fbpx

TRIANGLE OF SADNESS เศรษฐศาสตร์ชั้นไฮคลาส จากเรือสวาทสู่หาดสวรรค์

รางวัล ‘ปาล์มทองคำ’ ซึ่งเป็นรางวัลอันทรงเกียรติยิ่งใหญ่ที่สุดจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ดูจะมีนัยยะสำหรับคนในวงการหลากหลายมิติ ในฝั่งผู้กำกับหรือคนทำหนังเอง การสามารถคว้ารางวัลที่ถือเป็น ‘สุดยอด’ ของวงการภาพยนตร์ทั้งโลก ไม่เฉพาะสหรัฐอเมริกาเหมือนรางวัลออสการ์ ได้สักหนึ่งครั้ง จะถือเป็นเกียรติประวัติพิสูจน์ฝีมือในวงการคนทำหนังสายพลังความคิดสร้างสรรค์ที่สูงที่สุดในชีวิตการทำงาน เพราะท่ามกลางการแข่งขันอย่างดุเดือดเข้มข้นกับหนังชั้นเลิศจากทั่วโลกราวๆ 20 เรื่องในแต่ละปี ผลงานจะต้องมีความโดดเด่นเข้าตาคณะกรรมการเหนือกว่าเรื่องอื่นๆ จริงๆ จึงจะเป็นผู้ชนะได้

ขณะที่ฝ่ายคนดูหนังเอง ด้วยความที่รางวัล ‘ปาล์มทองคำ’ คือรางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์ที่มุ่งเน้นคุณค่าในทาง ‘ศิลปะ’ หลายคนจึงเข็ดขยาดกับหนังในแบบส่วนตัวที่คนทั่วไป ‘ดูไม่รู้เรื่อง’ วิวัฒน์พัฒนาแง่มุมเชิงศิลปะภาพยนตร์เตะลูกล้ำหน้าไปไกลจนใครๆ ตามไม่ทัน ต้องใช้สติปัญญาและภูมิความรู้ระดับมหาศาลจึงพอจะ ‘อ่าน’ งานหนังระดับรางวัลปาล์มทองคำจนกำซาบซึ้งได้ กลายเป็นว่าบางครั้งบางคราตรารางวัลใบสุพรรณปาล์ม ก็มิได้สื่อความหมายในเชิงการตลาดที่จะกวาดกวักเรียกแขกเรียกคนดูให้กรูกันเข้ามาซื้อตั๋วนั่งชมเสมอไป และนั่นก็เป็นเหตุผลว่าทำไมหนังอเมริกันที่เคยเข้าประกวดส่วนใหญ่จะไม่นิยมนำใบปาล์มมาแปะไว้บนโปสเตอร์ทั้งที่มีสิทธิ์

แต่กับผลงานระดับรางวัล ‘ปาล์มทองคำ’ เรื่องล่าสุดประจำปี 2022 ก็ดูจะลบล้างข้อกล่าวอ้างข้างต้นได้อย่างมีนิมิตหมาย เมื่อหนังสวีเดนพูดอังกฤษเรื่อง Triangle of Sadness (2022) กลายเป็นผลงานเรื่องที่สองแล้วของผู้กำกับ รูเบน ออสต์ลุนด์ (Ruben Östlund) ที่สามารถคว้ารางวัลปาล์มทองคำได้ หลังจากที่ The Square (2017) ของเขาเคยได้รับรางวัลนี้ไปก่อนแล้วจากการประกวดในปี 2017 และนับเป็นผู้กำกับรายที่ 10 ที่สามารถคว้ารางวัลสูงสุดจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ไปถึงสองวาระ ต่อจาก อัลฟ์ สโคแบร์เยอ (Alf Sjöberg -ปี 1946 และ 1951) คนทำหนังชาวสวีเดนเช่นกัน, ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา (Francis Ford Coppola ปี 1974 และ 1979) ชาวอเมริกัน, บิลล์ เอากุสต์ (Bille August ปี 1988 และ 1992) ชาวเดนมาร์ก, แอเมียร์ คุสทัวริซา (Emir Kusturica ปี 1985 และ 1995) ชาวยูโกสลาเวีย, โชเฮอิ มิมามุระ (Shohei Imamura ปี 1983 และ 1997) ชาวญี่ปุ่น, ฌอง-ปิแยร์ ดาร์เดนน์ ร่วมกับ ลุค ดาร์เดนน์ (Jean-Pierre Dardenne กับ Luc Dardenne ปี 1999 และ 2005) ชาวเบลเยียม, มิชาเอล ฮาเนอเคอ (Michael Haneke ปี 2009 และ 2012) ชาวออสเตรีย และ เคน โลช (Ken Loach (2006 และ 2016) ชาวอังกฤษ ราวกับว่าอันที่จริงแล้วการคว้ารางวัลปาล์มทองคำนั้นเป็นเรื่องง่าย ใครๆ เขาก็ทำได้ แค่มีผลงานชนะใจกรรมการเหนือเรื่องอื่นๆ ในปีนั้นๆ ก็การันตีกันได้แล้วว่าใบสุพรรณปาล์มจะไม่หลุดลอยไปอยู่ในมือคนอื่น

ขณะเดียวกัน หนังรายวิชาเรขาคณิตติดตลกทั้ง The Square และ Triangle of Sadness ของรูเบน ออสต์ลุนด์ก็มิใช่หนังที่ดูยากถึงขั้นต้องป่ายปีนกระได เพียงแค่คุณพอจะก้าวทันโลกชีวิตร่วมสมัยว่าคนรุ่นใหม่เขามีไลฟ์สไตล์ในปัจจุบันกันอย่างไร ก็จะเข้าใจความตลกฮาในหนังของผู้กำกับสวีเดนรายนี้ได้แทบทุกมุก ความสนุกแบบไม่เลือกชนชั้นวรรณะในหนังของออสต์ลุนด์นี่เองที่น่าจะทำให้ผลงานของเขาชนะใจคณะกรรมการส่วนใหญ่ที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ และการคว้าตำแหน่ง DP-Double Palm ไปได้ก็กลายเป็นหลักฐานยืนยันว่าความสำเร็จของเขามิใช่เรื่องบังเอิญ ทั้ง The Square และ Triangle of Sadness จึงเป็นหนังปาล์มทองคำที่ทำลายภาพความขรึมขลังนั่งดูไปก็ปวดหัวปวดกบาลไปอย่างที่เป็นมาในอดีตจนหมดสิ้น ไม่ต่างจากโอกาสอันน่ายินดีเมื่อครั้งที่ Parasite (2019) ของ บองจุนโฮ (Bong Joon-ho) คว้าทั้งรางวัลปาล์มทองคำและภาพยนตร์ยอดเยี่ยมรางวัลออสการ์ไว้ในรอบปี 2019 ก่อนเกิดวิกฤตการณ์โควิด-19

ฉะนั้น อย่าได้คิดตื่นกลัวมัวกังวลว่าหนังที่โปรโมตกันด้วยใบปาล์มทองคำจะต้องมาในตำรับของ ‘ยาขม’ เสมอไป เพราะแท้ที่จริงแล้วแม้แต่สายประกวดเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์แต่ละปีก็มีหนังในรูปแบบที่หลากหลาย และทุกเรื่องทุกแนวก็มีโอกาสคว้ารางวัลใหญ่ได้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

ว่ากันด้วยโครงเรื่องหลักใน Triangle of Sadness ก็อาจจะไม่ได้มีแง่มุมที่แปลกใหม่ชนิดที่ไม่เคยมีใครคิดทำมาก่อนขนาดนั้น โดยเฉพาะการมุ่งจิกแซะพฤติกรรมหลากชนชั้นของคนในสังคม และการใช้พล็อตในแบบ ‘ชู้รักเรือล่ม’ มากลับตาลปัตรขั้วอำนาจและบทบาทที่สามารถพลิกเปลี่ยนไปได้อย่างเหนือความคาดหมายเมื่อย้ายตัวละครเหล่านี้ไปยังพื้นที่แวดล้อมที่แตกต่าง แต่ความ ‘แซ่บ’ แบบไม่เกรงใจใครของ Triangle of Sadness มันคือความเป็นหนังแห่งคริสต์สมัย 2022 เสียนี่กระไร เมื่อเรื่องราวเลือกดำเนินผ่านคู่ตัวละครหลัก คาร์ล รับบทโดย แฮร์ริส ดิคกินสัน (Harris Dickinson) และ ยาย่า รับบทโดย ชาร์ลบี ดีน (Charlbi Dean) คู่รักนายแบบ-นางแบบขายความหล่อ-สวย รวยได้จากงานถ่ายแบบเดินแบบให้สินค้าแบรนด์ดัง กระทั่งรู้จักใช้โซเชียลมีเดียในการทำตัวเป็นคนดัง อินฟลูเอนเซอร์รับรีวิวแลกของฟรี ปลอมเปลือกให้โลกรู้ว่าพวกเขาช่างมีชีวิตที่ ‘ดี๊ดีย์’ แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่าทั้งคู่ต้องมาทะเลาะกันเรื่อง ‘มื้อนี้ใครจ่าย’ หรือ ‘ใครหาเงินได้มากกว่าใคร’ ตลอดจน ‘เอ๊ะ! ทำไมบัตรเครดิตฉันถึงใช้การไม่ได้ขึ้นมาดื้อๆ ล่ะ’

จากนั้น หนังก็พาผู้ชมไปล่องเรือสำราญหรู ที่คู่รักคาร์ลและยาย่าได้ใช้บริการฟรีๆ แลกกับการถ่ายรูปรีวิวความไฮโซหรูหรา ซึ่งในนาวาลำเขื่องนี้ก็มีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติและชนชั้น มีทั้งที่มา พำนักพักผ่อน-ต้อนรับบริการ-ลุยงานความสะอาด แบ่งแยกเอาไว้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดด้วยเครื่องแบบการแต่งกาย โดยฝ่ายแขกผู้มีเกียรติทั้งหลายก็มักจะมาในชุดว่ายน้ำปกปิดแบบเกือบเปลือยไม่ต่างจากชาวอนารยะ ขณะที่พนักงานต้อนรับบริการทั้งหลาย ก็ต้องมาในเครื่องแบบเสื้อผ้าสีขาวดูสะอาดสะอ้านทะมัดทะแมง แต่คนงานระดับล่างจะต้องแต่งตัวด้วยชุดสีดำทำความสะอาดกันอย่างไรก็ดูไม่เลอะ ฉะนั้นต่อให้คนเยอะเราก็จะแยกได้ทันทีว่าใครสังกัดอยู่ในชนชั้นไหนในเรือสำราญที่จำลองระดับชั้นทางสังคมของผู้คนระดับใหญ่เอาไว้ได้อย่างเห็นภาพ เมื่อหนุ่มคาร์ลในคราบนักท่องเที่ยวนุ่งกางเกงขาสั้นเพียงตัวเดียวโดยท่อนบนไม่ได้สวมอะไร วิ่งไปฟ้องหัวหน้าพนักงานต้อนรับว่ามีคนงานหนึ่งรายถอดเครื่องแบบออกเพราะอากาศร้อนโดยไม่เอียงอาย มันจึงเป็นความขำขื่นย้อนแย้งอย่างมากมายว่าถ้า ‘คนเท่ากัน’ อย่างที่งานแฟชั่นของยาย่าประกาศไว้ แล้วทำไมบางคนในเรือลำเดียวกันจึงไม่มีสิทธิ์จะปลดเปลื้องเสื้อผ้าของตนเองได้ ราวถ้าจับทุกคนมาเปลือยกายโดยไม่เหลืออะไรสักชิ้น เราก็จะไม่รู้อีกต่อไปว่าแต่ละคนมาจากชนชั้นไหน ‘เครื่องแบบ’ กำกับจึงเป็นสิ่งที่ละทิ้งไม่ได้ ในนาวาที่อ่อนไหวต่อการไต่ขั้นปีนเกลียวทางระดับสังคมเช่นนี้

ยังไม่ทันที่สงครามระหว่างคนต่างชนชั้นจะได้เริ่มต้นดี ก็ดันมีเหตุให้เรือต้องโดนถล่มยับจนอับปาง ทิ้งร่างผู้รอดชีวิตเพียงไม่กี่รายไว้ ณ ชายหาดบนเกาะร้าง ซึ่งบรรดาวัตถุสมบัติที่เหล่าเศรษฐีมีอันจะกินได้สร้างเนื้อสร้างตัวมาจะต้องหมดคุณค่าความหมาย เหลือแต่เพียงทักษะการหาอาหารให้ตนเองรอดตาย และความสามารถในการระบายความกำหนัดใคร่ให้ผู้มีอำนาจเท่านั้น ที่จะต่อวันเวลาให้บรรดาสมาชิกที่เหลือรอด ซึ่งหนังก็หยอดมุกจิกกัดถึงสารัตถะที่แท้ของการมีชีวิตในช่วงเวลาวิกฤตได้อย่างเป็นธรรมชาติและสมจริง ทิ้งคำถามข้อใหญ่ไว้ให้ผู้ชมว่าหากเราได้ไปอยู่ในสถานการณ์เช่นที่เห็น เราจะยังพอทำอะไรเป็นบ้าง สร้างสำนึกแห่งเปลือกอาภรณ์ห่อหุ้มว่าบางครั้งมนุษย์ยุคปัจจุบันก็มีความต้องการที่พ้นเลยจากปัจจัยสี่ขั้นพื้นฐานไปแสนไกล กระทั่งเมื่อหันกลับมามองตัวเองใหม่ในภาวะที่ไม่เหลืออะไร เราก็อาจไม่เห็นคุณค่าว่าจะอยู่ต่อไปทำไมให้ต้องเปลืองน้ำเปลืองอาหาร หากงานที่ทำมิได้เอื้อต่อการตอบโจทย์ด้านปากท้องของคนอื่นๆ

โดยภาพรวมหลักของเนื้อหาใน Triangle of Sadness จึงคล้ายเป็นการกะเทาะเจาะล้วงให้เห็นโฉมหน้าที่แท้จริงของ ‘ปีศาจวัตถุนิยม’ ผู้สามารถวางตัวกลมกลืนไปกับครรลองชีวิตร่วมสมัย จนจากที่เคยดำรงตำแหน่งเป็นฝ่าย ‘มาร’ ก็กลับพลิกบรรดาศักดิ์มาเป็นฝ่าย ‘พระ’ กับขั้วอำนาจที่ผลัดกันชักกะเย่อกันไปมาตามการแปรเปลี่ยนขององค์สถานการณ์

แต่ความโดดเด่นจริงๆ ของ Triangle of Sadness คงมิได้อยู่ที่สารซึ่งหลายๆ คนก็อาจรู้กันอยู่แล้วเหล่านี้ หากมันคือลีลาตลกจิกกัดเสียดสีวิถีแห่งชนชั้นด้วยวิธีการเดียวกันกับที่ผู้กำกับหนังแนวเหนือจริงชื่อดัง หลุยส์ บูเญียล (Luis Buñuel) เคยเล่าเอาไว้ในหนังอย่าง The Discreet Charm of the Bourgeoisie (1972) หรือ The Phantom of the Liberty (1974) โดยสถานการณ์ถนัดที่พบเห็นได้ในหนังทุกเรื่องของออสต์ลุนด์ก็คือ การฉีกหน้าตัวละครที่พยายามรักษามารยาท จนกลายเป็น ‘นาฏกรรมแห่งความกระอักกระอ่วน’ ชวนให้รู้สึกหน้าชาไปกับตัวละครจนผ่าวร้อน ไม่รู้ว่าควรจะสงสารอาทรหรือเบ้ปากยิ้มย้อนด้วยความสะใจดี ซึ่งในเรื่องนี้ผู้กำกับก็เล่นใหญ่ด้วยฉากไฮไลท์ชวนเหล่าไฮโซมาร่วมงาน Captain Dinner พร้อมกัปตัน โทมัส รับบทโดย วูดดี ฮาร์เรลสัน (Woody Harrelson) บนเรือในคืนพายุฟ้าคะนองจนกล้องยังต้องเฉเอียง ก่อนจะเลี้ยงลำโยกโคลงไปมาขณะทุกคนกำลังเพลิดเพลินกับอาหาร จากที่เคยพูดคุยยิ้มแย้ม แต่ละคนก็เริ่มจะหน้าม้านจากอาการเมาเรือ สุดท้ายก็ระเบิดอาเจียนเศษอาหารออกมาจนไม่เหลือ รดราดแขกเหรื่ออย่างสุดโกลาหล และพอหมดความอดทนคราวนี้ ทั้งอ๊วก ทั้งอึ ทั้งขี้ ทั้งเยี่ยว ก็เนืองนองไหลเชี่ยว ไม่เห็นจะมีใครหน่วงเหนี่ยวมารยาทความเป็นผู้ดีไว้ได้เลยแม้สักราย! ที่ร้ายกว่านั้นคือเมื่อเหตุการณ์เริ่มบานปลาย กัปตันชายชาวอเมริกันหัวคอมมิวนิสต์ขี้เมาก็ได้โอกาสกรึ๊บเหล้าทายไพ่กับเศรษฐีทุนนิยมเสรีชาวรัสเซีย เขี่ยสวิชต์ไมโครโฟนโพนทะนาวาทะคำคมด้านการเมืองการปกครองอันหลากหลาย เล่นเอาผู้โดยสารหัวใจจะวายเมื่อไม่สามารถหันไปพึ่งใครในภาวะวิกฤตนี้ได้เลย!

Triangle of Sadness จึงมีคุณสมบัติของการเป็นหนัง ‘เอาใจมหาชน’ ระคนเคล้ามุกตลกตั้งแต่ระดับขับถ่ายระบายอาจม ไปจนถึงอุดมการณ์พิพาทด้านรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์การปกครอง ที่ต้องโดนเข้าสักมุกทุกรายไม่ว่าจะเป็นคนดูที่นิยมความตลกแบบไหน และเห็นจะมีอยู่เพียงมุกเดียวที่อาจเข้าใจยากอยู่สักหน่อยว่าผู้กำกับกำลังพยายามจิกอะไร นั่นก็คือคำพูดของหญิงเยอรมันร่างกายส่วนล่างเป็นอัมพาตและไม่สามารถสื่อสารด้วยคำพูดใดๆ ได้ ตลอดทั้งเรื่องเธอจึงใช้วจีอยู่แค่วลีเดียวว่า “In den Wolken!” ซึ่งแปลตรงตัวได้ว่า “ในหมู่เมฆ!” เพื่อตะโกนเรียกร้องความสนใจจากผู้คน ซึ่งก็จนปัญญาจะคิดไขว่าคำพูดนี้มีนัยยะอันใด เพราะแม้แต่ในบทสัมภาษณ์ของนักแสดงหญิงที่รับบทนี้อย่าง อีริส แบร์เบน (Iris Berben) ก็ยังบอกว่าช่างเป็นวลีที่มีความเป็นกวีตีความได้หลายนัยยะจากลักษณะที่กำกวมคลุมเครือของมัน แต่ที่น่าพรั่นพรึงกว่านั้นก็คือ ผู้กำกับตั้งใจให้ตัวละครรายนี้เป็นหนึ่งในผู้ที่รอดชีวิตบนชายหาด ซึ่งเมื่อเธอขาดทั้งสมรรถนะด้านการสื่อสารและการเคลื่อนที่ไปไหนมาไหน คุณนาย “In den Wolken!” จึงมีสถานะหลงเหลืออยู่เพียงประการเดียวคือการเป็น ‘ภาระ’ จะยื่นมือช่วยเหลืออะไรก็ทำไม่ได้ แถมยังจะต้องแบ่งอาหารให้ในฐานะของ ‘เพื่อนมนุษย์’ ที่ยังรอดชีวิต แสดงให้เห็นว่าผู้กำกับออสต์ลุนด์ช่างอำมหิตต่อตัวละครของเขาเหลือเกิน ด้วยการวิพากษ์อภิปรายคุณค่าในการมีชีวิตอย่างไม่ไว้หน้า แม้ว่าตัวละครรายนี้จะเป็นรายแรกที่ล่วงรู้ ‘ความลับ’ ของเกาะร้างแห่งนี้ก็ตาม

ความตลกแบบแสนร้ายกาจในหนังเรื่อง Triangle of Sadness นี้ ทำให้ตอนที่ได้ฉายรอบสื่อครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2022 ที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ คนดูต่างพร้อมใจกันสนุกสำราญจนไม่เหลือมาดนักวิจารณ์ ส่งเสียงหัวเราะสลับเสียงอุทานหลากหลายภาษาไม่ต่างจากเหล่าตัวละครในนาวาลำนั้น! จนสุดท้ายเมื่อหนังคว้ารางวัลปาล์มทองคำไป ทุกคนก็เหมือนจะพอใจโดยไร้ข้อกังขา มีแต่คอยถามกันว่าชอบเรื่องไหนมากกว่าระหว่าง The Square กับ Triangle of Sadness

หลังจากประสบความสำเร็จแบบ Double Palm แล้ว ออสต์ลุนด์ก็เคยให้สัมภาษณ์ว่าจะนำหนังมาตัดต่อใหม่ขยายความยาวให้ผู้ชมได้มันสะใจกันมากขึ้น แต่อนิจจาดารานำหญิงของเรื่อง ชาร์ลบี ดีน ผู้รับบทเป็น ยาย่า ได้เสียชีวิตลงด้วยอาการป่วยกะทันหันเมื่อวันที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา โครงการขยายเนื้อหานี้จึงต้องพับไปเพราะความสูญเสียนี้น่าจะกระทบกระเทือนจิตใจต่อผู้กำกับพอดูโดยเฉพาะเมื่อนำมาโยงกับฉากสรุปในช่วงท้าย หนังฉบับที่นำออกฉายทั่วโลกจึงยังเป็นฉบับเดียวกับที่เปิดตัวที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ณ ความยาว 149 นาที ซึ่งคิดในแง่ดี ผู้ชมทั่วไปก็จะมีโอกาสได้เห็นว่าหนังมีหน้าตาเป็นอย่างไร ในตอนที่เพิ่งจะได้เข้าร่วมประกวด!

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save