fbpx

เทรนด์ 2019 : How to เดินทางสู่โลกแห่งอนาคตอย่างไรไม่ให้ตกขบวน

ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

นานวันเข้า เรายิ่งมองเห็นความเปลี่ยนแปลงในสังคมได้แจ่มชัดมากขึ้นทุกที

ตัวการสำคัญที่สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่นี้ คือ ‘เทคโนโลยี’ ซึ่งอยู่ในชีวิตประจำวันของเรา เช่น อินเทอร์เน็ตหรือปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI)

จริงอยู่ว่าเราไม่ได้เพิ่งพูดถึงพัฒนาการของเทคโนโลยีเหล่านี้เป็นครั้งแรกในปี 2019 แต่ก่อนหน้านี้ เราพูดถึงการเปลี่ยนแปลงวิธีทำธุรกิจ การใช้ประโยชน์จากข้อมูลจำนวนมหาศาลที่เรียกว่า Big Data และพูดถึงความน่าจะเป็นของสภาพสังคมในอนาคต หลังเทคโนโลยีเข้ามาปฏิวัติวิถีชีวิตของผู้คนอย่างสมบูรณ์ ฯลฯ

แต่ในปีนี้ เราพูดอย่างเป็นรูปธรรม ชัดเจน และหนักแน่นกว่าที่ผ่านมา อาจเพราะเกิดความตระหนักว่า ‘ยุค Internet of Things’ ‘โลกยุค 4.0’ หรือกระทั่ง ‘ยุค AI ครองโลก’ ไม่ใช่อนาคตอันห่างไกลอีกต่อไป

สิ่งเหล่านี้กำลังใกล้เข้ามาอย่างรวดเร็ว และแพร่กระจายกว้างขวาง ดังนั้น แทบทุกวงการจึงพูดถึงพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีของคนสมัยใหม่ และตระเตรียมวิธีรับมือ สรรค์สร้างประชากรแห่งโลกอนาคตที่ต้องอยู่ร่วมกับความชาญฉลาดของปัญญาประดิษฐ์ จนกลายเป็น ‘เทรนด์’ สำคัญของปี 2019

 

อินเทอร์เน็ต : เปลี่ยนคน = เปลี่ยนโลก

 

ภาพคนนั่งจดจ่อกับสมาร์ทโฟนในที่สาธารณะ แชทหากันผ่านเครือข่ายโซเชียลมีเดีย กลายเป็นความธรรมดาสามัญที่เราพบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน และยิ่งพบเห็นได้ง่ายขึ้นเรื่อยๆ ตามการขยายตัวของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต

แต่การขยับขยายเครือข่ายก็อาจมาถึงจุดอิ่มตัวเร็วกว่าที่คาด หลังจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากปี 2009 ที่มีเพียง 24% ของประชากรโลก กลายเป็น 49% ในปี 2017 จนล่าสุด Annual Internet Trends Report ประจำปี 2019 ของนักวิเคราะห์เทรนด์การใช้อินเทอร์เน็ตตัวแม่ของวงการอย่าง ‘แมรี มีคเกอร์’ (Mary Meeker) เปิดเผยว่าปัจจุบัน ตัวเลขผู้ใช้อินเทอร์เน็ตพุ่งสูงถึง 51% ของประชากรโลก หรือเท่ากับ 3.8 พันล้านคนทั่วโลก

นี่นับเป็นความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่สามารถแทรกซึมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนเกินครึ่งค่อนโลก หากอีกนัยหนึ่ง ผู้ใช้จำนวนมหาศาลคือสัญญาณเตือนว่านับจากนี้ การเติบโตของอินเทอร์เน็ตอาจเข้าสู่ภาวะชะลอตัว เห็นได้จากรายงานการขยายตัวของผู้ใช้มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะ “ผลไม้ที่ห้อยต่ำอยู่ใต้ต้นได้ถูกเก็บไปหมดแล้ว” (Low hanging fruits) ผู้ใช้ที่เข้าถึงง่ายต่างย้ายไปอยู่บนโลกออนไลน์เรียบร้อย เหลือเพียงกลุ่มหน้าใหม่ที่ค้นหายากขึ้นกว่าเดิม ท้าทายยิ่งกว่าเดิม

เมื่อกวาดตามองโฉมหน้าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบนโลกโดยแบ่งตามภูมิภาคจะพบว่าชาวเอเชียคือผู้เล่นหลักของโลกออนไลน์ในปัจจุบัน แม้ว่ามีสัดส่วนประชากรที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตอยู่ในระดับต่ำกว่าชาวยุโรปหรืออเมริกาเหนือ แต่ด้วยกำลังคนมากกว่า ทำให้คนเอเชียที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพียง 48% ในภูมิภาคก็มีค่าเท่ากับ 53% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งโลก เช่นเดียวกับภูมิภาคแอฟริกาและตะวันออกกลางที่มีสัดส่วนการเข้าถึงแค่ 13% ของประชากร แต่จำนวนผู้ใช้กลับคิดเป็น 32% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งหมด

ดังนั้น เป็นที่คาดการณ์กันว่าภูมิภาคเอเชีย แอฟริกาและตะวันออกกลางคงกลายเป็นเป้าหมายของการตามหาผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตหน้าใหม่ในอนาคต

พื้นฐานสำคัญในการขยับขยายโลกออนไลน์เรื่องหนึ่งคือการทำความเข้าใจว่า ‘ทำไม’ ผู้คนจึงใช้อินเทอร์เน็ต ฝ่ายศาสตราจารย์ Payal Arora เจ้าของหนังสือ The Next Billion Users ได้ให้คำตอบไว้ว่า คนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย เริ่มใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อความบันเทิง พักผ่อนยามว่าง สร้างสังคม และติดต่อกับคนในครอบครัว มากกว่าใช้เพื่อการทำงานหรือเรียนรู้ ดังนั้น ก้าวแรกของการดึงดูดกลุ่มผู้ใช้ใหม่จึงต้องอาศัยแอปพลิเคชันที่ช่วยเรื่องการสื่อสารและสร้างความสนุกสนานอย่างเกมหรือโซเชียลมีเดียเป็นหลัก จากนั้นค่อยขยับไปสู่แอปพลิเคชันส่งเสริมประสิทธิภาพการทำงานอื่นๆ ในภายภาคหน้า

ด้านรายงานประจำปีของแมรี่ มีคเกอร์มีข้อสังเกตเรื่องการใช้ประโยชน์จากความบันเทิงในทำนองเดียวกันว่า การสื่อสารด้วยภาพและวิดีโอช่วยลดอุปสรรคทางด้านภาษาหรือความสามารถเรื่องการอ่านเขียน ทำให้ทุกคนสามารถเพลิดเพลินกับเนื้อหาบนโลกออนไลน์ได้ จึงถือว่าเป็นตัวแปรสำคัญที่ช่วยดึงดูดคนอีกครึ่งโลกมาใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้น

กระทั่งสิ่งที่เคยถูกต่อต้านอย่างเกม มาบัดนี้กลับได้รับสมญานามจากแมรี่ว่าเป็น ‘โซเชียลมีเดียของคนรุ่นใหม่’ เพราะเป็นช่องทางสำคัญให้วัยรุ่นได้ทำกิจกรรมและมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน บางครั้งเกมยังทำให้คนหนุ่มสาวก้าวข้ามกำแพงวัฒนธรรม รวมตัวกันทำกิจกรรมต่างๆ ยิ่งไปกว่านั้น เกมยังสามารถสร้างอาชีพใหม่ เช่น นักกีฬา eSports นักพากย์เกม สตรีมเมอร์ เป็นต้น เกมจึงอาจไม่ใช่ ‘ตัวร้าย’ ของสังคมอย่างที่เคยถูกปรามาสมาตลอด

นอกจากเป้าหมายการเพิ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหน้าใหม่ อีกเทรนด์หนึ่งซึ่งกำลังมาแรงในวงการนี้คือ ‘ทำอย่างไร’ ให้ผู้เล่นหน้าเก่าใช้บริการมากขึ้น แม้ปัจจุบันจะมีสถิติชัดเจนว่าคนใช้เวลาอยู่กับสื่อออนไลน์นานขึ้น ตามที่โตมร ศุขปรีชาระบุไว้ในบทความว่า คนอเมริกันใช้งานสื่อออนไลน์เฉลี่ยวันละ 6.3 ชั่วโมง และ 1 ใน 4 ของกลุ่มตัวอย่าง ‘ออนไลน์’ แทบตลอดเวลา จนเกิดพฤติกรรมรูปแบบใหม่จากการปฏิสัมพันธ์บนเครือข่ายโซเชียลมีเดียโดยเฉพาะ เช่น การ ‘read แต่ไม่ตอบ’ (ghosting) หรือการ ‘ไลก์เพื่อแสดงตัว’ (orbiting)

กระนั้น บริษัทยักษ์ใหญ่หลายเจ้า เช่น Tencent เจ้าของแอปฯ WeChat กลับมองไกลยิ่งกว่าการดึงดูดให้คนออนไลน์เพื่อสื่อสารอย่างเดียว Super apps หรือกลุ่มของแอปพลิเคชันที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการทำกิจกรรม ‘ทุกสิ่งอย่าง’ ทั้งดูหนังฟังเพลง ออกกำลัง ซื้อของ จ่ายเงิน เรียกรถ และอื่นๆ จึงเริ่มปรากฏให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ เรียกได้ว่าต่อจากนี้อินเทอร์เน็ตจะเข้ามาอยู่ในทุกจังหวะชีวิตของเราเลยทีเดียว

แน่นอนว่า Super Apps เหล่านี้จะเปลี่ยนวิถีชีวิตและพฤติกรรมของผู้บริโภคไปอย่างสิ้นเชิง อีกทั้งกระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในภาคธุรกิจและเศรษฐกิจโดยรวม เห็นได้จากอัตราการเติบโตของธุรกิจ E-Commerce แซงหน้าธุรกิจค้าปลีกปกติทั่วไป เกิดแพลตฟอร์มใหม่ๆ ที่เปิดโอกาสให้คนทำงานติดต่อกับลูกค้าโดยตรงอย่าง Grab GET หรือ Airbnb กลายเป็นรูปแบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยการ ‘รับจ๊อบ’ ทำงานเป็นชิ้น เรียกว่า Gig Economy ซึ่งมีการทำนายว่าจะได้รับความนิยมในหมู่คนรุ่นใหม่ผู้รักอิสระในอนาคต

 

ธุรกิจยุคดิจิทัล: การปกป้องข้อมูลและพื้นที่ของมนุษย์จาก AI

 

นอกจากอินเทอร์เน็ตแล้ว ยังมีเทคโนโลยีอื่นๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) Cloud Blockchain เข้ามาพลิกโฉมวงการธุรกิจหลายประเภท ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มขึ้น ผลิตสินค้าและบริการที่ดีขึ้น แต่ก็สร้างความระแวดระวังให้มนุษย์มากยิ่งขึ้น

ในปีที่ผ่านมา การให้ความสำคัญกับ ‘ความเป็นส่วนตัว’ เริ่มเป็นกระแสที่ทั่วโลกต่างพูดถึง เทคโนโลยี Big Data ที่หลายธุรกิจหยิบมาใช้จัดเก็บข้อมูล วิเคราะห์ และคาดการณ์แบบแผนพฤติกรรมของผู้บริโภคจึงถูกจับตามอง เพราะถือเป็นแหล่งรวม ‘ข้อมูลส่วนตัว’ ขนาดใหญ่ที่นำไปใช้ประโยชน์ทางอื่นได้มากมายมหาศาล และบางครั้ง เพียงแค่เราสมัครบัญชีโซเชียลมีเดีย ใช้แอปพลิเคชัน หรือเปิด GPS นำทางในมือถือก็เป็นการให้ข้อมูลแก่บริษัทต้นทางไปโดยไม่ทันรู้ตัว

ดังนั้น มาตรการปกป้องตัวตนเจ้าของข้อมูล หรือ Data Anonymization จึงถือกำเนิดขึ้น เพื่อมิให้ ‘ข้อมูลอ่อนไหว’ และ ‘ข้อมูลเจาะลึกรายบุคคล’ ถูกนำไปใช้ประโยชน์ในกรณีเกิดการรั่วไหล โจรกรรม หรือกระทั่งตอนที่บริษัทเองนำไปวิเคราะห์วางแผนธุรกิจ

การทำให้เจ้าของข้อมูลกลายเป็น ‘บุคคลนิรนาม’ สามารถทำได้หลายทาง ตัวอย่างเช่นการ ‘Generalizing the Data’ หรือแทนที่ข้อมูลเฉพาะตัวด้วยข้อมูลทั่วไป ทำให้ข้อมูลรายบุคคลกลายเป็นเพียงหนึ่งในบรรดาข้อมูลที่จัดกลุ่มไว้อย่างกว้างๆ รวมกันหลายๆ คน อาทิ ระบุเงินเดือนเป็นช่วงของรายได้แทนการลงรายละเอียดตัวเลข

แต่การปกปิดข้อมูลด้วยวิธีนี้ต้องอาศัยจำนวนข้อมูลที่คล้ายคลึงกันค่อนข้างมาก ทำให้เกิดทางเลือกใหม่ซึ่งนิยมไม่แพ้กันคือ การใส่ตัวรบกวนทางคณิตศาสตร์ (Mathematical Noise) ให้ข้อมูลหรือ ‘Adding Noise to Data’ เพื่อป้องกันการแกะรอยและระบุตัวตนเจ้าของ

ระบบ Data Anonymization บ่งบอกว่าแวดวงธุรกิจเริ่มหันมาใส่ใจผลกระทบจากการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มากขึ้น รวมถึงพยายามปรับเปลี่ยน แก้ไขจุดบกพร่องเพื่อสร้างความเชื่อมั่นจากผู้ใช้บริการ เป็นสัญญาณที่ดีว่านับจากนี้ไป เราอาจจะได้เห็นวิธีการ ‘แก้ทาง’ เทคโนโลยีซึ่งเคยเป็นดาบสองคมให้มีประสิทธิภาพและปลอดภัยยิ่งกว่าเดิม

อีกหนึ่งประเด็นร้อนแรงที่ยังคงอยู่ในกระแสและพูดถึงได้ไม่ตกเทรนด์ คือความชาญฉลาดของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งนับวันรังแต่จะเพิ่มขึ้น จนอาจช่วงชิงพื้นที่ของมนุษย์ในอุตสาหกรรมต่างๆ

แม้เราจะเชื่อว่าเทคโนโลยี AI ในปัจจุบันยังครอบคลุมถึงแค่งานที่ต้องแก้ปัญหาเฉพาะทางหรืองานทำซ้ำซาก แต่ช่วง 2-3 ปีมานี้ พัฒนาการความก้าวหน้าของ AI เริ่มแสดงให้เราเห็นว่ามัน ‘ฉลาด’ ขึ้นอย่างรวดเร็วจนมนุษย์อาจต่อกรไม่ไหว ตัวอย่างสำคัญได้แก่เรื่องฮือฮาในวงการหมากล้อมหรือโกะในปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เมื่ออีเซดล (Lee Se-Dol) แชมป์โกะระดับโลก 18 สมัยประกาศถอนตัวออกจากวงการหลังพ่ายแพ้ให้กับระบบ AI ชื่อว่า AIpha Go ถึง 4 ใน 5 เกม ด้วยเหตุผลว่าเขาไม่สามารถเอาชนะความฉลาดของระบบคอมพิวเตอร์ได้

ไม่เพียงแค่วงการเกมโกะเท่านั้นที่สั่นสะเทือน แต่ยังรวมถึงวงการธุรกิจและการศึกษา เพราะในอนาคต ขอบเขตความสามารถของปัญญาประดิษฐ์จะพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ทำให้งานที่ใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเช่นแพทย์ หรืองานใช้ความคิดสร้างสรรค์อย่างนักเขียน นักแต่งเพลง ก็อาจถูก AI แย่งตำแหน่งไปเช่นเดียวกัน ตามที่ จิตร์ทัศน์ ฝักเจริญผลให้ความเห็นว่า นับตั้งแต่บัดนี้ “ไม่มีงานใดไม่มีความเสี่ยงต่อการถูกทดแทนด้วยหุ่นยนต์” มนุษย์จึงต้องปรับเปลี่ยนตัวเองให้เท่าทันยุคสมัย และหาสิ่งที่เหนือกว่า AI เพื่อรักษาพื้นที่ในวงการอาชีพ

คำถามคือแล้วเรามีอะไรเหนือกว่า AI บ้าง? ในบทความ ‘คน Vs หุ่นยนต์ : ความหวังและข้อกังวลบนโลกอนาคต’ ของจิตร์ทัศน์ระบุว่าหุ่นยนต์ยังไม่สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างนุ่มนวลหรือยืดหยุ่นเลียนแบบร่างกายมนุษย์ อีกทั้งความคิดเชิงตรรกะ การให้เหตุผล และการเข้าใจบริบททางสังคมยังคงด้อยกว่าคนเราอยู่มาก เห็นได้จากกรณี AI ชื่อ ‘วัตสัน’ จากบริษัทไอบีเอ็ม ที่สามารถเอาชนะการแข่งขันตอบคำถามในรายการเกมโชว์ ‘Jeopardy’ ได้ แต่กลับไม่สามารถทำความเข้าใจเรื่องง่ายๆ ว่ามนุษย์ที่พิการแตกต่างจากมนุษย์คนอื่นๆ อย่างไร

ศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ก็แสดงทัศนะในงานสัมมนา Futurising Thailand สร้างอนาคตไทยให้ทันโลก ครั้งที่ 2 ในหัวข้อ ‘โลกใหม่ ทักษะใหม่ : ยกระดับคนไทยในโลก 4.0’ ว่าความมีชีวิตชีวา รอยยิ้มและความเอาใจใส่คือไม้ตายที่หุ่นยนต์ไม่อาจลอกเลียนแบบมนุษย์

ฝ่าย ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้พูดไว้ในทำนองเดียวกันว่างานฝีมือหรือ ‘Craftmanship’ ที่มีความประณีต ละเมียดละไม เอาใจใส่ทุกขั้นตอน อย่างกาแฟดริปและคราฟต์เบียร์ มีแนวโน้มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น จึงมีความเป็นไปได้ว่าธุรกิจในโลกอนาคตจะหันมาเน้นเรื่องการให้บริการมากขึ้น มีตำแหน่งหน้าที่ใหม่ๆ เกิดขึ้น รวมถึงต้องการแรงงานที่มีทักษะเฉพาะตัว เช่นทักษะทางสังคมมากยิ่งขึ้น

ดูเหมือนว่า ยิ่งหุ่นยนต์พัฒนามากขึ้นเท่าไหร่ ความเป็นมนุษย์ยิ่งสำคัญเท่านั้น

 

การศึกษายุคใหม่ : Growth Mindset & Soft Skills

 

ความต้องการของตลาดแรงงานเปลี่ยนไปทำให้เราต้องย้อนกลับมามองระบบการศึกษาของไทยว่า ทำอย่างไรถึงจะสร้างประชากรคุณภาพในยุค 4.0 ได้

แน่นอนว่าประเด็นแรกที่ถูกพูดถึงย่อมเป็นเรื่องการเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนแบบท่องจำจากตำรา และวิธีวัดระดับผู้เรียนแบบ ‘จับปลามาปีนต้นไม้

ที่ผ่านมา นิยามของ ‘ความเก่ง’ มักเป็นนิยามแบบแคบ โดยวัดจากความรู้และเชิดชูความสามารถเพียงด้านใดด้านหนึ่ง แต่กลับเป็นการลดทอนคุณค่าของทักษะด้านอื่นๆ อย่างน่าเสียดาย เพราะถ้าเด็กถูกบังคับให้เรียนและสอบ ‘ปีนต้นไม้’ เหมือนๆ กัน ก็จะไม่มีโอกาสค้นพบศักยภาพที่แท้จริงของตัวเองว่าอาจจะ ‘ว่ายน้ำ’ ได้เก่งกว่า รวมถึงอาจถูกตีตราว่า ‘โง่’ เพราะไม่สามารถทำได้ดีเทียบเท่าลิง จนสูญเสียความมั่นใจ และเกิด ‘แนวคิดแบบตายตัว’ หรือ Fixed Mindset ในที่สุด

ความร้ายแรงของ Fixed Mindset คือ เมื่อคนมองว่าความสามารถของตนเองถูกกำหนดมาให้อยู่ในระดับ ‘ต่ำ’ โดยธรรมชาติหรือโดยสถานะทางสังคม จะส่งผลต่อศักยภาพการเรียนรู้และการทำงานด้อยลง จากการทดลองของ Karla Hoff นำเด็กจากชนชั้นต่างกันมาทำข้อสอบร่วมกันสองกลุ่ม กลุ่มแรกไม่ทราบชนชั้นของกันและกัน ในขณะที่อีกกลุ่มประกาศชนชั้นของทุกคน ผลคือในกลุ่มหลัง คนที่อยู่ในชนชั้นต่ำกว่าทำคะแนนได้แย่กว่าคนชนชั้นสูงอย่างมากเมื่อเทียบกับกลุ่มแรก เป็นที่ประจักษ์ว่าความเชื่อเกี่ยวกับตนเองมีผลต่อการแสดงศักยภาพจริง

ในทางกลับกัน กลุ่มคนที่ทำได้ดีในระบบการศึกษาและได้รับคำชื่นชมมาตลอดจะเกิด Fixed Mindset ว่าตนเหนือกว่าผู้อื่น ทำให้ไม่มีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ พัฒนาตัวเอง ไปจนถึงไม่กล้าทดลองสิ่งใหม่ๆ เพราะกลัวความล้มเหลวและสูญเสียสถานะทางสังคม หรือการยกย่องที่เคยได้รับ

โจทย์ใหญ่ของการศึกษาไทยในยุค 4.0 จึงเป็นเรื่องการปรับปรุงระบบให้เปิดกว้าง ส่งเสริมความสามารถอันหลากหลายของผู้เรียน ลดการสร้าง ‘ผู้แพ้’ และ ‘ผู้ชนะ’ จากการสอบ และช่วยบ่มเพาะ  ‘แนวคิดแบบเติบโต’ หรือ Growth Mindset ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของเยาวชนในโลกอนาคต

Growth Mindset จะทำให้คนพร้อมเปลี่ยนแปลงเพื่อเรียนรู้ ลด ‘อีโก้’ ของตัวเองลง คิดวิเคราะห์ตามหลักเหตุผลและความเป็นจริง กล้าทดลอง กล้าล้มเหลว คุณสมบัติเหล่านี้เองจะต่อยอดไปสู่ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) และความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) อันเป็นทักษะสำคัญในภายภาคหน้าตามการจัดอันดับของ World Economic Forum

นอกจากนี้ Growth Mindset ยังเป็นแรงผลักดันให้คนขวนขวายหาความรู้มาพัฒนาตัวเอง เกิดเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิตหรือ Life-long learning ที่เกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา ตามคำของ ดร.ราเชนทร์ โกศัลวิตร ผู้อำนวยการโรงเรียนกำเนิดวิทย์ในงาน Futurising Thailand ว่า “การศึกษาอยู่ทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นห้องสมุด สื่อมวลชน พิพิธภัณฑ์ อย่าไปปักหมุดว่าการศึกษาคือโรงเรียน”

ถัดจากวิธีเรียนและการวัดระดับ อีกหนึ่งประเด็นที่ควรจับตามองคือการสร้าง Soft Skills หรือทักษะทางสังคมและทักษะด้านอารมณ์ เช่น การสื่อสาร ทำงานร่วมกับผู้อื่น หรืออดทนในระดับสถาบันการศึกษา เพราะทักษะเหล่านี้มีในเฉพาะมนุษย์เท่านั้น และเชื่อกันว่าเป็นทักษะที่ AI ไม่สามารถช่วงชิงหรือเอาชนะได้ในเร็ววัน ทำให้เยาวชนไทยเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของ Soft Skills เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

จากการสอบถามความเห็นของคนรุ่นใหม่เกี่ยวกับทักษะที่จำเป็นในอนาคต ผลปรากฏว่า Soft Skills อย่างทักษะทางอารมณ์และการสื่อสาร (Emotional Intelligence and Communication) ความคิดสร้างสรรค์ และความสามารถในการปรับตัว ติดโผเป็นอันดับต้นๆ ซึ่งสันติธาร เสถียรไทยตั้งข้อสังเกตผ่านบทความว่าทักษะทั้งสามสำคัญต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่อาจมีบทบาทต่อการพัฒนาประเทศไทยในอนาคต

แต่การเรียนรู้ Soft Skills ในปัจจุบันยังเป็นความท้าทายสำหรับวงการการศึกษาที่ต้องออกแบบหลักสูตรให้เหมาะสม เพราะนอกจากไม่สามารถสอนผ่านตำราหรือทฤษฎี แต่ต้องอาศัยการสั่งสมประสบการณ์ของผู้เรียนแล้ว การวัดผลยังยากลำบาก และการนำไปใช้ยังขึ้นอยู่กับบริบทของสังคมหรือวัฒนธรรมองค์กรอีกด้วย แตกต่างจาก Hard Skills หรือทักษะด้านความรู้ อย่างกลุ่มทักษะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม คณิตศาสตร์ (STEM) หรือภาษาต่างประเทศ ที่เป็นทักษะจากระบบการเรียนการสอนและการฝึกฝน สามารถวัดผลได้อย่างชัดเจน รวมถึงนำไปใช้ในองค์กรใดก็แลดูเหมือนกันทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม การให้ความสำคัญแค่ทักษะ Soft Skills เพียงด้านเดียวอาจไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องนักของการศึกษายุคใหม่ เพราะการเรียนรู้ Hard Skills ยังจำเป็นต่อการทำงาน อีกทั้งมีส่วนช่วยพัฒนา Soft Skills ไปพร้อมๆ กัน อาทิ เรียนภาษาต่างประเทศ นอกจากเพื่อให้รู้ไวยากรณ์ของภาษา ยังสามารถฝึกการสื่อสาร ทำงานร่วมกับคนต่างชาติต่างวัฒนธรรม หรือเรียน coding โดยมุ่งสร้างทักษะคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหา แทนการเข้าใจภาษาคอมพิวเตอร์ให้ชำนาญ

ตรงกันข้าม การมี Soft Skills เองก็ช่วยให้เราเรียนรู้ Hard Skills ง่ายขึ้น อย่างความอดทนทำให้เรียนวิชาที่ต้องจดจำเนื้อหาหรือฝึกฝนได้ดีขึ้น ทักษะการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพทำให้เรียนรู้จากการพบปะพูดคุยกับคนมากขึ้น กล่าวได้ว่าระบบการศึกษายุคใหม่ควรจัดสรรให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ทักษะทั้งสองด้านอย่างบูรณาการเพื่อสร้างเสริมซึ่งกันและกัน

ประเด็นที่น่าสนใจเรื่องสุดท้ายอาจไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงระบบในโรงเรียนหรือสถาบัน แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ย้อนกลับมาเห็นคุณค่ามรดกทางปัญญาที่เกิดจากการสั่งสมความรู้ของคนหลายรุ่นมาประกอบกัน หรือ ‘ปัญญาประกิด’ (Collective Intelligence)

ปัญญาประกิดคือสิ่งที่ทำให้มนุษย์มีความฉลาดอย่าง ‘มนุษย์’ เพราะถ้าเทียบระหว่างทักษะของเด็กอายุ 2 ขวบครึ่งกับลิงอุรังอุตังและชิมแปนซีจะพบว่าสูสีกัน แต่เด็กวัยหัดเดินนั้นเหนือกว่าลิงแบบขาดลอย เนื่องจากเด็กเหล่านี้มีโอกาสเรียนรู้และเลียนแบบทักษะจากผู้อื่น ทำให้พัฒนาตัวเองได้อย่างก้าวกระโดด โดย ‘การเรียนรู้จากผู้อื่น’ หรือ Social Learning ถือเป็นสัญชาตญาณเฉพาะตัวของมนุษย์ และแตกต่างจากสัตว์หรือกระทั่งระบบ AI ตรงที่สามารถซึมซับความรู้จากคนอื่นได้ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว

อนึ่ง ศาสตราจารย์โจเซฟ เฮนริค (Joseph Henrich) ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิวัฒนาการของมนุษย์ในระดับโลกจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้แสดงให้เห็นว่า ‘ปัญญาประกิด’ นี้ทำให้เราฉลาดขึ้นอย่างไร ผ่านการทดลองให้นักเรียน 2 กลุ่ม กลุ่มละ 5 คนหัดใช้โปรแกรมแต่งภาพภายในเวลาที่กำหนด และเขียนคู่มือวิธีทำส่งต่อให้คนรุ่นต่อไปอีก 5 คน ทำซ้ำจำนวน 10 รุ่น แตกต่างกันเพียงกลุ่มแรกจะใช้ระบบ ‘1 ศิษย์ 1 ครู’ หรือคนรุ่นหลังอ่านคู่มือของคนรุ่นก่อนเพียงคนเดียว ส่วนกลุ่มที่สองใช้ระบบ ‘5 ศิษย์ 5 ครู’ หรือคนรุ่นหลังอ่านคู่มือของคนรุ่นก่อนครบทั้ง 5 คน

ผลลัพธ์คือคนรุ่นหลังในกลุ่มที่สองสามารถผสมผสานองค์ความรู้ของหลายๆ คนมาพัฒนาเป็นวิธีการใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้น หนึ่งในโจทย์สำคัญภายใต้ยุคที่เราต้องต่อกรกับ ‘ปัญญาประดิษฐ์’ คือวิธีออกแบบสังคมหรือองค์กรให้เกิดการเรียนรู้จากกันและกันมากที่สุด เพื่อนำผลผลิตทางปัญญาจากทุกคนมาประกอบกันกลายเป็น ‘ปัญญาประกิด’ ที่สามารถสรรค์สร้างนวัตกรรมใหม่ต่อไปไม่รู้จบ

 

ประชากรโลกอนาคต : เราจะอยู่อย่างไรให้มีความสุข

 

ท้ายที่สุดแล้ว คนที่จะอยู่ร่วมกับเทคโนโลยีในสังคมยุคดิจิทัลและมองเห็นภาพการเปลี่ยนแปลง ทั้งในแง่วิถีชีวิต ธุรกิจ และการศึกษาอีกหลายปีนับต่อจากนี้ คือกลุ่มคนรุ่นมิลเลนเนียลส์และคน Gen Z ซึ่งถ้านับตามเกณฑ์การแบ่งของ Pew Research Centre จากสหรัฐอเมริกา คือคนที่เกิดในช่วงปี 1981 ถึง 1996 และปี 1996 เป็นต้นไป ตามลำดับ

ความน่าสนใจคือจากแบบสำรวจของ Pew พบว่าแนวคิดและทัศนคติการมองโลกของคนกลุ่มนี้เริ่มมีความแตกต่างจากคนรุ่นก่อนๆ อย่างเห็นได้ชัด เช่น คนรุ่นไซเลนต์และบูมเมอร์สที่เกิดปี 1928 ถึง 1964 จะเป็นพวกอนุรักษนิยม ขณะที่คนรุ่นมิลเลนเนียลส์และ Gen Z มีแนวโน้มเป็นเสรีนิยม อีกทั้งความแตกต่างนี้ยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในหลายเรื่อง จนเกือบเรียกได้ว่าเกิดเส้นกั้นระหว่าง ‘คนรุ่นใหม่’ และ ‘คนรุ่นเก่า’ ชัดเจน

โตมร ศุขปรีชาตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับปรากฏการณ์ดังกล่าวผ่านบทความว่าเป็นอีกหนึ่งผลลัพธ์ของเทคโนโลยี เมื่อคนรุ่นใหม่อย่างมิลเลนเนียลส์และ Gen Z ใช้โซเชียลมีเดียกันแพร่หลาย ได้เห็นความแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ วัฒนธรรม วิธีคิด การมองโลกของคนอื่นๆ รวมถึงได้แลกเปลี่ยนความคิดทั้งด้านบวกและลบกับคนบนโลกอินเทอร์เน็ต เมื่อประกอบกับแนวคิดของคนอายุน้อยยังไม่ ‘เซ็ตตัว’ เท่าคนอายุมาก ทำให้คนยุคใหม่มีใจเปิดกว้าง ไม่ยึดติดกับชุดความคิดใด

ดังนั้น ในอีกไม่กี่ทศวรรษนับจากนี้ เราอาจจะได้เห็นพลังของคลื่นลูกใหม่ช่วยขับเคลื่อนสังคมบนแนวคิดหรือแนวทางที่ต่างจากเดิม อย่างไรก็ตาม สังคมอนาคตยังมีความน่ากังวลเรื่องสุขภาพจิตและจำนวนประชากรหน้าใหม่อยู่

รายงานจากศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคของอเมริกาเผยว่าปัจจุบัน เด็กอเมริกันอายุระหว่าง 3-17 ปีกว่า 1 ใน 5 หรือราว 15 ล้านคนมีอาการเข้าข่ายภาวะซีมเศร้า (Depression) และวิตกกังวล (Anxiety)  ขณะเดียวกัน วัยรุ่นอเมริกันอายุ 13-17 ปียังระบุผ่านแบบสำรวจของ Pew Research Centre ว่าตนมีปัญหาเรื่องโรคซึมเศร้าและวิตกกังวลสูง ตรงกับผลวิจัยของ รามิน โมชทาไบ (Ramin Mojtabia) และคณะ จากมหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮ็อปกินส์ ในบัลติมอร์ว่าวัยรุ่นกว่า 170,000 คน และผู้ใหญ่อีก 180,000 คน มีแนวโน้มเป็นโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้น จาก 8.7% ในปี 2005 เป็น 11.3% ในปี 2014

กล่าวได้ว่าสังคมกำลังเผชิญ ‘คลื่นแห่งโรคซึมเศร้า’ ซัดสาดใส่กลุ่มประชากรหลักในอนาคตอย่างไม่ทราบสาเหตุ ด้านจำนวนประชากรนั้น สหประชาชาติคาดการณ์ว่าอัตราการเกิดของคนบนโลกจะหยุดเติบโตภายในปี 2100 ทำให้เกิดปรากฏการณ์เข้าสู่สังคมคนชราหรือ Aging Society พร้อมกันเป็นวงกว้าง สิ่งที่ตามมาคือคนหนุ่มสาวที่มีอยู่น้อยนิดต้องทำงานหนักเพื่อหาเลี้ยงคนวัยเกษียณ เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างระบบการเงินขนานใหญ่เพื่อป้องกันวิกฤตเงินบำนาญ (Pension Crisis) สำหรับเลี้ยงดูคนเฒ่าคนแก่ในประเทศ และเปลี่ยนโครงสร้างทางสังคม เช่น ลักษณะครอบครัวจากเดิมมีเพียงพ่อ แม่ หรือญาติพี่น้อง กลายเป็นการนำเพื่อน คนรู้จักมาอยู่ร่วมกัน เรียกว่า ครอบครัวแบบเพื่อน (Familial Companionship)

ประเด็นเหล่านี้เป็นความท้าทายสำหรับเราที่ต้องมองไปข้างหน้าว่านอกจากการสร้างประชากรที่มีทักษะ สามารถยืนหยัดในสังคมยุคดิจิทัลแล้ว เราจะสร้างประชากรที่มีความสุขในจำนวนที่เพียงพอต่อการขับเคลื่อนประเทศ ขับเคลื่อนโลกไปข้างหน้าได้อย่างไร

นับจากนี้ เทคโนโลยีอาจกลายเป็นหนึ่งใน ‘เทรนด์’ ที่เราพูดกันได้ไม่รู้เบื่อ เพราะยิ่งก้าวหน้าไปไกลแค่ไหน ก็ยิ่งนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่ชีวิตของเรา การเปิดใจเรียนรู้และปรับตัวให้เท่าทันต่อยุคสมัยจึงเป็นก้าวแรกที่ดีสำหรับการเริ่มต้นศักราชใหม่ในปีต่อๆ ไป

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save