fbpx
เทรนด์ร้อนๆ

เทรนด์ร้อนๆ

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

 

TrendRider เป็นคอลัมน์ที่พูดถึงเรื่องเทรนด์ต่างๆ แต่เชื่อไหมครับ ว่าไม่มีเทรนด์ไหนจะ ‘ร้อน’ เท่ากับเรื่องความร้อนอีกแล้ว

ในเมืองไทย เราอาจไม่ค่อยรู้สึกว่าบ้านเราร้อนขึ้นกว่าเดิมสักเท่าไหร่ เพราะเดิมทีก็ร้อนอยู่แล้ว ร้อนจนเราคุ้นชินกับความร้อนได้เป็นอย่างดี เพื่อนบางคนเคยบอกผมด้วยซ้ำว่าภาวะโลกร้อนไม่ค่อยระคายผิวเท่าไหร่ เพราะเมืองไทยมีแต่ฤดูร้อนกับร้อนมากอยู่แล้ว จะร้อนไปกว่านี้สักหนึ่งองศาก็ไม่เห็นเป็นไร

(ว่าแล้วเพื่อนก็เปิดแอร์เย็นเฉียบขังตัวเองอยู่ในห้อง!)

 

ต่อให้เพื่อนจะว่าอย่างไร ผมก็จำเป็นต้องบอกคุณว่าอย่าไปเชื่อนะครับ เพราะอุณหภูมิสูงขึ้นสักครึ่งถึงหนึ่งองศานั้น ถ้าเป็นอุณหภูมิเฉลี่ยของทั้งโลกแล้วละก็ ถือเป็นเรื่องใหญ่มากเลยทีเดียว เพราะโลกไม่ใช่ห้องแอร์ที่แค่กดปุ่มก็ปรับอุณหภูมิเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาได้

ตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา หลายส่วนของโลกเพิ่งประสบภาวะ ‘ร้อนที่สุด’ หรือมี Highest Recorded Temperature คืออุณหภูมิสูงในแบบที่เป็นประวัติการณ์ และไม่ได้เป็นแค่เมืองในซีกโลกเหนือเท่านั้นนะครับ แต่มีรายงานว่ากระจายถึง 5 พื้นที่ใน 3 ทวีป ที่ต้องพบกับอุณหภูมิสูงในแบบไม่เคยมีมาก่อน ได้แก่

 

1. แคนาดาตะวันออก

คุณคงสงสัยว่า แคนาดาน่ะเหรอ จะไปร้อนอะไรกันนักกันหนา เพราะแคนาดาอยู่สูงเหนือสหรัฐอเมริกาขึ้นไปอีก เรียกได้ว่าเป็นซีกโลก ‘เหนือมาก’ ด้วยซ้ำไป แต่คุณเชื่อไหมครับ ว่าเกิดคลื่นความร้อนพัดผ่านแคนาดาตะวันออก และทำให้เมืองหลวงอย่างออตตาวานั้น มี Real Feel หรืออุณหภูมิแบบที่ปรับอุณหภูมิรวมกับความชื้นแล้ว สูงขึ้นไปถึง 47 องศาเซลเซียส ในวันที่ 2 กรกฎาคมที่ผ่านมา

ผลลัพธ์คือ เมื่อดูทั้งแคว้นควิเบก ปรากฏว่ามีผู้เสียชีวิตเพราะคลื่นความร้อนนี้อย่างน้อยๆ 70 คนด้วยกัน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัยอายุมากกว่า 65 ปี และมีอาการป่วยโน่นนั่นนี่อยู่ก่อนแล้ว บ้านเรือนของแคนาดาก็ไม่มีเครื่องปรับอากาศ จึงทำให้ร้อนอบอ้าวจนเสียชีวิตได้

คำถามคือ – แล้วทำไมคลื่นความร้อนแบบนี้ถึงเกิดขึ้นมาได้

คำตอบที่หลายคนอาจเคยรับรู้มาบ้างแล้วคือ กระแส ‘ลมกรด’ หรือ Jet Stream ที่เป็นกระแสลมที่พัดวนๆ และคอยรักษาความเย็นของขั้วโลกเอาไว้ไม่ให้มีอาการแปรปรวน เมื่อลมกรด ‘หย่อน’ ลงมา จะทำให้เกิดพายุหิมะหนักหนาสาหัสอย่างที่เกิดขึ้นกับสหรัฐอเมริกาเมื่อปีก่อน แต่ในกรณีของแคนาดา ปรากฏว่ามัน ‘หด’ ขึ้นเหนือไปมากกว่าปกติ ทำให้อากาศร้อนจัดจากสหรัฐอเมริกาไหลขึ้นไปแคนาดา ทำให้ฝนตกน้อยกว่าปกติในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน ดินที่แห้งเพราะขาดฝนยิ่งร้อนมากกว่าปกติ และอุณหภูมิสูงลิบลิ่วอย่างที่เห็น

 

2. แถบเทือกเขาคอเคซัส

คอเคซัส (Caucasus Region) คือแถบเทือกเขาที่กั้นระหว่างยุโรปและเอเชีย เมื่อเดือนที่ผ่านมาคอเคซัสประสบพบพานกับอุณหภูมิสูงลิบลิ่วผิดปกติเช่นเดียวกัน

เมืองอย่างทบิลิซี (Tbilisi) ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศจอร์เจีย พบกับอุณหภูมิสูงลิบถึง 40.5 องศาเซลเซียส ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2018 ความร้อนระดับนี้ส่งผลต่อการผลิตกระแสไฟฟ้าของประเทศ เพราะคนต้องการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้ามากเกินกำลังผลิต แล้วไม่ได้ส่งผลเฉพาะในประเทศเท่านั้น แต่ยังกระเทือนไปถึงประเทศที่ซื้อไฟฟ้าจากจอร์เจียด้วย

นอกจากนี้ประเทศอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียง เช่น เมืองหลวงของอาร์มีเนียอย่าง เยเรแวน (Yerevan) อุณหภูมิก็สูงถึง 40 องศาเซลเซียส และมีปัญหาเรื่องการผลิตน้ำประปา

สิ่งที่ทำให้อุณหภูมิสูงกว่าปกติเช่นนี้ เป็นเพราะจู่ๆ หย่อมความกดอากาศต่ำก็ไปวนๆ อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของยุโรป (คือแถบคอเคซัส) โดยกระแสลมจะหมุนวนแบบทวนเข็มนาฬิกา ลมจึงดึงอากาศร้อนจากแอฟริกาและตะวันออกกลางขึ้นเหนือมายังอาร์มีเนียและประเทศอื่นๆ

 

3. แคลิฟอร์เนียใต้

หลายคนคงรู้ข่าวไฟไหม้ป่าในแคลิฟอร์เนียใต้มามากแล้ว แต่ต้องบอกคุณว่า ปีนี้หนักหนาสาหัสจริงๆ เอาง่ายๆ คือ อุณหภูมิที่มหาวิทยาลัย University of California, Los Angeles หรือ UCLA นั้น สูงทำลายสถิติถึง 43.9 องศาเซลเซียส เป็นการทำลายสถิติในรอบ 79 ปี

ในขณะที่เมืองอย่าง ชิโน ฮิลส์ (Chino Hils) ที่อยู่ในแถบแอลเอ มีอุณหภูมิสูงสุดถึง 48.9 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงมากๆ อย่างน่าตกใจ ส่งผลลัพธ์คล้ายๆ ในจอร์เจีย คือคนต้องใช้ไฟฟ้าเยอะมากเพื่อปรับอากาศ สุดท้ายเกิดไฟดับในวงกว้างกับบ้านเรือนมากกว่า 34,000 ครัวเรือน

มีรายงานด้วยว่า มีผู้เสียชีวิตอยู่ในรถบ้านแถบชานเมืองของแอลเอ ซึ่งขณะนั้นอุณหภูมิสูงถึง 47.2 องศาเซลเซียส คาดเดาได้ไม่ยากว่าเกิดจากความร้อนระอุสุดขีด โดยต้นเหตุปัญหาในแคลิฟอร์เนียเหมือนในแคนาดา คือเกิดจากลมกรดนั่นเอง

 

4. ซิดนีย์ ออสเตรเลีย

ช่วงเดือนกรกฎาคมเป็นช่วง ‘ฤดูหนาว’ ของซีกโลกใต้ แต่ขนาดเป็นฤดูหนาว อุณหภูมิยังแตะ 24.7 องศาเซลเซียส ซึ่งหลายคนอาจบอกว่า โอ๊ย ไม่เห็นร้อนเลย แต่นี่เป็นครั้งแรกเลยนะครับ ที่ฤดูหนาวของซิดนีย์มีอุณหภูมิสูงขนาดนี้ แล้วสูงติดกันสองวันในเดือนกรกฎาคมด้วย เท่ากับสูงกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยราว 8 องศา เลยทีเดียว อุณหภูมินี้เกิดขึ้นหลังซิดนีย์เพิ่งมีฤดูใบไม้ร่วงที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยมีมา

ถามว่าทำไมถึงเป็นแบบนี้ คำตอบคือเกิดหย่อมความกดอากาศสูงทางตะวันออกของออสเตรเลีย ซึ่งนำกระแสลมร้อนจากตะวันออกเฉียงเหนือหรือเส้นศูนย์สูตรลงมาถึงทางตะวันออกของออสเตรเลีย หรือไม่อีกเรื่องหนึ่งคือภาวะลานีญาที่เพิ่งเกิดขึ้น ทำให้อุณหภูมิในมหาสมุทรแปซิฟิคทางตะวันตกสูงกว่าปกติเล็กน้อย แต่มีส่วนทำให้อุณหภูมิบนภาคพื้นดินสูงขึ้นตามไปด้วย

 

5. แอลจีเรีย

เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ที่ผ่านมา เมืองวาร์กลา (Ouargla) ในแอลจีเรียตอนเหนือ มีอุณหภูมิสูงถึง 51.3 องศาเซลเซียส เบียดค่าอุณหภูมิ 55 องศาเซลเซียส ซึ่งเกิดขึ้นที่เมืองเคบิลิ (Kebili) ในตูนิเซีย เมื่อปี 1931

แต่การวัดค่าความร้อนในตูนิเซียเกิดขึ้นนานมากมาแล้ว ทำให้นักวิทยาศาสตร์ไม่ค่อยแน่ใจเท่าไหร่ ว่าค่านี้ถูกต้องอย่างเป็นทางการหรือเปล่า เพราะไม่รู้ว่าวิธีวัดเป็นอย่างไรกันแน่ และถ้าไม่เชื่อถือค่า 55 องศาเซลเซียสที่ว่า ค่า 51.3 องศาเซลเซียส ที่เพิ่งวัดได้ในแอลจีเรียจะเป็นค่าอุณหภูมิสูงสุดเท่าที่เคยมีมาในแอฟริกา

นักวิทยาศาสตร์บอกว่า แอลจีเรียถือเป็นประเทศที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงข้ึนมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก โดยเฉพาะในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ซึ่งผู้เชี่ยวชาญบอกว่าน่าจะเป็นเพราะอุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยสูงขึ้นนั่นเอง

มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งรายงานว่า นับจากปี 1988-2015 ความถี่ของการเกิดคลื่นความร้อนในแอลจีเรียที่นานสามวันขึ้นไปเพิ่มเป็นสองเท่า และหลายคนเชื่อว่า แอลจีเรียเป็น ‘จุดร้อน’ (Hot Spot) ซึ่งรับผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ถ้าโลกนี้ยังปล่อยคาร์บอนกันเท่านี้ไม่ลดลงเลย แอลจีเรียจะ ‘ซวย’ ที่สุด เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น เมื่อถึงสิ้นศตวรรษนี้ ทั้งโลกจะมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้นราว 4 องศาเซลเซียส แต่แอลจีเรียจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นถึง 8 องศาเซลเซียส เรียกว่าลุกเป็นไฟก็คงไม่ผิดเท่าไหร่

 

จะเห็นว่า แม้เมืองไทยจะมีฝนพรำๆ เพราะพายุ แต่เทรนด์ที่ ‘ร้อน’ ที่สุดในเวลานี้ คือ ‘ความร้อน’ ที่กำลังแผดเผาเราทั้งโลกอยู่นั่นเอง

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save