fbpx
ความพ่ายแพ้ที่ฮานอย

ความพ่ายแพ้ที่ฮานอย

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ข่าวการเมืองอเมริกันที่ดังระเบิดไปทั่วโลกเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ต่อต้นเดือนมีนาคม คือการเจรจาระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กับประธานคิมจองอึน แห่งเกาเหลีเหนือที่ล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า กับข่าวการให้ปากคำของอดีตทนายความและคนใกล้ชิดทรัมป์ ไมเคิล โคเฮ็น ซึ่งถล่มนายทรัมป์อย่างไม่มีดี ในวันที่เขากำลังเจรจาครั้งสำคัญยิ่งในชีวิตอยู่ในอีกซีกโลก ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ทรัมป์ยุติการเจรจาอย่างกะทันหัน ไม่มีการลงนามในแถลงการณ์ร่วมที่เจ้าหน้าที่ตระเตรียมไว้อย่างดี แล้วเดินทางกลับกรุงวอชิงตันดีซีทันที เป็นความล้มเหลวอย่างหมดท่าของสหรัฐฯ ในเวียดนาม หลังจากความพ่ายแพ้ในสงครามอินโดจีนเมื่อ 44 ปีที่แล้ว

น่าสนใจว่าการเจรจาในฮานอย กับวิกฤตในกรุงวอชิงตันดีซี หรือความเกี่ยวโยงระหว่างการเมืองต่างประเทศกับการเมืองในประเทศของสหรัฐฯดำเนินควบคู่กัน ในช่วงทศวรรษ 1970 และ 2000 วิกฤตการณ์ในประเทศในที่สุดก็ส่งผลต่อความพ่ายแพ้ในเวทีการเมืองต่างประเทศ ทำให้ได้ข้อสรุปว่าอำนาจอันล้นฟ้าของประธานาธิบดีสหรัฐฯ นั้นสามารถจำกัดและควบคุมได้ จำต้องอาศัยปัจจัยและเงื่อนไขทั้งภายในและภายนอกประเทศ ลำพังปัจจัยเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำได้

นโยบายต่างประเทศเรื่องเกาหลีเหนือนั้นเป็นปัญหาเก่าคาราคาซังมาหลายสมัย อย่างน้อยก่อนหน้าทรัมป์ก็สามประธานาธิบดี ที่พยายามหาทางคลี่คลายและแก้ไขปัญหาไม่ให้ลุกลามไปสู่สงครามนิวเคลียร์ มีการติดต่อหลายรูปแบบและวิธีการ ทั้งลับและเปิดเผย เป้าหมายใหญ่คือทำอย่างไรที่จะไม่ให้เกาหลีเหนือพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ได้ เพราะนั่นเป็นสัญญาณของอันตรายใหญ่หลวงต่อความสงบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งครอบคลุมพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯ คือญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ที่มีบทบาทสำคัญในทางเศรษฐกิจของภูมิภาคและโลกด้วย

ที่ผ่านมาสหรัฐฯ สามารถชักจูงให้เกาเหลีเหนือยอมพบปะและเจรจาอย่างไม่เป็นทางการได้ระดับหนึ่ง ความยากลำบากในการเจรจามาจากการที่สองประเทศยังมีสถานะของการเป็นคู่สงครามกันอยู่ สืบเนื่องจากสงครามเกาหลีในปี 1950 แม้ภาวะการทำสงครามจริงๆ จะได้ยุติไปแล้ว กระทั่งนำไปสู่การแบ่งประเทศออกเป็นเกาหลีเหนือกับใต้ แต่เนื่องจากไม่มีการประกาศยุติสงครามอย่างเป็นทางการกับเกาหลีเหนือ เพราะอเมริกาไม่ต้องการเป็นมิตรกับรัฐบาลคอมมิวนิสต์ ในทางกฎหมายทั้งสองประเทศจึงยังเป็นข้าศึกกันอยู่

หลังจากเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี ทรัมป์มองหาช่องทางลดความเสียเปรียบทางเศรษฐกิจกับประเทศในเอเชียซึ่งกำลังรวยด้วยเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ ขณะที่อเมริกาถดถอยลงไปเรื่อย การหาทางลดค่าใช้จ่ายทางการทหารในคาบสมุทรเกาหลีก็เป็นช่องทางหนึ่ง จังหวะที่เป็นคุณต่อทรัมป์เกิดเมื่อมีการเปลี่ยนตัวประธานาธิบดีเกาหลีใต้คนใหม่ จากนางปักกึนเฮซึ่งเป็นฝ่ายอนุรักษนิยมและต่อต้านคอมมิวนิสต์ มาเป็นนายมูนแจอิน ซึ่งเป็นฝ่ายก้าวหน้าและยินดีเจรจากับผู้นำเกาหลีเหนือ

ครอบครัวของมูนแจอินก็มาจากเกาหลีเหนือ ทำให้เขามีเยื่อใยและเส้นสายในเกาหลีเหนือ ไม่นานทรัมป์ก็ประกาศฝ่ายเดียวว่าต่อไปจะเลิกการซ้อมรบร่วมกับกองทัพเกาหลีใต้ และให้เกาหลีใต้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาฐานทัพอเมริกันไว้ต่อไป ถ้าเป็นแต่ก่อน การประกาศดังกล่าวคงได้รับการประท้วงจากรัฐบาลเกาหลีใต้แน่ๆ ว่าเป็นการปล่อยให้เกาหลีเหนือยิ่งสร้างอำนาจคุกคามเกาหลีใต้มากขึ้น

ท่าทีของเกาหลีเหนือในช่วงการรับตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมปัยังดำเนินไปตามสไตล์เดิม คือไม่ลดราวาศอก เร่งทดลองระเบิดนิวเคลียร์และก่อสร้างจรวดสำหรับยิงหัวระเบิดนิวเคลียร์เป็นการใหญ่ ถึงขนาดว่าสามารถยิงได้ถึงชายฝั่งภาคตะวันตกของสหรัฐฯ ซึ่งยังไม่ได้พิสูจน์ว่าเป็นข้อมูลที่ถูกต้องหรือไม่ แต่พฤติการณ์และปฏิบัติการแบบเหยี่ยว ทำให้ทรัมป์และที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงตอนนั้น คือนายแมตทิส กับนายพลแมคมาสเตอร์หัวเสียไม่น้อย เขาถึงขนาดเสนอให้สหรัฐฯ ใช้การโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์อย่างจำกัดต่อเกาหลีเหนือ แมคมาสเตอร์เสนอต่อแมตทิสในฐานะรัฐมนตรีกลาโหม ให้ทำการจับหรือกักเรือที่สงสัยว่าทำการติดต่อกับเกาเหลีเหนือเลย แต่แมตทิสบอกว่าทำไม่ได้ เพราะมันจะลุกลามเป็นเรื่องใหญ่ กระเทือนต่อการค้าและมิตรสัมพันธ์กับหลายประเทศ

เป็นไปได้ว่าในช่วงแรกนี้ ทรัมป์ก็มีทรรศนะแบบเหยี่ยวต่อเกาหลีเหนือ เขาออกมาด่าประณามคิมจองอึนหลายครั้ง ทั้งยังตั้งสมญานามให้ว่า ‘มนุษย์จรวด’ (Rocket Man) และขู่ว่าถ้าไม่หยุดทดลองนิวเคลียร์ เขาจะถล่มให้ราบทั้งประเทศเลย แต่คิมจองอึนก็ไม่เบา ด่าทรัมป์กลับเหมือนกันว่าเป็นคนสติแตก ไม่มียุคไหนที่ผู้นำประเทศจะออกมาก่นด่ากันอย่างอันธพาลข้างถนนแบบนี้

กรณีเกาหลีเหนือยังมีส่วนในการเพิ่มความแตกแยกและไม่ลงรอยกันระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์ กับรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ นายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน อดีตซีอีโอบรรษัทเอ็กซอน ที่ทิ้งตำแหน่งในธุรกิจระดับโลกมารับตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลทรัมป์ แล้วพบว่าทำงานร่วมกับทรัมป์ไม่ได้เลย

ต่อกรณีเกาหลีเหนือ ทิลเลอร์สันอุตสาห์ไปหาช่องทางติดต่อเพื่อเจรจากับเกาหลีเหนือ ทว่าพอเขาให้ข่าวกับสื่อมวลชนว่า ปัญหาเกาหลีเหนือยังมีช่องทางในการเจรจาเพื่อคลี่คลายความขัดแย้งได้ ไม่จำเป็นต้องใช้กำลังทหารอย่างเดียว โดนัลด์ ทรัมป์ ก็ทวีตออกมาทันทีว่าเป็นข้อเสนอที่ไม่มีความหมาย เสียเวลาไปทำเปล่าๆ เป็นการหักหน้าทิลเลอร์สันอย่างแรง ก่อนที่ในที่สุดทรัมป์ก็ไล่เขาออกจากตำแหน่งไปอย่างหน้าตาเฉย ไม่มีการบอกล่วงหน้าด้วย

แต่ในกลางปี 2018 ปัญหาวิกฤตเกาหลีเหนือก็เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงอย่างรวดเร็วจนผู้สังเกตการณ์ตามไม่ทัน ทรัมป์ประกาศจะไปพบและเจรจากับประธานคิมจองอึนที่สิงคโปร์ เขาอวดอ้างไปทั่วว่าคราวนี้เขาจะแก้ปัญหาเกาหลีเหนือที่อดีตประธานาธิบดีทั้งสามคนไม่สามารถแก้ไขได้ คำถามคือเกิดอะไรขึ้น ทำไมทรัมป์ถึงเปลี่ยนใจได้ขนาดนี้

การคลี่คลายของปัญหาไม่ได้มาจากการทำงานลับหรือนอกรอบของเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ หรือสำนักข่าวกรองใดๆ หากแต่มาจากปัญหาและความขัดแย้งในประเทศ ระหว่างสำนักเอฟบีไอภายใต้คณะกรรมการอิสระ ที่นำโดยนายโรเบิร์ต มุลเลอร์ ที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการยุติธรรมให้สืบสวนว่ารัสเซียเข้ามายุ่งเกี่ยวแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2016 หรือไม่ ฝ่ายที่ตกเป็นจำเลยในกรณีนี้คือเจ้าหน้าที่รณรงค์การเลือกตั้งให้ทรัมป์ แรกๆ ทรัมป์ก็บอกว่าไม่มีอะไร เรื่องนี้ไม่มีมูล เป็นข่าวปลอม แต่นานวันเข้า คณะกรรมการมุลเลอร์ก็ค่อยๆ สาวดึงเอาคนของทรัมป์ออกมาทีละคนสองคน กระทั่งเป็นหลักฐานส่งฟ้องศาลได้ในคดีที่ไม่ใช่การเมืองเสียทั้งหมด หากแต่เป็นคดีแพ่งและอาญา ความมั่นคง การให้ปากคำเท็จต่อรัฐสภา ทำให้เรื่องนี้มีมูลว่าคนของทรัมป์ได้ติดต่อทำธุรกรรมกับรัสเซีย

คำถามสำคัญที่คนอยากรู้คือ โดนัลด์ ทรัมป์ มีส่วนเกี่ยวข้องรู้เห็นในการสมรู้ร่วมคิดกับรัสเซียหรือไม่ นี่เป็นข้อหาฉกาจฉกรรจ์ ถึงขั้นนำไปสู่การถอดถอนโดยรัฐสภาได้ ภายใต้บรรยากาศและความกดดันของการเมืองในประเทศอันนี้เอง ที่ผมคิดว่าผลักให้ทรัมป์ต้องหานโยบายต่างประเทศที่ทำให้เขาไม่ตกเป็นจำเลยหรือถูกกระทำโดยสื่อมวลชน หากแต่ต้องเป็นประเด็นและข่าวที่ทำให้เขาเป็นพระเอกของเรื่องคนเดียว จุดเปลี่ยนมาถึงเมื่อเขาค้นพบว่า เขาสามารถทำการต่อรองกับคิมจองอึนได้ เหมือนกับที่เขาทำการต่อรองกับคู่ต่อสู้ทางธุรกิจมาแล้ว หนังสือดังที่ทรัมป์เขียนคือ ‘ศิลปะของการต่อรอง’ (The Art of the Deal)

การพบปะเจรจากับคิมจองอึนในสิงคโปร์ ไม่ได้แตะเรื่องการทำลายอาวุธนิวเคลีย์ของเกาหลีเหนือเลยแม้แต่นิดเดียว นอกจากแถลงการณ์ที่เกาหลีเหนือจะต้องยินยอมให้ตรวจสอบรายละเอียดการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธ พร้อมกับยืนยันว่าจะไม่กลับคำมั่นอีก ผู้เชี่ยวชาญเรื่องนิวเคลียร์พากันงุนงงว่าอะไรคือสิ่งที่ทรัมป์พูดคุยกับคิมจองอึน ไม่มีรายละเอียดที่นำไปสู่การลดอาวุธนิวเคลียร์ หรือวาระการประชุมต่อไปว่าจะตกลงกันในเรื่องอะไร สิ่งที่คนทั้งโลกเห็นคือคนสองคนนั่งให้นักข่าวและช่างภาพบันทึกภาพในสถานที่ต่างๆ นี่คือสิ่งที่ทรัมป์ถนัดที่สุด คือการสร้างภาพ ความสำเร็จอันใหญ่หลวงของการบินไปครึ่งโลกเพื่อนั่งกินน้ำชาและสนทนา (ผ่านล่าม) ในเรื่องที่ไม่สลักสำคัญอะไร เป็นศิลปะในการต่อรองที่ยิ่งใหญ่สำหรับนักธุรกิจการเมืองระดับโลก

กล่าวได้ว่า เวทีสิงคโปร์ระหว่างทรัมป์กับคิมจองอึน สร้างภาพลักษณ์และเปลี่ยนหัวข่าวหนังสือพิมพ์ในสหรัฐฯ ไปได้หลายวัน ทำให้ทรัมป์มีเวลาและพื้นที่ในการเสนอประเด็นของเขาบ้าง ไม่ใช่เป็นฝ่ายรับและถูกโจมตีตลอดเวลา การที่เขายังไม่เสียศูนย์และสติอารมณ์จนหลุด ต้องถือว่าเขาเป็นนักการเมืองที่มีความสามารถคนหนึ่ง

มาถึงการพบปะเจรจาครั้งที่สองระหว่างสองผู้นำ คราวนี้นัดพบกันในกรุงฮานอย ซึ่งสะดวกต่อการเดินทางโดยรถไฟของคิมจองอึน ซึ่งไม่ชอบการเดินทางเครื่องบิน ทรัมป์ประกาศแต่เนิ่นๆ เลยว่า การพบกันครั้งนี้จะดีกว่าครั้งแรก เพราะเขาได้รับจดหมายอันเต็มไปด้วยไมตรีและความอบอุ่น ทั้งเขาก็ชอบพอกับคิมจองอึนมาก ทรัมป์ถึงกับอวดว่า “เราตกหลุมรักกัน” (we fell in love) ทรัมป์เชื่อว่าด้วยพลังในตัวเขาเอง จะทำให้คิมจองอึนยอมรับข้อเสนอของเขาได้อย่างไม่มีปัญหา

การแถลงถึงการนัดพบกันครั้งที่สองนี้ ทรัมป์เป็นฝ่ายประโคมข่าวเสียใหญ่โต ในขณะที่ทางฝ่ายเกาหลีเหนือเองดูจะเป็นฝ่ายตามสถานการณ์เสียมากกว่า โดยที่มูนแจอินทำหน้าที่นักเจรจา (ล๊อบบี้ยิสต์) ให้สหรัฐฯ ว่าถ้าวอชิงตันยอมผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือ ก็ยินดีจะรื้อถอนศูนย์ทดลองนิวเคลียร์ยองเบียงอย่างถาวรต่อไป และจะยอมให้ประชาคมโลกเข้าตรวจสอบอุปกรณ์ขีปนาวุธ ก่อนหน้านี้ฝ่ายกลาโหมสหรัฐฯออกข่าวยืนยันว่าเกาหลีเหนือไม่ได้ทำลายฐานยิงจรวดนิวเคลียร์ตามที่ให้คำมั่นกับการเจรจาในครั้งแรก ยังมีซ่อนอยู่อีกหลายแห่ง ทั้งมีแนวโน้มว่าจะผลิตเพิ่มมาใหม่อีก ข่าวนี้ไม่เป็นผลดีต่อทรัมป์

คืนวันแรกที่เจอกัน ทรัมป์ยังเบิกบานและให้สัมภาษณ์อย่างมั่นใจว่า สิ่งที่เขาจะเสนอให้แก่คิมจองอึนในวันพรุ่งนี้ จะได้รับการตอบรับอย่างอบอุ่นและเรียบร้อยสมประสงค์ ทรัมป์อาจไม่ได้ข้อมูลล่าสุดจากเจ้าหน้าที่ในการจัดการการประชุมที่ฮานอย ซึ่งเดินทางมาถึงก่อนหน้าแล้ว และได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายเกาหลีเหนือ ว่าประเด็นที่สหรัฐฯ ต้องการในการพบกันครั้งนี้ คือการที่เกาหลีเหนือยินยอมที่จะยกเลิกโครงการนิวเคลียร์ทั้งหมดลงอย่างไม่มีเงื่อนไข ถึงจะมีการเจรจาการยกเลิกการแซงชั่น (ปิดกั้น) ทางเศรษฐกิจและการค้าทั้งหลายที่สหรัฐฯ ผลักดันผ่านสหประชาชาติ สร้างความลำบากให้แก่ประชาชนเกาหลีเหนืออย่างยิ่ง

นี่เป็นสิ่งที่คิมจองอึนต้องการมากที่สุด คือการที่สหรัฐฯ ยกเลิกการปิดกั้นนี้เสีย การเจรจาระหว่างเจ้าหน้าที่สองฝ่ายสะดุดลงตรงข้อเสนอใหญ่นี้ เมื่อฝ่ายสหรัฐฯ ยังไม่ยอมเลิกการปิดกั้นที่ว่านี้ หากเกาหลีเหนือยังไม่ยอมเลิกโครงการนิวเคลียร์ ฝ่ายเกาหลีเหนือก็บอกว่า ไม่ว่าจะตกลงอะไรกัน การมีอาวุธนิวเคลียร์ยังเป็นสิ่งสุดท้ายที่ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือต้องมีไว้ป้องกันตัวเอง การยอมยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์จึงไม่มีใครสามารถให้คำตอบได้ นอกจากท่านประธานคิมจองอึนคนเดียว

คืนนั้นทรัมป์ถึงเริ่มรู้แล้วว่า พลังที่มีในตัวเขาในการทำการต่อรองกับคู่ต่อสู้นั้น ใช้ไม่ได้กับผู้นำคอมมิวนิสต์อย่างคิมจองอึน สิ่งที่ทรัมป์เรียกร้องไม่ใช่เรื่องการลดและสลายโครงการนิวเคลียร์ (denuclearization) อย่างที่พูดกันทั่วไป เหมือนการตกลงหยุดยิงในสงคราม แต่การยุติการมีนิวเคลียร์ในเกาหลีเหนือ เท่ากับเป็นการทำลายเขี้ยวเล็บอันสำคัญที่ผู้นำพรรคและรัฐเกาหลีเหนือมีอยู่ นอกจากนี้เขาไม่มีอะไรที่จะมาประกันความมั่นคงและความจงรักภักดีของประชาชน รวมถึงข้ารัฐการทั้งหลายที่มี่ต่อตัวเขาได้ ข้อเสนอของทรัมป์และสหรัฐฯ ในเรื่องนี้จึงไม่ปกติ มันจึงไม่อาจเอามาเจรจาต่อรองกันบนโต๊ะได้ นี่คือความจริงอันรองรับสถานะและการดำรงอยู่ของอำนาจรัฐเกาหลีเหนือ มันเป็นกล่องดวงใจของคิมจองอึน

ในเวลาเดียวกันกับที่การเจรจาเริ่มเข้าสู่ทางตัน ทรัมป์นั่งดูและติดตามการถ่ายทอดสดการให้ปากคำของนายไมเคิล โคเฮ็น อดีตทนายหน้าหอมือขวาที่รับใช้ทรัมป์อย่างสุดจิตสุดใจมาหลายสิบปี จนเมื่อมาตกเป็นจำเลย ถูกคณะกรรมการพิเศษมุลเลอร์สอบสวนจนต้องยอมจำนนต่อหลักฐานและวิธีการของเอฟบีไอมือทอง ทำให้โคเฮ็นถึงกับเปลี่ยนใจ กลายเป็นภิเพกที่บอกถึงความลับในการฆ่าทศกัณฐ์ให้แก่พระราม

“เขาเป็นนักเหยียดผิว เป็นนักหลอกลวง เป็นคนโกง” นั่นคือนิยามความเป็นทรัมป์ที่โคเฮ็นสรุปให้แก่กรรมาธิการฝายยุติธรรมในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ แม้ทรัมป์จะทวีตกลับไปว่า โคเฮ็นคือจอมโกหก แต่ยากที่จะปฏิเสธว่าการให้ปากคำครั้งนี้ ไม่กระทบกระเทือนต่ออารมณ์และความรู้สึกของทรัมป์ เขาทวีตตามมาอีกว่า การทำอย่างนั้นขณะที่ประธานาธิบดีกำลังเจรจาทางการเมืองอยู่กับต่างชาติ เท่ากับเป็นการทำลายการทำงานทั้งหมดเลย น่าอับอายยิ่ง! แสดงว่าทรัมป์ยอมรับว่าเหตุการณ์ในรัฐสภามีผลต่อการเจรจาในฮานอยมาก

ในที่สุดทั้งทรัมป์และคิมจองอึนล่าถอยกลับฐานที่ตั้งของตน จุดหมายที่เหมือนกันของทั้งสองคือการสร้างผลสำเร็จในการเจรจานี้ เพื่อที่จะนำไปเป็นทุนในการรักษาและสืบทอดอำนาจในการปกครองต่อไป ถ้าการเจรจากับเกาหลีเหนือสำเร็จตามที่ทรัมป์ต้องการ เขาจะเรียกร้องให้มอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพให้แก่เขา เหมือนกับที่ประธานาธิบดีโอบามาเคยได้รับ และนั่นหมายความว่าการเข้ารับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สองของเขาจักประสบความสำเร็จอย่างไม่ต้องสงสัย

ความพ่ายแพ้ที่ฮานอยจึงทำลายความฝันอันสูงสุดของทรัมป์ลงไป และนั่นอาจเป็นโชคดีของคนอเมริกันและประชาชนทั่วโลกด้วย ที่ “อเมริกาที่หนึ่ง” (America First) อาจสะดุดลงในสี่ปีนี้เท่านั้น และจะไม่เดินหน้าหักล้างระบบเสรีนิยมทั้งหลายอีกต่อไป

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save