fbpx

เทรเวอร์ เรนโบล์ต ชายผู้รู้จักทุกซอกของโลกผ่าน Google Maps โดยไม่เคยเดินทางออกนอกประเทศสักครั้ง

“คนคนนี้ขับจักรยานอยู่เลนซ้าย, โคนเสาป้ายบอกทางทาสีดำ แล้วก็จากเสาขึงสายโทรศัพท์ ผมรู้แน่นอนแล้วว่าฟุตเตจนี้ถ่ายทำที่ประเทศไทย จากนั้นก็ดูที่แสงอาทิตย์ที่ตกกระทบรั้วกั้นถนน ก็รู้ว่าถนนสายนี้มุ่งหน้าจากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก ดังนั้น ทางเลี้ยวตรงนี้จึงเลี้ยวขึ้นทิศเหนือ ผมใช้เวลาที่เหลือสำรวจถนนสายอื่นๆ ในภูเก็ตที่มุ่งหน้าไปทางเหนือเหมือนกัน ไม่นานหลังจากนั้น ผมก็เจอถนนที่กำลังตามหาอยู่จนได้ มันคือถนนหมายเลข 4030 บนเกาะภูเก็ตนั่นเอง”

เทรเวอร์ เรนโบล์ต ไม่เคยออกจากประเทศสหรัฐอเมริกา ตลอดชีวิตที่ผ่านมา 23 ปีเขาเดินทางอย่างมากก็แค่ข้ามรัฐไม่กี่รัฐ หากแต่ในช่วงสองปีให้หลังมานี้ เขากลายเป็นหนึ่งในคนที่ ‘รู้จัก’ แม่น้ำแทบทุกแห่ง ถนนแทบทุกสาย และรูปทรงอาคารบ้านเรือนของแต่ละเมืองอย่างทะลุปรุโปร่ง ด้วยการสอดส่องมองดูมันผ่านแอปพลิเคชันแผนที่ชื่อดังที่เราๆ หลายคนน่าจะมีติดสมาร์ตโฟนไว้อย่าง กูเกิลแม็ป (Google Maps) เพื่อนรักเพื่อนรู้ใจยามจำเป็นที่ช่วยให้เราไม่เข้าป่าเข้าดงเวลาไปยังพื้นที่ไม่คุ้นเคย (แต่ก็แน่นอนว่าบางครั้งเพื่อนก็รวนเร พาไปออกทางลัดที่ไม่มีอยู่จริงบ้าง ถนนขาดบ้าง)

สำหรับคนที่หลงทางเป็นประจำอย่างผู้เขียน ความสามารถของเรนโบล์ตแทบจะเรียกได้ว่าเป็นลูกรักพระเจ้าแท้ๆ ใครที่มีอาการหลงทิศน่าจะเข้าใจความทุกข์ทรมานของความเครียดเขม็งเมื่อต้องเผชิญหน้ากับพื้นที่ใหม่ๆ ได้ดี ไม่แน่ใจว่าเดินผ่านตรงนี้มาหรือยัง ไม่รู้ด้วยว่าแผนที่กำลังพาไปที่ไหน อับจนปัญญาในการจะบอกทิศหรือระบุตำแหน่งของตัวเอง (จนพักหลังๆ เพื่อนที่เข้าใจกันมากหน่อยจะตัดปัญหาด้วยการให้ส่งภาพ POV หรือภาพมุมแทนสายตาให้แล้วเป็นฝ่ายมาหาเอง) ซึ่งเรนโบล์ตนั้นไม่เพียงแต่จำแนกทิศได้อย่างแม่นยำ หากแต่ยังจำรูปร่างหน้าตาของถนนแต่ละสาย เอกลักษณ์ต่างๆ ของแต่ละเมือง ป้ายรถเมล์เฉพาะที่… ไปจนถึงรู้ว่าประเทศไทยทาสีดำไว้ที่โคนเสาป้ายบอกทาง! (ฟุตเตจวิดีโอบางส่วนที่เขาหยิบมาทายนั้น มาจากมิวสิกวิดีโอเพลง I Got U โดย ดุค ดูมองต์ ซึ่งถ่ายทำในประเทศไทย)

เรนโบล์ตมักจะโพสต์คลิปวิดีโอขนาดสั้นที่เขาทายสถานที่ต่างๆ ด้วยการเห็นองค์ประกอบภาพไม่กี่อย่างลงแอปพลิเคชัน TikTok และวิดีโอที่ทำให้เขากลายเป็นไวรัลคือคลิปที่เขาทายชื่อสถานที่จากวิดีโอความยาวแปดวินาที (!!) ซึ่งจับจ้องไปยังเจ้าหนูยักษ์คาปิบารานั่งแหมะอยู่บนเบาะหน้าของรถคันหนึ่งซึ่งแล่นไปเรื่อยๆ โดยภาพก็เร่งความเร็วสุดขีด มีเพียงวิวจากกระจกทางซ้ายมือเท่านั้นที่ทำให้เห็นได้ว่านอกรถนั้นมีอะไรบ้าง แต่ถึงอย่างนั้นแล้วส่วนใหญ่มันก็เป็นแค่ภาพรั้วบ้าน ต้นไม้และรถยนต์ไกลลิบเท่านั้น (เพราะว่าสิ่งที่ใกล้เลนส์กล้องมากที่สุดคือน้องคาปิบารายังไงล่ะ!)

“รถขับเลนขวา, รูปทรงอาคารต่างๆ และป้ายบอกทาง ผมว่าวิดีโอนี้ต้องถ่ายทำในสหรัฐฯ แน่นอน และวัดต้นปาล์มข้างทางนี้ทำให้ผมย่อยตัวเลือกออกมาเป็นห้ารัฐ (แคลิฟอร์เนีย, เนวาดา, แอริโซนา, นิว เม็กซิโกและเท็กซัส เป็นรัฐทางตะวันตกเฉียงใต้ ส่วนใหญ่อากาศค่อนข้างอุ่นร้อนตลอดทั้งปี) จากนั้นลองไปดูที่รูปทรงป้ายทะเบียนหน้ารถข้างทางที่เราเห็นจากคลิป ผมก็ตัดนิว เม็กซิโกออกเพราะส่วนใหญ่รถในรัฐนั้นไม่ค่อยติดป้ายทะเบียนด้านหน้าเนื่องจากไม่ผิดกฎหมาย แล้วก็ไถรูปทะเบียนรถเป็นร้อยเป็นพัน หาอันที่ดูคล้ายคลึงกับรูปทรงทะเบียนรถในรูป จนได้ไปเจอกับป้ายทะเบียนรถของรัฐเนวาดา และลองไปสังเกตจากแสงที่ปรากฎในคลิปวิดีโอ ก็คิดว่าถนนสายนี้มุ่งหน้าจากตะวันออกไปตะวันตก แล้วมาดูที่ป้ายรถเมล์ซึ่งผมเสิร์ชหาป้ายแบบนี้บนถนนแถบชานเมืองของเนวาดาที่มุ่งหน้าไปตะวันตก ผมก็เจอถนนสายนี้เข้าจนได้ วิดีโอนี้ถ่ายทำบนถนนวอร์ม สปริงในเมืองเฮนเดอร์สัน รัฐเนวาดาจริงๆ”

เรนโบล์ตเริ่มเป็นที่รู้จักจากการที่เขาโพสต์คลิปตัวเองเล่นเกม GeoGuessr -เกมที่มีกติกาง่ายๆ แค่เดาสถานที่จากภาพสตรีตวิวที่เกมแนบมาให้ ผ่านองค์ประกอบต่างๆ ในภาพ เช่น รูปทรงอาคาร, ถนน, ตำแหน่งดวงอาทิตย์ หรือลักษณะต้นไม้ ยิ่งทายได้รวดเร็วและใกล้กับสถานที่จริงเท่าไหร่ยิ่งได้คะแนนมากเท่านั้น- ลงในยูทูบและ TikTok ซึ่งเขาตัดต่อออกมาให้สั้นกระชับจนเหลือคลิปละไม่ถึงนาที เล่าแค่ว่าเขาใช้องค์ประกอบอะไรบ้างในการทายสถานที่แต่ละแห่ง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็แม่นยำจนน่าขนลุก

“ตอนโควิด-19 ระบาด ผมครั่นเนื้อครั่นตัวอยากสัมผัสวัฒนธรรมอื่นๆ และท่องโลกดูบ้าง ก็เลยลองมาเล่นเจ้าเกม GeoGuessr นี่ดู ที่เหลือก็อย่างที่คุณเห็นกัน” เขาบอก “ตัวผมเองก็ไม่ใช่นักเดินทางแต่ไหนแต่ไร ไม่เคยไปยุโรปด้วยซ้ำ ว่าไปก็ไม่เคยออกนอกอเมริกาเลยด้วย เพราะงั้นเกมนี้เลยเหมือนเป็นวิธีท่องโลกในแบบของผมน่ะ”

เรนโบล์ตบอกว่าเขาไม่มีเคล็ดลับอะไร แต่ตะบี้ตะบันฝึกซ้อมด้วยการนั่งสำรวจกูเกิลแม็ปและสตรีตวิวที่บ้านวันละกว่าสิบชั่วโมงเท่านั้น (!!) เขาเกิดและโตในอาร์คันซอ, สหรัฐฯ และดังที่เขาบอกว่าตัวเองเป็นชายหนุ่มที่ไม่เคยย่างกรายออกจากประเทศ แต่สำรวจโลกผ่านการใช้เวลามหาศาลนั่งมองภาพต่างๆ ทั้งผู้คน เครื่องแต่งกายและป้ายข้างทางจากกูเกิลแม็ป มีบ้างที่เขาทายผิด เช่น สับสนระหว่างถนนในสหรัฐฯ กับแคนาดาอันเป็นประเทศเพื่อนบ้าน หรือไม่ก็ทายสาธารณรัฐเช็กเป็นสโลวาเกีย แต่ส่วนใหญ่แล้วเรนโบล์ตไม่ค่อยพลาดประเด็นยิบย่อยนัก อันเป็นผลพวงของการนั่งมองเมืองต่างๆ ผ่านจอคอมพิวเตอร์วันละหลายชั่วโมง นอกจากนี้ มันยังหมายรวมถึงความรู้ปลีกย่อยต่างๆ ที่หลายคนอาจไม่ทันสังเกต เช่น สีของรถที่ปรากฏในภาพ มีรถสีขาวบางเฉดเท่านั้นที่จะนิยมใช้กันในประเทศจากอเมริกาใต้ นั่นหมายความว่าตัวเลือกหดแคบลงจากทั้งโลกไปยังเปรู, โบลิเวียหรือชิลี เป็นต้น

“ผมไม่ได้คิดว่าตัวเองอัจฉริยะหรืออะไรเลย เหมือนนักมายากลน่ะ การจะเป็นนักมายากลได้ก็ต้องฝึกเล่นกลไปเรื่อยๆ อาจเป็นกลง่ายๆ แต่ในสายตาคนดูอื่นๆ แล้วมันดูยากเสียเหลือเกิน อะไรทำนองนั้น” แต่ทั้งอย่างนั้นเขาก็ยังไม่ใช่ ‘มือหนึ่ง’ ของเกมนี้ เพราะคนที่ครองยุทธภพเกมสุดหินเกมนี้คือ Geostique วัยรุ่นชาวเนเธอร์แลนด์กับ Blinky ผู้เล่นจากฝรั่งเศส ทว่า การที่เรนโบล์ตได้รับความนิยมขนาดนี้ก็มาจากคลิปขนาดสั้นที่เขาโพสต์ลง TikTok จนกลายเป็นไวรัลระเบิดระเบ้อให้คนมาติดตาม มากกว่านั้น ส่วนใหญ่แล้วคลิปของเขาผ่านการตัดต่อที่ ‘ได้เรื่องได้ราว’ อยู่ไม่น้อย เป็นต้นว่าขมวดประเด็นกระชับ ใส่ดนตรีชวนระทึก หรือเลือกโจทย์ทายสถานที่จากวิดีโอที่ดังมากอยู่ก่อนแล้ว แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเรนโบล์ตจะมีแค่ราคาคุย เพราะหลายครั้งเขาก็ทายสถานที่ต่างๆ ได้ภายในอึดใจเพียงแค่เหลือบตามองรายละเอียดยิบย่อยที่ภาพแตกๆ ของกูเกิลแม็ปจะเอื้ออำนวย แต่ที่เหนือชั้นมากๆ (และกลายเป็นไวรัลด้วยเช่นกัน) คือคลิปที่เขานั่งเอาผ้าผูกตา ทายสถานที่จากคำบอกเล่าของคนอื่น (ซึ่งเขาทายถูกด้วยนะ!)

พ้นไปจากการสำรวจการขับถนนเลนซ้ายและขวา, ตำแหน่งพวงมาลัยในรถซึ่งช่วยให้เขาตัดตัวเลือกประเทศต่างๆ ออกไปได้เร็วขึ้น เรนโบล์ตยังจำแนกลักษณะเฉพาะไม่กี่อย่างของแต่ละประเทศด้วย “ฝรั่งเศสจะแปะสติ๊กเกอร์สีน้ำเงินบนเสาโทรศัพท์, ถ้าเห็นภาพรอยแยกบนฟ้าก็เป็นไปได้ว่าเป็นจากอัลเบเนียเพราะกล้องของกูเกิลมีปัญหาตอนจับภาพนี้, ไต้หวันเป็นประเทศเดียวในกูเกิลแม็ปที่ทาสีเหลืองดำตรงโคนเสาข้างทาง ซึ่งญี่ปุ่นก็มีอะไรคล้ายๆ แบบนี้นะครับแต่ว่าแค่ครึ่งเสา ส่วนที่ญี่ปุ่น คุณลองสังเกตเสาที่มีรูปจรวดหรือลูกศรทิ่มลงพื้นดู เขาเอาไว้ใช้บอกทางเวลาหิมะตกหนักๆ จนกลบเส้นบอกทางต่างๆ บนถนน” (มีคนเข้ามาแสดงความเห็นมหาศาลว่า กูอยู่ฝรั่งเศสมาทั้งชีวิต เพิ่งรู้ว่ามันมีไอ้สติ๊กเกอร์นี่แปะบนเสาด้วย หรือนายทำให้ฉันตระหนักได้ว่ารัฐบาลแคนาดา -ประเทศที่หิมะตกหนังทั้งปีทั้งชาติ- ควรเอาป้ายบอกทางของญี่ปุ่นมาใช้ในประเทศได้แล้วโว้ย)

อย่างไรก็ดี ความที่วิดีโอของเรนโบล์ตที่ว่าด้วยการทายสถานที่เพียงมองจากองค์ประกอบไม่กี่อย่างบนภาพกลายเป็นไวรัล ก็ทำให้ประเด็นความเปราะบางของความเป็นส่วนตัวบนอินเตอร์เน็ตหวนกลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง มีหลายคนทีเดียวที่ตั้งข้อสังเกตว่า เอาเข้าจริงนี่อาจสะท้อนภาพอันตรายของการใช้ชีวิตทุกวันนี้อยู่ก็ได้ “ต่อให้คุณโพสต์รูปภาพสถานที่ที่คุณอยู่ในเวลานั้นโดยไม่ได้ระบุชื่อหรือตำแหน่งใดๆ แต่นึกถึงใครสักคนที่อาจแอบเฝ้ามองคุณอยู่อย่างลับๆ แล้วเดาที่ทางได้รวดเร็ว แม่นยำแบบนี้ มันก็อาจไม่ใช่เรื่องที่เราควรจะวางใจเสียทีเดียวนักหรอก” คอมเมนต์หนึ่งกล่าว ขณะที่อีกหลายคนนึกถึงข่าวปี 2019 ว่าด้วยชายที่สืบรู้ที่อยู่ของไอดอลสาวจากการสังเกตเห็น ‘เงาอาคาร’ ที่สะท้อนผ่านนัยน์ตาของเธอ จนกลายเป็นประเด็นถกถามเรื่องความปลอดภัยของผู้คนบนโลกไซเบอร์ที่อะไรต่อมิอะไรก็ดูจะเป็นเรื่องเกินควบคุมไปเสียแล้ว ทางออกไม่กี่อย่างคือการหลีกเลี่ยงการโพสต์ภาพหรือรายละเอียดใดๆ เกี่ยวกับตัวตนของเราในปัจจุบันขณะ -ซึ่งก็เป็นสิ่งที่หลายคนแนะนำเรื่อยมาหลายปีนับตั้งแต่การเรืองอำนาจของอินเทอร์เน็ต แต่ถึงอย่างนั้น ดูเหมือนว่าโซเชียลก็จะผลิตฟังก์ชั่นใหม่ๆ ที่เย้ายวนให้เรา ‘อัพเดต’ เสี้ยววินาทีอันเป็นปัจจุบันขณะของเราเกือบตลอดเวลา เป็นต้นว่า story ในอินสตาแกรมหรือเฟสบุ๊คที่จะระเหิดหายลบตัวเองไปภายใน 24 ชั่วโมง ทำให้มันมาพร้อมข้อได้เปรียบที่ทำให้เราอยากรายงานความเคลื่อนไหวของตัวเองในห้วงปัจจุบันโดยไม่ต้องไปคำนึงถึงความ ‘อยู่ยงคงกระพัน’ ของมันอย่างโพสต์อื่นๆ ในแพล็ตฟอร์ม (แต่ก็แน่นอนว่าการ ‘หายไป’ ของมันก็ไม่ได้เป็นการหายไปจริงๆ เพราะยังมีระบบแบ็คอัพข้อมูล เรื่อยไปจนถึงเราอาจถูกใครต่อมิใครเซฟภาพหรือวิดีโอที่เราโพสต์เก็บไว้ก็ยังได้)

เนื้อตัว เรื่องราวและความเป็นส่วนตัวต่างๆ ของเราจึงไหลเวียนอยู่บนโลกเสมือน ซึ่งอาจส่งผลต่อมายังโลกแห่งความจริงเกือบตลอดเวลา

กลับมายังเรนโบล์ต พ้นไปจากการใช้เวลาสำรวจพื้นที่ต่างๆ ของโลกผ่านกูเกิลแม็ป เขาทำงานในฐานะนักวิเคราะห์ด้านกลยุทธ์ให้สตาร์ตอัปเจ้าหนึ่งในอเมริกา ฝันใฝ่อยากเดินทางไปเที่ยวที่นอร์เวย์, วังเวียงที่ลาวและทางเหนือของประเทศไทย และแม้จะยังไม่เคยเดินทางออกนอกสหรัฐฯ แต่เรนโบล์ตก็มีพาสปอร์ตเรียบร้อย ปัญหาเดียวในตอนนี้คือมันดันหมดอายุแล้วเท่านั้น

ส่วนผู้เขียนขอไปผลักพลังสมองจำถนนหน้าปากซอยบ้านให้ได้ก่อน น่าจะถือเป็นคุณสำหรับคนรอบตัวที่ต้องคอยรับมือกับอาการหลงทิศหลงทางมากแล้ว

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save