fbpx
TRUE MOTHERS อย่างเธอ ไม่ควรเรียก ‘แม่’!

TRUE MOTHERS อย่างเธอ ไม่ควรเรียก ‘แม่’!

เราคงเคยได้ยินได้ฟังคำกล่าวที่ว่า “จะถือสาหาความจริงกันเพื่ออะไร ในเมื่อมันก็เป็นเพียงแค่หนังแค่นิยายที่แต่งเรื่องขึ้นมาเท่านั้น!” ซึ่งประโยคดังกล่าวเป็นประโยคที่บ่งสะท้อนถึงสมบัติแห่งการเป็น fiction หรือ ‘เรื่องสมมติ’ ของศิลปะแห่งการเล่าเรื่องราวสองแขนงนี้ได้อย่างดี

แม้ว่าในอดีตจะมีกลุ่มตระกูลหนัง ‘สัจนิยมใหม่’ หรือ ‘neo-realism’ นำขบวนโดยผู้กำกับอิตาเลียน Vittorio de Sica กับผลงานหนังอย่าง Shoeshine (1946) หรือ Bicycle Thieves (1948) ที่ประกาศชัดว่า ‘หนัง fiction’ เป็นสื่อที่สามารถนำเสนอภาพชีวิตที่เกิดขึ้นและความเป็นไปในโลกแห่งความจริงได้โดยไม่ต้องมีสิ่งปรุงแต่ง ต่อให้หลายๆ ความจริงอาจเป็นสิ่งแสลงไร้ความโสภาก็ตาม แต่ในเมื่อธรรมชาติอีกด้านของหนัง fiction คือการสร้างความบันเทิง จึงไม่น่าแปลกใจที่เนื้อหาเรื่องราวส่วนใหญ่มักจะต้องเกินจริงในแบบ larger-than-life เพื่อให้อรรถรสในการติดตามเรื่องราวที่มิอาจพบเห็นได้ในชีวิตประจำวันใกล้ตัว

อย่างไรก็ดี ผู้กำกับหลายรายยังคงยึดถือการเล่าเรื่องราวแง่มุมชีวิตด้านต่างๆ ของมนุษย์ที่เกิดขึ้นจริงในสังคมอย่างซื่อสัตย์ ปฏิบัติต่อเหตุการณ์และสถานการณ์ต่างๆ อย่างบริสุทธิ์และจริงใจ โดยมีเป้าหมายในการร่วมกันศึกษาและทำความเข้าใจ ‘ธรรมชาติ’ ของการเป็นมนุษย์  ซึ่งผู้กำกับหญิงชาวญี่ปุ่น Naomi Kawase ก็เป็นหนึ่งในนั้น กับการถ่ายทอดภาพชีวิตของชาวญี่ปุ่นในเมืองต่างจังหวัดใกล้ชิดหมู่แมกไม้และธรรมชาติ โดยผลงานเรื่องล่าสุดของเธอ True Mothers ยังคงลายเซ็นการเป็นหนังของ Naomi Kawase ที่ได้รับการประทับรับรองสถานะ Cannes Label 2020 จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ประจำปี 2020 ซึ่งไม่สามารถจัดงานได้และต้องประกาศรายชื่อหนังที่คัดเลือกไว้ให้ผู้ชมได้ติดตามกันจากเทศกาลอื่นๆ หรือในโรงภาพยนตร์ 

True Mothers ดัดแปลงเรื่องราวมาจากนิยายชื่อเดียวกันของ Mizuki Tsujimura เนื้อหาเล่าถึงเหตุการณ์หลังจากที่สามีภรรยาคู่หนึ่งพบความจริงว่า Kiyokazu ฝ่ายสามีมีปัญหากับระบบสืบพันธุ์จนไม่สามารถทำให้ Satoko ภรรยาของเขาตั้งครรภ์ได้ เมื่อทั้งคู่บังเอิญได้ชมสารคดีโทรทัศน์เกี่ยวกับ Baby Baton สถานเลี้ยงดูและให้บริการบุตรอุปถัมภ์จากหญิงสาวที่ไม่พร้อมเลี้ยงดู ไปสู่คู่สามีภรรยาที่มิอาจมีบุตรด้วยวิธีธรรมชาติได้ Kiyokazu และ Satoko จึงตกลงปลงใจ ขอรับบริการจาก Baby Baton ก่อนจะได้พบกับ Hikari เด็กสาววัย 14 ปี ที่แม้ว่าร่างกายเธอจะเจริญวัยจนสามารถมีลูกกับแฟนหนุ่มได้ แต่สภาพจิตใจและวุฒิภาวะใดๆ ทำให้เธอยังไม่พร้อมที่จะได้ชื่อว่าเป็นมารดาด้วยประการทั้งปวง และได้ร่ำร้องฝากให้คู่รักทั้งสองดูแล Asato บุตรชายวัยทารกของเธอ 

Kiyokazu และ Satoko ต่างร่วมกันทำหน้าที่บิดามารดาบุญธรรมของเด็กน้อย Asato เป็นอย่างดี เลี้ยงดูตั้งแต่ฝ่าเท้าเท่าฝาหอย จนสามารถเดินต้อยๆ ไปโรงเรียนได้ด้วยตนเอง กระทั่งวันหนึ่งมีหญิงสาวลึกลับในเสื้อแจ็กเก็ตเหลืองย้อมผมสีน้ำตาลแต่งหน้าจัด อ้างว่าเป็นมารดาเจ้าของครรภ์ของ Asato บุกมาถึงอพาร์ตเมนต์ของบิดามารดาบุญธรรมทั้งสอง เพื่อทวงเอาลูกของเธอคืน มิเช่นนั้นจะประกาศบอกทุกคนรวมถึง Asato ว่าพวกเขามิใช่บุพการีที่แท้จริงของเด็กชาย!

จากโครงเรื่องซึ่งอ้างอิงมาจากนิยายต้นฉบับ ดูจะเป็นอะไรที่เอื้อเหลือเกินต่อการทำออกมาให้เป็นงานดราม่าเรียกน้ำตา ด้วยฉากการปะทะเชือดเฉือน ตั้งแง่ย้ำเตือนเพื่อทวงกรรมสิทธิ์ในตัวบุตรของมารดาทั้งสอง แต่ผู้กำกับ Naomi Kawase กลับมิได้เลือกใช้วิธีเช่นนั้น เธอปล่อยให้หนังค่อยๆ เล่า ค่อยๆ เผยเรื่องราวทั้งในอดีตและปัจจุบันของตัวละครสลับกันไปเรื่อยๆ อย่างไม่เร่งร้อน ถ่ายทอดรายละเอียดเหตุการณ์ในแต่ละช่วงตอนอย่างละมุนละเมียด เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินประเมินสัญชาตญาณของมารดาแต่ละรายว่าใครควรจะได้รับตำแหน่ง True Mother ตัวจริง 

และถึงแม้ว่าในส่วนบทบาทของตัวละครหลัก Naomi Kawase จะเลือกใช้ทีมนักแสดงฝีมือดีมาถ่ายทอด ไม่ว่าจะเป็น Hiromi Nagasaku ในบทคุณแม่ Satoko, Aju Makita ในบทคุณแม่ Hikari หรือ Arata Iura ในบทคุณพ่อ Kiyokazu แต่ในส่วนของสถานอุปถัมภ์ Baby Baton นั้น Naomi Kawase ก็ยังเลือกเล่าเรื่องราวในรูปแบบคล้ายสารคดี ไม่ว่าจะเป็นในส่วนที่ทำเพื่อฉายทางทีวี และที่ Kiyokazu กับ Satoko ได้ไปเห็นกับตาตัวเอง  

ด้วยประสบการณ์ในการสร้างหนังกลุ่มสารคดีมายาวนาน Naomi Kawase จึงรู้ดีว่าควรจะนำเสนอภาพของ Baby Baton ออกมาอย่างไร นักแสดงทุกรายที่มารับบทเป็นผู้ขอรับบริการจาก Baby Baton ล้วนมีภาพลักษณ์และบุคลิกของความเป็นปุถุชนและบอกเล่าสิ่งดีงามที่ได้รับจากองค์กรเล็กๆ นี้อย่างตื้นตันใจจนต้องปล่อยน้ำตาให้รินไหล ยิ่งดูก็ยิ่งรู้สึกสงสัยว่า Naomi Kawase ได้เชิญพ่อแม่บุญธรรมและหญิงสาวผู้ประสบเคราะห์กรรมตัวจริงเหล่านี้มาให้ปากคำ หรือทั้งหมดนี้เป็นเพียงสิ่งสร้างทำของคณะนักแสดงฝีมือดี? ด้วยทุกส่วนที่กล่าวถึง Baby Baton มีความเป็นธรรมชาติเอามากๆ จนไม่ชวนให้รู้สึกถึงการประดิษฐ์สมมติ ตั้งแต่ทุกๆ บุคคลที่เกี่ยวข้องเช่น คุณป้า Asami ผู้จัดการ และกฎระเบียบจุกจิกสารพัดสารพันจะต้องแบบนี้จะต้องแบบนั้น เพื่อสร้างความมั่นใจว่าเด็กทุกรายจะได้รับสวัสดิภาพที่ดีที่สุดจากทุกๆ คน!  

ซึ่งนักแสดงนำทั้ง Arata Iura, Hiromi Nagasaku และ Aju Makita ก็สามารถฝากฝีมือทางการแสดงที่กลมกลืนเป็นโลกใบเดียวกันกับนักแสดงหรือแขกรับเชิญสมทบเหล่านี้ได้อย่างไม่ขัดเขินไร้สิ่งขาดเกิน ชนิดที่ดูเผินๆ ก็คงจะแยกไม่ออกเลยทีเดียวว่าคนไหนเป็นนักแสดง คนไหนเป็นบุคคลจริง

ความสมจริงยิ่งยวดลักษณะนี้ปรากฏอยู่ในทุกๆ ฉากตอนของหนังเลยทีเดียว แม้ว่าโดยตัวบทเองจะมีการขยี้ปมขัดแย้งตามแนวทางงานดราม่าอยู่บ้าง แต่วิธีการของทั้งการแสดงและการกำกับใน True Mothers ก็ยังทำให้ทุกอย่างแลดูน่าเชื่อไปเสียหมด แถมในส่วนของตัวบทก็ให้น้ำหนักความสำคัญต่อตัวละครทุกรายที่ปรากฏตัว แม้ว่าพวกเขาจะมีบทบาทเพียงเล็กน้อย ออกจอกันไม่ถึงหนึ่งนาที ทว่าทุกคนล้วนมี back story ที่ส่งสะท้อนถึงประเด็นหลักของเรื่องจนไม่น่าจะเรียกใครคนไหนเป็น ‘ตัวประกอบ’ ได้เลย

ความงดงามอีกอย่างใน True Mothers คือการถ่ายภาพบรรยากาศของประเทศญี่ปุ่น ทั้งในส่วนของตัวเมืองที่เต็มไปด้วยตึกรามอาคาร และโดยเฉพาะแนวป่าชานเมืองใต้ร่มเงาไม้ ซึ่ง Naomi Kawase นิยมใช้กล้องถ่ายย้อนแสงรับไออุ่นจากดวงอาทิตย์ผ่านเงาแมกไม้อย่างอ่อนละมุน เป็นอันว่าดูแล้วต้องรู้สึกอุ่นซ่านไปกับประกายรังสีร่วมกับตัวละครได้อย่างไม่ยาก

ฉากอันเป็นธรรมชาติเหล่านี้นี่เอง ที่เป็นส่วนสำคัญในการบอกเล่าปฐมบทแห่งการกำเนิดของ Asato บุตรชายรายสำคัญของเรื่อง เนื่องจากผืนป่าแห่งนี้คือสถานพยานรักระหว่าง Hikari กับ Takumi เด็กหนุ่มวัยมัธยม นักบาสเก็ตบอลสุดฮ็อตร่วมโรงเรียนเดียวกันกับเธอ และเหมือนจะเป็นใจให้การรับรองว่าในทางชีววิทยาแล้ว ทั้ง Hikari และ Takumi สามารถที่จะร่วมกันสร้างทายาทได้ ไม่ว่าในทางสังคมจะถูกคัดค้านอย่างเสียงแข็งอย่างไรก็ตาม

ความพิสุทธิ์งดงามในฉากเลิฟซีนของทั้งคู่ ซึ่ง Naomi Kawase กำกับออกมาได้อย่างมีรสนิยมยิ่ง จึงเป็นสิ่งที่บ่งฟ้องได้อย่างดีว่า แท้แล้วการกระทำที่สังคมบอกว่าพวกเขากำลัง ‘ชิงสุกก่อนห่าม’ อาจไม่ได้เป็นความผิดอันใด สังคมที่สร้างกฎเกณฑ์ฝืนธรรมชาติทั้งหลายต่างหากที่ควรเป็นจำเลยต่อการให้กำเนิด Asato ในเรื่องนี้!

และนั่นก็นำไปสู่คำถามสำคัญที่ตัวหนังต้องการสนทนากับคนดู ผ่านคำว่า True Mother ว่าสุดท้ายแล้วเราควรกำหนดนิยามคำว่าแม่เอาไว้เช่นไร เพราะถ้าคิดกันง่ายๆ ว่าสตรีเจ้าของครรภ์ควรได้รับการเรียกขานด้วยคำคำนี้เป็นคนแรก เนื่องจากคงไม่มีอะไรจริงเสียยิ่งกว่าการอุ้มท้องยาวนานหลายเดือน ก่อนการให้กำเนิดที่สามารถสัมผัสจับต้องได้แบบกระจะตา แต่ทว่าหากมารดาผู้นั้นไม่มีปัญญาที่จะเลี้ยงดูฟูมฟักบุตรของตนได้ เธอก็อาจยังไม่สามารถรับตำแหน่งของการเป็นตัวจริง แถมตัวละครหญิงบางรายที่ได้พักพิงอาศัย ณ สถานดูแลของ Baby Baton ร่วมกับ Hikari ก็ยังสารภาพว่าเธอไม่ได้รู้สึกรักลูกในครรภ์ของตัวเองและอยากจะคลอดออกมาให้เรื่องมันจบๆ ลงเสียที เนื่องจากมันเป็นเพียงการปฏิสนธิที่มิได้เกิดขึ้นจากความรัก

ในขณะที่มารดาอุปถัมภ์ที่ทำทุกสิ่งอย่างดังที่มารดาพึงกระทำต่อบุตร ยกเว้นเพียงการตั้งครรภ์และให้กำเนิด ก็อาจคู่ควรต่อตำแหน่งอันทรงเกียรติของการเป็น True Mother ได้เช่นกัน แต่หากว่าทายาทรายนั้น มิได้เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายเธอจริงๆ วันหนึ่งเขาก็อาจเติบใหญ่จนกลายเป็นคนแปลกหน้า พกพานิสัยสันดานแห่งสายเลือดเดิม รอวันสำแดงออกมา อย่างที่ Satoko แอบรู้สึกสงสัยบุตรชายตนเองว่าเป็นคนผลักเพื่อนให้ล้มระหว่างเล่นยิมจริงหรือไม่ เหตุการณ์เล็กๆ นี้ก็อาจกลายเป็นสิ่งสะท้อนใจว่า ในท้ายที่สุด Satoko ก็อาจไม่สามารถเข้าใจพฤติกรรมของลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของตัวเองได้ทั้งหมด

ซึ่งสุดท้ายหนังและนิยายก็หาทางออกง่ายๆ ด้วยการเติมตัวอักษร s ทำให้ True Mothers กลายเป็นภาวะทวิมาติกะ ไม่ดีหรือที่ Asato จะมีมารดาถึงสองคน โดยไม่ต้องวนมาถกเถียงหาผู้ชนะเพียงหนึ่งเดียวเพื่อครองตำแหน่งการเป็นแม่ที่แท้อีกต่อไป ซึ่งคำถามนี้เองที่เป็นคำถามยอกแทงหัวใจ กับการตัดสินตีความว่าพวกเธอควรได้รับการเรียกขานว่า ‘แม่’ ตั้งแต่แรกหรือไม่

ทว่าสุดท้ายแล้ว ผู้เป็นมารดาตัวจริงย่อมไม่ยี่หระต่อการตัดสินแบบสิ้นคิดของใครๆ ขอเพียงให้มนุษย์ตัวน้อยที่ขึ้นชื่อว่าเป็น ‘บุตร’ เรียกขานว่า ‘แม่’ และรับรู้ว่าความหมายเดียวในชีวิตของพวกเธอคือการได้พิทักษ์ดูแลพวกเจ้าให้อบอุ่นปลอดภัย แค่นั้นก็ยิ่งใหญ่เกินกว่าคำเรียกขานตีตราใดๆ ในโลกแล้ว

จึงอาจเป็นเรื่องน่าเสียดายไม่น้อย สำหรับผู้ชมที่ได้ดูหนังเรื่องนี้แล้วไม่พบอาการร้องไห้เสียน้ำตากับตัวเอง ซึ่งในส่วนของตัวข้าพเจ้าก็เนืองนองเปียกสองแก้มตั้งแต่ฉากเป่าเค้กดับเทียนฉลองวันเกิดของน้อง Maho ที่สถานสงเคราะห์ Baby Baton ปฏิกิริยาเล็กๆ ของเธอสารภาพออกมาได้ทั้งหมดว่าตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ใช้ชีวิตมา เธอไม่เคยได้สัมผัสมาก่อนเลยว่าจะมีคนรักและห่วงใยเธอได้ถึงขนาดนี้ จากธารน้ำตาของ Maho ที่หยาดลงมา ก็ทำให้ข้าพเจ้าไม่เชื่ออีกแล้วว่านี่คือการแสดง Maho จะต้องเป็นหญิงสาวที่ตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจและเคยมีประสบการณ์ชีวิตเช่นที่ว่ามาจริงๆ

และก็เป็นไปอย่างที่คาด เพราะ Naomi Kawase ได้เชิญ Maho มาร่วมเข้าฉากและแอบเซอร์ไพรส์ฉลองวันเกิดให้เธอจริงๆ เพราะลักษณาการแห่งความตื้นตันประทับใจตัดพ้อในชะตาชีวิตอะไรแบบนี้ ต่อให้จ้างนักแสดงฝีมือดีระดับโลกมาเล่นกันอย่างไร ก็คงจะไม่สามารถ ‘ปลอมประดิษฐ์’ ให้ดูได้

จากเรื่องนี้ก็ทำให้รู้ว่าจริงๆ แล้ว Naomi Kawase เป็นผู้กำกับที่แสนจะโหดร้าย ไม่ได้เป็นคนอบอุ่นอ่อนโยนเหมือนผลงานหนัง ถึงขั้นสามารถหลอกล่อนำน้ำตาแห่งความสิ้นหวังจากชีวิตจริงมาสร้างความสะเทือนต่อผู้ชมได้ โดยไม่เกรงอกเกรงใจใครๆ เลยจริงๆ!

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save