กำแพงชายแดนกับวิกฤตรัฐบาล

กำแพงชายแดนกับวิกฤตรัฐบาล

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ผมนั่งเขียนบทความนี้หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เพิ่งเสร็จการออกโทรทัศน์รายการพิเศษจากห้องรูปไข่ทำเนียบขาว เวลาท้องถิ่นในสหรัฐฯ คือ 3 ทุ่มตรง คืนวันที่ 8 มกราคม โดยมีหัวข้อหลักคือเรื่องกำแพงชายแดนกับวิกฤตการณ์ในประเทศ

ปกติการกล่าวปราศรัยจากทำเนียบขาวออกโทรทัศน์สดไปทั่วประเทศนั้นจะกระทำเมื่อประธานาธิบดีมีเรื่องหรือวาระอันจำเป็นและสำคัญยิ่งที่จะต้องสื่อสารถึงพลเมืองอเมริกันโดยตรง เนื่องจากอาจต้องใช้มาตรการเร่งด่วนหรือมาตรการพิเศษในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ถ้ารอแถลงในรัฐสภาคองเกรสก็อาจชักช้าไม่ทันการณ์

ที่สำคัญ การพูดโดยตรงกับประชาชนเป็นวิธีการที่ทำให้ประธานาธิบดีสามารถใช้อำนาจบริหารในการจัดการปัญหาได้ทันที เพราะถือว่าได้บอกประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยก่อนแล้ว ถ้าสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาไม่เห็นด้วย ก็ยากจะปฏิเสธการตัดสินใจของประธานาธิบดีได้

อันนี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของการดำเนินการในระบบตรวจสอบและแบ่งอำนาจอธิปไตยแบบประชาธิปไตย ว่าในที่สุดถ้าตกลงกันไม่ได้ระหว่างอำนาจบริหารกับนิติบัญญัติ ก็ออกไปหาประชาชนเท่านั้นเอง (แทนที่จะไปหาอาวุธมาโค่นล้มกันเยี่ยงอนารยชน)

ก่อนนี้มีข่าวลือกันว่าทรัมป์อาจประกาศภาวะฉุกเฉินแล้วอ้างสถานการณ์วิกฤตเพื่อใช้อำนาจพิเศษในคืนออกรายการพบประชาชน ทำให้เขาสามารถนำงบความมั่นคงและการทหารไปใช้ในกิจการอื่นๆ ได้ตามความจำเป็น ในกรณีนี้คือนำเงินก้อนนี้ไปใช้สร้างกำแพงชายแดนของเขา

คนที่ไม่เห็นด้วยจำนวนไม่น้อย ทั้งในพรรคเดโมแครตและรีพับลิกัน กล่าวว่า ถ้าทรัมป์ทำประกาศภาวะฉุกเฉินจริง อาจมีการฟ้องร้องต่อศาลสูงสุดให้วินิจฉัยว่าการใช้อำนาจพิเศษของทรัมป์นั้นถูกต้องตามกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือเปล่า ในเมื่อภาวะวิกฤตที่เขาพูดถึงในบริเวณชายแดนนั้น ไม่ได้เป็นวิกฤตจริงๆ อย่างที่ว่า ยังไม่มีการรุกรานจากภายนอก ไม่มีการลุกฮือปะทะกันในประเทศ ไม่มีอะไรที่ใกล้เคียงกับการเกิดวิกฤตเลย แล้วทรัมป์จะใช้อำนาจพิเศษที่ว่านี้ได้อย่างไร

ในที่สุด รายการพบประชาชนของทรัมป์ก็จบลงโดยไม่มีการประกาศภาวะฉุกเฉิน หรือวิกฤตทางความมั่นคงหรือทางมนุษยธรรมตามที่เขาและที่ปรึกษาออกมาขู่ล่วงหน้า เขาใช้เวลา 9 นาทีในการปราศรัย ประเด็นใหญ่ใจความอยู่ที่จะทำอย่างไรให้สภาคองเกรสอนุมัติเงินจำนวน 5.7 พันล้านเหรียญที่เขาต้องการในการสร้างกำแพง ซึ่งล่าสุดเขาบอกว่าให้ทำด้วยเหล็กเลยจะได้คงทนกว่าคอนกรีต

เพื่อเรียกร้องความเห็นใจและแรงสนับสนุนต่อโครงการนี้ ทรัมป์ใส่ข้อมูลซึ่งคิดว่าจะทำให้คนอเมริกันเห็นด้วยกับเขา ด้วยการสร้างสีสันว่าทุกวันมีคนอพยพผิดกฎหมายเข้าประเทศหลายหมื่นคน พวกนี้เอายาเสพติดมาขายทำให้คนอเมริกันติดยามากขึ้นอีก นำแก๊งก่อการร้ายเข้ามา แย่งงานคนอเมริกันทำ ทำให้คนตกงานมากขึ้น สรุปคือบรรดาคนอพยพที่ใช้พรมแดนเม็กซิโกเป็นทางผ่านได้กลายเป็นศัตรูผู้ทำลายความมั่นคงของสหรัฐฯ ลงไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ ผมฟังแล้วก็ไม่เชื่อเหมือนกัน

หลังจากทรัมป์ปราศรัยเสร็จ นิวยอร์กไทมส์ ซึ่งทรัมป์ชี้นิ้วประณามว่าเป็น ‘ศัตรูของประชาชน’ ก็ออกมาเช็คความถูกต้องเกี่ยวกับข้อมูลของทรัมป์ทันที โดยแย้งเป็นข้อๆ ไปเลยเช่น จำนวนคนอพยพเข้าประเทศที่ผิดกฎหมายไม่ได้มากอย่างที่ทรัมป์อ้าง แค่สองพันคนต่อวันก็มากแล้ว ไม่ใช่เป็นหมื่น ในจำนวนผู้อพยพที่ถูกเรียกว่าผิดกฎหมายหรือลักลอบเข้ามานั้น ประกอบไปด้วยคนที่เข้าถูกช่องทาง คือสมัครมาแล้วถูกปฏิเสธก็อีกไม่น้อย ส่วนเรื่องที่ผู้อพยพเหล่านี้มาแย่งงานคนอเมริกันทำ ก็ฟังไม่ขึ้น เพราะงานที่คนอพยพทำนั้นเป็นงานที่คนอเมริกันทั่วไปไม่ทำกันแล้ว ส่วนการส่งยาเสพติดมาขายในอเมริกานั้น ทางการอเมริกันรายงานว่าช่องทางที่นิยมส่งยาเสพติดเข้ามานั้นคือทางไปรษณีย์ ผ่านด่านถูกกฎหมายทั้งนั้น และโดยมากมาจากประเทศจีน ไม่ใช่จากเม็กซิโก (คิดว่ายาเสพติดที่มาจากจีนคงมีต้นตอจากสามเหลี่ยมทองคำแถวประเทศไทยด้วย)

ที่น่าสนุกอีกนิดคือก่อนทรัมป์จะปราศรัยสดออกโทรทัศน์ทั้งประเทศได้ ก็ต้องขอสัญญาณและเวลาจากสถานีโทรทัศน์ใหญ่ๆ ทั้งหลาย เพราะในอเมริกาไม่มี ช่อง “รวมการเฉพาะกิจ” ที่อนุญาตให้รัฐบาลออกโทรทัศน์ฟรีๆ เวลาใดก็ได้ เนื่องจากคลื่นวิทยุโทรทัศน์เป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐบาล ดังนั้นจะออกรายการอะไรเวลาไหนใช้กี่นาทีก็ได้ตามใจชอบ

แต่ในอเมริกา คลื่นวิทยุโทรทัศน์เป็นของสาธารณะ หมายความว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของส่วนรวม ไม่ใช่เป็นของรัฐและรัฐบาล จริงๆ คือเป็นของประชาชน เมื่อบริษัทเอกชนเจ้าของสถานีมาประมูลไปทำรายการ คลื่นทั้งหมดก็ตกเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนตัวของเอกชนและบริษัท ถ้ารัฐบาลจะใช้ก็ต้องขอร้องหรือจ่าย

ในตอนแรกสถานีโทรทัศน์หลายแห่ง ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์การทำงาน นโยบาย และทวีตของทรัมป์ จนถูกด่าว่าเป็นศัตรูของประชาชน จะรวมหัวกันไม่ออกรายการให้ทรัมป์ เพราะรู้ๆ กันอยู่ว่าแกก็คงพูด ‘โกหก’ ใส่ร้ายป้ายสีใส่ไข่ในคำพูดของแกตามความเคยชิน(สันดาน?)ที่แก้ไม่ได้อีกตามเคย เช่นนั้นแล้วเรื่องอะไรจะให้เวลาแกมาออกอากาศในสถานีของพวกที่ถูกแกก่นด่าราวไม่เป็นผู้เป็นคนอีกเล่า แต่ในที่สุดก็เห็นพ้องกันว่าคงเป็นเรื่องตลก ถ้าหากประธานาธิบดีออกรายการสดจากทำเนียบขาวในเรื่องที่เป็นปัญหาวิกฤต แล้วมีแต่สถานีเล็กๆ กระจอกๆ ออกรายการให้ มันจะทำให้ภาพลักษณ์ประเทศดูย่ำแย่ไปกว่านี้อีก บรรดาสถานีดังเช่น ABC, NBC, CBS, FOX จึงตกลงให้เวลาและสัญญาณแก่ทรัมป์ได้ออกปราศรัย แต่ก็พูดนานตามใจอย่างนายกรัฐมนตรีบางประเทศไม่ได้ ให้ได้เพียง 9 นาทีเท่านั้น

เสร็จแล้วทางพรรคเดโมแครต ชัค ชูเมอร์ หัวหน้าเสียงข้างน้อยในวุฒิสภา กับแนนซี่ เพโลซี บัดนี้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็ออกมาเรียกร้องกับสื่อว่า ถ้าให้ประธานาธิบดีพูด ก็ต้องให้ฝ่ายค้านได้พูดแถลงความจริงด้วย เพราะทุกฝ่ายต่างก็รู้ว่าทรัมป์จะพูดอะไร จีงไม่ต้องการตกเป็นจำเลยที่ไม่เป็นจริง ทางสถานีฯ ก็ต้องตกลงเพราะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของฝ่ายการเมืองอเมริกันไปแล้วว่า ถ้าให้ฝ่ายหนึ่งก็ต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งอย่างเท่าเทียมจึงจะยุติธรรม

ผมทันเปิดฟังการแถลงค้านคำปราศรัยของทรัมป์ ทั้งเพโลซีและชูเมอร์พูดตอบโต้ประเด็นของทรัมป์อย่างไม่มีเยื่อใย ข้ออ้างว่าผู้อพยพเข้าประเทศก่อให้เกิดวิกฤตด้านความมั่นคงและมนุษยธรรมนั้นฟังไม่ขึ้น ว่าไปแล้วจำนวนผู้อพยพเข้าประเทศในหลายปีที่ผ่านมาก็ลดลงไปเรื่อยๆ ส่วนที่ว่าพรรคเดโมแครตคัดค้านการสร้างกำแพงชายแดนก็ไม่จริง ก่อนนี้ในปี 2006 ก็ร่วมกับพรรครีพับลิกันผ่านกฎหมายสร้างกำแพงไปแล้วเพียงแต่ไม่ยาวถึงพันไมล์อย่างที่ทรัมป์อยากได้ในขณะนี้

เพโลซีเตือนทรัมป์ว่าอย่าเอาคนอเมริกันมาเป็นตัวประกัน ด้วยการประกาศปิดรัฐบาล (shut down government) ขอให้ทรัมป์รีบลงนามในกฎหมายที่สภาคองเกรสจะผ่านในอีกไม่กี่วัน เพื่อเปิดทำการหน่วยงานที่ถูกปิดไปเพราะไม่มีเงินงบประมาณ สรุปว่าพรรคเดโมแครตโต้ด้วยการเรียกร้องให้ทรัมป์ยุติการปิดรัฐบาลเสียก่อน แล้วค่อยมาเจรจากันเรื่องงบประมาณการสร้างกำแพงว่าจะได้เท่าไรทีหลัง

คงยากจะเข้าใจว่าทำไมการสร้างกำแพงตรงบริเวณชายแดนระหว่างสหรัฐฯ กับเม็กซิโกถึงกลายเป็นปัญหาคอขาดบาดตายระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กับพรรคเดโมแครตที่เพิ่งเข้ามาคุมสภาคองเกรสหรือสภาผู้แทนราษฎร เมื่อเป็นฝ่ายเสียงข้างมากในสภาจากการเลือกตั้งกลางเทอมเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ก่อนนี้คนจะได้ยินคำว่า ‘กำแพง’ จากปากของทรัมป์ ระหว่างที่เขาหาเสียงเพื่อเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี

นโยบายการสร้างกำแพงมาคู่กับปัญหาคนอพยพเข้าเมืองโดยเฉพาะที่ผิดกฎหมายหรือลักลอบเข้ามา ที่มากสุดคือด้านที่เป็นพรมแดนต่อกับเม็กซิโก เพราะเป็นพื้นที่เดียวกัน ไม่มีธรรมชาติอะไรมากีดขวาง ในอดีตดินแดนเหล่านั้นเป็นของเม็กซิโกทั้งหมด เมื่ออยู่ใต้อำนาจปกครองของจักรวรรดิสเปน หลังจากผู้อพยพชาวอเมริกันที่มาจากยุโรปประกาศเอกราชจากอังกฤษ ก็ก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกาขึ้น ในปี 1846 สหรัฐฯ ทำสงครามกับเม็กซิโกจนชนะ จึงได้ผนวกดินแดนของเม็กซิโกเข้ามาเป็นของสหรัฐฯ ในทางประวัติศาสตร์ ชายแดนดังกล่าวคือเส้นทางโดยธรรมชาติที่คนทางใต้ใช้เดินทางเข้าสู่ทวีปอเมริกาเหนือ

ผมคิดว่าเรื่องกำแพงชายแดนนี้มีอะไรมากกว่าที่เราเห็นๆ กันอยู่ในหน้าสื่อต่างๆ ทั้งหลาย

ประการแรก มันเป็นการต่อสู้ทางนโยบายระหว่างฝ่ายบริหาร(รัฐบาล)กับสภานิติบัญญัติแน่นอน แต่เมื่อวิเคราะห์ความเป็นมาของความขัดแย้งนี้ พบว่าแต่แรกไม่ได้มีน้ำหนักขนาดเอาเป็นเอาตายอย่างนี้เลย ปีที่แล้วตอนที่รัฐบาลจะผ่านกฎหมายงบประมาณเพื่อให้หน่วยงานทำงานต่อไปได้ ก็ตกลงกันได้โดยที่ทรัมป์ก็ไม่ได้แสดงความโมโหโกรธาอะไรที่ไม่ได้เงินสร้างกำแพงตามที่เขาเรียกร้องนับแต่แรกเข้ามาเป็นรัฐบาล ไม่ได้ใช้วิธีปิดรัฐบาลมาบีบบังคับฝ่ายเดโมแครต

ยิ่งไปกว่านั้น มีวันหนึ่งที่แกนนำพรรคเดโมแครตคือชูเมอร์กับเพโลซีได้เข้าไปเจรจาพูดคุยต่อรองกับทรัมป์ในหลายเรื่อง รวมทั้งเงินสร้างกำแพงด้วย ตอนนั้นคือเมื่อทรัมป์ประกาศยกเลิกการผ่อนผันให้พวกเด็กที่เข้าประเทศกับพ่อแม่ได้มีฐานะของการพำนักอยู่ต่อไปชั่วคราวจนกว่าจะได้รับการยอมรับเป็นพลเมืองขั้นสุดท้าย อันนี้เป็นนโยบายของประธานาธิบดีบารัก โอบามา เรียกสั้นๆ ว่า “Dreamers” หมายถึงคนที่ฝันจะได้มาและเป็นพลเมืองอเมริกันจากทั่วโลก โดยเฉพาะจากประเทศที่ผู้ปกครองไร้สำนึกแห่งความเป็นมนุษย์ธรรมดา มีการทำลายเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนเป็นของเล่นยามว่าง

การพูดคุยในวันนั้น ฝ่ายเดโมแครตต่อรองกับทรัมป์ด้วยการขอให้รัฐบาลผ่อนปรนต่อพวก ‘เด็กฝัน’ อีกสักหน่อย แล้วทางเดโมแครตจะยอมผ่านงบประมาณสร้างกำแพงให้ ตอนแรกการคุยกันทำท่าว่าทรัมป์เห็นด้วย แต่สุดท้ายในสไตล์ของทรัมป์ เขายกเลิกการเจรจาที่ได้ข้อตกลงเรื่องกำแพงระดับหนึ่งลงไป ทางฝ่ายเดโมแครตก็ไม่เข้าใจว่าแล้วเขาจะเอาอะไรแน่ ดังนั้นในครั้งนี้ เมื่อทรัมป์แสดงอาการโมโหเลือดเข้าตา ประกาศจะปิดรัฐบาลเองด้วย ไม่ต้องรอให้คองเกรสไม่ผ่านงบประมาณ แกนนำเดโมแครตจึงปล่อยให้ทรัมป์ทำไปตามใจ แล้วดูว่าอะไรจะเกิดขึ้น

เมื่อการปิดรัฐบาลดำเนินไปแล้ว ทรัมป์กับที่ปรึกษาและแกนนำรีพับลิกันจึงค่อยตระหนักว่าเกมนี้ปิดไม่ได้ดังใจเสียแล้ว เนื่องจากเสียงวิพากษ์วิจารณ์การปิดรัฐบาลไปตกที่รัฐบาล ไม่ใช่การจงใจทำให้ปิดจากพรรคเดโมแครต ทรัมป์จึงต้องหาทางลงจากเขาควายที่เขากำลังจะตกหลังควาย

ประการที่สอง ผมมองว่าลึกลงไปทรัมป์เองก็คงคิดอะไรในใจเหมือนกัน ถ้าให้เดา ผมคิดว่าเขากำลังคิดและวางแผนหาลู่ทางและช่องใหญ่น้อยสำหรับการเอาตัวรอดจากการถูกเล่นงานโดยคณะกรรมการอิสระของมุลเลอร์ที่กำลังสอบสวนการกระทำอันเกี่ยวพันกับการแทรกแซงการเลือกตั้งของรัสเซีย

ปลายปี 2018 คณะกรรมการมุลเลอร์แจ้งความเอาผิดกับที่ปรึกษาฝายความมั่นคง (ไมเคิล ฟลินน์) ที่ปรึกษาการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของทรัมป์ (พอล มานาฟอร์ต) กับทนายความส่วนตัวอีก 1 คน (ไมเคิล โคเฮน) ทั้งสามคนเป็นคนที่อยู่วงในและเกี่ยวข้องกับการหาเสียงและการเคลื่อนไหวอื่นๆ ของทรัมป์และครอบครัวอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะทางการเงิน เริ่มมีเค้าว่าการตัดสินของศาลต่อจำเลยทั้งสามจะนำไปสู่การขยับวงเข้าไปในชีวิตและการงานของทรัมป์อย่างที่คาดไม่ถึง แม้ว่าการสอบสวนนี้จะไม่อาจชี้มูลเอาผิดต่อทรัมป์ในฐานะที่เป็นประธานาธิบดีได้ก็ตาม แต่มันเปิดโอกาสและหนทางให้สภาคองเกรสนำไปเล่นงานเขาต่อได้ในสภา และถ้าเรื่องสอบสวนความไม่ชอบของเขาดำเนินไปในสภาได้ แม้จะไม่ผ่านวุฒิสภาก็ตาม ก็หนักหนาพอจะทำให้อนาคตทางการเมืองของทรัมป์ดับวูบลงไปได้เช่นกัน

การตัดสินใจของทรัมป์ที่จะใช้ไม้แข็งเข้าต่อกรกับสภาผู้แทนราษฏรภายใต้การนำของพรรคเดโมแครตจึงเป็นการตัดสินบนยุทธศาสตร์ของการเอาตัวให้รอดจากการถูกถอดถอนในสภาผู้แทนราษฎร การเอาหัวเข้าชนด้วยการปิดรัฐบาล และบีบบังคับให้เดโมแครตยอมผ่านงบประมาณที่เขาขอนั้น ซึ่งก็คงเดาได้ว่าฝ่ายนั้นก็คงไม่ยอม จะเป็นการเปิดสนามรบใหม่ ด้วยปัญหาประเด็นใหม่คือกำแพงชายแดน

จริงๆ แล้วทรัมป์ไม่ได้มีความผูกพันและเห็นประโยชน์อะไรจริงจังมากนัก นอกจากเอาไว้ปลุกระดมคนแถวมิดเวสต์และพวกคลั่งชาติขวาสุดกู่ทั้งหลายเอาไว้ แต่ประโยชน์จริงๆ ที่เขาจะได้จากการเปิดเวทีปะทะกับเดโมแครต คือทำให้สภาผู้แทนราษฎรต้องมาเสียเวลาตอบโต้กับเขาเรื่องสร้างกำแพงหรือไม่สร้าง จะสร้างอย่างไร ฯลฯ แลกกับการให้เขาเปิดรัฐบาลให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ ได้ทำงานตามปกติ คือได้เงินเดือนกันเสียที ทรัมป์คิดว่างานนี้คุ้มกับการยอมให้ถูกด่า แต่ในระยะยาว เขาจะรอดจากคณะกรรมการมุลเลอร์ ถ้าลากให้ยาวไปถึงสองปี ก็จะครบวาระการเป็นประธานาธิบดี ถึงตอนนั้นค่อยดูสถานการณ์และกระแสการเมืองว่าการเล่นงานและถอดถอนเขาด้วยข้อหาทุจริตต่างๆ จะยังมีอีกไหม ถ้ามีก็ไม่ลงรับสมัครเลือกตั้งอีกสมัย กลับไปอยู่ทรัมป์ทาวเวอร์ เสวยกำไรที่ได้จากการเป็นประธานาธิบดี ที่สามารถหลอกคนอเมริกันทั้งประเทศและรวมทั้งคนทั่วโลกได้ถึง 4 ปี อย่างที่ไม่มีใครและสถาบันไหนทำอะไรเขาได้เลย

จะเป็นการตบหน้า “ประชาธิปไตยในอเมริกา” ที่เดอต๊อกเกอวิลล์เองก็คาดไม่ถึง เพราะไม่คิดว่าจะมีผู้นำคนไหนสามารถโกหกคนทั้งประเทศได้อย่างเปิดเผยและนานถึงขนาดนี้ได้.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save