ทรัมป์ 2.0 และจีน

คลื่นการไหลออกมามหาศาลของทุนจีนในปีนี้สะท้อนว่า คนหลายคนในจีนต่างคาดหมายว่ามีโอกาสสูงที่ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) จะกลับมาชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกครั้ง และต้องเตรียมพร้อมรับมือสงครามการค้าที่จะหนักหนาสาหัสขึ้น

นโยบายการต่างประเทศของทรัมป์ 2.0 จะแรงต่อจีนเพียงใด หลายคนที่คิดว่าแรงแน่จะชี้ไปที่การที่ทรัมป์เลือก เจ.ดี. แวนซ์ (JD Vance) ขึ้นมาเป็นผู้สมัครรองประธานาธิบดี โดยที่แวนซ์มีแนวคิดดุดันมากต่อจีน ทำให้คนไม่น้อยมองว่าทรัมป์ 2.0 จะแรงขึ้นต่อจีนยิ่งกว่าทรัมป์ 1.0 เสียอีก

แต่บางคนที่มองว่าไม่แน่ จะชี้ไปที่ผู้สนับสนุนรายใหญ่คนใหม่ของทรัมป์อย่าง อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ซึ่งมีการลงทุนมหาศาลที่จีน และไม่น่าต้องการให้ทรัมป์ซัดกับจีนหนักเกินไป หรือก่อนหน้านี้ ผู้สนับสนุนรายใหญ่ของทรัมป์อีกคนอย่าง เจฟฟ์ แยสส์ (Jeff Yass) ซึ่งเป็นนักลงทุนรายใหญ่ในแอปพลิเคชัน TikTok ก็ถูกคาดเดาว่าคงมีส่วนทำให้ทรัมป์กลับลำเรื่องการแบน TikTok โดยตอนนี้ทรัมป์ไม่คิดจะแบน TikTok อีกแล้ว เพราะกลัวว่าการแบน TikTok จะทำให้ Facebook มีอำนาจตลาดมากเกินไป

ถึงแม้ทั้งสองพรรคการเมืองของสหรัฐฯ อย่างรีพับลิกันและเดโมแครต จะมองจีนในแง่ร้ายไม่ต่างกัน แต่หากเป็นรัฐบาลทรัมป์ 2.0 จะมีทิศทางนโยบายต่อจีนที่แตกต่างจากรัฐบาลโจ ไบเดน (Joe Biden) อย่างแน่นอน

ประการแรก ในเกมการเมืองสามเส้าของมหาอำนาจโลกอย่าง สหรัฐฯ รัสเซีย และจีน รัฐบาลทรัมป์ 2.0 มีแนวโน้มจะเป็นมิตรมากขึ้นกับรัสเซียและพยายามแยกรัสเซียออกจากจีน แตกต่างจากรัฐบาลไบเดนที่สนับสนุนยูเครนอย่างเต็มที่ และดุดันกับปูตินและรัสเซีย จนผลักให้รัสเซียกับจีนกลายเป็นพันธมิตรสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างกัน

ทรัมป์และแวนซ์เคยพูดในหลายวาระว่าเขาไม่สนับสนุนการส่งเงินและอาวุธในการช่วยเหลือยูเครนสู้กับรัสเซีย อย่างแวนซ์เองในขณะที่เป็นวุฒิสมาชิก ก็ได้โหวตคัดค้านร่างกฎหมายช่วยเหลือยูเครนของรัฐบาลไบเดน

แวนซ์เคยอธิบายว่าจีนเป็นภัยคุกคามที่สำคัญที่สุด ส่วนสหรัฐฯ ตอนนี้ไม่ได้แข็งแกร่งพอที่จะเปิดศึกหลายแนวรบพร้อมกันได้ โดยเฉพาะในสงครามที่ลากยาวมองไม่เห็นทางจบหรือชนะได้อย่างสงครามยูเครน จริงๆ แล้ว สหรัฐฯ ควรโฟกัสที่การจัดการจีนที่เป็นภัยคุกคามระยะยาวอันดับหนึ่งของสหรัฐฯ มากกว่า ไม่ใช่แบ่งความสนใจไปทั่วอย่างทุกวันนี้

ทรัมป์เคยบอกว่า หากเขาขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี สงครามยูเครนจะจบลงทันที หลายคนมองว่าเพราะหากทรัมป์ตัดสินใจไม่ช่วยเหลือยูเครนอีกต่อไป ยูเครนย่อมไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องเจรจาสันติภาพกับรัสเซีย

จีนกับรัสเซียเองมีประวัติศาสตร์ที่ซับซ้อนและก็เคยบาดหมางกันมาก่อน แต่ตอนนี้ที่ดูเหมือนที่เป็นมิตรใกล้ชิดกัน ก็เพราะโดนสหรัฐฯ เล่นงานทั้งคู่ แต่หากทรัมป์มีนโยบายแยกสองยักษ์ออกจากกัน และเล่นเกมให้สองยักษ์หวาดระแวงไม่ไว้ใจกันว่าอีกคนไปตกลงอะไรกับสหรัฐฯ ไว้ ก็จะทำให้สมการเกมสามเส้าสหรัฐฯ จีน และรัสเซีย เปลี่ยนแปลงไปจากภาพเดิมที่ตอนนี้แบ่งสองข้างชัดเจน

ประการที่สอง ทรัมป์เน้นที่สงครามการค้า แต่ไม่เน้นสงครามเทคโนโลยีและสงครามการลงทุน ในขณะที่ไบเดนทำทั้งสามสงครามพร้อมกัน ไบเดนไม่ได้ยกเลิกกำแพงภาษีสินค้าที่ทรัมป์ได้เคยตั้งไว้ต่อจีน ในขณะเดียวกันยังกีดกันการลงทุนของจีนในสหรัฐฯ โดยเฉพาะในเทคโนโลยีเชิงยุทธศาสตร์ และที่สำคัญยังตั้งข้อจำกัดต่อการส่งออกซอฟแวร์และเครื่องจักรในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ รวมทั้งการส่งออกชิปไฮเทคไปยังจีน เพื่อปิดกั้นความก้าวหน้าในการผลิตชิปของจีน หลายคนจึงบอกว่ารัฐบาลไบเดนแรงต่อจีนยิ่งกว่ารัฐบาลทรัมป์ 1.0 เสียอีก

โลกทัศน์ของไบเดนเป็นเรื่องความมั่นคง กลัวว่าจีนจะมีความก้าวหน้าในการผลิตชิปและจะนำไปใช้ในการผลิตอาวุธมาสู้กับสหรัฐฯ ในอนาคต ไบเดนยังกังวลเรื่องรถยนต์จีนหรือแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของจีนที่อาจมีผลต่อการเก็บและดูดข้อมูลของชาวสหรัฐฯ ซึ่งอาจกระทบต่อความมั่นคง

แต่ทรัมป์นั้นแตกต่างออกไป ทรัมป์เน้นทำสงครามการค้า คือตั้งกำแพงภาษีต่อสินค้าจีน โดยทรัมป์ให้คำมั่นว่าจะเพิ่มกำแพงภาษีอีก 4 เท่า แถมจะขึ้นภาษีต่อสินค้าจากทุกประเทศอีกร้อยละ 10 จุดประสงค์ของทรัมป์คือต้องการบีบให้อุตสาหกรรมกลับมาลงทุนและตั้งโรงงานในสหรัฐฯ เพื่อให้สหรัฐฯ กลับมามีความได้เปรียบในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและเป็นการจ้างงานให้กับคนสหรัฐฯ

ในสุนทรพจน์ของทรัมป์ในการประชุมสมัชชาใหญ่พรรครีพับลิกัน ทรัมป์พูดไว้อย่างน่าสนใจว่า ตอนนี้จีนไปลงทุนตั้งโรงงานรถยนต์จำนวนมากในเม็กซิโก แต่ถ้าเขาเป็นประธานาธิบดี โรงงานเหล่านี้จะต้องมาตั้งในสหรัฐฯ เพื่อให้เกิดการลงทุนและการจ้างงานมหาศาลในสหรัฐฯ แสดงให้เห็นว่าทรัมป์ไม่ได้ต้องการจะกีดกันการลงทุนจากจีน และไม่ได้มีความกังวลเรื่องความมั่นคงจากการมาตั้งฐานการผลิตหรือจากการขายรถยนต์จีนให้กับผู้บริโภคชาวสหรัฐฯ เหมือนที่ไบเดนกังวล

นโยบายของไบเดนและพรรคเดโมแครตมีลักษณะเน้นอุดมการณ์ มองว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องจุดยืนในการรักษาประชาธิปไตยและขั้วโลกเสรี เป็นประเด็นเรื่องความมั่นคงที่ยอมลดราวาศอกไม่ได้ จึงไม่มีพื้นที่ให้กับการเจรจา ในขณะที่ทรัมป์มองทุกอย่างเป็นเรื่องของการเจรจาธุรกิจการค้า พร้อมที่จะตกลงแลกเปลี่ยนยืนหมูยื่นแมวกัน

สงครามการค้าของทรัมป์มีเป้าหมายเพื่อกดดันให้จีนมานั่งโต๊ะเจรจาและตกลงที่จะให้ประโยชน์กับสหรัฐฯ ให้ทรัมป์เอาไปคุยโม้ได้ ดังที่ในรัฐบาลทรัมป์ 1.0 เขาได้บรรลุข้อตกลงเฟส 1 กับจีน ซึ่งจีนในขณะนั้นสัญญาจะซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ จำนวนมหาศาล แต่สุดท้ายเกิดโควิด-19 ขึ้นก่อน จนความสัมพันธ์ของสองประเทศดิ่งเหวลงไป

ดังนั้น หากทรัมป์กลับมา อาจเป็นผลลบต่ออุตสาหกรรมจีนที่ทำการค้ากับสหรัฐฯ เพราะกำแพงภาษี แต่ก็อาจเป็นผลบวกต่ออุตสาหกรรมจีนที่สนใจเข้าไปลงทุนในสหรัฐฯ หรือต้องการเทคโนโลยีจากสหรัฐฯ

ข้อสุดท้ายที่ทรัมป์ต่างจากไบเดน ก็คือนโยบายต่อไต้หวัน ไบเดนเป็นประธานาธิบดีที่สนับสนุนไต้หวันมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ประธานาธิบดีทุกคนในอดีตของสหรัฐฯ ล้วนแต่ไม่เคยสัญญาชัดๆ ว่าจะไปช่วยไต้หวันรบ เพราะมองว่าความคลุมเครือทางนโยบายจะทำให้ไต้หวันไม่กล้าประกาศเอกราช (เพราะไม่รู้ว่าสหรัฐฯ จะมาช่วยหรือไม่) ในขณะเดียวกันก็ทำให้จีนไม่กล้าบุกไต้หวัน (เพราะไม่รู้สหรัฐฯ จะมาช่วยหรือไม่เช่นกัน) แต่ไบเดนเคยพูดถึงสี่ครั้งว่า สหรัฐฯ จะช่วยไต้หวันแน่นอนหากถูกรุกราน แม้ทุกครั้งโฆษกกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ จะตามออกมาแก้ว่า นโยบายสหรัฐฯ ต่อไต้หวันไม่มีการเปลี่ยนแปลง

ขณะเดียวกัน ในยุครัฐบาลไบเดนนั้น แนนซี เพโลซี (Nancy Pelosi) ประธานสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ ยังไปเยือนไต้หวัน จนทำให้ความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวันสูงขึ้นอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยที่รัฐบาลไบเดนไม่ได้มีท่าทีที่จะพยายามห้ามปรามอย่างชัดเจน

แต่สำหรับทรัมป์แล้ว เป็นที่ทราบกันว่าเขามีความคิดว่าสหรัฐฯ ไม่มีทางจะชนะหากเกิดสงครามไต้หวัน ในหนังสือของจอห์น โบลตัน (John Bolton) อดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของทรัมป์ เคยเล่าว่า ทรัมป์มองว่าสหรัฐฯ ไม่มีทางชนะในศึกไต้หวัน และในการสัมภาษณ์ครั้งล่าสุดกับสำนักข่าว Bloomberg ทรัมป์บอกว่าเขาไม่พอใจไต้หวันที่ขโมยอุตสาหกรรมชิปไปจากสหรัฐฯ และไม่เคยจ่ายเงินให้สหรัฐฯ แต่กลับคาดหวังให้สหรัฐฯ ต้องปกป้องและช่วยเหลือไต้หวัน ทั้งๆ ที่สหรัฐฯ ควรทำตัวเหมือนบริษัทประกันที่เรียกเก็บเงินในการช่วยประกันความมั่นคงให้พื้นที่เหล่านี้

บางคนคิดว่าจุดยืนของทรัมป์ต่อไต้หวันที่อ่อนลงเมื่อเทียบกับรัฐบาลไบเดน น่าจะช่วยให้ความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวันลดลง และความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ดีขึ้น เพราะจีนมองว่าเรื่องไต้หวันเป็นเรื่องคอขาดบาดตายของจีน และจะแสดงจุดยืนลดระดับความสัมพันธ์ทุกครั้งที่มีประเด็นเรื่องไต้หวัน ดังที่เพิ่งเกิดล่าสุดนี้เอง ซึ่งจีนได้ยกเลิกการเจรจาเรื่องอาวุธนิวเคลียร์กับรัฐบาลไบเดน เนื่องจากรัฐบาลไบเดนอนุมัติการขายอาวุธชุดใหม่ให้กับไต้หวัน

แต่ก็มีคนที่กังวลไปอีกแบบว่าหากจีนเชื่ออย่างสนิทใจว่าทรัมป์ไม่มาช่วยไต้หวันแน่ จะรีบบุกไต้หวันภายในยุคสมัยของทรัมป์หรือไม่

หากสรุปสุดท้าย ทรัมป์กับไบเดนต่างกันตรงความแน่นอนของนโยบาย ตลอดสี่ปีของไบเดนนั้นมีความต่อเนื่องทางนโยบายที่สูงมาก ทีมงานด้านการต่างประเทศของเขาคือ แอนโธนี บลิงเคน (Anthony Blinken) และเจค ซัลลิแวน (Jake Sullivan) ซึ่งถือเป็นทีมชุดเดิมตลอดสี่ปี ทำให้นโยบายการต่างประเทศของไบเดนจึงมีความเสถียรและต่อเนื่องมาก

แต่รัฐบาลทรัมป์จะเต็มไปด้วยไม่แน่นอนและคาดเดาไม่ได้ โดยมีปัจจัยได้แก่ การขึ้นลงของความคิด(และอารมณ์) ของทรัมป์ ทีมงานการต่างประเทศที่ทรัมป์เลือก และคนภายนอกที่อาจมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายของเขา ทรัมป์เองไม่ได้มีจุดยืนเชิงอุดมการณ์แบบไบเดน และสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามผลประโยชน์ที่เขามองว่าจะได้รับ

แม้ภาพหาเสียงของทรัมป์จะชัดว่าเขาดุดันต่อจีน แต่เนื้อในของนโยบายจริงอาจไม่แรงเท่าสมัยไบเดนและให้ผลประโยชน์หลายอย่างต่อจีนก็เป็นได้ แต่ในขณะเดียวกัน หากทรัมป์ลดความสำคัญของพันธมิตรนาโต (NATO – องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ) และลดความสำคัญต่อยูเครนและไต้หวัน ก็คงต้องรอพิสูจน์ว่าจะทำให้จีนและรัสเซียที่ไบเดนมองเป็นอันธพาลนั้นเหิมเกริมขึ้นจริงหรือไม่   

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save