fbpx
“อเมริกาจะดีกว่านี้ถ้า...” คุยกับ TRISHES ศิลปินสาวชาวมุสลิมที่เกิดและโตในอเมริกา

“อเมริกาจะดีกว่านี้ถ้า…” คุยกับ TRISHES ศิลปินสาวชาวมุสลิมที่เกิดและโตในอเมริกา

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่อง

ปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ผมบังเอิญได้เข้าร่วมงานคอนเสิร์ตเล็กๆ งานหนึ่ง จัดขึ้นที่ร้าน Playyard by Studio Bar ย่านลาดพร้าว คอนเสิร์ตประกอบด้วยศิลปินอินดี้ของไทย 3 วง และศิลปินจากต่างประเทศอีก 1 คน ทั้งหมดนั้นผมไม่เคยรู้จักชื่อเสียงเรียงนามมาก่อน เนื่องด้วยไม่ได้ติดตามดนตรีนอกกระแสสักเท่าไหร่ การตัดสินใจมาดูคอนเสิร์ตครั้งนี้เกิดจากเหตุผลง่ายๆ เพียงว่า เพื่อนที่เป็นคอดนตรีนั้นชวนมา ‘เปิดหูเปิดตา’

ความตื่นเต้นและประทับใจเกิดขึ้นเมื่อได้ชมการแสดงของ ‘Trishes‘ ซึ่งขึ้นโชว์เป็นลำดับที่สอง ด้วยเสียงร้องที่ไพเราะกังวานเป็นเอกลักษณ์ เนื้อเพลงที่สละสลวย แนวดนตรีที่ใช้เสียงสังเคราะห์มาผสมผสานกันอย่างลงตัว รวมถึงภาษากายที่สามารถสะกดความสนใจได้ตลอดระยะเวลาเกือบๆ สี่สิบนาที ทั้งหมดนี้ถูกถ่ายทอดออกมาจากผู้หญิงผิวสีตัวเล็กๆ นามว่า Trish Hosein ที่บินข้ามฟ้ามาจากอเมริกา

หลังการแสดงจบลงในคืนนั้น ผมกลับมาค้นหาประวัติของเธอเพิ่มเติม จึงพบว่าเธอมีเชื้อสายตรินิแดด อยู่ในวัยยี่สิบปลายๆ เกิดและโตในอเมริกา เรียนจบด้านดนตรีมาโดยตรง ขณะเดียวกันก็มีความสนใจในด้านจิตวิทยา ปรัชญา และมานุษยวิทยา ซึ่งสะท้อนออกมาอย่างชัดเจนในงานเพลงของเธอ นอกจากนี้ เธอยังแสดงทรรศนะที่น่าสนใจเกี่ยวกับสถานการณ์การแบ่งแยกเชื้อชาติ-ศาสนา ที่เกิดขึ้นในอเมริกาทุกวันนี้

ทั้งหมดนั้นคือเหตุผลที่ทำให้ผมตัดสินใจนัดสัมภาษณ์เธอในวันรุ่งขึ้น แต่น่าเสียดายที่เธอต้องรีบเดินทางต่อ จึงไม่สามารถนัดคุยกันแบบตัวเป็นๆ ได้ อย่างไรก็ดี ผมได้ส่งคำถามจำนวนหนึ่งให้เธอทางอีเมล ตั้งแต่เรื่องแนวเพลงที่เธอทำอยู่ ที่มาที่ไปของผลงานชิ้นเด่นๆ รวมถึงความเห็นที่เธอมีต่อแผ่นดินเกิดอย่างอเมริกา แต่หลายครั้งกลับต้องตกอยู่ในฐานะ ‘คนในที่ถูกผลักไสให้เป็นคนนอก’

ต่อไปนี้คือคำถามและคำตอบแบบกระชับ จากอีเมลสองสามฉบับระหว่างผมกับ Trishes

Trishes

แนวดนตรีที่คุณทำอยู่เรียกว่าอะไร ค้นพบสไตล์นี้ตั้งแต่เมื่อไหร่

ฉันเรียกสไตล์แบบนี้ว่า ‘Minimalist urban pop’ โดยฉันเริ่มค้นพบแนวทางนี้ตั้งแต่ตอนเรียนจบ ตอนนั้นฉันอยากลองสร้างเสียงที่หลากหลายด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ฉันกำลังหมกมุ่นและตั้งคำถามเกี่ยวกับตัวตนภายใน ฉันรู้สึกว่าฉันมีหลายตัวตน แล้วตัวตนเหล่านั้นก็ปะทะกันอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นการทำดนตรีออกมาในลักษณะนี้ แง่หนึ่งจึงเหมือนว่าฉันใช้เสียงสังเคราะห์ต่างๆ แทนตัวตนแต่ละแบบของฉันเอง

 

ชื่อจริงของคุณคือ Trish แต่ทำไมถึงใช้ ‘Trishes’ ในฐานะศิลปิน มันมีที่มาที่ไปมั้ย

มันมาจากตอนที่ฉันพยายามสร้างตัวตนใหม่ในฐานะศิลปิน ฉันจึงเปลี่ยนจาก ‘Trish’ มาเป็น ‘Trishes’ ซึ่งไม่ใช่แค่การเปลี่ยนชื่อ แต่รวมไปถึงการแต่งกายด้วยชุดสีขาวเป็นหลัก เช่นเดียวกับการเพ้นท์ใบหน้าด้วยสีขาว ซึ่งมองเผินๆ มันอาจเป็นเรื่องของรูปลักษณ์ภายนอก แต่สำหรับฉันมันคือพิธีกรรมที่เชื่อมโยงกับโลกภายในด้วย ทั้งในระดับของ primal self และระดับ spiritual self

 

สังเกตว่างานของคุณ มักพูดถึงความซับซ้อนในจิตใจมนุษย์ และตัวคุณเองก็มีความสนใจเรื่องจิตวิทยาด้วย โดยเฉพาะทฤษฎีของซิกมุนด์ ฟรอยด์ ประเด็นเหล่านี้มีอิทธิพลต่องานของคุณแค่ไหน อย่างไร

พวกเพื่อนของฉันจะรู้ดีว่าฉันหลงใหลในจิตวิทยา รวมถึงปรัชญาและมานุษยวิทยา ซึ่งแน่นอนว่ามันมีผลต่อชีวิตของฉัน รวมถึงงานที่ฉันทำออกมาด้วย ฉันสนใจว่าอะไรคือเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังความคิด หรือพฤติกรรมที่คนคนหนึ่งแสดงออกมา

แต่การจะถ่ายทอดประเด็นเหล่านี้ออกมาเป็นเพลง ฉันว่ายากเหมือนกัน เพราะมันต้องอาศัยการสังเกตตัวเองอย่างหนักหน่วง ขณะเดียวกันก็ต้องซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกและห้วงอารมณ์ต่างๆ ของตัวเองด้วย บางครั้งคุณต้องย้อนกลับไปทบทวนสิ่งที่คุณไม่อยากจำ ทั้งความเจ็บปวด ความอิจฉาริษยา หรือกระทั่งความน่าอับอายของตัวเอง แล้วก็ดิ่งลงไปในความทุกข์เหล่านั้น ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องสนุกเลย

แล้วค้นพบอะไรจากภาวะแบบนี้ไหม

สิ่งที่ฉันได้กลับมาคือการรู้เท่าทันตัวเอง เช่นเดียวกับการมองโลกด้วยเฉดสีที่ต่างออกไป

สังเกตว่างานศิลปะที่ยิ่งใหญ่จำนวนไม่น้อย มักตั้งต้นจากความทุกข์ คุณเห็นด้วยไหม

แน่นอน หลายๆ ครั้ง ความสร้างสรรค์มักผุดขึ้นมาจากความจำเป็นบางอย่าง จริงอยู่ที่ว่าความทุกข์ยาก ความขัดสน อาจทำให้เราเกิดความคิดสร้างสรรค์ในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่อีกด้านหนึ่ง ฉันคิดว่างานศิลปะที่ยิ่งใหญ่ก็สามารถเกิดขึ้นจากภาวะแห่งความสุขได้เช่นกัน แต่นั่นก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละคนด้วย

มีเหตุการณ์ไหนที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ในชีวิตของคุณไหม

มันไม่ใช่เหตุการณ์ แต่เป็นคนมากกว่า ฉันเคยมีภาวะของ ‘โรคผู้เคราะห์ร้าย’ (victim mentality) ฉันจะรู้สึกว่าโลกนี้มันบั่นทอนฉันเหลือเกิน เหมือนว่าสิ่งร้ายๆ พร้อมจะเกิดขึ้นกับตัวฉันได้ตลอดเวลา จนกระทั่งฉันเจอคนคนหนึ่ง ซึ่งตอนนี้เป็นเพื่อนสนิทที่สุดของฉัน เขาสอนให้ฉันรู้จักคุณค่าของการตอบแทน รู้จักความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ในแบบที่ฉันไม่เคยเข้าใจมาก่อน

Trishes, Hydra

หลังจากที่ได้ชมการแสดงสดของคุณ สังเกตว่าเพลงที่เป็นไฮไลท์ คือเพลงที่ชื่อว่า Hydra’ อยากรู้ว่าคอนเซ็ปต์ของเพลงนี้คืออะไร

ถ้าในความหมายกว้าง ไฮดร้าพูดถึงความสร้างสรรค์ของมนุษย์ และกระบวนการที่ความสร้างสรรค์นั้นปะทุออกมาจากภาวะอันบีบคั้น แต่ถ้าในแง่ส่วนตัว เพลงนี้พูดถึงการลุกขึ้นมาต่อต้านการกดขี่และความเกลียดชังรูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอเมริกา โดยเฉพาะจากบรรยากาศทางการเมืองในปัจจุบัน

ในอดีตที่ผ่านมา เมื่อไหร่ก็ตามที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งถูกกดขี่ ถูกลิดรอนสิทธิ ไม่ว่าด้านไหนก็ตาม พวกเขามักจะใช้โอกาสนั้นสร้างสรรค์งานศิลปะที่มีพลังขึ้นมาได้ ซึ่งฉันคิดว่าบรรยากาศทุกวันนี้ก็มีลักษณะแบบนั้นอยู่ ภาวะแบบนี้ทำให้ฉันนึกถึง ‘ไฮดร้า’ หรืองูยักษ์ที่อยู่ในเทพนิยายกรีก เมื่อไหร่ก็ตามที่มีคนตัดหัวมันออก หัวนั้นจะงอกเพิ่มมาเป็นสองเท่า

มีประเด็นสังคมการเมืองอะไรที่คุณอินหรือสนใจเป็นพิเศษไหม

ฉันค่อนข้างอินกับเรื่องผู้อพยพในอเมริกา การเลือกปฏิบัติต่อคนผิวสีในกระบวนการยุติธรรม รวมถึงการปฏิรูปกฎหมายการครอบครองอาวุธปืน ซึ่งช่วงหลังมานี้ คุณจะเห็นว่ามีเหตุรุนแรงจากการใช้อาวุธปืนในที่สาธารณะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ประเด็นที่ว่ามา กระทบกับการใช้ชีวิตของคุณในอเมริกาอย่างไร มีเหตุการณ์ไหนที่ทำให้คุณรู้สึกว่าถูกกีดกัน หรือกลายเป็นคนนอก อะไรทำนอนนั้นไหม

บอกตามตรงว่า การเลือกตั้งเมื่อปี 2016 ทำให้ฉันรู้สึกเหมือนถูกไล่ออกจากบ้านของตัวเอง คุณจะเห็นว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบัน แสดงออกอย่างเปิดเผยถึงความเกลียดชังที่มีต่อชาวมุสลิม ผู้หญิง และคนผิวสี ทั้งหมดที่ว่ามานี้เชื่อมโยงกับฉันและครอบครัวฉันโดยตรง ในฐานะที่พวกเราเป็นชาวมุสลิมและคนผิวสีที่เข้ามาใช้ชีวิตอยู่ในอเมริกา

แต่ถ้าในแง่ประสบการณ์ส่วนตัว ฉันโชคดีที่ไม่ค่อยเจอการเหยียดแบบตรงๆ เท่าไหร่นัก ที่เจอบ่อยจะเป็นการเหยียดโดยไม่ได้ตั้งใจ (Micro aggression) มากกว่า โดยเฉพาะเรื่องศาสนา มีครั้งหนึ่งที่เพื่อนของฉันพูดขึ้นมาว่า “ฉันไม่เห็นว่าคนมุสลิมจะทำอะไรที่เป็นประโยชน์กับโลกนี้สักอย่างเลย” โดยที่เขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าฉันและครอบครัวของฉันเป็นมุสลิม เหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นบ่อยมาก โดยที่คนเหล่านั้นไม่รู้เลยว่าตัวเองนั้นไร้เดียงสาแค่ไหน

เรื่องของการแบ่งแยกเชื้อชาติและศาสนา ดูเหมือนว่าจะยิ่งรุนแรงและชัดขึ้นตั้งแต่ในยุคของทรัมป์ คุณทำความเข้าใจกับภาวะที่เกิดขึ้นนี้อย่างไร

ฉันคิดว่าทรัมป์คือเครื่องบ่งชี้ภาวะป่วยไข้ที่นับวันจะร้ายแรงมากขึ้นในอเมริกา จากเดิมที่ประเทศนี้มีเชื้อของการเหยียดเชื้อชาติและการแบ่งแยกเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว มันฝังรากลึกอยู่ในแผ่นดินนี้มานาน ซึ่งฉันคิดว่าคนอเมริกันจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะกลุ่มที่มีฐานะทางสังคมสูงกว่า อาจไม่เคยเข้าใจด้วยซ้ำว่าการขจัดเรื่องเหล่านี้ให้หมดไปนั้นเป็นเรื่องยากแค่ไหน และการเข้ามาของทรัมป์ ก็ยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก โดยการทำให้เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่ ‘ยอมรับได้’ มากขึ้นในทางสังคม

แต่ถ้ามองอีกแง่หนึ่ง อย่างน้อยการที่ปัญหาเหล่านี้มันชัดเจนขึ้น ก็อาจทำให้เราจัดการกับมันได้อย่างตรงไปตรงมามากขึ้นเหมือนกัน  ฉันคิดว่าอเมริกาที่ดีกว่าคืออเมริกาที่มีผู้อพยพ มีคนผิวสี มีชาวมุสลิม มีชาวยิว มีคนหลากหลายทางเพศ รวมไปถึงนักฝันทั้งหลาย นั่นคืออเมริกาที่ฉันรู้จัก นั่นคืออเมริกาในแบบที่ฉันเชื่อมั่นมาโดยตลอด

Trishes

ในฐานะศิลปิน คุณคิดว่าการแสดงจุดยืนหรือสื่อสารความคิดทางสังคมการเมือง เป็นเรื่องจำเป็นแค่ไหน

ฉันคิดว่ามันเป็นหน้าที่ที่ทุกคนควรทำอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นศิลปินหรือไม่ก็ตาม โดยเฉพาะการส่งเสียงหรือทำอะไรบางอย่างเพื่อต่อต้านความไม่ยุติธรรมทั้งหลายในโลกนี้ แต่ถ้าถามในฐานะศิลปิน ฉันรู้สึกว่าศิลปินสามารถทำได้อย่างหนักแน่นและมีพลังมากกว่า ผ่านช่องทางการสื่อสารที่พวกเขามี และผ่านงานศิลปะในแบบที่คนทั่วไปไม่สามารถทำได้

สังเกตว่าเพลงของคุณ จะมีเซนส์ของความเป็นกวีอยู่พอสมควร จากคำที่คุณเลือกใช้ ไปจนถึงการเรียบเรียงดนตรี คุณได้อิทธิพลมาจากไหน

ฉันเป็นพวกหลงใหลในถ้อยคำและการใช้ภาษาอยู่แล้ว ซึ่งส่วนหนึ่งก็ได้มาจากแม่ของฉันเอง ที่ชอบพูดคำหรือสำนวนแปลกๆ มาตั้งแต่ฉันจำความได้ แล้วฉันก็คงซึมซับมาโดยไม่รู้ตัว

แต่ถ้าพูดถึงการแต่งเพลง ฉันมักจะเริ่มจากคอนเซ็ปต์บางอย่างก่อน พอมีคอนเซ็ปต์แล้วฉันก็จะใช้เวลาคิดกับมันอยู่สักพัก จนมองเห็นโครงร่างคร่าวๆ จากนั้นฉันอาจจะเขียนเป็นบทกวีหรือบทความออกมาก่อนสักชิ้นนึง เพื่อดึงเอาสิ่งที่คิดอยู่ในหัวออกมา ถัดจากนั้นก็ค่อยเอามาเรียบเรียงใหม่อีกรอบให้เป็นเพลง

ฉันจะใช้เวลาพอสมควรกับกระบวนการทั้งหมดที่ว่ามา โดยเฉพาะในขั้นตอนสุดท้ายก่อนจะออกมาเป็นเพลง ฉันจะคิดค่อนข้างละเอียดว่างานที่ออกมามันครบถ้วนตามที่ฉันอยากให้เป็นรึยัง ทั้งในแง่ของเนื้อหาและอารมณ์

 

ปกติคุณอ่านหนังสือแนวไหน มีนักเขียน กวี หรือศิลปินที่ชื่นชอบเป็นพิเศษไหม

หนังสือที่ฉันอ่านส่วนมากจะวนเวียนอยู่กับเรื่องปรัชญา มานุษยวิทยา หรือไม่ก็การเมือง หนังสือสองเล่มที่ฉันอ่านล่าสุด และอยากแนะนำให้คุณได้อ่านด้วย คือเรื่อง ‘Ishmael’ ของ Daniel Quinn และ ‘Last Ape Standing’ ของ Chip Walter

กวีคนโปรดของฉันคือ Gwendolyn Brooks ฉันชอบวิธีที่เธอเอาภาษาพูดมาใส่ในงาน รวมถึงการใช้คำน้อยๆ แต่กินความหมายมาก นอกจากนี้ก็มี Franki Elliot และ Saul Williams ซึ่งฉันชอบพอๆ กัน

ส่วนนักแต่งเพลง ฉันขอยกให้ Bob Dylan เป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือ Simon and Garfunkel

เป้าหมายและโปรเจ็กต์ต่อไปของคุณคืออะไร

ล่าสุดฉันมีเพลงที่เพิ่งปล่อยออกมา ชื่อว่า ‘Money’ ส่วนโปรเจ็กต์ที่กำลังทำอยู่และจะทยอยปล่อยออกมาในช่วงหนึ่งถึงสองปีถัดจากนี้ คือโปรเจ็กต์ที่พูดถึงตัวตนในระดับต่างๆ ตามทฤษฎีของฟรอยด์ โดยจะเริ่มจาก ‘EGO’ ซึ่งจะปล่อยออกมาช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า

สำหรับเป้าหมายส่วนตัว ฉันตั้งเป้าว่าอยากตระเวนทัวร์คอนเสิร์ตไปเรื่อยๆ ทั้งในอเมริกาและต่างประเทศ ขณะเดียวกันก็จะพยายามหาแง่มุมใหม่ๆ มาทดลองใส่ในงาน ทั้งมิติของเพลงและภาพ


ชมผลงานทั้งหมดของ Trishes ได้ ที่นี่ 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022