเท่าเทียมทางการเมืองกับคนผิวขาว

หลายทศวรรษที่ผ่านมา ขบวนการเอียงขวาและกลุ่มเชิดชูคนผิวขาวสุดโต่ง (white supremacist) ไม่มีโอกาสขึ้นมาเป็นพลังการเมืองในระดับชาติได้ จนกระทั่งโดนัลด์ ทรัมป์ ลงมารับสมัครเลือกตั้ง โดยเลือกเสนอนโยบายและอุดมการณ์ที่เป็นของคนขาวในมิดเวสต์ รวมถึงคนงานในโรงงานที่กำลังจะปิดกิจการทั้งหลาย ด้วยคำขวัญ “อเมริกายิ่งใหญ่” และ “อเมริกามาก่อน”

 

ไม่ว่าทรัมป์จะตั้งใจหรือมีแนวคิดเกี่ยวกับนโยบายระหว่างประเทศอย่างไรก็ตาม แต่สิ่งที่เขาพยายามกระทำและได้ทำไปบ้างแล้ว คือการถอดรื้อโครงสร้างทางการเมืองระหว่างประเทศที่สหรัฐฯ เป็นหัวหอกในการจัดตั้งขึ้นมา นับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติลงในปี 2488 จนกระทั่งยุติสงครามเย็นในปี 2532 โครงสร้างดังกล่าวรองรับการจำกัดและควบคุมการเกิดสงครามระหว่างประเทศแบบที่นำไปสู่สงครามโลกสองครั้ง เรียกได้ว่าเป็นโครงสร้างแห่งสันติภาพในโลกภายใต้กำกับของสหรัฐฯ ความคิดใหญ่ที่รองรับการสร้างโครงสร้างนี้คือ ‘ความมั่นคงร่วมกัน’ (Collective Security) โดยมีสหรัฐฯ เป็นหัวหน้าใหญ่ จัดตั้งองค์การสหประชาชาติขึ้นมาเป็นกลไกสำหรับการเจรจาก่อนที่ความขัดแย้งจะบานปลายออกไป

นอกจากสหรัฐฯ แล้ว ยังมีพันธมิตรและแนวร่วมของประเทศทั่วโลกเข้าร่วมด้วย ที่สำคัญได้แก่สหภาพยุโรปและญี่ปุ่น ในขณะที่คู่ต่อสู้หลักคือสหภาพโซเวียต (ก่อนจะล่มสลายเป็นรัสเซีย) รองลงมาคือสาธารณรัฐประชาชนจีนและเวียดนามเหนือ เรียกรวมๆ ว่าค่ายโลกเสรีกับค่ายคอมมิวนิสต์ (ม่านเหล็กกับม่านไม้ไผ่) โดยที่โครงสร้างหลังสงครามโลกครั้งที่สองนี้ มีปัจจัยที่เป็นองค์กรและอุดมการณ์รองรับ คอยหนุนช่วยกันซึ่งทำให้ความมั่นคง สันติภาพ และความมั่งคั่งสามารถดำเนินไปได้

ในทางเศรษฐกิจคือการสร้างความมั่นคงและมั่งคั่งให้แก่ระบบทุนนิยมโลก ซึ่งมีศูนย์กลางในสหรัฐฯ และยุโรป มีการตั้งธนาคารโลกซึ่งตอนแรกให้เงินกู้เฉพาะประเทศยุโรป ต่อมาภายหลังถึงให้เงินกู้แก่ประเทศด้อยพัฒนาทั่วโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund) หลังการก่อรูปของระบบการเงินเบรตตันวูดที่ทำให้สหรัฐฯ กลายเป็นศูนย์กลางของตลาดเงินของโลก

ส่วนในทางการทหารคือการจัดตั้งองค์การสนธิสัญญานาโตเพื่อคานอำนาจกับสหภาพโซเวียต

โครงสร้างของสันติภาพและความมั่นคงหลังสงครามโลกครั้งที่สองดังกล่าว ขณะนี้กำลังถูกประธานาธิบดีทรัมป์บ่อนทำลายและยกเลิก กระทั่งไม่ให้ความหมายอีกต่อไป ทรัมป์ขู่ว่าถ้าประเทศสมาชิกนาโตไม่จ่ายเงินตามสัญญา ก็จะถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิก สัมพันธภาพระหว่างสหรัฐฯ กับสหภาพยุโรปตกต่ำอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ในขณะที่ทรัมป์ให้น้ำหนักและความอบอุ่นแก่ประธานาธิบดีปูตินแห่งรัสเซียอย่างที่ประธานาธิบดีคนก่อนๆ ไม่เคยทำ

 

เรื่องสุดท้ายที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ที่ทั่วโลกให้ความสนใจอย่างสูง ได้แก่ความขัดแย้งทางเศรษฐกิจและการเงินกับจีนที่กำลังกลายเป็นสงครามการค้า และไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงได้ง่ายดายนักแม้กำลังมีการเจรจากันอยู่ก็ตาม เป็นโจทย์ใหญ่ที่ผู้คนกำลังวิเคราะห์และประเมินผลกระทบต่ออนาคตของเศรษฐกิจโลก ล่าสุดในเดือนกรกฎาคม ทรัมป์ประกาศว่าจะขึ้นภาษีร้อยละ 10 กับสินค้าจีนมูลค่า 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ด้วยเหตุผลว่าจีนไม่ยอมทำตามข้อตกลงที่คุยกันก่อนหน้านี้ว่าจะซื้อสินค้าเกษตรจากอเมริกา หากแต่มีการบิดเบือนและไม่ทำตามสัญญา คราวนี้จีนไม่ปล่อยให้อเมริกาเป็นฝ่ายรุกถ่ายเดียว ต้นเดือนสิงหาคม ธนาคารกลางจีน (PBoC) ปล่อยให้เงินหยวนอ่อนค่าลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 10 ปี เมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐ

รัฐบาลของทรัมป์ ประกาศว่าจีนเป็น ‘ประเทศปั่นค่าเงิน’ โดยทรัมป์ระบุในทวิตเตอร์ว่า ที่ผ่านมาจีนใช้มาตรการลดค่าเงินหยวนเพื่อขโมยธุรกิจและโรงงานของสหรัฐฯ ส่งผลให้ชาวอเมริกันตกงานเป็นจำนวนมาก และกดดันค่าแรงให้ต่ำลง รวมถึงราคาพืชผลทางการเกษตร ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรชาวอเมริกัน ข้ออ้างเหล่านี้ช่วยให้ทรัมป์นำเสนอนโยบายแบบตอบโต้เล่นงานจีนได้ อันเป็นกลยุทธ์ที่ทรัมป์ใช้เสมอในการเจรจาธุรกิจของเขา นั่นคือการรุกและถล่มคู่ต่อสู้อย่างไม่ให้ตั้งตัวติด ด้วยวิธีการอะไรก็ได้ ทั้งจริงและไม่จริง แต่ให้คนฟังแล้วถูกใจและหนุนหลังเขา

ก่อนหน้านี้สหรัฐฯ หลีกเลี่ยงการตราหน้าจีนว่าเป็นประเทศที่ควบคุมค่าเงินมาตลอด โดยในรายงานสถานการณ์การควบคุมค่าเงินของประเทศคู่ค้าที่จัดทำขึ้นทุกๆ 2 ปีฉบับล่าสุด กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ก็ไม่ได้ระบุว่าจีนเป็นประเทศปั่นค่าเงินอย่างเป็นทางการ ทั้งหมดนี้ทำให้สถานการณ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนตึงเครียดขึ้น คำถามคือทำไมทรัมป์เลือกใช้มาตรการแบบยั่วยุให้จีนตอบโต้ แทนที่จะมุ่งสู่การเจรจาเพื่อลดความตึงเครียดในทางเศรษฐกิจลง

 

ต่อคำถามนี้ และอีกหลายๆ กรณีที่ทรัมป์ได้กระทำไป ผมคิดว่ากุญแจสำหรับคำตอบอยู่ที่การดำรงอยู่ของอำนาจการเมืองในรัฐบาลและรัฐสภาคองเกรส คือสัมพันธภาพระหว่างอำนาจบริหารกับนิติบัญญัติ ซึ่งมีผลต่อการกำหนดเป้าหมายทางการเมืองของทรัมป์และพรรครีพับลิกัน

ในสมัยของรัฐบาลทรัมป์ มีลักษณะพิเศษที่ไม่เคยมีมาก่อน นั่นคือการที่ประธานาธิบดีดำเนินนโยบายและการบริหารงาน ไม่ว่าในทำเนียบกับคณะที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคง ที่ปรึกษาทำเนียบขาว ไปจนถึงคณะรัฐมนตรีของเขา ด้วยลักษณะที่เป็นส่วนตัว ไม่ใช่ท่วงทำนองของนักบริหารที่ทำในนามองค์กร กล่าวคือทรัมป์ปฏิบัติหน้าที่ในนามของทรัมป์เอง อาจเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ประธานาธิบดีเลือกจะเอาตัวเองออกหน้า แทนที่จะเอาตำแหน่งออกหน้า

นับแต่วันที่ทรัมป์เข้าทำหน้าที่ในทำเนียบขาว เขาไม่รอช้าในการดำเนินการปลุกระดมและสร้างแรงหนุนจากบรรดาฐานเสียงคนขาวที่ไม่เสรีนิยมและไม่ยอมรับคนต่างชาติศาสนาและสีผิว นี่คือหัวข้อที่เขาใช้ในการทวีตและออกไปปราศรัยตามเมืองและรัฐต่างๆ อย่างต่อเนื่องแทบไม่หยุด แม้ยังไม่ทันพ้นปีแรก นับเป็นการปฏิบัติที่แปลกประหลาด เพราะประธานาธิบดีส่วนใหญ่จะทุ่มเทกำลังและเวลาให้กับทำเนียบขาว เพื่อผลักดันกฎหมายหรือเจรจาต่อรองกับคองเกรส

ตรงกันข้าม ทรัมป์ให้เวลาน้อยมากกับการบริหารทำเนียบขาว จนมีการพูดกันไปทั่วว่า นี่เป็นยุคที่ทำเนียบขาวเจอวิกฤตระส่ำระสายที่สุดเท่าที่เคยเป็นมา ที่ปรึกษาใหญ่ตั้งแต่ฝ่ายความมั่นคง ที่ปรึกษาประจำทำเนียบขาว โฆษกทำเนียบขาว ขัดแย้งปีนเกลียวจนต้องให้ออกหรือถูกไล่ออกมากที่สุดในประวัติการณ์ ส่วนการทำงานต่อรองกับคองเกรสก็แทบไม่ได้ทำ ที่ผ่านมามีการผ่านกฎหมายหลักๆ คือลดภาษีได้ฉบับเดียว อีกฉบับที่สำคัญคือการผลักดันให้ยกเลิกนโยบายประกันสุขภาพของประธานาธิบดีโอบามา (โอบามาแคร์) แต่ในที่สุดก็ไม่สำเร็จ แม้ตอนนั้นพรรครีพับลิกันยังเป็นเสียงข้างมากอยู่ แต่ทรัมป์ก็ไม่แยแส เพราะเขามีอำนาจพิเศษอยู่กับมือ คือการประกาศคำสั่งของประธานาธิบดี ซึ่งไม่จำเป็นต้องเข้าสภาคองเกรส ตราบใดที่ไม่ต้องใช้เงินงบประมาณของประเทศ เขาจะออกกฎระเบียบคำสั่งห้ามอะไรกี่ร้อยเรื่องก็ได้ทั้งนั้น

เมื่อพิจารณาจากเนื้อหาและเป้าหมายของการดำเนินนโยบายต่างๆ ของทรัมป์ จะมองเห็นแนวทางใหญ่ๆ คือการต่อต้านและโจมตีคนต่างชาติต่างศาสนา โดยเฉพาะมุสลิมและอิสลามในตะวันออกกลางและแอฟริกา และต่อมาก็ลามไปถึงผู้อพยพชาวฮิสแปนิค คนเชื้อสายสเปนในทวีปอเมริกากลาง ซึ่งพากันหนีภัยและความรุนแรงในประเทศ ด้วยการหนีหรือขอเข้าพำนักเป็นผู้ลี้ภัยในสหรัฐฯ ทรัมป์ใช้คนเหล่านี้เป็นเป้าหมายในการปลุกระดมความคลั่งชาติผิวขาวขึ้นมา ถึงขนาดประกาศจะสร้างกำแพงกั้นพรมแดนกับประเทศเม็กซิโก เมื่อไม่ได้เงินก็หาทางบีบรัฐสภาคองเกรสด้วยการไม่ผ่านงบประมาณปลายปี ส่งผลให้เจ้าหน้าที่และพนักงานสหพันธ์ต้องหยุดงานเพราะไม่มีเงินเดือนจ่าย ทั้งหมดนี้เป็นปัญหานโยบายที่ไม่หนักหนาและสาหัสอะไร แต่ทรัมป์ทำให้เป็นเรื่องใหญ่โตคอขาดบาดตายสำหรับประเทศ แต่ก็น่าแปลกใจที่คนสนับสนุนทรัมป์ยังพากันปรบมือและยืนหนุนหลังเขาอย่างไม่แคร์ต่อข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น

ผมคิดว่ามีความเกี่ยวพันอยู่เหมือนกัน ในการที่ทรัมป์ใช้จีนเป็นอีกเป้าหมายสำหรับการปลุกระดมลัทธิคลั่งชาติและเชิดชูคนผิวขาวของเขา ผมไม่ได้บอกว่า มันไม่มีปัญหาขัดแย้งทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ กับจีน จริงๆ ปัญหาก็มีมาพักใหญ่แล้ว แต่ยังไม่ยกระดับและพัฒนาไปสู่อีกระดับของการเป็นปฏิปักษ์ แทนที่จะเป็นความขัดแย้งระหว่างมิตรประเทศที่พูดจากันได้ บุคลิกและวิธีสร้างกำไรของทรัมป์คือการล่อหลอกให้คู่ต่อสู้ตายใจแล้วจึงกลับมาใช้ไม้ตายบีบ

วันที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงไปเยี่ยมทำความรู้จักกับทรัมป์ในสหรัฐฯ ครั้งแรก ผมจำได้ติดตาว่าสีจิ้นผิงตกเป็นลูกเล่นของทรัมป์ในวันนั้น พอคณะจีนเดินเข้าห้องรับรองและเริ่มอาหารค่ำที่คฤหาสน์รับรองมาร์อาลาโกในฟลอริดา ทรัมป์กล่าวอย่างยิ้มแย้มแบบสบายๆ เหมือนไม่มีอะไร ด้วยการบอกว่า เมื่อกี้เพิ่งอนุมัติให้กองทัพทำการยิงระเบิดใส่กองกำลังของรัฐบาลซีเรีย ฐานที่ใช้อาวุธแก๊สพิษทำร้ายเด็กๆ หมายความว่าขณะที่ประธานาธิบดีจีนกับคณะกำลังกินอาหารค่ำกับทรัมป์นั้น สหรัฐฯ กำลังถล่มอาวุธหนักเข้าใส่อีกประเทศหนึ่ง บรรยากาศหลังจากนั้นจากปากคำของทรัมป์คือ จีนยินดีจะทำข้อตกลงอะไรกับสหรัฐฯ ได้ทั้งนั้น ซึ่งในเวลาต่อมาก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าสมมติฐานและความเชื่อของทรัมป์นั้นไม่ถูกและไม่ใกล้ความเป็นจริงเลย

นั่นคือที่มาของการใช้มาตรการหนักและแรงเพื่อบีบบังคับให้จีนทำตามความต้องการของทรัมป์ ปัญหาคือเขาจะสามารถทำให้รัฐบาลอเมริกันดำเนินนโยบายตามใจของเขาได้อย่างไม่มีการตรวจสอบคะคานเลยหรือ

 

ในทางหลักการ ตามรัฐธรรมนูญและจารีตธรรมเนียมในการเมืองอเมริกัน สิ่งที่บิดาผู้ก่อสร้างประเทศได้วางหลักการในการปกครองประเทศไว้ คือการระวังไม่ให้อำนาจถูกผูกขาดรวมศูนย์โดยคนหนึ่งคนใด ทฤษฎีอำนาจอธิปไตยที่คานและถ่วงดุลกันระหว่างสามอำนาจ เป็นที่ยอมรับและถือปฏิบัติกันมาอย่างช้านาน แต่ภายใต้รัฐบาลทรัมป์ ภาพที่เริ่มปรากฏชัดขึ้นทุกวัน คือการที่ประธานาธิบดีใช้อำนาจอันเป็นอภิสิทธิ์ของตำแหน่งนี้อย่างตามใจตามอัธยาศัยมากที่สุด แม้การใช้อำนาจนี้จะอ้างว่าเพื่อความมั่นคงของประเทศ จึงจำเป็นต้องละเมิดสิทธิคนส่วนน้อย แต่เห็นชัดๆ ว่าเป็นการหาเสียงให้แก่ตัวทรัมป์เองทั้งสิ้น

ปัจจัยต่อมาคือการถ่วงดุลของรัฐสภาคองเกรส ชัดเจนอีกเหมือนกันว่าที่ผ่านมาสองปี รัฐสภาไม่เคยคานหรือพยายามจะถ่วงดุลอำนาจประธานาธิบดีเลย จนกระทั่งหลังการเลือกตั้งกลางเทอมที่พรรคเดโมแครตได้รับเสียงข้างมากในสภาล่าง ทำให้เริ่มมีการออกกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนออกมาบ้าง และค้านการปฏิบัติของประธานาธิบดี เช่นการใช้เงินไปสร้างกำแพงพรมแดนเม็กซิโก แต่ในหลายเรื่องที่ผ่านวุฒิสภาแล้วก็ใช้การได้เลย เช่น การรับรองผู้พิพากษาศาลสูง รวมถึงตำแหน่งทางการเมืองอื่นๆ วุฒิสภาที่ยังอยู่ภายใต้การนำของพรรครีพับลิกัน ก็ยังคงสนับสนุนทรัมป์ในทุกเรื่องทุกนโยบายอย่างแข็งขัน นี่คือกุญแจดอกสำคัญต่อการดำรงอยู่และใช้อำนาจของทรัมป์

บุคคลสำคัญแต่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกันกว้างขวางนัก ได้แก่ ผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภา มิทช์ แมคคอนแนล (Mitch McConnell) สมาชิกวุฒิสภาหลายสมัยจากเคนตักกี้ เขาคือหัวจักรใหญ่ของพรรครีพับลิกันที่ทรงอิทธิพล เป็นคนวางแผนและเดินหมากในการที่จะบรรลุการลดทอนอำนาจของสหพันธ์ (Federal power) อันเป็นอุดมการณ์และความต้องการของฝ่ายขวาและอนุรักษนิยมในสหรัฐฯ ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา

พวกนี้เชื่อว่าสิ่งที่เรียกว่า ‘รัฐอำนาจลึก’ (Deep State) ที่ให้เจ้าหน้าที่และศาลสหพันธ์มีอำนาจมหาศาลในการบังคับให้คนอเมริกันทำตาม ส่วนใหญ่เป็นหลักการแบบลัทธิเสรีนิยมและสังคมนิยม รวมถึงสตรีนิยม เสรีภาพทางเพศและการทำแท้ง เหล่านี้คือนโยบายที่พวกฝ่ายขวาไม่ต้องการ

การขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของบารัก โอบามา ซึ่งเป็นคนอเมริกันผิวดำแต่มีการศึกษาสูงและทำงานเก่ง เป็นสัญญาณเตือนพวกฝ่ายขวาและกลุ่มเชิดชูคนผิวขาวสุดโต่งว่าถ้าไม่ทำอะไรต่อไป อนาคตของสหรัฐฯ ก็จะตกไปอยู่ในมือของคนที่เกิดหรือมาจากประเทศปลายแถวในโลกที่สาม

ในปลายสมัยของโอบามา เมื่อผู้พิพากษาศาลสูง แอนโทนิน สกาเลีย เสียชีวิตลง มิทช์กระโดดเข้ารับภารกิจทางประวัติศาสตร์นี้ ด้วยการบล็อกไม่ให้ประธานาธิบดีโอบามาเสนอชื่อผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้พิพากษาศาลสูงคนใหม่ต่อไป มิทช์อ้างว่าตอนนั้นใกล้จะหมดสมัยของโอบามาแล้ว ไม่ควรเสนอชื่อ รอไว้หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีเสร็จสิ้นก่อน ค่อยให้ประธานาธิบดีคนใหม่เป็นคนเสนอชื่อจะเหมาะสมกว่า

ข้ออ้างของมิทช์ไม่เคยมีการปฏิบัติมาก่อน ไม่ใช่ธรรมเนียมและระเบียบอะไร แม้โอบามาจะพยายามเสนอชื่อขึ้นมาให้ได้ ประธานวุฒิสภาก็ไม่ยอมบรรจุเข้าวาระการประชุม ถ่วงไว้จนกระทั่งหมดสมัยของโอบามา และนั่นคือบันไดขั้นแรกที่ทรัมป์ได้ฉวยมาใช้ตั้งแต่ไม่กี่วันหลังเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี คือการเสนอแต่งตั้งผู้พิพากษา นีล กอร์ซุช ซึ่งเป็นผู้พิพากษาฝ่ายอนุรักษนิยม สมตามความต้องการของพวกฝ่ายขวา อีกไม่นานก็มีตำแหน่งผู้พิพากษาว่างลงอีก ทรัมป์ก็เสนอชื่อผู้พิพากษา เบร็ตต์ คาวานอห์ ซึ่งกลายเป็นกรณีฟ้องร้องและมีการให้ปากคำในคณะกรรมาธิการวุฒิสภาว่ามีการล่วงละเมิดทางเพศหรือไม่ แต่วุฒิสภาฝ่ายรีพับลิกันซึ่งคุมเสียงข้างมากอยู่ก็ผลักดันให้ผ่านไปได้

บัดนี้ศาลสูงสุดสหรัฐฯ กลายเป็นศาลเอียงขวาไปแล้ว ด้วยการที่มีผู้พิพากษาที่เป็นสายอนุรักษนิยมมากกว่าฝ่ายเสรีนิยม ทำเนียบขาวมีวุฒิสภาและศาลสูงสุดเป็นกองหลังที่คอยหนุนนโยบายและการปฏิบัติของประธานาธิบดีอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน อำนาจอธิปไตยในอเมริกาไม่มีการถ่วงดุลและคานกันอีกต่อไปแล้ว

การคลี่คลายของการดำเนินนโยบายของรัฐบาลทรัมป์จะเป็นไปอย่างไร ขึ้นอยู่กับอำนาจการถ่วงดุล ซึ่งกำลังหลักได้แก่พรรคเดโมแครต ว่าจะสามารถฝ่าการเลือกตั้งปีหน้าเข้ามาคุมรัฐสภาคองเกรสและทำเนียบขาวได้หรือไม่  ระหว่างนี้ทั้งจีนและนานาประเทศคงต้องหามาตรการช่วยตัวเองไปพลางก่อน เท่าที่ใครจะทำอะไรได้ เพราะการเจรจาทางนโยบายกับทรัมป์ไม่มีประโยชน์จริงๆ ในระยะยาว นอกจากผลระยะสั้น

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save