fbpx
'Troy: Myth and Reality' เมื่อมหากาพย์อิเลียดถูกนำมาเล่าใหม่ใน British Museum

‘Troy: Myth and Reality’ เมื่อมหากาพย์อิเลียดถูกนำมาเล่าใหม่ใน British Museum

สุนันทา วรรณสินธ์ เบล เรื่องและภาพ

ตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา พิพิธภัณฑ์แห่งชาติของอังกฤษหรือบริติชมิวเซียม จัดนิทรรศการพิเศษ ‘Troy: Myth and Reality’ เพื่อแสดงถึงส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะนำเสนอเรื่องราว บางฉากบางตอนเด่นๆ และอิทธิพลของมหากาพย์เรื่องนี้ที่มีต่อศิลปะวัฒนธรรมของโลกผ่านกาลเวลายาวนาน

ห้องแรกจัดแสดงสมบัติชิ้นเอกชิ้นหนึ่งของบริติชมิวเซียม นั่นคือแอมฟอรา (Amphora—โถดินเผาทรงสูง มีหูจับสองข้าง) ที่มีภาพตอนอาคิลลีสสังหารเพนเธซิเลีย นักรับหญิงเผ่าอเมซอน ผลงานของเอ็กซีเคียส (Exekias) ประมาณ 530 ปีก่อนคริสตกาล จัดแสดงคู่กับ งานศิลปะจัดวางของ Anthony Caro ที่แสดงฉากการตายของเฮกเตอร์ กษัตริย์เพรียม และ ประตูสกาลัน เพื่อนสมัยเรียนมหาวิทยาลัยที่มาชมนิทรรศการร่วมกับผู้เขียนถึงกับออกปากว่า นี่มัน “ยำตก” (อารยธรรมตะวันตก) นี่นา

อารยธรรมตะวันตกเป็นหนึ่งในวิชาพื้นฐานสำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยปีหนึ่ง และแน่นอนว่าตำนานการล่มสลายของกรุงทรอยที่อยู่ในมหากาพย์อีเลียดของกวีเอก โฮเมอร์ ก็เป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาวิชานี้ และถือเป็นความรู้พื้นฐานของทุกคนที่สนใจอารยธรรมตะวันตก

อีเลียด (ประมาณ 762 ปีก่อนคริสตกาล) เล่าถึงการรบของเหล่าทวยเทพกรีกผ่านตัวกลางมนุษย์ การสู้รบระหว่างกองทัพกรีกกับทรอย ความรักและสงคราม ศักดิ์ศรีและวีรกรรม ความกล้าหาญและความสูญเสีย ความโหดร้ายและโชคชะตา ความไม่ลงรอยกันในหมู่เทพ การเมืองของทั้งเทพและมนุษย์ ธรรมชาติมนุษย์ หายนะที่มีผู้หญิงเป็นต้นเหตุ หรือผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อ…  รายการนี้ยืดออกไปได้อีกยาว ดังที่กล่าวข้างต้น นิทรรศการ Troy: Myth and Reality จัดแสดงถึงอิทธิพลของอีเลียดต่อศิลปะ ความเชื่อ และวรรณคดีของมนุษย์มานานกว่า 2,500 ปี

ครึ่งแรกของนิทรรศการจัดแสดงวัตถุ เช่น ภาชนะดินเผา แถบสลักหินประดับผนัง (frieze) หรือโลงหิน (sarcophagus) ภาพวาด และรูปหินอ่อนแกะสลัก แสดงถึงตัวละครและฉากต่างๆ จากเรื่องอีเลียดและตำนานสงครามกรุงทรอย ซึ่งรวมเรื่องราวในเรื่องอิเนียด (Aeneid) ของเวอร์จิล กวีชาวโรมัน และโอดิสซี (Odyssey) ของโฮเมอร์ด้วย

วัตถุจัดแสดงส่วนใหญ่มาจากคลังสมบัติของบริติชมิวเซียม ที่ปกติจัดแสดงในนิทรรศการถาวรในห้องกรีกและโรมโบราณ บางชิ้นยืมมาจากสถาบัน Staatliche Museen zu Berlin, พิพิธภัณฑ์โบราณคดีแห่งชาติ ณ เมืองเนเปิลส์ (Museo Archeologico Nazionale di Napoli), พิพิธภัณฑ์แห่งชาติเดนมาร์ก, Victoria and Albert Museum, มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด, และพิพิธภัณฑ์หรือคลังสะสมส่วนตัว เช่น Woburn Abbey Collection และ Devonshire Collections

Troy: Myth and Reality

Troy: Myth and Reality

Troy: Myth and Reality

วัตถุจัดแสดงครึ่งแรก เล่าเรื่องราวของสงครามกรุงทรอย นับตั้งแต่ฉากงานแต่งงานของเพเลอุสและเธทิสซึ่งมีเหล่าเทพเข้าร่วม แต่เอริสไม่ได้รับเชิญ จึงก่อเรื่องจุดชนวนข้อพิพาทโดยทิ้ง ‘แอปเปิลทอง’ ซึ่งมีข้อความสลักว่า “สำหรับผู้ที่มีโฉมงามที่สุด” เฮรา, อธีนา และอโฟรดิตี ต่างอ้างว่าเป็นของตน ซุสจึงให้เฮอร์เมสนำเทพีทั้งสามไปพบปารีส เจ้าชายแห่งทรอย เพื่อให้ปารีสตัดสิน เทพีทั้งสามเสนอติดสินบนปารีส เฮราเสนอว่าจะให้ปารีสได้เป็นกษัตริย์ครองยุโรปและเอเชีย อธีนาเสนอสติปัญญาและทักษะการรบ ส่วนอโฟรดิตีเสนอให้ปารีสได้แต่งงานกับผู้หญิงที่งามที่สุดในโลก

ดังที่เราทราบกัน ปารีสรับข้อเสนอของอโฟรดิตี แต่ปัญหาคือ เฮเลน หญิงที่งามที่สุดในโลก มีสามีแล้ว เมื่อปารีสพาเฮเลนหนีมากรุงทรอย เมเนลาอุส สามีของเฮเลนพร้อมด้วยกองทัพกรีกจึงยกทัพทางเรือมาประชิดทรอย ตัวละครสำคัญๆ ในกองทัพกรีกได้แก่ อกาเมมนอน เมเนลาอุส โอเดสซิอุส อคิลลีส เอแจ็กซ์ ส่วนฝ่ายทรอยมีเฮกเตอร์ พี่ชายของปารีส เป็นผู้นำทัพ ส่วนเทพก็แบ่งพรรคแบ่งพวกช่วยเหลือทั้งสองฝ่าย อพอลโล อโฟรดิตี และโพไซดอน ช่วยเหลือฝ่ายทรอย ส่วนเฮรา เธทิส และฮิฟิสตุส สนับสนุนฝ่ายกรีก อธีนาช่วยทั้งสองฝ่าย และซุสเข้าแทรกแซงเป็นครั้งคราว

อคิลลีสเป็นนักรบที่น่าเกรงขามของฝ่ายกรีก แต่เขาไม่ยอมออกรบเพราะอกาเมมนอนหยามหน้าเขาโดยการชิงตัวไครเซอิส ซึ่งเป็นเชลยสงครามที่สมควรเป็น “สมบัติ” ของอคิลลีสไป พาโทรคลุส เพื่อนสนิทของอคิลลีสเข้ารบโดยสวมเสื้อเกราะของอคิลลีส เฮกเตอร์สังหารพาโทรคลุสเพราะเข้าใจผิด เมื่ออคิลลีสรู้ข่าวว่าเพื่อนรัก (หรือคู่รัก) เสียชีวิต จึงโศกเศร้าและบันดาลโทสะ ท้าเฮกเตอร์ออกรบตัวต่อตัว อคิลลีสสังหารเฮกเตอร์และลากศพของเขาหน้ากำแพงเมืองเพื่อหยามเกียรติ และไม่ยอมคืนศพให้ฝ่ายทรอยเพื่อประกอบพิธีกรรม ส่วนเพรียม พ่อของเฮกเตอ ร์จูบมืออคิลลีสและอ้อนวอนขอให้คืนศพบุตรชาย อคิลลีสจึงยอมคืนศพให้

สงครามดำเนินต่อไปเป็นเวลา 10 ปี ฝ่ายกรีกไม่มีทีท่าว่าจะตีฝ่าเข้าไปในเมืองได้ จึงออกอุบายสร้างม้าไม้ขนาดใหญ่โดยให้ทหารกรีกซ่อนตัวภายใน กรีกทำทีว่าจะเดินทางกลับ และทิ้งม้าไม้ไว้เป็นของกำนัลแด่ทรอยและเทพอธีนา ชาวทรอยเชื่อตามนั้นและนำม้าไม้เข้าเมือง พอตกดึกทหารกรีกปีนออกจากม้าไม้และเป็นเหตุให้กรุงทรอยแตก

อนึ่ง รายละเอียดของฉากม้าไม้มีที่มาหลายแหล่ง และมีรายละเอียดแตกต่างกันเล็กน้อย อย่างไรก็ดีเหตุการณ์นี้ทำให้เกิดคติพจน์ว่า “จงระวังชาวกรีกที่มาพร้อมของขวัญ” ของขวัญจากกรีก (Greek gift) จึงหมายถึงของขวัญที่แฝงกลลวงและอาจเป็นผลร้ายต่อผู้รับ

“จงระวังชาวกรีกที่มาพร้อมของขวัญ” ของขวัญจากกรีก (Greek gift)

ภาพโถผสมไวน์ (dinos) แสดงขบวนเทพที่ไปร่วมงานแต่งงานของเพเลอุสกับเธทิส อายุประมาณ 2580 ปี ฝีมือโซฟิลอส ช่างชาวกรีก นิทรรศการจัดเครื่องฉายแสงภาพวิ่งบนฐานสีดำเพื่ออธิบายรายละเอียดภาพ 2 ฝั่งเหมือนกัน

ภาพโถผสมไวน์ (dinos)

ซ้ายสุดคือแอมฟอราที่แสดงภาพอคิลลีสเล่นหมากกระดานกับเอแจ็กซ์ ระหว่างพักรบจากสงครามกรุงทรอยอันยาวนาน อายุประมาณ 2600 ปี อีกสองชิ้นแสดงฉากอคิลลีสซุ่มโจมตีและสังหารทรอยลัส ตัดหัวทรอยลัสแล้วโยนหัวใส่กลุ่มนักรบของทรอย

'Troy: Myth and Reality'

เธทิสจุ่มอคิลลีสในแม่น้ำสติกซ์ เพื่อให้ร่างของอคิลลีสเป็นอมตะ ไม่มีศาสตราวุธใดทำร้ายได้ แต่บริเวณข้อเท้าที่มือเธทิสจับไม่สัมผัสน้ำ จึงเป็นจุดอ่อนของอคิลลีส (Achilles’ heel) งานแกะสลักหินอ่อนฝีมือของ Thomas RA Banks จากศตวรรษที่ 18 ยืมจาก Victoria and Albert Museum, London

'Troy: Myth and Reality'

อคิลลีสถูกลูกศรเข้าบริเวณเอ็นร้อยหวายซึ่งเป็นจุดอ่อนที่เดียวของเขา ฝีมือของ Filippo Albacini ช่างสลักหินอ่อนในจากศตวรรษที่ 19 ซึ่งได้รับอิทธิพลจากศิลปะกรีก

นอกจากวัตถุจากบริติชมิวเซียม นิทรรศการยังจัดแสดงหนังสือของโฮเมอร์ฉบับแปลเป็นภาษาอังฤษและตีพิมพ์ครั้งแรก (1616) จากคลังสะสมส่วนพระองค์ของพระนางเจ้าอลิซาเบธ และฉบับภาษากรีกที่พิมพ์ในฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี ในปี 1488 จากหอสมุดแห่งชาติ (British Library)

ส่วนครึ่งหลังของนิทรรศการ เล่าถึงความพยายามในการค้นหาหลักฐานทางประวัติศาสตร์เพื่อยืนยันว่าทรอยมีอยู่จริง มีการขุดสำรวจทางโบราณคดีเพื่อค้นหาที่ตั้งของกรุงทรอย และเพื่อพิสูจน์ว่ามหากาพย์ของโฮเมอร์มีพื้นฐานจากเหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์ การค้นพบครั้งที่เลื่องชื่อที่สุดคือการขุดสำรวจในประเทศตุรกี โดยนักโบราณคดีชาวเยอรมันนาม Heinrich Schliemann ในช่วงปลายทศวรรษที่ 19 พบหลักฐานกำแพงเมืองและที่ตั้งชุมชน และชิ้นส่วนของอาวุธกรีกในยุคสำริดที่ทรอย

นอกจากนี้ นิทรรศการยังแสดงถึงอิทธิพลของอีเลียดและเรื่องราวเกี่ยวกับกรุงทรอย ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการตีความและการนำเสนอแบบใหม่ๆ เช่น อิเลียดในรูปแบบการ์ตูนมังงะ, การจัดแสดงละครสัตว์ในธีมศึกกรุงทรอย (1833), การเล่าเรื่องราวติดตลกผ่านโอเปรา LA Belle Helene ซึ่งเริ่มจัดแสดงในปารีสในปี 1864, การแสดงเรื่อง Helene ในอังกฤษในปี 1932,  ภาพ Judgement of Paris (1806-1917) ของ William Blake และบทละครเรื่อง Troilus and Cressida ของเชคสเปียร์ เป็นต้น

'Troy: Myth and Reality'

'Troy: Myth and Reality'

นิทรรศการจบด้วยแบบจำลองโล่ของอคิลลิส (1821) ออกแบบโดย John Flaxman ตามคำบรรยายของโฮเมอร์ และโล่ของอคิลลิส ผลงานของ Spencer Finch ซึ่งเป็นศิลปะจัดวางที่ทำจากไฟหลากสี แสดงถึงศิลปะที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องราวของทรอย

การจัดแสดงโดยรวมดีมาก จัดพื้นที่แบ่งเป็นโซนตามหัวข้อ และจัดเป็นมุมย่อยๆ อีก สร้างพื้นที่ใกล้ชิด แทนที่จะจัดแสดงในห้องโถงโล่ง มีรูปหินอ่อนอคิลลีสโดนศรอยู่ตรงกลาง สามารถเห็นได้จากทั้งสองฟากของนิทรรศการ การจัดแสงสลัวทำให้ดูขลัง มีการใช้ศิลปะแสงช่วยเล่าเรื่องและอธิบายรายละเอียดของภาพและวัตถุ มีการจัดแสดงงานศิลปะร่วมสมัยควบคู่กับงานโบราณคดี วันที่ผู้เขียนไปนั้นนิทรรศการเพิ่งเปิด จึงมีคนค่อนข้างมาก แต่ทุกคนก็หาพื้นที่ให้ตัวเองค่อยๆ ขยับตามกันไปอย่างสุภาพ

ในความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน สิ่งที่ดีงามกว่านิทรรศการคือร้านขายของที่ระลึก น่าซื้อทุกชิ้น มีของที่ระลึกสำหรับตลาดหลายกลุ่ม ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก มีทั้งเครื่องประดับ หนังสือ ของเล่น เครื่องเขียน เสื้อยืด เนกไท ถุงผ้า มีของที่ระลึกที่จำหน่ายใน Troy Museum จากประเทศตุรกีด้วย มีหนังสือเรื่องอีเลียด, โอเดสซี, อีเนียด ซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษหลายเวอร์ชั่น และมีหนังสือที่นำธีมและเรื่องราวไปเล่าต่อเป็นเรื่องใหม่ เช่น Omeros ของ Derek Walcott, The Penelopiad ของ Margaret Atwood, Troilus and Criseyde ของ Geoffery Chaucer, A Thousand Ships ของ Natalie Haynes และ The Silence of the Girls ของ Pat Barker

'Troy: Myth and Reality'

'Troy: Myth and Reality'

'Troy: Myth and Reality'


นิทรรศการ Troy: Myth and Reality จัดแสดงที่ British Museum ถึงวันที่ 8 มีนาคม 2020 ค่าเข้าชมสำหรับบุคคลทั่วไป £20

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save